วิเคราะห์เพลงหาเสียงเลือกตั้ง 66 (ตอนจบ) พรรคเก่าแก่และพรรคอื่น ทำเพลงได้ปังแค่ไหน

วิเคราะห์เพลงหาเสียงเลือกตั้ง 66 (ตอนจบ) พรรคเก่าแก่และพรรคอื่น ทำเพลงได้ปังแค่ไหน

บทความชุดวิเคราะห์เพลงหาเสียงเลือกตั้ง 66 เดินทางมาถึงตอนจบ มาถึงคราวของพรรคเก่าแก่ และพรรคอื่น ๆ มาดูว่าแต่ละพรรคทำเพลงได้ปังแค่ไหน

  • เพลงหาเสียงช่วงเลือกตั้ง 2566 มีความหมายและสะท้อนเรื่องราวต่าง ๆ มากไปกว่าแค่บทเพลง 
  • เพลงหาเสียงจากพรรคเก่าแก่ของไทย ไปจนถึงพรรคอื่น ๆ ที่เป็นสีสันในการเลือกตั้งครั้งนี้ทำผลงานเพลงออกมาหลากหลายรูปแบบ ซึ่งล้วนสะท้อนแนวคิดและตัวตนของพรรคนั้นได้ไม่มากก็น้อย

การเลือกตั้ง 2566 เข้มข้นไม่แพ้ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน บทเพลงรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ล้วนมีความหมายมากกว่าบทเพลง และถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการให้ความสำคัญกับบทเพลงเลือกตั้งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ในบทความที่จะนำเสนอเป็นชุดนี้จะแยกบทเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ‘66 ออกเป็น 3 ส่วน แยกเป็น 3 ตอน คือ

1) บทเพลงจากแกนนำพรรครัฐบาล(ที่พยายามสืบทอดอำนาจ) [คลิกอ่านบทความตอน 1 ที่นี่]
2) บทเพลงจากพรรคเสรีนิยมหัวก้าวหน้ารุ่นใหม่ [คลิกอ่านบทความตอน 2 ที่นี่]
3) บทเพลงจากพรรคการเมืองเก่าและอื่น ๆ

ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงข้อ 3

3 บทเพลงจากพรรคการเมืองเก่าและอื่นๆ (พรรคประชาธิปัตย์ / พรรคภูมิใจไทย / พรรคชาติพัฒนากล้า)

พรรคประชาธิปัตย์ (Democrat Party) เป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดในการเลือกตั้ง ‘66 เพราะมีอายุถึงวันนี้ 77 ปีเข้าไปแล้ว หลายคนมีภาพจำของพรรคนี้คือพรรคที่ค่อนข้างล้าสมัยในปัจจุบัน หลังจากที่เคยเป็นสายหัวก้าวหน้าเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว

บทเพลงรณรงค์เพื่อหาเสียงเลือกตั้งจึงพยายามหาทางเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่และพยายามรีแบรนด์ให้ขึ้นสู่ความร่วมสมัยในยุคนี้ด้วย และได้ เมธี อรุณ นักร้องนำ-มือกีตาร์ คนเขียนเพลงของคณะดนตรีร็อกอย่าง ‘ลาบานูน’ ซึ่งเป็นคณะดนตรีที่มีเพลงยอดนิยมอยู่ในยุคปัจจุบัน และเข้าสู่วงการเมืองในนามพรรคประชาธิปัตย์ เพราะฉะนั้นหน้าที่เขียนเพลงเพื่อเชื่อมต่อกับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จึงใช้บริการของเขา

บทเพลง ‘เช้าวันใหม่’ จึงเกิดขึ้น โดยเป็นเพลงอัลเทอร์เนทีฟ ป็อป-ร็อก ผสมอิเล็กทรอนิกส์ และพื้นบ้านไทยสูตรของลาบานูน ที่เขียนให้กับพรรคประชาธิปัตย์ มีเนื้อหาแบบเพลงสมัยนิยมที่ไม่มีอะไรใหม่ พร้อมขายนโยบายของพรรค และความหวังของคนรุ่นใหม่ พร้อมมิวสิกวิดีโอที่ขายแกนนำของพรรคที่พร้อมก้าวสู่มิติใหม่ในอนาคต

