“2 มุมมองคนดนตรี กับการประกวด The Power Band 2023 Season 3”

“2 มุมมองคนดนตรี กับการประกวด The Power Band 2023 Season 3”

‘พลังแห่งความเป็นไปได้’ บนเส้นทางดนตรี ‘พื้นที’ ปล่อยของจากเวทีประกวด ‘The Power Band 2023 Season 3’ ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘It’s Possible: Music Makes Life Possible’ พลังแห่งดนตรี พลังแห่งทุกความเป็นไปได้

ในยุคที่ใคร ๆ ก็ลุกขึ้นมาเป็นศิลปินได้ด้วยการนำเสนอตัวตนและผลงานเพลงผ่านโลกออนไลน์ อาจเปิดช่องยูทูบหรือปล่อยผลงานเพลงผ่านสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มก็ทำได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านค่ายเพลง แต่คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรียังมองว่าแม้โซเชียลมีเดียเป็นหนทางเปิดตัวให้คนรู้จัก แต่เมื่อศิลปินสร้างสรรค์ผลงานออกมาแล้วย่อมต้องการพื้นที่เพื่อ ‘Perform’ แสดงสดต่อหน้าผู้ชมกันทั้งนั้น 


สำหรับวงดนตรีหน้าใหม่ ‘เวทีประกวด’ จึงเป็นสนามที่จะได้ปล่อยของ แสดงฝีมือของตัวเองออกมาให้โลกรับรู้ เพื่อสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จึงร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ 6 ค่ายเพลงชื่อดังในเมืองไทย เปิดเวทีการประกวดวงดนตรีสากล ‘The Power Band 2023 Season 3’ ในคอนเซ็ปต์ ‘It’s Possible: Music Makes Life Possible’ พลังแห่งดนตรี พลังแห่งทุกความเป็นไปได้ เพื่อค้นหาสุดยอดวงดนตรีจากทั่วประเทศ แล้วปั้นพวกเขาไปสู่ระดับมืออาชีพ


The People มีโอกาสพูดคุยกับ 2 คนดนตรี อย่าง คชภัค ผลธนโชติ หรือ พล วงแคลช ผู้บริหารค่าย Boxx Music และ Zircle Muzik ในเครือ Muzik Move หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวดในเวทีนี้ และ อนันต์ ลือประดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการอำนวยการ The People ในฐานะ Music Guru และอาจารย์พิเศษสอนวิชา Music Business ให้คณะดุริยางค์ศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ถึงโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จของวงดนตรีในยุคนี้ทั้งบนเวทีประกวดและเส้นทางดนตรี

บันไดหนึ่งขั้นที่นักดนตรีต้องผ่าน

ก่อนจะมาเป็นโปรดิวเซอร์และผู้บริหารค่ายเพลง พลเป็นมือกีตาร์วงแคลช นักดนตรีที่ผ่านเวทีการประกวดมาก่อน “สำหรับผมเวทีเมื่อก่อนใช้คำว่าทุรกันดาร (หัวเราะ) เราไม่มีเทคโนโลยีเหมือนวันนี้ อุปกรณ์ต่าง ๆ เกือบจะโปรแต่ก็ไม่โปร และความใส่ใจในเรื่องเสียงวันนั้นกับวันนี้ก็คนละแบบ มีแค่กีตาร์และเอฟเฟคตัวหนึ่งเล็กๆ เสียบเข้าตู้แอมป์ แล้วต้องเล่นให้ดี บาลานซ์เสียงให้ดี แต่วันนี้มีเทคโนโลยี Multi Effect มี Simulate ไม่ต้องผ่านตู้แอมป์แล้ว” “2 มุมมองคนดนตรี กับการประกวด The Power Band 2023 Season 3”
แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเหมือนเดิม คือความสำคัญของเวทีประกวดที่พลบอกว่าเป็นบันไดหนึ่งขั้นที่นักดนตรีต้องผ่านให้ได้ และผ่านด้วยความเข้าใจว่าทำไมต้องผ่านบันไดขั้นนี้

