03 เม.ย. 2566 | 18:42 น.
- ‘จีซู’ พี่ใหญ่ของวง BLACKPINK ปล่อย MV เพลงโซโล่ครั้งแรกในชื่อเพลง 꽃 ‘Flower’ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2023
- ภาพและเสียงในบทเพลงมีนัยความหมายที่น่าสนใจหลายอย่าง สะท้อนถึงแง่มุมทั้งการใช้พื้นที่ว่าง ธรรมชาติ ผู้หญิง ดนตรี และแฟชั่น
꽃 ‘Flower’ เพลงใหม่ล่าสุดจาก ‘จีซู’ (Jisoo) หนึ่งในสมาชิกวง BLACKPINK คนสุดท้ายที่แฟน ๆ ชาว BLINK ต่างรอคอยว่าเธอจะได้ออกผลงานเดี่ยวหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2018 เจนนี (Jennie) ได้ออกผลงานเดี่ยว Solo ต่อมาปี 2021 โรเช่ (Rosé) ในผลงาน R และปี 2021 ลิซ่า (Lisa) ในผลงาน Lalisa เมื่อต้นปี 2023 YG Entertainment ต้นสังกัดยืนยันว่ากำลังอยู่ในกระบวนการผลิตผลงานของเธอ จนกระทั่งวันที่ 31 มีนาคม 2023 ถือว่าเป็นวันสิ้นสุดการรอคอยของบรรดาผู้ติดตามผลงานเดี่ยวของเธอ
อัลบั้ม Me มีกำหนดออกในวันสุดท้ายของไตรมาสแรกของปีกับ 2 บทเพลง 꽃Flower และ All Eyes on Me โดยได้ปล่อย MV เพลง Flower ปรากฏออกมาสู่สายตาเป็นเพลงแรก
สิ่งที่ปรากฏใน MV
สิ่งที่ปรากฏใน MV เรียกได้ว่าสมศักดิ์ศรีในฐานะที่ จีซู (Jisoo) ถือได้ว่าเป็นราชินีแห่งวงการแฟชั่น แน่นนอนว่านับตั้งแต่ภาพแรกตั้งแต่เริ่มต้นจนจบบทเพลงคือการสวมใส่ผลิตภัณฑ์ของ Brand ดังตั้งแต่ New Arrivals, Dior, LEE y.LEE y Official, Rick Owens, Amina Muaddi, Versace, Maria Micro, Rui, Susan Fang, Jimmy Choo และแน่นอน Cartier ในฐานะที่เธอเป็น Global Brand Ambassador ปี 2022 ซึ่งก่อนหน้านั้นในปี 2021 เธอเป็น Global ambassadors ให้กับ Dior
MV แบ่งการเล่าเรื่องที่แบ่งออกเป็น 3 บท มีกลิ่นอายการแบ่งท่อนลำดับเรื่องราวที่ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Everything Everywhere All At Once (2022)
โดยในบทเพลงเริ่มต้นจากวันต่อมา (next day) เวลาเดิม (same time) และสถานที่เดิม (same place) ท่ามกลางฉากทัศน์ของสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่ประดิษฐ์ขึ้นมาในโรงถ่ายภาพยนตร์ Hollywood ที่เป็นพื้นที่กลางเมืองและโรงแรมสุดหรูที่เคยเป็นฉากถ่ายทำ MV หลายเรื่อง กับโชว์หลักที่เป็นการแสดงของเสื้อผ้าที่มีสีสันสดใสตัดกับภาพรวมที่มีอารมณ์เก่าก่อนที่สะท้อนความหรูหรามีระดับ กับภาพการหวนระลึกถึงวันที่เธอเลือกเดินจากไปอย่างสง่างามจากความสัมพันธ์ที่หลอกลวง ดุจดังผีเสื้อที่โบยบินออกไป
เนื้อเพลงที่ใช้การเล่าเรื่องเปรียบเปรยดุจดังบทกวี สะท้อนถึงความซับซ้อนและน่าค้นหาของตัวตนของเธอ โดยใช้กีฏวิทยากับพฤกษศาสตร์เป็นการเปรียบเทียบในท่อนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวลี
“I fly away like a blue butterfly”
ที่หมายถึงว่าเธอนั้นสามารถโบยบินได้เองตลอดเหมือนกับผีเสื้อสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยว่าเธอนั้นเปรียบดั่งผีเสื้อสีน้ำเงิน อันหมายถึงสัญลักษณ์แห่งความรักที่ยังหมายถึงความเปลี่ยนแปลงหรือการเกิดใหม่ได้ตลอดเวลาของผู้หญิง และยังเป็นการเสริมพลังผู้หญิงในฐานะผู้กระทำการที่สามารถก้าวข้ามผ่านความสัมพันธ์ที่เป็นมลพิษได้เองอีกด้วย
