Pink Floyd - The Dark Side of the Moon พลิกโลกดนตรีด้วยด้านมืดของสัจธรรมชีวิต

Pink Floyd - The Dark Side of the Moon พลิกโลกดนตรีด้วยด้านมืดของสัจธรรมชีวิต

ครบครึ่งศตวรรษของอัลบั้ม ‘The Dark Side of the Moon’ จากวง Pink Floyd ที่พาผู้ฟังไปสำรวจสัจธรรมชีวิตและดนตรีแหวกแนวที่เปลี่ยนโลกดนตรีไปตลอดกาล กับการไขข้อสงสัย The Dark Side of the Rainbow กับความบังเอิญสุดมหัศจรรย์

I’ll see you on the dark side of the moon

อีกฝั่ง’ หรือ ‘ด้านมืด’ ของดวงจันทร์ ถือเป็นปริศนาของมวลมนุษย์เสมอมา ทุกวันที่ดวงอาทิตย์ต้องลาลับขอบฟ้าและดวงจันทร์ผงาดขึ้น สิ่งที่ปรากฎขึ้นคือด้านสว่างของดวงจันทร์ที่จะคอยเป็นมิตรฉายแสงยามราตรี แต่ในดาวเคราะห์ดวงสนิทเดียวกันนี้เอง อีกฟากหนึ่งของมันกลับกลายเป็นคนแปลกหน้าที่กลายเป็นตัวแทนแห่งปริศนาที่เราทุกคนได้แต่จินตนาว่ามันมีหน้าตาเป็นอย่างไรหรือว่ามีอะไรที่หลบซ่อนอยู่

ไม่เกินความจริงหากมนุษย์อยากจะทะยานขึ้นฟ้าเพื่อไปดูว่าอีกด้านของมันมีอะไรซ่อนอยู่ แต่คงไม่ใช่ทุกคนที่จะสวมชุดอวกาศและก้าวขึ้นยานอะพอลโลเพื่อลองเวียนผ่านไปดูด้วยสายตาของตัวเองสักครั้ง

แต่เมื่อ 50 ปีก่อน ได้มีวงดนตรีหนึ่งนามว่า ‘พิงค์ ฟลอยด์’ (Pink Floyd) เปิดโอกาสให้ผู้ฟังของพวกเขาได้ลองไปเยือนอีกฟากหนึ่งของดวงจันทร์ดูสัก (หลาย) ครั้ง ด้านมืดที่ดูห่างไกลเกินเอื้อมถึง แต่แท้จริงแล้วกลับซ่อนอยู่ภายในจิตใจของตัวเรานี้เอง ผ่านผลงานอัลบั้มลำดับที่แปด ของวง ‘The Dark Side of the Moon’ ที่เผยแพร่ในเดือนมีนาคมปี 1973 หรือก็เป็นเวลาครึ่งศตวรรษพอดิบพอดี

Pink Floyd - The Dark Side of the Moon พลิกโลกดนตรีด้วยด้านมืดของสัจธรรมชีวิต

แม้จะกรุยทางและนิยามสไตล์ตัวเองอย่างชัดเจนที่วิวัฒน์จาก ไซเคเดลิกร็อก (Psychedelic Rock) สู่วงดนตรีแนวโพรเกรสซิฟร็อก (Progessive Rock) จากอัลบั้ม Meddle ในปี 1971 ที่มาพร้อมบทเพลงยาว 23 นาทีอย่าง Echoes ที่กินพื้นที่ Side B ทั้งหน้าของแผ่นเสียงอัลบั้มไปเต็ม ๆ แต่ The Dark Side of the Moon ที่ถูกปล่อยสองปีต่อมาก็ถือเป็นอัลบั้มที่เป็นหมุดหมายสำคัญที่สุดของพวกเขา ทั้งในแง่ของแนวทางดนตรี คอนเซ็ปต์ และชื่อเสียงของวงอย่างชัดเจน

ถึงจะเป็นดนตรีที่มีความทดลองในสไตล์อยู่ค่อนข้างสูง ไม่ได้มีท่อนฮุคที่ฮิตติดหูหรือมิวสิควิดีโออันน่าจดจำ แต่อัลบั้ม The Dark Side of the Moon ก็ได้รับความนิยมและฮิตติดท็อป 200 อัลบั้มของการจัดอันดับ Billboard มาต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลากว่า 14 ปี และนอกจากในแง่ของความนิยมแล้ว Rock & Roll Hall of Fame ก็ยังเคยขนานนามอัลบั้มนี้ว่าเป็น

ผู้วางรากฐานและกรุยทางให้กับการพัฒนาของกระแสดนตรีที่สำคัญอย่าง Psychedelic Space-Rock และ Blues-Based Progressive Rock

เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของอัลบั้ม The Dark Side of the Moon ในบทความนี้เราจะพาไปไปสำรวจด้านมืดของดวงจันทร์ในแบบฉบับของ Pink Floyd, เปิดที่มาของการออกแบบปกอัลบั้มอันโด่งดัง และไขข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็น The Dark Side of the Rainbow กับความบังเอิญเมื่อดนตรีจากอัลบั้ม The Dark Side of the Moon สามารถประกอบเข้ากับภาพยนตร์เรื่อง The Wizard of Oz (1939) ได้อย่างสมบูรณ์แบบจนผู้คนพากันตั้งข้อสงสัยว่าเรื่องบังเอิญหรือตั้งใจ?

