เหตุผลที่ทำให้ ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ เป็นนักร้องที่ยิ่งใหญ่แห่งยุค

เหตุผลที่ทำให้ ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ เป็นนักร้องที่ยิ่งใหญ่แห่งยุค

อะไรที่ทำให้ ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ ยืนหยัดในฐานะนักร้องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของยุค แม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีมายาวนาน 2 ทศวรรษ

  • เทย์เลอร์ สวิฟต์ เป็นศิลปินหญิงเดี่ยวคนแรกและคนเดียวที่ได้รับรางวัล ‘อัลบั้มแห่งปี’ (Album of the Year) จาก ‘แกรมมี่ อวอร์ดส์’ (Grammy Awards) มากถึง 3 ครั้ง ได้แก่ อัลบั้ม Fearless (2009), 1989 (2015) และ Folklore (2020) ด้วยแนวเพลงที่แตกต่างกันในแต่ละอัลบั้ม
  • เทย์เลอร์สร้างผลงานที่แตกต่างจากเพื่อนร่วมวงการป็อปสตาร์ด้วย ‘ความจริงใจ’ ในการเล่าเรื่องผ่านเพลง เธอไม่จำเป็นที่จะต้องเป็น ‘นางเอกแสนดี’ ไปซะทุกเรื่อง บ่อยครั้งที่เธอแสดงความปรารถนาที่จะ ‘แก้แค้น’ ผ่านเพลง ที่เห็นได้ชัดคือ ‘Look What You Made Me Do’ ที่เดือดทั้งเอ็มวี เดือดทั้งเนื้อเพลง 

“Taylor Swift is the music industry” 

ไม่มีคำพูดไหนของ ‘บาร์บารา วอลเตอร์ส’ ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ระดับตำนานของสหรัฐฯ จะจริงแท้ไปมากกว่านี้อีกแล้ว เมื่อพูดถึง ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ (Taylor Swift)

เพราะบนโลกนี้จะมีนักร้องสักกี่คนที่ ‘ยิ่งใหญ่’ ถึงขั้นถูกนำชีวิตมาถอดเป็นบทเรียน เกิดเป็นหลักสูตรตามสถาบันดังหลายแห่ง 

หนึ่งในนั้นคือ ‘สถาบันดนตรีไคลฟ์ เดวิส’ (Clive Davis Institute) มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งเมื่อปี 2022 ได้ประกาศเพิ่มหลักสูตรเกี่ยวกับเทย์เลอร์ สวิฟต์ โดยให้ ‘บริททานีย์ สปานอส’ (Brittany Spanos) นักเขียนจาก ‘โรลลิงสโตน’ (Rolling Stone) มาเป็นผู้สอน นอกจากนี้ ทางไคลฟ์ เดวิส ยังได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิจิตรศิลป์ ให้กับนักร้องสาวคนดังด้วย ในฐานะที่เธอเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีผลงานและมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งยุค

ก่อนหน้านั้น สถาบันการศึกษาอื่น ๆ ก็ได้เปิดหลักสูตรที่เกี่ยวกับเทย์เลอร์ สวิฟต์ ในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับจิตวิทยาของเทย์เลอร์ สวิฟต์ (The Psychology of Taylor Swift), หลักสูตรว่าด้วยเรื่องเพลงของเทย์เลอร์ สวิฟต์ (The Taylor Swift Songbook) และหลักสูตรด้านวรรณกรรมจากเพลงของเทย์เลอร์ สวิฟต์ 

ไม่เฉพาะฝั่งวิชาการ ฝั่งสื่อเองก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ โดยเมื่อเดือนกันยายน 2023 สื่อดังของสหรัฐฯ อย่าง ‘ยูเอสเอ ทูเดย์’ (USA Today) ได้โพสต์โฆษณารับสมัครนักข่าวที่ดูแลคอนเทนต์เกี่ยวกับผลกระทบด้านดนตรีและวัฒนธรรมของเทย์เลอร์ สวิฟต์ โดยเฉพาะ

