The Beatles : อัลบั้มรวมเพลงฮิตพลิกโลกดนตรี RED AND BLUE

The Beatles : อัลบั้มรวมเพลงฮิตพลิกโลกดนตรี RED AND BLUE

The Beatles ฉลองโอกาสครบรอบ 50 ปีของอัลบั้มรวมเพลงเอกในตำนานด้วยการออกเวอร์ชันใหม่ เพิ่มเพลงเพียบ และอัปเกรดคุณภาพเสียงแบบหลุดโลก

  • ปี 2023 เป็นขวบปีที่อัลบั้มรวมฮิตอมตะนิรันดร์กาลของ The Beatles ที่มีชื่อเล่นเรียกกันติดปากว่า Red และ Blue Album ครบรอบครึ่งศตวรรษพอดี 
  • ทั้ง 2 อัลบั้ม ได้รับการยกย่องว่าเป็นอัลบั้มรวมเพลงสุดคลาสสิกของวงการดนตรีชุดหนึ่ง คุณภาพอันยอดเยี่ยมของแต่ละแทร็คและความลื่นไหลในการต่อเพลงที่ไล่เรียงกันมาตามยุคสมัย ทำให้มันเป็นอัลบั้มที่ฟังได้เนิ่นนานตลอดกาลไม่รู้เบื่อ

เมื่อ ‘พอล แม็กคาร์ตนีย์’ และ ‘ริงโก สตาร์’ ประสบความสำเร็จในการนำเดโมเทปเพลงสุดท้ายของ ‘จอห์น เลนนอน’ บวกกับการบันทึกเสียงเก่าของ ‘จอร์จ แฮร์ริสัน’ ในเพลง ‘Now And Then’ มาทำให้เป็นบทเพลงที่สมบูรณ์ โดยใช้เวลาเกือบ 30 ปี (รายละเอียดของเพลงนี้ มีอยู่ในบทความ “Now And Then การฟื้นคืนอีกครั้ง ก่อนจากไปตลอดกาลของ The Beatles” ที่เผยแพร่ใน The People ก่อนหน้านี้) 

คำถามต่อไปที่พอลและริงโกต้องตอบคือ แล้วจะเอาเพลง Now And  Then นี้ไปใส่ไว้ในอัลบั้มไหนดี นอกเหนือจากการออกเป็นซิงเกิล

ว่าไปแล้ว ที่อยู่ที่แท้จริงของ Now And Then ควรจะเป็นแทร็คแรกของอัลบั้ม Anthology 3 แต่มันยังดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไรที่จะ reissue Anthology series ในนาทีนี้ แล้วใครบางคนก็อาจจะสะกิดเตือนขึ้นมาว่า 2023 เป็นขวบปีที่อัลบั้มรวมฮิตอมตะนิรันดร์กาลของพวกเขา : The Beatles /1962 - 1966 และ 1967 - 1970 (หรือที่มีชื่อเล่นเรียกกันติดปากว่า Red และ Blue Album) ครบรอบครึ่งศตวรรษพอดี ทำไมไม่ออก edition ใหม่ของ 2 อัลบั้มนี้ แล้วพ่วง Now And Then เข้าไปด้วยล่ะ?

แม้ว่า Now And Then จะไม่ได้อยู่ในกติกาของ Blue Album คือเป็นเพลงของ The Beatles ที่ released ในระหว่างปี 1967 - 1970 เลยก็ตาม (มันเป็นเพลงที่จอห์น เลนนอน แต่งไว้ประมาณปี 1977 และ Beatles ที่เหลือนำมาทำต่อจนเสร็จในปี 2022) แต่นี่คือ The Beatles พวกเขาไม่แคร์อะไรกับกติกานักหรอก Now And Then ถูกเหน็บเข้ามาเป็นเพลงสุดท้ายใน 1967 - 1970 ต่อจากเพลง The Long And Winding Road และ, เมื่อฟังด้วยจิตใจอันเปิดกว้าง, มันก็ฟังดูถูกที่ถูกทาง เปรียบเสมือนฉากเพิ่มเติมที่โผล่มาในช่วง end credit ของภาพยนตร์เรื่องยิ่งใหญ่ อันกล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากเรื่องราวหลักในภาพยนตร์จบไปแล้วหลายสิบปี

ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 1972 The Beatles เพิ่งแตกวงกันไปได้ไม่ถึง 3 ปี พวกเขายังไม่มีอัลบั้มรวมฮิตจริง ๆ จัง ๆ ที่คู่ควรกับสถานะของวง (จะมีก็แต่ Collection of Beatles Oldies ที่ออกมาในปี 1966 อันห่างไกลจากคำว่างานรวมเพลงเอกที่สมบูรณ์) จู่ ๆ ก็มี bootleg albums ชื่อ ‘Alpha Omega’ เป็นอัลบั้มชุด 4 แผ่นออกสู่ท้องตลาด แถมหาญกล้ามีโฆษณาทางโทรทัศน์อีกด้วย มันประกอบไปด้วยเพลงของ The Beatles คละเคล้าไปกับงานจากงานเดี่ยวของสมาชิกที่เพิ่งออกมา เป็นการรวมเพลงแบบมั่วซั่ว แต่ดันขายดีซะงั้น เพราะมันเป็นสิ่งที่ตลาดโหยหา

หตุการณ์นี้ทำให้ ‘อัลเลน ไคลน์’ (Allen Klein) ผู้จัดการวง The Beatles ในขณะนั้นนั่งไม่ติด เขาจำเป็นต้องปล่อยงานรวมฮิตอย่างเป็นทางการของ Beatles ออกมาชนกับงานเถื่อนนี้โดยด่วน ไคลน์ติดต่อ ‘อัล สเตกเลอร์’ (Al Steckler) ผู้เป็น creative director ของ ABKCO, บริษัทของไคลน์  มารับงานคัดเลือกเพลง โดยจุดมุ่งหมายคือจะเป็นอัลบั้ม 4 แผ่นเท่ากับ Alpha Omega และจะรวมซิงเกิลดังของ Beatles ไว้อย่างครบครัน และยังมี album tracks ที่น่าสนใจสอดแทรกเข้ามาอีกด้วย ไม่ใช่มีแต่เพลงฮิตล้วน ๆ คอนเซ็ปต์นี้มาในแนวทางเดียวกับอัลบั้ม Hot Rocks 1964 - 1971 ของ Rolling Stones ที่ออกมาในปี 1971 อาจจะบอกได้ว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่ Beatles เดินตามหลัง Stones

ในเวลาไม่นาน 1962 - 1966 และ 1967 - 1970 ได้รับการยกย่องว่าเป็นอัลบั้มรวมเพลงสุดคลาสสิกของวงการดนตรีชุดหนึ่ง คุณภาพอันยอดเยี่ยมของแต่ละแทร็คและความลื่นไหลในการต่อเพลงที่ไล่เรียงกันมาตามยุคสมัย ทำให้มันเป็นอัลบั้มที่ฟังได้เนิ่นนานตลอดกาลไม่รู้เบื่อ และยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการฟังเพลงของ The Beatles ของนักฟังที่เกิดไม่ทันพวกเขา (ข้าพเจ้าก็เป็นหนึ่งในนั้น)

และมันอาจเป็นสิ่งดีงามไม่กี่สิ่งที่อัลเลน ไคลน์ ฝากไว้ในฐานะผู้จัดการวงตัวแสบของ The Beatles

เพลงดัง ๆ หลายเพลงของ The Beatles ก็ไม่ได้อยู่ในอัลบั้มหลัก เพราะพวกเขามีนโยบายว่าเพลงที่ออกเป็นซิงเกิลแล้วก็ไม่ควรมาใส่ในอัลบั้มอีก (มีข้อยกเว้นบ้าง) การซื้อหา Red และ Blue Album มาฟังในปี 1973 จึงเป็นทางออกที่รวดเร็วและประหยัดกว่าการไปตามหาซื้อ singles หลายแผ่น (ปัญหานี้คลี่คลายลงไปเมื่อมีอัลบั้ม Past Masters ออกมาในยุคปลาย 80’s)