บทเพลงรณรงค์หาเสียงพรรคประชาธิปัตย์ในคราบไคลของเมธี จึงไปได้ในระดับหนึ่ง แม้จะใช้ดนตรีสมัยนิยมที่มีท่วงทำนองคุ้นหูของเพลงยอดนิยมมาเป็นสูตร แต่ด้วยภาพลักษณ์ของเมธี เองก็ไม่ได้ใหม่สด มีความเป็นนักร้อง-นักเขียนเพลงยุค 2.0 แปะติดอยู่ จึงมีความรู้สึกครึ่ง ๆ กลาง ๆ อย่างไม่ออกไปหน้าไหนแบบสุดทาง

อีกบทเพลงที่พยายามสื่อสารกับคนรุ่นใหม่โดยใช้มุกเก่าเนื้อหาที่ปลุกใจสร้างกำลังขวัญและเชิดชูพรรค นั่นคือบทเพลง ‘เดินหน้าประชาธิปไตย’ โดยมีมอตโตในเพลงซึ่งคิดว่าเคยเป็นจุดแข็งจุดขายของพรรคประชาธิปัตย์มาตลอดผ่านอดีตหัวหน้าพรรคและอดีตนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ก็คือ ‘ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต’ พร้อมกับท่อนฮุคปลุกจิตวิญญาณของพรรคก็คือ “ประชาธิปัตย์สู้ ประชาธิปัตย์ไม่ถอย ประชาธิปัตย์เดิน ประชาธิปัตย์สู้” ซึ่งใช้บทเพลงป็อปร็อกที่มีมีความเป็นพาวเวอร์ป็อปติดหูมีความหนักหน่วงหนักแน่นให้ฮึกเหิม

ความเก่าแก่ของพรรคประชาธิปัตย์ถูกนำเสนอออกมาในบทเพลง ‘ประชาธิปัตย์มาแล้ว’ ซึ่งเป็นสไตล์ลูกทุ่งแนวสนุกโจ๊ะยุคทศวรรษที่ 2520 เป็นจุดเริ่มต้นความรุ่งเรืองของพรรค และกลับไปด้วยพื้นฐานจากบทเพลงดั้งเดิมของพรรคที่ใช้งานอย่างได้ผลมาแล้วหลายสมัย และมีเวอร์ชันต่าง ๆ จนถึงเวอร์ชัน 2566 นี้

ระบบวิธีคิดการทำเพลงแบบเก่าแก่ก็ปรากฏอยู่ในบทเพลงขนบนิยมแบบลูกทุ่งรำโทนรำวงที่มีชื่อว่า ‘จุรินทร์ เบอร์ 26 ทำได้ไว ทำได้จริง’ กับเพลง ‘เลือกจุรินทร์มาช่วยพวกเรา’ ที่ใช้เนื้อเพลงเดียวกันแต่เป็นแบบสั้นกระชับ ซึ่งเน้นนำไปที่ตัวบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรคปัจจุบัน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และหมายเลขเลือกตั้งของพรรค

บทเพลงรณรงค์หาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์จึงมีทั้งโลกแบบเก่าของคนยุคเก่ากับบทเพลงร่วมสมัยแบบคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ ซึ่งไม่ใช่คนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน และแสดงออกถึงความภูมิใจของพรรคอย่างเต็มที่ พร้อมกับขายอนาคตผ่านคำว่า ‘ทำได้ไว ทำได้จริง’ ในเกือบทุกเพลงที่ส่งออกมา

 

พรรคภูมิใจไทย (Bhumjaithai Party) ชัดเจนและจริงจังสำหรับบทเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่แสดงถึงความทะเยอทะยานอย่างมุ่งมั่นที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของ นายอนุทิน ชาญวีรกุล เรียกว่าไม่มีเม้มเปิดหน้าเปิดตากันแบบตรง ๆ บทเพลง ‘อนุทินเป็นนายกฯ’ ที่มีกุญแจคำว่า “อนุทินพร้อมเป็น นายกรัฐมนตรี กาเบอร์ 7 เลือกพรรคภูมิใจไทย” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวนโยบายและผลสำเร็จของพรรคภูมิใจไทยภายใต้การนำและความเป็นผู้นำของนายอนุทิน ที่จะเปลี่ยนสถานะตัวเองจากรัฐมนตรีเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้การสนับสนุนคะแนนเสียงของประชาชน

