อาลัย ‘พนม นพพร’ เจ้าของเสียงหวานเพลง ‘ลาสาวแม่กลอง’ ผู้ผลิตรายการ ‘ชุมทางเสียงทอง’

อาลัย ‘พนม นพพร’ เจ้าของเสียงหวานเพลง ‘ลาสาวแม่กลอง’ ผู้ผลิตรายการ ‘ชุมทางเสียงทอง’

‘พนม นพพร’ เจ้าของเสียงหวานในเพลง ‘ลาสาวแม่กลอง’ อันโด่งดัง เดิมทีแล้ว เขาไม่อยากร้องเพลงนี้ด้วยซ้ำ ขณะที่ชีวิตจริง เขาเป็นคนบู๊และโลดโผนอย่างมาก ที่สำคัญ พนม นพพร คือผู้ผลิตรายการประกวดร้องเพลง ‘ชุมทางเสียงทอง’ (ชุมทางดาวทอง) ในตำนาน

  • พนม นพพร นักร้องเจ้าของเสียงหวานแห่งวงการเพลงลูกทุ่งไทย โด่งดังจากเพลง ลาสาวแม่กลอง เขามีชีวิตที่บู๊และโลดโผนต่างจากเสียงอันหวานซึ้งในบทเพลง
  • พนม นพพร คือผู้ผลิตรายการในตำนานอย่าง ชุมทางเสียงทอง (ปัจจุบันคือรายการ ชุมทางดาวทอง)

พนม นพพร หรือ พี่โอ อาโอ ในวงการเพลงลูกทุ่ง ภายนตร์ไทย ละครและรายการโทรทัศน์ต่างรู้จักและให้ความเคารพรัก เพราะเป็นผู้ที่มุ่งมั่นศึกษาหาความรู้ มีน้ำใจและอัธยาศัยที่ดีต่อคนในวงการ เจ้าของเสียงเพลงหวาน ‘ลาสาวแม่กลอง’ แต่ชีวิตส่วนตัวนั้นบู๊และโลดโผนมาก

พนม นพพร หรือชาตรี ชินวุฒิ ชาวตำบลหนองตำลึง พานทอง ชลบุรี เรียนจบการศึกษาชั้นมัธยม 6 ครอบครัวมีเชื่อสายจีน ที่มีฐานะดี แต่เขากลับชอบเรื่องร้องรำทำเพลงและความบันเทิง ทำไม่ได้เรียนต่อ และได้เดินตามรอยครอบครัวและพี่น้องที่ทำธุรกิจ

ตอนหนุ่ม ๆ ชอบประกวดร้องเพลงและไปร้องเพลงเชียร์รำวงในแบบที่นักร้องลูกทุ่งสมัยนั้นนิยมทำกันด้วย โดยไปร้องเพลงอยู่รำวงคณะดัง ‘ดาวทอง’ และความใฝ่ฝันจะเป็นนักร้องก็ยังมีในหัวใจเสมอ

ทิ้งธุรกิจบ้านเข้าสู่วงการเพลง

วงดนตรีของเทียนชัย สมยาประเสริฐ มาเปิดการแสดงที่ชลบุรี และมีการประกวดร้องเพลง พนม ได้ไปประกวดด้วย ผลออกมาชนะ จึงได้เข้ากรุงเทพฯ มาอยู่ที่บ้านของเทียนชัย สมยาประเสริฐ เพื่อฝึกร้องเพลงและร่วมวงดนตรี

ที่นี่ เขาได้บันทึกเสียงเพลงชื่อ ‘ลมร้อน’ อรุณ รุ่งรัตน์ แต่ง และใช้ชื่อว่า พนาวัลย์ ลูกเมืองชล มีเพลงแก้ร้องโดย ผ่องศรี วงนุช ทำให้เพลงดังขึ้น แต่อยู่ได้ไม่นานวงเทียนชัยก็แตก

หลังออกจากวงเทียนชัย เขาหาเลี้ยงชีพโดยการไปเป็นนักร้องตามวงดนตรีอื่น ๆ ในยุคนั้น และไปบวชเณร สึกออกมาใหม่ ๆ มีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่า เขามีพี่สาวเป็นคนรับใช้อยู่บ้านของครูมงคล อมาตยกุล วัดเซิงหวาย เตาปูน ซึ่งครูเป็นเจ้าของวงดนตรี ‘จุฬารัตน์’ พนม จึงมากับเพื่อน มาตั้งต้นที่ท้องสนามหลวงถึง 2 วัน ไม่รู้จะไปกันอย่างไร พากันเดินมาจนถึงวัดเซิงหวาย ประมาณ 2 ทุ่ม มาที่บ้านครู ตะโกนเรียกพี่สาวเพื่อน