กระนั้นมันก็ยังมีข้อให้ติ ไม่มีเพลงที่เป็นเสียงร้องนำหรือบทประพันธ์ของจอร์จ แฮร์ริสัน เลยใน 1962 - 1966 และอัลบั้มนี้ยังประเคนเพลงจาก Rubber Soul มาเกือบครึ่งอัลบั้ม ขณะที่ Revolver ได้โควตามาน้อยนิดแค่ 2 เพลง ทั้ง ๆ ที่ความดีงามของทั้ง 2 อัลบั้มไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน  และเนื้อที่ในแผ่นเสียงของ Red Album ก็ยังเหลืออีกมากมาย ฟังไม่คุ้มว่างั้นเถอะ, ส่วนใน 1967 - 1970 ก็มีเพลงจาก The White Album มาน้อยไปหน่อยแค่ 3 แทร็ค (จากทั้งหมด 30 แทร็คของ White Album ที่เป็นอัลบั้มคู่)

ภาพปกจากฝีมือการถ่ายภาพของ ‘แองกัส แมคบีน’ (Angus McBean) ก็เป็นหนึ่งในความคลาสสิก ทั้งสองภาพถ่ายในสถานที่เดียวกัน (Manchester Square, London) มุมมองเดียวกัน แต่ห่างกัน 6 ปี ทว่าภาพลักษณ์ของ The Beatles เปลี่ยนไปมากมายเหลือเกิน จาก 4 หนุ่มหน้าใส กลายเป็นฮิปปี้ผมเผ้าหนวดเครารุงรัง (ยกเว้นพอลคนหนึ่ง ที่หน้าใสทั้งสองภาพ) ซึ่งในขณะเดียวกัน ดนตรีของพวกเขาจากยุค 1962 - 1966 มาเป็น 1967 - 1970 ก็เป็นก้าวกระโดดราวกับเป็นคนละวงดนตรีโดยสิ้นเชิง เป็นการสอดรับระหว่างอิมเมจและดนตรีที่ลงตัวหมดจด

ปก 1962 - 1966 เป็น photo session เดียวกับภาพปกอัลบั้ม Please Please Me (แต่เป็นคนละภาพ) ส่วนปก 1967 - 1970 เคยถูกเลือกให้เป็นปกอัลบั้ม ‘Get Back’ แต่โครงการถูกพับไปเสียก่อน

ความสำเร็จของ 1962 - 1966 และ 1967 - 1970 เป็นการเปิดศักราชความตื่นตัวให้ศิลปินอื่นในการออกอัลบั้มรวมฮิตอย่างเป็นล่ำเป็นสัน The Beach Boys, CCR, เอลตัน จอห์น (Elton John), Eagles, อลิซ คูเปอร์ (Alice Cooper) และ สตีฟ มิลเลอร์ (Steve Miller) คือตัวอย่างของศิลปินผู้ได้ดิบได้ดีในงานรวมฮิต บางชุดขายดีกว่าอัลบั้มหลักของพวกเขาเสียอีก

ตัว Red และ Blue Album ก็ขายดีอย่างต่อเนื่อง และไม่เคยขาดหายไปจากท้องตลาด มันปรากฏตัวในรูปแบบคอมแพ็กดิสก์ครั้งแรกในปี 1993 และอีกครั้งในปี 2010 ในเวอร์ชันที่มีสุ้มเสียงที่ได้จากการรีมาสเตอร์ครั้งใหญ่ในปี 2009 แต่ทุกครั้งที่ผ่านมาไม่เคยมีการเปลี่ยน tracklist จาก original เมื่อปี 1973 แต่อย่างใด

