‘ริค รูบิน’ โปรดิวเซอร์มือทอง ปั้นศิลปินดังระดับโลก แต่แทบไม่รู้เรื่องดนตรี(ทางเทคนิค)

‘ริค รูบิน’ โปรดิวเซอร์มือทอง ปั้นศิลปินดังระดับโลก แต่แทบไม่รู้เรื่องดนตรี(ทางเทคนิค)

ริค รูบิน ยอดโปรดิวเซอร์มือทองของโลกที่ปั้นศิลปินดังในตำนานหลากหลายแนวด้วยจิตวิญญาณ ขณะที่ตัวเขาแทบไม่มีความรู้เรื่องดนตรีในเชิงเทคนิคเลย ลองมาดูเคล็ดลับความสำเร็จในเส้นทางอาชีพของเขากัน

  • ริค รูบิน โปรดิวเซอร์ที่ปั้นศิลปินระดับโลกมากมาย ตั้งแต่ Red Hot Chili Peppers ไปจนถึง Shakira ล้วนเคยทำงานกับโปรดิวเซอร์มือทอง
  • ริค รูบิน ไม่มีความรู้ทางดนตรีในเชิงเทคนิค เขาทำงานด้วยสัญชาตญาณ พร้อมแนวคิดการสร้างสรรค์ และปลุกการรับรู้สิ่งใหม่ให้กับศิลปิน

Johnny Cash, Jay-Z, Dixie Chicks, Red Hot Chili Peppers, Justin Timberlake, Metallica, Slayer, System of a Down, U2, Limp Bizkit, Rage Against the Machine, Eminem, James Blake, Shakira, Ed Sheeran, Adele, The Strokes, Imagine Dragons, Kesha, Linkin Park ฯลฯ

สิ่งที่ปรากฏนี้คือส่วนหนึ่งของรายนามของศิลปินประชานิยมที่มีสังกัดภายใต้ค่ายยักษ์ใหญ่ในระบบอุตสาหกรรมดนตรีโลก

ในระบบดังกล่าว สิ่งสำคัญที่ทำให้เสียงดนตรีเหล่านั้นมีมาตรฐานตามแบบที่ควรจะเป็นนั้น ต้องพึ่งพาระบบและกลไกที่ก่อให้เกิดมาตรฐาน แน่นอนว่าหากเสียงเพลงคือผลิตภัณฑ์ ส่วนต่าง ๆ ของสายพานการผลิตย่อมมีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดมาตฐานขึ้นในระบบ และในโลกการผลิตดนตรี มีตำแหน่งหนึ่งที่เรียกว่า ‘โปรดิวเซอร์’ หรือผู้ควบคุมการผลิตดนตรี ซึ่งเป็นคนสำคัญที่มีส่วนตัดสินใจหน้างานการผลิตผลงานเพลงว่าควรจะมีทิศทางอย่างไร

และแม้ว่าในโลกนี้จะมีโปรดิวเซอร์มากความสามารถหลากหลายคน แต่รายนามศิลปินทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้น กลับเป็นส่วนหนึ่งของผลงานจากชายผู้มีจริยวัตรราวกับโยคี มาพร้อมกับเครางามสีขาวและชอบเดินด้วยเท้าเปล่า เขามักจะให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เขาอ่านโน้ตไม่ออก แต่ทำไมเขากลับมีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงที่โด่งดังเอาไว้มากมายทั้งที่ไม่สามารถอ่านโน้ตได้

‘ริค รูบิน’ (Rick Rubin) คือโปร์ดิวเซอร์นามอุโฆษ ผู้ทำหน้าที่กำกับผลิตผลทางดนตรีก่อนนำออกสู่ท้องตลาด เขามิใช่แค่ผู้จัดการโครงการทางดนตรี แต่อาจเปรียบเขาได้ว่าเป็นดั่งผู้สลักและขัดเงาให้กับผลงานที่มีศิลปินร่วมกันรังสรรค์กับเขาในฐานะโปรดิวเซอร์ และเป็นผู้ควบคุมการผลิตให้เป็นไปตามการดำรงอยู่ของลักษณะศิลปินที่ควรจะเป็น

