วันแรกที่ จอห์น เลนนอน พบ พอล แมคคาร์ตนีย์ สองผู้นำ The Beatles รู้จักกันอย่างเป็นทางการ

วันแรกที่ จอห์น เลนนอน พบ พอล แมคคาร์ตนีย์ สองผู้นำ The Beatles รู้จักกันอย่างเป็นทางการ

วันแรกที่สองผู้นำแห่ง The Beatles, จอห์น เลนนอน และ พอล แมคคาร์ตนีย์ ทำความรู้จักกันอย่างเป็นทางการ จุดเริ่มแห่งมิตรภาพที่นำไปสู่การสร้างวงดนตรีที่จะเปลี่ยนโลกไปโดยสิ้นเชิง

  • จอห์น เลนนอน พบกับ พอล แมคคาร์ตนีย์ และทำความรู้จักกันอย่างเป็นทางการในช่วงปี 1957 จากนั้นค่อยพัฒนากลายมาเป็นวงดนตรีสำคัญของโลกอย่าง The Beatles 
  • เหตุการณ์ในวันประวัติศาสตร์ครั้งนั้นมีรายละเอียดและเกร็ดจากเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ขณะเดียวกันก็มีเรื่องเล่าหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป 

เสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 1957
โบสถ์เซนต์ปีเตอร์, วูลตัน, ลิเวอร์พูล

“จนถึงทุกวันนี้ มันก็ยังเป็นเรื่องลึกลับเหลือเชื่อสำหรับผมสำหรับสิ่งที่มันเกิดขึ้น ใครจะไปรู้ว่า ผมกับจอห์น จะได้พบกันในวันอื่น, ที่อื่น ๆ หรือไม่ ถ้าไอแวน ไม่ชวนผมไปที่งานวันนั้น ซึ่งบอกตรง ๆ ว่า จริง ๆ แล้ว เป้าประสงค์หลักของผมในวันนั้นคือการไปเหล่สาวสักคนมากกว่า 

อันที่จริงผมเคยเจอจอห์น มาก่อนแล้วล่ะ ที่ร้านขนม, บนรถเมล์, แต่เราจะได้คุยกันหรือเปล่า? ผมตอบไม่ได้จริง ๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ ก็คือ ผมกับจอห์น มีเพื่อนคนเดียวกัน และผมก็ยังนั่งรถเมล์สายเดียวกับจอร์จ ไปโรงเรียน

สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อทำให้ The Beatles ถือกำเนิด จะว่าไปมันก็เหมือนเวทมนตร์ มันเป็นบทเรียนหนึ่งที่สวยงามว่า คุณควรจะตอบรับกับโอกาสที่ชีวิตมอบให้เสมอ คุณไม่มีทางรู้หรอกว่ามันจะนำไปสู่สิ่งใด

และถ้าทั้งหมดนี้ยังไม่บ้าบอเพียงพอ ก็ยังมีใครคนหนึ่งนำเทปกรุนดิกไปอัดเสียงการแสดงของ The Quarry Men ในวันนั้นอีกด้วย คุณสามารถหาฟังได้ออนไลน์ (คุณภาพเสียงแย่หน่อยนะ) และก็ยังมีคนถ่ายรูปวงไว้รูปสองรูป กลายเป็นว่า วันสำคัญในชีวิตของผมได้ดำรงอยู่ในจิตวิญญาณแห่งอดีตในรูปแบบของหลักฐานเหล่านี้อย่างไม่น่าเชื่อ”

พอล แมคคาร์ตนีย์ (จากหนังสือ The Lyrics : 1956 To The Present)

แน่นอนว่าวันที่ 6 ก.ค. 1957 คือวันสำคัญของประวัติศาสตร์ The Beatles และมันจะยิ่งดูสำคัญเข้าไปใหญ่ หากเราจะคิดว่า ถ้าไม่มีวันนี้ จอห์น เลนนอน และพอล แมคคาร์ตนีย์ อาจไม่ได้พูดคุยและมาเล่นดนตรี, แต่งเพลงร่วมกัน ก็เป็นได้

