‘ริงโก้ สตาร์’ จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของ The Beatles จากวัยเด็กป่วยหนัก กลายเป็นนักดนตรีคนดัง

‘ริงโก้ สตาร์’ จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของ The Beatles จากวัยเด็กป่วยหนัก กลายเป็นนักดนตรีคนดัง

จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของ The Beatles มือกลองที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในโลกดนตรี ไม่มีใครคิดว่าเด็กที่ป่วยหนักในวัยเยาว์และต้องออกจากโรงเรียน จะกลายเป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้

  • ริงโก้ สตาร์ มือกลอง The Beatles ถือเป็นมือกลองที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดอีกคนในโลกดนตรี  และยังโลดแล่นในเส้นทางจนถึงวัยกว่า 80 ปี
  • ในวัยเด็ก เขามีอาการป่วยหนัก และต้องออกจากโรงเรียน ช่วงนั้นไม่มีใครคาดคิดว่า เขาจะเป็นมือกลองที่ยิ่งใหญ่อีกคนของโลกดนตรีได้ 
  • ด้วยลักษณะนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนน่ารัก เข้ากันได้กับทุกคน เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เขาอยู่ในวงการดนตรีได้ยาวนาน รวมถึงเข้ากันกับสมาชิก The Beatles คนอื่นได้ และมักไปแจมในงานเดี่ยวด้วยกันบ่อยครั้ง

8 พฤษภาคม 2023 เซอร์ ริชาร์ด สตาร์กี้ (Sir Richard Starkey) หรือในนามที่โลกรู้จักดีว่า ‘ริงโก้ สตาร์’ (Ringo Starr) ในวัยปริ่ม 83 ปี ประกาศการออกทัวร์ครั้งใหม่ของเขากับวงรวมดาวกระจายกึ่งเฉพาะกิจ - All Starr Band มือกลองอารมณ์ดีกล่าวในการแถลงทัวร์นี้สั้น ๆ ว่า

“ผมชอบการแสดง, ผมชอบเหล่าผู้ชม และพวกเขาก็รักผม นี่เป็นอะไรที่รู้กันดี เราครื้นเครงกันเสมอในการทัวร์ นี่คือเป้าหมายหลักของเรา เราไม่ได้มาออกแสดงเพื่อความเหนื่อยยากตรากตรำ ผมมีความสุขมาก ๆ เสมอ และผมก็ยังรักที่จะทำสิ่งนี้อยู่ และจะนำสันติภาพและความรักไปสู่เมืองของพวกท่านเร็ว ๆ นี้ เตรียมตัวกันไว้นะ!” 

ในรอบกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ‘ริงโก้ สตาร์’ คือมือกลองที่ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่งของโลกดนตรี แต่เมื่อตัดภาพย้อนกลับไปที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในลิเวอร์พูลเมื่อปีค.ศ 1947 คืนที่คุณหมอบอกคุณแม่ของริงโก้ว่า เขาอาจจะไม่มีชีวิตรอดถึงพรุ่งนี้เช้า (คุณหมอออกมาบอกเธอแบบนี้ถึงสามครั้งในคืนนั้น) คงไม่มีใครกล้าคิดว่าเด็กชายคนนี้จะมีอนาคตที่สวยงาม, ยิ่งใหญ่ และยาวไกลรออยู่เบื้องหน้า แถมยังมีชีวิตที่คึกคักขนาดนี้ในปี 2023

ในบรรดาสมาชิก 4 คนของ The Beatles ริงโก้อาจจะถูกมองว่ามีความสำคัญน้อยกว่าจอห์น เลนนอน (John Lennon), พอล แมคคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) หรือ จอร์จ แฮริสัน (George Harrison) แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธว่า เขาคือจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่เมื่อได้ถูกวางลงท่ามกลางองคาพยพอื่น ๆ ของ The Beatles ภาพรวมที่สมบูรณ์แบบที่สุดของวงจึงบังเกิด

เขาไม่ใช่นักแต่งเพลงฝีมือดี, นักร้องเสียงไพเราะ, หนุ่มหล่อเจ้าเสน่ห์ หรือแม้แต่จะเป็นมือกลองที่เต็มไปด้วยชั้นเชิง (ว่ากันว่าจอห์น เลนนอน เคยกล่าววาทะอันโด่งดัง “ริงโก้น่ะเหรอ, เขาไม่ใช่มือกลองที่ดีที่สุดใน The Beatles ด้วยซ้ำ” แต่ต่อมาวาทะนี้ถูกยืนยันว่า จอห์นไม่เคยกล่าว) แต่สิ่งที่ริงโก้มีคือบุคลิกน่ารักผ่อนคลายเข้าได้กับทุกคน 

เขาคือกาวที่ยึดบีทเทิลส์ทุกคนเข้าไว้ด้วยกันเมื่อความเครียดเค้นกดดันในความเป็นวงดนตรีที่โด่งดังที่สุดที่โลกเคยมีมาโหมกระหน่ำใส่ ในบทบาทหลักของเขา ริงโก้ก็ได้มอบผลงานการตีกลองอันซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของการเป็นผู้ให้จังหวะ แต่เมื่อเขามีโอกาส, หลายครั้งที่ริงโก้สร้างสรรค์ตำนานแห่งการตีที่จะเป็นที่จดจำตลอดไป

กำเนิด

ริชาร์ด สตาร์กี้ จูเนียร์ เกิดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 1940 อาจกล่าวได้ว่าเขาคือ Beatle คนแรกที่ลืมตาดูโลก แต่มาเข้าร่วมวงเป็นคนท้ายสุด ริงโก้เกิดในช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สองพอดี จนคุณแม่เอลซี่ชอบแซวว่าเขานี่เองคือต้นตอของสงคราม!