ด้านมืดภายในจิตใจมนุษย์

นอกจากสไตล์ดนตรีที่ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์โลกดนตรีแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นหัวใจหลักของ The Dark Side of the Moon ก็คือคอนเซ็ปต์ของอัลบั้ม โดยอัลบั้มนี้ถือเป็นอัลบั้มแรกที่ โรเจอร์ วอเตอร์ส (Roger Waters) มือเบสของวงเป็นผู้เขียนเนื้อเพลงด้วยตัวเองทั้งหมด (และกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะสร้างรอยร้าวในวงต่อไปในอนาคต)

โดยแต่ละบทเพลงในอัลบั้มล้วนเกี่ยวโยงกับด้านมืดของชีวิตไม่ว่าจะเป็น ความโลภที่ถูกเสียดสีผ่านเพลง Money, ความตายที่ถูกบรรยายผ่านเสียงร้องของ แคลร์ ทอร์รี่ (Clare Torry) ในเพลง The Great Gig in the Sky, ความไม่จีรังของมนุษย์กับเวลาที่ผ่านแล้วผ่านไปกับเนื้อเพลงของ Time และปัญหาทางสภาพจิตที่ได้แรงบันดาลใจจากอดีตสมาชิกอย่าง ซิด บาร์เร็ตต์ (Syd Barret) ในเพลง Brain Damage

และนี่คือตัวอย่างของเนื้อเพลง Time จากอัลบั้ม The Dark Side of the Moon

 

So you run and you run to catch up with the sun but it's sinking

Racing around to come up behind you again.

The sun is the same in a relative way but you're older,

Shorter of breath, and one day closer to death.

 

แล้วคุณก็วิ่งวน วิ่งไป เพื่อไขว่คว้าอาทิตย์มาครอง แต่มันกลับจมหาย

รู้ตัวอีกทีมันก็มาปรากฎขึ้นอยู่ที่เบื้องหลังของคุณเสียแล้ว

ดวงอาทิตย์ยังคงเป็นเช่นเดิมไม่เปลี่ยนไป มีแต่คุณที่แก่ลง

ลมหายใจเริ่มหดหาย ล่วงอีกวันที่เขยิบเข้าสู่ความตาย

 

ลำแสง สามเหลี่ยม และสเปกตรัม

ไม่ต้องบอกก็คงเดากันได้ไม่ยาก ว่าปกอัลบั้ม The Dark Side of the Moon นั้นดังไกลและเป็นที่นิยมมากเพียงไหน ดังที่เราบอกไปก่อนหน้า ว่าแม้ไม่เคยฟังหรือไม่รู้จัก Pink Floyd มาก่อน แต่อย่างน้อยก็น่าจะต้องเคยเห็นภาพของสามเหลี่ยมที่มีแสงสเป็กตรัมทะลุผ่านตากันมาบ้าง (โดยเฉพาะที่ช่วงที่กระแส Nyan Cat เป็นที่นิยมจนถูกเอามาผนวกรวมกับ The Dark Side of the Moon นี่แหละครับ) นอกจากนั้น สามเหลี่ยมรูปนั้นยังถูกเอามาสกรีนลงเสื้อกันมากมายเต็มไปหมด จนกลายเป็นว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวไม่เพียงเป็นภาพแทนของวง Pink Floyd อย่างเดียว แต่มันยังเป็นหนึ่งภาพกราฟฟิกสุดคลาสสิคอีกด้วย

สตอร์ม ธอร์เกอร์สัน (Storm Thorgerson) และ ออเบรย์ เพาเวลล์ (Aubrey Powell) คือชื่อของคนที่เราต้องคารวะหากคุณเป็นหนึ่งคนที่ชื่นชอบปกของอัลบั้มนี้ เพราะว่าเขาทั้งสองจากกลุ่มศิลปินนามว่า ‘ฮิปโนซิส’ (Hipgnosis) คือผู้ที่ออกแบบปกอันโด่งดังนี้ขึ้นมา