โลกนี้คงไม่ใช่โลกแบบทุกวันนี้ และเราคงไม่อยากจะอยู่ในโลกคู่ขนานใบนั้นที่ไม่มี The Beatles แต่ความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้ทั้งสองคนจะไม่ได้เจอกันวันนั้น ก็มีโอกาสอีกพอสมควรที่จอห์นและพอล จะเจอกันในเวลาและสถานที่อื่น แต่คุณไม่มีวันรู้หรอก

ในเช้าวันนั้น ความสำคัญของวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 1957 สำหรับพอล แมคคาร์ตนีย์ (วัย 15 ปี) อาจจะเป็นแค่ได้ไปงานเทศกาล, ดูดนตรี และเหล่สาว ๆ แต่สำหรับ จอห์น เลนนอน (วัยย่าง 17 ปี) คือการได้ขึ้่นเวทีแสดงกับวง Quarry Men (บางครั้งก็เขียนว่า Quarrymen) ของเขาในงานยิ่งใหญ่ประจำปี

โชคดีที่การเป็นวง skiffle ไม่ใช่ rock and roll ทำให้พวกเขาไม่เป็นที่รังเกียจของโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ในการที่จะเชิญ The Quarry Men มาร่วมแสดง โดยไม่มีใครเฉลียวใจว่า วันนั้นพวกเขาได้ช่วยให้กำเนิดหนึ่งในปีศาจแห่งร็อกแอนด์โรลในอนาคต

สมาชิกของ Quarry Men ในวันที่ 6 ก.ค. 57 ประกอบไปด้วย จอห์น เลนนอน (John Lennon) (ร้องนำ, กีตาร์), เอริค กริฟฟิธส์ (Eric Griffiths) (กีตาร์), โคลิน แฮนตัน (Colin Hanton) (กลอง), ร็อด เดวิส (Rod Davis) (แบนโจ), พีท ช็อตตัน (Pete Shotton) (วอชบอร์ด) และ เลน แกร์รี่  (Len Garry) (ทีเชสต์เบส)

นี่คือวงดนตรีวงแรกของจอห์น เลนนอน ที่เขาก่อตั้งร่วมกับเอริค กริฟฟิธส์ เมื่อ 9 เดือนก่อน 

งานในวันนั้นเริ่มด้วยขบวนแห่ที่ออกจากโบสถ์และโคจรไปรอบ ๆ หมู่บ้านก่อนจะวกกลับมาที่เดิมอีกครั้ง 

ขบวนนำโดยทีมเครื่องเป่าทองเหลือง, ทีมเดินสวนสนามหญิง, ลูกเสือ, ทีมแห่ราชินีกุหลาบ (Rose Queen) คนใหม่ และปิดท้ายด้วยวง The Quarry Men ที่นั่งอยู่ท้ายรถบรรทุก พยายามเล่นดนตรีไปด้วยอย่างยากลำบาก คุณพ่อของ ร็อด เดวิส ถ่ายภาพวงบนรถบรรทุกไว้ด้วย 1 ภาพ

ตัดมาที่พอล แมคคาร์ตนีย์ ที่กำลังปั่นจักรยานคู่ใจมาพร้อมกับเพื่อนรัก ไอแวน วอห์น  (Ivan Vaughan) มาจาก Allerton ทั้งสองเดินขึ้นภูเขามาที่โบสถ์ พอล มาในชุดแจ็กเก็ตขาวสุดหล่อตัวเก่ง และกางเกงดำขาลีบเล็ก ไอแวน เล่าให้ฟังคร่าว ๆ ว่า สมาชิกในวง Quarry Men ที่พวกเขากำลังจะไปดูกันมีใครเล่นอะไรบ้าง (ไอแวนเองก็เคยเล่นในวงนี้ในบางครั้ง) เมื่อทั้งสองไปถึง The Quarry Men ลงมาจากรถบรรทุกแล้ว และกำลังร้องบรรเลงอยู่บนเวทีในสวนหลังโบสถ์

