16 ก.พ. 2566 | 17:20 น.
- โต้ง - มณเฑียร แก้วกำเนิด มือกีตาร์ที่มีผลงานโด่งดังยุค 90s เสียชีวิตลงในวันวาเลนไทน์
- ผลงานที่ทำให้โต้งเป็นที่รู้จักคืองานเพลงกับ P.O.P และโปรเจกต์ Save the Last Piece
นับเป็นข่าวที่ชวนช็อกไม่ใช่น้อย เมื่อ ‘โต้ง มณเฑียร แก้วกำเนิด’ หรือที่นักฟังเพลงในยุค 90s และยุค 2000s รู้จักเขาในฐานะหนึ่งในสมาชิกวงป็อปที่เจิดจรัสแห่งยุค 90s อย่าง P.O.P. หรือจะรู้จักเขาในนามศิลปินเดี่ยวเจ้าของโปรเจกต์ Save the Last Piece หรือแม้กระทั่งรู้จักเขาในนามเจ้าของร้านราดหน้าโรยกากหมูอันเลื่องชื่อ ได้เสียชีวิตลงในวันวาเลนไทน์ ท่ามกลางความเสียดายของเพื่อนฝูงในวงการดนตรี และแฟนเพลงที่เติบโตไปกับเพลงของเขา นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในวงการดนตรีเลยทีเดียว
โต้ง มณเฑียร รักในดนตรีตั้งแต่จำความได้ หลังจบมัธยมปลาย โต้ง เลือกเดินทางไปเรียนสายดนตรีที่วิทยาลัยดนตรีเบิร์กลีย์ โดยเขาและเพื่อนซี้ ป๊อด - ธนชัย อุชิน เคยมีโครงการจะทำเพลงร่วมกัน แต่ป๊อด ไปทำวงโมเดิร์นด็อกเสียก่อน
เมื่อโต้งกลับมาไทย โต้ง ไปหาป๊อด ที่ออฟฟิศเบเกอรี่มิวสิกเพื่อทักทายตามประสาเพื่อนซี้ที่ไม่ได้เจอกันมานาน แต่ในวันนั้น เขาเจอกับสมเกียรติ อริยชัยพานิชย์ ไม่ทันข้ามวัน สมเกียรติก็ชวนโต้งมาทำเพลงด้วยกัน นับเป็นก้าวแรกสู่การทำดนตรีอย่างจริงจังด้วยความบังเอิญ
ในช่วงแรก โต้ง ทำงานที่เบเกอรี่มิวสิกในฐานะนักแต่งเพลง ก่อนจะค่อย ๆ พัฒนาหน้าที่ในด้านเทคนิคเบื้องหลัง จนในปี 2538 โต้ง ได้รับโอกาสในการทำเบื้องหน้า เมื่อเขาได้มาเป็นแบคอัพให้กับอรอรีย์ ศิลปินกรันจ์หญิงแห่งยุค 90s ในฐานะมือกีตาร์ ด้วยความจัดจ้านของดนตรีร็อกสุดเข้มในยุคนั้นที่กีตาร์ถูกใช้เป็นพระเอก ก็เปิดโอกาสให้โต้งได้โชว์ฝีไม้ลายมือทางสำเนียงกีตาร์ได้อย่างเต็มที่
แต่กว่าที่โต้ง จะมีฉายาห้อยตอนท้ายเป็นชื่อวง เวลาก็ล่วงเลยไปอีกหลายปี ในช่วงปี 2540 ยุคสมัยที่วงการเพลงไทยอยู่ในช่วงวิกฤตจากเทปผีซีดีเถื่อนที่เกลื่อนตลาด จากเทคโนโลยี MP3 ที่ความสะดวกสบายมาพร้อมการดาวน์โหลดอย่างผิดกฎหมาย ทุกค่ายพยายามจะหาทางแก้เกมจากวิกฤตในครั้งนี้ เบเกอรีมิวสิกเองก็เช่นกัน สุดท้ายโปรเจกต์เฉพาะกิจก็เกิดขึ้นในชื่อ P.O.P.
