23 ก.พ. 2566 | 18:03 น.
- เพลง ‘Wind of Change’ ของวง Scorpions จากเยอรมนี เป็นเพลงบัลลาดร็อกที่โด่งดังและติดหูแฟนเพลงทั่วโลก เพลงนี้มีแรงบันดาลใจจากบรรยากาศในรัสเซียช่วงสงครามเย็นกำลังยุติลง
- วง Scorpions ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเนื้อร้องบางส่วนที่เอ่ยถึงบริบทรัสเซีย หลังจากรัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครนช่วงกุมภาพันธ์ 2022
มิคาอิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีคนสุดท้ายของโซเวียตเสียชีวิตลงในวัย 91 ปี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2022 (เวลาท้องถิ่น) เขาถูกจดจำจากโลกตะวันตกว่าเป็นผู้นำที่ยุติสงครามเย็นโดยสงบ และหากเอ่ยถึงสัญลักษณ์ของการยุติสงครามเย็นอีกหนึ่งชิ้นในสายวัฒนธรรมร่วมสมัย หลายคนน่าจะนึกถึงบทเพลง ‘Wind of Change’ ของวง Scorpion
นี่คือเรื่องราวเบื้องหลังของบทเพลงอมตะ สู่วันที่ต้องเปลี่ยนเนื้อร้อง หลังรัสเซียใช้ปฏิบัติการทางทหาร บุกยูเครน
‘สกอร์เปียนส์’ (Scorpions) วงร็อกจากเมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี คนไทยรู้จักกันในฉายา ‘แมงป่องผยองเดช’ พวกเขาเริ่มก่อตั้งวงเมื่อ ค.ศ. 1965 ออกผลงานแรกเมื่อปี 1972 แต่กว่าที่วงจะอยู่ตัวทั้งในแง่การสร้างเอกลักษณ์ในตัวตนทางดนตรีและชื่อเสียงวงกว้างก็ปาเข้าไปปลายยุค 70s แล้ว แต่เมื่อออกสตาร์ท วงโลดแล่นในอุตสาหกรรมดนตรีมายาวนานจนถึงกุมภาพันธ์ ปี 2022 ก็ยังคลอดอัลบั้มใหม่ชื่อ Rock Believer เป็นสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 19 แล้ว
บทความก่อนหน้านี้ที่ The People เคยเผยแพร่เกี่ยวกับเพลงเดียวกันนี้ของสกอร์เปียนส์ (Scorpions) อธิบายภูมิหลังของวงไว้ว่า สกอร์เปียนส์ เขียนเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษ แทนที่จะเป็นภาษาแม่อย่างเยอรมัน เพราะคิดว่าคนจะเมินหน้าหนีวงร็อกที่มาจากเยอรมนี ภายหลังจากเยอรมนีถูกคนทั่วโลกมองว่าสร้างบาดแผลให้คนจำนวนมากจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
[คลิกอ่านเรื่อง ‘Wind of Change’ เพลงแห่งการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ที่ว่ากันว่า CIA เป็นคนแต่ง!]
