ตำนานชีวิต ‘โป่ง หินเหล็กไฟ’ อีกหนึ่งร็อกสตาร์ที่เคยอยู่ทั้ง GRAMMY-RS จากโซดา ถึงเดอะซัน

ตำนานชีวิต ‘โป่ง หินเหล็กไฟ’ อีกหนึ่งร็อกสตาร์ที่เคยอยู่ทั้ง GRAMMY-RS จากโซดา ถึงเดอะซัน

‘โป่ง หิน เหล็ก ไฟ’ ร็อกสตาร์ นักร้อง นักแต่งเพลง และอดีตผู้บริหาร อีกหนึ่งศิลปินที่เคยสังกัดทั้ง GRAMMY และ RS ผ่านเส้นทางอันโชกโชนบนถนนสายร็อก

  • ‘โป่ง หิน เหล็ก ไฟ’ ชาวร็อกที่มีศักยภาพสูงทั้งในด้านการร้องเพลงและแต่งเพลง มีผลงานขึ้นหิ้งมากมายทั้งในช่วงอยู่กับ Grammy และ RS

แฟนพันธุ์แท้ ‘โป่ง’ และนักวิจารณ์เพลงไทย ต่างทราบกันดี ว่า ‘โป่ง’ เป็นอัจฉริยะด้านการเขียนเพลงคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘เนื้อร้อง’

‘โป่ง’ มีทักษะการใช้ภาษาที่ดี พิสูจน์จากเนื้อเพลงจำนวนมากของเขามีสถานะเทียบเท่าบทกวี และบางเพลงมีความสละสลวยยิ่งกว่ากวีนิพนธ์

โดยเชื่อแน่ว่าเขาต้องเคยเขียนเรื่องสั้น บันทึกต่าง ๆ และบทความ ที่อาจหลอมรวมอยู่ในนวนิยาย ‘สัญญาปีศาจ’ ที่เขาเคยเขียนในนิตยสาร ‘บันเทิงคดี’

ความสามารถด้านงานเขียนนี้เอง ที่ ‘เต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์’ ชื่นชอบฝีมือของ ‘โป่ง’ ถึงขนาดเคยขอความเห็นของเขาในช่วงที่ ‘เต๋อ’ ทำเพลง ‘มันแปลกดีนะ’

นั่นเป็นช่วงเวลาที่ ‘โป่ง’ สังกัดค่าย GRAMMY ENTERTAINMENT ยุคแรก ๆ ที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับ ‘เต๋อ’ และออกอัลบั้มร่วมกับวง ‘โซดา’ ภายใต้ชายคา GRAMMY

ก่อนที่จะกลายเป็น ‘ดิ โอฬาร โปรเจกต์’ และต่อมาคือ ‘หิน เหล็ก ไฟ’ รวมถึง ‘เดอะ ซัน’ ที่โด่งดังก้องฟ้าเมืองไทยในเวลาต่อมา นั่นเป็นช่วงเวลาที่เขาสังกัด RS PROMOTION

ดังนั้น ‘โป่ง หินเหล็กไฟ’ จึงเป็นอีกหนึ่ง ‘ตำนานร็อก’ และ ‘อัจฉริยะ’ ด้านการแต่งเพลง ที่เคยอยู่ทั้ง GRAMMY-RS

ในช่วงเวลาที่สองค่ายยักษ์ใหญ่กำลัง Featuring กันในกระแส Talk of the Town อยู่ในเวลานี้

“ใจสู้หรือเปล่า ไหวไหมบอกมา

โอกาสของผู้กล้า ศรัทธาไม่มีท้อ”

‘ร็อคสตาร์’ เริ่มต้นที่ ‘เทพศิรินทร์’

บรรยากาศนักเรียนมัธยมปลายยุค 70s อบอวลไปด้วยเพลงร็อกของ Pink Floyd, Deep Purple, Led Zeppelin, Judas Priest, Uriah Heep โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Black Sabbath และ Ozzy Osbourne

แม้วัยเด็กของ ‘โป่ง - ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์’ จะยังห่างไกลคำว่า ‘ร็อกสตาร์’ ราวฟ้ากับดิน แต่พื้นฐานการฟังเพลงที่หลากหลาย ได้หล่อหลอมกลวิธีเขียนเพลงให้เขาโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะการใช้ภาษา

ภาษาที่สละสลวยของ ‘ครูพยงค์ มุกดา’ ในหลายเพลงของ ‘ดิ อิมพอสซิเบิล’ เป็นจุดเริ่มต้นให้ ‘โป่ง’ ในวัยเด็กชอบฟังเพลงจากวิทยุ จาก ‘ดิ อิมฯ’ แน่นอนต้องตาม ‘สุนทราภรณ์’ และ ‘ชาตรี’ ซึ่งถือเป็นวงไทยสากลยุคแรกที่อัดแผ่นเพลงไทยของตัวเอง ในยุคที่หลายวงนำทำนองสากลมาแปลงเนื้อไทย

