15 พ.ค. 2566 | 19:00 น.
อย่าเป็น ‘แกะ’ ที่ปล่อย ‘หมา’ เลือก ‘หมู’ มาปกครอง
อย่าเป็น ‘หมา’ ที่ประจบ ‘หมู’ กดขี่ ‘แกะ’ เพื่อประโยชน์ชั่วคราว
อย่าเป็น ‘หมู’ ที่หลอก ‘หมา’ กำราบ ‘แกะ’ สนองความตะกละส่วนตน
‘ระบบทุนนิยม’ (Capitalism) ถือเป็นประเด็นที่ถูกนำมาถกเถียงกันอย่างล้นหลามและอย่างยาวนาน ในด้านของข้อดีและข้อเสียของมัน บ้างก็มองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่วิวัฒน์โลกมนุษย์ของเราให้มาถึงทุกวันนี้ได้ แต่บ้างก็มองว่าสิ่งนี้จะกลายเป็นพิษที่บ่อนทำลายสังคมมนุษย์ให้มลายหายจนไม่เหลือชิ้นดี
ในบทความนี้เราจะพาไปรู้จักกับอัลบั้มที่พาเราไปจินตนาการภาพของสังคมที่ถูกพิษของระบบทุนนิยมกลืนกินจนไม่เหลือชิ้นดีโดยวงดนตรีโปรเกรสซีฟร็อกในตำนานนามว่า ‘Pink Floyd’
Pink Floyd เองก็ได้มีผลงานที่บรรยายภาพ ทัศนคติ และข้อร้ายที่กำเนิดมาจากพิษของทุนนิยมออกมาไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเพลง ‘Have a Cigar’ จากอัลบั้มรำลึกถึงเพื่อนรักอย่าง ‘Wish You Were Here’ ที่กล่าวถึงปีศาจในคราบค่ายเพลงที่มาเพื่อรีดเอาผลงานออกมาจากศิลปินเพื่อสร้างกำไร หรือจะเป็นอีกหนึ่งเพลงฮิตอย่าง ‘Money’ จากอัลบั้มอมตะที่กาลเวลาฆ่าไม่ตายอย่าง ‘The Dark Side of the Moon’ ที่กล่าวถึงภาพลวงตาของเงินตราที่หล่อหลอมความโลภภายในจิตใจมนุษย์โดยนำเสนอผ่านการเสียดสีด้วยวัฒนธรรมบริโภคนิยมในสังคมปัจจุบัน
หากจะให้กล่าวถึงอัลบั้มที่ตีแผ่ ‘โลกดิสโทเปีย’ (Dystopia) ที่ถือกำเนิดมาจากรากร้ายของระบบทุนนิยมที่ขึ้นชื่อที่สุดในประวัติศาสตร์โลกดนตรี และเป็นอัลบั้มที่ใครหลายคนต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเนื้อหา ดาร์ก หดหู่ และ ก้าวร้าว ที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น ‘Animals’ ผลงานคอนเซ็ปต์อัลบั้มโดย Pink Floyd จากปี 1977 กับโลกสังคมทุนนิยมที่จำแนกคนผ่านสัตว์ 3 สายพันธุ์ - หมา (Dogs) หมู (Pigs) และ แกะ (Sheep) ที่ โรเจอร์ วอเตอร์ส (Roger Waters) มือเบสและผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพียงคนเดียว ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนวนิยายสั้น Animal Farm จากปลายปากกาของนักประพันธ์อันเลื่องชื่อ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell)
สมาชิกวง Pink Floyd (เรียงตามเข็มนาฬิกา)
นิค เมสัน (Nick Mason), เดวิด กิลมอร์ (David Gilmour),
โรเจอร์ วอเตอร์ส (Roger Waters) และ ริชาร์ด ไรท์ (Richard Wright)
นอกจากจะมีเนื้อหาที่เสียดสีและโจมตีสังคมทุนนิยมในบริบทของประเทศอังกฤษในยุค 1970s จากงานประพันธ์สุดดาร์กของ โรเจอร์ วอเตอร์ส แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่พิเศษของอัลบั้ม Animals คือการเล่าเรื่องและการร้อยเรียงเพลงแต่ละเพียงให้ต่อกันเสมือนว่าเป็น ‘การเดินทาง’ (Journey) ผ่านโลกดิสโทเปียที่ถูกกลืนกินโดยระบบทุนนิยมจนไม่เหลือชิ้นดี เพลงทั้งหมดให้ความรู้สึกเหมือนว่า Pink Floyd กำลังจูงมือผู้ฟังไปเดินชมซากปรักหักพังของสังคมที่มนุษย์ได้ลดหลั่นกลายเป็นสัตว์เพียง 3 ชนิด ที่เป็นภาพแทนของคน 3 กลุ่มภายในสังคมทุนนิยม