เมื่อเดินทางไปทัวร์ในช่วงแรก สกอร์เปียนส์ มักเจอเหตุการณ์ต่อต้านบ่อยครั้ง บางคราวที่ไปโปแลนด์และรัสเซียอันเป็นประเทศซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากสงครามโลกครั้งที่ 2 บทความก่อนหน้านี้เล่าว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางครั้งถึงขั้นมีความรุนแรงเลยทีเดียว
ตลอดอาชีพสายดนตรี เส้นทางของวงผ่านเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย และหนึ่งในนั้นคือการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินเมื่อปี 1989
เป็นที่รับรู้กันว่า สกอร์เปียนส์ มักสร้างผลงานเพลงที่มีเนื้อหาสื่อสารเชิงไม่เห็นด้วยกับสงครามมาตลอด เพลง Wind of Change ถูกปล่อยออกมาช่วงธันวาคม 1990 หลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย 1 ปี จัดว่าเป็นเพลงบัลลาดร็อก หรือ ‘พาวเวอร์ บัลลาด’ ที่แฟนเพลงทั่วโลกจดจำได้มากสุดอีกชิ้นหนึ่ง และสามารถเรียกได้ว่าเป็นเพลงที่เชื่อมโยงกับบริบทอันเกี่ยวเนื่องกับการปฏิวัติทางการเมืองและทางวัฒนธรรมอยู่เสมอ
ก่อนหน้าจะเล่นเพลงนี้บนเวที บ่อยครั้งที่ เคลาส์ ไมน์ (Klaus Meine) นักร้องนำของวงจะพูดเกริ่นก่อนว่าเพลง Wind of Change เป็นเพลงแห่งความหวัง ขณะที่คนส่วนใหญ่มองว่าบทเพลงนี้เป็นเสมือนดนตรีประกอบช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในอดีตสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการยุติสงครามเย็นในอดีต
สมาชิกของวงเคยขึ้นบรรเลงเพลงนี้ที่ประตูบรันเดินบวร์ก (Brandenburg Gate) ในวาระครบรอบ 10 ปีการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินเมื่อปี 1999 เพลงนี้ยังได้รับโหวตให้เป็นบทเพลงแห่งศตวรรษที่ 20 โดยผู้ชมรายการ ZDF เมื่อปี 2005
ความเป็นมาของเพลง
/ I Follow the Moskva (ฉันไปล่องตาม[แม่น้ำ]มอสควา)
Down to Gorky Park (ล่องลงไปที่กอร์กี ปาร์ก)
Listening to the wind of change (ขณะฟังเสียงสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง) /
เคลาส์ ไมน์ นักร้องนำของวงเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเขียนเนื้อเพลงนี้เมื่อวันที่ 3 และ 4 กันยายน 1989 หลังจากวงขึ้นแสดงในเทศกาลดนตรีมอสโคว์เพื่อสันติ (Moscow Music Peace festival) ช่วงกลางเดือนสิงหาคมของปีนั้น
การแสดงที่มอสโคว์ในเลนินสเตเดียม ความจุนับแสนที่นั่งร่วมกับศิลปินอเมริกันและวงท้องถิ่น เป็นครั้งแรกที่วงเฮฟวีเมทัลจากตะวันตกได้รับอนุญาตให้ขึ้นแสดงในเมืองหลวงของโซเวียตในเวลานั้น ถ่ายทอดสัญญาณไปหลายประเทศรวมถึงผ่านช่อง MTV ในสหรัฐอเมริกา เรียกได้ว่าเทศกาลดนตรีระยะ 2 วันเป็นงานใหญ่โต ที่สำคัญคือมันสร้างแรงบันดาลใจให้ไมน์ ซึ่งเติบโตภายใต้ร่มเงาของม่านเหล็กให้เขียนเนื้อหาเพลง Wind of Change
ไมน์ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารโรลลิงสโตน (Rolling Stone) ในวาระครบรอบ 25 ปีเพลง Wind of Change เมื่อปี 2015 ว่า
“เรานั่งเรือล่องลงไปตามแม่น้ำมอสควา และเราอยู่บนเรือพร้อมกับวงทั้งหมด กับนักข่าวจาก MTV และทหารจากกองทัพแดง (Red Army)...มันเป็นช่วงเวลาแห่งแรงบันดาลใจสำหรับผม