“ถ้าย้อนกลับไปในวันที่ผมเป็นศิลปินแรก ๆ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมเข้าถึงโปรแกรม Logic Pro II, CUBASE เหล่านี้ยากมาก แต่วันนี้มันง่าย น้องๆ มีโปรแกรมทำเพลงหลากหลายมากที่สามารถผลิตงานของตัวเองออกมาได้ แล้วสามารถโพสต์ในโซเชียล ยูทูบ หรือเฟซบุ๊กของเขาเอง แต่สุดท้ายการเป็นศิลปิน เป็นนักร้องต้อง ‘Perform’ เวทีประกวด คือพื้นที่ให้ได้เราได้เล่น แล้วเราจะรู้เลยว่าเพลง หรืองานที่เราผลิตออกมามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ได้วัดผลตัวเอง ได้เห็นว่าคนนั้นมีแนวเพลงคล้ายเราแต่เขามีจุดเด่นตรงไหนบ้าง และพอขึ้นเวทีบ่อย ๆ ก็จะมีประสบการณ์ เช่น การบาลานซ์เสียงบนเวทีไม่เหมือนในห้องซ้อม เป็นคนละโลกเลย ฉะนั้น นี่เป็นขั้นบันไดสำคัญมากที่ต้องออกไปประกวดดนตรี”

ศิลปินยุคนี้ต้องมี ‘ตัวตน’ 
พลนั่งเป็นกรรมการตัดสินการประกวด ‘The Power Band’ ตั้งแต่ซีซันแรก ได้เห็นว่าผู้เข้าประกวดมี 2 สายชัดเจน คือ สายฝีไม้ลายมือ ที่ฝีมือจัดจ้านขึ้นทุกปี จนมืออาชีพอย่างเขาต้องออกปากชมว่า “เด็กไทยโคตรเก่ง” ทั้งยังยอมรับว่าถ้าต้องประชันฝีมือกันโดยที่ไม่เตรียมตัวให้พร้อมอาจจะแพ้เด็กเอาได้

ส่วนผู้เข้าประกวดอีกสาย คือ สายที่เข้าใจในตัวตน มีแนวดนตรีที่ตัวเองชอบแล้วสร้างสรรค์เสียงออกมาได้ตรงกับแนวของตัวเอง มีวิธีร้อง วิธีเล่นและการดีไซน์เสียงที่น่าสนใจ ซึ่งพลบอกว่าเขาสนใจผู้เข้าประกวดสายนี้มากกว่า 


“ทักษะคงเป็นหนึ่งมาตรฐาน สำหรับผมน้อง ๆ ที่เล่นดนตรีทุกวันนี้เก่ง ใช้คำว่า ‘เก่งจัด’ ได้เลย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเห็น คือความเป็นตัวเอง ความมีตัวตน ความรู้ว่าเราพอดีที่ตรงไหน ไม่ใช่แค่ผม แต่ค่ายเพลงทุกค่ายมอง หรือแม้แต่ผู้ชมก็จะชื่นชอบวงที่ดูมีอะไรที่น่าสนใจ เขาไม่รู้หรอกว่าร้องเก่งหรือไม่เก่ง ไม่รู้หรอกว่าโน้ตไหนเพี้ยน ไม่ใช่จุดที่เขาจะชอบหรือไม่ชอบ แต่ดูแล้วเพลิน ภาพรวมเพราะ บรรยากาศได้ เรามองหาเด็กที่มี Unique Selling Point จริง ๆ เพื่อทำให้เมื่อเขาประกวดดนตรีแล้วมีโอกาสเข้ามาอยู่ในวงการเพลงได้”

พลชวนให้เรานึกถึงศิลปินหญิงที่ประสบความสำเร็จในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็น อิ้งค์-วรันธร, โบกี้ไลออน, วี-วีโอเลต, มิลลิ หรือ เอิ๊ต-ภัทรวี แต่ละคนล้วนโดดเด่นในทางของตัวเอง 

“ศิลปินจะคิดแค่เรื่อง Music Production ไม่ได้ ยังไม่พอ สิ่งที่จะทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ ต้องรู้จักตัวเองให้เร็วและรู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน ยกตัวอย่าง อิ้งค์-วรันธรจะมีรากเป็นดนตรีซินธ์ป็อป (synthesizer pop) เพราะเขาโตมากับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่กามิกาเซ่ ไม่ได้มีดนตรีสด หรือถ้ามองมาที่ผม ผมโตมากับดนตรีสด สิ่งที่เราเสพเริ่มสะสมเป็นแพสชั่นว่าฉันอยากเป็นแบบคนนี้ อยากทำเพลงแบบนี้ วันนี้ถ้ามองศิลปินเจเนอเรชั่นใหม่เราสามารถเห็นสิ่งที่เขาสร้างมาทั้งผลงานเพลง เสียง การแต่งตัว รวมไปถึงรสนิยมผ่านโซเชียลมีเดียของเขา อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ติ๊กต่อก เฟซบุ๊ก ทำให้เรารู้ว่าเขาคือใคร จริงแค่ไหน เป็นคนอย่างไร และกลุ่มเป้าหมายที่เข้าไปหาเขาก็จะเป็นคนแบบเขา”