จอห์น เลนนอน ยืนตระหง่านอยู่บนนั้น ภายใต้เสื้อเชิ้ตขาวแดงลายหมากรุก ท่าทางเต็มไปด้วยความเข้มแข็งมั่นใจ มองจากดาวอังคารก็รู้ว่าเด็กหนุ่มคนนี้คือหัวหน้าวง ด้วยความเป็นนักกีตาร์ พอล มองไปที่นิ้วของจอห์น เขาไม่อาจบอกได้ว่า จอห์น กำลังเล่นคอร์ดอะไรอยู่ พอล ยังไม่รู้ตอนนั้นว่า จอห์น กำลังเล่นคอร์ดแบนโจบนกีตาร์

จอห์นกำลังร้องเพลง ‘Come Go With Me’ ของ Dell-Vikings ซึ่งไม่ใช่เพลงดังอะไรนัก จอห์น รู้เนื้อเพลงนิดหน่อย พอล ก็รู้นิดหน่อยเหมือนกัน แต่ก็มากพอที่จะจับได้ว่า จอห์น กำลังแต่งเนื้อขึ้นมาเองสด ๆ บนเวที เขาร้องว่า “Come go with me... down to penitentiary.”(เนื้อจริง ๆ คือ “Come go with me, way beyond the sea.”) ซึ่งพอล คิดว่า ไอ้หมอนี่ฉลาดเฉียบคมชะมัดที่เอาคำที่ใช้ในเพลงโฟล์กมาเสียบใส่ในเพลงของ Dell-Vikings ได้เนียน ๆ นั่นคือความประทับใจแรกเริ่มที่พอล แมคคาร์ตนีย์ มีต่อจอห์น เลนนอน

Quarry Men เริ่มเล่นบนเวทีวันนั้นในเวลาประมาณ 16:15-16:45 น. เพลงที่พวกเขาเล่นนอกจาก ‘Come Go With Me’ ก็มี ‘Cumberland Gap’, ‘Maggie Mae’ (เพลงที่ต่อมา The Beatles นำไปบันทึกเสียงในอัลบั้ม Let It Be), ‘Railroad Bill’, ‘Rock Island Line’, ‘Lost John’, ‘Putting On The Style’ และ ‘Bring A Little Water, Sylvie’ และอาจจะมีเพลง skiffle ของ Vipers ‘Steamline Train’ ที่เป็นซิงเกิ้ลล่าสุด แต่จอห์น ขอเรียกมันว่า ‘Long Black Train’ (ซึ่งจอห์น อาจจะเอามาจาก ‘Mystery Train’ ของ Elvis Presley), พวกเขาอาจจะเล่นเพลงร็อกของ Elvis กันอีกเพลงสองเพลง แต่ไม่มีใครจำได้ว่าเพลงอะไร และ ‘Be-Bop-A-Lula’ ของ จีน วินเซนต์ (Gene Vincent) ที่จอห์น จำได้ว่าพวกเขาเล่นมันบนเวทีเป็นครั้งแรกในวันนั้น

เจฟฟ์ ไรนด์ (Geoff Rhind) เพื่อนร่วมโรงเรียนควอรี่เมน เอากล้องไปวันนั้นด้วย และเป็นเขาที่ได้ถ่ายภาพประวัติศาสตร์ของควอรี่เมนบนเวทีไว้ เพียงภาพเดียว, แต่ก็เกินพอ, ภาพในวันแรกที่จอห์น พบพอล แม้จะไม่มีพอล ในภาพ จอห์น มองตรงไปที่กล้อง มือขวา กำลังกระหน่ำตีคอร์ดบนกีตาร์ Gallotone ของเขา, เสื้อเชิ้ตที่แม่ของเขา, จูเลียซื้อให้ พับแขนเสื้อจนถึงข้อศอก ผมยุ่งเหยิงเล็กน้อย และร้องเพลงใส่ไมโครโฟนที่มีอยู่ตัวเดียวบนเวที ภาพนี้ได้ถูกตีพิมพ์อีกนับครั้งไม่ถ้วนในเวลาต่อมา

