‘สแลช’ (Slash) มือกีตาร์หนึ่งเดียวในโลก ขุมพลังร็อกของ Guns N' Roses ที่ไม่มีใครเหมือน

‘สแลช’ (Slash) มือกีตาร์หนึ่งเดียวในโลก ขุมพลังร็อกของ Guns N' Roses ที่ไม่มีใครเหมือน

‘สแลช’ (Slash) มือกีตาร์หนึ่งเดียวในโลกที่ไม่มีใครเหมือน ขุนขวานแห่งวง Guns N' Roses ซึ่งมาพร้อมลีลาไต่ลวด 6 สาย และหมวกทรงสูง (top hat) ที่ไม่เหมือนใคร

  • สแลช (Slash) มือกีตาร์ชาวร็อกที่แฟนเพลงจดจำติดตามากที่สุดอีกคนหนึ่ง ส่วนหนึ่งมาจากภาพลักษณ์ที่ไม่มีใคร และลีลาการเล่นที่ไม่มีใครเหมือน
  • นอกจากสไตล์การเล่นที่จัดจ้านแล้ว เอกลักษณ์อีกอย่างที่วงการดนตรีจดจำเขาได้คือหมวกทรงสูง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการขโมยมาจากร้านค้า

ภาพลักษณ์ของ Slash ในภาพความทรงจำของใครหลายคน

ยากที่จะปฏิเสธได้ว่าท่อนอินโทรของบทเพลง Sweet Child O’ Mine นอกจากสุ้มเสียงกีตาร์ที่โดดเด่นแล้ว ในความทรงจำของใครหลายคน ภาพจำที่มาพร้อมกับชายหนุ่มผมสีดำยาวฟูฟ่องปกคลุมใบหน้า แว่นตากันแดดสีดำทรงกลม สวมหมวกทรงสูง เสื้อคลุมหนังที่มีเนื้อผ้ายีนส์ผสม ประดับประดาด้วยเข็มกลัดและป้ายสัญลักษณ์ราวกับเหรียญกล้าหาญ และกางเกงหนังขายาวรัดรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีตาร์ Gibson ทรง Les Paul สะพายต่ำ ได้กลายเป็นภาพลักษณ์หรือเครื่องหมายการค้าสำคัญของทั้ง ‘สแลช’ (Slash) และวง Guns N’ Roses (GN’R) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายคนจดจำความโดดเด่นของเขาได้มากกว่าสมาชิกคนอื่น 

อะไรคือทุนทางวัฒนธรรมที่เขาสั่งสมมาตั้งแต่วัยเยาว์ ที่หล่อหลอมและรวมตัวกันด้วยอัตราจังหวะเวลาของชีวิตอันเหมาะสม จนสะท้อนออกมากลายเป็นภาพจำให้ทุกคนได้ติดหู ติดตา และมักจะนึกถึงเขาในรูปแบบสิ่งห่อหุ้มร่างกายของเขาขณะเล่นดนตรี 

สมการชีวิตทางดนตรีของ Slash

Saul Hudson คือนามอันแท้จริงตามสูติบัตรของ Slash เขาเกิดที่อังกฤษในย่าน Hampstead กรุง London และมาเติบโตที่ L.A. ตั้งแต่ช่วงปฐมวัย เป็นการย้ายถิ่นฐานตามบุพการีที่มาประกอบสัมมาชีพในโลกธุรกิจบันเทิง

มารดาของเขาเป็นนักออกแบบเสื้อผ้า ในขณะที่พ่อเป็นนักออกแบบปกอัลบั้มในอุตสาหกรรมดนตรี ทำให้เขามีโอกาสติดตามบุพการีไปเห็นโลกของดาราและศิลปินในวงการตั้งวัยเยาว์ ซึ่งชื่อ Slash นั้นได้มาจาก Seymour Cassel ดาราตัวประกอบชื่อดังที่นิยามตามลักษณะนิสัยที่ปรากฏในวัยเด็กว่า เป็นคนรีบเร่งและไหลลื่นจากสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งหนึ่งได้ทันที 

ในวัยเด็ก กิจกรรมหนึ่งของ Slash คือการเข้ากลุ่มจักรยาน BMX ทำให้เขาได้เจอกับ Steven Adler มือกลองวง Guns N’ Roses ในเวลาต่อมา ซึ่งในช่วงแรกของชีวิตพวกเขา Adler เล่นกีตาร์ในขณะที่ Slash เล่นเบส 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ Slash มาเริ่มเล่นกีตาร์เพราะเห็นครูสอนดนตรีกำลังบรรเลงเพลง Brown Sugar ของวง The Rolling Stones และยังเห็นครูเล่นเพลงของวง Cream และ Led Zeppelin จึงทำให้เขาสนใจที่เรียนกีตาร์อย่างจริงจัง 