จุดเริ่มต้นในการรังสรรค์ผลงานเพลงของริค รูบิน เป็นที่รู้จักตั้งแต่ยุค 1980 และคงทำงานอยู่จวบจนปัจจุบัน ตำนานการสร้างสรรค์ผลงานเริ่มแรกของเขาในฐานะผู้ผสานความเป็นไปได้ใหม่ทางดนตรีที่เกิดขึ้นระหว่างดนตรีแบบ Hip-Hop (ตั้งแต่ครั้นยังเป็นกิจกรรมที่นิยมในหมู่คลับใต้ดิน) กับดนตรีฮาร์ดร็อกที่ดูราวกับว่าเป็นเส้นขนานที่ไม่น่ามีทางบรรจบลงกันได้ แต่เขาสามารถทำให้มันมาเจอกันได้ โดยเลือกตัดชิ้นส่วนของเสียงดนตรีร็อกที่น่าสนใจอย่าง Riff หรือจะเป็นจังหวะกลอง เอามาผสมผสานกับ Drum Machine เครื่องมือทางดนตรีที่เกิดขึ้นในระบบอุตสาหกรรมดนตรีช่วง 80s ที่เป็นทางเลือกการลดภาระค่าใช้จ่ายของการผลิตเพลง และเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างจังหวะ (beat) เพื่อใช้รองรับการร้อง rap ของศิลปิน Hip hop อันเป็นวิวัฒนาการคลื่นลูกที่สองหลังจากการเริ่มใช้เครื่องเปิดแผ่นเสียงสองเครื่องมาเปิดร่วมกันเพื่อคัดสรรชิ้นส่วนในแต่ละเพลงมาสร้างสรรค์เป็นบทเพลงใหม่

รูบิน เกิดและเติบโตในย่าน Long Beach, New York ท่ามกลางครอบครัวเชื้อสายยิว ที่นิยมชมชอบบทเพลงของ The Beatles และใช้วันหยุดสุดสัปดาห์ไปกับญาติผู้ใหญ่ที่พาเขาเดินชมกิจกรรมทางปัญญาต่าง ๆ บนเกาะ Manhattan 

ในช่วงเวลาวัยรุ่นของเขาเป็นห้วงเวลาเดียวกับที่กระแสดนตรีพังก์ (Punk) เริ่มก่อตัวและเป็นดนตรีนอกกระแสที่เริ่มเป็นที่นิยมในทศวรรษที่ 1970 แน่นอนว่าเขาคือหนึ่งในผู้หลงใหลและคลั่งไคล้กระแสดนตรี Punk โดยมีวง Ramones เป็นหนึ่งในอิทธิพลทางดนตรีสำคัญของเขา และย่อมเป็นตัวประหลาดท่ามกลางหมู่มิตรที่เลือกฟังเพลงกระแสหลักในเวลานั้น

ถึงแม้ว่าเขาจะเลือกทางเดินที่แตกต่างกับเพื่อนร่วมรุ่น แต่ก็ยากที่ปฏิเสธดนตรีร็อกกระแสหลักที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกันนั้นอย่างศิลปินวง Aerosmith หรือ AC/DC ได้ ดังปรากฏให้เห็นในเวลาต่อมาจากที่เขามีโอกาสสร้างสรรค์นวัตกรรมทางดนตรีที่ยิ่งใหญ่ในทศวรรษถัดไป 

ในปี 1981 เขาเลือกศึกษาระดับปริญญาตรี ณ มหาวิทยาลัย New York (NYU) ในสาขาวิชาปรัชญา ชีวิตนักศึกษาที่ไม่ใช่แค่พร่ำเรียนตามตำราในสิ่งที่ต้องทำ แต่เขายังใช้ชีวิตผ่านค่ำคืนแล้วค่ำคืนเล่า เพื่อออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทางดนตรี Hip Hop ในคลับต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็นสนามจริงและสมรภูมิแห่งการสร้างสรรค์แนวเพลงชนิดใหม่ที่เพิ่งก่อตัวได้ราว 10 ปี หรือถือกำเนิดมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษทศวรรษที่ 1970 แต่ในห้วงเวลานั้น ดนตรีชนิดนี้ยังเป็นที่นิยมในวงแคบและหาฟังได้จากกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันไปจัดงานตามสถานบันเทิงต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าจากจุดนั้น เขากลับมาใช้หอพักนักศึกษาของเขาเป็นห้องทดลองปฏิบัติการทางดนตรีที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์ดนตรีประชานิยมในเวลาต่อมา

ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ในขณะที่เขายังเป็นนักศึกษา เขายังเป็นผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ทางดนตรีที่เกิดขึ้นในฐานะผู้สร้างความหมายใหม่กับการทำดนตรีหรือจังหวะ Hip Hop ในนามของกลุ่ม Def Jam ที่มีโปรโมเตอร์คนสำคัญอย่างรัสเซลล์ ซิมมอนส์ (Russell Simmons) ร่วมก่อการด้วย เพราะหากย้อนกลับไปถึงองค์ประกอบสำคัญของดนตรีชนิดนี้คืออะไร มันเป็นการตัดแปะชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเสียง (samples) จากเพลงของกลุ่มคนผิวดำที่มีมาแต่เดิมในรูปแบบดนตรี Jazz, Soul, Funk หรืออื่น ๆ โดยนำมาเลือกคัดตัดตอนชิ้นส่วนเสียงที่ต้องการบรรเลงใหม่ออกมา ผ่านกลไกที่ต้องใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียง (turntable) 2 เครื่อง และใช้อุปกรณ์ผสมเสียง (mixer) เพื่อนำมาสร้างสรรค์ดนตรีประกอบรองรับการร้อง rap ใหม่ 

แต่สิ่งที่แตกต่างและทำให้เขาเปรียบเสมือนผู้สร้างสรรค์ความใหม่ให้กับดนตรีชนิดนี้คือ การเลือกใช้ชิ้นส่วนของเสียงจากดนตรีร็อกผิวขาวกระแสหลักที่โด่งดัง มาผสานกับกับการทำจังหวะใหม่ด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า Drum Machine ซึ่งเป็นของแพงและใช้เพื่อลดทอนต้นทุนการผลิตผลงานเพลงในสตูดิโอชั้นนำ

แต่แน่นอนว่าเขากลับใช้มันเพื่อสร้างสรรค์ดนตรี Hip Hop แบบใหม่ขึ้นมา ดังปรากฏในบทเพลงที่เขาเป็นคนผลิตยุคแรกเริ่มอย่างในบทเพลง ‘Rock Hard’ วง Beastie Boys ที่นำเสียง Riff (การเล่นเป็นกลุ่มโน้ตซ้ำ ๆ กัน) จากบทเพลง Back in Black (1980) ของวง AC/DC มาผสานกับเสียงจังหวะที่เขาสร้างขึ้นใหม่จากน้ำมือของเขากลายเป็นจังหวะดนตรีใหม่ที่น่าจะติดลิขสิทธิ์และไม่สามารถเผยแพร่อย่างถูกกฎหมายได้ในปัจจุบัน (แต่สามารถค้นหาได้ในโลกออนไลน์) 

จากจุดเริ่มต้นที่ดันไปเข้าตาสังกัดยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมทางดนตรีอย่าง Colmbia Records ที่มองเห็นความนิยมและความเป็นไปได้ใหม่ของดนตรี Hip Hop ทำในสิ่งที่สามารถผสมผสานผลิตผลทางดนตรีที่ไม่น่าจะมีวันมาบรรจบด้วยกันได้ระหว่างวงฮาร์ดร็อกอย่าง Aerosmith และวงฮิปฮอปอย่าง Run-DMC มาเจอกันได้ในบทเพลง ‘Walk This Way’ (1986) บทเพลงดั้งเดิมจากวงฮาร์ดร็อกชื่อดัง Aerosmith ที่นำมาตีความใหม่ผ่านรูปแบบจังหวะเรียบง่าย ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์แบบ new-school Hip Hop ที่สร้างสรรค์จังหวะดนตรีขึ้นใหม่จากเครื่องมือ Drum Machine กับองค์ประกอบดนตรีแบบร็อก และรูบิน มีส่วนสำคัญในการรังสรรค์ผลงานอันเป็นตำนานระหว่างสองวงกับตลาดใหม่ที่เกิดขึ้นจากการปรองดองของสรรพเสียงทางดนตรีที่ไม่น่ามีวันบรรจบกันได้

และแน่นอนว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเขาในสถานะใหม่ เป็นโปรดิวเซอร์มือทองที่ได้รับโอกาสให้สลักและขัดเงาให้กับศิลปินนามอุโฆษมากมาย 

แม้ว่ารูบิน มักจะกล่าวอยู่เสมอว่าเขาไม่สามารถอธิบายกฎเกณฑ์ทางดนตรีตามขนบดั้งเดิมได้ อย่างเช่นการอ่านโน้ตหรือการวิเคราะห์ออกมาเป็นตัวบททางดนตรี แต่สิ่งที่เขากระทำในฐานะโปรดิวเซอร์เป็นที่สนใจอย่างมาก เพราะจะไปกำกับดนตรีออกมาให้เป็นอย่างที่ปรากฏได้อย่างไรกัน หากไม่สามารถอ่านโน้ตได้ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นถึงตรรกะการสร้างสรรค์ใหม่ที่ไม่ใช่เพียงความเข้าใจเชิงเทคนิคในรูปแบบความรู้ทางดนตรีดั้งเดิมที่ต้องสั่งสมมาในแบบการเรียนดนตรีตามขนบ หากแต่เป็นความเข้าใจในเชิงรูปพรรณของเสียง (timbre) และการมองเห็นความน่าจะเป็นใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น

ไม่เพียงแต่เป็นมุมมองที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของเขาในฐานะที่เป็นโปรดิวเซอร์เท่านั้น แต่เป็นการสร้างสรรค์จากความเข้าใจในวัตถุดิบอันกล่าวได้ว่า เขาทำหน้าที่ควบคุมการผลิตของศิลปินที่เสมือนพวกเขา(ศิลปิน)มีของอยู่ในตัวแล้ว แต่จะนำพาศิลปินที่เขากำกับผลงานเหล่านั้นให้ทำออกมาได้ดีขึ้นจากศักยภาพและตัวตนของศิลปินเหล่านั้นได้อย่างไร เป็นปรัชญาการทำงานที่สำคัญมากของเขาในการที่จะเข้าใจว่า สุดท้ายแล้ว สำหรับรูบิน การสร้างสรรค์ไม่ใช่การคิดแบบใช้ปัญญาแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใช้สัญชาตญาณในการมองเห็นและเปิดการรับรู้ใหม่ให้กับศิลปินได้อย่างไร 

เคล็ดลับความสำเร็จการเป็นโปรดิวเซอร์ของเขาได้ถูกเขียนเอาไว้ในหนังสือใหม่ที่เขาได้เขียนและเผยแพร่ในชื่อ The Creative Act: A Way of Being (2023) ที่พูดถึงวิถีแห่งความสำเร็จของเขาเอาไว้อย่างหมดเปลือก

เขากล่าวว่า ศิลปะคือสุดยอดกระบวนการความสมบูรณ์ของชีวิต (Self-Actualization) ซึ่งเป็นการค้นพบ พัฒนา ก้าวข้าม เพื่อบรรลุเป้าหมายในสิ่งที่ตัวตนต้องการ และศิลปินควรจะเชื่อในสัญชาตญาณของตนเอง ผ่านการทดลองรูปแบบ หน้าที่ วัตถุดิบ และมุมมองที่หลากหลาย เพื่อค้นหาหนทางใหม่ ๆ ในการแสดงออกตัวตนของแต่ละคน ซึ่งเป็นสิ่งที่รูบิน ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการทำให้ศิลปินสามารถแสดงตัวตนที่ต้องการ สะท้อนออกมาจากสิ่งที่คิดได้อย่างสมบูรณ์ โดยการเข้าไปแก้ปัญหาแต่ละจุดซึ่งเปรียบกับการช่วยเรียกความเป็นไปได้จากความฝันของพวกเขาออกมาให้ได้มากที่สุด

ด้วยระบบคิดข้างต้น ริค รูบิน จึงเป็นโปรดิวเซอร์ที่กล่าวได้ว่า เมื่อใครทำงานกับเขาสักชุด อาจเปรียบได้กับว่าสำเร็จการศึกษาด้านปรัชญากันเลยทีเดียว เพราะเขาใช้วิธีการเข้าถึงความจริงที่เป็นสิ่งสมบูรณ์ผ่านความพยายามที่จะเปิดช่องทางการรับรู้ให้สิ่งเหล่านั้นเข้ามาได้ถูกที่ถูกเวลา ซึ่งวิธีคิดเชิงจิตวิญญาณของเขาสะท้อนผ่านผลงานที่เขากำกับดนตรีมากมายหลากหลายแนวดนตรีที่ได้รับความนิยมในฐานะดนตรีป็อบ และเขาสามารถที่จะดึงศักยภาพใหม่ ๆ จากตัวศิลปินออกมาได้อย่างไม่มีสะดุดและไม่มีสิ้นสุด ถือว่าเป็นเคล็ดลับสำคัญในการก่อร่างสร้างเพลงให้เป็นที่นิยมและเข้าถึงใจผู้คนได้อย่างมากมาย

 

เรื่อง: กุลธีร์ บรรจุแก้ว

ภาพ: แฟ้มภาพ จาก Getty Images