ทำไมต้องเป็น ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ 

ในอุตสาหกรรมดนตรี เทย์เลอร์ได้สร้างสถิติเอาไว้มากมาย ล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว เธอได้กลายเป็นศิลปินหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของ ‘สปอติฟาย’ (Spotify) ที่มีผู้เข้ามาฟังเพลงมากถึง 100 ล้านคนต่อเดือน ขณะที่จนถึงปี 2022 เธอมีอัลบั้มที่ทะยานขึ้นสู่อันดับ 1 บนชาร์ตบิลบอร์ด (Billboard charts) รวมทั้งสิ้น 12 อัลบั้ม นับว่ามากที่สุดในบรรดาศิลปินหญิง โดยสามารถโค่น ‘ราชินีแห่งดีว่า’ อย่าง ‘บาร์บรา สไตร์แซนด์’ (Barbra Streisand) ได้สำเร็จ เมื่อต้นปี 2023

สถิติที่น่าทึ่งของเทย์เลอร์ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะเธอยังเป็นศิลปินหญิงเดี่ยวคนแรกและคนเดียวที่ได้รับรางวัล ‘อัลบั้มแห่งปี’ (Album of the Year) จาก ‘แกรมมี่ อวอร์ดส์’ (Grammy Awards) มากถึง 3 ครั้ง ได้แก่ อัลบั้ม Fearless (2009), 1989 (2015) และ Folklore (2020) 

แนวเพลงที่หลากหลายและเนื้อร้องที่ทรงพลัง 

ที่น่าสังเกตคือแต่ละอัลบั้มที่ได้รางวัลแกรมมี่ ล้วนมีแนวเพลงที่แตกต่างกันชัดเจน ตอกย้ำว่าเทย์เลอร์มีความสามารถอย่างยิ่ง ในการปรับตัวทำเพลงให้เข้ากับกลุ่มแฟนเพลงที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ทั้งคนยุค ‘มิลเลนเนียล’ (Millennials) ที่เติบโตมาพร้อมกับเธอ (บางคนก็ถ่ายทอดความเป็น ‘สวิฟตี้’ (Swifty) ให้กับลูก ๆ ด้วย) ไปจนถึงคน ‘เจนซี’ (Gen Z) ที่เป็นฐานใหญ่ใน ‘ติ๊กต็อก’ (TikTok) ซึ่งได้ช่วยกันดันจนเพลงเก่า ๆ ของเธอกลับมาดังอีกครั้ง 

เทย์เลอร์เคยสะท้อนในสารคดี ‘Miss Americana’ ทางเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ว่า ศิลปินหญิงมักถูกคาดหวังให้ต้องนำเสนอตัวเองในรูปแบบใหม่อยู่เสมอ “ศิลปินหญิงที่ฉันรู้จักจะต้องนำเสนอตัวเองในรูปแบบใหม่มากกว่าศิลปินชายถึง 20 เท่า ไม่เช่นนั้นพวกเธอจะไม่มีงานทำ” 

ตลอดเส้นทางอาชีพของเทย์เลอร์ เธอพัฒนาตัวเองจากนักร้องเพลงคันทรีมาสู่หนึ่งในป็อปสตาร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก สตูดิโออัลบั้มต้นฉบับของเธอทั้ง 10 อัลบั้มล้วนมีธีมและสุนทรียภาพที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเทย์เลอร์ก็ได้บรรจุเพลงจากอัลบั้มเหล่านี้ไว้ในลิสต์เพลงที่จะเล่นในทัวร์คอนเสิร์ต ‘ดิเอราส์ทัวร์’ (The Eras Tour) เป็นที่เรียบร้อย 

แต่ไม่ว่าแนวเพลงของเธอจะเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นเอกลักษณ์คือความเป็นคน ‘เจ้าบทเจ้ากลอน’ ที่มีความช่ำชองในการเลือกใช้ถ้อยคำเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกและความทรงจำของตัวเอง จนออกมาเป็นเนื้อเพลงที่ ‘ทรงพลัง’ ซึ่งมีท่อนที่สะดุดหู บวกกับจังหวะที่ทำให้จดจำได้ง่าย 

(ถ้าไม่เชื่อลองฮัมเพลง ‘We Are Never Ever Getting Back Together’ หรือในท่อนที่ร้องว่า “I’m only 17, I don’t know anything. But I know I miss you” ในเพลง ‘betty’ ดูสิ)

เทย์เลอร์ยังสร้างผลงานที่แตกต่างจากเพื่อนร่วมวงการป็อปสตาร์ด้วย ‘ความจริงใจ’ ในการเล่าเรื่องผ่านเพลง เธอไม่จำเป็นที่จะต้องเป็น ‘นางเอกแสนดี’ ไปซะทุกเรื่อง บ่อยครั้งที่เธอแสดงความปรารถนาที่จะ ‘แก้แค้น’ ผ่านเพลง ที่เห็นได้ชัดคือ ‘Look What You Made Me Do’ ที่เดือดทั้งเอ็มวี เดือดทั้งเนื้อเพลง 

“Honey, I rose up from the dead, I do it all the time.
I got a list of names, and yours is in red, underlined.”

