‘Here Comes The Sun’ เพลงอมตะแห่งยุคสมัยของ The Beatles ที่ตั้งต้นมาจากความขี้เกียจ

‘Here Comes The Sun’ เพลงอมตะแห่งยุคสมัยของ The Beatles ที่ตั้งต้นมาจากความขี้เกียจ

เบื้องหลังและความเป็นมาของเพลง ‘Here Comes The Sun’ เพลง ‘ยอดนิยม’ แห่งยุคสมัยของ The Beatles ซึ่งเริ่มต้นจากความขี้เกียจเข้าประชุมของจอร์จ แฮร์ริสัน

  • เพลง ‘Here Comes The Sun’ ในอัลบั้ม Abbey Road ของ The Beatles มาจากการเขียนของจอร์จ แฮร์ริสัน 
  • จอร์จ แฮร์ริสัน เขียนเพลงนี้ในช่วงที่โดดประชุม ก่อนกลายมาเป็นเพลงฮิตทะลุพันล้านสตรีมมาจนถึงยุคปัจจุบัน

สายวันหนึ่งของเดือนเมษายน 1969 มันเลยเวลาประชุมที่ Apple office มาแล้วสักพัก แต่ยังไม่ปรากฏร่างของจอร์จ แฮริสัน (George Harrison) อาจจะไม่มีใครสนใจการขาดหายไปของเขาเท่าไหร่ และดำเนินการประชุมไปตามปกติ หรืออาจจะมีใครบางคนโทรศัพท์ไปตามเขาที่ ‘Kinfauns’ ที่พำนักของจอร์จที่ Esher, Surrey และอาจได้รับคำตอบว่าจอร์จออกจากบ้านไปนานแล้ว

ไม่มีใครคิดจะโทรเข้ามือถือของจอร์จ เพราะยังไม่มีใครในโลกมีโทรศัพท์ติดตามตัวในปี 1969 การปลีกวิเวกในยุค 60's ช่างทำได้ง่ายดาย

เช้าวันนั้น, ด้วยความเบื่อหน่ายในการประชุมธุรกิจที่ Apple เต็มทน จอร์จ ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางการเดินทาง แทนที่จะออกจากบ้านไปทางตะวันออกเฉียงเหนือไปที่สำนักงาน Apple อย่างที่เขาควรจะทำ เต่าทองผู้เงียบขรึมกลับมุ่งลงใต้ ขับรถไปอีกประมาณ 20 ไมล์ (ใช้เวลา 30 นาที) เป้าหมายคือบ้าน Hurtwood Edge ของมิตรสหายสุดรักเจ้าของฉายา ‘พระเจ้า’ เอริก แคลปตัน (Eric Clapton) ที่ Ewhurst, Surrey

ใช่แล้ว จอร์จ โดดประชุมวันนั้นเอาดื้อ ๆ โดยไม่มีจุดประสงค์อะไรนอกจากจะไปพักผ่อนหย่อนใจที่บ้านเพื่อน แน่นอนว่าเขาคงไม่ได้วางแผนว่าจะโดดงานไปเพื่อประพันธ์เพลงที่ต่อมาจะเป็นเพลงที่โด่งดังที่สุดเพลงหนึ่งของ The Beatles

ที่บ้านของแคลปตัน สองศิลปินหนุ่มชื่อก้องโลกหยิบกีตาร์โปร่งคนละตัว เดินเล่นเข้าไปในสวน ด้วยบรรยากาศที่สดใสแห่งฤดูใบไม้ผลิ ความหนาวเหน็บและมืดครึ้มของฤดูหนาวกำลังจะหายไป และความผ่อนคลายจากการที่ไม่ต้องไปเข้าประชุมอันแสนเซ็ง ปัจจัยทั้งหมดนี้ได้จุดประกายให้จอร์จ แฮริสัน เริ่มแต่งเพลง ‘Here Comes The Sun’ ณ สวนแห่งนั้น โดยมีแคลปตัน เป็นประจักษ์พยานหนึ่งเดียว

