40 ปีของ ‘ไมโคร’ ที่สะท้านวงการ จากโอกาสได้เล่นหนัง กับวาระอำลา ‘ร็อก เล็ก เล็ก’

40 ปีของ ‘ไมโคร’ ที่สะท้านวงการ จากโอกาสได้เล่นหนัง กับวาระอำลา ‘ร็อก เล็ก เล็ก’

วง ‘ไมโคร’ วงร็อกที่สะท้านอุตสาหกรรมดนตรีไทย เริ่มต้นจาก The Gang กลายเป็น ‘ร็อกมือขวา’ ที่สร้างปรากฏการณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางดนตรี และกระแสต่าง ๆ มาถึงวาระอำลา ‘ร็อก เล็ก เล็ก’ ปี 2566...โชคดีนะเพื่อน!

การทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ลงรอยกัน เป็นเรื่องธรรมดาของกลุ่มเพื่อนที่เราพบได้ทุกวี่วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วงดนตรีที่แบกความเป็นร็อกสตาร์ติดตัวตลอดเวลา ยิ่งเป็นวงชื่อดังระดับประเทศ ความแรง ความมั่นใจ บวกกับอีโก้ของสมาชิกแต่ละคน ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ไม่ยากเลย

แต่เพราะความเป็นเพื่อน ทำให้ร่องรอยความบาดหมางถูกกลบด้วยคำว่ามิตรภาพ คำว่าเพื่อนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมเป็นร่วมตายกันมา ‘ไมโคร’ ก็หนีไม่พ้นนิยามนี้ ที่คำว่าเพื่อนมีความหมาย และใหญ่กว่าเรื่องในอดีต แม้กระทั่งปัจจุบัน และอนาคต

‘ไมโคร’ เคยแตกหักอย่างรุนแรงก่อนออกอัลบั้มชุดที่ 3 ‘เต็มถัง’ ในช่วงเวลาที่ ‘ไมโคร’ ได้รับความนิยมถึงขีดสุด แต่หลังจากนั้นความขัดแย้งดังกล่าวเป็นสิ่งที่สมาชิกทุกคนได้ออกมายอมรับความจริงอย่างยืดอกในวันนี้ วันที่พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่เพื่อมองย้อนกลับไปเป็นบทเรียนชีวิต ดังที่พี่เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ เคยปรารภว่า “พวกมึงนี่แปลก ร่วมทุกข์กันได้ แต่ร่วมสุขกันไม่ได้”

แต่เพราะความเป็นเพื่อนเช่นเดิม ทำให้ร่องรอยความบาดหมางที่ทำท่าว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งก่อนคอนเสิร์ต The Last ร็อก เล็ก เล็ก ถูกกลบด้วยคำว่ามิตรภาพ และพร้อมกลับมาเผชิญหน้าความจริง เพื่อสานต่อภารกิจครั้งสุดท้ายให้จบ

นี่คือเรื่องราว 40 ปี ‘ไมโคร’ อำลา ‘ร็อก เล็ก เล็ก’ ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายกันไปตามทาง...โชคดีนะเพื่อน

The Toffee + The Crab = The Gang สมการสำคัญก่อนเป็น ‘ไมโคร’

จุดก่อเกิด ‘ไมโคร’ มาจาก หนุ่มระยอง 2 สาย

สายแรก อ้วน - มานะ ประเสริฐวงศ์ มือกีตาร์ กับเพื่อนรักของเขา ผู้ที่ต่อมาคือร็อคสตาร์หมายเลขหนึ่งของไทย เขาคนนั้นมีชื่อว่า หนุ่ย-อำพล ลำพูน’ ได้ก่อตั้งวง ตระเวนเล่นดนตรีที่ระยองบ้านเกิดในนาม The Crab