สิ่งนี้ทำให้เพลงของเธอสามารถทะลวงเข้าถึงหัวใจคนฟัง ที่ยังคงเป็นมนุษย์ปุถุชนทั่วไป และไม่สามารถละวางได้ทั้งรัก โลภ โกรธ หลง 

ข้อสำคัญคือ ‘การร้อง’ ที่เธอทำได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่แพ้ฝีมือการแต่งเพลงและเล่นดนตรี บวกกับการแสดงสดสุดมันส์ ที่เล่นเอาเหล่าสวิฟตี้ทั้งกรีดร้องและกระโดดตัวลอย ล้อไปกับเสียงเพลงที่ดังจากลำโพง จนทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนเทียบเท่าแผ่นดินไหวขนาด 2.3 ที่เมืองซีแอตเทิล

ต้นแบบศิลปินผู้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิ

แต่การวัดความสำเร็จของเทย์เลอร์จากเพลงเพียงอย่างเดียว อาจยังไม่ครอบคลุมเท่าไรนัก

เพราะที่ผ่านมาเทย์เลอร์ยังมีบทบาทสำคัญในการ ‘เปลี่ยนเกมธุรกิจ’ ที่ส่งผลดีต่อศิลปินอย่างมหาศาล นั่นคือการที่เธอพยายามอย่างหนักเพื่อให้ ‘ค่ายเพลง’ และ ‘บริการสตรีมมิ่ง’ เพิ่มค่าตอบแทนให้เหล่าศิลปิน 

ในปี 2015 ‘แอปเปิล มิวสิก’ (Apple Music) ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการชำระเงิน หลังจากที่เทย์เลอร์เขียนจดหมายเปิดผนึกเพื่อเรียกร้องการเพิ่มเงินให้แก่เหล่าศิลปิน

อีกหนึ่งประวัติศาสตร์ของโลกดนตรีคือการที่เธอยืนหยัดต่อสู้กับค่ายเพลงเดิม ‘บิ๊กแม็ชชีน เรคคอร์ดส’ ซึ่งในเวลานั้นไม่เปิดโอกาสให้เธอซื้อผลงานบันทึกเสียงต้นฉบับของตัวเองคืน ที่น่าปวดใจคือทางค่ายเพลงยังได้ขายกิจการให้กับ ‘สกูตเตอร์ บรอน’ (Scooter Braun) ผู้จัดการศิลปินชื่อดังที่เคยทำงานให้กับ ‘คานเย เวสต์’ อดีตคู่ปรับของเทย์เลอร์ด้วย 

แม้เธอจะไม่ใช่ศิลปินคนแรกที่เจอกับปัญหานี้ แต่เธอก็ได้ทำให้คนทั้งในและนอกอุตสาหกรรมดนตรีหันมาสนใจกับปัญหาที่มักถูกมองข้าม เธอใช้พลังแห่งความสำเร็จและชื่อเสียง ที่ทำให้ตัวเองรับความเสี่ยงได้มากกว่าศิลปินคนอื่น ในการสร้างพื้นที่เจรจาเกี่ยวกับสัญญาและมูลค่าของดนตรี ซึ่งทำให้บรรดาศิลปินน้องใหม่ ไม่ต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเหมือนศิลปินรุ่นก่อน 

ด้วยความพยายามจะกลับไปครองลิขสิทธิ์ผลงานเก่าให้ได้ เทย์เลอร์จึงได้ประกาศจะบันทึกเสียง 6 อัลบั้มแรกของเธอซ้ำอีกครั้ง โดยอัลบั้มที่บันทึกซ้ำแต่ละอัลบั้มจะมีเพลงที่เธอเคยเก็บไว้ในคลังเพิ่มเติมเข้ามาด้วย แต่ละอัลบั้มที่บันทึกใหม่ยังมาพร้อมกับกลยุทธ์ส่งเสริมการขายที่แพรวพราว โดยเฉพาะสินค้าลิมิเต็ดเอดิชันหลายรายการที่แฟน ๆ ต้องแห่ซื้อไปเก็บสะสม