บทความนี้จะพาผู้อ่านไปแกะหาความหมายพร้อมทั้งหาคำตอบว่าพวกคุณแต่ละคนคือสัตว์ประเภทใดในสังคมทุนนิยมนี้ และแต่ละตัวเลือกมีนิยามและความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
ก. หมา
ข. หมู
ค. แกะ
หลังจากจบท่อนกีตาร์ตีคอร์ดเบาสบายที่มาพร้อมเสียงขับร้องโดยวอเตอร์สอย่าง Pigs on the Wing (Part 1) ที่ชวนให้เราจินตนาการภาพโลกที่ผู้คนต่างก็ใช้ชีวิตเอาตัวรอดกับสถานการณ์ของตัวเอง ที่บางเวลาก็แหงนมองท้องฟ้าและมองดู ‘หมู’ อันเป็นผู้ปกครองโลกพัง ๆ ใบนี้ ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นเหมือนเพลงที่วอร์มและช่วยเรียกน้ำย่อยผู้ฟังก่อนที่ ‘ของจริง’ จะมาถึง กับสัตว์ตัวแรกที่จะมาพร้อมกับบทเพลงยาว 17 นาทีอย่าง ‘Dogs’
“
You have to be trusted by the people that you lie to
So that when they turn their backs on you,
You’ll get the chance to put the knife in
”
สัตว์ตัวแรกคือ ‘หมา’ ที่เป็นภาพแทนของกลุ่มคนในสังคมอย่างชนชั้นกลาง หรือนักธุรกิจ ที่ถูกระบบทุนนิยมล้างสมองจนหมดสิ้นเป้าประสงค์ในชีวิต นอกเสียจากการวิ่งไล่หาเนื้อที่ผู้ปกครองหรือระบบโยนให้อย่างหิวกระหาย ในเนื้อเพลงได้มีการบรรยายถึงการที่พวกเขายอมแลกทุกอย่างกับการที่ทุนนิยมจะสนองพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการแทงข้างหลังผู้อื่นเมื่อมีโอกาส การเสแสร้งใส่หน้ากาก การระแวดระวังคนอื่นจากการตระหนักดีว่าไม่มีมิตรแท้ หรือแม้แต่การถูกล่ามด้วยวัตถุต่าง ๆ จนไม่ต่างอะไรจากสุนัขผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง
ในกรณีแบบนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าหมา ก็อาจมีภาพแทนรวมถึงเหล่า ส.ส. ที่ไร้จุดยืน สามารถถูกซื้อและใช้เป็นเครื่องมือโดยนายทุนหรือผู้มีอำนาจได้ ดังเนื้อร้องที่กล่าวว่า “Everyone’s expendable and no-one has a real friend” เมื่อผลประโยชน์คือสิ่งสำคัญ พวกเขาก็ผันแปรไปตามชิ้นเนื้อที่เขาได้รับอยู่เสมอ เขาพร้อมจะแทงข้างหลัง เปลี่ยนฝ่าย กลืนน้ำลาย หรืออะไรก็ตามที่จะพาเขาถึงเป้าหมายที่ระบบทุนนิยมหล่อหลอมขึ้นมา
“
Who was only a stranger at home
Who was ground down in the end
Who was found dead on the phone
Who was dragged down by the stone”
จนท้ายที่สุด หลังจากผ่านโซโล่และเสียงกีตาร์โลกไม่ลืมของ เดวิด กิลมอร์ (David Gilmour) บทเพลงก็จูงมือผู้ฟังไปชมกับบั้นปลายชีวิตของเหล่าฝูงหมาที่วิ่งล่าเนื้อมาทั้งชีวิตจนท้ายที่สุดไม่เหลืออะไร นอกเสียจากกองเงินอันสูงลิ่วกับจิตวิญญาณอันว่างเปล่า นั่งซมอย่างโดดเดี่ยวอยู่ที่บ้าน ไร้มิตรแท้ กลายเป็นเพียงแค่คนแปลกหน้าเมื่อเปิดประตูหาครอบครัว นอนตายคาสายโทรศัพท์ขณะที่ไล่หาเงิน จมลงกับความรู้สึกผิดกับเส้นทางอย่างไร้หนทางกลับ
“
Pig stain on your fat chin
What do you hope to find
Down in the pig mine?
