‘ชีวิตลิขิตเพลง’ บนเส้นทางดนตรี และ ‘ส่งเพลงสุข’ ปีใหม่ ในแบบ ‘สุรักษ์ สุขเสวี’

‘ชีวิตลิขิตเพลง’ บนเส้นทางดนตรี และ ‘ส่งเพลงสุข’ ปีใหม่ ในแบบ ‘สุรักษ์ สุขเสวี’

ชวนคุยกับ ‘สุรักษ์ สุขเสวี’ นักแต่งเพลงมือฉมัง ผู้ฝากฝีมือกับหลายเพลงดัง อาทิ ‘หัวใจขอมา’, ‘วิมานดิน’, ‘แทนคำนั้น’, ‘หมากเกมนี้’, ‘นิยามรัก’, ‘ชายคนหนึ่ง’, ‘คู่แท้’, ‘เธอผู้ไม่แพ้’ ฯลฯ รวมถึงเพลงปีใหม่ ‘ส.พ.ส. ส่งเพลงสุข’ อีกผลงานที่เขาภูมิใจมาก

  • ‘สุรักษ์ สุขเสวี’ เป็นนักแต่งเพลงมือฉมัง และเจ้าของฉายา ‘เจ้าพ่อ’ เพลง Corporate ผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลงมากมาย
  • ล่าสุดเขาได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ ‘ส.พ.ส. ส่งเพลงสุข’ ซึ่งเขาบอกว่า เป็นอีกผลงานที่เขาภูมิใจมาก 

ในยุคที่เริ่มมีการให้เครดิต ‘คนทำงานเบื้องหลัง’ คือ ผู้ประพันธ์เนื้อร้อง ทำนอง และเรียบเรียงเสียงประสานที่มากขึ้น ต่างจากอดีตที่คนทั่วไปจะจดจำเพียง ‘ชื่อเพลง’ และ ‘ชื่อนักร้อง’ ​ทำให้ผู้ประพันธ์เนื้อร้อง ทำนอง และเรียบเรียงเสียงประสานได้รับการยอมรับและได้รับการยกย่องเพิ่มขึ้นมาก ในบางกรณีชื่อคนแต่งเพลงได้รับการจดจำเคียงคู่กับผลงานเพลงและศิลปิน

​และบางกรณีก็เป็นที่กล่าวขวัญถึงมากกว่า​เช่นเพลง ‘รำวงลอยกระทง’ ที่ถือว่าเป็น ‘เพลงเอก - เพลงเดียว’ สำหรับ ‘เทศกาลลอยกระทง’ ที่คนทั่วไปรู้จัก และจดจำว่าเป็นผลงานของ ‘สุนทราภรณ์’

​เพลงเทศกาลปีใหม่ก็เช่นกัน ที่มีเพลงพระราชนิพนธ์ ‘พรปีใหม่’ และชุดเพลงปีใหม่ของ ‘สุนทราภรณ์’ ซึ่งเป็นที่จดจำกันมาอย่างยาวนาน ร่วมด้วยเพลง ‘ส.ค.ส.’ ของ ‘เบิร์ด ธงไชย’ และเพลงปีใหม่ของ ‘คุณพระช่วย’

​‘สุรักษ์ สุขเสวี’ เป็นนักแต่งเพลงอีกคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในยุคที่คนฟังเพลงไทยให้การยกย่อง และจดจำผู้ประพันธ์เนื้องร้อง ทำนอง และเรียบเรียงเสียงประสาน ทำให้ชื่อของเขาเป็นที่จดจำเคียงคู่ผลงานเพลงและศิลปิน ​ไม่ว่าจะเป็น ‘หัวใจขอมา’, ‘วิมานดิน’, ‘แทนคำนั้น’, ‘หมากเกมนี้’, ‘นิยามรัก’, ‘ชายคนหนึ่ง’, ‘คู่แท้’, ‘เธอผู้ไม่แพ้’, ‘นาทีที่ยิ่งใหญ่’, ‘ลาก่อน’ ฯลฯ

​โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุรักษ์ สุขเสวี ได้จัดทำผลงาน ‘เพลงปีใหม่’ ชื่ออัลบั้มว่า ‘ส.พ.ส. ส่งเพลงสุข’ ซึ่งเป็นบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ เพื่อเปิดในบรรยากาศเทศกาลเฉลิมฉลองคริสต์มาส ต่อด้วยส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 