จอร์จ, ผู้ไม่ได้จับกีต้าร์มาสองสัปดาห์เต็ม ๆ, คาดคาโปบนเฟร็ตที่ 7 ของกีตาร์โปร่งของแคลปตันเริ่มต้นด้วยคอร์ด D major เขาแต่งเพลงนี้ในลีลาของเพลง ‘If I Needed Someone’ ผลงานของเขาเอง (อยู่ในอัลบั้ม Rubber Soul ของ The Beatles ในปี 1965) มันยังมีริฟฟ์กีตาร์ละม้ายเพลงของ The Byrds ชื่อ ‘Bells of Rhymney’ และบางท่อนก็ไปคล้ายกับเพลง ‘Badge’ ของ Cream ที่จอร์จ แต่งให้วงในปี 1968

ทั้งหมดนี้ห่อหุ้มด้วยรสชาติทางดนตรีในแนวทางการประพันธ์ของบัดดี้ ฮอลลี่ (Buddy Holly) สุดยอดศิลปินที่จากไปก่อนวัยอันควรผู้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อ The Beatles ซึ่งจอห์น เลนนอน เป็นคนชี้ให้เห็นถึงสุ้มเสียงของบัดดี้ ในเพลงนี้

มันยังเป็นเพลงที่มีจังหวะแปลก ๆ ในแบบอินเดีย, ดนตรีที่จอร์จชื่นชอบ ธานี แฮริสัน (Dhani Harrison) ลูกชายคนเดียวของจอร์จ เคยชี้ให้เห็นว่าริธึ่มของเพลงนี้คือ 123/123/123/123/12/1 ซึ่งเกือบจะเหมือนลักษณะของ ‘Tihai’ (เทคนิคโพลีริธึมมิกของดนตรีอินเดียดั้งเดิม) นิยมใช้ในท่อนจบเพลง กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวแบบไม่น่าจะเข้ากันได้ เพลงอารมณ์สดใสเต็มไปด้วยความหวังสุกสกาวกับจังหวะที่ขัด-ยก ซับซ้อนแบบนั้น

จากเนื้อเพลงฉบับร่างที่จอร์จ เขียนด้วยลายมือที่เขาเองเก็บรักษาไว้และนำมาโชว์ในอัตชีวประวัติ I ME MINE มีจุดน่าสนใจคือ

จอร์จประหยัดหมึก ด้วยการใช้คำย่อ อย่าง H.C.T.S. (here comes the sun) และ L.D. (little darling)

  1. เนื้อเพลงท่อนเวิร์ส 2 และ 3 สลับกับของ final version
  2. กลางเพลง จอร์จ เขียนไว้ว่า ‘son of Badge’
  3. ต้นเพลง จอร์จ เขียน ‘here comes the sun (scoobie doobie)’ (ถ้าร้องแบบนี้จริง มีฮา!)

จอร์จ หอบเพลงนี้ไปแต่งต่อจนเสร็จสมบูรณ์ระหว่างไปพักผ่อนที่ Sardinia กับภรรยา Pattie (1-23 มิ.ย. 1969) ก่อนที่เขาจะนำ ‘Here Comes The Sun’ มานำเสนอต่อเพื่อนสมาชิก The Beatles ว่า มันจะมีคุณค่าเพียงพอต่อการนำมาบันทึกเสียงในนามวงหรือไม่

อ่านเพิ่มเติมเรื่องของ Pattie “เพื่อน! กูรักเมียมึง” รักสามเส้าสนั่นโลก สู่เพลงอมตะ ‘Wonderful Tonight’ ของเอริค แคลปตัน

ที่ผ่านมา มีงานของจอร์จ ถูกปฏิเสธไม่น้อย แต่ละอัลบั้ม เขาจะได้โควต้าประมาณ 1-2 เพลงเท่านั้น ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจ ในเมื่อเขาต้องอยู่ในร่มเงาของจอห์น เลนนอน - พอล แมคคาร์ตนีย์ หลายเพลงที่ถูกปฏิเสธก็ถูกเก็บลืมไป ขณะที่อีกหลายเพลงถูกแปรรูปไปอยู่ในงานเดี่ยวของจอร์จ ในเวลาต่อมา

แต่ ‘Here Comes The Sun’ คือข้อเสนอที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ พวกเขาเริ่มบันทึกเสียงเพลงนี้กันที่ EMI Studios ในวันที่ 7 กรกฎาคม 1969 วันเกิดครบรอบ 29 ปีของมือกลอง ริงโก้ สตาร์