P.O.P. เกิดขึ้นจากการรวมตัวของโต้ง, นภ พรชำนิ นักร้องเสียงหวาน ที่ในตอนนั้นมีเพียงร้องให้กับโปรเจกต์ของ บอยด์ โกสิยพงศ์ และ สมเกียรติ อริยชัยพานิช และ ก้อ - ณฐพล ศรีจอมขวัญ มือเบสที่เล่นประจำให้โมเดิร์นด็อก
แรกเริ่มเดิมทีโปรเจกต์นี้ตั้งชื่อง่าย ๆ ว่า TNK เป็นชื่อต้นของชื่อเล่นทั้งสามที่วางเรียงตามส่วนสูง แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนเป็นชื่อ P.O.P. ที่ย่อมาจาก Period of Party ในเวลาต่อมา โดยนัยคือการรวมตัวเฉพาะกิจเพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อภารกิจเสร็จสิ้นก็แยกย้ายกันไปตามเส้นทางของแต่ละคน
แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อมินิอัลบั้มชุดแรก Era (2541) ได้ออกวางจำหน่าย ยอดขายของอัลบั้มจากผู้สนับสนุนของแท้ก็สามารถสู้กับวงการเทปผีได้อย่างมหัศจรรย์
ปัจจัยสำคัญของความยอดเยี่ยมของโปรเจกต์นี้ คือการผสมผสานความป็อปที่ติดหู เจือกลิ่นอ่อน ๆ ของดนตรีร็อกที่ชวนกระฉับกระเฉง ทำให้วงที่คิดว่าจะทำเพียงเฉพาะกิจกลายเป็นวงที่ทำเพลงอย่างจริงจัง และส่วนสำคัญในนั้นก็มาจากสำเนียงกีตาร์อันจริงใจของโต้ง ซึ่งในที่สุดเขาก็มีชื่อวงห้อยท้ายว่า ‘โต้ง P.O.P.’ กับเขาเสียที
P.O.P. มัดใจคนฟังด้วยความเรียบง่ายทางดนตรี แต่ซ่อนไว้ซึ่งศาสตร์แห่งเพลงป็อปที่ติดหู แม้จะเป็นเพลงที่ฟังง่าย ๆ แต่มันไม่ได้ง่ายเลยที่จะทำให้ทุกเพลงเป็นเพลงที่โดดเด่นและฟังง่าย
ที่สำคัญ เครื่องดนตรีทุกชิ้นไม่มีใครนำใคร ทั้งกีตาร์ เบส กลอง และเสียงร้อง กอดคอไปด้วยกันอย่างกลมกลืน ก็เหมือนกับตัวของโต้ง ที่เป็นที่รักและเป็นที่สนิทของเพื่อน ๆ ในวงการ โดยเฉพาะบ้านเบเกอรี่มิวสิก
ในช่วงเวลาที่ P.O.P. เป็นที่นิยมในหมู่คนฟัง โต้งและเพื่อน ๆ ในทีม Darling ที่นำทีมโดย สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ช่วยกันปั้นโปรเจกต์ DOJO City เปิดโลกใบใหม่ของวัยรุ่นกับดนตรีบับเบิ้ลกัมสีหวาน ที่ต้องการเจาะตลาดวัยรุ่นโดยตรง โต้งช่วยดูแลการผลิตจนเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของวัฒนธรรมป็อปของไทยในยุคเบ่งบาน
และงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา P.O.P. สิ้นสุด Period of Party ในปี 2547 ด้วยคอนเสิร์ต An Era Has Been Completed พร้อมกับการสิ้นสุดของค่ายเบเกอรี่มิวสิก เมื่อไม่สามารถแบกรับการขาดทุนจากสภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นไหว