ริงโก้เป็นบุตรคนเดียวของ ริชาร์ด สตาร์กี้ (Richard Starkey) และ เอลซี่ กลีพ (Elsie Gleave) ความจริงแล้วนามสกุลของริงโก้ควรจะเป็นพาร์กิ้น (Parkin) มากกว่าสตาร์กี้ เพราะคุณปู่ของเขานามสกุลพาร์กิ้น แต่คุณย่าของเขาเปลี่ยนมาใช้นามสกุลสตาร์กี้ เพราะเธอมาคบหาอยู่กินกับชายผู้มีภรรยาแล้วคนหนึ่งที่นามสกุลสตาร์กี้ ริชาร์ด พาร์กิ้น พ่อของริงโก้ก็เลยต้องเปลี่ยนเป็นริชาร์ด สตาร์กี้ ตามไปด้วยเพื่อความเนียน ไม่อย่างนั้นโลกอาจจะไม่ได้รู้จักมือกลองชื่อ ริงโก้ สตาร์ (ที่ฟังดูดีกว่าริชาร์ด หรือ ริงโก้ พาร์กิ้นเป็นไหน ๆ)

เขาเกิดในย่าน Dingle ในลิเวอร์พูล อันขึ้นชื่อในเรื่องความแออัด, ยากไร้และดิบเถื่อน เต็มไปด้วยแก๊งอันธพาลและผู้คนที่ตกค่ำก็เข้าผับ หลังจากริงโก้ เกิดได้ไม่ถึงปี ริชาร์ดและเอลซี่ก็แยกทางกัน ทิ้งให้คุณแม่เอลซี่เลี้ยงดู ‘ริชชี่’ (ชื่อที่คุณแม่เรียกเขาตอนนั้น) เพียงคนเดียว (ไม่น่าแปลกที่ริงโก้มีความทรงจำที่ไม่ดีเลยเกี่ยวกับคุณพ่อของเขา) เอลซี่หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการทำงานเป็นสาวเสิร์ฟในบาร์

 

โรงพยาบาลคือบ้านที่สอง

วัยเด็กของริงโก้หมดไปกับการเจ็บป่วย เริ่มที่วันที่ 3 ก.ค. 1947 เด็กน้อยถูกหามส่งโรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้องอย่างรุนแรง หมอวินิจฉัยว่าเขามีอาการไส้ติ่งอักเสบ (appendicitis) หลังจากผ่าตัด เขาเจออาการแทรกซ้อน - peritonitis (การอักเสบรุนแรงของเยื่อบุช่องท้อง) อาการของริงโก้เข้าขั้นโคม่า และคุณหมอไม่แน่ใจว่าเขาจะรอดหรือไม่ เขามารู้สึกตัวอีกทีในวันเกิดครบ 7 ขวบพอดี ครึ่งปีที่เหลือริงโก้นอนอยู่รพ.ตลอด และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องไปโรงเรียนอีกครั้ง เขาก็พบว่าเขาเรียนหนังสือตามเพื่อนไม่ทันโดยสิ้นเชิง ริงโก้โชคดีที่ได้แมรี่ แมกไกวร์ (Mary McGuire) ลูกสาวของเพื่อนสนิทของเอลซี่ที่ช่วยมาติวเข้มให้ จนริงโก้เริ่มอ่านหนังสือได้ และดูจะพร้อมที่จะกลับเข้าสู่ระบบโรงเรียน

แต่แล้วในปี 1952 พระเอกของเราก็ป่วยหนักอีกครั้ง คราวนี้เป็นวัณโรค (tuberculosis) ที่กำลังระบาดไปทั่ว Dingle ในเวลานั้น ริงโก้เข้าโรงพยาบาล Royal Liverpool Children และต้องนอนยาวเช่นเคย

และที่โรงพยาบาลแห่งนี้ ริงโก้ได้ร่วมเล่น ‘ดนตรี’ เป็นครั้งแรก โรงพยาบาลจัดกิจกรรมแก้เบื่อให้เหล่ายุวชนคนไข้โดยจะมีครูดนตรีมาทุกสองสัปดาห์ เธอจะมาพร้อมด้วยเครื่องเคาะจังหวะสารพัด ริงโก้ยืนยันจะไม่ร่วมกิจกรรมนี้ถ้าเขาไม่ได้ตีกลอง และนั่นเป็นครั้งแรกที่เขาได้ฟาดกลองจริง ๆ Mark Lewisohn นักประวัติศาสตร์ Beatles เขียนไว้ในหนังสือ Tune In ของเขาถึงโมเมนต์นี้ว่า “It was love at first strike.” (“มันคือรักแรกหวด”)