​The People ได้รับเกียรติจาก สุรักษ์ สุขเสวี มาพูดคุยถึง ‘ส.พ.ส. ส่งเพลงสุข’ รวมถึงเบื้องหลังบรรยากาศการสร้างสรรค์ผลงานเพลงที่ผ่านมา

‘เจ้าพ่อ’ เพลง Corporate

​หลังออกจาก GMM Grammy สุรักษ์ สุขเสวี รับจ้างผลิตเพลงในงานอีเวนต์ เพลงโฆษณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงสำหรับองค์กรหรือสถาบันต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า ‘เพลง Corporate’ https://www.ifeelfinemusic.com/clients

​ประกอบด้วย กลุ่มผลงานเพลงเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ กลุ่มผลงานเพลงเพื่อหน่วยงานราชการและพรรคการเมือง กลุ่มผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์ ละคร เพลงประกอบรายการ กลุ่มผลงานเพลงประกอบโฆษณา สินค้า กลุ่มผลงานเพลงเสียงเด็ก กลุ่มผลงานเพลงเพื่อบริษัทเอกชนกลุ่มผลงานเพลงเพื่อสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ศาสนา จำนวนมากกว่า 150 เพลง

“ผมคิดว่าน่าจะเป็นนักแต่งเพลงที่ทำงานกับองค์กร และสถาบันต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า เพลง Corporate มากที่สุด พวกเพลงมหาวิทยาลัย หรือเพลงอีเวนต์ต่าง ๆ เพลงโฆษณา ผมแต่งเยอะมาก

“นักแต่งเพลงอาชีพเราต้องอยู่ให้ได้ด้วยการแต่งเพลง และต้องรักษาชื่อเสียงด้วยฝีมือและผลงาน การแต่งเพลง Corporate ต่างจากเพลง Pop เนื่องจากเพลง Corporate จะมีโจทย์มาให้ที่ค่อนข้างรัดกุม บางเพลงต้องใส่ชื่อองค์กรให้ครบ ซึ่งต้องบอกว่ายากมากที่จะตีโจทย์ให้แตก

เพราะเพลง Corporate ต้องทำตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ต่างจากเพลง Pop ที่ต้องเขียนให้คนวงกว้าง เงื่อนไขต่างกันมาก แต่ก็ไม่ยากหากเราตั้งใจฝึกฝน แต่การสั่งสมประสบการณ์มีปัจจัยเรื่องการจ้างของลูกค้า ซึ่งเขาอาจได้เปรียบตรงที่ทำมานาน

“การนำเสนอ Portfolio จึงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพราะมีผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ ผมจะชอบเวลาต้องไปพบผู้บริหาร หรือว่าผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับ Project เพราะเวลาไป Present งานแล้ว ผมไม่ค่อยมีปัญหา เพราะผมเข้าใจว่าผมทำอะไรอยู่ และเรามีมาตรฐานในการทำงานที่ค่อนข้างสูง แล้วลูกค้าก็แนะนำต่อ ๆ ไปแบบปากต่อปาก

“อย่างเพลงเกี่ยวกับเด็ก หรืองานอีเวนต์เกี่ยวกับเด็ก ผมว่าน่ารักดีที่เราแต่งเพลงพวกนี้ได้ เวลารับแต่งเพลงอะไรแบบนี้ ผมจะชอบมาก ลูกค้าก็น่ารัก หรือพวกเพลงโฆษณาที่มีโจทย์เฉพาะ คือตัวสินค้า ก็ถือเป็นความท้าทายในการทำงานที่ต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ แต่เป็นอาชีพที่ผมภูมิใจไม่แพ้การเป็นนักแต่งเพลง Pop”

อยากทำเพลงปีใหม่ในอีกเวอร์ชันหนึ่ง

หากเอ่ยถึง ‘เพลงเทศกาล’ แน่นอนว่าความจดจำของคนไทยคือผลงานเพลง ‘สุนทราภรณ์’ ไม่ว่าจะเป็นเพลง ‘รำวงลอยกระทง’ ที่ถือว่าเป็น ‘เพลงเอก - เพลงเดียว’ สำหรับ ‘เทศกาลลอยกระทง’ ที่คนทั่วไปรู้จัก และจดจำว่าเป็นผลงานของ ‘สุนทราภรณ์’ ​ยังไม่นับ ‘เพลงวันแม่’ อย่าง ‘ค่าน้ำนม’ หรือ ‘ใครหนอ’ และยังมี ‘อิ่มอุ่น’