”
เสียงของเพลงถัดมาเล่นขึ้นพร้อมเสียงหมูคำรามอย่างก้องกังวาน ก่อนที่เสียงอันวกวนจาก ริชาร์ด ไรท์ (Richard Wright) มือคีย์บอร์ดผู้สร้างบรรยากาศประจำวงจะบรรเลงตามมา ที่ในแง่หนึ่งให้ความรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของสัตว์ที่เรากำลังจะพูดถึงเป็นตัวต่อไป นั่นก็คือ ‘หมู’ กับเพลง ‘Pigs (Three Different One)’
เสียงร้องของวอเตอร์สถ่ายทอดความโกรธของตัวเขาที่มีต่อเหล่าชนชั้นนำในสังคมที่มีฐานะและอำนาจอยู่เต็มกำมือ ซึ่งถูกแทนภาพด้วยสัตว์ประเภทหมู ที่ตะกละในอำนาจอย่างไม่หมดสิ้น (เสมือนกับหมูนามว่า ‘นโปเลียน’ จาก Animal Farm) แม้จะมีอำนาจและทรัพยากรล้นเหลือ แต่สิ่งที่หมูเหล่านี้ทำหาใช่บำรุงทุกข์และแจกจ่ายความสุข แต่เป็นการซื้อ ‘หมา’ เป็นเกราะป้องกันในความมั่นคงตนเอง และหลอก ‘แกะ’ อย่างประชาชนธรรมดาให้อยู่ในขนบธรรมเนียมที่ตนสร้าง
“
Big man, pig man
Ha-ha, charade you are
You, well-heeled big wheel
Ha-ha, charade you are”
คำว่า ‘Charade’ หรือสามารถแปลเป็นความหมายไทยที่เข้าใจง่าย ๆ คือ การสร้างภาพจอมปลอมว่าตนเองดีทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น ถูกนำมาใช้บ่อยครั้งเพื่อโจมตีและนิยามเหล่าหมูที่กำลังสร้างภาพว่าตัวเองเป็นคนดี ทั้ง ๆ ที่ยังตะกละในอำนาจ และยุยงส่งเสริมให้คนอื่น ๆ แข่งกันเพื่อยึดให้ตำแหน่งของตนมั่นคง หมูจึงกลายเป็นภาพแทนของผู้นำที่ตะกละ กินเท่าไรก็ไร้ทางอิ่ม แถมยังมีลักษณะนิสัยที่น่ารังเกียจ แม้จะแสร้งว่าตนเองดี
ดังที่เราเห็นว่าชื่อเพลงคือ Pigs (Three Different One) ลักษณะที่เราได้กล่าวไปเป็นเพียงหมูตัวแรกจากหมูทั้งสามเท่านั้น ในหมูตัวแรกจะเป็นเพียงกลุ่มคนที่วอเตอร์สเสียดสีไว้อย่างกว้าง ๆ แต่หมูอีกสองตัวที่เหลือจะเป็นหมูที่วอเตอร์สกล่าวถึงอย่างตรงไปตรงมา
จนกลายเป็นหมูตัวต่อมานามว่า มาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรและอดีตผู้นำฝ่ายค้านในยุคสมัยที่อัลบั้มนี้ถูกแต่งขึ้นมา โดยวอเตอร์สได้นิยามเธอว่าเป็น “Bus stop rat bag” รวมถึงด่าผ่านเนื้อเพลงว่า “You, f--ked up old hag” ซึ่งเธอถือเป็นเป้าหมายที่โดนโจมตีอยู่บ่อยครั้ง ไว้เราจะมากล่าวถึงเธอในบทความถัดไป
‘มาร์กาเร็ต แทตเชอร์’ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศอังกฤษ
หมูตัวที่สามคือ แมรี ไวท์เฮาส์ (Mary Whitehouse) นักเคลื่อนไหวฝ่ายอนุรักษนิยม ที่ออกมาต่อต้านการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเพศและความรุนแรงในสื่อโทรทัศน์ ดังที่วอเตอร์สโจมตีการกระทำของเธอว่า “House proud town mouse” และ “You’re trying to keep our feelings off the street” เพราะวอเตอร์สมองว่าการที่เธอออกมาต่อต้านและสนับสนุนให้ ‘เซนเซอร์’ มากขึ้นเป็นการปฏิเสธความเป็นจริงของความเป็นมนุษย์และอ่อนไหวต่อมันมากเกินไป
“Harmlessly passing your time in the grassland away
Only dimly aware of a certain unease in the air”