นอกจากวิทยุ ที่บ้านน้าในอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร บ้านเกิดของ ‘โป่ง’ ยังมีแผ่นเสียงให้เขาเลือกฟังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘เอลวิส เพรสลีย์’ หรือ ‘คลิฟฟ์ ริชาร์ด’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘คาราวาน’ และแผ่นลูกทุ่งอีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงเพลงจีน

และก็เป็นเพลงลูกทุ่ง ที่ดูเหมือน ‘โป่ง’ จะถูกจริตกับ ‘ภาษา’ ของเพลง ถึงกับนำไปร้องประกวด คือเพลง ‘คนหัวล้าน’ ของ ‘สุรพล สมบัติเจริญ’ นอกจากผลงานของ ‘ครูสุรพล’ แล้ว ‘โป่ง’ ยังชื่นชอบเพลงของ ‘ศรคีรี ศรีประจวบ’ ‘ชาตรี ศรีชล’ และ ‘สายัณห์ สัญญา’

การขึ้นมาเรียนต่อชั้นมัธยมที่ ‘เทพศิรินทร์’ ถือเป็นการเปิด ‘โลกทัศน์เพลงร็อก’ ให้กับ ‘โป่ง’ ที่เข้ากรุงเทพฯ มาพร้อมพื้นฐานการฟังเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง สตริง

ก่อนเข้า ‘เทพศิรินทร์’ แม้ ‘โป่ง’ จะเล่นกีตาร์เป็นมาก่อนแล้ว แต่ถ้าเทียบกับ ‘เด็กเทพ’ แล้ว มันคนละเรื่องกันเลย เพราะ ‘เด็กเทพ’ เขาฟัง และเล่น Heavy Metal ‘ร็อกแอนด์โรลล์’ ไม่ว่าจะเป็น Pink Floyd, Deep Purple, Led Zeppelin, Judas Priest, Uriah Heep โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Black Sabbath และ Ozzy Osbourne

โดยมีรายการวิทยุเพลงร็อกซึ่งถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญคือรายการวิทยุของ ‘วิฑูร วทัญญู’ ผู้สนับสนุนให้เกิดวง Flesh & Skin หรือ ‘เนื้อกับหนัง’ ซึ่งเป็นวงที่ทำเพลง ‘ร็อกเนื้อไทย’ เป็นวงแรก

ที่ ‘เทพศิรินทร์’ นี้เอง ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของ ‘ร็อคสตาร์’ ที่ชื่อ ‘โป่ง - ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์’ ที่ต่อมาวงการเพลงไทยได้ขนานนามเขาว่า Ozzy Osbourne เมืองไทย

เพราะที่ ‘เทพศิรินทร์’ เขาและเพื่อน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘พิทักษ์ ศรีสังข์’ เพื่อนรักจากปะทิว ชุมพร ที่เรียนอยู่ ‘อำนวยศิลป์’ ได้ตั้งวงร็อกที่ชื่อ ‘นาอ้อน’ ซ้อมกันหนักเข้าขั้นเอาจริง และรับงานแสดงตามงานเลี้ยงต่างๆ

‘นาอ้อน’ ประกอบด้วย ‘โป่ง’ ‘พิทักษ์’ ‘จุมพฏ เลขะพันธุ์’ (ต่อมาเป็นวง ‘เนื้อกับหนัง’) และ สุพจน์ ธัญญธาดา ที่แม้จะจบลงพร้อมกับการสิ้นสุดสถานะนักเรียนมัธยม แต่สำหรับ ‘โป่ง’ มันคือพื้นฐานสำคัญที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ส่วนตัว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเข้าเดินเข้าสู่รั้ว ‘รามคำแหง’ ที่ ‘โป่ง’ ได้รู้จักกับ ‘ตุ้ม – วีระ โชติวิเชียร’ (ต่อมาไปอยู่วง ‘มิติ’) ก่อกำเนิดเป็นวง ‘อินเฟอร์โน่’ ประกอบด้วย ‘โป่ง’ ‘พิทักษ์’ และ ‘สุพจน์’ จากวง ‘นาอ้อน’ สบทบด้วย ‘ตุ้ม’ และ ‘เอกชัย วิมลแก้ว’ ตระเวนเดินสายเล่นตามมหาวิทยาลัย และเวทีต่างๆ