​เพลงเทศกาลปีใหม่ก็เช่นกัน ที่มีเพลงพระราชนิพนธ์ ‘พรปีใหม่’ และชุดเพลงปีใหม่ของ ‘สุนทราภรณ์’ ซึ่งเป็นที่จดจำกันมาอย่างยาวนาน ร่วมด้วยเพลง ‘ส.ค.ส.’ ของ ‘เบิร์ด ธงไชย’ และเพลงปีใหม่ของ ‘คุณพระช่วย’

​ในส่วนของ สุรักษ์ สุขเสวี ได้จัดทำผลงานเพลงปีใหม่ชื่ออัลบั้มว่า ‘ส.พ.ส. ส่งเพลงสุข’ ซึ่งเป็นบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ เพื่อเปิดในบรรยากาศเทศกาลเฉลิมฉลองคริสต์มาส ต่อด้วยส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่

​“นอกจากเพลง Corporate ผมมีผลงานอีกชุดหนึ่งซึ่งภาคภูมิใจมากที่ได้สร้างสรรค์มันขึ้นมา นั่นคืออัลบั้ม ส.พ.ส. ส่งเพลงสุข

แน่นอนว่า ถ้าพูดถึงเพลงปีใหม่เราเติบโตมากับเพลงพระราชนิพนธ์ ซึ่งเป็นเพลงที่คนไทยเคารพเทิดทูน เพลงปีใหม่อีกชุดหนึ่งคือของสุนทราภรณ์ เวลาเราไปเดินห้างหรืออีเวนต์ต่าง ๆ ในช่วงเทศกาล เช่น คริสต์มาส เราจะได้ยินเพลงสากล หรือในช่วงปีใหม่เราก็จะได้ยินเพลงของสุนทราภรณ์ เขาจึงมีความรู้สึกว่า น่าจะทำเพลงปีใหม่ในอีกรูปแบบหนึ่ง ให้มีกลิ่นนมเนยแบบฝรั่ง โดยทำดนตรีเป็นสไตล์ Pop Jazz

 

“ผมพยายามตีความ และสร้างสรรค์เนื้อร้อง ทำนอง เรียบเรียงเสียงประสาน เติมเครื่องเป่า เติมดนตรีร่วมสมัยที่หลากหลาย คือช่วงหลังนอกจาก ส.ค.ส. ของพี่เบิร์ดและคุณพระช่วย เรายังไม่มีเพลงปีใหม่อารมณ์นี้ ผมก็เลยคิดว่าอยากลองทำดูบ้าง

“แต่โครงการนี้ต้องใช้ทุนเยอะมาก เพราะว่าเราจะทำเป็น Concept Album มากถึง 12 เพลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครทำแล้ว เพราะส่วนใหญ่ยุคนี้ทำเป็น Single เพลงเดียว ที่เหลือก็แล้วแต่ดวง คือเป็นไปตามยถากรรม”

สำหรับ ส.พ.ส. ส่งเพลงสุข เป็นเพลงที่สุรักษ์แต่งขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะสำหรับเทศกาลคริสต์มาส ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ทั้งหมดพูดถึงเรื่องสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของเราที่ออกมาใช้ชีวิตร่วมกันในช่วงเทศกาลปีใหม่ บางคนก็อยู่บ้าน บางคนก็ออกไปฉลองกับเพื่อน บางคนออกไป Countdown มันจะมีสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในอัลบั้มนี้

“ผมก็แบ่งเป็นเพลงช้าและเพลงเร็ว ผมอยากจะบันทึกเสียงด้วยเครื่องดนตรีเครื่องจริงทั้งหมด ตีกลองจริง ๆ เล่นจริง เครื่องสายก็ต้องเล่นจริง เครื่องเป่าก็ของจริง สำหรับผมแล้ว บางครั้งการที่ถ้าเราจะไปนึกถึงเรื่องนี้ว่ามันจะคุ้มค่าทางธุรกิจหรือเปล่า บางครั้งมันปิดโอกาสในการสร้างงานแบบที่เราฝันไว้

“อัลบั้ม ส.พ.ส. ผมฝันว่า มันควรจะมี อยากส่งความสุขให้กับคนไทยทั้งประเทศในเทศกาลแห่งความสุข ก็ทำในรูปแบบ CD, USB และ Digital Download ให้เลือกครับ”

จาก ‘ชีวิตลิขิตเพลง’ ถึง ‘เราจะนอนมองฟ้าด้วยกันอีกครั้ง’