ขยายความเป็นไปได้บนเส้นทางดนตรี

ในการประกวดมีการวัดมาตรฐานมากมาย ทั้งทักษะการเล่นดนตรี การเรียบเรียงเสียงประสาน หรือการร้อง แต่เมื่อวงที่ชนะการประกวดแล้วมาทำงานกับทีมงานมืออาชีพในค่ายเพลงของพล เขาวางมาตรฐานเหล่าลงทั้งหมด เหลือเพียงความรู้สึกในการสร้างสรรค์บทเพลง

“ทฤษฎีดนตรีสำคัญสำหรับผมแต่ไม่สำคัญสำหรับผู้ฟัง เขาไม่สนใจว่าจะ Chord Tension ไหน ใช้โน้ตอย่างไร ค่ายเพลงอย่างผมมีหน้าที่ถามเขาว่าจะทำเพลง genre ไหน มานั่งคุยกัน ตั้งเป้าอย่างไร ไปเล่นที่ไหนบ้าง ครีเอทีฟของเพลงนี้เป็นอย่างไร คำนี้ catchy พอที่คนจะสนใจหรือยัง โดยที่ผมไม่ได้แตะเรื่องโน้ตหรือคอร์ดเขาเลยถ้ามันอยู่บนทฤษฎีที่โอเคแล้ว ผมสนใจเรื่องคอนเทนต์ว่าสร้างสรรค์หรือยัง เราแนะนำเขาแบบนี้ แต่สุดท้ายแล้วน้องต้องคิดได้เอง ผมมีหน้าที่ไกด์ว่าองค์ประกอบเพลงในมุมของธุรกิจเพลงจริง ๆ เราควรจะมีอะไรบ้าง”

การประกวด The Power Band Season 2 ที่ผ่านมา พลเข้าไปเป็นโปรดิวเซอร์ในการผลิตซิงเกิลเพลง ซึ่งเป็นหนึ่งในรางวัลสำหรับวงดนตรีที่ชนะการประกวดของแต่ละคลาส ให้กับผู้ชนะคลาส C วง ‘Solar System Band’ ที่ทำเพลงบรรเลงโดยมีเครื่องดนตรี 3 ชิ้น คือ กีตาร์ แซกโซโฟน และกลอง “ผมได้ฟังแล้วรู้สึกว่าเขาดีจริง ๆ แต่ก็จะเป็นอีก genre ของการฟังเพลงในหมวดของเพลงบรรเลง แล้วผมก็ช่วยพัฒนาให้การบรรเลงนี้ต้องเพราะขึ้น ต้องทำให้ผู้ฟังที่ไม่มีความรู้เรื่องดนตรีเลยเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น ช่วยให้แนวคิดน้องในมุมของการเรียบเรียงเพลงออกมาจากสิ่งที่เขามีทำให้สื่อสารเพิ่มขึ้นได้อย่างไร เราช่วยพัฒนาและให้แนวคิดในแบบคนในอุตสาหกรรมเพลงเพื่อพัฒนาเพลงของน้อง ๆ ให้เข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมได้”

แต่ใช่ว่าพลจะไม่มองผู้เข้าประกวดสาย ‘ฝีไม้ลายมือ’ เอาเสียเลย เขาเห็นช่องทางและแนะนำได้ว่าคนที่มีความสามารถขนาดนี้จะเติบโตต่อได้อย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินที่ยืนบนเวทีเพียงอย่างเดียว บนเส้นทางนักดนตรียังมีความเป็นไปได้อีกมากมาก

