‘ชลธี ธารทอง’ คนกล่อมโลก ยอดนักแต่งเพลงผู้สู้ชีวิต สู่ ‘เทวดาเพลง’ บนสรวงสวรรค์

‘ชลธี ธารทอง’ คนกล่อมโลก ยอดนักแต่งเพลงผู้สู้ชีวิต สู่ ‘เทวดาเพลง’ บนสรวงสวรรค์

‘ชลธี ธารทอง’ ยอดนักแต่งเพลงที่สู้ชีวิต กราฟชีวิตขึ้นลง ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นคนที่ต่อสู้กับขวากหนามตั้งแต่วัยเด็ก กระทั่งพบเส้นทางนักแต่งเพลง เขียนเพลงดัง ปั้นนักร้องมากมาย เป็นศิลปินแห่งชาติ และยังได้รับฉายา ‘เทวดาเพลง’

  • ชลธี ธารทอง นักแต่งเพลง และศิลปินแห่งชาติที่เขียนเพลงดัง ปั้นนักร้องในวงการมามากมาย ทำให้ได้รับฉายา ‘เทวดาเพลง’ จากสื่อ
  • ชีวิตของครูชลธี ธารทอง มีกราฟขึ้นลง พลิกผันเปลี่ยนแปรหลายครั้ง

นอกจากบรมครู ไพบูลย์ บุตรขัน ที่เป็นสุดยอดนักประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่งที่ได้รับความนิยมมากแล้ว ในวงการเพลงลูกทุ่งต่างยกย่องว่า ไม่มีนักแต่งเพลงคนใดที่มีเพลงฮิตติดหูเป็นอมตะเท่าครูชลธี ธารทอง ซึ่งถือว่าเป็นศิษย์อีกหนึ่งคนของครูไพบูลย์

ครูชลธี ศิลปินแห่งชาติ ได้รับฉายาว่า เทวดาเพลง แต่งเพลงดังที่มีนักร้องยอดนิยมนำไปขับร้องมากที่สุดของยุคนี้ และมีการร้องประกวดทุกเวทีบอกที่สุด และยังมีนักร้องรุ่นใหม่นำมาบันทึกเสียงซ้ำมากมายจนถึงยุคปัจจุบัน พูดได้เต็มปากว่า คนไทยทุกคนต้องเคยได้ยินและรู้จักเพลงที่ครูชลธีแต่งอย่างน้อยที่สุดสักหนึ่งเพลง ซึ่งหลายเพลงนั้นกลั่นมาจากชีวิตเลือดเนื้อและหัวใจของครูเอง

ครูชลธี ธารทอง มีชื่อจริงว่า สมนึก ทองมา เกิด พ.ศ. 2480 พนัสนิคม ชลบุรี เป็นลูกโทน ชีวิตเริ่มจากติดลบ เพราะกำพร้าแม่ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ลำบากยากจนมากขนาดที่ไม่มีกางเกงนุ่งไปโรงเรียน 

ตอนเด็กครูชลอาศัยอยู่บ้านยายและลุงป้า เพราะพ่อแยกไปมีครอบครัวใหม่ หลังจากนั้นพ่อก็กลับมารับตัวไปอยู่ด้วย เมื่อไปอยู่กับพ่อซึ่งบวชเป็นพระ ครูชลได้มีโอกาสจนเรียนจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนประชาสงเคราะห์ อ.พานทอง จ.ชลบุรี ซึ่งต้องเดินทางไปกลับบ้านโรงเรียนวันละเกือบ 25 กิโลเมตร ยากจนขนาดไม่มีปิ่นโตใส่ข้าวไปกินที่โรงเรียนต้องอาศัยจากเพื่อนและครู

เมื่อเรียนจบก็จับพลัดจับผลู กลายเป็นพระเอกลิเกอยู่หลายคณะและกลับไปอยู่บ้านป้าอาอีกครั้ง รับจ้างตัดอ้อย พออายุถึงเกณฑ์ทหาร อยากเป็นทหารแต่ก็จับได้ใบดำ ช่วงนั้นพ่อเสียชีวิต จึงบวชให้พ่อ 1 พรรษา สึกมาแล้วถูกคำพูดเสียดสีจากญาติ ๆ หมิ่นน้ำใจว่า ไปอาศัยเขากินเปรียบเหมือนหมา ทำให้ต้องเก็บเสื้อผ้าออกจากบ้านโดยไม่ร่ำลาใครเลย