ท่าเต้นปล่อยพลังดอกไม้สีแดงที่มีการปล่อยแสงออร่าสีแดงดูราวกับฉากในภาพยนตร์ Marvel เป็นจุดดึงดูดในช่วงท่อน Hook ของบทเพลงที่ออกแบบให้เธอได้แสดงท่าเต้นที่เป็นหมุดหมายสำคัญของความทรงจำในบทเพลงนี้ กับท่าทางการของการปล่อยพลังดอกไม้ที่หมุนมือไปมา รวมถึงท่ารวมตัวของเหล่านักเต้นที่เหมือนดอกไม้ในภาพที่สวมถุงมือสีชมพูเป็นความงดงามที่ปรากฏเป็นความทรงจำที่ชัดเจนในบทเพลง
และเชื่อว่าท่าเต้นที่ถูกออกแบบอย่างตั้งใจเหล่านี้ได้กลายเป็นที่นิยมในหมู่แฟน ๆ ไปแล้วอย่างแน่นอน แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่ปรากฏในบทเพลงนี้ให้บทบาทการเต้นของเธอน้อยเหลือเกิน
โครงสร้างทางดนตรีที่ปรากฏในบทเพลง
ในมิติทางดนตรี ทั้งวิธีการออกแบบวลีและเสียงร้องของ Jisoo มีความเรียบง่ายแต่ทรงพลัง ดังปรากฏให้เห็นความถี่ของพยางค์ร้องที่เริ่มไปน้อยสู่มาก กับการเลือกช่วงเสียงของการร้องที่เริ่มจากต่ำไปสู่ย่านเสียงที่สูงขึ้น สอดแทรกท่วงทำนองที่มีกลิ่นอายของเพลงพื้นเมืองเกาหลีและท่วงทำนองที่พบได้ในเพลง Pop แบบ Caribbean และการออกแบบเสียงร้องแบบพ้นมนุษย์ที่สะท้อนสภาวะระหว่าง (in-between) ความกึ่งจริงกึ่งไม่จริงตามบริบทที่เกิดขึ้นของบทเพลงที่ปรากฏในท่อน Hook หรือท่อน Drop ของบทเพลง
โดยบทเพลงนี้เป็นไปตามมาตรฐานของโครงสร้างบทเพลงเต้นรำทั่วไปที่ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ
บทเพลงขับเคลื่อนด้วยโครงสร้างทางดนตรีในภาคของ rhythm section จากการประกอบสร้างเสียงในแนว Bass ที่คล้ายจากการสังเคราะห์ตัวอย่างเสียง (sampling) จาก Mbira หรือ Kalimba เครื่องดนตรีจากแถบแอฟริกาใต้ เพื่อให้เสียงกำธร (resonance) ที่ยาวและมีพื้นผิว (texture) ทางดนตรีผิดแปลกจากเสียง bass ในเพลงเต้นรำทั่วไป
โดยที่เสียง Bass บรรเลงนำมาก่อนและพร้อมกันกับเสียงกระเดื่องในจังหวะแรกของแต่ละห้อง ประกอบกับเสียงดีดนิ้วในจังหวะที่ 2 และ 4 ที่เรียกโดยทั่วไปในโลกดนตรี Pop ว่า Backbeat
ซึ่งการปรากฏของเสียง Bass และ การดีดนิ้วที่ backbeat เป็นความชาญฉลาดของบทเพลงนี้ เพื่อเป็นการซ่อนอัตราเร่งหรือทำให้คนฟังรู้สึกว่าเพลงนี้ไม่ได้เร็วขนาดนั้นแต่กลับรู้สึกรุกเร้าสับสน ซึ่งโดยปกติตามหลักการที่เรียกว่า Four on the floor มักปรากฏชัดเจนในเพลงเต้นรำตั้งแต่ยุค Disco หรือดนตรี EDM เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนอัตราเร่งของบทเพลงให้มีความสนุกสนานและชัดเจนในความเร็วที่มากกว่าอัตราเร่งของหัวใจปกติของมนุษย์โดยประมาณอยู่ที่ 60-100 BPM
ในท่อนนำและท่อน Verse กระเดื่องจะปรากฏเพียงจังหวะแรกของห้อง แต่เสียงกระเดื่องที่เคาะเต็มจังหวะ 4/4 อย่างแท้จริงปรากฏเฉพาะในช่วงท่อน Hook หลังของบทเพลง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงเครื่องเคาะที่เรียกว่า Hi-Hat ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นตัวควบคุมหรือซอยอัตราการเร่งของบทเพลง แต่กลับปรากฏเฉพาะในช่วงท่อน Verse ที่ 2 และในท่อน Hook โดยที่ไม่ได้ทำหน้าที่เหมือนดังเพลงปกติทั่วไปแต่เป็นการปรากฏขึ้นมาเพื่อเป็นสีสัน อาจเรียกได้ว่าบทเพลงนี้มีคุณลักษณะที่คล้ายคลึงกับดนตรีแบบ Trap-Pop รูปแบบดนตรีที่เริ่มต้นมาจากกลุ่มศิลปิน Hip-Hop และถือได้ว่าเป็นกระแสหลักของรูปแบบเพลง Pop ปัจจุบัน