ขณะเดียวกัน วงจากระยองอีกวงหนึ่ง ซึ่งขึ้นกรุงเทพฯ มาก่อน เป็นวงร็อกของสองพี่น้องที่ไม่ใช่ ‘อัสนี-วสันต์’ แต่เป็น ‘ปู - อ๊อด’ หรือ ‘อดิสัย-อดินันท์’ นามสกุล ‘นกเทศ’ แห่งวง The Toffee ที่นอกจากจะเป็นนักดนตรีคือ ‘ปู’ เป็น ‘มือกลอง’ และ ‘อ๊อด’ คือ ‘มือเบส’ แล้ว ‘ปู’ ยังมีอาชีพช่างตัดผม โดยเปิดร้านตัดผมที่ชั้นล่างของห้องแถวในซอยวัฒนวงศ์ ย่านประตูน้ำ ส่วนชั้นบนเป็นห้องซ้อมดนตรี และห้องนอนของสมาชิกวง The Gang

วง ‘ไมโคร’ นั้นหลัก ๆ เกิดจากการรวมวงดนตรี 2 คณะเข้าด้วยกัน คือ The Toffee กับวง The Gang

โดยในยุคนั้น ซอยวัฒนวงศ์ซึ่งเป็นที่ตั้งห้องซ้อมดนตรีของ ‘ปู’ และวง The Gang ได้กลายเป็นแหล่งพบปะของนักดนตรีร็อกรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ จากชื่อเสียงด้านการเปิดให้เล่นเพลงร็อกได้อย่างเต็มที่ แบบไม่กลัวหนวกหู ไม่กลัวเครื่องพัง ไม่กลัวไฟช็อต ไม่กลัวห้องพัง

เด็กวัยรุ่นจำนวนมากที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักดนตรีจึงเดินทางมาจากทั่วสารทิศทุกซอกทุกมุมของกรุงเทพฯ เพื่อซ้อมเพลงร็อกที่ห้องซ้อมดนตรีของ ‘ปู’ ที่ตอนนี้กลายเป็นห้องซ้อมดนตรีของ The Gang ไปแล้ว

และหนึ่งในเด็กวัยรุ่นเหล่านั้น มีชื่อว่า ‘กบ - ไกรภพ จันทร์ดี’ ที่ต่อมาคือ ‘ตำนานกีตาร์คู่’ ร่วมกับ ‘อ้วน’ แห่งวง ‘ไมโคร’

“เพราะห้องซ้อมของพี่ปู เป็นห้องซ้อมดนตรีแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่เล่นเพลงร็อกได้” คำบอกเล่าของ ‘กบ ไมโคร’ ถึงบรรยากาศห้องซ้อมของ The Gang ซึ่งโด่งดังในหมู่วัยรุ่นที่อยากเป็นร็อกสตาร์ในยุคนั้น

ด้วยความรักในเพลงร็อก ชาวคณะ The Gang กินนอนกันอยู่ข้างห้องซ้อมดนตรีแห่งนั้น จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี ด้วยความฝันที่จะเป็นวงดนตรีร็อกแอนด์โรลล์ชื่อดัง พวกเขาตระเวนเล่นตามที่ต่าง ๆ ทั้งเล่นฟรี และมีค่าขนม ทั้งกลางแจ้ง และไนท์คลับ สั่งสมประสบการณ์กันมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้รับโอกาสสำคัญในชีวิต

นั่นคือ การแสดงภาพยนตร์!

 

จาก ‘ระยองฮิ’ ถึง ‘ไฟว์สตาร์’ ก้าวสู่รั้ว ‘แกรมมี่’ และกำเนิด ‘ไมโคร’

จุดเริ่มต้นของ ‘ไมโคร’ คงต้องย้อนไปสมัยก่อนตั้งวง The Crab ของ ‘หนุ่ย’ และ ‘อ้วน’ กับวง The Toffee ของ ‘ปู’ และ ‘อ๊อด’ ซึ่งทั้งหมดเป็น ‘คนระยอง’