แม้จะไม่มีเบเกอรี่มิวสิกอีกต่อไป แต่โต้งยังคงโลดแล่นในวงการดนตรีในฐานะมือกีตาร์ที่ศิลปินต้องการตัวมากที่สุด เขาทำงานดนตรีพร้อม ๆ กับการไปช่วยเพื่อนสนิทโปรดิวซ์และเล่นดนตรีแบคอัพให้ โดยเฉพาะงานเดี่ยวชุดแรกของ บอย ตรัย ภูมิรัตน์ ในอัลบั้ม My Diary Original Soundtrack (2547) ที่บอยตรัยก็ยอมรับในโพสต์ที่รำลึกถึงโต้งว่า “โต้งทำให้อัลบั้มนี้มีความหม่นบางอย่าง ที่ให้ทำตอนนี้อีกก็ทำแบบนั้นไม่ได้”
จนในวันหนึ่ง คุณเต้ง พิชัย จิราธิวัฒน์ ก็เชิญโต้งมาทำเพลงเปิดงานโฆษณาตัวหนึ่ง และเมื่อได้ทำงานร่วมกัน คุณเต้งก็ชวนโต้งมาทำอัลบั้ม จนเป็นจุดกำเนิดของงานโซโล่เดี่ยวครั้งแรกในนาม Save the Last Piece งานเปิดค่าย Spicydisc เมื่อปี 2548
Appetizer หลอมรวมประสบการณ์การทำงานมาตลอดหลายปีบนเส้นทางศิลปินของโต้ง บอกเล่าแง่มุมหลากหลายของชีวิต แม้กีตาร์จะเป็นอาวุธคู่กายที่อยู่คู่ตัวโต้งมาโดยตลอด แต่ภาพรวมของอัลบั้มในนาม Save the Last Piece กลับเต็มไปด้วยความสมบูรณ์ในภาคดนตรีที่เรียงร้อยความเหงา รอยยิ้ม และการเรียนรู้ชีวิต ภายใต้ชื่อเพลงที่จำกัดไว้เพียงพยางค์เดียว ชื่อเพลง ‘เก็บ, ขอ, คอย, กลับ, ตื่น, รอ, เพียง, อย่า, หลอก, แม้’ เป็นคำจำกัดความสั้น ๆ แต่เอ่อล้นไปด้วยความเจียมเนื้อเจียมตัวของบทเพลง ความเรียบง่ายในดนตรีที่ไม่ง่ายเลยจะผสมผสานมวลรวมทั้งหมดเพื่อคลี่คลายบนเนื้อหาหม่นหมองแต่เจือภาพความหวังเล็ก ๆ ในอัลบั้ม
โดยผลงานชุดแรก (และยังเป็นชุดเดียว) ก็ได้รับความนิยมอย่างยาวนาน จนมีอัลบั้มชุดพิเศษ Appetizer Mix Up & More วางจำหน่ายตามมา เพื่อให้เห็นศักยภาพอันน่าทึ่งของอัลบั้มชุดนี้ที่ทั้งยอดเยี่ยมและได้รับความนิยม จนหลายต่อหลายคนยกให้อัลบั้มนี้คืออัลบั้มในดวงใจ และเป็นอัลบั้มที่เปลี่ยนชีวิตพวกเขาไปตลอดกาล
หลังจากนั้น โต้ก็หันกลับไปทำงานเบื้องหลังให้กับค่าย Spicydisc รวมถึงไปร่วมแจมงานของเพื่อน ๆ ตามปกติ สลับกับการเปิดร้าน Here ราดหน้ากากหมู เอกมัยซอย 8
ข่าวความเจ็บป่วยและปัญหาสุขภาพของโต้งเกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่หลายคนยังรอคอยที่จะฟังผลงานอัลบั้มชุดใหม่ของ Save the Last Piece อยู่เสมอ จนในปี 2560 หรือในอีก 12 ปีต่อมา โต้งก็เข็นผลงานอีพีของ Save the Last Piece ในชื่อ Soup ออกมา โดยมี 3 เพลง และให้รุ่นน้องที่โต้งเคยร่วมงานด้วยมาขับร้อง พร้อมกับมีโครงการที่จะทำอัลบั้มชุดที่ 2 จำนวน 11 เพลง ให้สำเร็จ
แต่ท้ายที่สุดอัลบั้มนั้นก็ไม่มีให้เห็น เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ท่ามกลางโลกโซเชียลที่ผู้คนมากมายต่างโพสต์ข้อความหรือรูปในวันแห่งความรักอันแสนหวานชื่นนั้น เพื่อนศิลปินของโต้งกลับแชร์ข่าวการจากไปไม่มีวันหวนกลับของโต้ง มณเฑียร แก้วกำเนิด และพร้อมที่จะให้เกียรติด้วยการไม่ระบุสาเหตุของการจากไปครั้งนี้