การได้พบกับ ‘ตุ้ม วีระ’ ทำให้ ‘โป่ง’ ตะลึงตึงตึงหลายอย่าง เช่น ฝีมือของ ‘ตุ้ม’ ที่กระโดดจากเพื่อน ๆ ที่ ‘เทพศิรินทร์’ ไปอีกขั้น และสิ่งที่ไม่คาดฝันก็คือ ‘ตุ้ม’ รู้จักคนในวงการร็อคไทย ทำให้ ‘อินเฟอร์โน่’ ได้ไปเล่นในเวทีของ ‘วิฑูร วทัญญู’ ดีเจคนโปรด

ด้วยฝีไม้ลายมือของ ‘อินเฟอร์โน่’ ทำให้ ‘วิฑูร วทัญญู’ ชื่นชอบ และคนในวงการร็อกไทยพากันจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มือกีตาร์ระดับตำนานคนต่อไปที่ชื่อ ‘โอฬาร พรหมใจ’

 

เข้าสู่ชายคา GRAMMY ในนาม ‘โซดา’

‘โซดา’ เป็นการรวมตัวของสมาชิกวง ‘โจนาธานบลูส์’ ประกอบด้วย ‘สมโชค นวลนิรันดร์’ ‘บรรจง รัตนโสภณ’ และ ‘ฉัตรพงษ์ นิยมไทย’ ผนวกกับ ‘โอฬาร พรหมใจ’  มือกีตาร์วง VIP ของ ‘แหลม มอริสัน’ และสมาชิกวง ‘อินเฟอร์โน่’ คือ ‘โป่ง’ และ ‘พิทักษ์’

ในยุคที่ GRAMMY เพิ่งเริ่มต้น แน่นอน อัลบั้ม ‘คำก้อน’ ผลงานชุดแรกและชุดเดียวของวง ‘โซดา’ จึงมีชื่อของ ‘เต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์’ เป็นโปรดิวเซอร์

นี่คือโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้ ‘โป่ง’ ได้เรียนรู้การทำงานแบบมืออาชีพเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคนิคการทำเพลงของ ‘เต๋อ’ ที่มักไม่เปลี่ยนโครงสร้างเพลงที่วงดนตรีเขียนมา คือจะเก็บแกนหลัก ๆ ไว้ แนะนำเพียงองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น วิธีการร้อง หรือรูปแบบการอัดเสียง และการเรียบเรียงเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด

สิ่งสำคัญที่ ‘โป่ง’ ซึมซับจาก ‘เต๋อ’ ก็คือ ‘การเขียนเพลง’ ซึ่งเป็นทักษะที่สั่งสมอยู่ในตัว ‘โป่ง’ มาก่อนแล้ว เมื่อได้คำแนะนำดี ๆ จาก ‘เต๋อ’ ยิ่งเพิ่มความมั่นใจในการทำงานให้กับ ‘โป่ง’ มากยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ดี แม้ ‘โป่ง’ และเพื่อน ๆ วง ‘โซดา’ จะตั้งใจทำงานอัลบั้มนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ ‘โป่ง’ ที่เขียนเนื้อร้องทั้งหมด ทว่า ผลงานชุด ‘คำก้อน’ ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ อาจเป็นเพราะเพลงไทยแนวร็อกยังเป็นของใหม่สำหรับนักฟัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘โซดา’ ถูกกลบความดังโดย ‘นกแล’ ที่ออกเทปในช่วงเดียวกันพอดี แถมเป็นค่าย GRAMMY เหมือนกันเสียด้วย

อย่างไรก็ตาม นอกจาก ‘โป่ง’ จะเพิ่มพูนทักษะการทำเพลงที่ได้จาก ‘เต๋อ’ แล้ว เขายังเรียนรู้รูปแบบธุรกิจเพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงานเป็นระบบแบบมืออาชีพ เพราะ GRAMMY นอกจากจะเป็นศูนย์รวมศิลปินเพลงและโปรดิวเซอร์ระดับแถวหน้าแล้ว ยังเป็นที่รวมของนักการตลาดตัวพ่อในยุคนั้นอีกด้วย

หลังหมดสัญญากับ GRAMMY ‘โป่ง’ และเพื่อน ๆ ได้ออกผจญภัยกันต่อ โดย Chapter ใหม่ของชีวิตคือสถานะนักดนตรี Indy-Rock นำโดย ‘โอ้ - โอฬาร พรหมใจ’ ที่ต้องการฟอร์มวงใหม่ โดยตั้งใจให้ ‘โป่ง’ เขียนเนื้อเพลง ส่วน ‘โอ้’ แต่งทำนอง

 

The Olarn Project ตำนานบทที่ 2 ของ ‘โป่ง’