อีกเพลงที่สอดคล้องกับเพลงแรกแต่ถูกปล่อยออกมาก่อนคือ ‘พูดแล้วทำ’ ที่แสดงถึงนิยามสำคัญของนโยบายพรรคและแสดงถึงความสำคัญในจุดแข็งของพรรค พรรคเบอร์ 7 พรรคภูมิใจไทย พรรคพูดแล้วทำ

ทั้งสองเพลงใช้แนวดนตรีป็อปร็อกกลิ่นอายเพื่อชีวิตที่มีทางเพลงทั้งของแอ๊ด คาราบาว / ไท ธนาวุฒิ /เสก โลโซ ซึ่งอยู่ในกระแสหลักของบทเพลงยอดนิยมตามยุคสมัยในตลาดเพลงยุคปัจจุบันในวงกว้าง พอมาใช้เป็นเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งก็ฟังง่ายเพราะคุ้นชินกันอยู่แล้ว แต่ลักษณะที่ส่งพลังออกมาให้ทิ่มแทงหรือกระตุ้นความรู้สึกและอารมณ์เฉพาะกิจกลับพื้น ๆ และไม่มีเสน่ห์ให้จดจำแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับบทเพลงเมื่อปี 2562 ของพรรคภูมิใจไทยที่ชื่อว่า ‘เปลี่ยน’ ก็เป็นเพลงป็อปเพื่อชีวิตตามสูตรเพลง ‘ชีวิตสัมพันธ์’ ของ คาราบาว ที่เล่าเรื่องเชิงนโยบายแบบบัลลาดท่วงทำนองเพลงคุ้นหูเคยชินตามเพลงผับบาร์และหน้าปัดวิทยุ เพียงแต่เนื้อหากล่าวถึงนโยบายพรรคแบบครอบจักรวาล

ทั้ง 2 เพลงในปี 2566 ที่นำมารณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในเชิงชั้นดนตรีก็ยึดกรอบเดิมแต่สนุกขึ้น และมีเนื้อหาเชิดชูผลักดันหัวหน้าพรรคไปสู่ฝั่งฝันในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างเกินร้อย

พรรคชาติพัฒนากล้า (Chart Pattana KLA Party) มีเพลง ‘ชาติพัฒนากล้า #กล้าพัฒนาชาติ’ ถือว่าเป็นพรรคเหล้าเก่าในขวดใหม่ชื่อใหม่ของสองพรรคเก่าที่รวมกัน บทเพลงป็อปแรปสั้น ๆ แค่ 1:18 นาที เล่นกับคำว่า ‘ชาติพัฒนากล้า’ ซึ่งเป็นชื่อพรรค พ่นพล่ามไรห์มหรือทางคำคล้องจองนอก - ในแบบแรปที่ฟังง่ายกระชับพุ่งตรงถึงนโยบายพรรค ถือได้ว่าสร้างสรรค์และทันสมัยสุดในบรรดาเพลงอย่างเป็นทางการที่ใช้รณรงค์หาเสียงของพรรคต่าง ๆ ในครั้งนี้ สั้น ๆ รวบรัดมีท่อนฮุคชื่อพรรควนกลับไปมาติดหู แต่ถ้ามีท่อนร้องแบบจำง่ายถึงมอตโตนโยบายพรรคก็น่าจะคมคายเป็นที่จดจำมากกว่านี้

ส่วนพรรคอื่น ๆ อย่างพรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ฯลฯ ไม่มีเพลงใหม่อย่างเป็นทางการที่ปรากฏใน YouTube ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอโซเชียลเน็ตเวิร์ก ยอดนิยมอันดับ 1 ของไทย อาจจะใช้เพลงเก่าจากการเลือกตั้ง ‘62 หรือบทเพลงที่ผลิตในรอบหลายปีที่ผ่านมาในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