หากย้อนกลับไปในยุคสมัยทศวรรษที่ 1970 กลุ่มศิลปินกลุ่มนักออกแบบกลุ่มนี้ถือว่าเป็นตัวท็อปแห่งวงการเลยก็ว่าได้ วงดนตรีร็อคในยุคสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็น Black Sabbath, Electric Light Orchestra, AC/DC, Genesis, The Alan Parsons Project และรวมถึงหนึ่งในสมาชิกสี่เต่าทองอย่าง พอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) ด้วย

แต่ถ้าให้เล่าย้อนถึงกลุ่มศิลปินกลุ่มนี้คงต้องเล่ากันยาวแน่ ๆ แต่ถ้าจะให้เท้าความสั้น ๆ การออกแบบครั้งประวัติศาสตร์กับวง Pink Floyd ในอัลบั้ม The Dark Side of the Moon ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาร่วมงานกัน แต่ทั้งสองได้ร่วมสร้างสรรค์ปกอัลบั้มกันมาตั้งแต่ Pink Floyd เปิดตัวอัลบั้มแรกในชื่อ A Saucerful of Secrets (1968) จนมาถึงอัลบั้มที่มีปกน่าจดจำอย่าง Ummagumma (1969), Atom Heart Mother (1970), และ Meddle (1971) ด้วย

Do something clean, elegant and graphic

คือบรีฟเดียวที่ศิลปินทั้งสองได้รับจาก ริชาร์ด ไรท์ (Richard Wright) มือคีย์บอร์ดของวง ไอเดียของภาพเกิดขึ้นในเวลาเช้ามืดที่ทั้งคู่นั่งงมนึกไอเดียกันมาตลอดคืน จนธอร์เกอร์สันบังเอิญไปเห็นเข้ากับภาพของปริซึมที่มีลำแสงส่องผ่านในหนังสือของฟิสิกส์พื้นฐานเล่มหนึ่ง พวกเขาจึงเก็บมันเป็นหนึ่งในไอเดียที่จะไปนำเสนอกับทางวง และเมื่อได้เห็นสิ่งที่ธอร์เกอร์สันมานำเสนอ Pink Floyd ก็ตัดสินใจเลือกไอเดียนี้ในทันที จนมันได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ยาวมาถึงทุกวันนี้

Pink Floyd - The Dark Side of the Moon พลิกโลกดนตรีด้วยด้านมืดของสัจธรรมชีวิต

สำหรับความหมายของปก แฟน ๆ หลายคนก็ตีความว่ามันเกี่ยวโยงกับวัฏจักรของชีวิตที่วนเวียนไม่จบสิ้น (เพราะหากพลิกดูที่ปกทั้งหน้าและหลังเราจะเห็นว่าแสงสีขาวนั้นเชื่อมติดกัน) ลำแสงที่พุ่งผ่านสามเหลี่ยมเปรียบเสมือนการเกิด และการวิ่งทะลุสามเหลี่ยมก็เปรียบเสมือนการเผชิญชีวิตจนเหล่าคนแต่ละคนให้แตกต่างกันเสมือนสีสเปกตรัมที่ทุะลุกออกมา

แต่ครั้งหนึ่งธอร์เกอร์สันเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Rolling Stone ว่าแรงบันดาลใจและความหมายหลัก ๆ ของปกอัลบั้มมาจากโชว์ของ Pink Floyd ที่มักเล่นกับแสงสี ส่วนสามเหลี่ยมที่เราเห็นก็เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของความคิดและความทะเยอทะยาน

ภายหลังจากอัลบั้ม The Dark Side of the Moon พวกเขาก็ยังคงสร้างสรรค์ปกให้กับอัลบั้มของ Pink Floyd เรื่อยมา ซึ่งแต่ละอันก็ถือเป็นปกที่หลายคนขอยกขึ้นหิ้งและขนานนามว่าเป็นหนึ่งในปกที่ดีที่สุดทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Wish You Were Here (1975) และ Animals (1977) โดยทั้งสองปกนี้ก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้กันเลยแม้แต่น้อย

 

ไขปริศนา The Dark Side of the Rainbow

The Dark Side of the Rainbow’ คือชื่อเรียกของภาพยนตร์ The Wizard of Oz (1939) ในเวอร์ชันที่อัลบั้ม The Dark Side of the Moon จะบรรเลงเป็นพื้นหลัง และทั้งสองกลับประกอบเข้ากันอย่างน่ามหัศจรรย์ ไม่ว่าจะเป็นฉากที่แม่มดปรากฎตัวมาบนจักรยานพร้อม ๆ กับเสียงเตือนนาฬิกาอันเป็นอินโทรของเพลง Time หรือว่าจะเป็นช่วงที่พายุทอร์นาโดถล่มพร้อม ๆ กับเสียงดนตรีจาก The Great Gig in the Sky จนเสมือนว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเป็น Music Video ของอัลบั้ม The Dark Side of the Moon ไปเลยทีเดียว