ตอนที่ ‘หนุ่ย’ ยังเป็นวัยรุ่น เรียนอยู่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ยุคนั้นมีตู้เพลงแบบหยอดเหรียญตามตลาด และร้านค้าต่าง ๆ เพลงละ 1 บาท เพลงที่ ‘หนุ่ย’ หยอดบ่อยเป็นพิเศษ ก็คงจะเป็นผลงานของ Deep Purple, The Doors, Scorpions

เป็นธรรมดาของวัยรุ่น เมื่อฟังมาก ๆ ก็อยากร้องอยากเล่นบ้าง จึงฟอร์มวงดนตรีวงแรกของตัวเอง ชื่อ The Crab เล่นแนวโฟล์ค โดยมีสมาชิก 3 คน คือ ‘หนุ่ย’ เพื่อนอีกคนหนึ่ง และที่สำคัญก็คือ ‘มือกีตาร์’ ที่ชื่อ ‘อ้วน’

ตัดภาพมาที่ The Toffee ของ ‘ปู’ และ ‘อ๊อด’ ที่ขึ้นมากรุงเทพฯ ก่อน The Crab ตั้งหลักอยู่ที่ซอยวัฒนวงศ์ ย่านประตูน้ำ ชั้นล่างเปิดเป็นร้านทำผม และชั้นบนเป็นห้องซ้อมดนตรี โดยนัยนอกจากเป็นธุรกิจเล็ก ๆ บริการวัยรุ่นกรุงเทพฯ แล้ว ยังเป็นที่รวมตัวของเพื่อนนักดนตรีจากต่างจังหวัดไปด้วยในตัว

ด้าน The Crab เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมก็ถึงคราวต้องพักวง เพราะสมาชิกขึ้นมาเรียนต่อกรุงเทพฯ แม้ ‘หนุ่ย’ กับ ‘อ้วน’ จะเรียนคนละที่กัน แต่ก็นัดเจอกันเสมอ และสถานที่นัดหมายจะเป็นแห่งใดไปไม่ได้นอกจากห้องซ้อมดนตรีของเพื่อนจากระยอง นั่นคือ ‘ปู’ กับ ‘อ๊อด’

หลังจากทั้ง 2 วงรวมตัวกัน คลุกคลีกินนอน โดยมี ‘กบ’ และ ‘บอย - สันธาน เลาหวัฒนาวิทย์’ ตามมาสบทบ ทุกคนมุ่งมั่นกับการซ้อม เพื่อเตรียมออกแสดง กลับมาถึงห้องก็ซ้อม ซ้อม ซ้อม และกินนอนกันอยู่ที่นั่น จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี และแล้ว กลิ่นไอแห่งความสำเร็จในอาชีพนักดนตรีก็เริ่มโชยมาทีละน้อย

เมื่ออยู่ ๆ มีคนประสานผ่าน ‘พี่ปู’ มาทางห้องซ้อมดนตรี ว่ากองถ่ายภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ต้องการนักดนตรีร็อกหนุ่ม ๆ เพื่อเข้าฉากเป็นตัวแสดงหลักในหนังเรื่องใหม่

ภาพยนตร์เรื่องนั้นคือ ‘วัยระเริง’ สังกัด ‘ไฟว์สตาร์’ และกองถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นของผู้กำกับแถวหน้าของฟ้าเมืองไทย นามว่า ‘เปี๊ยก โปสเตอร์’

และทันทีที่ ‘เปี๊ยก’ ได้พบ ‘หนุ่ย’ เขาก็มอบบทพระเอก ‘วัยระเริง’ ให้ ‘อำพล ลำพูน’ ทันที!

