ไชคอฟสกี : คีตกวีผู้กลั่นชีวิตรักสุดอาภัพ เป็นบทเพลงโรแมนติกที่เป็นตำนาน

ไชคอฟสกี : คีตกวีผู้กลั่นชีวิตรักสุดอาภัพ เป็นบทเพลงโรแมนติกที่เป็นตำนาน

ไชคอฟสกี : คีตกวีผู้กลั่นชีวิตรักสุดอาภัพ และรสนิยมทางเพศที่ต้องปกปิด ออกมาเป็นบทเพลงโรแมนติกที่เป็นตำนาน

ชื่อของ ‘ไชคอฟสกี’ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ของวงการดนตรีคลาสสิก ที่แม้แต่คนที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับวงการดนตรีคลาสสิก ก็ยังได้ยินชื่อเสียงอยู่บ่อยครั้ง ในฐานะที่ไม่ต่างกับโมสาร์ตหรือเบโธเฟน บ่อยครั้งเราจะรู้จักผลงานของเขาในเพลงประกอบบัลเลต์ เช่น Swan Lake หรือ The Nutcracker หรือบทเพลงคอนแชร์โตที่โด่งดังอย่าง Violin Concerto in D major (มีเพลงไทยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบทเพลงนี้ ชื่อเพลง ‘ม่านไทรย้อย’) หรือ Piano Concerto No.1 in B-flat minor ซึ่งนับว่าเป็นเพลงเอกของวงการไวโอลิน และเปียโนทั้งคู่ หรือเพลงที่ยิ่งใหญ่อลังการอย่าง 1812 Overture 

แต่กระนั้น ความยิ่งใหญ่ของไชคอฟสกี ยังมีอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพลงเชมเบอร์มิวสิก เช่น สตริงควอร์เต็ต หรือ สตริงเชมเบอร์ออร์เคสตรา และที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือด้านซิมโฟนี (Symphony) หรือบทเพลงขนาดใหญ่ที่ใช้วงดนตรีขนาดใหญ่บรรเลง ซึ่งเขาได้แต่งไว้ 6 บทด้วยกัน อาจจะดูไม่มากนัก แต่ทุกบทล้วนได้รับการยอมรับว่าเป็นบทเพลงมาตรฐานที่ถูกบรรจุในรายการแสดงดนตรีของวงออร์เคสตราทั่วโลก

จากเด็กผู้มีอารมณ์อ่อนไหว สู่เส้นทางนักดนตรีในวัย 25 

ปีเตอร์ อิลิช ไชคอฟสกี (Pyotr Ilyich Tchaikovsky) เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1840 ที่เมืองโวทคินสค์ (Votkinsk) ในจักรวรรดิรัสเซีย เป็นบุตรของบิดาซึ่งมีอาชีพเป็นวิศวกรเหมืองแร่ของรัฐ และมารดาซึ่งเป็นลูกครึ่งฝรั่งเศส-เยอรมัน (เป็นภรรยาคนที่ 2) มีพี่น้อง 6 คน โดยเขาเป็นคนที่ 2 จากคำบอกเล่าของพี่เลี้ยงของเขา ได้ระบุว่าเขาเป็นเด็กที่ค่อนข้างช่างคิดช่างฝัน เป็นคนละเอียดคิดเล็กคิดน้อย และอ่อนไหวต่อคำตำหนิ อย่างไรก็ตามก็เป็นเด็กที่รักและห่วงใยผู้อื่นเสมอ โดยเฉพาะแม่และน้องชายฝาแฝด รวมไปถึงตัวพี่เลี้ยงเองด้วย สิ่งนี้อาจจะอนุมานได้ว่าเขาเป็นคนที่มีอารมณ์ละเอียดอ่อน และค่อนข้างอ่อนไหวมากด้วย ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สอดคล้องกับการเป็นศิลปินค่อนข้างมาก 