บทสรุป

บทเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ‘66 ครั้งนี้ หากมองในมุมการตลาดการเมือง (Political Marketing) เพื่อสร้างความนิยมทางการเมืองไทย ที่มองบทเพลงเหล่านี้เป็นตัวสนับสนุนเสริมให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นพรรคการเมืองดูดีมีคุณภาพติดตลาด แต่ละพรรคก็มีทิศทางและความเชื่อมั่นในนโยบายและตัวบุคคลทั้งหัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคแตกต่างกันไป ซึ่งสะท้อนออกมาในบทเพลงรณรงค์หาเสียงที่ปล่อยออกมาสู่สาธารณชนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยมีความถี่ที่สูงในความพยายามผลักดันให้บทเพลงเหล่านี้เป็นแรงจูงใจให้กับคะแนนเสียงของพรรคในเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

การวิเคราะห์แนวทางการตลาดการเมืองไทยช่วงเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหญ่ผ่านบทเพลงรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธวิธีในการได้มาซึ่งความนิยมของพรรคและคะแนนเสียงจากประชาชน พบว่า ภาพรวมทั้งหมดแล้วพรรคการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงก็คือ พรรคฝ่ายรัฐบาลเดิมกับฝ่ายค้านต่างให้ความสำคัญกับยุทธวิธีสร้างบทเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคในหลายเพลง และวางยุทธศาสตร์ในการเผยแพร่และนำเสนอออกมาในรูปแบบของบทเพลงเฉพาะกิจที่ใช้ในการเลือกตั้งโดยตรง ส่วนพรรคการเมืองที่อยู่ในสนามเลือกตั้งพรรคอื่นๆ ให้ความสำคัญกับบทเพลงรณรงค์หาเสียงนี้ค่อนข้างน้อย

ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียในเน็ตเวิร์กต่าง ๆ ทางดิจิทัลออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากกว่ารถแห่ เวทีหาเสียง หรือสื่อเก่าแบบวิทยุและโทรทัศน์ ในการเลือกตั้ง ‘66 ยังมีวิธีคิดในการทำเพลงกรอบเก่าเป็นส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์อย่างที่เคยเป็นมา

ความน่าสนใจอยู่ที่พรรคการเมืองซึ่งเป็นเสรีนิยมหัวก้าวหน้า กลับถอยหลังในวิธีคิดเรื่องการทำเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคอยู่พอสมควร แต่บทเพลงของสมาชิกภายในพรรคที่ผลิตขึ้นเองเพื่อรณรงค์หาเสียงในเชิงปัจเจกของเขตสามารถทำได้ดีและยกมิติของบทเพลงแนวนี้ได้อย่างน่าตื่นใจ มีทั้งแบบยึดฟอร์มเดิมเติมแนวท้องถิ่นกับแนวสมัยนิยมที่อิงเทรนด์การฟังเพลงของคนรุ่นใหม่

สรุปภาพรวมของบทเพลงหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป ‘66 ในครั้งนี้ ให้ความสำคัญที่มากขึ้นเชิงการตลาดการเมือง พัฒนาสู่ความหลากหลายมีทั้งแนวเพลงมาร์ชปลุกใจ แนวเพลงเชียร์กีฬา แนวเพลงสามช่าพาโจ๊ะ แนวเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิต เพลงป็อปร็อกสไตล์ต่าง ๆ เพลงเฮฟวีเมทัล และฮิปฮอป เพิ่มปริมาณและความหลากหลายของบทเพลงเพื่อสนองความต้องการของกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น แต่ไม่สามารถสร้างกระแสหลักของบทเพลงหาเสียงยอดนิยมที่มาจากการตอบรับแบบธรรมชาติหรือออร์แกนิกได้ กระแสส่วนมากเกิดจากการจัดตั้งทั้งโลกออฟไลน์และออนไลน์เป็นหลักใหญ่ เนื่องด้วยข้อจำกัดของความเป็นพรรคการเมืองซึ่งไม่เกี่ยวกับรสนิยมของการฟังเพลง

แน่นอน บทเพลงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่าง ๆ เมื่อสิ้นสุดการใช้งานแบบเฉพาะกิจก็คงเลือนหายไปสู่หลุมดำของการฟังเพลงไปตลอดกาล น้อยนักที่จะอยู่ข้ามกาลเวลา