หลังจากปิดกล้อง และออกฉายในปี พ.ศ. 2527 ‘วัยระเริง’ ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แม้ ‘ไมโคร’ จะไม่ได้เล่นดนตรีเอง ทั้งในภาพยนตร์ และในอัลบั้ม Soundtrack ที่ออกวางจำหน่ายในเวลาต่อมา ทว่า แฟนหนังและคอเพลงชาวไทยซึ่งเป็นวัยรุ่นในยุคนั้น ต่างนิยมชมชอบ ‘ไมโคร’ กันหมดใจไปแล้ว

ทั้งที่ทีมดนตรีเบื้อง ‘วัยระเริง’ คือสมาชิกวง Butterfly ซึ่งถือเป็น ‘เบอร์ใหญ่’ ในวงการเพลงไทย นำโดย ‘สุรสีห์ อิทธิกุล’ ‘อัสนี โชติกุล’ ‘อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ’ ‘กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา’ ‘กรเณศร์ วสีนนท์’ และ ‘อุกฤษฏ์ พลางกูร’ รวมถึง ‘แหวน - ฐิติมา สุตสุนทร’ ที่รับหน้าที่ร้องนำแทนนางเอก ‘มี๋ - วรรษมน วัฒโรดม’

แต่ด้วยชื่อ Butterfly ทำให้คนในแวดวงดนตรีไทยจับตามอง ‘วัยระเริง’ ไปด้วย หนึ่งในนั้นคือ ‘เต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์’ นายใหญ่ค่ายแกรมมี่

ประกอบกับการที่ ‘เต๋อ’ ได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง ‘น้ำพุ’ ร่วมกับ ‘หนุ่ย’ ด้วยก็เลยได้รู้จักกัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการถือกำเนิดวง ‘ไมโคร’ แม้หลังจาก ‘น้ำพุ’ ออกฉาย ‘หนุ่ย’ มีงานแสดงที่ทาง ‘ไฟว์สตาร์’ ล็อคตัวเอาไว้ตามมาอีกหลายเรื่อง

ทว่า ‘เต๋อ’ บอกกับ ‘หนุ่ย’ ว่า “มึงต้องเลือก ทางใดทางหนึ่ง” ประโยคดังกล่าวได้กลายเป็นทางเลือกแห่งชีวิตของ ‘หนุ่ย’ ที่สุดท้าย เขาเลือกร่วมหัวจมท้ายกับเพื่อน ‘ไมโคร’ เดินหน้าสู่เส้นทางดนตรีภายใต้ชายคา ‘แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนต์’

 

เปิดฉาก และปิดฉาก ‘ร็อก เล็ก เล็ก’

ตอนที่ The Gang เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ไมโคร’ มีชื่อให้เลือก 2 ชื่อ จาก ‘จี๊ด - สุนทร สุจริตฉันท์’ นักร้องนำวง Royal Sprite คือ ‘นิวเคลียร์’ กับ ‘ไมโคร’

สมาชิกวง The Gang ลงมติเป็นเอกฉันท์ เลือกชื่อ ‘ไมโคร’ จากความถ่อมตัวเพราะเพิ่งจะเข้าวงการ ‘ไมโคร’ แปลว่า ‘เล็ก ๆ’ ส่วน ‘นิวเคลียร์’ เป็นอะไรที่ทำลายล้างอย่าง ‘ยิ่งใหญ่’ 

เมื่อลงตัวที่ชื่อ ‘ไมโคร’ ก็ถึงวัน Audition เพื่อเซ็นสัญญา ‘เต๋อ’ ใช้เวที ‘คอนเสิร์ตแดดเดียว’ รายการสดของ ‘แกรมมี่’ เป็นบททดสอบของ ‘ไมโคร’ โดยที่สมาชิก ‘ไมโคร’ ไม่ทราบมาก่อน

‘ไมโคร’ ปล่อยของอย่างเต็มที่ตามที่ได้ซ้อมกันมานานนับปี ทำให้ลีลาการแสดงเข้าตาผู้ใหญ่ที่ ‘แกรมมี่’ นำไปสู่การนัดหมายเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัดในอีกไม่กี่วันถัดมา

อัลบั้ม ‘ร็อก เล็ก เล็ก’ จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ในปี พ.ศ. 2529