ริงโก้ออกจากโรงพยาบาลในที่สุดตอนฤดูใบไม้ร่วงปี 1953 เพื่อพบว่าเขาล้าหลังเพื่อนไปหนักกว่าเดิมอีกในการเรียน สุดท้าย, หลังจากพยายามอยู่พักใหญ่ เขาถอดใจไม่กลับไปโรงเรียนอีก

ความเจ็บป่วยจนแทบไม่ได้เรียนหนังสือของเขา แม้จะเป็นทุกขลาภอย่างแน่นอน แต่มันก็หล่อหลอมให้เขาเป็นริงโก้ สตาร์ ใครจะรู้ว่าถ้าเขามีวัยเด็กที่แข็งแรงดี เรียนหนังสือเก่ง ริชาร์ด สตาร์กี้ จะมาเป็นริงโก้ สตาร์ แบบนี้ไหม เขาอาจไปทำอาชีพอื่นแล้วด้วยซ้ำไป

ชีวิตของริงโก้พลิกผันไปในทางที่ดีขึ้นเมื่อเอลซี่ได้พบกับ แฮรี่ เกรพส์ (Harry Graves) ผู้รับเหมาตกแต่งบ้านที่ย้ายมาจากลอนดอนเพื่อหาอากาศบริสุทธิ์ (ที่ลิเวอร์พูลนี่นะ?) และแต่งงานกันในเดือนเมษายน 1954 แฮรี่รักริงโก้เหมือนลูกแท้ ๆ เขามีรสนิยมวิไลในด้านดนตรี และแนะนำให้ริงโก้ได้รู้จักกับบทเพลงของไดน่าห์ ชอร์ (Dinah Shore),ซาร่าห์ วอห์น (Sarah Vaughan), แฟรงกี้ เลน (Frankie Lane) และ จอห์นนี่ เรย์ (Johnny Ray) แฮรี่ให้ความอบอุ่น, มิตรภาพ และความจริงใจอย่างที่ริงโก้ไม่เคยได้รับจากพ่อจริง ๆ

 

ทำมาหากินและเริ่มเข้าวงการดนตรี

ในเมื่อตัดสินใจอำลาวงการศึกษาแล้ว ริงโก้ก็เริ่มออกหางานทำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยความรู้ที่จำกัดและสุขภาพก็ไม่ค่อยดีนัก งานแรกของเขาคืองานที่การรถไฟอังกฤษ, ต่อด้วยงานบริกรในเรือจากลิเวอร์พูลไปตอนเหนือของเวลส์ และมาที่งานที่ Henry Hunt and Sons (บริษัทอุปกรณ์ยิมนาสติก) ที่นี่เขาได้พบกับ เอ็ดดี้ ไมลส์ (Eddie Miles) เอ็ดดี้ชวนริงโก้เข้าวง Eddie Miles Band ของเขา (ต่อมาเปลี่ยนชื่อวงเป็น Eddie Clayton, The Clayton Squares โดยที่ไม่มีใครชื่อเอ็ดดี้ เคลย์ตันในวง) ริงโก้ได้รับตำแหน่งมือเพอร์คัสชั่น โดยใช้กระดานซักผ้า (washboard) เก่า ๆ เป็นเครื่องดนตรี วงนี้เล่นดนตรีกันในสไตล์สคิฟเฟิล (skiffle) ที่กำลังเป็นที่นิยมสุดขีดในอังกฤษช่วงนั้น นี่คือวงดนตรีจริง ๆ วงแรกของริงโก้

ธันวาคม 1957 แฮรี่ เกรพส์ สนับสนุนวิชาชีพของบุตรบุญธรรมคนนี้เต็มที่ด้วยการซื้อกลองมือสองให้ 1 ชุด (ราคา 10 ปอนด์, จากลอนดอน) การมีกลองชุดของริงโก้มันมีความหมายมากต่อพัฒนาการของวง พวกเขาเริ่มที่จะเล่นเพลงร็อกแอนด์โรลกันแทนที่จะติดอยู่กับสคิฟเฟิล ริงโก้เข้าร่วมวง Raving Texans ในปี 1959 พวกเขาเป็นวง backup ให้นักร้องสุดซ่านาม Rory Storm ณ จุดนี้ ริงโก้เปลี่ยนมาใช้กลองยี่ห้อ Ajax (ราคา 46 ปอนด์, ยืมเงินจากคุณปู่—เรื่องแปลกคึอ ริงโก้ไม่ได้อยู่กับพ่อแล้ว แต่เขาอยู่กับแม่และปู่ย่ามาตลอด ไม่ใช่ตายาย, ภายหลังริงโก้ใช้เงินก้อนนี้คืนคุณปู่จนครบ)

กลองคือเครื่องดนตรีหนึ่งเดียวในดวงใจของริงโก้ สตาร์ มาแต่ไหนแต่ไรไม่เคยเปลี่ยน ในวัยเยาว์ ผู้ใหญ่เคยเสนอให้เขาเล่นแอคคอร์เดียน, ฮาร์โมนิกา, แบนโจ, แมนโดลิน หรือ เปียโน แต่ริงโก้ก็ไม่เคยใส่ใจ แถมเล่าอีกว่า เขาชอบมากกับการขึ้นไปเดินเล่นบนลิ่มเปียโน