“อย่ามองว่าดนตรีมีแค่ภาพเดียวคือการเป็นศิลปิน ถ้าคุณเก่งดนตรีไปทำสกอร์ประกอบหนังสิ งานโฆษณามีเพลง ละครมีเพลง ซีรีส์มีเพลง หาเสียงยังต้องมีเพลงเลย ฉะนั้น เส้นทางนี้สามารถพาตัวเองไปอยู่ใน Music Production ที่จะประกอบโปรดักต์ได้อีกเยอะ ต้องหากลุ่มลูกค้า มีบริษัทโฆษณาไหนที่ต้องการคนที่ดูแลสกอร์เหล่านี้ สมมติทำเพลงบรรเลงเก่งคุณทำเพลงบรรเลงแล้วไปดีลกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาจจะเป็น Apple Music, Spotify, YouTube, JOOX คุณอาจจะเป็นหนึ่ง channel ที่ทำเพลงบรรเลงแล้วมีรายได้จากการที่คนหยิบไปเปิดตามคาเฟ่ สปา โรงแรม ถูกเล่นซ้ำไปเรื่อย ๆ แล้วมันก็เป็นรายได้ของศิลปิน มีคำถามจากผู้บริหารใหญ่ที่เคยถามผมว่า เมื่อก่อนเราขายเทปเป็นล้านเลย แต่วันนี้เป็น Streaming อันไหนได้เยอะกว่า ผมบอกว่าขาย Music Streaming วันนี้ได้เงินเยอะกว่าและได้อย่างต่อเนื่อง”

คนเล่นดนตรีไปทำอาชีพอะไรก็ได้

สิ่งที่พลพูดสอดคล้องกับความคิดของ อนันต์ ลือประดิษฐ์ ในฐานะ Music Guru ที่บอกว่าคนเล่นดนตรีไปทำอาชีพอะไรก็ได้ต่อให้ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีก็ตาม “2 มุมมองคนดนตรี กับการประกวด The Power Band 2023 Season 3” “กว่าที่คุณจะเล่นดนตรีได้คุณต้องผ่านการฝึกฝนมาเยอะมาก ต้องมีทั้งวินัย ความละเอียดอ่อน ความประณีตบรรจง มุมมองที่มีต่อเครื่องดนตรีนั้น ๆ มุมมองต่อชิ้นเพลงนั้น ๆ composition นั้น ๆ การที่จะเล่นเพลงหนึ่งให้จบได้อย่างสมบูรณ์โดยที่มีเวลากำกับ มีจังหวะกำกับอยู่ไม่ให้พลาด คนที่เล่นดนตรีได้สวยงามเป็นคนที่พิเศษ มีทั้งพรสวรรค์และพรแสวงอยู่ในตัว ผมยืนยันว่าคนเล่นดนตรีไปทำอะไรก็ได้ เพราะคุณได้ผ่านจุดทดสอบที่ยากลำบากมากมาแล้ว ผมมีเพื่อนบางคนเป็นนักวิเคราะห์ทางการเงินด้วย เคยอยู่ในตลาดหุ้น แล้วค่อยมาเป็นอาจารย์ด้านดนตรี”

หน่วยสนับสนุนวงการดนตรี

ชีวิตการทำงานของอนันต์คลุกคลีอยู่ในวงการดนตรีมาโดยตลอด 30 ปี เขาเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพด้านดนตรีเป็นอย่างยิ่ง ตัวเขาเองก็เคยเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัด ‘จุดประกาย คอนเสิร์ต ซีรีส์’ ในช่วงเวลา 10 ปี รวมถึง 60 ครั้ง โดยไม่จำกัดรูปแบบเพลง