เมื่อวง ‘โซดา’ ยุติบทบาทพร้อมกับ ‘สมโชค นวลนิรันดร์’ ‘บรรจง รัตนโสภณ’ สมาชิกที่เหลือ ได้ตั้งวงใหม่คือ ‘ดิ โอฬาร โปรเจคต์’ ซึ่งประกอบด้วย ‘โอ้’ ‘โป่ง’ ‘พิทักษ์’ ‘ฉัตรพงษ์’ (แตงโม) และเติม ‘กุ๋งกิ๋ง - ชนินทร์ แสงคำชู’ เข้ามาในตำแหน่งกลอง

เป็นไปตามความตั้งใจของ ‘โอ้’ ที่ให้ ‘โป่ง’ รับผิดชอบงานเขียนเนื้อเพลง ส่วน ‘โอ้’ แต่งทำนองทั้งหมด และเรียบเรียงเสียงประสาน ในอัลบั้มแรก ‘กุมภาพันธ์ 2528’ ที่กลายเป็นตำนานแห่งวงการเพลงร็อกไทย ภายใต้สังกัด ‘เสียงทอง’

แม้จะได้รับคำชื่นชมจากแฟนเพลง นักวิจารณ์ และคนในวงการร็อกไทย แต่ ‘กุมภาพันธ์ 2528’ ยังไม่มีงานจ้างเข้ามามากเท่าที่ควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยอดขายที่อยู่แค่กลุ่มนักศึกษา และนักฟังที่ชื่นชอบเพลง ‘อย่าหยุดยั้ง’ ‘ไฟปรารถนา’ ‘แทนความห่วงใย’ เท่านั้น ยังไม่สามารถทะลุไปสู่ระดับ Mass ได้

เพราะ ‘มาสเตอร์พีช’ ของ ‘ดิ โอฬาร โปรเจคต์’ ที่ทะลุไปสู่ระดับ Mass คือ ‘หูเหล็ก’ ผลงานชุดที่ 2 ของพวกเขา สังกัด ‘ไมล์สโตน เรคคอร์ด’ ของ ‘มาโนช พุฒตาล’

การทำงานในอัลบั้ม ‘หูเหล็ก’ นั้น ‘ดิ โอฬาร โปรเจคต์’ ได้เปลี่ยนสมาชิกจาก 5 เหลือ 4 คน โดยมี ‘ณรงค์ ศิริสารสุนทร’ เข้ามาใหม่ในตำแหน่ง ‘เบส’ และ Mikael Johansson ในตำแหน่ง ‘กลอง’ และตัดตำแหน่งคีย์บอร์ดออก ที่เหลืออีก 2 ตำแหน่งคือ ‘โอ้’ และ ‘โป่ง’

‘หูเหล็ก’ แรงตั้งแต่ปกเทปที่ใช้พื้นหนัง-ตัวอักษรเหล็ก สื่อถึงระดับความแรงของ Heavy Metal ที่อัลบั้มชุดนี้ ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ และ ‘ชาวหูเหล็ก’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนในวงการร็อคไทย ว่า ‘หูเหล็ก’ เป็น ‘อัลบั้ม Heavy Metal ภาษาไทยที่ดีที่สุดตลอดกาล’

ด้วยความลงตัวของท่วงทำนอง และภาคดนตรีที่จัดหนัก จัดเต็มคาราเบล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝีไม้ลายมือการเขียนเนื้อร้องของ ‘โป่ง’ ที่ทุ่มเทสุดชีวิต เป็น ‘มาสเตอร์พีช’ ที่ ‘โอ้’ ผนึกกำลังกับ ‘โป่ง’ ไต่ระดับไปสู่ยอดพีระมิดของอาชีพ

เป็นอัลบั้มระดับตำนาน ที่ขายได้จนถึงวันนี้ ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ไม่ว่าจะเทป CD หรือแผ่นเสียง ไม่ว่าจะปั๊มกี่รอบ เปลี่ยนปกกี่ครั้ง ก็ยังขายได้ และขายดี แม้ในรูปแบบเทปผี CD เถื่อน ที่คนในวงการร็อกไทยทราบกันดี

ทำให้ ‘มาโนช พุฒตาล’ เจ้าของค่าย ‘ไมล์สโตนเรคคอร์ด’ ต่อยอดความสำเร็จของ ‘หูเหล็ก’ ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์ ‘กุมภาพันธ์ 2528’ มาจัดจำหน่ายพร้อมกัน ภายใต้ลาเบล ‘ไมล์สโตนเรคคอร์ด’ นับจากนั้น

ในส่วนของโปรดักชั่นของ ‘หูเหล็ก’ ด้วยเสียงร้องแผดสูงในเพลงเร็ว และหนักแน่นในเพลงช้า ไม่ว่าจะเสียงสูง หรือเสียงต่ำ ‘โป่ง’ ทำได้อย่างไม่มีที่ติ จนได้รับฉายาว่า Ozzy Osbourne เมืองไทย ทั้งจากบุคลิกส่วนตัว เสื้อผ้าหน้าผม เทคนิคการร้อง เสียงหัวเราะ และลีลาหน้าเวที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝีไม้ลายมือการเขียนเนื้อเพลง