ด้วยการที่ครูชลธี สนใจการร้องเพลงลูกทุ่งมาตั้งแต่เล็ก พอออกจากบ้านมาเห็นคณะรำวง ชื่อ ‘ดาวทอง’ จึงเข้าไปสมัคร ด้วยการร้องเพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ ของทูล ทองใจ ถูกใจจนรับเข้าคณะกายเป็นนักร้องเชียร์รำวงไปในทันที 

ในงานประจำปี จ.ชลบุรี รำวงดาวทอง ครูชัยชนะ บุญนะโชติ ไปร้องเพลงรับเชิญในรำวงคณะนี้ ได้เห็นหน่วยก้านครูชลจึงได้ชักชวนให้ไปอยู่วงดนตรี เทียนชัย สมญาประเสิริฐ ด้วยกัน ครูชลจึงลาออกจากรำวงดาวทอง เข้ามาสมัครอยู่กับวงเทียนชัย  ซึ่งที่นี่ทำให้เขาได้พบกับ พนม นพพร ซึ่งมาเป็นนักร้องอยู่ก่อนแล้ว และพนม นพพร ที่เคยอยู่รำวงดาราน้อย ซึ่งเป็นคู่แข่งกับวงดาวทอง

ช่วงแรก ๆ นักร้องทุกคนต้องเป็นหางเครื่องด้วย ก่อนที่จะเป็นนักร้องและบันทึกแผ่นเสียง ในช่วงนี้ครูชัยชนะ ตั้งชื่อให้ครูชลในการเป็นนักร้องว่า ‘โพธิ์ ไพรงาม’ (ขณะที่ พนม นพพร ได้ชื่อในวงว่า ‘พนาวัลย์ ลูกเมืองชล’) แต่อยู่กับวงได้ไม่นาน เมื่อลาออกจากวง เกิดอุบัติเหตุรถวงดนตรีพลิกคว่ำ ครูชลถูกกล่าวหาว่า ขโมยสร้อยทอง 1 บาทของนักร้องคนหนึ่งไปในขณะรถคว่ำ จึงลาออกจากวงและบอกพนม นพพร ในฐานะเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวว่า กลับไปอยู่ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรีกับญาติ ช่วยน้าทำนา เกี่ยวข้าว ตัดฟืน เผาถ่าน อยู่ราว 5 ปี

หลังจากนั้น ชะตาชีวิตก็ทำให้ต้องกลับมาสู่วงการอีกครั้ง เมื่อวงดนตรี รวมดาวกระจาย ของครูสำเนียง ม่วงทอง ได้มาเปิดทำการแสดงที่ราชบุรี ครูชลต้องขอญาติเอาถั่วลิสงไปขาย 2 ถัง ได้เงินมาขึ้นรถไปตัวเมืองราชบุรี เพื่อไปสมัครประกวดร้องเพลงที่จัดโดยวงรวมดาวกระจาย แต่เขาปิดรับสมัครแล้ว คนเต็ม ครูชลไปอ้อนจนได้เข้าประกวดเป็นลำดับสุดท้าย แต่ได้รางวัลชนะเลิศฝ่ายชาย ขากลับเมื่อวงดนตรีเลิก ครูชลเดินกลับบ้านน้า 30 กิโลเมตรด้วยอาการดีอกดีใจ

หลังจากรอวิทยุประกาศให้มารายงานตัวที่กรุงเทพฯ ครูชลร่ำลาญาติ เข้ากรุงเทพฯ มาที่วงรวมดาวกระจาย และได้ออกเดินสายครั้งแรกไปที่โคราช รถบัสพาไปที่ปากช่อง จุดแรกของการแสดง หน้าที่ของครูคือ แบกของลงจากรถ แบกกลอง อุปกรณ์การแสดง เป็นยามเฝ้าประตูทางเข้าเวที ไม่ได้ร้องเพลงสักที ครูชลเคยเป็นนักมวยสมัยอยู่ในโรงเรียน จึงได้ใช้วิชามวยต่อยกับนักเลงที่เบ่งเข้าดูฟรีที่นั่น จนเป็นเรื่องราวใหญ่โต