[ในท่อนแรกของเนื้อร้องมีว่า / I Follow the Moskva (ฉันไปล่องตามแม่น้ำมอสควา) / Down to Gorky Park (ล่องลงไปที่กอร์กี ปาร์ก)]
“มันเหมือนกับโลกทั้งใบมาอยู่ในเรือลำนั้นและพูดจาสื่อสารเป็นภาษาเดียวกัน นั่นคือภาษาดนตรี”
ไมน์ ยังเล่าเสริมอีกว่า เมื่อวงขึ้นแสดงเพลงแรกด้วยเพลง Blackout ทหารกองทัพแดงของรัสเซีย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ต่างหันหน้ามาที่เวที จากนั้นก็เริ่มโยนหมวกและแจ็คเก็ตขึ้นฟ้า เขามองว่าเป็นช่วงเวลาที่มหัศจรรย์มาก
“มันเป็นความรู้สึกเหมือนกับว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปต่อหน้าต่อตา คนรุ่นใหม่ชาวรัสเซียสัมผัสได้ว่ายุคสงครามเย็นกำลังจะจบลงเร็ว ๆ นี้ มีความรู้สึกของความหวัง และนั่นคือสิ่งที่ผมพยายามจะสื่อสารในเพลง [Wind of Change]”
ด็อก แมกกี (Doc McGhee) ผู้จัดการวงเล่าว่า คืนที่สองของเทศกาลที่วงเล่นในมอสโคว์ สมาชิกวงอยู่บนรถบัสที่กลับจากสถานที่โชว์ เวลานั้น เคลาส์ กำลังผิวปาก Wind of Change ทำให้เชื่อว่า เคลาส์ มีไอเดียอยู่ในหัว วันต่อมาก็เขียนเกือบทั้งหมดที่เป็นองค์ประกอบเบื้องต้นของเพลง
เวลาล่วงเลยไป กระทั่งถึงปี 2020 เกิดกระแสฮือฮาขึ้นเมื่อแพทริก แรดเดน คีฟ (Patrick Radden Keefe) นักข่าวสืบสวนสอบสวนมาเล่าในรายการพอดแคสต์เป็นซีรีส์ 8 ตอน เป็นเรื่องราวของคีฟ ที่พยายามแกะรอยข่าวลือว่า แท้จริงแล้ว เพลงนี้แต่งโดย CIA หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ซึ่งไมน์ ให้สัมภาษณ์กับ Die Zeit ปฏิเสธกระแสข่าวลือที่ซุบซิบกันว่าบทเพลงที่โด่งดังอีกเพลงของเขาแต่งโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการด้านโฆษณาชวนเชื่อ
นอกเหนือจากเสียงซุบซิบเรื่อง CIA หลายคนยังสงสัยว่าไอเดียของเพลงนี้เชื่อมโยงกับ เปเรสตรอยคา (perestroika) อันเป็นคำเรียกถึงการปฏิรูปปรับเปลี่ยนเรื่องต่าง ๆ ในห้วงของนายมิคาอิล กอร์บาชอฟ ซึ่งไมน์ ก็ปฏิเสธเช่นกัน และยืนยันว่า เพลงนี้สื่อสารถึงความรู้สึกที่เขาได้รับในช่วงปี 1988 และ 1989 โดยเฉพาะเดือนสิงหาคม 1989 จากเทศกาลดนตรีในมอสโคว์ และอีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น กำแพงเบอร์ลินก็ล่มสลายลงในเดือนพฤศจิกายน 1989
ไมน์ สัมผัสกลิ่นของการเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่ในช่วงสิงหาคม 1989 ดังที่กล่าวและยกคำให้สัมภาษณ์มาข้างต้น แต่เขาไม่คิดว่ากำแพงเบอร์ลินจะล่มสลายลงจริง ๆ ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา และตามมาด้วยความเปลี่ยนแปลงในเยอรมนี ไปจนถึงยุโรปตะวันออก
ความเปลี่ยนแปลงของ ‘สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง’
/ Blows straight into the face of time (เป่ามันเข้าอย่างจังบนใบหน้าของกาลเวลา)
Like a storm wind that will ring the freedom bell (ราวกับลมพายุที่จะสั่นสะท้านกระดิ่งแห่งเสรี)
For peace of mind (เพื่อความสุขสงบของจิตใจ)
Let your balalaika sing (จงปล่อยให้บาลาลัยกา [เครื่องดนตรีรัสเซีย] ของคุณเปล่งเสียงออกมา)
What my guitar wants to say (จากสิ่งที่กีตาร์ของฉันต้องการจะบอก) /