อย่างไรก็ตาม ไชคอฟสกีไม่ได้เรียนดนตรีอย่างเอาจริงเอาจังในวัยเด็ก เพียงได้เรียนเปียโนและโน้ตดนตรีจนสามารถอ่านและบรรเลงได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ก็มิได้คิดที่จะยึดเป็นอาชีพนัก ตรงนี้อาจต่างกับคีตกวีท่านอื่น ๆ ที่ต่างก็เป็นเด็กอัจฉริยะด้านดนตรี และมีเป้าหมายในการเป็นนักดนตรีหรือคีตกวีมาตั้งแต่เยาว์วัย

เมื่อเติบโตขึ้น ไชคอฟสกีได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนกฎหมาย จนเรียนจบในวัย 19 ปี และได้เข้ารับราชการในกระทรวงยุติธรรมของจักรวรรดิรัสเซีย อย่างไรก็ตามในช่วงระหว่างเรียนกฎหมายนั้น เขาก็ได้ฝึกฝนด้านดนตรีด้วยตนเองจนสามารถเล่นเปียโนได้อย่างดี ทำให้เกิดความรักในด้านดนตรีเพิ่มมากขึ้น จนในที่สุดหลังจากทำงานไปได้ 3 ปี เขาก็ลาออกจากงานที่กระทรวงยุติธรรม เพื่อมาเรียนดนตรีอย่างจริงจัง ที่ Saint Petersburg Conservatory ซึ่งเป็นสถาบันดนตรีที่เพิ่งเปิดขึ้นใหม่ เพื่อที่จะยกระดับมาตรฐานการดนตรีตะวันตกในรัสเซีย โดยมี อันโทน รูบินชไตน์ (Anton Rubinstein) คีตกวี และนักเปียโนที่โด่งดังในยุคนั้น เป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นครูของไชคอฟสกี 

จนเมื่อปี 1865 เขาก็ได้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ ในด้านการประพันธ์ดนตรี จากนั้นก็ได้งานเป็นอาจารย์สอนวิชาการประสานเสียง (harmony) ใน Moscow Conservatory ซึ่งเป็นสาขาของ Saint Petersburg Conservatory โดยมี นิโคไล รูบินชไตน์ (Nikolai Rubinstein) น้องชายของอันโทน รูบินชไตน์ เป็นผู้อำนวยการ นับเป็นจุดเริ่มต้นอาชีพนักดนตรีของไชคอฟสกี

 

คีตกวีผู้สรรสร้างบทเพลงที่สุดแสนจะโรแมนติก แต่แท้จริงแล้วเป็นคนอาภัพรัก 
หากจะพูดถึงคำว่า โรแมนติก (Romantic) นั้น มิได้หมายถึงความรักหรือ Romance เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นกระแสทางศิลปะที่รวมถึงทัศนศิลป์ วรรณกรรม และดนตรี เรียกว่า Romanticism (บางตำราเรียกว่า ศิลปะจินตนิยม) ที่เกิดขึ้นในยุโรปช่วงปลายศตวรรษที่ 18 - 19 ที่เน้นถึงการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกเป็นสำคัญ

เพลงในยุคโรแมนติกนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกค่อนข้างมาก เช่น หวานซึ้ง สนุกสนาน เศร้าโศก เกรี้ยวกราด อ่อนโยน โอ่อ่า น่าสะพรึงกลัว ฯลฯ (มิใช่ว่าเพลงในยุคก่อนโรแมนติกจะไม่มีการแสดงอารมณ์เช่นนี้ หรือทำไม่ได้ แต่เป็นการแสดงออกทางอารมณ์ที่ยังค่อนข้างอยู่ในกรอบแบบแผนการแต่งเพลงที่สืบทอดกันมา ยังไม่สุดโต่งเท่ากับยุคโรแมนติก) ตัวแทนสำคัญของยุคโรแมนติก จะมีทั้งสายหลักในเยอรมัน, ออสเตรีย, ฝรั่งเศส, อิตาลี และดนตรีชาตินิยม (Nationalism) ในพื้นที่อื่น ๆ ของยุโรป เช่น ฮังการี, โปแลนด์, โบฮีเมีย, นอร์เวย์ และฟินแลนด์ รวมไปถึงรัสเซีย ที่ต่อมาจะกลายมาเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการดนตรีคลาสสิกของโลก

รัสเซียในยุคนั้นก็มีขบวนการชาตินิยมทางดนตรีเช่นกัน โดยมี มิคาอิล กลิงก้า (Mikhail Glinka) เป็นคีตกวีรัสเซียคนแรกที่โด่งดังในระดับนานาชาติ และกลุ่ม The Five ซึ่งเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้น (ประกอบด้วย Mily Balakirev, César Cui, Modest Mussorgsky, Nikolai Rimsky-Korsakov และ Alexander Borodin ซึ่งบางท่านก็เป็นคีตกวีและนักดนตรีสมัครเล่น) ที่มีแนวทางชัดเจนในการนำสุ้มเสียงและอัตลักษณ์ของดนตรีพื้นบ้านรัสเซีย มาประพันธ์ตามแบบแผนดนตรีตะวันตกยุโรป 

เนื่องจากไชคอฟสกีศึกษาในโรงเรียนดนตรีที่เป็นสายยุโรปขนานแท้ และรูบินชไตน์ครูของเขาก็ร่ำเรียนดนตรีมาจากเยอรมัน ดังนั้นระหว่างกลุ่ม The Five กับครูของเขาจึงค่อนข้างอยู่คนละขั้วกัน แต่ไชคอฟสกีก็มีสัมพันธภาพที่ดีกับกลุ่มนี้ และได้รับอิทธิพลของการใช้ดนตรีพื้นบ้านมาใส่ในดนตรีของเขาด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นซิมโฟนีหมายเลข 1 (มีชื่อเล่นว่า ‘Winter Daydreams’) และหมายเลข 2 (มีชื่อเล่นว่า ‘Little Russian’) ซึ่งนำเอาท่วงทำนองของดนตรีพื้นบ้านรัสเซียและยูเครน (ซึ่งขณะนั้นยังเป็นจักรวรรดิรัสเซีย) มาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์เพลงขนาดใหญ่ออกมา นับว่าเป็นการประสานแนวคิดของทั้งสองสายได้เป็นอย่างดี

ถ้าได้ลองฟังเพลงของไชคอฟสกีแล้ว จะพบว่าเพลงส่วนใหญ่ของเขาเปี่ยมไปด้วยอารมณ์อย่างยิ่ง เพลงที่อ่อนหวานก็ไพเราะจับใจ เพลงที่หม่นเศร้าก็ลึกซึ้ง เพลงโอ่อ่าก็ยิ่งใหญ่ชวนฮึกเหิม เพลงเล็ก ๆ กระจุ๋มกระจิ๋ม ก็น่ารักฟังเพลิดเพลิน ส่วนใหญ่มีท่วงทำนองที่งดงาม และเสียงประสานที่น่าฟัง กล่าวได้ว่าไชคอฟสกีเป็นหนึ่งในตัวแทนของยุคโรแมนติก ที่ถ่ายทอดความเข้มข้นทางอารมณ์ความรู้สึกผ่านเสียงดนตรีได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญคือเขายังเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการเรียบเรียงเครื่องดนตรีสำหรับวงออร์เคสตรา (Orchestration) สังเกตได้ว่าเพลงของเขาจะมีความหลากหลายของสีสันของเสียง (Tone Color) จากเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ ค่อนข้างมาก และทำได้อย่างไพเราะลงตัว ไม่รู้สึกแปลกแปร่ง 