ในฐานะมือกลองของ Rory Storm and the Hurricanes (ที่พัฒนามาจาก Raving Texans) ริงโก้เริ่มเฉิดฉายประกายดารา เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกที่มีเอฟซีมากที่สุดของวง เอกลักษณ์หนึ่งของเขาคือการใส่แหวนครั้งละหลาย ๆ วง นั่นทำให้แฟน ๆ เริ่มเรียกเขาว่า ‘Rings’ ก่อนจะพัฒนามาเป็น ‘Ringo’ และคำว่า Starkey ก็ถูกย่อมาเป็น ‘Starr’

นั่นล่ะครับท่านผู้ชม การถือกำเนิดของ stage name ก้องโลก - Ringo Starr

ในการแสดงของ The Hurricanes ริงโก้ จะได้ร้องเพลงบ้างในบางครั้ง และในช่วง ‘Starr Time’ ริงโก้ จะโชว์การโซโลกลองยาวเหยียด, แบบไม่เต็มใจนัก (สิ่งที่เขาแทบไม่เคยทำเมื่อมาอยู่กับ The Beatles เพราะริงโก้มักจะพูดเสมอว่านั่นไม่ใช่หน้าที่ของเครื่องดนตรีชิ้นนี้)

 

Meet The Beatles

วงโคจรของริงโก้ สตาร์และ The Beatles มาทาบทับกันครั้งแรกเมื่อเขามาเล่นที่แฮมเบิร์ก, เยอรมันตะวันตกกับ Rory Storm and the Hurricanes (ขณะนั้นพวกเขาคือวงอันดับ 1 จาก Liverpool) ในเดือนตุลาคม 1960 เขากับจอห์น เลนนอน, พอล แมคคาร์ตนีย์ และ จอร์จ แฮริสัน ดูจะถูกโชคชะตากันดี และมีบางครั้งที่ริงโก้ไปตีกลองให้ The Beatles เมื่อพีท เบสต์ ไม่ว่าง ซึ่งทุกครั้งที่ทั้งสี่อยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะนอกหรือในเวที พวกเขาก็รู้สึกได้ถึงคำว่า “เคมีเข้ากัน” เสียจริง ในขณะที่สุดหล่อพีท เบสต์ มักจะทำตัวแปลกแยกจากคนอื่นในวง พีทแทบไม่ไปสังสรรค์กับเพื่อน ๆ หลังเลิกงาน - นั่นไม่ใช่จริตของเขา

15 ตุลาคม 1960 ริงโก้เข้าห้องอัดเล็ก ๆ ในแฮมเบิร์กร่วมกับจอห์น เลนนอน, พอล แมคคาร์ตนีย์ และ จอร์จ แฮริสัน เพื่อเล่นเป็นวงแบ็คอัพให้ ลู วอลเตอร์ส (Lu Walters) มือเบสและนักร้องคนที่สองของ The Hurricanes พวกเขาอาจจะอัดเสียงกันสามเพลงในวันนั้น Summertime, Fever และ September Song ปั๊มเป็นแผ่นครั่งออกมาเพียงหกแผ่น ปัจจุบันสูญหายไปหมดแล้ว มันคือการบันทึกเสียงร่วมกันครั้งแรกของจอห์น, พอล, จอร์จ และ ริงโก้ แม้จะเป็นแค่วงแบ็คอัพก็ตาม ถ้าจู่ ๆ แผ่นครั่งนี้โผล่ขึ้นมาในตลาดการประมูลวันใด ราคาของมันต้องสูงลิบ

ปี 1962 เมื่อจอร์จ มาร์ติน (George Martin) โปรดิวเซอร์ของ The Beatles ไม่พอใจการตีกลองของพีท เบสต์ จากการที่ได้เห็นและฟังใน session แรกที่ EMI studios ไอเดียในการเลือกริงโก้มาตีแทนพีท เบสต์ จึงผุดขึ้นมา จอห์น, พอล, จอร์จ เห็นด้วยเป็นเอกฉันท์ในการตัดสินใจนี้ แต่เหล่าแฟนเพลงไม่ได้เห็นด้วยกับการเปลี่ยนตัวนี้ทุกคน พีท เบสต์ ก็มี ‘โอตะ’ ส่วนตัวไม่น้อย

ริงโก้ตอบรับเทียบเชิญของจอห์นทางโทรศัพท์และเริ่มร่วมงานกับ The Beatles ในวันที่ 18 สิงหาคม 1962 ในช่วงแรก ๆ ริงโก้ถูกต่อต้านด้วยแคมเปญ “Pete Best, forever. Ringo never!” (แฟนเพลงส่วนนึงจะตะโกน “พีท เบสต์ตลอดไป, ริงโก้ไสหัวไป!”) ที่ Cavern Club (สถานที่ที่ Beatles เล่นประจำ) อยู่ระยะหนึ่ง บางครั้งแฟนเพลงที่ความเห็นไม่ตรงกันถึงกับตะลุมบอนกันเอง แต่ใช้เวลาไม่นานนักมือกลองคนใหม่ก็ชนะใจแฟนเพลง