เมื่อได้มีแฟน Pink Floyd ไปค้นพบการจับคู่กันเข้า มันก็ถูกแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว จนมันได้กลายเป็นปริศนา กลายเป็นตำนาน กลายเป็นเรื่องเล่าที่เหล่าแฟน ๆ ก็พากันแนะนำว่าต้องลองจับทั้งสองอย่างนี้มาเปิดพร้อม ๆ กันดูสักครั้ง แต่ความจริงของเรื่องนี้เป็นอย่างไรแน่ คนที่น่าจะตอบได้ดีที่สุดก็คงเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจากผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างอัลบั้มนี้ขึ้นมา

อลัน พาร์สันส์ (Alan Parsons) ผู้ดูแลการอัดและมิกซ์เสียงให้กับ The Dark Side of the Moon ก็ได้เคยออกมาให้สัมภาษณ์และตอบอย่างตรงไปตรงมาว่าทั้งสองอย่างไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันเลยแม้แต่น้อย แต่มันเป็นสิ่งที่คนคิดกันไปเองมากกว่า มันอาจจะมีความบังเอิญที่เข้ากันจริง แต่มันไม่ใช่ความตั้งใจของผู้สร้างอย่างแน่นอน

นอกจากนั้นพาร์สันส์ก็ยังได้ยกตัวอย่างว่าเขาก็เคยเปิดดูรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่ง และฟังเสียงจากอีกช่องหนึ่ง ซึ่งในบางคราวมันก็กลับเข้ากันได้อย่างมหัศจรรย์เหมือนกัน และ The Dark Side of the Rainbow ก็เป็นหนึ่งกรณีที่เข้าข่ายความบังเอิญแบบนั้น

โรเจอร์ วอเตอร์ส ก็ออกมาไขข้อข้องใจกับประเด็นนี้ในรายการของ โจ โรแกน (Joe Rogan) เช่นเดียวกัน โดยวอเตอร์สได้บอกว่ามันก็อาจจะจริงที่มันเข้ากันอย่างน่ามหัศจรรย์ แต่สิ่งที่สำคัญคือมันไม่ใช่เจตนาของวง Pink Floyd หรือคนที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน มันก็แค่เรื่องบังเอิญ

หรือไม่แน่มันก็อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญที่ฟ้าลิขิตก็ได้นะ!

 

ท้ายที่สุด ดังที่เราได้กล่าวไปในตอนเริ่มต้น แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้ไปสำรวจและเห็นด้านมืดของจันทราด้วยตัวของเราเอง แต่อย่างน้อย Pink Floyd ก็สามารถพาเราไปสำรวจมันได้ พาให้เราสวมหูฟังหรือเปิดเครื่องเสียงแล้วมองไปที่ท้องฟ้ายามค่ำคืนแล้วตั้งคำถามว่าอีกฟากฝั่งหนึ่งของดวงจันทร์ที่เราไม่เห็นมันจะเป็นอย่างไรกัน

แต่บางที ด้านมืดของจันทราในแบบฉบับของ Pink Floyd อาจจะอยู่ใกล้กว่าที่เราคิด มันอาจจะเป็นสิ่งที่เรามองข้าม หรือมันอาจจะเป็นที่ ๆ เรายืนอยู่ทุก ๆ วัน อาจจะเป็นความธรรมดาของชีวิต อาจจะเป็นการตั้งอยู่ของความเป็นมนุษย์ ที่เปรียบเสมือนด้านมืดของดวงจันทร์ที่ดูห่างเกินเอื้อม ไกลเกินเห็น แต่มันคือตัวเรานี้เอง

There is no dark side of the moon, really. Matter of fact, it's all dark.

ภาพ:

ปกอัลบั้ม The Dark Side of the Moon (1973)

Getty Images

IMDb

 

อ้างอิง:

https://www.nytimes.com/2023/02/28/arts/music/pink-floyd-dark-side-of-the-moon-50th-anniversary.html

https://www.rockhall.com/inductees/pink-floyd

https://www.dailymaverick.co.za/article/2021-02-02-behind-the-music-the-cultural-impact-and-sound-revolution-of-pink-floyds-the-dark-side-of-the-moon/

https://www.sarakadee.com/2016/05/11/the-dark-side-of-the-moon-cover/

https://spinditty.com/genres/The-Meaning-of-Pink-Floyds-Dark-Side-of-the-Moon

https://extrachill.com/pink-floyd-dark-side-of-the-moon-album-cover-prism-meaning

https://www.rollingstone.com/feature/storm-thorgerson-how-i-designed-the-cover-of-dark-side-of-the-moon-99919/