ที่วงรวมดาวกระจาย ครูชลได้พบกับไพรวัลย์ ลูกเพชร ซึ่งกลายเป็นเพื่อนรักกันในเวลาต่อมา เพราะครูชลเคยไปสมัครเป็นนักร้องในวงดนตรีของสุรพล สมบัติเจริญ แต่อยู่ได้เพียง 3 วัน ก่อนจะถูกไล่ออกจากวงเพราะมาสายเนื่องจากการเดินทางจากบ้านมาวงนั้นไกลมาก (ไพรวัลย์ กับ ครูชล มีชื่อจริงที่เหมือนกัน คือ สมนึก นิลเขียว กับ สมนึก ทองมา)

หลังไพรวัลย์ ออกจากวรวมดาวกระจาย แต่ก็ได้เจอกันเสมอ ครูชลแต่งเพลง ‘ไอ้หนุ่มตังเก’ ให้ไพรวัลย์ร้อง จนได้รางวัลเสาอากาศทองคำ จากสถานีวิทยุเสียงสามยอด

จุดเริ่มต้นการแต่งเพลงของครูชลธี คือหลังจากครูสำเนียง ม่วงทอง ตั้งชื่อให้ว่า ชลธี ธารทอง และได้อัดแผ่นเสียงรวม 4 เพลง แต่ไม่ดังสักที จึงหันไปเรียนแต่งเพลงจากครูสำเนียง โดยแรงบันดาลใจมาจากการหลงรักสาวร่วมคณะ แต่อกหัก เพลง ‘พอหรือยัง’ จึงเกิดขึ้น ศรคีรี ศรีประจวบ นำไปร้องจนโด่งดังประสบความสำเร็จ

“พอทีนะคุณ การุณผู้ชายเถิดหนา

อย่าคิดเอาความโสภา พร่าหัวใจผู้ชาย

คุณสวยคุณเด่น ใครเห็นเป็นต้องงมงาย

อดรักคุณนั้นไม่ได้ ยอมตายแทบเบื้องบาทคุณ...”

ครูชลธีถูกไล่ออกจากวงรวมดาวกระจาย ด้วยมีข่าวลือว่า ดังแล้วจะแยกวง ซึ่งคนที่ถูกร่างแหออกมาด้วย คือ ประยงค์ ชื่นเย็น (ศิลปินแห่งชาติ) แดน บุรีรัมย์ ประสพโชค มีลาภ รุ่งระวี หนองแค และรุ่งโรจน์ พัทลุง

จากนั้นครูชลได้นายทุนออกเงินตั้งวงให้ ชื่อวง ‘สุรพัฒน์’ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จจึงเลิกรากันไป ครูชลตั้งวงดนตรีเองอีก ชื่อวงชลธี ธารทอง อยู่ได้ 2 ปีก็เลิก เพราะนักร้องนำมีเพลงน้อยและเพลงไม่ได้รับความนิยม ชีวิตเริ่มลำบากอีกครั้ง เพลงที่เริ่มหัดแต่งก็ขายไม่ได้เพราะคนไม่รู้จักชื่อเสียง เดินขายเพลงจนร้องเท้าขาดไปหลายคู่ ค้างค่าเช่าบ้านหลายเดือน ชีวิตที่ลำบากในช่วงนั้น กลายเป็นวัตถุดิบนำมาแต่งเพลงได้หลากหลายเพลงทีเดียว (อาทิ เพลง ความจนเรื้อรัง - สุนารี ราชสีมา, จดหมายจากแม่ - เสรี รุ่งสว่าง ที่มีท่อน “...ทนแบกกลอง เพราะบัญชาหัวหน้าวง”)

ช่วงที่ยังไม่มีเพลงดังมากมาย เมื่อครูไปเสนอขายเพลง นายห้างค่ายเพลงบางคนถึงกับให้ลูกน้องบอกว่า ไม่อยู่ แต่ความจริงหลบหนีออกหลังบริษัท สร้างความขมขื่นใจให้กับครูเป็นอย่างมาก

ครูชล พาครอบครัวกลับไปช่วยพ่อตาแม่ยายที่มีฐานะดีทำไร่ข้าวโพดที่แก่งเสือเต้น สระบุรี ในขณะที่เพลง ‘ลูกสาวผู้การ’ กับ ‘แหม่มปลาร้า’ ที่สายัณห์ สัญญา ขับร้อง เริ่มโด่งดัง ได้ยินทุกสถานีวิทยุ ครูชล มีความอึดอัดใจกับแม่ยายอยู่แล้ว จึงกลับเข้ากรุงเทพฯ มายึดอาชีพนักแต่งเพลง ตามที่มนต์ เมืองเหนือ นักปั้นมือทองได้เคยชักชวนไว้