ริงโก้เคยเปิดเผยว่าที่เขาเลือกมาอยู่กับ The Beatles เหตุผลหนึ่งก็คือ - เงิน ตอนนั้นวง Kingsize Taylor and The Dominoes ก็แย่งชิงตัวเขาเหมือนกัน แต่ค่าจ้างต่อสัปดาห์ของ The Beatles ให้มากกว่า The Dominoes อยู่ 5 ปอนด์ โธ่! หลงคิดว่าใจสั่งมา

ริงโก้ไม่ได้ตีกลองในการบันทึกเสียงเพลง Love Me Do / P.S. I Love You ในวันที่ 11 กันยายน 1962 โดย Ron Richards วิศวกรเสียงจ้างมือกลองห้องอัด Andy White มาตีแทน (น่าจะจองตัวไว้ก่อน เพราะผลงานที่ไม่ค่อยน่าประทับใจของพีท เบสต์) ริงโก้รู้สึกแย่มากในเซสชั่นนั้น เขาคิดว่าตัวเองจะโดนแบบพีท เบสต์ เข้าให้แล้ว (ถูกไล่ออก) สิ่งที่เขากังวลนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด ตรงกันข้าม-จากนั้นมา ริงโก้ก็นั่งยาว ตีกลองให้แทบทุกเพลงของ The Beatles จะมีข้อยกเว้นก็เพียงไม่กี่เพลง

เมื่อเทียบผลงานในยุคแรก ความแตกต่างที่ชัดเจนของการตีกลองของริงโก้และพีทน่าจะเป็นความหนักแน่นและความเสถียรที่ริงโก้ทำได้ดีกว่า เขายังมีสไตล์ที่ไม่เหมือนใครด้วยการเป็นมือกลองถนัดซ้ายที่เซ็ตกลองแบบคนถนัดขวา ทำให้ลูกส่ง (fill) ของเขามีกระบวนการที่พิลึกพิลั่นแต่ฟังแล้วมีเสน่ห์ บางคนเรียกมันว่าลูกส่งย้อนศร (backwards fills) ซึ่งคุณจะได้ยินชัดเจนในเพลงอย่าง A Day In The Life, Hey Jude, Paperback Writer หรือเพลงที่ริงโก้เองบอกว่าเป็นเพลงที่เขาตีได้ดีที่สุดอย่าง Rain คำจำกัดความในการตีกลองของริงโก้คือ เขาเป็นมือกลองที่เน้นอารมณ์ (feel) และทำทุกอย่างเพื่อส่งเสริมตัวบทเพลง (support)

ริงโก้มีผลงานการแต่งเพลง (เดี่ยว ๆ) ให้ The Beatles เพียงสองเพลงคือ Don’t Pass Me By (1968) และ Octopus’s Garden (1969) แต่เขาก็มีส่วนช่วยคิดชื่อเพลงเท่ ๆ ด้วยการใช้ภาษาแบบนอกกรอบนอกตำราของเขาในเพลง A Hard Day’s Night (1964) และ Tomorrow Never Knows (1966) ส่วนเพลงที่ทำให้เขาโด่งดังที่สุดคงไม่พ้น Yellow Submarine (1966) และ With A Little Help From My Friends (1967) ทั้งสองเพลงประพันธ์โดย เลนนอนและแมคคาร์ตนีย์

ในด้านการแสดง หลายสำนักยกย่องให้เขาเป็นเต่าทองที่มีฝีมือทางการแสดงภาพยนตร์ดีที่สุด ฉากโชว์เดี่ยวริมแม่น้ำใน A Hard Day’s Night (1964) ภาพยนตร์เรื่องแรกของ The Beatles เป็นตัวอย่างที่ดี และพอมาถึง Help! (1965) เขาก็รับบทเป็นตัวเอกของเรื่องเลยทีเดียว ไม่น่าแปลกใจที่หลังจาก The Beatles เลิกรา ริงโก้จะหันไปเอาดีทางการเล่นหนังอยู่พักหนึ่ง

เมื่อ The Beatles ประกาศหยุดการออกตระเวนแสดงสดในปี 1966 ริงโก้ สตาร์ไม่ปลื้มสิ่งนี้ เพราะเขารักการออกแสดงเล่นดนตรี ไปในประเทศที่ไม่เคยไป เขาเป็นสมาชิกของวงที่มีความสุขและรับมือได้ดีกับความบ้าคลั่งของ Beatlemania พอ ๆ กับพอล แต่ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของจอห์นและจอร์จที่เต็มกลืนกับเรื่องนี้แล้ว