​นอกจากเป็นนักแต่งเพลง สุรักษ์ สุขเสวี ยังเป็นนักอ่าน และนักเขียน เขาเคยเขียนหนังสือรวมเล่มผลงานเบื้องหลังการแต่งเพลง ชื่อปก ‘เราจะนอนมองฟ้าด้วยกันอีกครั้ง’ ซึ่งได้รับการพิมพ์ซ้ำถึง 5 ครั้ง โดย 3 ครั้งแรกภายในสำนักพิมพ์ Bliss Publishing ในเครือ GMM Grammy 

ส่วนครั้งที่ 4 สุรักษ์ สุขเสวี นำกลับมาพิมพ์เอง ในชื่อปก ‘ชีวิตลิขิตเพลง’ และฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 ซึ่งกำลังจะวางแผง กลับมาใช้ชื่อปกเดิม ‘เราจะนอนมองฟ้าด้วยกันอีกครั้ง’

​“ที่มาและแรงบันดาลใจของบทเพลงเหล่านั้น ผมเลือกมา 60 เพลงที่ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่คนฟังเพลงในยุคล้านตลับจะรู้จักกันดี ก็เขียนบอกที่มาที่ไป แล้วก็ได้บอกเล่าเบื้องหลังหลาย ๆ เรื่องที่คนข้างนอกไม่รู้ ว่าเวลาทำงานเราต้องผ่านขั้นตอนอะไร แล้วก็มีผู้คนมากมายที่มาเกี่ยวข้องอะไรบ้างในการทำงาน หรือการสร้างสรรค์บทเพลงขึ้นมาสักเพลงหนึ่ง

“สำหรับผมแล้ว ผมใช้คำว่า คำให้การของคนเบื้องหลังในยุคเพลงล้านตลับ ซึ่งมันจะไม่มีวันหวนกลับไปอีกแล้ว”

 เบื้องหลังสนุก ๆ ในการแต่งเพลง

สำหรับเบื้องหลังสนุก ๆ ในการแต่งเพลง สุรักษ์อยากจะเล่าถึงเพลง ‘หัวใจขอมา’ ทุกครั้งที่พูดถึงเพลงนี้แล้วทำให้นึกถึงสถานที่แห่งหนึ่ง นั่นก็คือ เกาะเสม็ด 

“คืออาชีพนักแต่งเพลงที่ GMM Grammy ในตอนนั้น มันมีอิสระมาก เข้าออฟฟิศแค่วันจันทร์กับวันพฤหัสบดีตอนบ่าย ๆ เลยทำให้ผมมีช่วงเวลาที่สามารถไปไหนมาไหนได้สะดวก มันทำให้ผมได้รับฉายาว่าสิงห์เกาะเสม็ด ผมคิดว่าตั้งแต่วันที่ผมเริ่มทำงานเป็นนักแต่งเพลง จนถึงวันนี้ผมไปเกาะเสม็ดมากกว่าคนระยองเสียอีก”

สำหรับเพลงหัวใจขอมา ตอนที่ไปเกาะเสม็ด เขาได้หิ้วทำนองเพลงนี้ไปด้วย เอาไปแต่งต่อที่นั่น เริ่มต้นด้วยประโยค - กลับมาคราวนี้เพราะหัวใจมันขอมา - จึงได้ประโยคนี้ก่อนจะได้ท่อนแรก แล้วท่อนแยกก็ตามมาจนเสร็จ

“ตอนนั้นผมยังไม่ได้ซื้อรถ ผมก็นั่งรถทัวร์ไป ขากลับก็นั่งแต่งต่อในรถทัวร์ แต่งไปได้อีกประมาณ 30 - 40% มาถึงกรุงเทพฯ ผมยังไม่ได้เข้าออฟฟิศ เพราะต้องไปซื้อของที่ห้างมาบุญครอง เลยแต่งต่อจนจบเพลงระหว่างเดินที่ชั้น 5 หน้าร้านขายเฟอร์นิเจอร์ใน MBK นั่นเอง”

ดังนั้น สำหรับเขาบางครั้งเพลงซึ้ง ๆ โรแมนติก ก็แต่งในสถานที่ที่ไม่ช่วยสร้างอารมณ์เลย

อีกบทเพลงที่อยากเล่าก็คือ ‘หน้าต่างบานนั้น’ ซึ่งวันที่แต่งเขาได้ไปท่องเที่ยวที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