ที่ ‘ไมโคร’ ได้ระเบิดฟอร์มร็อกเกอร์หน้าใหม่ผู้รันวงการในยุคนั้นอย่างเต็มสปีดกับดนตรีร็อกภาคภาษาไทย แม้พวกเขาจะไม่ได้ทำงานในห้องอัด หรือแต่งเพลงเอง แต่บทบาทเอนเตอร์เทนเนอร์หน้าเวทีไม่เป็นสองรองใคร นับตั้งแต่ก่อนออกอัลบั้มแรก จนถึงทุกวันนี้

แม้ทางผู้ใหญ่ ‘แกรมมี่’ จะตั้งความหวังกับ ‘ไมโคร’ ทว่า ก็ยังไม่กล้าการันตียอดขายกันมากเกินไปนัก แม้ ‘เต๋อ’ ผู้ปลุกปั้น ‘ไมโคร’ เองก็คาดหมายไว้เพียง 100,000 ตลับ แต่แล้วในที่สุด ยอดเทปลิขสิทธิ์วิ่งไปถึง 8 แสนม้วน ยังไม่นับเทปผี ที่คาดกันว่า รวม ๆ แล้ว น่าจะแตะ 200,000 ตลับ รวมสองยอดแล้ว ‘ร็อก เล็ก เล็ก’ อาจขายได้ 1,000,000 Copy เลยทีเดียว!

ความสำเร็จของ ‘ร็อก เล็ก เล็ก’ ทำให้ ‘ไมโคร’ มีงานจ้างต่อเนื่องเกือบ 2 ปี กว่าจะได้กลับเข้าห้องอัดทำผลงานชุดที่ 2 คือ ‘10,000 ฟาเรนไฮต์’ ในปี พ.ศ. 2531

‘10,000 ฟาเรนไฮต์’ เปลี่ยนโปรดิวเซอร์จาก ‘อัสนี โชติกุล’ เป็น ‘กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา’ ทำให้ซาวน์ดดิบ ๆ แบบ ‘จิ๊กโก๋อกหัก’ เปลี่ยนเป็นนุ่มนวล และซับซ้อนขึ้นเล็กน้อย

แม้สัดส่วนเพลงช้ากับเพลงเร็วไม่แตกต่างไปจาก ‘ร็อก เล็ก เล็ก’ ทว่า เพลงฮิตของ ‘10,000 ฟาเรนไฮต์’ มีมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น ‘เอาไปเลย’ ‘จริงใจซะอย่าง’ ‘10,000 ฟาเรนไฮต์’ ‘พายุ’ ‘ใจโทรมๆ’ ‘บอกมาคำเดียว’ ‘คิดไปเองว่าดี’ ‘ลองบ้างไหม’ ‘โชคดีนะเพื่อน’ และที่ติดตราตรึงใจแฟนเพลงก็คือ ‘รักคุณเข้าแล้ว’ ที่ร้องโดย ‘อ้วน’

เรียกได้ว่า ‘10,000 ฟาเรนไฮต์’ มีเพลงฮิตติดหูเกือบ 10 เพลง มากกว่า ‘ร็อก เล็ก เล็ก’ ที่มีเพลงฮิตน้อยกว่า เพราะเพลงที่คนวงกว้างที่ไม่ใช่แฟน ‘ไมโคร’ คุ้นหูมีเพียง ‘อย่าดีกว่า’ ‘รักปอนปอน’ ‘อยากจะบอกใครซักคน’ ‘จำฝังใจ’ ทว่า ในภาพรวมแล้ว ‘ร็อก เล็ก เล็ก’ มีความเท่มากกว่าในแง่การเปิดตัวศิลปินใหม่