การบันทึกเสียงของ The Beatles ในอัลบั้มมาสเตอร์พีซ Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band (1966-7) ทวีความซับซ้อนขึ้นมาก แต่นั่นหมายถึงริงโก้มีเวลาว่างในสตูดิโอมากขึ้น ระหว่างที่จอห์น, พอล, จอร์จ แต่งแต้มสีสันใส่บทเพลงของพวกเขา ริงโก้ก็รอแค่ไปตีกลองให้เท่านั้น เขากล่าวติดตลกว่า ช่วงอัดเสียง Sgt. Pepper เป็นช่วงที่เขาเล่นหมากรุกและไพ่เก่งขึ้นมาก รวมทั้งคิดค้นเทคนิคกีตาร์ใหม่ ๆ อีกด้วย

พอมาถึงอัลบั้ม ‘The Beatles’ (หรือที่เรียกกันติดปากว่า The White Album) (1968) สถานการณ์ในห้องอัดตึงเครียดถึงขีดสุด จนแม้คนสบาย ๆ ที่ดูเหมือนจะ ‘อะไรก็ได้’ อย่างริงโก้ยังสุดจะทน เขาเผ่นออกจากวงไปสองสัปดาห์ (น่าจะเป็นเพราะคำวิจารณ์การตีกลองของเขาจากพอลเป็นฟางเส้นสุดท้าย) ระหว่างนั้น The Beatles, แม้จะส่งโทรเลขไปตามง้อ, แต่ก็ไม่หยุดทำงาน พอล แมคคาร์ตนีย์ ลงมือตีกลองเองในเพลง Back In The U.S.S.R. และ Dear Prudence (กึ่ง ๆ จะเป็นการให้สัญญาณอะไรบางอย่าง) สุดท้ายริงโก้ก็ยอมกลับเข้าห้องอัด 

ในวันนั้นจอร์จ แฮริสัน จัดดอกไม้ประดับรอบ ๆ กลองชุดของริงโก้เพื่อ “ยินดีต้อนรับกลับบ้าน” เรื่องดี ๆ จากการออกจากวงชั่วคราวไปในครั้งนี้ คือริงโก้ ใช้ช่วงเวลานั้นแต่งเพลงใหม่ได้ 1 เพลง - Octopus’s Garden

ริงโก้มักจะได้ร้องเพลงอย่างน้อย 1 เพลงต่ออัลบั้ม (ยกเว้นอัลบั้ม A Hard Day’s Night และ Let It Be) บางทีก็เป็นเพลง cover หรือเพลงของ เลนนอน-แมคคาร์ตนีย์ ที่พวกเขาไม่อยากร้องเอง ช่วงที่ริงโก้ร้องในการแสดงมักจะเป็นไฮไลต์ของโชว์เสมอ เช่น Boys หรือ I Wanna Be Your Man

และหลังจากปฏิเสธคำรบเร้าของเพื่อน ๆ มานาน ในที่สุดริงโก้ก็ยอมโซโลกลองในอัลบั้มของ The Beatles ในเพลง The End, อัลบั้ม Abbey Road (1969) อันเป็นเพลงสุดท้ายของอัลบั้มสุดท้ายของพวกเขา มันอาจจะไม่ได้ซับซ้อนหรือยาวหลายนาทีเหมือนการโซโลของยอดมือกลองคนอื่น ๆ กระนั้นก็เต็มไปด้วยความน่าตื่นเต้น, ลงตัว และสมบูรณ์แบบไม่เกินเลยบทเพลง

 

Beatles Drums 

ริงโก้เปลี่ยนจากกลอง Ajax มาเป็น Premier Mahogany Duroplastic Drum Kit ในเดือนกรกฎาคม 1960 สนนราคาประมาณ 125 ปอนด์ จัดเป็นเซ็ตของพรีเมียร์ที่ราคาประหยัดที่สุดในยุคนั้น เขาใส่ตัวอักษร R-S ลงที่หน้ากระเดื่องกลองชุดนี้ ซึ่งอาจหมายถึง Ringo Starr หรือ Rory Storm ก็ได้ แต่ภายหลังเขาก็เปลี่ยนเป็น Ringo Starr เต็ม ๆ และนี่คือกลองชุดแรกที่ริงโก้หอบไปใช้ในวันแรก ๆ ที่เข้าวง The Beatles ก่อนที่จะเปลี่ยนคำว่า Ringo Starr เป็น logo The Beatles ชุดแรกที่มีหนวดแมลงที่ตัว B (ออกแบบโดยพอล แมคคาร์ตนีย์, วาดโดย เท็กซ์ โอฮาร่า (Tex O’Hara)) ในปี 1963 ริงโก้ใช้กลอง Premier ชุดนี้จนถึงวันที่ 12 พ.ค. 1963

ปลายเดือนเมษายน 1963 ไบรอัน เอ็ปสไตน์ (Brian Epstein) ผู้จัดการวง The Beatles พาริงโก้ไปที่ร้าน Drum City ในลอนดอน เพื่อชอปปิ้งกลองชุดใหม่ ริงโก้หมายมั่นว่าจะซื้อกลองยี่ห้อ Trixon แต่ในร้านวันนั้น Trixon ไม่มีสีที่ถูกใจเขา ทำให้สุดท้ายการชอปปิ้งมาจบที่ Ludwig สี Oyster Black Pearl เรียกว่าเลือกเพราะสีแท้ ๆ! 