“วันนั้นผมไปเที่ยวที่ประจวบฯ และไปเขาสามร้อยยอด สมัยที่ทำอัลบั้มนี้การสื่อสารมันไม่มีมือถือ ผมจะต้องส่งงานคือเนื้อเพลงจากประจวบฯ เข้าออฟฟิศ ต้องใช้โทรศัพท์สาธารณะในการอ่านเนื้อร้องให้ โปรดิวเซอร์คือ พี่ว่าว - อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ ซึ่งเป็นคนที่ละเอียดมากในการทำงาน พี่ว่าวไม่ให้ผมอ่านเนื้อ แกให้ผมร้องเป็นทำนอง คือร้องทั้งเพลง

“ทีนี้มันก็มีคนยืนรอใช้โทรศัพท์แถวยาวเหยียด นึกภาพออกไหม ผมนี่กดดันมาก แต่ก็ต้องร้องเพลงในตู้โทรศัพท์ ดีนะที่คนรอเขาไม่โวยวาย เขาอาจเห็นใจที่ผมร้องเพลงจีบสาว แต่ที่ไหนได้ ผมร้องเพลงให้ผู้ชาย 555”

ส่งแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่

สำหรับการส่งแรงบันดาจให้คนรุ่นใหม่ เขาอยากจะส่งสารนี้ให้น้อง ๆ ทุกคนที่กำลังมีความคิด และมีความฝันว่าจะมาสู่เส้นทางสายนักเขียนหนังสือ หรือว่านักแต่งเพลง คือน้อง ๆ ต้องมองว่างานนี้เป็นความสุขในการทำงานที่ตัวเองรักมากอยากให้คิดถึงเป็นอันดับต้น ๆ ก่อน แล้วค่อยหาทางที่จะอยู่กับมันให้ได้ด้วยวิชาชีพเหล่านี้ อยากให้นำทางด้วยความสุข และเรื่องอาชีพจะเป็นเรื่องที่ 2 ซึ่งตัวเขาเองได้ยึดหลักนี้มาโดยตลอด

“หลักการนี้ ทำให้ผมหลงใหลในวิชาชีพนี้ เพราะผมค้นพบว่าการเป็นนักแต่งเพลงบางครั้ง มันมีคุณค่าที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้เลย ผมขอใช้คำนี้เลย เปลี่ยนได้นะ บางครั้งเพลงเพลงหนึ่งเปลี่ยนใจให้คนคนหนึ่งซึ่งคิดจะฆ่าตัวตาย เปลี่ยนใจมีชีวิตอยู่ต่อหรือเปลี่ยนทัศนคติ ความมุ่งมั่นในการที่จะทำอะไรสักอย่างที่ตัวเองฝัน

“เพราะถ้าหนังสือหรือเพลงของเราเข้าถึงคนได้มากจริง ๆ มันก็สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้ ผมจึงรู้สึกว่าสิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้มันมีคุณค่ามาก มันหล่อเลี้ยงปลอบประโลมใจคนได้

บางครั้งมีคนเป็นล้าน ๆ คนที่สามารถรับ Message จากเราจากงานที่เราทำ แล้วมันสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำให้เขามีความสุขได้ นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมหลงใหลในการที่จะเลือกที่จะมีชีวิตอยู่เป็นนักเขียนเพลงต่อไป ผมมีความรู้สึกว่าทุก ๆ ครั้งที่ผมส่งสารอะไรออกไป มันเหมือนจะมีหยาดน้ำหยดเล็ก ๆ ไม่รู้ว่าควรใช้คำไหน หยาดน้ำผึ้ง หรือหยาดน้ำอมฤต ที่มันหยดคืนมาใส่หัวใจผม

“ความรู้สึก หรือฟีดแบ็กของใครสักคนหนึ่งที่เขาส่งกลับมาหาเรา ทำให้เรารู้สึกว่ามีความสุขมาก ๆ เลย เรื่องที่คนบางคนคอมเมนต์มาในโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือโทรฯ คุยกัน หรือเจอหน้ากันแล้วเขาได้บอกว่าสิ่งที่ผมทำ ได้สร้างความสุขให้เขาแค่ไหน เวลาเราส่งความสุขออกไป แล้วความสุขย้อนกลับมาหาเราด้วยความสุขมากขึ้นไปอีก เป็นเหมือนพลังที่ส่งให้กันและกันครับ”

.

ภาพ : จักรกฤษณ์ สิริริน

.

ขอขอบคุณสถานที่: สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park (Thailand Knowledge Park) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) OKMD (Office of Knowledge Management and Development Public Organization)