ลูกศิษย์คนต่อมาของครูชล คือ เสกศักดิ์ ภู่กันทอง​ โด่งดังจากเพลง ‘ทหารอากาศขาดรัก’ กับ ‘ขันหมากเศรษฐี’ ส่งผลให้ชื่อเสียงครูในฐานะนักแต่งเพลงเริ่มหอมกระจาย ค่ายเพลงเริ่มรุมเร้าขอให้แต่งเพลง จนกระทั่งต้องเช่าโรงแรมแถวรางน้ำวันละ 300 บาท เพื่ออาศัยยึดการแต่งเพลงเป็นอาชีพ เงินทองไหลมาเทมา ชื่อเสียงเริ่มโด่งดัง ถนนทุกสายมุ่งสู่ครูชล แต่งเพลงอะไรก็โด่งดัง จนกระทั่ง ยิ่งยง สะเด็ดยาด คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ถึงกับตั้งฉายาให้ว่า ‘เทวดาเพลง’

งานแต่งเพลงหลั่งไหลมาจนแต่งไม่ทัน มีเพลงดังออกอากาศเพลงแล้วเพลงเล่า ทำงานจนไม่ได้หลับนอน เพราะค่ายเพลงมาจ่อรอคิวขอเพลง จนต้องไปหาหมอ ซึ่งหมอแนะนำให้พักผ่อนบ้าง นอนหลับให้เต็มที่

ครูชล มักจะพูดกับคนไปซื้อเพลงเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่า ถ้าเพลงนี้ไม่ดัง จะหักปากกาทิ้ง และหลายเพลงก็ดังสมใจ

ชีวิตครูก็กลับมาลำบากอีกครั้ง เมื่อปั้นนักร้องชื่อ สุริยัน ส่องแสง (คนร้องเพลง ‘วันนี้สวยกว่าเมื่อวาน’) จนโด่งดังและตั้งวงดนตรีให้ โดยเอาบ้าน-ที่ดินเข้าธนาคาร และกู้เงินจากแหล่งอื่น ๆ แต่ปรากฏว่า นักร้องนำถูกยิงตายเสียก่อน ทุกอย่างก็จบลง ครูกลับมามีหนี้สิน

แต่ด้วยการที่ครูก็มีเพลงดังป้อนให้วงการตลอดเวลาสม่ำเสมอ ชีวิตจึงกลับมายืนขึ้นอย่างสง่างามอีกหลายครั้ง ทั้งเพลงของสายัณห์ สัญญา (ล้นเกล้าเผ่าไทย นักเพลงคนจน น้ำตาอีสาน ลูกสาวผู้การ กินอะไรถึงสวย จำปาลืมต้น ไอ้หนุ่มรถไถ วานนี้รักวันนี้ลืม ปิดห้องร้องไห้ นางฟ้ายังอาย พบรักปากน้ำโพ แหม่มปลาร้า), ผ่องศรี วรนุช (กินข้าวกับน้ำพริก และเพลงแก้สสายัณห์ อีกหลายเพลง), ยอดรัก สลักใจ (จดหมายจากแนวหน้า ล่องเรือหารัก), ไพรวัลย์ ลูกเพชร (ไอ้หนุ่มตังเก), เสรี รุ่งสว่าง (จดหมายจากแม่ หนุ่มทุ่งกระโจมทอง คนกล่อมโลก เรียกพี่ได้ไหม ปิ๊กบ้านเฮาเต๊อะ), พุ่มพวง ดวงจันทร์ (สาวเพชรบุรี จดหมายจากบ้านนอก), สุนารี ราชสีมา (ลาโคราช มือถือไมค์ไฟส่องหน้า ชายในอุดมคติ แฟนฉันไม่ต้องหล่อ น้ำตาน้องเพ็ญ เรารอเขาลืม), บุษบา อิษฐาน (โอ้โหบางกอก), อ้อยทิพย์ ปัญญาธร (อีสาวทรานซิสเตอร์) ไอ้หนุ่ม ต.ช.ด. แอบฝัน (เอกพจน์ วงศ์นาค) ฯลฯ และหลายเพลงนักร้องรุ่นใหม่นำมาขับร้องกันใหม่หลายต้นฉบับ รวมไปถึงนำมาประกวดร้องเพลงกันเกือบทุกเวทีต้องมีเพลงครูชลธี