ทุกอย่างเปลี่ยนไปใน 2023 edition ของ 1962 - 1966 และ 1967 - 1970 หน้าปกอาจจะคล้ายคลึงของเดิม แต่ที่เพิ่มมาคือจำนวนเพลงแต่ละชุด Red เพิ่มมาอีก 12 เพลง จากของเดิมที่มี 26, ส่วน Blue เพิ่มมาอีก 9 เพลง จากเดิมมี 27 หนึ่งใน 9 เพลงนี้คือ Now And Then

ถ้าเรามองมันเป็นอัลบั้ม 4 แผ่น นี่คืองาน boxset ดี ๆ นี่เอง และคงไม่มีใครบ่นว่าเพลงน้อยไปอีก

เพลงที่เพิ่มเข้ามาใหม่ใน Red Album คือ I Saw Her Standing There, Twist And Shout, This Boy, Roll Over Beethoven, You Really Got A Hold On Me, You Can’t Do That, If I Needed Someone, Taxman, Got To Get You Into My Life, I’m Only Sleeping, Here, There And Everywhere และ Tomorrow Never Knows. 

ส่วนสมาชิกใหม่ของ Blue Album คือ  Within You Without You, Dear Prudence, Glass Onion, Blackbird, Hey Bulldog, Oh! Darling, I Want You (She’s So Heavy), I Me Mine และแน่นอน, Now And Then

แต่ความคุ้มค่าและจุดขายที่แท้จริงของ 1962 - 1966 และ 1967 - 1970 อยู่ที่ทุกเพลงที่คุณได้ยินเป็นเวอร์ชันรีมิกซ์ที่เป็นผลงานของไจลส์ มาร์ตินและทีมงาน 

ถ้าไม่นับการลองของในอัลบั้ม Yellow Submarine Songtrack (1999) และงานรวมฮิต ‘1’ ในปี 2015 กระบวนการ ‘รีมิกซ์’ ผลงานของ The Beatles เริ่มมีอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2017 ในอัลบั้มฉลองครบรอบ 50 ปีของ Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ก่อนหน้านี้เราจะได้ฟังแต่ฉบับมิกซ์เสียงโดยจอร์จ มาร์ติน ตั้งแต่ยุค 60’s แทบทั้งนั้น แม้แต่การรีมาสเตอร์ครั้งใหญ่ในปี 2009 ก็ไม่ได้มีการมิกซ์ใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่ปรับปรุงคุณภาพเสียงจากมาสเตอร์เดิมเท่านั้น การรีมิกซ์นั้นมีผลต่อคุณภาพเสียงโดยรวมมากกว่าการรีมาสเตอร์ เพราะมันเหมือนเป็นการล้างไพ่ ปรุงอาหารใส่จานกันใหม่อีกครั้ง ไม่ใช่แค่การเหยาะผงชูรสนิด ๆ หน่อย ๆ

กระบวนการรีมิกซ์ มีอย่างต่อเนื่องค่อยเป็นค่อยไป ต่อกันด้วย The Beatles (The White Album) ในปี 2018, Abbey Road (2019), Let It Be (2021) และ Revolver (2022) โดยการรีมิกซ์ในทุกชุดของไจลส์ มาร์ตินได้รับคำชื่นชมเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตัวของข้าพเจ้าเองชื่นชมการมิกซ์ใหม่ในเกือบทั้งหมด จะมีข้อติติงก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ระหว่างการเดินทางของการรีมิกซ์นี้ ได้มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นในปี 2021 อันมีชื่อว่า MAL ซึ่งเอไอซอฟต์แวร์นี้ มีความสามารถในการแยกเสียงต่าง ๆ ที่อัดรวมกันอยู่ในแชนเนลเดียวออกมาได้อย่างน่ามหัศจรรย์ MAL แผลงฤทธิ์ครั้งแรกในซาวนด์แทร็คของสารคดี Get Back ที่ ‘ปีเตอร์ แจ๊กสัน’ (Peter Jackson) กำกับ โดยมันทำให้เรารู้ว่าจอร์จ แฮร์ริสัน กับ จอห์น เลนนอน กำลังคุยอะไรกันอยู่ ภายใต้เสียงกีตาร์ที่ดังสนั่นนั้น