แน่นอนว่าตัวตนทางดนตรีของ Slash คงมิได้เกิดมาจากกระบอกไม้ไผ่แบบไร้ซึ่งที่มาที่ไป ทั้งภาพลักษณ์และสุ้มเสียงที่เขาผลิตออกมาจนกลายเป็นตัวตนของเขานั้น ล้วนแล้วแต่มีที่มาที่ไปซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นอิทธิพลที่เขาสะสมรับเข้ามาดุจดั่งคลังสะสมความคิดเพื่อใช้สร้างตัวตน 

กล่าวเชิงสาแหรกถึงอิทธิพลทางดนตรีของเขา มีทั้งศิลปิน Hard Rock ไปจนถึง Metal ในยุคแรก ในช่วงทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมาอย่าง Aerosmith, AC/DC, Black Sabbath, The Who, Led Zeppelin,  Alice Cooper, Black Sabbath หรือย้อนไปไกลกว่านั้นตั้งแต่ช่วง 1960 อย่าง The Rolling Stones, The Doors, Cream รวมถึงกระแส Punk Rock ที่เกิดขึ้นท่ามกลางชีวิตวัยรุ่นของเขาอย่าง The Stooges, Nazareth, T.Rex, Sex Pistols ได้หลอมรวมตัวตนของเขาให้สร้างสรรค์เป็นอัตลักษณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นมาเด่นชัดในนามของมือกีตาร์แห่งวง GN’R

หากย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นทางดนตรีของ Slash วงดนตรี Tidus Sloan (1981) ถือได้ว่าเป็นวงแรก (มีเผยแพร่ในสื่อออนไลน์) สะท้อนให้เห็นถึงกลิ่นอายดนตรียุค 1960 ที่มีอิทธิพลต่อเขาในช่วงเริ่มแรก ต่อมาเขาร่วมวง Road Crew (1983) ที่นำส่วนหนึ่งของชื่อเพลงวง Motörhead มาตั้งเป็นชื่อวง จนกระทั่งเขาร่วมวง Hollywood Rose (วงดนตรีก่อนที่จะกลายร่างเป็นวง GN’R ในปี 1985) ซึ่งสะท้อนให้เห็นอิทธิพลทางดนตรีของ Slash ที่เคยผ่านรูปแบบ glam metal อันเป็นการผสมผสานดนตรี heavy metal ดั้งเดิมเข้ากับเสียงดนตรีแบบ hard rock และยังผนวกรวมเข้ากับความ punk rock ที่ใส่ส่วนผสมของท่อน hook อันน่าจดจำทั้ง riffs และการ solo กีตาร์ เป็นสิ่งซึ่งสามารถบ่งชี้อัตลักษณ์ของบทเพลงของเขาได้เป็นอย่างดี

และนั่นส่งผลให้ในเวลาต่อมา วง GN’R มีส่วนผสมที่มาจากแนวทางดั้งเดิม ทั้งดนตรีและภาพลักษณ์ที่สามารถหาจุดสมดุลของผู้บริโภคในช่วงเวลานั้นได้ พิสูจน์ได้จากอัลบั้ม Appetite for Destruction (1987) ที่มีบทเพลงดังอย่าง Welcome to the Jungle, Sweet Child o’ Mine และ Paradise City ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงผ่านยอดขาย 30 ล้านชุดทั่วโลก จนในที่สุดปี 1996 เขาตัดสินใจแยกทางเดินกับ GN’R แต่ยังคงมีผลงานจากศิลปินรับเชิญมากมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างที่เขายังร่วมวง GN’R เขาเคยบันทึกเสียงและแสดงสดกับ Michael Jackson และทำ Velvet Revolver ผลงานอัลบั้มเดี่ยว และการกลับมารวมตัวกันใหม่อีกครั้งของ GN’R ในปี 2016 

 

หมวกทรงสูง Slash ได้แต่ใดมา

ฟังดูเหลือเชื่อหากจะบอกว่าภาพลักษณ์ที่เราเห็นจาก Slash ไม่ได้ถูกจัดสรรมาจากทีมออกแบบเครื่องแต่งกาย หากแต่เกิดขึ้นจากสำนึกและตัวตนที่เขามีส่วนร่วมในการคัดสรรมันขึ้นมา เมื่อกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการเลือกสวมหมวกทรงสูง มันเกิดขึ้นในชั่วโมงระหว่างรอทำการแสดงดนตรีกับวง GN’R

เมื่อเขาเดินเล่นแล้วไปสะดุดตากับหมวกที่จัดวางอยู่ในร้าน ราวกับมันพูดคุยกับเขาและทำให้รู้สึกมั่นใจว่าเขาต้องดูดีเมื่อมีหมวก แต่สิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่แค่การเดินเข้าไปในร้านค้าเพื่อจับจ่ายสินค้าออกมา กลับเป็นการขโมยหมวกจากร้านหนึ่งใน L.A. และยังเดินไปอีกร้านเพื่อขโมยเข็มขัดที่ใช้รัดรอบหมวกทรงสูงของเขา 