/ ฆ่าเวลาที่มีอยู่ในทุ่งหญ้าอย่างไร้พิษไร้ภัย
ไม่รู้ไม่สนถึงสิ่งผิดปกติที่ลอยละล่องอยู่ในอากาศ /
สัตว์ตัวสุดท้ายที่ผู้ฟังจะได้รู้จักคือ ‘แกะ’ จากเพลง ‘Sheep’ ผู้ไม่รู้ไม่สนถึงความวิปลาสที่เกิดขึ้นในโลกภายนอก แกะ ผู้ไม่สนไม่แคร์ถึงความเป็นไปของสังคม ผู้ทำเหมือนว่าภัยที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องจริงและจะไม่มีวันมาถึงตน กลุ่มคนที่สัตว์ประเภทนี้แทนจึงเป็นเหล่าประชาชนที่เมินเฉยต่อความผิดแปลกของระบบ เหล่ากรรมาชีพที่ไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรเลยกับปัญหาที่กำลังปะทุอยู่ข้างบ้าน เหล่าชนชั้นแรงงานที่ก้มหน้าทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่ตั้งคำถามใด เพราะคิดว่านั่นไม่ใช่ปัญหาของตน เพียงแค่ ‘ทำ ๆ ตามคำสั่งไปก็หมดเรื่อง’ จนบันดาลให้วอเตอร์สตั้งคำถามว่า
“
What do you get for pretending the danger’s not real
”
แต่ความน่าสนใจของแกะคือจุดจบที่แตกต่างออกไปจากหมา เพราะในเพลงนี้ ท้ายที่สุด แกะผู้เมินเฉยต่อสิ่งรอบข้างก็ร่วมมือกันเพื่อที่จะลุกขึ้นเพื่อสิทธิ์และเสียงของตัวเองเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (แถมเรียนคาราเต้ด้วย) และยืนหยัดต่อผู้กดขี่เพื่อสร้างอนาคตที่ไม่เหมือนเดิม
“
Through quiet reflection, and great dedication
Master the art of karate
Lo, we shall rise up
And then we'll make the bugger's eyes water
”
หลังสิ้นเสียงกีตาร์ของกิลมอร์ในเพลง Sheep คอร์ดกีตาร์โดยวอเตอร์สที่เราได้ยินในตอนเปิดอัลบั้มก็กลับมาอีกครั้งกับเพลง Pigs on the Wing (Part 2) ที่ให้ความหวังกับเราเล็ก ๆ หลังจากผ่านสามเพลง สามสัตว์อันหนักหน่วงมาว่า
“You know that I care what happens to you
And I know that you care for me too”
ก่อนที่วอเตอร์สจะสรุปเรื่องราวทั้งหมดของมหากาพย์สามสัตว์แห่งโลกทุนนิยมนี้ว่า
“
So I don’t feel alone or the weight of the stone
Now that I’ve found somewhere safe to bury my bone
And any fool knows a dog needs a home
A shelter from pigs on the wing
”
อันเป็นการสื่อว่า วอเตอร์สเองก็ยอมรับดีว่าในฐานะศิลปิน เขาเองก็ยอมรับว่าเขาก็ไม่ต่างอะไรจาก ‘หมา’ ตัวหนึ่งดังที่เขาได้บรรยาย วิ่งไล่แสดงสด หาเงินจากผลงานของตัวเอง ถูกสังคมครอบสอนว่าห้ามถ่มน้ำลายใส่แฟน ๆ (แม้ในชีวิตจริง เขาจะทำก็เถอะ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการปลดแอกตนเองจากการเป็นหมาได้สำเร็จ) แต่การได้รับความรักจากคนรอบข้าง หมาตัวหนึ่งแบบเขาก็อุ่นใจที่ยังมีบ้านคุ้มหัว และคนรักคอยเคียงข้าง…
ถ้าใครได้เคยลิ้มลองฟังบทเพลงของ Pink Floyd กันมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเพลง Atom Heart Mother Suite, The Great Gig in the Sky, หรือโดยเฉพาะกับเพลงยาว 23 นาทีอย่าง Echoes เราต่างก็น่าจะทราบกันดีว่าเสียงดนตรีที่กลั่นออกมาจากมันสมองของพวกเขานั้นมีความวิเศษเสมือนกับว่า Pink Floyd สามารถพาเราลอยขึ้นไปในอวกาศได้ จนได้ฉายาว่าเป็นวงที่สร้างสรรค์ดนตรีแนว ‘Space Rock’ จนกลายเป็นภาพจำไปโดยปริยาย