เมื่อเธอเดินออกมาหา เพื่อนก็ขอเงินเพราะไม่มีเงินติดตัวกันเลย พี่สาวจึงย้อนไปในบ้าน เอาเงินมาให้ จังหวะที่พี่สาวเดินไปหยิบเงิน พนม เห็นครูมงคลอยู่ที่เปียโนในบ้าน ด้วยความกล้าจึงพุ่งเข้ากราบขอสมัครอยู่วงดนตรีจุฬารัตน์ ร้องเพลงทดสอบให้ครูฟัง แต่ครูไม่รับเพราะคนเต็ม (วีธีการปฎิเสธคนที่มาสมัครวงดนตรีสมัยก่อน มักจะบอกว่า จำนวนคนเต็มเพื่อรักษาน้ำใจ)

แต่ครูมงคลมีกำหนดไปเดินสายภาคอีสาน พอดีจังหวะนั้นมีคนในบ้านบอกว่า ไอ้จ้อนคนงานในวงท้องเสีย เดินทางไปไม่ได้ พนม จึงขออาสารับหน้าที่นี้  โดยมีหน้าที่โบกรถ ยกของ แบกกลอง เก็บตั๋วทำงานต่าง ๆ ในวงดนตรี จึงได้เดินสายอีสาน

ขณะที่วงเดินสายนั้น นักร้องทุกคนต้องช่วยกันขนของ เพราะทีมงานเบื้องหลังไม่ได้มีมากมาย วงดนตรีเปิดเวทีด้วยเพลงมาร์ช นักร้องทุกคนขึ้นเวทีทั้งหมด รวมทั้งพนม ได้ขึ้นเวทีด้วย ช่วงก่อนถึงนักร้องดังที่บันทึกเสียงแล้ว ก็จะเป็นคิวของนักร้องก่อนเวลา พนม ได้คำแนะนำจากรุ่นพี่ โฆษิต นพคุณ ว่า ให้ร้องเพลง ‘อนิจจา’ ของเขา ซึ่งนักร้องทุกคนที่มาใหม่ ๆ ต้องร้องเพลงของรุ่นพี่ก่อน ซึ่งพนม ร้องได้ไพเราะถูกใจแต่ก็ยังไม่ได้บันทึกเสียงเพลง

 

‘ลาสาวแม่กลอง’ เพลงที่ไม่อยากร้อง แต่เปลี่ยนชีวิต

วันหนึ่งมีการบันทึกเพลงในห้องบันทึกเสียงในกรุงเทพฯ นักร้องดัง ๆ ในวงต้องไปอัดแผ่นเสียง ซึ่งพนม ก็ตามไปด้วย บันทึกเสียงเสร็จราวตี 3 มีเวลาเหลือ ครูมงคลจึงเรียกพนมมาลองซ้อมเพลงที่สรวง สันติ แต่ง คือ เพลง ‘สุขีเถิดที่รัก’ เขียนโน้ตให้นักดนตรี และบันทึกเสียงกันในตอนนั้นเลย

ต่อมา ครูมงคล ได้เพลง ‘ลาสาวแม่กลอง’ จากเกษม สุวรรณเมนะ มาบันทึกเสียงให้นักร้องคนอื่นร้อง แต่เขาไม่ร้อง จึงมอบหมายให้พนม ขับร้อง แรก ๆ นั้น เขาไม่อยากร้องเช่นกัน เพราะเนื้อเพลงตอนแต่งมายังไม่ค่อยลงตัวเท่าใดนัก ต้องมาปรับแก้เล็กน้อย

แต่เมื่อครูมอบโอกาสให้ ทำให้เขาต้องออกมาจากบ้านวัดเซิงหวาย มาฝึกร้องเพลงนี้ที่ริมถนนสี่แยกไฟแดงตอนหลังเที่ยงคืน เพราะฝึกร้องในบ้านไม่ได้ สมัยก่อนนักร้องต้องร้องเสียงดัง ๆ เมื่อพร้อมแล้วก็ได้บันทึกเสียง ไม่มีใครคิดว่า เพลงนี้จะโด่งดังเข้าไปอยู่ในหัวใจคนฟัง จนกลายเป็นเพลงประจำตัวของเขาไปทันที

วงดนตรีจุฬารัตน์ ของครูมงคลได้รับความนิยมมาก ครูประกาศว่า สมาชิกในวง ใครจะทำสายใดก็ทำได้ และแบ่งเปอร์เซ็นต์กับทางวง ทำให้ต่างคนก็แย่งกันทำสาย วงจุฬารัตน์วงแตกทุกคนแยกออกมา ลพ บุรีรัตน์ (ตอนนั้นใช้ชื่อ กนก เกตุกาญจน์) จึงแต่งเพลงชื่อ ‘อัดอั้นตันใจ’ ให้พนม นพพร ขับร้อง เนื้อหาคมคาย เสียดสีวงการในยุคนั้น

“....พี่น้องขาดความปรองดองรักใคร่ ผมเป็นน้องจะพูดอย่างไร อัดอั้นตันใจอยู่ทุกวัน...” ไม่ได้หมายถึงครอบคัวของคนแต่งเพลง แต่มีนัยหมายถึง การแตกความสามัคคีในวงดนตรีจุฬารัตน์นั่นเอง