ความพยายามไม่เคยทรยศใคร และสำหรับเทย์เลอร์มันยิ่งงอกเงยอย่างน่าชื่นใจ โดยอัลบั้ม Speak Now (Taylor’s Version) ซึ่งเป็นอัลบั้มลำดับที่ 3 จากทั้งหมด 6 อัลบั้มที่เธอต้องบันทึกใหม่ ถือเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ขณะที่อัลบั้ม Fearless (Taylor’s Version) และ Red (Taylor’s Version) ก็ต่างทำผลงานได้ยอดเยี่ยมกว่าอัลบั้มต้นฉบับอีก

หนึ่งในเหตุผลสำคัญมาจาก ‘ความรัก’ ที่สวิฟตี้มอบให้กับเธออย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง จนตอนนี้แทบไม่มีใครกลับไปฟังเพลงเวอร์ชันต้นฉบับกันแล้ว 

พลังของสวิฟตี้

สวิฟตี้นั้นขึ้นชื่อในด้านการมีส่วนร่วมและความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก แฟนด้อมกลุ่มนี้นอกจากจะแต่งตัวเก่งไม่แพ้แม่เทย์ พวกเธอและพวกเขายังชอบตั้งข้อสังเกตและพูดคุยในทฤษฎีที่เกี่ยวกับเทย์เลอร์ ซึ่งก็เป็นเพราะตัวเทย์เลอร์เองก็ชอบทิ้งปริศนา ‘ไข่อีสเตอร์’ (Easter Eggs) ให้บรรดาสวิฟตี้ได้ถอดรหัสกัน ไม่ว่าจะในเนื้อเพลง เอ็มวี โพสต์บนโซเชียลมีเดีย หรือบทสัมภาษณ์ ทำให้สวิฟตี้ต้องทุ่มเทวิเคราะห์ไข่อีสเตอร์เหล่านี้ เพื่อสืบให้รู้จนได้ว่าแม่เทย์จะทำอะไรต่อไป 

เทย์เลอร์กับทีมผู้จัดการก็เห็นดีเห็นงามกับเรื่องนี้ด้วย เช่นในการเปิดตัวอัลบั้ม 1989 (Taylor’s Version) ที่กำลังจะมาถึง เทย์เลอร์ได้จับมือกับ ‘กูเกิล’ (Google) ในการสร้างเกมปริศนาที่จะเฉลยชื่อเพลงใหม่ทันทีที่สวิฟตี้ช่วยกันไขปริศนาทั้ง 33 ล้านอย่างได้สำเร็จ... ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ สวิฟตี้ทำได้ภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง 

เกมสนุก ๆ ระหว่างเทย์เลอร์กับสวิฟตี้ ไม่เพียงแต่นำไปสู่การเฉลยชื่อเพลง แต่ยังทำให้ชื่อของเทย์เลอร์ผงาดขึ้นมาบนกูเกิลอีกครั้ง 

ความสำเร็จในการสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายสวิฟตี้ นอกจากตัวของเทย์เลอร์ที่ให้ความเป็นกันเองกับแฟน ๆ ผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ แล้ว เธอยังมี ‘ทีมงานคุณภาพ’ ที่รายล้อมรอบตัวมากมาย ทั้งมือประชาสัมพันธ์และมือบริหารจัดการ ที่ทำให้เธอครองใจแฟน ๆ มาได้อย่างยาวนาน และนับวันก็ยิ่งมีแฟนคลับเพิ่มมากขึ้น 

แต่แน่นอนว่าก่อนที่ทีมงานระดับมือพระกาฬจะตบเท้าเข้ามาร่วมงานด้วย ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ ได้พิสูจน์ตัวเองให้โลกเห็นแล้วว่า เธอเป็น ‘ตัวจริง’ ที่ลุยผ่านมาแล้วทุกอุปสรรค ตลอดเส้นทางอาชีพในอุตสาหกรรมดนตรี 

‘Cause baby, I could build a castle.
Out of all the bricks they threw at me.


ภาพ : Getty Images
อ้างอิง :

theconversation

news.harvard.edu

q30tv

reeditionmagazine

grammy