จนกระทั่งในปี 1977 ที่อัลบั้ม Animals ถือกำเนิดขึ้น…
นิตยสาร The Rolling Stones เคยนิยามการเปลี่ยนแปลงในทิศทางผลงานของ Pink Floyd ไว้ได้อย่างน่าสนใจ
“สำหรับ Pink Floyd การล่องลอยสู่อวกาศถือเป็นหนทางการหลบหนีที่วิเศษที่สุด ซึ่งตอนนี้ก็ยังคงเป็นแบบนั้นอยู่นะ แต่คำตอบที่พวกเขามุ่งหาได้เบี่ยงไปอีกทางแล้ว… ในตอนนี้ ภาพฝันความงามของอวกาศอันห่างไกลได้ถูกแทนที่โดยความสยองของโลกแห่งความจริงที่ปรากฏอยู่รอบกาย อัลบั้ม Animals คือสิ่งที่ชี้ให้เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของ Pink Floyd ที่มองว่าการบินขึ้นสู่ห้วงอวกาศไม่ใช่ทางออกที่จะหลบหนีความเน่าเฟะของสังคมอีกต่อไปแล้ว
“มันไม่มีทางออก ไร้ซึ่งทางหนี; แม้คุณโบยบินขึ้นสูง แต่ไม่นานคุณก็ล่วงหล่นกลับคืนสู่ผืนดินอยู่ดี”
นี่อาจจะเป็นคำตอบที่ช่วยให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของ Pink Floyd ได้กระจ่างชัดขึ้น ว่าเพราะเหตุใด ซาวด์เวิ้งว้างอันเป็นเอกลักษณ์ของวงจึงถูกลดทอนลงไปและแทนที่ด้วยเนื้อเพลงสุดแสนคมคายและดนตรีที่สื่อสารทั้งอารมณ์ความโกรธและบรรยากาศความหมองหม่นได้อย่างชัดแจ้ง
ทำให้เข้าใจถึงเหตุผลว่าทำไมวงที่เคยจูงเราล่องลอยสู่ฟากฟ้าจึงเปลี่ยนทิศทางและพาผู้ฟังก้าวเดินในเมืองที่มีเพียงตึกร้างที่เรียงคู่กับโรงงานอุตสาหกรรมไร้ชีวิต บนถนนที่มีแค่ แกะ หมา และหมูที่ลอยอยู่บนฟากฟ้า จนมันได้กลายเป็นกระจกสะท้อนจากอัลบั้มมาสู่โลกแห่งความจริงถึงปลายทางที่พวกเราคงไม่อยากเดินไปถึง…
หากจะตอบคำถามว่าเราทุกคน - รวมถึงคุณ - อยากเป็นสัตว์ประเภทไหนในสังคมแบบนี้? อีกคำตอบหนึ่งที่พอจะตอบได้ก็คงเป็น
ง. ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง
เพราะคงไม่มีใครอยากเป็น ‘แกะ’ ที่ปล่อย ‘หมา’ เลือก ‘หมู’ มาปกครอง
เพราะคงไม่มีใครอยากเป็น ‘หมา’ ที่ประจบ ‘หมู’ กดขี่ ‘แกะ’ เพื่อประโยชน์ชั่วคราว
เพราะคงไม่มีใครอยากเป็น ‘หมู’ ที่หลอก ‘หมา’ กำราบ ‘แกะ’ สนองความตะกละส่วนตน
คงไม่มีใครอยากเป็นสัตว์ในสังคมที่ถูกพิษทุนนิยมกลืนจนสูญสิ้นเฮือกหายใจของความเป็นมนุษย์ดั่งที่ Pink Floyd ได้นำเสนอให้พวกเราฟัง
แต่ถ้าเราไปถึงจุดนั้นแล้วจริง ๆ คุณจะเลือกเป็นใคร?
ภาพ: อัลบั้ม Animals - Pink Floyd โดย Hipgnosis
อ้างอิง:
The Message Of Pink Floyd’s ‘Animals’ Still Resonates 46 Years Later [Listen] - Live For Live Music
Rioting, bitter acrimony, and the story of Pink Floyd’s unsung masterpiece: Animals - Louder Sound
Why Animals is Pink Floyd’s best album - Oxford Student
Pink Floyd ‘Animals’: The Story 40 Years Later - Classic Album Sundays
Margaret Thatcher: the villain of political pop - The Guardian