แม้ ‘10,000 ฟาเรนไฮต์’ จะเดินสายน้อยกว่า ‘ร็อก เล็ก เล็ก’ แต่ความดังของ ‘ไมโคร’ ฉุดไม่อยู่แล้ว จากเพลงฮิตที่บวกกัน 2 ชุดกว่า 15 เพลง และจากลีลาการแสดงหน้าเวที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝีไม้ลายมือที่นับวันจะยิ่งเข้าฝัก และก้าวสู่ความเป็นรุ่นใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ องค์ประกอบทั้งหมดนี้ ได้ส่งให้ ‘ไมโคร’ ขึ้นไปเป็นอันดับหนึ่งของวงการเพลงไทยโดยปริยาย

‘แกรมมี่’ อนุญาตให้ ‘ไมโคร’ เดินสายเพียงแค่ปีเดียว ก็ถูกเรียกกลับมาเข้าห้องอัดอัลบั้มที่ 3 เพื่อกอบโกยความสำเร็จให้มากที่สุด แต่เหตุการณ์ไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อความโด่งดังที่เกิดขึ้นในเวลานั้นกำลังกัดกินมิตรภาพโดยไม่รู้ตัว

สมาชิก ‘ไมโคร’ ยอมรับในภายหลังว่า เกิดความขัดแย้งขึ้นจริง ก่อนเข้าห้องอัด ‘เต็มถัง’ อัลบั้มชุดที่ 3

ดังที่ ‘เต๋อ เรวัต’ เคยปรารภว่า “พวกมึงนี่แปลก ร่วมทุกข์กันได้ แต่ร่วมสุขกันไม่ได้” นั่นหมายถึง การประสบความสำเร็จ กลับทำให้พวกเขาห่างเหินกัน แทนที่จะกระชับความสัมพันธ์ให้มากขึ้นกว่าช่วงที่ลำบากลำบนด้วยกันมาก่อนเข้าวงการ

แต่ในที่สุด มีการเคลียร์กันจนทุกคนยอมเข้าห้องอัด และออกมาเป็น ‘เต็มถัง’ ท่ามกลางความขัดแย้งภายในที่ยังไม่คลี่คลาย อย่างไรก็ดี ‘เต็มถัง’ ประสบความสำเร็จในระดับที่ ‘แกรมมี่’ พอใจ และแฟนเพลงก็เพิ่มมากขึ้น ทว่า ปัญหาเก่าของพวกเขายังตามมาหลอกหลอน

ทันทีหลังจบการเดินสายโปรเจกต์ ‘เต็มถัง’ การทำงานเพลงในนาม ‘ไมโคร’ ของ ‘หนุ่ย’ ได้กลายเป็นอดีต เมื่อเขาแยกตัวออกมาเป็น ‘ศิลปินเดี่ยว’ ทำอัลบั้มเดี่ยว 3 อัลบั้มประกอบด้วย ‘วัตถุไวไฟ’ ‘ม้าเหล็ก’ และ ‘อำพลเมืองดี’

ขณะที่ ‘ไมโคร’ ที่เหลืออีก 5 คน ก็ยังคงเดินหน้าทำอัลบั้มต่อไปในนาม ‘ไมโคร’ คือผลงานชุด ‘เอี่ยมอ่องอรทัย’ ‘สุริยคราส’ ในสังกัด ‘แกรมมี่’ และ ‘ทางไกล’ ค่าย ‘ฟิลฮาร์โมนิค’

และในเวลาต่อมา ‘กบ’ ก็แยกไปทำอัลบั้มเดี่ยวของตัวเองจำนวน 3 อัลบั้ม คือ ‘มนุษย์กบ’ ‘กีตาร์ไม่มีสาย’ และ ‘ฉันทนาโคโยตี้’ เช่นเดียวกับ ‘บอย’ ที่มีผลงานเดี่ยว 1 ชุดคือ Life Goes On และอีก 1 ชุดในนามวง Perfect Sunday ร่วมกับ ‘อิงค์ - อชิตะ ปราโมช ณ อยุธยา’ และ ‘เอ้ - อุกฤษ พิเชษฐพันธ์’ ส่วน ‘อ๊อด’ ก็ทำอัลบั้มเดี่ยวของตัวเองเช่นกัน ชื่อชุด ‘The Moment of Oz’