อีกอย่างหนึ่งคือเขาเป็นปรมาจารย์ในด้านการประดิษฐ์ทำนองที่ไพเราะ และค่อนข้างมีความยาวมาก ซึ่งเป็นสไตล์ของคีตกวีรัสเซีย (สืบทอดมาถึงรัคมานินอฟ คีตกวีรุ่นหลัง) อันจะต่างจากคีตกวีสายเยอรมันที่มักจะคิดเป็นทำนองสั้น ๆ แล้วค่อย ๆ แปรผันให้ขยายยืดยาวมากขึ้น ตรงนี้มิได้บอกว่าใครถูกหรือผิด หรืออย่างไหนดีกว่ากัน แต่เป็นแนวคิดในการประพันธ์ที่ต่างขั้วกัน

ที่กล่าวมานั้น ต้องการจะสื่อว่าเพลงของไชคอฟสกีนั้น มีความโรแมนติก ทั้งในเชิงของเพลงรัก เพลงที่มีทำนองหวานซึ้ง และเพลงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก เช่นเดียวกับอุปลักษณะนิสัยของเขา แต่ทว่าชีวิตของเขาค่อนข้างผิดหวังในความรัก เขาสูญเสียมารดาที่เขารักมากไปเมื่ออายุ 14 ปี เขามีชีวิตสมรสที่ล้มเหลวกับสาวที่เขาไม่ได้รัก แต่ยอมแต่งงานด้วยความสงสาร และจบลงด้วยการที่ไชคอฟสกีต้องหนีออกจากบ้าน นอกจากนี้เขายังเสียความมั่นใจอยู่บ่อยครั้งจากครูและเพื่อนร่วมงานที่เขาเคารพ (ทั้งอันโทนและนิโคไล รูบินชไตน์) ที่มักวิจารณ์ผลงานของเขาด้วยความรุนแรงในขณะที่เขาเป็นคนที่อ่อนไหวกับการถูกวิจารณ์เป็นอย่างยิ่ง

อีกทั้งในการศึกษายุคหลัง ๆ ยังมีข้อบ่งชี้ว่า เขาเป็นคนที่มีรสนิยมชอบเพศเดียวกัน อันเป็นการศึกษาจากจดหมายของเขา ที่เขียนถึงคนต่าง ๆ (ซึ่งถูกทางการโซเวียตเซ็นเซอร์มาเกือบศตวรรษ) ซึ่งอาจอนุมานได้ว่าเขาคงต้องปกปิดรสนิยมทางเพศนี้ไว้เนื่องจากในยุคสมัยนั้นคงไม่สามารถเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะได้ดังเช่นทุกวันนี้ 

 

ซิมโฟนีสองบทสำคัญ ที่อุทิศให้แก่คนที่เขารักในสองช่วงชีวิต
อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังมีเพื่อนที่ดี มีครอบครัวที่คอยช่วยเหลือ และสนับสนุนเขามาตลอด บุคคลที่สำคัญมากคนหนึ่งในชีวิตเขา คือ มาดาม นาเดชดา ฟอน เม็ค (Nadezhda von Meck) เศรษฐีนีชาวรัสเซียผู้มีความรักในดนตรี และศิลปะ โดยเธอได้อุปถัมภ์ด้านการเงินแก่ไชคอฟสกีมาเป็นระยะเวลาถึง 13 ปี ในช่วงที่เขายังไม่โด่งดังมาก และมีความขัดสนด้านการเงิน ซึ่งหนึ่งในเพลงสำคัญที่ไชคอฟสกีได้แต่งและอุทิศให้กับมาดามฟอน เม็ค คือ Symphony No. 4 in F minor ผลงานลำดับที่ 36 ของเขานั่นเอง 

ซิมโฟนีหมายเลข 4 ประพันธ์ขึ้นในช่วงระหว่างปี 1877 - 1878 ซึ่งบางครั้งจะรู้จักในนาม Fate หรือ Fatum (ชะตากรรม) บรรเลงเป็นครั้งแรกในคอนเสิร์ต Russian Musical Society ที่จัดขึ้นในกรุงมอสโกเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1878 โดยมี นิโคไล รูบินชไตน์ เป็นวาทยกร สำหรับซิมโฟนีบทนี้ไชคอฟสกีเคยบรรยายไว้ว่า 