“เราอยู่ในฐานะผู้สนับสนุนวงการดนตรี เรารู้สึกว่าเด็กรุ่นใหม่เล่นดนตรีเก่ง เราเห็นเด็ก Gen Y ที่ไปจบเมืองนอกกันเยอะและตอนที่เขากลับมารู้สึกเสียดายมากว่าทำไมเขาไปอยู่แค่ในมหาวิทยาลัย เราก็เลยใช้ประโยชน์จากความเป็นสื่อตอนอยู่ที่จุดประกายมาเป็นออแกไนเซอร์จัดคอนเสิร์ต ชื่อว่า จุดประกาย คอนเสิร์ต ทุก 2 เดือนตลอด 10 ปี ก็จะมีเพลงทุก ๆ แนว มีทั้งจ้างนักแต่งเพลง แต่งเพลงเพื่อเล่นเป็นวง String Quartet คือ วงเครื่องสาย 4 ชิ้น ไวโอลิน 2 วีโอล่า เชลโล่ หมอลำก็ทำ เพื่อชีวิตก็ทำ ร็อคก็มี ตอนนั้นจัดหลากหลายมาก แต่หลัก ๆ คือต้องการให้เป็นเวที เพราะคนดนตรีเมื่อมีพลังสร้างสรรค์แล้วต้องการพื้นที่ในการปล่อยของ ตอนนี้ก็มีเวทีอย่าง The Power Band ที่เอาสุดยอดนักดนตรีรุ่นใหม่จากทั่วประเทศมารวมอยู่ที่นี่ได้ เป็นปรากฎการณ์ที่สำคัญ และมีลักษณะเฉพาะคือไม่ได้มองแค่ที่สำเร็จแล้ว ชนะแล้วจบ แต่มีการวางแผนไปต่อ สนับสนุนน้อง ๆ ที่มีศักยภาพเหล่านี้ได้ไปทำงานในระดับมืออาชีพ และสิ่งนี้ล่ะที่เราคิดว่าเราจะเห็นซอฟท์ เพาเวอร์ของไทยฉายแสงไม่ใช่แค่ในเมืองไทย แต่ในเวทีโลกด้วย”  “2 มุมมองคนดนตรี กับการประกวด The Power Band 2023 Season 3” “2 มุมมองคนดนตรี กับการประกวด The Power Band 2023 Season 3” หลายคนอาจมองไปที่ญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้แล้วรู้สึกอิจฉาที่เขาสามารถสร้างซอฟท์ เพาเวอร์ไปได้ไกลถึงระดับโลก เรื่องนี้อนันต์มองว่าประเทศไทยก็มีศักยภาพที่จะทำได้ไม่น้อยหน้ากัน เพียงแต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน

“ประเทศไทยอยู่กับซอฟท์ เพาเวอร์มานานแล้วแต่เราไม่ค่อยรู้ตัวว่ามีพลัง พลังในความหมายนี้คือพลังทางวัฒนธรรมของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน วิถีชีวิต ซึ่งถ้าเจาะจงเฉพาะด้านดนตรีเรามีมานานแล้ว เมื่อ 25 ปีที่แล้วเกาหลีต้องเชิญคนในอุตสาหกรรมดนตรีไทยไปสอนเขาว่าทำไมอัลบั้มชุดหนึ่งถึงขายได้เป็นล้านตลับ และเกาหลีก็เรียนรู้ ทำความเข้าใจอุตสาหกรรมดนตรีและไปต่อ สร้างการขับเคลื่อนได้ พลังดนตรีของคนไทยทำได้แต่ต้องได้รับการส่งเสริม การผลักดัน อนาคตเราจะได้เห็นคนไทยฉายแสงบนเวทีโลกมากขึ้น” 

“แต่เรารอแค่ศิลปินทำอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องมี Ecosystem ที่สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างอุตสาหกรรมที่จะต้องเปลี่ยนจากซอยแคบ ๆ เป็นซูเปอร์ไฮเวย์ได้แล้ว ถ้าคุณซัพพอร์ตดนตรีแบบเต็มที่ ทุก ๆ หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งคนที่จัดเวทีประกวดดนตรีแล้วทำผลงานออกมาให้เห็นมาก ๆ เราคิดว่ามันเปลี่ยนแปลงโลกได้ พลังของดนตรีเปลี่ยนแปลงโลกได้แน่นอน” “2 มุมมองคนดนตรี กับการประกวด The Power Band 2023 Season 3” การประกวดวงดนตรีสากล ‘The Power Band 2023 Season 3’ ในคอนเซปต์ ‘It's Possible, Music Makes Life Possible’ พลังแห่งดนตรี พลังแห่งทุกความเป็นไปได้ โดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ 6 ค่ายเพลงชื่อดังในเมืองไทย เวทีที่เปิดโอกาสให้คนไทยทั่วประเทศ ได้ออกมาแสดงทักษะ ความสามารถทางดนตรี ชิงรางวัลรวมมูลค่ามากกว่า 1.5 ล้านบาท และมีโอกาสได้เข้าร่วม Music Camp สุดเข้มข้น พร้อมทำซิงเกิลเพลงและมิวสิกวิดีโอกับค่ายเพลงมืออาชีพ กำลังเปิดรับสมัครอยู่ในขณะนี้ ติดตามรายละเอียดการรับสมัครได้ที่ www.music.mahidol.ac.th/thepowerband และ Facebook: www.facebook.com/thepowerband.mahidol/