การ Buildup และท่อน Hook ด้วยวิธี Vocal Chops
การปรากฏเสียงเปียโนขึ้นมาในท่อน Pre-Hook ในท่อนนี้ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญของบทเพลงที่เปิดพื้นที่ให้ Jisoo ได้แสดงศักยภาพของเสียงร้อง ด้วยช่วงเสียงร้องสูงที่สุดในบทเพลงเชิงเทคนิคเรียกว่าการร้องแบบ Head Voice เพื่อเป็นการสร้างจุดขับเน้นให้เกิดความตึงเครียดของบทเพลง
สอดคล้องตามโครงสร้าง buildup ในบทเพลงเต้นรำทั่วไป ที่เปรียบเสมือนต้องการนำพาผู้ฟังมายืนอยู่ตรงริมเหวของบทเพลงและกำลังจะพากระโดดลงไปในเหว เพื่อนำเข้าไปสู่ท่อน Hook ที่ใช้เทคนิคการตัดแต่งเสียงของ Jisoo ให้คล้ายกับหุ่นยนต์หรือที่เรียกว่าเทคนิคแบบตัดแต่งสลับเสียงร้อง (Vocal Chops) เป็นความนิยมในโลกของดนตรีเต้นรำอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นส่วนที่ใครหลายคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นดูแคลนศักยภาพการร้องของตัวเธอ
กล่าวคือเหมือนค่ายเพลงไม่ไว้ใจที่จะให้เธอได้ร้องท่อน Hook แต่หากย้อนกลับไปพิจารณาถึงความยากของท่อน Pre Hook ก็จะพบเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลที่ให้เธอได้แสดงศักยภาพการร้องในส่วนที่กำหนด เพราะในท่อน Hook ต้องการให้สร้างพื้นที่ว่างโดยลดทอนความหมายจากภาษาที่ออกมาจากการร้อง เพื่อขับเน้นให้ผู้คนเต้นรำหรือโบยบินดุจผีเสื้อตามที่เธอนำเสนอมากกว่าที่จะฟังเนื้อเพลง โดยเหลือไว้แค่เพียงประโยคเดียวในช่วงท้ายของท่อน Hook ที่เป็นเสียงร้องปกติจากที่เป็นการใช้เทคนิคการสร้างสรรค์แบบ vocal chops
สรุป: ความย้อนแย้งของบทเพลงระหว่างภาพ กับความเรียบง่ายของเสียงดนตรี
พลังของภาพและเสียงที่ปรากฏผ่านเนื้อเพลงที่มีความเป็นบทกวี สร้างความย้อนแย้งกับรูปแบบโครงสร้างทางเสียงดนตรีที่เน้นความเรียบเงียบและสามารถติดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปรียบเทียบกับภาพที่ปรากฏใน MV ที่ต้องการสร้างสภาวะเสียงที่เกิดขึ้นจากความเป็นธรรมชาติประกอบสร้างกันขึ้นมาบนตรรกะแบบเพลงเต้นรำ ทำให้เพลงนี้เป็นเพลงที่น่าสนใจมากเพลงหนึ่งในหลายรอบปีที่ผ่านมา
อาจกล่าวได้ว่าเพลงมีความ Minimal ในส่วนของการออกโครงสร้างดนตรีตามที่ปรากฏในบทเพลง เพื่อใช้สนับสนุนการนำเสนอภาพราชินีแห่งวงการแฟชั่นของ Jisoo
กล่าวคือเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสภาวะล้นเกินทั้งภาพและเสียง คือมันต้องมีส่วนประกอบที่ต้องยอมนำเสนอความเรียบง่าย ในอีกมิติการสะท้อนถึงความเรียบง่ายผ่านเสียงดนตรีคือการนำเสนอภาพความมั่นใจในตัวตนของเธอ และแน่นอนว่าค่ายปรารถนาให้เพลงนี้ถูกนำเอาไปใช้ตามงานแฟชั่นโชว์ต่าง ๆ ในอนาคต เป็นทั้งการใส่รหัสและคุณค่าอะไรบางอย่างเอาไว้ที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ แต่เป็นความชาญฉลาดที่จงใจสร้างผลิตภัณฑ์หนึ่งขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างผลทางธุรกิจ ซึ่งเป็นความปกติที่พบเห็นได้ทั่วไปในโลกดนตรี pop