 

เข้าสู่วงการภาพยนตร์-ตั้งวงดนตรี ค่ายเพลง

หลังวงจุฬารัตน์แตก พนม ได้รู้จักกับชินกร ไกรลาศ ซึ่งได้เข้าสู่วงการภาพยนตร์อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว และได้ชวนไปเป็นตัวประกอบภาพยนตร์อยู่หลายเรื่อง บางเรื่องพอมีบทบ้าง บางเรื่องก็ได้ร้องเพลงประกอบด้วย เมื่อภาพยนตร์ดัง เช่น เพลง ‘ฮักสาวขอนแก่น’ ประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘ขวัญใจไอ้หนุ่ม’ เพลงก็ดังไปด้วย เขาจึงตัดสินใจตั้งวงดนตรี พนม นพพร ออกเดินสายร่วมกับงานด้านการแสดงไปด้วย วงดนตรีพนม นพพร เดินสายอยู่ 5–6 ปี ก็ยุบวง ชีวิตการเดินสายวงดนตรีเขาไปมาทุกจังหวัดทั่วประเทศ ขาดแต่เพียงจังหวัดแม่ฮ่องสอนเท่านั้น 

หลังจากพอมีประสบการณ์เกี่ยวกับวงการภาพยนตร์ พนม จึงลงทุนสร้างภาพยนตร์แนวบู๊เรื่องแรก ชื่อ ‘คมนักเลง’ นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี กับ อรัญญา นามวงศ์ เรื่องต่อมา คือ ‘คุณพ่อขอโทษ’ ไพโรจน์ สังวริบุตร - ลลนา สุลาวัลย์ นำแสดง และ เรื่อง ‘จับกัง’ ที่มี สรพงษ์ ชาตรี นำแสดง ซึ่งเรื่องนี้ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และรางวัล หลังจากนั้นมีตามมาอีกจำนวนหนึ่ง

หลังจากนั้น เริ่มหันมาทำโทรทัศน์ โดยการเปิดบริษัท นพพร โปรโมชั่น เพื่อซื้อรายการเปิดเพลงของค่ายต่าง ๆ และต่อมาก็เปิดค่ายเพลง ชื่อ เอ ไอเดีย และนพพร ซิลเวอร์โกลด์ ตามมา มีนักร้องอยู่ในสังกัดมากมาย เช่น  แมงปอ ชลธิชา อัศวิน สีทอง ชล อภิชาต (บุตรชาย ลักษณ์ อภิชาติ) อร อรดี สาลี่ ขนิษฐา จ๊อบ&จอย พรพรรณ วณา ฯลฯ และยังได้ผลิตละครโทรทัศน์หลายเรื่องทางช่อง 7 อาทิ แม่ศรีไพร เสน่ห์บางกอก โทน บ้านไร่สายสมร ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่มีเพลงลูกทุ่งที่ไพเราะประกอบในทุกเรื่อง โดยมีลูกชายดูแลแทนพนม ในช่วงที่ป่ว

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ผลิตรายการประกวดร้องเพลง ‘ชุมทางเสียงทอง’ ออกอากาศมายาวนานหลายสิบปีทางช่อง 7 สี ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ‘ชุมทางดาวทอง’ บริหารงานโดย บริภัณฑ์ ชัยภูมิ ซึ่งเป็นคนทำงานใกล้ชิดกับพนม นพพร

ภาพจำที่งดงามช่วงหนึ่งในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1 พนม นพพร ได้ขับร้องเพลง ‘ลาสาวแม่กลอง’ ‘ฮักสาวขอนแก่น’ อย่างน่าประทับใจ และ กร ทัพพะรังสี ร้องเพลง ‘สาวทุ่งในกรุงเทพ’ ที่พนม ร้องไว้เป็นต้นฉบับ และในการจัดครั้งที่ 2 พนม นพพร ก็เป็นคณะอนุกรรมการในการจัดงานด้วย

พนม นพพร เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเพลงลูกทุ่งแห่งประเทศไทยหลายสมัย ก่อนจะลาออกเนื่องจากล้มป่วยเส้นเลือดในสมองแตก รักษาอาการหลายปี กระทั่งจากไปอย่างสงบ โดยมีบุตรชายผู้เป็นนายแพทย์ดูแลบิดาจนวาระสุดท้าย

พนม นพพร ถือเป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งอีกคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในแวดวงธุรกิจบันเทิงทุกแขนง และสิ่งที่เขาไม่เคยละทิ้ง คือการนำเพลงลูกทุ่งที่เขารักไปผสมผสานในทุกงานได้อย่างลงตัว สวยงาม และมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เพลงลูกทุ่งแท้ ๆ ไม่สูญหายไป

 

เรื่อง: เคน สองแคว

ภาพ: กรุงเทพธุรกิจ