ต้นปี 2022 เมื่อรัสเซียส่งทหารบุกยูเครนจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนหลายประเทศ นักร้องนำของวงเปิดเผยว่า เขาปรับเปลี่ยนเนื้อเพลง Wind of Change ไปบ้าง
“การร้องเพลง Wind of Change แบบที่เราเคยร้อง มันไม่ใช่เรื่องที่ผมสามารถนึกถึงมันได้อีกต่อไป...มันไม่เหมาะอีกแล้วที่จะทำให้รัสเซียดูโรแมนติกด้วยเนื้อเพลงแบบ ‘ฉันล่องไปตามแม่น้ำมาสควา / ล่องไปที่กอร์กี ปาร์ก ... ปล่อยให้ balalaika (เครื่องดนตรีท้องถิ่นรัสเซีย) เปล่งเสียงของมัน”
ไมน์ เผยว่า วงตัดสินใจเปลี่ยนเนื้อเพลงดังระหว่างช่วงแสดงในทัวร์ที่สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อปลายมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่ทหารรัสเซียบุกยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2022
เนื้อเพลงที่ถูกปรับและแสดงขึ้นบนหน้าจอด้านหลังเวทีจะเขียนว่า
/ Now listen to my heart (บัดนี้ จงฟังเสียงหัวใจของฉัน)
It says Ukrainia (มันบอกว่า ยูเครเนีย) [สะกดตามรายงานข่าว]
Waiting for the wind to change (กำลังเฝ้ารอให้สายลมเปลี่ยนแปลง) /
บทสัมภาษณ์ของไมน์ กับ Die Zeit นักร้องนำของวงแมงป่องผยองเดชยังปฏิเสธด้วยว่า วงไม่ได้มองข้ามสถานการณ์ของยูเครน พร้อมชี้ว่า สปอร์เปียนส์ เคยไปแสดงคอนเสิร์ตที่โดเนตสก์, คาร์คีฟ และโอเดสซา
ในทางกลับกัน ก่อนหน้ารัสเซียบุกยูเครน ไมน์ ยังมีความสัมพันธ์กับแฟนเพลงรัสเซียและความทรงจำอันดีกับผู้คนในรัสเซียในฐานะที่เป็นแรงบันดาลใจของเพลง ในบทสัมภาษณ์เมื่อปี 2015 เขายังเล่าว่า เคยอัดเพลงนี้ในหลายภาษารวมถึงรัสเซีย เมื่อไปแสดงในรัสเซีย เขายังร้องท่อนหนึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นด้วย
เมื่อปี 1988 ไมน์ ยังจำได้ว่าวงสกอร์เปียนส์ เป็นหนึ่งในวงแรก ๆ ที่ได้เล่นในเลนินการ์ด (Leningrad)
ขณะที่ในวาระครบ 90 ปีของหน่วยข่าวกรองรัสเซีย (Russian secret service) สกอร์เปียนส์ และศิลปินแนวลาตินอย่างคาร์ลอส ซานตานา (Carlos Santana) ก็ได้รับเชิญไปเล่น โดยในอีเวนต์นั้นมีนายวลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) เข้าชมด้วย
เคลาส์ ไมน์ เคยกล่าวไว้ว่า
“ในฐานะนักดนตรี คุณยังคงยึดมั่นกับแนวคิดว่า ผู้คนในประเทศที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว บางคนอาจมองหน้ากันในสถานะศัตรู และมีปฏิกิริยาต่อเสียงดนตรีแบบเหมือน ๆ กันได้ นั่นคือกรณีเดียวกันกับเคสในยูเครนและรัสเซีย”
เรื่อง: ธนพงศ์ พุทธิวนิช
ภาพ: (บน) แฟ้มภาพของเคลาส์ ไมน์ และ (ล่าง) สมาชิกวงสกอร์เปียนส์ ไฟล์จาก Getty Images
หมายเหตุ: เนื้อหานี้เผยแพร่เมื่อ 18 มิถุนายน 2022
อ้างอิง:
Bienstock, Richard. “Scorpions’ ‘Wind of Change’: The Oral History of 1990’s Epic Power Ballad”. Rolling Stone. Website. Published 2 SEP 2012. Access 16 JUN 2022.
Oltermann, Philip. “Scorpions say they changed Wind of Change lyrics as song ‘romanticised Russia’ ”. The Guardian. Website. Published 31 MAY 2022. Access 16 JUN 2022.
Penfold, Chuck. "Ode to perestroika". DW. Website. Access 16 JUN 2022.