เกร็ดเล็กน้อยคือ ป้ามิมี่ (Mimi Smith) ผู้ปกครองจอมเฮี้ยบของจอห์น ก็อยู่ในงานด้วย ซึ่งป้ามิมี่ ก็ทั้งดีใจและทำใจเมื่อเห็นจอห์น อยู่บนเวทีอย่างนั้น เธอรู้เต็มอกทันทีว่า ป่วยการแล้วที่จะห้ามจอห์น เข้าสู่วงการดนตรี ป้ายังบอกอีกว่า เมื่อจอห์น มองลงมาเห็นเธอ เขาเปลี่ยนเนื้อร้องที่กำลังร้องอยู่ทันทีเป็น “....Uh-oh, Mimi's coming down the path…” (“บรรลัยล่ะ ป้ากูมาโว้ย”)

ไอแวน วอห์น เป็นเพื่อนกับจอห์น มาตั้งแต่เล็ก ๆ เขาทั้งสองอาจจะมีคาแรกเตอร์ต่างกันแต่ไอแวน ก็เคารพความเป็นผู้นำแก๊งของจอห์น สุดหัวใจ หนึ่งในความภาคภูมิใจเล็ก ๆ ของไอแวน ก็คือ เขามักจะสรรหาเพื่อนดี ๆ มาแนะนำให้จอห์น รู้จักเสมอ เลน แกร์รี่ คือหนึ่งในนั้น และวันนี้ คนที่ไอแวนภู มิใจเสนอ คือ พอล แมคคาร์ตนีย์

เมื่อวงเล่นเซ็ตแรกจบลง พวกเขาเดินออกมาที่ซุ้มลูกเสือเพื่อฝากกีตาร์ และ ณ ที่นี้เองที่ไอแวน แนะนำพอล ให้จอห์น รู้จัก มันไม่ได้มีการจับมือสวมกอดอะไรกัน พวกเขาออกจะเกร็ง ๆ และระแวงกันอยู่ พอล ก็รู้สึกว่าเขายังเด็กกว่าจอห์น มาก (เขาเกิดวันเดียวกับไอแวน) เพิ่งอายุครบ 15 ไปได้แค่สามอาทิตย์ ส่วนจอห์น กำลังจะ 17 และพอล ยังจำได้ขึ้นมาว่า เขาเคยเห็นจอห์น มาก่อนแล้ว หนุ่มมาดนักเลงบนรถเมล์คนนั้น จอห์น เท่และดูน่าสะพรึงมากจนพอล ไม่กล้าสบตานานเพราะกลัวโดนจอห์นอัด!

ความจริง Quarry Men มีโปรแกรมแสดงอีกรอบตอน 5:45 น. แต่ไม่มีใครจำได้ว่า พวกเขาได้เล่นกันไหม ที่แน่ ๆ คือมีการแสดงรอบกลางคืนช่วงหลังสองทุ่มรออยู่ นี่จึงเป็นช่วงเวลาว่าง ๆ ควอรี่เมนสองคนกลับบ้านไปจิบชา แต่ที่เหลือ ซึ่งมีจอห์น, พีท, เลน, โคลิน, ไอแวน และพอล ไปนั่งเล่นฆ่าเวลากันในฮอลล์ที่กำลังเตรียมสถานที่สำหรับการเต้นรำ พวกเขานั่งคุยสูบบุหรี่ จิบเบียร์กันข้าง ๆ เวที ในฮอลล์นั้นมีเปียโนวางอยู่หลังนึง พอล ไม่ปลื้มรสชาติของเบียร์นัก แต่ก็ต้องดื่มไปเพื่อรักษาฟอร์ม

เมื่อคุย ๆ กันไปถึงเรื่องดนตรี พอล, ด้วยความเป็นคนแบบเขา, เอ่ยปากขอยืมกีตาร์ของจอห์นมาเล่น และพบว่ามันถูกตั้งสายแบบแบนโจอยู่ พอล เสนอจะตั้งสายให้ใหม่ การที่เขาเป็นคนถนัดซ้ายทำให้ต้องถือกีตาร์กลับด้านสร้างความขบขันให้คนอื่น ๆ แต่คนเหล่านั้นก็ขำอยู่ได้ไม่นาน เพราะจู่ ๆ พอลก็ระเบิดเพลง ‘Twenty Flight Rock’ ออกมา