 

ย้อนดูต้นแบบ Ozzy Osbourne ตัวจริง

บุคลิกส่วนตัว เสื้อผ้าหน้าผม เทคนิคการร้อง เสียงหัวเราะ และลีลาหน้าเวที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝีไม้ลายมือการเขียนเนื้อเพลง ของ ‘โป่ง’ มีความละม้ายคล้ายคลึงกับ Ozzy Osbourne จนเขาได้รับสมญานามว่าเป็น Ozzy Osbourne เมืองไทย

Ozzy Osbourne ศิลปินนักร้อง-นักแต่งเพลงชาวอังกฤษแห่งวง Black Sabbath วงดนตรี Heavy Metal จากเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1968 นำโดย Tony Iommi Geezer Butler Bill Ward Geoff Nicholls และแน่นอน Ozzy Osbourne

นอกจาก Ozzy Osbourne จะเป็น Front man ตัวหลักของ Black Sabbath ในฐานะนักร้องนำ เขายังได้โชว์ฝีไม้ลายมือในการแต่งเพลงที่ทั้งดุดัน และพลิ้วไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลีลาการแสดงหน้าเวที ที่ดุเดือดเลือดพล่าน ถึงขนาดกัดหัวค้างคาวขาดคาปากบนเวทีมาแล้ว

ไม่เพียงความสำเร็จที่ได้ทั้งเงินและได้ทั้งกล่องกับ Black Sabbath ในฐานะศิลปินเดี่ยว Ozzy Osbourne ได้รับการยกย่องไม่แพ้กัน จากคุณภาพ และมาตรฐานทางดนตรีที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผลงานที่เขาร่วมกับวง Black Sabbath

นอกจากเสียงร้องแผดสูงในเพลงเร็ว และหนักแน่นในเพลงช้า Ozzy Osbourne ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิวัติวงการ Heavy Metal ระดับแถวหน้าของโลก ทั้งในนาม Black Sabbath และในนามศิลปินเดี่ยวมากว่า 55 ปี จนได้รับฉายาถึง 2 ชื่อด้วยกันคือ ‘เจ้าพ่อ Heavy Metal’ และ ‘เจ้าชายแห่งความมืดหม่น’

ในส่วนของ ‘โป่ง’ ผลงานเมื่อครั้งที่อยู่วง ‘ดิ โอฬาร โปรเจคต์’ ทั้ง ‘กุมภาพันธ์ 2528’ และ ‘หูเหล็ก’ ทั้งบุคลิก การแต่งตัว พลังร้อง เสียงหัวเราะ ลีลาหน้าเวที และ ฝีไม้ลายมือการเขียนเนื้อเพลง เขาจึงได้รับการยกย่องให้เป็น Ozzy Osbourne เมืองไทยดังได้กล่าวไป

 

จาก GRAMMY สู่ RS

เส้นทางจาก GRAMMY สู่ RS ของ ‘โป่ง’ ค่อนข้างจะยาวนาน และผ่านหลักไมล์อื่น ๆ มาก่อน เมื่อเทียบกับศิลปินอื่น ๆ ที่ย้ายจาก GRAMMY ไป RS หรือจาก RS มา GRAMMY อย่างน้อย ‘โป่ง’ ก็ผ่านค่าย ‘เสียงทอง’ และ ‘ไมล์สโตนเรคคอร์ด’ ถึง 2 ค่าย

อย่างไรก็ดี ต้องนับว่า ‘โป่ง’ คืออีกหนึ่งตัวแทนศิลปินที่สังกัดทั้งสองค่ายใหญ่แห่งวงการเพลงไทย คือ GRAMMY และ RS ในวันที่ค่ายยักษ์ใหญ่ทั้งสองได้มารวมตัวกันทำโครงการดนตรี Featuring และจะมีคอนเสิร์ตใหญ่หลายครั้งร่วมกันในปีนี้

อย่างไรก็ดี หลังจากยุติบทบาทกับ ‘ดิ โอฬาร โปรเจคต์’ หมายเหตุสำคัญที่มีการบันทึกไว้ก็คือ ก่อนจะเข้าสู่ชายคา RS ‘โป่ง’ ได้นำเดโม ‘หิน เหล็ก ไฟ’ ไปเสนอกับ GRAMMY ก่อนค่ายอื่น จากเหตุผลที่ ‘โป่ง’ มีความสัมพันธ์อันดีกับ ‘เต๋อ’ เมื่อครั้งยังอยู่วง ‘โซดา’ ในสังกัด GRAMMY