ฟังดูเป็นเรื่องตลกที่ภาพลักษณ์ของเขามาจากความห่ามในวัยหนุ่มที่เบื่อ ๆ ไม่รู้จะเครียดไปทำไมก่อนทำการแสดงดนตรี แต่กลับกลายเป็นวินาทีสำคัญที่ก่อร่างสร้างภาพบุคลิกภาพของเขาให้เป็นที่จดจำมาจนถึงทุกวันนี้

หมวกทรงสูงมิใช่แค่เรื่องของภาพลักษณ์ที่ชวนจดจำเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับลักษณะบุคลิกภาพของเขาที่เป็นคนขี้อาย และใช้มันเพียงเพื่อที่จะปกปิดหรือหลบซ่อนตัวเขาจากผู้คนจำนวนมาก แค่เพียงดึงมันลงมาก็ทำให้รู้สึกดีขึ้นเมื่อต้องเผชิญหน้ากับเหล่าผู้ฟังตรง ๆ 

วง GN’R โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งตัวของ Slash นั้น แตกต่างไปจากวงร็อกแถวหน้าของโลกในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็น Metallica หรือ Nirvana นอกเหนือไปจากเรื่องเล่าของ Slash ที่พูดราวกับว่าเขาเป็นคนเลือกเอง แต่ในโลกของความจริง ศิลปินที่ออกผลงานกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเบื้องหลังของการออกแบบภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่อัลบั้ม Appetite for Destruction จนถึง Use Your Illusion I 

มันเกิดขึ้นจากนักออกแบบเครื่องแต่งกายคนสำคัญแห่งยุคอย่าง เรย์ บราวน์ (Ray Brown) ที่เริ่มต้นชีวิตการสร้างสรรค์เสื้อผ้าให้กับวงในท้องถิ่นในเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยรับอิทธิพลมาจากศิลปินดนตรีในช่วง 1960 จนกระทั่งเขามาทำหน้าที่ให้กับมือกีตาร์ทอมมี่ ชอว์ (Tommy Shaw) แห่งวง Styx นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่พาให้เขาไปร่วมงานกับ Bon Jovi, Barry Manilow, Cher และแน่นอน GN’ R ที่เริ่มจากทางวงนำเสนอตัวตนไปให้ Brown เป็นคนช่วยขัดเกลารวมถึงดูภาพรวมของความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์วงร็อกที่ออกมาไม่เหมือนวงอื่น 

แน่นอนว่า Slash มีส่วนสำคัญที่ในการออกความเห็นเรื่องทิศทางของภาพลักษณ์วงที่ไม่อยากให้เหมือนกับใครในยุคนั้น เพราะแฟชั่นการแต่งตัวของวงร็อกในยุคนั้นมักจะต้องทำผมจัดเต็มและแต่งหน้าหนา ๆ แต่สิ่งที่แตกต่างจากวงอื่นคือการลดทอนความเยอะของภาพลักษณ์วงร็อกในเวลานั้น ให้พวกเขาสามารถที่จะเดินบนท้องถนนได้ปกติ และทำให้เข้าถึงแฟนเพลงได้ง่ายขึ้น โดยเปิดโอกาสให้แฟนเพลงได้แต่งตัวตามในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่เคอะเขิน 

กล่าวได้ว่า วง GN’ R เป็นวงร็อกนำกระแสการแต่งตัวที่ลดโทนความแฟนซีของชาวร็อกลง จนนำไปสู่การไม่แต่งตัวผิดปกติไปจากชีวิตประจำวันอย่างวง Nirvana หรือ Green Day ในเวลาต่อมา 

นอกจากการแต่งตัวและดนตรีที่เป็นที่เข้าถึงแฟนเพลงแล้ว การออกแบบตราสัญลักษณ์วงที่นับว่าเป็น 1 ใน 4 จตุรมิตรที่ประกอบไปด้วยวง The Rolling Stones, The Beatles, Nirvana และ GN’ R ยังคงเป็นกระแสท่ามกลางวงการเสื้อยืด (เสื้อทัวร์) ของชาวร็อกที่ปรากฏมาจนถึงปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เพียงแค่ตัวบทเพลง แต่นำมาสู่สินค้าสะสมที่ขายพ่วงกับผลิตภัณฑ์เพลงที่มีให้เลือกสรรหลากหลาย และเป็นการเปิดโอกาสให้บรรดาแฟนเพลงได้แสดงออกถึงรสนิยมการบริโภคของพวกเขา ควักเงินออกจากกระเป๋าเพื่อซื้อสะสมกัน และรวมถึงผู้คนที่หลงใหลในสัญลักษณ์และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่นำมาสวมใส่ ซึ่งหลายคนอาจจะแทบไม่รู้จักวงดนตรีนี้เลยด้วยซ้ำ แต่กลับยอมควักเงินเพื่อซื้อเสื้อวงนี้ใส่กันอย่างกว้างขวาง

 

เรื่อง: กุลธีร์ บรรจุแก้ว

ภาพ: แฟ้มภาพจาก Getty Images