มันเป็นเพลงสุดท้ายที่จอร์จ แฮริสันนำเสนอต่อ The Beatles

7 ก.ค. 1969 The Beatles เข้าสตูดิโอเพื่อบันทึกเสียงอัลบั้มชุด Abbey Road มาได้เป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้ว และนี่เป็นวันแรกที่พวกเขาเริ่มเล่น ‘Here Comes The Sun’ เวลาบ่ายสองครึ่ง จอร์จ แฮริสัน, พอล แมคคาร์ตนีย์ และ ริงโก้ สตาร์ เดินทางเข้าสตูดิโอหมายเลข 2 ของ EMI โดยปราศจากจอห์น เลนนอน ที่กำลังพักฟื้นหลังจากประสบอุบัติเหตุที่สกอตแลนด์

จอห์น จะไม่ได้ร่วมเล่นอะไรเลยตลอดการบันทึกเสียงเพลงนี้ ถ้าจะบอกว่านี่คือผลงานของ ‘The Threetles’ (ชื่อเล่นที่แฟนเพลงใช้เรียกพอล, จอร์จ และ ริงโก้ ในการทำงานในโปรเจกต์ The Beatles Anthology ในทศวรรษ 90s) ก็ย่อมได้

จอร์จ ต้องบรรยายอย่างละเอียดให้พอล และริงโก้ ฟังถึงโครงสร้างของเพลงนี้ ริงโก้ ถึงกับอึ้ง เมื่อได้ฟังจอร์จ เล่าถึงจังหวะพิลึก ๆ ที่เขาต้องตี แม้เขาจะไม่เข้าใจภาษาดนตรีที่จอร์จ บอกดีนัก แต่มือกลองที่เล่นด้วยใจอย่างริงโก้ ก็มีวิธีของเขาในการรับมืองานนี้

วันนั้นพวกเขาเล่นกันไป 13 เทค บันทึกเสียงกันด้วยเทป 8 แทร็ค

แทร็ค 1 : เบส (Rickenbacker) (พอล)

แทร็ค 2 : กลอง (Ludwig) (ริงโก้)

แทร็ค 3 : กีตาร์โปร่ง (Gibson J-200) (จอร์จ)

แทร็ค 8 : ร้องไกด์ (จอร์จ)

ท่านอาจฟังเทคที่ 9 จากการบันทึกเสียงในวันนี้ได้ใน Abbey Road ฉบับครบรอบ 50 ปี ซึ่งจะเห็นว่าริงโก้ยังมึน ๆ กับจังหวะของเพลงอยู่ และจอร์จ ก็พยายามขยายท่อนนั้นให้ยาวขึ้นเป็นพิเศษ จนริงโก้ ตีได้เข้าที่เข้าทาง 

เทคที่ 13 ถูกเลือกว่าเป็นเทคที่ดีที่สุด จอร์จเพิ่มเติมเสียงอคูสติกกีต้าร์ลงในแทร็ค 4 พวกเขาเลิกงานกันก่อนเที่ยงคืน 15 นาที

วันรุ่งขึ้น (8.7.69) สามหนุ่มเข้าประจำการที่ห้องอัดเดิมและเวลาเดิม ริงโก้ เพิ่มลูกส่งกลองลงไปในแทร็ค 5 พร้อม ๆ ไปกับจอร์จ เล่นกีต้าร์ไฟฟ้าผ่านลำโพงเลสลีย์, จอร์จ ใส่เสียงร้องนำของเขาครั้งใหม่ลงในแทร็ค 6 และร้องประสานร่วมกับพอล ลงไปในแทร็ค 7 ก่อนที่จะดับเบิลแทร็คเสียงประสานนั้นลงในแทร็คที่ 8 ซึ่งจะไปลบเสียงร้องไกด์ของจอร์จ ในวันก่อน

ณ จุดนี้จะพบว่าทุกแทร็คของเทป 8 แทร็คได้รับการบันทึกเสียงเต็มหมดแล้ว แต่พวกเขายังไม่หยุดแค่นี้ จึงจำเป็นต้องมีการรวบรวมเป็นมิกซ์ใหม่ (reduction mix) ลงเทปม้วนใหม่ โดยเรียกว่าเทค 15 (ณ จุดนี้ถือว่ามันเป็น ‘มาสเตอร์’)  จอร์จ มาร์ติน และทีมงานจัดทำโมโนมิกซ์ใส่แผ่น acetate ให้จอร์จ แฮริสัน เอาไปฟังที่บ้าน งานเลิกเวลาห้าทุ่มสิบห้านาที