นาทีนั้น จอห์น รู้เลยว่า หมอนี่ไม่ธรรมดา ฝีมือเหนือกว่าเขาและคนอื่น ๆ ในวงไปแบบคนละระดับ นอกจากเล่นเพลงนี้ได้ตั้งแต่ต้นจนจบอย่างมั่นใจแล้ว พอล ยังร้องเนื้อร้องได้ถูกต้องเป๊ะ ๆ อีกด้วย ‘Twenty Flight Rock’ ก็เหมือน ‘Come Go With Me’ มันไม่ใช่เพลงโหลเพลงดัง คนที่จะรู้จักเพลงแบบนี้ในสมัยนั้นต้องเป็นคอเพลงจริง ๆ

จากนั้นก็ไม่มีอะไรหยุดหนุ่มน้อยพอล แมคคาร์ตนีย์ ได้ เขาเข้าสู่โหมดโชว์ออฟเต็มอัตรา เต็มไปด้วยความมั่นใจและรู้ว่าผู้ชมของเขากำลังตื่นตะลึง พอล โชว์คอร์ดแปลก ๆ สองคอร์ดที่เขามั่นใจว่า คนที่มุงดูอยู่ตอนนั้นไม่เคยได้ยินมาก่อน และเล่นอีกสองเพลง เพลงหนึ่งคือ ‘Be-Bop-A-Lula’ และเพลงของ Elvis Presley อีกเพลง 

เท่านั้นยังไม่พอ เขากระโดดไปที่เปียโน แหกปากร้อง ‘Long Tall Sally’ ซึ่งเพลงนี้ทำให้จอห์น แทบกระอัก เจ้าหนุ่มคนนี้มันเจ๋งจริง ๆ ไม่มีใครใน Quarry Men ทำอะไรได้แบบนี้

ไม่มีใครจำได้ว่าการโชว์ออฟนี้ดำเนินไปนานแค่ไหน พอล ชอบเล่าว่า เขาได้กลิ่นเบียร์จากลมหายใจของจอห์นตอนเขายื่นหน้ามาที่เปียโน ราวกับมันเป็นเรื่องสำคัญเหลือเกิน

การแสดงของ Quarry Men รอบสุดท้ายในคืนนั้น ถูกบันทึกเสียงไว้ด้วยเทป reel-to-reel ยี่ห้อ Grundig ของ บ็อบ มาลีโน (Bob Molyneux) มันเป็นงานอดิเรกของบ็อบ เขาอัดการแสดงควอรี่เมนไว้สองเพลงคือ ‘Putting On The Style’ ของ ลอนนี่ โดนีแกน (Lonnie Donegan) ซูเปอร์สตาร์สคิฟเฟิล (เพลงอันดับ 1 ณ ขณะนั้น) และ ‘Baby Let's Play House’ ของ Elvis Presley 

ไม่มีใครจำอะไรได้เกี่ยวกับการอัดเทปนี้ จน 37 ปีให้หลังในปี 1994 บ็อบ จึงเอาเทปนี้มาขายให้ EMI ที่วางแผนจะนำมันมาใส่ในสารคดี The Beatles Anthology แต่ก็ไม่ได้ใส่ อาจเป็นเพราะคุณภาพเสียงมันย่ำแย่เกินไป นี่คือการบันทึกเสียงการเล่นดนตรีครั้งแรกของ Quarry Men และจอห์น เลนนอน

หลังเลิกงาน พวกเขาไปนั่งดริงก์กันต่อในผับแถวนั้น (พอลและไอแวน ต้องแอ๊บทำเป็นผู้ใหญ่สุดชีวิต เพราะจริง ๆ แล้วพวกเขาอายุไม่ถึง) แต่นั่งได้ไม่นานก็ต้องเผ่นกัน เพราะมีข่าวว่าจะมีกลุ่มวัยรุ่น ‘ขาใหญ่’ มาหาเรื่อง พอลปั่นจักรยานกลับบ้านที่ Forthlin Road เป็นอันจบราตรีนั้น