“ยังไม่มีงานดนตรีชิ้นใดเลยที่ผมจะต้องใช้แรงกายแรงใจอย่างหนักหน่วง แต่ผมก็ไม่เคยรู้สึกมีความรักเช่นนี้กับงานชิ้นใดเลย บางทีผมอาจจะคิดผิดไปก็ได้ แต่สำหรับผมดูเหมือนว่าบทเพลงซิมโฟนีบทนี้จะดีกว่างานชิ้นอื่น ๆ ที่ผมเคยประพันธ์มา” 

เพลงนี้เป็นอีกเพลงที่มีความหลากหลายทางอารมณ์ค่อนข้างสูงมาก ในกระบวนที่ 1 (Andante sostenuto - Moderato con anima - Moderato assai, quasi Andante - Allegro vivo) มีทำนองหลักเกี่ยวกับชะตากรรมที่มาหา (อันเป็นแนวคิดที่คล้ายกับซิมโฟนีหมายเลข 5 ของเบโธเฟน ซึ่งเกี่ยวกับชะตากรรมเช่นกัน) มีท่วงทำนองที่หม่นหมอง อึมครึม ก่อนที่จะค่อย ๆ คลี่คลายไปสู่ท่วงทำนองที่รื่นรมย์มากขึ้น ส่วนในกระบวนที่ 2 (Andantino in modo di canzona) นั้น เป็นท่อนเดี่ยวโอโบที่โด่งดังมากที่สุดบทหนึ่งของวงการนักโอโบ ด้วยท่วงทำนองที่เศร้าหม่น และบาดลึกในอารมณ์ ด้านกระบวนที่ 3 (Scherzo: Pizzicato ostinato – Allegro) นั้นนำเสนอในสิ่งที่ไชคอฟสกีได้บรรยายไว้ว่า 

“เป็นภาพเพียงชั่วแล่นที่แวบขึ้นมาในจินตนาการ เมื่อคนคนหนึ่งเริ่มดื่มไวน์เข้าไป” 

เป็นช่วงที่เครื่องสายใช้เทคนิคการเล่นแบบดีดสาย (pizzicato) สลับกับกลุ่มเครื่องเป่าลมไม้ได้บรรเลง ทำนองที่ค่อนข้างรุกเร้า และกระบวนที่ 4 (Finale: Allegro con fuoco) ซึ่งเป็นกระบวนสุดท้ายให้ความรู้สึกที่ฮึกเหิม ด้วยท่วงทำนองที่ยิ่งใหญ่ โอ่อ่า และทรงพลัง เป็นอีกหนึ่งผลงานระดับ Masterpiece ที่แสดงออกถึงอัจฉริยภาพของไชคอฟสกี ในการแต่งท่วงทำนองที่ไพเราะ มีความเข้มข้นทางอารมณ์สูง และการใช้สีสันของเครื่องดนตรีได้อย่างหลากหลาย 

หลังจากอุปถัมภ์ไชคอฟสกีมาเป็นเวลา 13 ปี จากระยะไกลที่เป็นความสัมพันธ์แบบไม่เคยเจอตัวกันเป็น ๆ เลย มีแต่จดหมายที่เขียนโต้ตอบกันเท่านั้น มาดามฟอน เม็ค ก็ขอยุติการอุปถัมภ์แก่เขา ในปี 1890 ซึ่งเธอให้เหตุผลว่าธุรกิจของเธอประสบปัญหา ยุติความสัมพันธ์การเป็น ‘เพื่อนใจ’ ของไชคอฟสกี เพราะเขาจะเขียนจดหมายบรรยายถึงความรู้สึกต่าง ๆ มาเล่าให้เธอฟังอยู่เสมอ และจดหมายที่เขาเขียนถึงมาดามฟอน เม็ค ก็เป็นหลักฐานสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาความคิดของไชคอฟสกี

คนสนิทของไชคอฟสกีที่มาแทนมาดามฟอน เม็ค คือหลานชายของเขา ชื่อ วลาดิเมียร์ ดาวีดอฟ (Vladimir Davydov) ซึ่งเป็นลูกของน้องสาวของไชคอฟสกี (โดยที่ดาวีดอฟเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ไชคอฟสกีหลังจากมรณกรรมของเขา) ซึ่งในช่วงท้ายของชีวิต ไชคอฟสกีสนิทสนมกับดาวีดอฟมาก ถึงขนาดระบุในพินัยกรรมให้เป็นผู้รับผลประโยชน์จากลิขสิทธิ์ผลงานเขา (การศึกษาในยุคหลัง ๆ ก็มักระบุกันว่า ดาวีดอฟ หรือที่ไชคอฟสกีเรียกว่า ‘บ๊อบ’ คือคนรักของไชคอฟสกีด้วย) ซึ่งบทเพลงชิ้นสุดท้ายที่ไชคอฟสกีแต่งเสร็จ ก็อุทิศให้แก่ดาวีดอฟนั่นเอง คือ Symphony No. 6 in B minor ผลงานลำดับที่ 74

ซิมโฟนีหมายเลข 6 ประพันธ์ขึ้นในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงปลายเดือนสิงหาคม 1893 และยังรู้จักกันอย่างกว้างขวางในนาม Pathétique Symphony (ซึ่งมีความหมายว่า ความปรารถนา ความหลงใหล หรืออารมณ์ความรู้สึก) เป็นผลงานการประพันธ์ซิมโฟนีฉบับสมบูรณ์ชิ้นสุดท้ายของไชคอฟสกี โดยซิมโฟนีบทนี้เป็นบทประพันธ์ที่มีท่วงทำนองชวนให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้งอย่างแท้จริง และเป็นหนึ่งในดนตรีสัญลักษณ์ของยุคโรแมนติก ซึ่งไชคอฟสกีกล่าวถึงผลงานชิ้นนี้ไว้ว่า 

“คงไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด หากจะบอกว่าผมได้ใส่จิตวิญญาณทั้งหมดลงไปในงานชิ้นนี้ และเป็นเรื่องยากจริง ๆ ที่ผมจะแยกตัวเองออกจากบทเพลงนี้ ... ผมเชื่อว่าบทเพลงนี้จะเป็นผลงานชิ้นที่ดีที่สุดของผม” 

ไชคอฟสกีอำนวยเพลงด้วยตัวเองในการบรรเลงซิมโฟนีบทนี้เป็นครั้งแรกในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในวันที่ 28 ตุลาคม 1893 เพียง 9 วันก่อนที่เขาจะเสียชีวิต การแสดงครั้งที่ 2 ของซิมโฟนีบทนี้เกิดขึ้นในอีก 21 วันต่อมา ในการแสดงคอนเสิร์ตเพื่อรำลึกถึงไชคอฟสกี โดยในการแสดงครั้งที่ 2 นี้ เป็นฉบับปรับปรุงที่ผ่านการแก้ไขโดยไชคอฟสกีหลังการบรรเลงครั้งแรกแล้ว และเป็นฉบับที่ใช้บรรเลงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ซิมโฟนีบทนี้นับเป็นเพลงที่มีความหลากหลายทางอารมณ์ค่อนข้างสูงมากอีกเช่นกัน ในกระบวนที่ 1 (Adagio - Allegro non troppo) เริ่มต้นด้วยท่วงทำนองที่ค่อนข้างหม่น แล้วคลี่คลายมาสู่ท่วงทำนองที่หวานซึ้งกินใจ โดยมีเครื่องสายแสดงออกถึงอารมณ์ด้านความรักได้อย่างลึกซึ้ง แล้วจึงค่อยส่งต่อให้กับกลุ่มเครื่องเป่าลมไม้ต่อไป แต่ในช่วงกลางกระบวนก็มี surprise ให้คนฟังตกใจ แล้วค่อยกลับมาท่วงทำนองหวานซึ้งอีกครั้ง ส่วนในกระบวนที่ 2 (Allegro con grazia) นั้น มีความผ่อนคลาย ฟังสบายกว่ากระบวนแรก ด้วยท่วงทำนองที่รื่นรมย์ ด้านกระบวนที่ 3 (Allegro molto vivace) นั้นค่อนข้างมีความรวดเร็วรุกเร้าพอประมาณ มีความคล้ายบทเพลงบัลเลต์ของเขาที่มีสีสัน มีชีวิตชีวา และมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และกระบวนที่ 4 (Finale: Adagio lamentoso - Andante) กลับเป็นช่วงที่มีทำนองเนิบช้า ค่อนข้างหม่นเศร้า ซึ่งผิดไปจากการจัดเรียงกระบวนของซิมโฟนีทั่วไป (เร็ว - ช้า - เพลงเต้นรำ - เร็ว) แต่ก็เป็นอีกหนึ่งท่อนที่มีความลึกซึ้งทางอารมณ์สูงอีกเช่นกัน จึงเหมาะแล้วที่บทเพลงนี้จะได้ชื่อว่า Pathétique ตามที่กล่าวข้างต้น 

มาสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกอันลึกซึ้งของไชคอฟสกี ที่มหกรรมศิลปะการแสดง และดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 25 นี้ด้วยกัน

นับเป็นโอกาสอันดียิ่ง ที่การแสดงเปิดม่านฉลองมหกรรมศิลปะการแสดง และดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครบรอบ 25 ปี จะนำ 2 บทเพลงที่ยิ่งใหญ่ ลึกซึ้ง และเข้มข้นของคีตกวีที่ยิ่งใหญ่ของโลกอย่างไชคอฟสกี มาสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังในประเทศไทย โดยวาทยกรนามอุโฆษ สุบิน เมห์ธา (Zubin Mehta) กับวง Symphony Orchestra of Maggio Musicale Fiorentino แห่งเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นโปรแกรมที่นำกลับมาแสดงอีกครั้ง หลังจากประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ในการแสดงครั้งก่อนหน้านี้ของท่านเมห์ธา ในประเทศไทย เมื่อปี 2561 

ดังนั้นคนไทยจะได้ฟังบทเพลงอันไพเราะเหล่านี้อีกครั้ง ในวันที่ 2 กันยายน 2566 โดยการกำกับของท่านเมห์ธาเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเกษียณจากวงการ เพื่อเป็นการอำลาประเทศไทยอย่างสวยงาม ด้วยเสียง Mehta Sound ที่เป็นตำนาน (ใครอยากรู้ว่า Mehta Sound คืออะไร ขอเชิญอ่านบทความ “สุบิน เมห์ธา : ตำนานวาทยกรปีศาจนามอุโฆษวัย 87 ปี ผู้เคยขึ้นปกนิตยสาร TIME จากการถ่ายทอดสุ้มเสียงในอุดมคติแบบ Mehta Sound และเป็นโอกาสอันดีอีกเช่นกันในการเพิ่มพูนประสบการณ์ในการฟังวงดนตรีและวาทยกรที่มีชื่อเสียงในระดับโลก โดยไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปชมถึงในยุโรป เพราะมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ (Bangkok’s International Festival of Dance & Music) ประจำปี 2023 ได้จัดมาให้ถึงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยแล้ว และที่สำคัญ ทุกท่านที่มีบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพทุกชนิด ได้รับโปรโมชั่น Early Bird ลด 20% ในการจองตั๋วทุกราคา หมดเขต 15 กรกฎาคม 2566 นี้เท่านั้น โปรดรีบจองตั๋วโดยพลันก่อนที่นั่งดี ๆ จะหมดลง