MAL ถูกนำมาใช้ในการรีมิกซ์ Revolver ในปีต่อมา ส่งผลให้สุ้มเสียงของ Revolver หนักแน่นและแจ่มกระจ่างอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

บทเพลงใน 1962 - 1966 และ 1967 - 1970 ฉบับ 2023 นี้จึงใช้เพลงจากการรีมิกซ์ใหม่ที่ทำในช่วงปี 2015 - 2022 นี้ทั้งหมด ยกเว้นเพลงที่ยังไม่ได้รีมิกซ์ ซึ่งก็คือเพลงเกือบทั้งหมดจากอัลบั้ม Rubber Soul (1965) ย้อนลงไป

เมื่อข้าพเจ้าทราบและซึ้งถึงศักยภาพของ MAL สิ่งหนึ่งที่คิดในใจ คือมันจะสามารถจัดการกับเพลงที่มีแต่ mono master อย่าง Love Me Do และ She Loves You ให้กลายเป็น stereo ได้ไหมนะ แต่ก่อนหน้าที่จะได้ฟัง 2 เพลงนั้น MAL ก็โชว์ผลงานก้องโลก ด้วยการฉีกเสียงร้องของจอห์น เลนนอน ออกจากเสียงเปียโนในเดโมเทปม้วนนั้น ทำให้เราได้ฟัง ‘Now And Then’ ในคุณภาพเสียงที่เกือบจะเท่าจอห์นมาร่วมร้องเล่นด้วยสด ๆ

จากนี้เราจะมาโฟกัสกันที่เพลงที่เป็น 2023 mix เริ่มจากใน Red Album ก่อน

Love Me Do เลือกเวอร์ชันที่ริงโกเป็นมือกลอง เช่นเดียวกับที่เป็นหน้าบีในซิงเกิล Now And Then เป็นการสร้าง stereo จาก mono ที่ไม่หวือหวามาก ออกเรียบ ๆ ไม่แยกชิ้นดนตรีมากมาย เบสของพอลถูกวางอยู่ด้านซ้ายใกล้เคียงกับเสียงฮาร์โมนิกาจากจอห์น กลองและกีตาร์โปร่งของจอร์จออกไปทางขวา เสียงร้องของจอห์นและพอลลอยเด่นอยู่ตรงกลาง ประสานกลมกล่อม แต่แยกจากกันได้ชัดเจน ฟังแล้วบอกได้เลยว่า MAL สอบผ่านฉลุย

หลังจากฟังมันในแบบ mono และ fake stereo มาตลอดกาล, เราก็ได้ฟัง She Loves You ในแบบ true stereo ได้ในที่สุด (แม้จะเป็นแบบโกงนิด ๆ) แต่ด้วยความที่สุ้มเสียงใน mono master นั้นล้งเล้งเกินไป มันจึงออกมาไม่น่าฟังเท่าไรนัก ไม่แปลกอะไรที่หลายคนจะชอบแบบโมโนมากกว่า ยิ่งเมื่อถูกนำมาวางเปรียบเทียบกับ I Want To Hold Your Hand ที่เป็น stereo 4 tracks แท้ ๆ แล้ว มันห่างไกลกันมากในแง่ sonic ทั้ง ๆ ที่ 2 เพลงนี้คือ landmark ของ Beatlemania เท่าเทียมกัน เพลงหนึ่งช่วยให้พวกเขายึดครองเกาะอังกฤษ อีกเพลงคือหัวหอกในการบุกสหรัฐอเมริกา