สิ่งที่จอห์น ต้องครุ่นคิดคือ เขาจะชวนพอล มาเข้าวงดีไหม ถ้าพอลมา วงจะต้องแกร่งขึ้นแน่ หรือว่าไม่ชวนดีกว่า, เขาจะได้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ในวงต่อไป แต่สุดท้ายเขาก็เลือกที่จะให้วงดีขึ้น โดยบอกตัวเองว่า เขาต้องคุมพอลให้อยู่ ยังไงเสีย นายคนนี้ก็คุ้มค่ากับการที่จะให้มาร่วมแน่นอน อ้อ นอกจากนั้น พอล ยังหล่อเหลาเหมือนเอลวิส อีกด้วย จอห์น ยอมรับว่าเขาปลื้มเด็กคนนี้มาก ๆ

หลังจากนี้มักจะเล่ากันว่า กระบวนการเชิญพอล เข้าวงนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้า หลายวัน หรืออาจจะหลายสัปดาห์ เวอร์ชั่นที่ดังที่สุดมาจากพีท ช็อตตัน เขาเล่าว่า วันนั้นเขากับจอห์นเดินกลับบ้าน จอห์น ถามเขาว่า ถ้าเขาจะชวนพอลเข้าวงด้วย นายจะว่าอะไรไหม พีทตอบว่า ไม่ว่าอะไร และหลังจากนั้น 10-14 วัน พีทได้ไปเจอพอล ขี่จักรยานมาโดยบังเอิญที่หัวมุมระหว่าง Linkstor Road และ Vale Road และพีท ก็ชวนพอล ตรงนั้น 

“นายอยากเข้าวงพวกเราไหม?” พอล หยุดคิดพักหนึ่ง หรือทำท่าเหมือนจะคิด ก่อนจะตอบว่า “โอเค” ก่อนจะขี่จักรยานกลับไป

แต่จอห์น เลนนอน, ในการให้สัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายในวันสุดท้ายของเขา  (8 ธันวาคม 1980) กลับเล่าว่า “ผมหันไปถามพอล ตรงนั้นเลย ในวันแรกที่เราเจอกันว่า นายอยากร่วมวงกับเราไหม? และเท่าที่ผมจำได้ วันต่อมา พอลตอบตกลง”

ไม่ว่าจะตกลงกันในแบบไหน ที่เหลือคือประวัติศาสตร์

 

หมายเหตุ: ในการพูดคุยกับเพื่อนที่สนิทวงใน หลายครั้งที่พอล เล่าว่า จริง ๆ แล้ว เขาเคยคุยกับจอห์นมาก่อนหน้านั้น ตอนนั้นพอล ทำงานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ตอนเย็น ๆ และครั้งหนึ่ง เขาเอ่ยปากคุยกับจอห์น หน้าร้านตัวแทนหนังสือแห่งหนึ่ง 

จอห์น ไม่เคยพูดเรื่องนี้ให้ใครฟัง และพอล ก็ไม่เคยพูดเรื่องนี้ออกสื่อ และเขาก็ไม่เคยบอกชัด ๆ ว่า ร้านที่ว่านี้คือร้านไหน แต่ครอบครัวแถวนั้นที่รู้จักพอล คาดว่าน่าจะเป็นร้านชื่อ Abba ที่ 166 Aigburth Road ใกล้ Cast Iron Shore ซึ่งถ้าเรื่องนี้จริง มันควรเป็นความลับต่อไป เพราะสตอรี่มันไม่คลาสสิกเท่าจอห์นพบพอล ที่วูลตันเอาเสียเลย

เรื่อง: กองทุน รวยแท้

ภาพ: แฟ้มภาพ พอล แม็คคาร์ตนีย์ กับจอห์น เลนนอน ในยุค 60s ไฟล์จาก Getty Images