เมื่อเวลาผ่านไป รอยแผลในใจของทุกคนค่อย ๆ ตกสะเก็ด และหายดี แม้จะมีรอยแผลเป็น ทว่า ทุกคนได้มองข้ามมันไป เพื่อกลับมารวมตัวกันใหม่ในคอนเสิร์ตใหญ่หลายต่อหลายครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา และมีช่วงที่เดินสายเล่นตามผับร่วมกันอีกระยะหนึ่งด้วย

แต่แล้ว ในระหว่างการซ้อม และเดินสายให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในวาระคอนเสิร์ต 37 ปี ‘ไมโคร’ The Last ‘ร็อก เล็ก เล็ก’ กลับเกิดความไม่เข้าใจกันขึ้นอีกครั้ง ดังปรากฏทางสื่อ Social Media เป็นความขัดแย้งระหว่าง ‘หนุ่ย’ กับ ‘กบ’ แม้หลังจากนั้นด้วยเวลาอันรวดเร็วเพียงไม่กี่วัน ทางวงได้เคลียร์กัน และยุติปัญหากันไปได้เพื่อเดินหน้าให้จบโปรเจกต์

แต่ใครจะรู้ว่า ชื่อคอนเสิร์ต The Last ‘ร็อก เล็ก เล็ก’ อาจกลายเป็น The Last ‘ไมโคร’ อย่างที่พวกเขาเองก็คงไม่ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ดี The Last ‘ร็อก เล็ก เล็ก’ ยังคงเดินหน้าต่อไปตามสัญญาที่พวกเขาให้ไว้กับแฟนเพลง

ส่วนจะเป็น ‘คอนเสิร์ตสุดท้าย’ เฉพาะอัลบั้ม ‘ร็อก เล็ก เล็ก’ หรือเป็น ‘คอนเสิร์ตสั่งลา’ วาระสุดท้ายของวง ‘ไมโคร’ จริง ๆ คำว่า ‘มิตรภาพ 40 ปี’ ของพวกเขาคือคำตอบ

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม หลังคืนวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคมนี้ ที่เป็นรอบสุดท้ายของการแสดง คอนเสิร์ต The Last ‘ร็อก เล็ก เล็ก’ บทเพลง ‘โชคดีนะเพื่อน’ คงดังกระหึ่มขึ้นในใจพวกเขา และแฟนพันธุ์แท้ ‘ไมโคร’

ไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นเช่นไร เวลาจะเป็นผู้ให้คำตอบของทุกสิ่ง และไม่ว่าความบาดหมางจะลงเอยอย่างไร มิตรภาพจะเป็นผู้เยียวยาทุกสิ่งเช่นกัน จนกว่าจะถึงวันนั้น

‘โชคดีนะเพื่อน’ โชคดีนะ ‘ไมโคร’

 

บทส่งท้าย ‘ความดังของไมโคร’

การที่ผลงานชุด ‘ร็อก เล็ก เล็ก’ อัลบั้มเปิดตัว ‘ไมโคร’ ได้รับความนิยมแบบพุ่งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ เกิดจากปัจจัยความแข็งแรงของบทเพลงในตัวอัลบั้มเอง