ทว่า ด้วยเหตุผลบางประการ ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ดนตรีบ้านเราในตอนนั้นที่เป็นอัลเธอร์เนทีฟร็อค ‘เต๋อ’ เริ่มวางมือจากอาการป่วย ทำให้ไม่ได้พบกับ ‘โป่ง’ และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ทำให้ความคิดเห็นไม่ตรงกัน ‘โป่ง’ จึงนำ ‘หิน เหล็ก ไฟ’ ไปสังกัด RS ที่ ‘เฮียฮ้อ’ เปิดรับ และเปิดโอกาสให้ ‘โป่ง’ และเพื่อน ๆ ได้ทำเพลงอย่างอิสระ

นำมาสู่อัลบั้มแรกในนาม ‘หิน เหล็ก ไฟ’ ที่ถือเป็นการกลับมาระเบิดวงการ Heavy Metal สร้างปราฏการณ์ร็อกเขย่าเมืองอีกครั้งหลังจากที่เคยเกิดกับ ‘หูเหล็ก’ มาแล้ว

โดยสมาชิก ‘หิน เหล็ก ไฟ’ ประกอบด้วย ณรงค์ ศิริสารสุนทร มือเบสจาก ‘ดิ โอฬาร โปรเจคต์’ นักร้องนำ แน่นอน ชื่อว่า ‘โป่ง’ มือกลอง ‘สมาน ยวนเพ็ง’ กีตาร์คู่ ‘นำพล รักษาพงษ์’ และ ‘จักรรินทร์ ดวงมณีรัตนชัย’ ที่เป็นเพชรเม็ดงามรอการเจียระไนในขณะนั้น เนื่องจาก ‘จักรรินทร์’ หรือ ‘ป๊อป’ กำลังเรียนปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางพี่ ๆ คือ ‘ณรงค์’ และ ‘โป่ง’ ที่เห็นแวว ‘ป๊อป’ จาก The Rock Pub ยินดีคอย ‘ป๊อป’ มาร่วมวง รอให้เรียนจบก่อนแล้วจะติดต่อกลับไปอีกที

เมื่อ ‘ป๊อป’ เรียนจบ ก็เป็นอันว่าได้สมาชิกคลาสสิกไลน์อัพครบทีมแล้ว ‘หิน เหล็ก ไฟ’ ก็ออกมาโชว์ความร้อนแรงเต็มพิกัด แบบที่ ‘โป่ง’ ได้มีโอกาสสร้างสรรค์งานเพลงในแบบฉบับของตัวเองอย่างเต็มที่ ในช่วงเวลาที่สุกงอมพอดี ทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ และการผสมผสานธาตุทั้ง 5 ของสมาชิก ‘หิน เหล็ก ไฟ’ ยุคก่อตั้ง

บทเพลงฮิตมากมาย ไล่ตั้งแต่ ยอม เพื่อเธอ นางแมว ความหวัง ก่อนจะสาย ค้างคาวไฟ พลังรัก สองคน สู้ ร็อคเกอร์ ที่ล้วนเป็นต้นแบบสำคัญให้นักดนตรี Heavy Metal รุ่นหลังได้เดินตามรอยหมุดหมายสำคัญของวงการร็อคไทยอัลบั้มนี้ ที่มากับยอดขาย 1,000,000 ตลับ

โดย ‘หิน เหล็ก ไฟ’ ใช้เวลากับการออกทัวร์คอนเสิร์ตอัลบั้มชุดแรกนานถึง 2 ปี จึงได้กลับมาทำอัลบั้มชุดที่สอง ชื่อว่า ‘คนยุคเหล็ก’ ที่มีเพลงไล่เรียงกันไปดังนี้ หลงกล มั่วนิ่ม สอยมันลงมา คิดไปเอง พอกันที ไขว้เขว คนยุคเหล็ก หวาดระแวง คนธรรมดา โอกาส เจ็บบ้างก็ดี ที่บางคนบอกว่าอัลบั้มนี้ดีกว่าชุดแรก ขณะที่หลายคนชอบชุดแรกมากกว่า

แต่แล้ว ความสำเร็จกลับกลายเป็นทุกขลาภของสมาชิก ‘หิน เหล็ก ไฟ’ เพราะกลายเป็นความระหองระแหง ทำให้ ‘โป่ง’ ตัดสินใจออกไปตั้งวงใหม่ชื่อว่า ‘เดอะ ซัน’ ซึ่งยังคงสังกัด RS อยู่

สมาชิก ‘เดอะ ซัน’ ประกอบด้วยอดีตสมาชิก ‘หิน เหล็ก ไฟ’ คือ ‘โป่ง’ ‘ป๊อป’ และ Sel Vester Lester C. Esteban มือกลองจากชุด ‘คนยุคเหล็ก’ ซึ่งมาแทน ‘น้าหมาน’ ที่เสียชีวิต โดยมือเบสเป็นหน้าที่ของ ‘พิทักษ์ ศรีสังข์’ อดีตสมาชิก ‘ดิ โอฬาร โปรเจคต์’ เพื่อนเก่าจากชุมพรของ ‘โป่ง’