I Saw Her Standing There และ Twist And Shout จากอัลบั้ม Please Please Me คือ highlights อย่างแน่นอน เพราะมันทรงพลังและคมชัดสุด ๆ ในเวอร์ชัน true stereo นี้ ในแบบที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน อัลบั้มนี้ดั้งเดิมบันทึกเสียงแบบ twin track ดังนั้น stereo version ที่เราเคยฟัง จึงเป็นแบบแบ่งกลุ่มดนตรีแยกข้างกันเด็ดขาดไปเลยซ้าย-ขวา แต่ไจลส์ มาร์ติน ใช้ MAL ไปชำแหละแต่ละเสียงออกมาจาก mono master (เรียกกันว่าการ ‘demix’) และจับเสียงเหล่านั้นมามิกซ์ใหม่ได้อย่างเฉียบขาด ถ้าใครไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่นี้มาก่อน ก็ต้องคิดว่ามันถูกบันทึกเสียงดั้งเดิมมาแบบ 4 tracks เป็นอย่างน้อยแน่นอน

เพลงจากอัลบั้ม A Hard Day’s Night (1964) ในฉบับ stereo remasters 2009 สุ้มเสียงแห้งแล้งน่าผิดหวัง แต่ใน 4 เพลงที่มาจากอัลบั้มนี้ ที่มาปรากฏใน Red Album ได้แก้ไขความผิดพลาดนั้นอย่างเด็ดขาด ทั้ง A Hard Day’s Night, And I Love Her, Can’t Buy Me Love และ You Can’t Do That สดใสทรงพลังสุด ๆ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการได้ฟังอัลบั้ม A Hard Day’s Night ฉบับเต็มแบบ remix ที่คงจะออกมาในอนาคตจะเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นแค่ไหน (ปีหน้าดีไหม ครบรอบ 60 ปีพอดี?)

Ticket To Ride จาก Help! (1965) เพลงที่จัดว่าหนักแน่นที่สุดของ Beatles ยุคแรก และไม่เคยมีปัญหาเรื่องคุณภาพเสียง แต่ในมิกซ์นี้มันกลับดีขึ้นกว่าเดิม ประหนึ่งเครื่องดนตรีจะทะลุลำโพงออกมาหาผู้ฟัง รวมถึง Yesterday เพลงสุดดังจากอัลบั้มเดียวกันก็ให้ประสบการณ์การฟังอันแปลกใหม่ได้อีก

พระเอกตัวจริงใน Red Album ฉบับนี้คือเพลงจาก Rubber Soul sessions ปัญหาของมิกซ์เดิมคือ Sir George Martin วางตำแหน่งชิ้นดนตรีในแบบที่ไม่ควรจะเป็น (เช่นการวางเสียงร้องหรือเครื่องดนตรีบางชิ้นไว้ในมิติที่ฟังแล้วขัดความรู้สึก) แต่การมิกซ์ใหม่นี้ขจัดปัญหานี้ไปทั้งหมด ตั้งแต่ Day Tripper, We Can Work It Out, Drive My Car, Michelle, In My Life, Girl, If I Needed Someone ทุกเพลงให้เสียงออกมาแบบแทบจะไร้ที่ติ โดยเฉพาะ Norwegian Wood (This Bird Has Flown) ที่คุณต้องขยี้หูอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่านั่นคือเสียงร้องของจอห์น เลนนอน ที่คุณคุ้นเคย เพราะมันคมชัดและให้ความรู้สึกเหมือนจอห์นมาร้องใกล้ ๆ อย่างเหลือเชื่อที่สุด ส่วนเพลงที่ร็อกก็ขับพลังกันไม่มียั้ง ขอแนะนำให้ฟัง Day Tripper

ความจริงแล้วสิ่งที่แฟน Beatles รอคอยและคาดหวังว่าจะได้รับในปีนี้คือ Rubber Soul ฉบับ remixed and expanded แต่ก็ถูก Red และ Blue มาตัดหน้าไปเสียก่อน โดยเพลงใน Rubber Soul ฉบับมิกซ์ใหม่ก็มาอยู่ใน Red นี้เกินครึ่งเสียแล้ว คำถามคือถ้าต่อไปจะออก Rubber Soul Deluxe Edition จะมีอะไรน่าสนใจเหลืออีก