“หลายปีหลังๆ มานี้ โต้งอ่อนแอลงมาก ทุกวันที่มันเขียนเฟสบุค มันก็ชอบเขียนถึงความทรงจำเก่าๆ ที่มันจำได้ มากมาย มานึกดูวันนี้ มันคงใช้เวลาที่เหลือของมันคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่มีกับเพื่อนๆ ก่อนจะหนีเราไปก่อนล่วงหน้า กูคงนอนหลับด้วยความรู้สึกผิดไปอีกนาน เสียใจที่น่าจะคุยกับมึงให้มากกว่านี้ รักมึงมากนะโต้ง พักได้แล้วนะทีนี้ กูไม่รู้จะพูดยังไงดี จนกว่าจะได้พบกันใหม่นะมึง” - ตรัย ภูมิรัตน์
“วันนี้พี่โต้งจากเราไปแล้ว แกเปลี่ยนองศามองดูพวกเราจากบนฟ้าในที่ที่แสนสงบ ผมเชื่อว่าถึงวินาทีนี้แกก็คงยังยิ้มให้ผมเหมือนทุกครั้งที่เราเจอกัน บนโลกใบนี้คงเหลือไว้แต่ความอาลัยรัก ผลงาน และสิ่งดีๆในความทรงจำที่ผมยังรู้สึกขอบคุณทุกครั้งที่คิดถึงแก ดั่งบนปกเทปทุกหน้าที่มีชื่อของ มณเฑียร แก้วกำเนิด อยู่บนนั้น ในชีวิตของผมก็จะมีชื่อพี่โต้งสถิตย์อยู่ในความรักตลอดลมหายใจของผมเฉกเช่นกัน RIP ป๊า .. รักป๊าครับ” - ณัฐวุฒิ ศรีหมอก
“ในนาม พีโอพี ขอกราบขอบพระคุณเพื่อนๆ พี่น้อง และแฟนเพลงทุกท่าน ที่ได้กรุณาสละเวลาร่วมแสดงความเสียใจในช่วงเวลาที่เราได้สูญเสีย “โต้ง” มณเฑียร แก้วกำเนิด เพื่อนอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน เราจะเก็บ “โต้ง” ไว้ในหัวใจตลอดไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เสียงกีต้าร์ของโต้งในทุกๆ บทเพลงที่พวกเรา และโต้งได้ร่วมกันสร้างขึ้นมา จะยังคงเป็นตัวแทนในการสร้างความสุข รอยยิ้ม หรือเศร้าไปด้วยกัน แต่จะคงความเป็นเพื่อนที่ดี เหมือนที่โต้งเป็นกับพวกเราทุกคนเสมอมา และเป็นกับทุกคนตลอดไป กราบขอบพระคุณอีกครั้ง ด้วยความรักและเคารพ รัก และคิดถึงมึงมาก..” - นภ เจอรี่ พี่ซี ก้อ P.O.P.
ในช่วงเวลาแห่งความเศร้าสร้อย บทเพลงจากการบรรเลงของโต้ง กลับดังขึ้นพร้อม ๆ กันจากการรำลึกถึงช่วงเวลาหนึ่งที่บทเพลงของเขาเคยบรรเลงปลอบโยนจิตใจ
บทเพลงมากมายที่ถูกโพสต์จากเพื่อน ๆ ในสื่อโซเชียลมีเดีย บ่งบอกว่า สำหรับตัวโต้งแล้ว ทุกเพลงคือตัวตนของเขา ทุกเพลงคือชีวิตของเขา และถึงแม้กฎแห่งธรรมชาติจะพลัดพรากเขาไป แต่บทเพลงของเขาจะอยู่คู่กับโลกไปตลอดกาล
แม้นานสักเพียงไหน
แสนนานสักเพียงไหน
ก็ยังคงเป็นเหมือนวันเก่า
บทเพลง…ที่เป็นเพลงของเรา
ฉันยังได้ยินในใจ
The People ขอรำลึกถึงการจากไป และขอขอบคุณที่สร้างสรรค์บทเพลงมากมายที่คอยเคียงข้างในทุกช่วงเวลา…มณเฑียร แก้วกำเนิด
ภาพ: Montien Tong Kaewgamnoed/Facebook