‘ร็อก เล็ก เล็ก’ เปิดตัวด้วย ‘อย่าดีกว่า’ บัลลาดร็อกเนิบช้าทว่าหนักแน่นกับท่อนลีดกีตาร์ที่ติดตราตรึงใจจดจำง่าย ซ้ำดาบสองด้วย ‘อยากจะบอกใครสักคน’ ซ้ำดาบสามด้วย ‘จำฝังใจ’ และปิดกล่องด้วงใจด้วย ‘รักปอนปอน’ ผสมผสานลีลาการแสดงสด ‘เพลงเร็ว’ หน้าเวทีที่กระชากใจหนุ่มสาวชาวร็อก ทำให้ ‘ไมโคร’ ติดลมบน คิวเดินสายยาวเหยียดถึง 2 ปี กว่าที่จะกลับเข้าห้องบันทึกเสียงเพื่ออัดผลงานชุดที่ 2 ‘10,000 ฟาเรนไฮต์’ อัลบั้มระดับเพลงฮิต 10 เพลงที่หาได้ยาก ถ้าไม่ใช่ ‘เมดอินไทยแลนด์’ ของ ‘คาราบาว’ ส่งให้ชื่อเสียงของ ‘ไมโคร’ ขึ้นอันดับวงร็อกหมายเลขหนึ่งของไทย และ ‘ไมโคร’ ได้กลายเป็น ‘ตำนาน’ จากผลงานชุด ‘เต็มถัง’ อัลบั้มที่เป็นที่สุดของที่สุดยิ่งกว่า ‘แจ้ ดนุพล’ สำหรับ ‘ไมโคร’.

ความดังของ ‘ไมโคร’ ไม่หยุดอยู่แค่ในประเทศ เพราะพวกเขามีงานจ้างในต่างแดนมากมายนับไม่ถ้วน ไม่น่าเชื่อว่า ผลงานแค่ 3 อัลบั้ม กับไทม์ไลน์เพียง 5 ปี ‘ไมโคร’ กลายเป็นวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จที่สุดกับเพลงฮิตที่ติดทำเนียบเพลงร็อกไทยยอดนิยมตลอดกาล ไม่ว่าจะเป็น ใจโทรม ๆ เอาไปเลย รักปอนปอน จำฝังใจ อยากจะบอกใครสักคน บอกมาคำเดียว อย่าดีกว่า คนไม่มีสิทธิ์ เติมน้ำมัน ส้มหล่น ดับเครื่องชน 10,000 ฟาเรนไฮต์ จริงใจซะอย่าง โชคดีนะเพื่อน ทั้งหมดกลายเป็นเพลงขึ้นหิ้งในตำนานพร้อมยกระดับสู่ความเป็นอมตะ

เด็กวัยรุ่นยุค 80s ทั้งชายหญิงทั้งบ้านทั้งเมืองสวมเสื้อยืด กางเกงยีนส์ขากระบอกเหมือน ‘พี่หนุ่ย’ ‘พี่กบ’ สวมทับด้วยแจ็คเก็ตยีนส์ กับผมทรงบ๊อบรากไทร ใส่กำไลเงิน วัยรุ่นหญิงแต่งตัวสไตล์ ‘มี๋ วรรษมน’ คู่กิ๊กในจอของ ‘พี่หนุ่ย’

‘ไมโคร’ ได้กลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจวัยรุ่นจำนวนมาก จากความจริงใจ ทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมของ ‘ไมโคร’ และเต็มที่ทุกคอนเสิร์ต พิถีพิถันทุกอัลบั้ม ซึ่งกลั่นกรองออกมาจากจิตวิญญาณร็อกที่ไม่ปรุงแต่ง ‘ไมโคร’ จึงกลายเป็นไอคอนและไอดอลของหนุ่มสาวยุค 80s อย่างแท้จริง

เพราะพลันเมื่อ ‘มือขวา’ ถูกยกขึ้นมา สัญลักษณ์ของการเริ่มต้นคอนเสิร์ตก็จะระเบิดขึ้น วันเวลาที่แสนหวานของร็อกหนักแน่น กำลังจะหวนคืนมา และจะจางหายไปตามกาลเวลาที่กำลังเคลื่อนไปอย่างไม่หยุดยั้ง

หมายเหตุ: ปรับปรุงข้อมูลบทความล่าสุดเมื่อ 5 พฤษภาคม 2566

 

เรื่อง: จักรกฤษณ์ สิริริน

ภาพ: แฟ้มภาพ จาก NATION PHOTO