16 ก.ค. 1969 จอร์จ คิดว่าต้องเพิ่มเติมเครื่องปรุงอะไรบางอย่างลงไปในเพลง ซึ่งเครื่องปรุงนั้นคือ เสียงปรบมือ จากพอล, ริงโก้ และกลีน จอห์นส์ (Glynn Johns โปรดิวเซอร์จากโปรเจกต์ ‘Get Back’) ลงไปในแทร็ค 8 ของ ‘มาสเตอร์’ (เทค 15) การปรบมือในเพลงนี้มีความซับซ้อนพอสมควร สร้างความลำบากให้กลีน จอห์นส์ อย่างหนักจนต้องขอถอนตัว จอร์จ เพิ่มเสียง harmonium ลงไปในแทร็ค 5 เป็น ‘เครื่องปรุง’ อีกอย่าง

การบันทึกเสียงหลังจากนี้ไปก็เหมือนเพลงอื่น ๆ ใน Abbey Road album คือเมื่อสมาชิกช่วยกันทำ basic track เสร็จแล้วก็เป็นหน้าที่ของเจ้าของเพลง (คนแต่ง) ที่จะค่อย ๆ เติมสีสันต่าง ๆ ลงไปให้บทเพลง โดยสมาชิกคนอื่นแทบไม่มายุ่งเกี่ยว

4 สิงหาคม 1969 มีการทำ stereo mix ให้จอร์จ แฮริสัน กลับไปฟัง และสองวันต่อมา จอร์จ คิดว่าเพลงนี้ควรมีการเพิ่มกีตาร์ไฟฟ้าเข้าไปอีก เขาใช้ Rosewood Fender Telecaster ผ่านลำโพง B3 อัดลงไปในแทร็ค 6 ซึ่งรวมไปถึงกีตาร์โซโลในท่อนบริดจ์ของเพลงด้วย จอร์จ ยังเพิ่มเสียงกีตาร์โซโลเข้าไปในแทร็ค 7 อีกในวันต่อมา

แต่แล้วเขาก็บอกตัวเองว่า เสียงกีตาร์โซโลนั้นเป็นสิ่งไม่จำเป็นในเพลงนี้ จอร์จ เขียนโน้ตไว้ที่กล่องเทปว่า ‘อย่าใช้เสียงกีต้าร์โซโลจากแทร็ค 6+7’ แต่เขาก็ไม่ได้ลบมันทิ้ง คงปล่อยท่อนโซโลนั้นนอนนิ่งไว้อย่างนั้น

จนกระทั่งปี 2012 ขณะทำถ่ายทำสารคดีที่ Abbey Road studios จอร์จ, ไจล์ส มาร์ติน และ ธานี แฮริสัน ก็ได้ค้นพบท่อนโซโลนี้อีกครั้งขณะเปิดเทปแปดแทร็คดั้งเดิมของ ‘Here Comes The Sun’ ผู้เขียนได้ฟังเพลงนี้ในแบบมีโซโลกีตาร์แล้วก็รู้สึกว่ามันผิดที่ผิดทางจริง ๆ แต่ก็อาจเป็นเพราะเราคุ้นเคยกับ final version ที่ไร้กีตาร์โซโลมาหลายสิบปีก็เป็นได้

15 สิงหาคม 1969 เพิ่มเติมเสียงจากวงออเคสตร้า โดยมีเสียงเครื่องเป่าไม้แปดชิ้นลงในแทร็ค 4 และเสียงเครื่องสาย 8 ชิ้นลงในแทร็คที่ 5 (อัดทับเสียงเดิมที่เป็น harmonium ที่อัดไว้ในวันที่ 16 ก.ค.)

จนถึงเส้นตายในการบันทึกเสียงในวันที่ 19 สิงหาคม 1969 จอร์จ ใส่เสียงสุดท้ายเข้าไปในเพลง มันคือเสียงจาก Moog synthesizer เครื่องยักษ์ที่เขาลงทุนซื้อเอาไว้เอง จอร์จ เข็นมันเข้ามาเล่นในช่วงอินโทรและช่วง ‘Sun, sun, sun here it comes’ ขณะนั้น Moog ยังเป็นเครื่องดนตรีที่ใหม่มาก และเล่นไม่ง่ายเลย แต่จอร์จ ก็นำมันมาใช้ได้อย่างมีรสนิยม เพิ่มดาเมจให้เพลงนี้อย่างรุนแรง เสียง Moog ถูกจับเบียดเข้าไปในแทร็ค 4 ดังนั้น เมื่อใดที่ได้ยินเสียงมัน ก็จะไม่ได้ยินเสียงเครื่องเป่าไม้ที่อัดไว้ในวันที่ 15 สิงหาคม