‘เดอะ ซัน’ มีผลงานภายใต้สังกัด RS จำนวน 2 อัลบั้ม คือ ‘เดอะ ซัน’ และ ‘เสือ สิงห์ กระทิง แรด’ ส่วนอัลบั้มชุดที่ 3 สังกัด Bakery Music ชื่อว่า ‘ถนนพระอาทิตย์’ โดยที่ต่อมา เมื่อ ‘โป่ง’ เป็นผู้บริหาร ‘เรียลแอนด์ชัวร์’ ค่ายย่อยของ RS ได้นำลิขสิทธิ์ ‘ถนนพระอาทิตย์’ กลับมาอยู่ภายใต้ RS ด้วย

 

ขึ้นแท่นผู้บริหารในมาดศิลปิน

จาก ‘นาอ้อน’ สู่ ‘อินเฟอร์โน่’

จาก ‘อินเฟอร์โน่’ สู่ ‘โซดา’

จาก ‘โซดา’ สู่ ‘ดิ โอฬาร โปรเจคต์’

จาก ‘ดิ โอฬาร โปรเจคต์’ สู่ ‘หิน เหล็ก ไฟ’

จาก ‘หิน เหล็ก ไฟ’ สู่ ‘เดอะ ซัน’

จาก ‘เดอะ ซัน’ สู่ ‘ศิลปินเดี่ยว’

จากเส้นทางดนตรีที่ผ่านมา จากความรู้ ประสบการณ์ จากตัวอย่างทั้งใน และต่างประเทศ ทำให้ ‘โป่ง’ ตกผลึก เป็น Road Map ของ ‘ร็อคสตาร์’ ว่า ‘ร็อกสตาร์’ นั้นเป็น ‘วัฏจักร’ เริ่มจากสตูดิโออัลบั้ม แถลงข่าว ทำมิวสิกวิดีโอ จัดคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้ม ออกทัวร์ เล่นคอนเสิร์ตใหญ่ ออกบันทึกการแสดงสด พักวง กลับมาทำอัลบั้มใหม่ จนถึงจุดอิ่มตัว ก็แยกวง ทำวงใหม่ อิ่มตัวอีกครั้ง เริ่มสถานะศิลปินเดี่ยว และกลับไปรียูเนียนกับวงเดิม ฯลฯ

เขาเริ่มเห็นภาพ และได้สัมผัสกับ ‘วัฏจักร’ จนพบ ‘สัจธรรมร็อก’ ที่จะถ่ายทอดไปสู่ศิลปินรุ่นหลัง จากการได้มีโอกาสก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารค่ายเพลง ‘เรียลแอนด์ชัวร์’ ค่ายย่อยของ RS

โดย ‘โป่ง’ ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ด้วยการออกอัลบั้มเดี่ยว 2 ชุดคือ The Game และ Sexperience กลับมารียูเนี่ยนกับ ‘หิน เหล็ก ไฟ’ อีก 2 อัลบั้มคืองานเพลงชุดที่ 3 ของ ‘หิน เหล็ก ไฟ’ ชื่อว่า Never Say Die และงานแสดงสดในสตูดิโอที่เป็นการเรียบเรียงเพลงฮิตของ ‘หิน เหล็ก ไฟ’ ในรูปแบบอคูสติก คล้ายกับชุด The Olarn Classic โดยใช้ชื่ออัลบั้มว่า Acoustique ถือเป็นผลงานชุดที่ 4 ของ ‘หิน เหล็ก ไฟ’

เพราะก่อนหน้านั้น ‘โป่ง’ กับ ‘ป๊อป’ ได้มีโอกาสร่วมทำอัลบั้ม The Olarn Classic ของ ‘ดิ โอฬาร โปรเจคต์’ ในสังกัด ‘ไมล์สโตน เร็คคอร์ด’ ของ ‘มาโนช พุฒตาล’ เป็นการรียูเนี่ยนด้วยการนำเอาเพลงฮิตของ The Olarn Project มาเรียบเรียงใหม่ในรูปแบบอคูสติก โดยสมาชิก ‘โอ้’ ‘โป่ง’ ‘พิทักษ์ ศรีสังข์’ ‘ดำรงสิทธิ์ ศรีนาค’ และ ‘ป๊อป’

หลังจากนั้น ‘โป่ง’ ได้ขึ้นแท่นเป็นผู้บริหารค่ายเพลง ‘เรียลแอนด์ชัวร์’ ค่ายเพลงร็อคในเครือ RS เน้นผลิตผลงานแนว Heavy Metal เป็นหลัก