ไบรอันเรียกร้องทางร้านว่า น่าจะมีการเพนท์ชื่อวงที่หน้ากลองซะหน่อย แทนที่จะมีแต่คำว่า Ludwig และ ไอวอร์ อาร์บิเทอร์ (Ivor Arbiter) เจ้าของร้าน Drum City ก็บริการลูกค้าโดยพลัน ด้วยการหยิบปากกาดินสอมาร่างแบบโลโก้ THE BEATLES สด ๆ ต่อหน้าไบรอันและริงโก้ตรงนั้น แบบที่มีตัว B ใหญ่ และ T หางยาวที่เรารู้จักกันดี ไอวอร์วาดออกมาสามสี่แบบ แต่ริงโก้และไบรอันเลือกแบบนี้ ส่วนคนวาดลงไปที่หน้ากระเดื่องจริง ๆ เป็นจิตรกรชื่อ เอ็ดดี้ สโตคส์ (Eddie Stokes) แน่นอนว่าทั้งไอวอร์และเอ็ดดี้ไม่มีใครจินตนาการได้ว่าในภายภาคหน้าเดอะ บีทเทิลส์ ตัวทีย๊าวยาวนี้มันจะกลายเป็นโลโก้ที่ยิ่งใหญ่ขนาดไหน

ริงโก้ สตาร์ ทำให้กลอง Ludwig โด่งดังไปทั่วโลกอย่างที่ไม่มีมือกลองคนไหนทำได้ เขาใช้กลองยี่ห้อนี้ในการแสดงสดและบันทึกเสียงกับ The Beatles ตลอด นับจากนั้นมา

 

สรุปรายนามกลองที่ริงโก้ใช้ในยุค The Beatles

1. 1960 Premier Mahogany Duroplastic Drum Kit (1962-1963) - ใช้ในการเล่นที่ Hamburg, The Cavern Club และในอัลบั้ม Please Please Me

2. 1963 Ludwig Downbeat Kit Oyster Black Pearl (1963-1964) – กลอง Ludwig ชุดแรกที่ซื้อจากร้าน Drum City ใช้ในการบันทึกเสียงอัลบั้ม With The Beatles และ A Hard Day’s Night 

3. 1963 Ludwig Downbeat  “Ed Sullivan Show” Kit Oyster Black Pearl (1964) - ซื้อที่นิวยอร์ก ก่อนการแสดงในรายการ Ed Sullivan Show, 9 กุมภาพันธ์ 1964 และใช้ในงานสำคัญนั้น รวมทั้งในภาพยนตร์ A Hard Day’s Night 

4. 1964 Ludwig Super Classic Kit Oyster Black Pearl (1964-1968) - ริงโก้ใช้งานกลองเซ็ตนี้อย่างยาวนานและมากมายตั้งแต่เดือนพ.ค. 1964 ทั้งในการบันทึกเสียง (อัลบั้ม Beatles For Sale จนถึง Yellow Submarine) และแสดงสด ถือเป็นกลองคู่ใจของริงโก้

5. 1965 Ludwig Super Classic “Shea Stadium” Kit (1965)  - ได้มาก่อนวันที่ 13 สิงหาคม 1965 ก่อนการทัวร์อเมริกา ริงโก้ใช้กลองชุดนี้ในทัวร์นั้นเท่านั้น รวมทั้งในคอนเสิร์ตประวัติศาสตร์ที่ Shea Stadium

6. 1967 Ludwig Maple "Hollywood" Kit (1968-1970) - ได้มาช่วงปลายปี 1968 ริงโก้ใช้มันในการบันทึกเสียงอัลบั้ม Let It Be และ Abbey Road

 

บินเดี่ยว

เมื่อ The Beatles แยกทางกัน ริงโก้เปิดฉากการเป็นศิลปินเดี่ยวของเขาได้ไม่เลวเลย เขาออกสองอัลบั้มในปี 1970 - Sentimental Journey, ริงโก้หยิบเพลงแสตนดาร์ดยุคหลังสงครามมาขับร้อง และ Beaucoups of Blues ที่เป็นแนวคันทรี่ที่เขาชื่นชอบ ตามมาด้วยซิงเกิ้ลฮิตอย่าง It Don’t Come Easy, Back Off Boogaloo, Photograph, You’re Sixteen สองเพลงหลังขึ้นถึงอันดับ 1 ในอเมริกา 

อัลบั้ม ‘Ringo’ (1973) งานแนวร็อกชุดแรกของริงโก้คือจุดสูงสุดของเขาทั้งในเชิงพาณิชย์และคำวิจารณ์ จากนั้นมา ริงโก้ก็ยังออกผลงานสม่ำเสมอไม่ให้แฟนได้ทันเริ่มจะคิดถึง แต่ไม่มีอะไรโดดเด่น นับถึงปีนี้ (2023) เขาก็ได้ออก studio albums มาถึง 20 ชุดเข้าไปแล้ว โดยชุดล่าสุดคือ What’s My Name (2019) ที่อาจจะเป็น LP ชุดสุดท้ายของเขา เพราะริงโก้ประกาศว่าต่อไปนี้เขาจะออกแต่ EP