หลังจากใส่เสียง Moog เสร็จ จอร์จ มาร์ติน, เจฟฟ์ เอเมอริก, ฟิล แมคโดนัลด์ และ อลัน พาร์สันส์ ไม่รอช้า ทำ final stereo mix ของเพลงนี้ทันที โดยมีการจงใจให้เทปที่เล่นระหว่างมิกซ์หมุนเร็วกว่าปกติเล็กน้อย ทำให้มีเสียง (pitch) สูงกว่าปกติประมาณ 1 ควอเตอร์โทน นัยว่าเพื่อเพิ่มความสดใสคึกคักให้กับบทเพลง ณ ขณะนั้น ‘Here Comes The Sun’ ถูกมอบหมายให้เป็นเพลงเปิดอัลบั้ม Abbey Road แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง

‘Here Comes The Sun’ ถูกวางเป็นเพลงแรกของหน้าสองในอัลบั้ม Abbey Road (1969) อันเป็นอัลบั้มสุดท้ายที่ The Beatles บันทึกเสียงร่วมกัน ความใสปิ๊งและทัศนคติมองโลกในแง่ดีของมัน ตัดฉับกับความดาร์คสนิทของเพลงสุดท้ายในหน้าแรกของจอห์น เลนนอน -  ‘I Want You (She’s So Heavy)’ มันเป็นหนึ่งในสองเพลงจากการประพันธ์ของจอร์จ ในอัลบั้มนี้ ทั้ง ‘Here Comes The Sun’ และ ‘Something’ ต่างได้รับการยอมรับจากแทบจะทุกคนว่ามันคือไฮไลต์ของอัลบั้มที่เต็มไปด้วยไฮไลต์ มันไม่เคยถูกตัดเป็นซิงเกิ้ล ยกเว้นในประเทศญี่ปุ่นที่มันเป็น side B ของซิงเกิ้ล ‘Oh! Darling' ในปี 1970

การจะตอบคำถามว่า เพลงของ The Beatles เพลงไหนได้รับความนิยมมากที่สุดนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย จะวัดจากอะไร? ยอดขายซิงเกิ้ล? จำนวนครั้งในการเปิดทางวิทยุ? การได้รับการนำไปตีความใหม่มากที่สุด? มันมีตัววัดมากมาย และในยุคของสตรีมมิ่ง ตัวชี้วัดใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาคือยอดสตรีมมิ่ง ในปี 2023 ‘Here Comes The Sun’ เป็นเพลงแรกของ The Beatles ที่มียอดสตรีมทะลุพันล้านครั้งในแพลตฟอร์ม Spotify ที่ถือว่าเป็นค่ายสตรีมมิ่งที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 ของโลก

ในที่สุดจอร์จ ก็โผล่พ้นเงาที่ทอดไกลของจอห์น เลนนอน และ พอล แมคคาร์ทนีย์ (ขณะที่เขียนบทความนี้ ยอดสตรีมของ ‘Here Comes The Sun’ ใน Spotify อยู่ที่ 1,061,533,990 ครั้ง โดยมี ‘Come Together’ ตามมาห่าง ๆ ที่ 630,339,046 ครั้ง) Here Comes The Sun (2019 Mix)

ถ้าจอร์จ แฮริสัน (1943 - 2001) ทราบข่าวนี้ และมีนักข่าวเอาไมค์ไปจ่อปากถามเขาว่า รู้สึกอย่างไรกับเรื่องพันล้านสตรีม เต่าทองผู้เงียบขรึมคงยิ้มโชว์เขี้ยวและกล่าวประโยคอะไรสั้น ๆ คม ๆ ในแบบของเขา อย่างเช่น… 

“It’s alright.” 

 

เรื่อง: กองทุน รวยแท้

ภาพ: แฟ้มภาพ Getty Images

อ้างอิง:

The Beatles - Abbey Road 50th Anniversary Edition book

Revolution In The Head by Ian McDonald

The Complete Beatles Recording Sessions by Mark Lewisohn