ส่วนเพลงจาก Revolver ทุกแทร็คที่เลือกมาเป็นเวอร์ชัน 2022 remix ที่ออกมาปีก่อน จึงไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นในแง่คุณภาพเสียง เพราะตื่นเต้นไปแล้วตั้งแต่ปีก่อน ในฉบับดั้งเดิมของ Red Album ดูเหมือน Revolver จะเป็นเพียงลูกของภรรยาน้อยคนหนึ่ง ที่ถูกคัดเลือกมาเพียง 2 แทร็ค แต่คราวนี้จัดมาเต็ม 8 แทร็คเต็มอิ่ม สมศักดิ์ศรีความยอดเยี่ยมของมัน และนับถือในความกล้าหาญที่เลือกเพลงค่อนข้างฟังไม่ง่ายอย่าง I’m Only Sleeping และ Tomorrow Never Knows เข้ามาร่วมพรรคด้วย

แม้ Red Album ฉบับ 2023 นี้จะไม่มีเพลงใหม่จริง ๆ แต่ด้วยเหตุผลของการเพิ่มเพลงจนปรีดิ์เปรมและการได้ฟังทุกเพลงในแบบ remixed ก็เพียงพอที่จะให้คุณจ่ายเงินซื้อมันได้อีกครั้ง

สำหรับ Blue Album แน่นอนจุดขายคือ Now And Then ถ้าคุณอยากเก็บเพลงนี้ไว้ในรูปแบบ album เพราะเพลงในชุดนี้ส่วนใหญ่เป็น mix ที่เราได้ฟังกันไปแล้วก่อนหน้านี้ จะยกเว้นก็แค่ 6 เพลงนี้ I Am The Walrus, The Fool On The Hill, Magical Mystery Tour, Revolution, Hey Bulldog และ Old Brown Shoe เท่านั้นที่เป็น 2023 mix

I Am The Walrus เป็นเพลงที่ไจลส์ มาร์ตินและทีมงานปล่อยของในการมิกซ์ไว้อย่างเมามันที่สุด เพลงนี้มี elements มากมายให้เล่นอยู่แล้ว จากดนตรีและเสียงร้องที่มหัศจรรย์พันลึก โดยเฉพาะช่วงท้ายเพลง sound effects เสียงละครเชกสเปียร์จากรายการวิทยุของ BBC มีความแตกต่างจากต้นฉบับอย่างน่าตกใจ หลายคนชื่นชมมิกซ์ใหม่นี้ แต่บางคนก็ว่าไจลส์หนักมือไปนิด อย่างไรก็ตามนี่น่าจะเป็นมิกซ์ที่น่าตื่นเต้นที่สุดใน Red และ Blue Album 2023 และตอกย้ำความล้ำยุคของเพลงนี้ที่ทุกวันนี้โลกก็ยังไล่ไม่ทัน!

Magical Mystery Tour มีความอลังการและเร้าอารมณ์สมชื่อ เป็นบทเพลงที่กระหึ่มกึกก้องที่สุดเพลงหนึ่งของพวกเขา ส่วน The Fool On The Hill โฟกัสกับเสียงร้องของพอลที่ลื่นไหลไปกับเสียง recorder แต่ความชัดแจ้งจากการรีมิกซ์ก็ต้องแลกไปกับความนุ่มนวลที่ถดถอย

Revolution ฉบับ single ที่ขึ้นชื่อเรื่องเสียงกีตาร์คู่อันดุเดือดของจอห์นและจอร์จ คราวนี้ก็ได้ฟังกันอย่างกระจ่างชัดและครบถ้วน (เราเคยได้ฟังกันไปบางส่วนแล้วในอัลบั้ม ‘Love’) แต่บางท่านก็วิจารณ์ว่ามิกซ์นี้เสียงสะอาดเกินไปอีก….

Hey Bulldog ตัวแทนหนึ่งเดียวจากอัลบั้ม ‘Yellow Submarine’ เคยได้รับการรีมิกซ์ไปครั้งหนึ่งแล้วในอัลบั้ม ‘Yellow Submarine Songtrack’ (1999) แต่เวอร์ชันนี้ใน Blue Album มันดุดันกว่ามาก เพลงนี้จัดเป็นเพลงคุณภาพที่เป็นที่รู้จักกันน้อยไปหน่อย (underrated) เพลงหนึ่งของ The Beatles และบรรจุมันเข้ามาใน Blue Album ก็ทำให้ collection นี้ได้ชื่อว่ามีเพลงมาจากทุกอัลบั้มหลักของพวกเขาจริง ๆ

Old Brown Shoe เดิมเป็นหน้าบีของซิงเกิล The Ballad of John and Yoko ผลงานการประพันธ์ของจอร์จ แฮร์ริสัน แต่เป็นเพลงหนึ่งที่พอล แม็กคาร์ตนีย์ เล่นเบสได้น่ามหัศจรรย์ที่สุด มิกซ์นี้ลดความดังของเสียงเบสลงนิดหน่อย ทำให้ฟังดูเป็นการประชันระหว่างเบสและกีตาร์ โดยมีกลองของริงโกตีประคองอยู่ตลอดเพลง จัดเป็น underrated song ยอดเยี่ยมอีกเพลง นี่คือ 2023 mix เพลงสุดท้ายใน 1967 - 1970

ถ้าใน Red Album มีเพลง Tomorrow Never Knows เป็นความกล้าหาญในการเลือกเข้ามา ใน Blue ก็คงต้องเป็น I Want You (She’s So Heavy) จาก Abbey Road เพราะมันหนักเครียดยาวเหยียด แต่การใส่มันเข้ามาก็เป็นการเติมเต็มถึงความหลากหลายแห่งดนตรีของ The Beatles ได้เป็นอย่างดี

ถ้าคุณเคยมี Red และ Blue Album ชุดก่อนหน้านี้แล้ว จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเสียเงินซื้อฉบับ 2023 นี้? อาจจะไม่จำเป็น ถ้าคุณไม่ต้องการสะสมเพลง Now And Then ไว้ในรูปแบบอัลบั้ม หรือคุณไม่แคร์เรื่องคุณภาพเสียงที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือการได้ฟังบางเพลงในแบบ true stereo เป็นครั้งแรก แน่นอน นี่เรากำลังพูดถึงแฟนเพลงที่ยังซื้อหาสื่อจับต้องได้กันอยู่ ถ้าคุณเป็น ‘ขาสตรีม’ ที่ฟังจากช่องทางทางอินเทอร์เน็ตก็คงไม่มีปัญหาอะไรในการลองฟังอยู่แล้ว

และอีกคำถามหนึ่งก็คือ ระหว่างเวอร์ชัน 2023 และ 1973 ของ Red และ Blue Album ชุดไหนดีกว่ากัน ถ้าไม่คิดอะไรมาก เวอร์ชันใหม่ที่เสียงได้รับการปรับปรุง และจำนวนเพลงก็เยอะกว่า ก็น่าจะดีกว่าแน่นอน แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง บางคนก็อาจอยากฟังเสียงแบบดั้งเดิม (original mix) และปริมาณเพลงที่ไม่ต้องมากมายนักแต่คัดมาแต่หัวกะทิมากกว่า สำหรับบางคน ความมากกว่าอาจจะไม่ได้หมายถึงดีกว่าเสมอไป (more is less) และอีกหัวข้อหนึ่งที่อาจจะถกเถียงกันคือความเป็น collection ของบทเพลงที่เป็นการประพันธ์ของพวกเขาเองล้วน ๆ ในฉบับ 1973 อันถูกทำลายไปในเวอร์ชันใหม่ ที่ใส่เพลง cover เข้ามาบ้าง

โชคดีที่เรายังเลือกได้ และมีทั้งสองแบบให้เลือกซื้อเลือกฟัง

และนั่นคือเรื่องราวของงานรวมเพลง (compilation) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงดนตรีที่โด่งดังที่สุดตลอดกาล… The Beatles!


ภาพ : www.thebeatles.com