ด้วยความเป็นคนน่ารักและเข้าได้กับทุกคน ริงโก้จึงไปร่วมงานกับอดีตสมาชิก Beatles คนอื่น ๆ ได้โดยไร้ปัญหา เขาตีกลองให้ George Harrison ในอัลบั้ม All Things Must Pass, Concert For Bangladesh, Living In A Material World และ Dark Horse ไปช่วย John Lennon ในอัลบั้ม Plastic Ono Band (จอห์นตอบแทนด้วยการแต่งเพลง Goodnight Vienna และ I’m The Greatest ให้ รวมทั้ง Life Begins At 40 และ Nobody Told Me ที่ริงโก้ทำใจไม่ได้ที่จะนำมาร้อง เพราะการเสียชีวิตของจอห์น), ส่วน Paul McCartney นั้น ริงโก้ไปตีกลองให้ในบางเพลงของ Tug of War, Pipes of Peace, Give My Regards To Broad Street และ Flaming Pie นี่เป็นแค่ตัวอย่างบางส่วน

ริงโก้ตั้งวง All-Starr Band ในปี 1989 โดยสมาชิกของวงจะเป็นมิตรสหายนักดนตรีดังที่หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ วงนี้จะมีหน้าที่ออกทัวร์เป็นหลัก ซึ่งริงโก้ดูจะมีความสุขดีมากกับโปรเจกต์นี้ อาจกล่าวได้ว่าเขายังคงยึดหลัก ‘get by with a little help from my friends’ ในการทำงานเสมอมา ตัวอย่างสมาชิกคนดังที่เคยร่วมงานกับ All-Starr Band ก็มี โจ วอลช์ (Joe Walsh), นิลส์ ลอฟเกรน (Nils Lofgren), ด็อกเตอร์ จอห์น (Dr. John), บิลลี่ เพรสตัน (Billy Preston), ปีเตอร์ แฟรมป์ตัน (Peter Frampton) และ เกร็ก เลค (Greg Lake) เป็นต้น จะหาใครรวยเพื่อนเท่าริงโก้ได้อีก

ริชาร์ด สตาร์กี้ ได้รับพระราชทานตำแหน่งท่านเซอร์ในปี 2018 นับเป็นเซอร์คนที่สองและคนสุดท้ายของวง The Beatles แต่เราจะไม่ค่อยได้ยินใครเรียกหรือเขียนถึงเขาว่า ‘เซอร์ริชาร์ด’ บ่อยนัก ริงโก้ยังไงก็ยังคงเป็นริงโก้

 

ชีวิตรัก

แต่งงานกับมอรีน คอกซ์ (Maureen Cox) ตั้งแต่ปี 1965 พบรักกันตั้งแต่ยุคแรกของ Beatlemania, เลิกรากันในสิบปีต่อมาเพราะความเจ้าชู้ของริงโก้ (มอรีนเสียชีวิตด้วยโรคลิวคีเมียในปี 1994) แต่งงานครั้งที่สองกับนักแสดงสาว บาร์บาร่า บาค (Barbara Bach) ในปี 1981 (พบกันในการแสดงภาพยนตร์ Caveman) และครองรักกันจนถึงทุกวันนี้ ริงโก้มีบุตรที่เกิดกับมอรีน 3 คน - Zak, Jason และ Lee แซ็กเป็นมือกลองฝีมือดีที่เคยเล่นให้กับ The Who, Oasis และ All-Starr Band

 

บทสรุปความเป็นริงโก้ 

“ริงโก้เป็นมือกลองที่โคตรเก่งเลย เขาเป็นมือกลองที่ดีเสมอมา อาจจะไม่เด่นด้านเทคนิค แต่ผมคิดว่าฝีมือกลองของเขาถูกประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริง พอ ๆ กับฝีมือเบสของพอล ผมว่าริงโก้และพอลนั้นมีดีพอจะชนกับทุกคนในวงการร็อคได้ พวกเราทุกคนไม่มีใครอ่านหรือเขียนโน้ตได้ แต่ถ้าวัดกันที่ความเป็นนักดนตรีแท้ ๆ แบบมนุษย์คนหนึ่งที่สร้างเสียงเพลงขึ้นมา ทั้งสองคนเจ๋งไม่แพ้ใคร!”

วาทะนี้อวยโดย จอห์น เลนนอน และย้ำอีกครั้งว่าเขาไม่เคยบอกว่า ริงโก้ไม่ใช่มือกลองที่ดีที่สุดใน The Beatles!

 

เรื่อง: กองทุน รวยแท้

ภาพ: แฟ้มภาพจาก Getty Images

อ้างอิง:

- หนังสือ

The Beatles Anthology by The Beatles

All These Years Vol.1 : Tune In by Mark Lewisohn

The Complete Recording Sessions by Mark Lewisohn

The Beatles by Hunter Davies

The Beatles Book (Encyclopedia) by Hunter Davies

Shout! The Beatles In Their Generation By Philip Norman

The Best of The Beatles Book by Tony Barrow

Beatles gear by Andy Babiuk

The Beatles Encyclopedia by Kenneth Womack

- เว็บไซต์

The Beatles Bible

Wikipedia

ringostarr.com

ringosbeatlekits.com