 

ตกผลึกชีวิต และทักษะการเขียนเพลงที่ไม่เป็นสองรองใคร

ด้วยพื้นฐานการฟังเพลงที่หลากหลาย ซึ่งค่อย ๆ ซึมลึกอย่างไม่รู้ตัว จากวัยเด็กของ ‘โป่ง - ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์’ จนถึงวันที่เขาเป็น ‘ร็อกสตาร์’ หมายเลขหนึ่งของฟ้าเมืองไทย

จากวัยเด็กที่ชอบฟังเพลงจากวิทยุ พบภาษาที่สละสลวยของ ‘ครูพยงค์ มุกดา’ ในผลงานของ ‘ดิ อิมพอสซิเบิล’ ตามด้วย ‘สุนทราภรณ์’ และ ‘ชาตรี’ ซึ่งถือเป็นวงไทยสากลยุคแรกที่อัดแผ่นเพลงไทยของตัวเอง ในยุคที่หลายวงนำทำนองสากลมาแปลงเนื้อไทย

ค่อย ๆ สร้างกลวิธีเขียนเพลงให้ ‘โป่ง’ เรียนรู้อย่างช้า ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผ่นเสียง ‘เอลวิส เพรสลีย์’ ‘คลิฟฟ์ ริชาร์ด’ ‘คาราวาน’ ‘เพลงจีน’ และ ‘ลูกทุ่ง’ ที่เริ่มถูกจริตเขาในวัยนั้น นอกจากผลงานของ ‘ครูสุรพล’ แล้ว ‘โป่ง’ ยังชื่นชอบเพลงของ ‘ศรคีรี ศรีประจวบ’ ‘ชาตรี ศรีชล’ และ ‘สายัณห์ สัญญา’

จนได้ขึ้นมาเรียนต่อที่ ‘เทพศิรินทร์’ ถือเป็นการเปิด ‘โลกทัศน์เพลงร็อค’ ให้กับ ‘โป่ง’ เริ่มจาก Pink Floyd, Deep Purple, Led Zeppelin, Judas Priest, Uriah Heep โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Black Sabbath และ Ozzy Osbourne

โดยมีรายการวิทยุเพลงร็อกซึ่งถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญคือรายการวิทยุของ ‘วิฑูร วทัญญู’ ทั้งหมดนี้ มีส่วนหล่อหลอมทักษะการเป็นนักแต่งเพลงชั้นครูให้กับ ‘โป่ง’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเขียนเพลงร็อกที่ไม่ง่ายเลย กับการเลือกสรรเสียงวรรณยุกต์ สระ อักษรสูง อักษรกลาง อักษรต่ำ ที่หลากหลายในภาษาไทย ให้คล้องจอง และลงตัวกับท่วงทำนอง Heavy Metal ที่นำเข้ามาจากวัฒนธรรมตะวันตก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตกผลึกชีวิต จาก ‘ร็อกสตาร์’ ที่ดุเดือดกับทุกเรื่อง มาสู่การประนีประนอมแบบพาณิชย์ศิลป์ การเป็นผู้บริหารค่ายเพลง ที่ต้อง Balance ตัวตน อีโก้ ความเป็น ‘ร็อกสตาร์’ ประนีประนอมกับศิลปินต่างวัยในสังกัด ประนีประนอมกับเจ้าของเงินทุน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่รายล้อมค่ายเพลงอยู่

การตกผลึก ที่แม้จะเป็นไปตามวัยวุฒิ คุณวุฒิ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะ Balance ระบบความคิดเดิม หรือรูปแบบการทำงานเดิม ๆ เทคนิคการทำเพลงแบบเดิม กับคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การ Balance งาน กับชีวิตส่วนตัว ในวัยที่มากขึ้น ที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว ลูกน้อง สมาชิกวง และคนรอบข้างมากขึ้น เป็นการตกผลึกชีวิตในวันแซยิด ที่มุ่งเน้นการใช้เวลาอย่างมีคุณค่า

เพราะเมื่อคนเราเดินไปถึงจุดหนึ่ง ในวัยหนุ่มอาจไม่เห็นคุณค่าของเวลา มากเท่าวัยกลางคน ยิ่งเข้าสู่วัยชรา ก็ยิ่งมองเห็นคุณค่าของเวลามากขึ้นไปอีก การตกผลึกคือการ Balance เวลาที่เหลืออยู่ให้มีคุณค่าสูงสุด

ดังที่ ‘โป่ง’ เคยบอกว่า ใครที่คิดได้เรื่องเวลาได้เร็วเท่าไหร่ นับว่าโชคดีมาก มนุษย์ควรบริหารเวลาให้ดี เพราะมันเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต