กำเนิดอัลบั้มแรกของวง ‘Queen’ เปิดตัว ‘ราชาในนามราชินี’ ปฐมบทของตำนานร็อกตลอดกาล

กำเนิดอัลบั้มแรกของวง ‘Queen’ เปิดตัว ‘ราชาในนามราชินี’ ปฐมบทของตำนานร็อกตลอดกาล

‘Queen’ อัลบั้มเปิดตัวของวง ‘ราชาในนามราชินี’ ยังเป็นอัลบั้มเปิดตัวที่น่าสนใจหลายแง่มุม มันไม่ใช่มาสเตอร์พีซของพวกเขา แต่องค์ประกอบต่าง ๆ ในความเจิดจรัสของ Queen ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ถูกบรรจุในอัลบั้มปกสีม่วงอย่างครบครัน

  • Queen ปล่อยอัลบั้มเปิดตัวออกมาในชื่อเดียวกับวง แม้ชุดนี้จะไม่ถึงกับเป็นมาสเตอร์พีซของวง แต่องค์ประกอบหลายอย่างที่จะเจิดจรัสในอนาคต บรรจุในผลงานชิ้นนี้
  • อัลบั้มที่เปิดตัวในปี 1973 ยังไม่ได้มีเพลงฮิตใด ๆ เหมือนกับงานชุดต่อมาที่วงพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง แต่หากมองรายละเอียดแล้ว ผลงานนี้เป็นงานเพลงร็อกชั้นยอดอีกชิ้นก็ว่าได้

เมื่อเอ่ยนามของวงดนตรี Queen แฟนเพลงส่วนใหญ่อาจจะคิดถึงความอลังการของโอเปร่าร็อกของ ‘Bohemian Rhapsody’, เพลงกระหึ่มสเตเดียม ในแบบ ‘We Will Rock You / We Are The Champions’ เสียงประสานที่ไม่มีใครเทียบเคียงได้ใน ‘Somebody To Love’, ดิสโก้-ร็อกอันสุดดีดดิ้นอย่าง ‘Another One Bites The Dust’ หรือเพลงสุดหวานสุดละเมียดอย่าง ‘Love Of My Life’ เพลงยอดนิยมเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในอัลบั้มเปิดตัวของพวกเขาในปี 1973 แม้แต่เพลงเดียว และไม่มีเพลงไหนจากอัลบั้มนี้ถูกคัดเลือกให้อยู่ในอัลบั้ม Greatest Hits

กระนั้น ‘Queen’ ยังคงเป็นอัลบั้มเปิดตัวที่น่าสนใจในหลายแง่มุม มันไม่ใช่มาสเตอร์พีซของพวกเขา แต่องค์ประกอบต่าง ๆ ในความเจิดจรัสของ Queen ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ได้ถูกบรรจุไว้ในอัลบั้มปกสีม่วงนี้อย่างครบครันแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องและเสียงประสานสุดมหัศจรรย์ของเฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ (Freddie Mercury), กีตาร์ไฟฟ้าที่ให้เสียงเหมือนวงออเคสตร้าจากฝีมือของไบรอัน เมย์ (Brian May) และบทเพลงที่มีหลากหลายลีลาในเพลงเดียว (suite) ประหนึ่งแคปซูลที่บรรจุสารต้นกำเนิด รอการขัดเกลาและขยายความในเวลาต่อมาเท่านั้น ในโอกาสที่อัลบั้มนี้ออกสู่สายตาชาวโลกครบ 50 ปี เราจะมาพูดคุยและเจาะลึกเรื่องราวต่าง ๆ ในอัลบั้มนี้กัน

ก่อนจะมาเป็น ‘ราชินี’

ย้อนเวลากลับไปในฤดูร้อนปี 1964 ไบรอัน เมย์ ฟอร์มวง ‘1984’ (ตั้งชื่อตามนิยายดิสโทเปียเรื่องดังของจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell)) ร่วมกับสหายนาม เดฟ ดิลโลเวย์  (Dave Dilloway) ทิม สตาฟเฟล (Tim Staffel) และเพื่อน ๆ อีกสามคน

1984 เล่นดนตรีกันมาได้ถึงปี 1967 ไบรอัน ทนความเครียดไม่ไหวที่ต้องเล่นดนตรีและเรียนในสาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ (astrophysics) ที่อิมพีเรียลคอลเลจ (Imperial College) ในลอนดอนไปด้วย ไบรอัน เลือกการเรียนมาก่อนและขอลาออกจาก ‘1984’

ไบรอัน และทิม สตาฟเฟล กลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้งในปี 1968 วงดนตรีใหม่นี้มีชื่อเรียบง่ายสดใสว่า ‘Smile’ ไบรอัน และทิมเริ่มต้นแต่งเพลงร่วมกันแต่ก็ยังเล่นเพลง cover ร่วมไปด้วย พวกเขาเห็นพ้องกันว่า Smile ควรจะหามือกลองฝีมือดีสักคน ไบรอัน ติดป้ายรับสมัครมือกลองที่ Imperial College เพื่อหามือกลองในแนวทางเดียวกับจิงเกอร์ เบเกอร์ (Ginger Baker) หรือ มิทช์ มิเชลล์ (Mitch Michell) [มือกลองของ Cream และ Jimi Hendrix Experience ตามลำดับ] ซึ่งการระบุแบบนี้ คงจะตัดมือกลองที่ไม่มั่นใจในฝีมือตัวเองจริง ๆ ออกไปได้พอสมควร แต่คนแบบนั้นไม่ใช่หนุ่มนักศึกษาทันตแพทย์ผมทอง-หน้าสวยที่ชื่อโรเจอร์ เทย์เลอร์ (Roger Taylor)

โรเจอร์ ผ่านการ audition ของ Smile ไปได้สบาย ด้วยลีลาที่เฉิดฉาย ฟู่ฟ่า และการจูนกลองทีละใบอันเป็นสัญลักษณ์ของผู้นิยมความสมบูรณ์แบบซึ่งสร้างความประทับใจให้ไบรอัน เป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้เล่นดนตรีร่วมกัน เคมีของพวกเขาทั้งสามก็ผสมผสานกันได้อย่างสุดเป๊ะ ทริโอวงนี้มีไบรอัน เล่นกีต้าร์, ทิม เล่นเบสและร้องนำ และโรเจอร์ตีกลอง

พฤษภาคม 1969 วง Smile ได้สัญญาบันทึกเสียงที่ไทรเดนต์ สตูดิโอส์ (Trident Studios) โดยมีจอห์น แอนโทนี่ (John Anthony) เป็นโปรดิวเซอร์ พวกเขาบันทึกเสียงกันสามเพลงในวันนั้น: Earth, Step On Me และ Doin' Alright 

สองเพลงแรกถูกตัดเป็นซิงเกิ้ลวางขายในอเมริกาในเดือนสิงหาคม 1969 แต่ล้มเหลวในยอดขายโดยสิ้นเชิง Smile อัดเพลงเพิ่มกันอีกบ้างในเดือนกันยายน โดยมีเพลงหนึ่งชื่อ April Lady ที่ไบรอัน ร้องนำและโรเจอร์ ประสานเสียง

 

แฟนเพลงหมายเลขหนึ่ง

ความล้มเหลวของซิงเกิ้ล Earth / Step On Me ทำให้กำลังใจภายในวงของ Smile ไม่ค่อยจะดีนัก แต่กระทาชายนายหนึ่งที่เป็นเพื่อนสนิทของทิม สตาฟเฟล และติดตามวงมาตลอดกลับไม่คิดอย่างนั้น เขาเชื่อในศักยภาพของ Smile นายคนนี้มีความสนใจในด้านกราฟิก, แฟชั่น และ วรรณกรรม เป็นอย่างยิ่ง

สมาชิกของวงทุกคนชอบเขา นายคนนี้ยังมั่นหน้าเสนอว่า ถ้าให้เขามีโอกาสเป็นนักร้องนำของ Smile เขาจะทำให้วงดังระเบิดอย่างรวดเร็วด้วยไอเดียพรั่งพรูมหาศาลที่เขามี แต่ไบรอัน, แม้สนใจ, ก็ไม่คิดว่า เขาจะให้ทิม ออกแล้วให้นายคนนี้เข้ามาแทนได้ยังไง อนึ่ง หมอนี่มีเครดิตเคยเป็นนักร้องให้วงอย่าง Ibex, Wreckage และ Sour Milk Sea มาก่อน ไม่ใช่ไก่กา

แต่ไบรอัน ก็ไม่ต้องหนักใจอะไรนานนัก เพราะในเดือนเมษายน 1970 ทิม สตาฟเฟล ก็สละเรือลาออกจากวงไปเอง เหตุผลคือ รสนิยมทางดนตรีเริ่มไม่ตรงกันและทิมไม่คิดว่า Smile จะไปไหนได้ไกลกว่านั้นอีกแล้ว ตำแหน่งนักร้องนำของ Smile จึงมาตกที่แฟนเพลงหมายเลขหนึ่งผู้ติดตามวงมาหลายเดือนคนนั้นโดยไม่ต้องโหวตหลายรอบ

ชื่อของกระทาชายคนนั้นคือ ฟารุกฮ์ ‘เฟรดดี้’ บุลซาร่า (Farrokh ‘Freddie’ Bulsara)

 

จากรอยยิ้ม สู่ราชินี

นักร้องนำคนใหม่จอมไฮเปอร์เริ่มต้นปฏิรูป Smile ทันที สำหรับเฟรดดี้ ชื่อเป็นสิ่งสำคัญมาก และเขาไม่คิดว่าชื่อ ‘Smile’ จะมีความสตรองพอ โรเจอร์ และไบรอัน เสนอชื่อ ‘Grand Dance’ (ได้มาจากนิยายของ C.S.Lewis) แต่สุดท้ายชื่อนี้ก็ตกไป เมื่อเฟรดดี้ เสนอชื่อ ‘Queen’ เบื้องต้นทั้งโรเจอร์และไบรอัน ไม่ชอบชื่อนี้ แต่ก็ลงมติรับไปก่อน เพราะคิดว่าพอวงดังแล้ว ดนตรีของวงจะบ่งชี้ความเป็นตัวตนมากกว่าชื่อวง ส่วนเฟรดดี้ รักชื่อนี้มาก และเขาอยากให้ผู้คนตีความมันออกมาในแบบที่ ‘เกย์ที่สุดเท่าที่จะเกย์ได้’ ถ้าเฟรดดี้ ไม่เลือกชื่อนี้ ก็สงสัยว่า จะมีวงร็อคชายล้วนวงไหนกล้าตั้งชื่อวงแบบนี้ อาจไม่มีจนทุกวันนี้

เฟรดดี้ เองก็เปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น ‘เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่’ ด้วย ซึ่งฟังดูรื่นโสตและสะดวกลิ้นมากกว่าฟารุกฮ์ บุลซาร่า หลายเท่า ส่วนที่มาของชื่อนี้จะกล่าวถึงในช่วงบทเพลง My Fairy King

เท่านั้นยังไม่พอ เฟรดดี้ ยังออกแบบโลโกของวงอย่างสวยงามเปี่ยมรสนิยม อ้างอิงจากจักรราศีของสมาชิกแต่ละคน บอกแล้วว่าแกไฮเปอร์ขั้นสุด

(หมายเหตุ - นักประวัติศาสตร์เพลงร็อกบางท่านชี้ว่าในกรณีนี้ เฟรดดี้ ไม่ได้เข้ามาแทนที่ทิม ใน Smile แต่เหตุการณ์น่าจะเป็น Smile ยุบวงลงหลังจากทิม จากไป และเฟรดดี้ กับไบรอัน และโรเจอร์ ฟอร์มวงใหม่มากกว่า เฟรดดี้ จึงไม่ได้ชื่อว่าเคยเป็นนักร้องนำของ Smile)

 

มือเบสผู้เงียบขรึม

องค์ประกอบสุดท้ายของ Queen คือมือเบสที่จะรับมือกับฝีมือและไอเดียของพวกเขา มีมือเบสจำนวนหนึ่งที่ก้าวเข้ามาลองของ: ไมค์ โกรส (Mike Grose), แบร์รี่ มิทเชลล์ (Barry Mitchell) และ ดั๊ก โบกี้ (Doug Bogie) แต่สุดท้าย ตำแหน่งนี้ก็มาตกที่จอห์น ดีคอน (John Deacon) เขาเข้าร่วมวงในเดือนมีนาคม 1971 ว่ากันว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เพื่อน ๆ ประทับใจคือการพูดคุยถึงความสนใจทางเรื่องอีเล็กโทรนิกส์ แต่แน่นอน ฝีมือเบสของจอห์น ที่แสดงออกบนเบส Rickenbacker ของเขาในการออดิชั่นคือเหตุผลหลัก

จากนั้น Queen คือเฟรดดี้ เมอร์คิวรี่, ไบรอัน เมย์, จอห์น ดีคอน และ โรเจอร์ เทย์เลอร์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกอีกจนกระทั่งการเสียชีวิตของเฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ ในปี 1991 (คงไม่สปอยล์นะ!)

 

De Lane Lea Demo

กันยายน 1971 Queen มีโอกาสใช้สตูดิโอ De Lane Lea ที่เวมบลีย์เพื่อบันทึกเสียง 5 เพลง มันเป็นสตูดิโอเปิดใหม่ที่ต้องการวงดนตรีมาลองบันทึกเสียงแบบ ‘ดังสุดเหวี่ยง’ เพื่อแลกกับการได้อัดเดโมนี้ Queen ยินดีรับดีล พวกเขาอัดเสียงเพลง Liar, Keep Yourself Alive, Jesus, The Night Comes Down และ Great King Rat 

ทั้ง 5 เพลงนี้หาฟังได้ใน Deluxe Edition ของ ‘Queen’ (2011) หลุยส์ ออสติน (Louis Austin) รับหน้าที่โปรดิวเซอร์และวิศวกรเสียง โดยมีมาร์ติน เบิร์ช (Martin Birch) เป็นผู้ช่วย

สภาพอคูสติกอันโอ่โถงของสตูดิโอ De Lane Lea ทำให้การบันทึกเสียงกลองของโรเจอร์ ใน demo 5 เพลงนี้ออกมาดีงามเป็นพิเศษ อาจจะดีกว่าหลายเพลงในอัลบั้ม ‘Queen’ ที่บันทึกเสียงที่ Trident Studios ด้วยซ้ำไป

ผลพวงของการมาบันทึกเสียงที่ De Lane Lea Studios ทำให้วงได้พบกับสองโปรดิวเซอร์ จอห์น แอนโทนี่ (อีกครั้ง – เขาเคยโปรดิวซ์ให้ Smile) และ รอย โธมัส เบเกอร์  (Roy Thomas Baker) ที่ทำงานอยู่ที่ Trident Studios ในขณะนั้น ความเชื่อมโยงต่อเนื่องนำพาจนวงได้ทำสัญญากับ Trident ในการบันทึกเสียงอัลบั้มแรก แต่ข้อจำกัดของสัญญาคือ เนื่องจาก ณ ขณะนั้นพวกเขาเป็นแค่วงโนเนม Queen จะได้เข้าสตูดิโอก็ต่อเมื่อศิลปินเบอร์ใหญ่อย่าง เดวิด โบวี่ (David Bowie), เอลตัน จอห์น (Elton John) หรือ พอล แมคคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) เลิกงานออกจากสตูดิโอไปแล้วเท่านั้น

 

Queen The Album

การบันทึกเสียงอัลบั้ม ‘Queen’ ที่ Trident Studios เริ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนแห่งปี 1972 จอห์น แอนโทนี่ รับหน้าที่โปรดิวเซอร์ แต่ด้วยการที่ต้องนอนดึกดื่นติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน (ส่วนมาก Queen จะได้อัดเสียงกันในเวลาตีสองถึงแปดโมงเช้า และตอนกลางวันแอนโทนี่ก็ต้องคุมงานให้วง Home และ Al Stewart อีก) ทำให้สุดท้ายจอห์น แอนโทนี่ล้มป่วย (ติดเชื้อเอ็ปสไตน์-บาร์ไวรัส) รอย โทมัส เบเกอร์ เข้ามารับหน้าที่แทน รอยเคยทำงานที่ Decca Studios มาก่อน และเคยโปรดิวซ์งานดัง ๆ อย่าง ‘All Right Now’ ของ Free และ ‘Bang a Gong (Get It On)’ ของ T. Rex

ความ perfectionism ของ Queen ฉายแววตั้งแต่อัลบั้มแรกนี้ ไบรอัน กล่าวว่า “เราไฟต์กับรอยตลอดเพื่อหาจุดที่เราจะได้ความสมบูรณ์แบบทางเทคนิค” นี่คืออัลบั้มที่เต็มไปด้วยการบันทึกเสียงซ้อนทับกันหลายชั้นจนระบบ 16 แทร็กของ Trident รับไม่ไหว ต้องมัดรวมและถ่ายไปยังเทปม้วนใหม่ (bouncing) อันทำให้คุณภาพเสียงดรอปลงและเพิ่มเสียงรบกวน 

โรเจอร์ ไม่ค่อยชอบเสียงกลองใน ‘Queen’ เท่าไหร่นัก อาจจะเป็นเพราะเครื่องดนตรีของเขาถูกมิกซ์เบาเกินไป แต่สมาชิกคนอื่นชอบสุ้มเสียงที่มีตำหนิอยู่บ้างนี้ โดยให้เหตุผลว่า ‘มันมีสีสันดี’

จอห์น แอนโทนี่, หลังจากไปรักษาตัวที่กรีซจนแข็งแรงดี, กลับมานั่งเก้าอี้โปรดิวเซอร์อีกครั้ง เขาสั่งให้มีการมิกซ์ใหม่ในหลาย ๆ เพลง โดยเฉพาะ ‘Keep Yourself Alive’ ที่แอนโทนี่บอกว่า “เสียงยังกะอัดกันตอนตี 4” มันอาจจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

เครดิตของการโปรดิวซ์อัลบั้มนี้มีทั้งชื่อของจอห์น แอนโทนี่, รอย โทมัส เบเกอร์ และวง Queen เอง

‘Queen’ ออกวางขายในวันที่ 13 ก.ค. 1973 และแม้ยอดขายของมันจะไม่เปรี้ยงปร้าง แต่คำวิจารณ์ส่วนใหญ่ออกมาในแง่บวก นิตยสารเมโลดี้ เมคเกอร์ ให้ความเห็นว่า “มีแนวทางของ Yes และ Black Sabbath อยู่ แต่ในแง่โครงสร้าง จัดว่ามีความเป็นตัวของตัวเอง” ส่วนนิตยสารโรลลิ่ง สโตน ถึงขั้นยกพวกเขาขึ้นไปเปรียบเทียบกับวงสุดดังผู้เป็นพระเจ้าแห่งยุคสมัย - Led Zeppelin

ปกหน้าของอัลบั้ม เป็นภาพโดดเดี่ยวของเฟรดดี้ บนเวที ถือเป็นการยอมรับในความเป็นผู้นำวงของนักร้องคนนี้ ส่วนปกหลังมีถ้อยคำอันโด่งดัง ‘...และไม่มีใครเล่นซินเธอะไซเซอร์’ ที่คุณได้ยินเฟี้ยวฟ้าวทั้งหมดนั่นคือเสียงกีตาร์ของไบรอัน เมย์ ทั้งสิ้น ประโยคนี้ใช้ได้ในทุกอัลบั้มของ Queen ก่อนอัลบั้ม The Game (1980)

ชื่อของจอห์น ดีคอน ถูกพิมพ์บนปกหลังว่า ‘Deacon John’ เฟรดดี้ บอกว่ามันเป็นการพิมพ์ผิด แต่ความจริง เฟรดดี้ อยู่เบื้องหลังการ ‘พิมพ์ผิด’ นี้ เพราะเขาคิดว่า ‘ดีคอน จอห์น’ มันฟังดูสง่างามและมีเสน่ห์ดีกว่า จอห์น ดีคอน อย่างไรก็ตาม ในอัลบั้มต่อ ๆ มา ชื่อของมือเบสคนนี้ก็ถูกพิมพ์ว่า ‘John Deacon’ ทุกชุด มือเบสผู้เงียบขรึมไม่ซื้อมุกนี้ของเฟรดดี้

 

The Songs

Side One

- Keep Yourself Alive

ซิงเกิ้ลแรกของ Queen ออกวางจำหน่ายในวันที่ 6 ก.ค. 1973 จากฝีมือการประพันธ์ของไบรอัน ที่แต่งไว้ตั้งแต่ก่อนจอห์น ดีคอน เข้าร่วมวง เพลงนี้โดดเด่นมากในการแสดงยุคแรก ๆ ของ Queen (และเร้าใจสุด ๆ ในภาพยนตร์ Bohemian Rhapsody) ไบรอัน เองชอบเวอร์ชั่น De Lane Lea demo มากกว่า แต่เขางัดข้อกับรอย โธมัส เบเกอร์ ไม่สำเร็จ การต่อรองจบด้วยการใช้ Trident version แต่มิกซ์ใหม่โดยฝีมือของเอ็นจิเนียร์หนุ่ม ไมค์ สโตน (Mike Stone)

นี่คือเพลงเปิดอัลบั้มที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น จี๊ดจ๊าดด้วยเสียง phaser effect บนกีตาร์ของไบรอันและการกระหน่ำกลองฟิน ๆ ของโรเจอร์ เนื้อหาที่ไบรอัน ตั้งใจจะให้เป็นในแบบเหน็บแนมเอาฮา พอได้เฟรดดี้ มาร้องกลับกลายเป็นเพลงปลุกใจอันแสนจริงจังไปเลย

- Doing All Right

เพลงเก่าจากยุค Smile (เปลี่ยนการสะกดชื่อเพลงเล็กน้อย) ประพันธ์โดย ไบรอัน เมย์ และ ทิม สตาฟเฟล หนึ่งในเพลงยอดฮิตในการแสดงยุคแรกของ Queen ค่าลิขสิทธิ์จากเพลงนี้ ทำให้ทิมมีรายได้สบาย ๆ ไปตลอดชีวิต ไบรอัน เล่นเปียโนตัวเดียวกับที่ พอล แมคคาร์ตนีย์ เล่นใน ‘Hey Jude’ และเอลตัน จอห์น ในเพลง ‘Your Song’ เฟรดดี้ รับบทร้องนำ และเขาก็ไม่คิดอะไรมาก ร้องมันออกมาเหมือน ๆ กับที่ทิม สตาฟเฟล ร้องไว้ในการบันทึกเสียงของ Smile ในปี 1969

- Great King Rat

ฮาร์ดร็อกทรงพลังบนทางเดินเมโลดี้สวยงาม แต่งโดยเฟรดดี้ เขาได้รับแรงบันดาลใจจากบทอาขยานเก่าแก่ ‘Old King Cole’ จากศตวรรษที่ 18 เสียงกีตาร์ของไบรอัน เลอเลิศหลากหลายตลอดเพลงและในแต่ละช่วงอาจชวนให้คิดถึงลีลาของจิมมี่ เพจ (Jimmy Page) [มือกีตาร์วง Led Zeppelin], เจฟฟ์ เบ็ค (Jeff Beck) และ โทนี่ ไอออมมี่ (Tony Iommi) [มือกีตาร์วง Black Sabbath], แต่สุดท้ายเราก็ต้องยอมรับว่านี่คือ ซาวด์ของไบรอัน เมย์ (แม้จะยังไม่มีลายเซ็นที่ชัดเจนเหมือนในเวลาต่อมา) เวอร์ชั่นในอัลบั้มสั้นกว่าใน De Lane Lea demo 25 วินาที โปรดท่องจำไว้อาจออกสอบ

- My Fairy King

นักควีนวิทยาบางท่านลำดับญาติว่า เพลงนี้คือคุณพ่อของเพลง ‘The March of the Black Queen’ (ในอัลบั้ม Queen II-1974) และคุณปู่ของ ‘Bohemian Rhapsody’ (ในอัลบั้ม A Night At The Opera-1975) ในแง่ของการเป็นเพลงที่ผนวกท่อนสั้น ๆ หลากหลายลีลาเข้าด้วยกัน (rhapsody) เฟรดดี้ แต่งเพลงนี้เอง และได้รับแรงบันดาลใจจากเนื้อเพลงที่เขาเขียนเองว่า ‘Mother Mercury / Look what they've done to me’ เขาตระหนักได้ว่า เขากำลังเขียนเพลงนี้ถึงคุณแม่ของเขาเอง

ดังนั้น ในเมื่อคุณแม่เป็นเมอร์คิวรี่ เขาก็จะต้องกลายเป็น Freddie Mercury (ไบรอัน และโรเจอร์ เมื่อได้ยินกระบวนการคิดนี้ ถึงกับอุทาน “...เอ็งบ้ารึเปล่า…”) My Fairy King เป็นเพลงแรกที่เราจะได้ยินเสียงเปียโนฝีมือของเฟรดดี้ (เปียโนหลังเดียวกับที่ไบรอันเล่นใน Doing All Right) เสียงกรีดร้องของเฟรดดี้ ตอนต้นเพลงประหนึ่งเป็นการประลองเสียงกับ โรเบิร์ต แพลนต์  (Robert Plant) แห่ง Led Zeppelin ที่ร้องไว้ใน Immigrant Song (แพลนต์เป็นนักร้องคนโปรดของเฟรดดี้)

 

Side Two

- Liar

เดิมเพลงนี้ชื่อ ‘Lover’ เฟรดดี้ แต่งร่วมกับไมค์ เบอร์ซิน (Mike Bersin) ในยุคที่เขาเป็นสมาชิกของวง Ibex เมื่อเฟรดดี้ จับมันมาแต่งตัวใหม่ เขาก็ไม่คิดจะให้เครดิตต่อเบอร์ซินอีก เพราะเขามีคติว่า ‘ใครแต่งเนื้อเพลงก็เป็นเจ้าของเพลงนั้น’ มันเป็นแทร็กที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพในการเป็นซิงเกิ้ลสูง แต่กว่าจะถูกตัดเป็นซิงเกิ้ลก็ในปีถัดมาโดยสังกัด Elektra วางขายในสหรัฐอเมริกาในวันวาเลนไทน์ น่าเสียดายที่มันกลับออกมาเป็น edited version ที่ตัดทอนเพลงออกอย่างไม่มีรสนิยม และซิงเกิ้ลก็ขายไม่ออก

นี่เป็นอีกเพลงที่เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ เล่นกับเรื่องของความเชื่อและศาสนา ตลอด 6:24 นาทีแห่งความเมามันของดนตรีนั้น นี่คือโมเมนต์ที่ Queen แสดงความเป็นยอดฝีมือออกมาอย่างแจ่มแจ้ง

- The Night Comes Down

เพลงของไบรอัน ที่เฟรดดี้ร้อง หนึ่งเดียวจาก De Lane Lea session ที่ฝ่าฟันมาอยู่ในอัลบั้มนี้ได้ เพราะโรเจอร์ รับไม่ได้จริง ๆ กับเสียงกลองของเพลงนี้ใน Trident version อาจกล่าวได้ว่ามันคือ ballad rock เพลงแรกของ Queen เนื้อเพลงบางช่วงไปแตะ Lucy จากเพลง ‘Lucy In The Sky With Diamonds’ ไซคีดีลิคร็อกคลาสสิกของ The Beatles เสียงกีตาร์โปร่งในเพลงนี้ไพเราะมาก มันคือกีตาร์ยี่ห้อ Hallfredh 1930s ที่เดฟ ดิลโลเวย์ เพื่อนร่วมวง 1984 เคยมอบไว้ให้ไบรอัน

- Modern Times Rock’N Roll

เพลงเดียวในอัลบั้มที่โรเจอร์ เทย์เลอร์ แต่งและร้องนำ ซึ่งเขาก็แสดงความเป็นตัวตนของเขาออกมาเต็มที่ นักวิจารณ์แซวว่ามันคือ ‘Communication Breakdown’ ฉบับ Queen (Communication Breakdown คือชื่อเพลงหนึ่งในอัลบั้มชุดแรกของ Led Zeppelin) แต่ในอัลบั้ม Live At Rainbow’ 74 คนร้องไม่ใช่โรเจอร์ แต่เป็นเฟรดดี้

- Son And Daughter

ไบรอันแต่ง เฟรดดี้ร้อง ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่ามันคือเพลงแรกที่จอห์น ดีคอน ได้เล่นร่วมกับวง มีอิทธิพลของจิมี่ เฮนดริกซ์ (Jimi Hendrix) มากมายในเพลงนี้ และเฟรดดี้ ก็ร้องในสไตล์ของโรเบิร์ต แพลนต์ อีกครั้ง ตัวไบรอัน เองไม่เคยมีปัญหากับทางครอบครัว (เท่าที่เราทราบ) แต่เขาเขียนเพลงในแนวความสัมพันธ์นี้ไว้หลายเพลง นอกจากเพลงนี้ก็ยังมีอาทิ ‘Father To Son’ (จากอัลบั้ม Queen II), ‘Sail Away Sweet Sister’ (จากอัลบั้ม The Game)

- Jesus

อีกเพลงที่เฟรดดี้ แต่งโดยได้รับแรงบันดาลใจจากเนื้อหาในคัมภีร์ไบเบิล แต่ถ้าจะนับมันเป็นเพลงกอสเปล (Gospel) ก็คงเป็นกอสเปลที่หนักหน่วงที่สุดเพลงหนึ่ง

- Seven Seas of Rhye…

เพลงบรรเลงปิดท้าย LP ที่ยาวเพียง 1:15 นาที “ผมคิดว่าเฟรดดี้คงแต่งเพลงนี้ได้แค่ครึ่งเดียวในตอนนั้นและเราคิดว่ามันเข้าท่าดีที่จะปิดอัลบั้มด้วยเพลงนี้ และเปิดอัลบั้มที่สองด้วยเพลงนี้ในแบบสมบูรณ์” โรเจอร์กล่าว แต่ไอเดียนี้ก็ไม่ได้ใช้ เพราะ Queen เปิดอัลบั้ม Queen II ด้วยเพลงบรรเลง ‘Procession’ 

อย่างไรก็ตาม Queen ปล่อย ‘Seven Seas Of Rhye’ ฉบับสมบูรณ์ออกมาในปีต่อมา (1974) และกลายเป็นซิงเกิ้ลดังเพลงแรกของพวกเขา และบรรจุเป็นเพลงสุดท้ายใน Queen II

- Mad The Swine

เพลงไพเราะจากการแต่งของเฟรดดี้ ที่ถูกวางแผนไว้ว่าจะอยู่ระหว่างเพลง Great King Rat และ My Fairy King แต่สุดท้ายก็ถูกคัดออก มีสองทฤษฎีว่าทำไมมันถึงถูกเท

1. โปรดิวเซอร์และนักดนตรีตกลงกันไม่ได้ในเรื่องเสียงกลองและเพอร์คัสชั่น 
2. มีเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนามากเกินไปแล้วในอัลบั้มนี้ (Great King Rat, Liar และ Jesus) (หาฟังได้ใน ‘Queen’ ฉบับ Deluxe Edition)

‘Queen’ จัดเป็นงานเปิดตัวที่ยอดเยี่ยมของวงร็อกวงหนึ่ง มันอาจจะถูกประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริงไปพอสมควรตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะผลงานของวงเองในชุดต่อ ๆ มาที่มีพัฒนาการขึ้นในทุกมิติ ซึ่งพัฒนาการเหล่านั้นสามารถเชื่อมจุดประย้อนรอยกลับมาที่อัลบั้มแรกนี้ได้เสมอ

 

เรื่อง: กองทุน รวยแท้

ภาพ: แฟ้มภาพจาก Getty Images

อ้างอิง:

Queen Complete Works โดย Georg Purvis

Queen All The Songs โดย  Benoit Clerc

Classic Rock Magazine Article โดย Mark Blake