วันหนึ่งในปี 2542 ระหว่างเดินทางกลับบ้านหลังสุดท้ายที่ท่าม่วง กาญจนบุรี ครูชลได้รับโทรศัพท์จากครูไวพจน์ เพชรสุพรรณ ว่า ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงลูกทุ่ง-ประพันธ์) ครูชลธี ถึงกับตกใจขับรถขึ้นเกยฟุตบาท

หลังจากนั้น ชีวิตของครูก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในบทบาทและหน้าที่ต่าง ๆ เป็นที่ยอมรับในเชิงวิชาการ มีการจัดงานใหญ่ชื่อ คอนเสิร์ต 78 ปี ตำนานแห่งสายน้ำ นายสมนึก ทองมา (ชลธี ธารทอง) ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีนักร้องหลายรุ่นร่วมขับร้องบนเวทีมากมายกว่า 40 ชีวิต

ครูชล ใช้ชีวิตบั้นปลายกับหญิงสาวอันเป็นที่รัก ‘ผู้หญิงคนสุดท้าย’ (เพลงที่ครูแต่งให้ดำรง วงศ์ทอง) ซึ่งหมายถึง ครูปุ้ม ศศิวิมล ทองมา ที่ดูแลครูจนวาระสุดท้าย

ชีวิตครูชล เหมือนสวรรค์ทดสอบชีวิตให้มีความแกร่ง กราฟชีวิตมีขึ้นลง สลับกันตลอดเวลา ทั้งปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ที่ฟ้องร้องกันยาวนาน ปัญหาส่วนตัวที่เป็นข่าวครึกโครม แม้แต่ในยามที่ป่วยติดเตียงก็มีเรื่องของลิขสิทธิ์เพลงซ้ำซ้อนที่ยังรอการพิสูจน์

บทเพลงสุดท้ายที่ภรรยาครูมอบให้นักร้องใหม่มาบันทึกเสียงคนล่าสุด คือเพลง ‘สาวนาหาคู่’ ขับร้องโดย ใบเฟิร์น สุทธิยา (ไมค์ทองคำ)

ย้อนไปในช่วงชีวิตที่ครูอยู่วงดนตรีเทียนชัย สมญาประเสิรฐ นั้น ครูชลธี กับพนม นพพร ที่มาจากเมืองชลบุรีเหมือนกัน มีความสนิทสนมกันและมีความสุขมาก แม้จะต่างวัยแต่ก็เรียกไอ้ มึงกูกันอย่างชาวทุ่ง ก่อนหน้าที่ครูชลจะพักผ่อนชั่วนิรันดร์เพียง 9 วัน พนม นพพร เพื่อนรักด่วนจากไปเสียก่อน ครูปุ้ม ภรรยาได้ไปกระซิบบอกข้างหูครูชลธีว่า โอ พนม ได้จากไปแล้ว

อ่านเรื่อง พนม นพพร เจ้าของเสียงหวานเพลง ‘ลาสาวแม่กลอง’ ผู้ผลิตรายการ ‘ชุมทางเสียงทอง’ 

บนสวรรค์ตอนนี้ ครูชล ได้ไปเจอกับโอ พนม เพื่อนนักร้องนักมวยคนสนิท และนักร้องลูกศิษย์อีกหลายคนที่เดินทางไปก่อนหน้านี้แล้ว ครูชลธี ทิ้งผลงานเพลงไว้กล่อมโลกและสวรรค์ไปตลอดกาลดั่งเพลง ‘คนกล่อมโลก’ ที่ครูแต่งไว้

“กล่อมโลกเดียวดายให้หายวังเวง ชโลมเสียงเพลงไปบนโลกกลอน

เพลงเอ๋ยจงแทรกซ้อน สู่พฤกษ์พงดงดอนกล่อมสิงขรทั่วขุนเขา

แหวกม่านเมฆาสู่ฟ้าอำไพร เทวะองค์ใดทุกข์ใจเงียบเหงา เพลงนี้ช่วยบรรเทา

ให้ทุกท่านบางเบาอยู่เฝ้าวิมานฉิมพลี….”

 

เรื่อง: เคน สองแคว

ภาพ: แฟ้มภาพจาก NATION PHOTO

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก บุญเลิศ ช้างใหญ่