ในมุมมองของแฟนคลับบางคนที่อาจจะข้องใจ เพราะดูราวกับว่าต้นสังกัดของเธอเหมือนไม่ตั้งใจมากพอที่จะทำเพลงให้เธอ หากเทียบกับเพลงเดี่ยวของสมาชิกวงคนอื่นแล้วมีความล้ำหน้าและซับซ้อนกว่าเพลงที่เพิ่งปล่อยออกมา แต่ถึงแม้ว่าเพลงเธอจะมีความเรียบง่ายแต่มันก็เป็นการบอกเป็นนัยว่าความงามของเธอก็เพียงพอแล้วที่จะนำเสนอดนตรีที่ไม่ต้องซับซ้อนและมีความเป็นธรรมชาติ เพื่อเสริมสร้างความหมายของตัว Jisoo ที่ทางค่ายต้องการนำเสนอ คือเป็นความสวยเพียงพอแล้วโดยไม่ยัดมวลเสียงอื่น ๆ เข้ามาให้ล้นเกิน แค่ยื่นไปเฉย ๆ คนเขาก็รักแล้ว
กล่าวคือบทเพลงนี้นำเสนอความเรียบง่ายที่สะท้อนผ่านการเรียบเรียงโครงสร้างทางดนตรี เพื่อเสริมส่งความงามที่เป็นธรรมชาติของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความงามจาก Jisoo ที่มากล้นเพียงพอจนไม่ต้องเสริมแต่งหรือถมทับด้วยมวลเสียงใด ๆ ให้สิ้นเปลือง ดังจะเห็นได้ว่าบทเพลงนี้พยายามลดทอนการใช้เสียงสังเคราะห์ตามรูปแบบดนตรีที่ชาว BLINK คุ้นเคย จนถึงขั้นทำให้แฟน ๆ หลายคนต่างตั้งคำถามว่าต้นสังกัดรัก 4 สาวไม่เท่ากันหรือไม่ เพราะเหมือนผิดแปลกไปจากรูปแบบที่เหล่าแฟน ๆ คุ้นเคย
ทว่า บทเพลงดังกล่าวใช้ปรัชญาการแต่งเพลงเดียวกับเพลงที่ใช้การแสดงแฟชั่นในปัจจุบัน ที่ไม่ต้องการให้เสียงเพลงนั้นเข้าไปหักล้างหรือทำลายความสนใจของสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าผ่านสายตา นั่นคือเสื้อผ้าหน้าผมของตัวแบบที่กำลังจัดแสดง
เพลงเหล่านี้จึงมีหน้าที่ส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ที่ปรากฏผ่านสายตามีความเข้มข้นขึ้นมากกว่าปกติ โดยใช้ดนตรีเป็นฉากพื้นหลังที่ทำงานในจิตสำนึกที่ให้ความสง่างามแต่ไม่รบกวนสายตา ดังที่ปรากฏในบทเพลงนี้ จากการออกแบบให้เสียงกำธรของ bass ยาวนานไปจนสิ้นสุดความยาวของห้องในบทเพลง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นสอดรับกับเนื้อเพลงที่บอกว่า
“คงเหลือไว้แค่กลิ่น (ของดอกไม้) ที่ไม่เคยเลือนลาง” (There was nothing left but the scent of a flower)
ธรรมชาติ ผู้หญิง ดนตรี แฟชั่น คือภาพนำเสนอของบทเพลง Flower ที่พยายามใช้เสียงสังเคราะห์น้อยกว่าทุกเพลงเมื่อเทียบกับเพลงเดี่ยวของคนอื่น ๆ
ดังนั้น สิ่งที่ปรากฏออกมาผ่านบทเพลง Flower คงไม่เป็นการกล่าวเกินไปนักว่ามีลักษณะการออกแบบบทเพลงที่คิดจาก ‘ความน้อยแต่ให้ผลลัพธ์มาก’ ซึ่งเป็นวลีดังจาก Ludwig Mies van der Rohe สถาปนิกชาวเยอรมันแห่งสำนักคิด Bauhaus นำมาจากถ้อยความในบทกวีของ Robert Browning เพื่อใช้อธิบายปรัชญาการออกแบบอาคารที่ความเรียบง่ายของวัสดุ เน้นการออกแบบพื้นที่ว่างและการลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นอย่างการประดับประดาจนมากล้นออกไปจากงานออกแบบ เป็นการเลือกใช้งานวัสดุให้ได้ปรากฏขึ้นในงานอย่างตรงไปตรงมา และไม่ปกปิดหรือถมทับร่องรอยที่ไม่พึงประสงค์ออกไป
เฉกเช่นในเพลงนี้ที่ประกอบขึ้นมาจากความเรียบง่าย แต่เปิดพื้นที่ในการตีความและขับเน้นตัวตนของเธอออกให้ปรากฏได้เป็นอย่างดี
ภาพ: เพลง Flower จาก BLACKPINK/YouTube