‘คนจน’ ในวัฒนธรรมเพลงไทยสากล หายไปไหน อย่างไร และทำไม?

‘คนจน’ ในวัฒนธรรมเพลงไทยสากล หายไปไหน อย่างไร และทำไม?

‘ก่อนคนจนอย่างฉันจะหมดไฟ’ ว่าด้วยเพลง ‘...ก่อน’ ฉบับพราย ปฐมพร ปฐมพร และฉบับโมเดิร์นด็อก & ‘คนจน’ ในวัฒนธรรมเพลงไทยสากล หายไปไหน อย่างไร และทำไม?

  • ‘ก่อน’ เป็นเพลงดังที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของวงโมเดิร์นด็อกตั้งแต่อัลบั้มแรก โดยเพลงนี้ ‘พราย ปฐมพร ปฐมพร’ เจ้าพ่อเพลงอินดี้ เป็นผู้แต่ง
  • แต่ฉบับของพราย ปฐมพร จะพบข้อแตกต่างในบางประโยคที่สำคัญ เช่น “ก่อนคนจนอย่างฉันจะหมดไฟ” ขณะที่ฉบับป๊อด โมเดิร์นด็อก “ก่อนที่คนอย่างฉันจะหมดไฟ” 
  • บทความนี้ จึงอยากพาไปค้นหาคำตอบว่า ทำไม ‘คนจน’ ในวัฒนธรรมเพลงไทยสากลถึงหายไป

จาก ‘เธอจากไปก่อน’ ถึง ‘...ก่อน’

ดังที่ทราบกันดีในหมู่นักฟังเพลงทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ว่า เพลงดังที่มีเนื้อร้องติดหูอย่างประโยคที่ว่า “ก่อนท้องฟ้าจะสดใส ก่อนความอบอุ่นของไอแดด ก่อนดอกไม้จะผลิบาน ก่อนความฝันอันแสนหวาน”  ซึ่งเป็นเพลงที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของวงโมเดิร์นด็อกตั้งแต่อัลบั้มแรกเลยนั้น ต้นฉบับแต่งโดย ‘พราย ปฐมพร ปฐมพร’ ศิลปินนักร้องนักแต่งเพลงผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการเพลงอินดี้มายาวนานกว่า 30 ปี จนได้รับสมญา ‘ศาสดาอินดี้’ หรือ ‘เจ้าพ่อเพลงอินดี้’

ใช่แล้ว! นี่คือเพลง ‘...ก่อน’ อันเป็นตำนาน ไม่ใช่เฉพาะพราย ปฐมพร กับวงโมเดิร์นด็อกเท่านั้น หากแต่คือตำนานหนึ่งของวงการเพลงไทยสากล เพราะเป็นเพลงดังที่ฟังคุ้นหู มีความคลาสสิกขั้นเอกอุ กี่ปีผ่านยังฟังกันได้ไพเราะเสนาะหูไม่รู้เบื่อ ซึ่งหากเราฟังฉบับเสียงร้องของป๊อด โมเดิร์นด็อก กับฉบับพราย ปฐมพร จะพบข้อแตกต่างในบางประโยคที่สำคัญ เช่น ฉบับป๊อด: “ก่อนที่คนอย่างฉันจะหมดไฟ” (แต่) ฉบับพราย ปฐมพร: “ก่อนคนจนอย่างฉันจะหมดไฟ” ทั้งนี้จากบทให้สัมภาษณ์ ป๊อดชี้แจงว่า เขาเป็นคนปรับแก้ตรงนี้เอง

การเปลี่ยนจาก “ก่อนคนจนอย่างฉันจะหมดไฟ” เป็น “ก่อนที่คนอย่างฉันจะหมดไฟ” บวกกับท่อนฮุกที่ว่า: “ในใจไม่เคยมีผู้ใด จนความรักเธอเข้ามา ทำให้ดวงตาฉันเห็นความสดใส ข้างกายไม่เคยมีผู้ใด จนความรักเธอเมตตา เป็นพลังให้ฉันสู้ต่อไป บนโลกที่โหดร้าย เหลือเกิน” ทำให้เพลง ‘...ก่อน’ กลายเป็นเพลงรักอย่างสมบูรณ์ ดูเป็นเรื่องของคนที่เพิ่งได้รับความรักจากใครสักคน แล้วชีวิตก็มุ่งไปข้างหน้าอย่างสดใสซาบซ่าน     

ในขณะที่ฉบับออริจิดั้งเดิมของพรายนั้น ชื่อเพลงที่มี ... (จุดจุดจุด) นำหน้าคำว่า ‘ก่อน’ นั้น แทนคำว่า ‘เธอจากไป…’ ชื่อเพลงเต็มจริง ๆ คือ ‘เธอจากไปก่อน’ เป็นเพลงที่พรายแต่งขึ้นหลังจากได้รับจดหมายจากแฟนเพลงคนหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่พรายประกาศเลิกร้องเพลงไปแล้ว จดหมายนั้นเขียนมาจากเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง กล่าวถึงพี่สาวซึ่งก็ชอบเพลงของพรายมากพอ ๆ กับเธอ แต่พี่สาวของเธอได้ตัดสินใจจบชีวิตไปแล้ว ‘...ก่อน’ จึงเป็นเพลงเศร้าแบบบาดลึก แต่ก็ทรงพลังอย่างมาก เช่นเดียวกับเนื้อความของจดหมายฉบับนั้นที่ให้แรงบันดาลใจแก่พราย เช่นที่เธอบอกกับพรายว่า :

“มันไม่สำคัญว่าพี่ (ปฐมพร) จะถูกมองว่าเป็นอย่างไร ไม่สำคัญเลย สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ พี่คือคนที่ฉันบูชา แม้ไม่เข้าใจ แต่จิตใจทั้งหมดของฉันยึดถือพี่เป็นที่พึ่ง พี่คือตัวแทนของทุก ๆ อย่างที่ฉันไม่มี ไม่ว่าจะเป็นกำลังใจหรือความมั่นใจ 

“ทุกสิ่งที่ฉันทำอยู่ในตอนนี้ ยังไม่มีจุดหมาย ไม่รู้จุดจบ  เคยตั้งความหวัง แต่ฉันกลัว กลัวจนไม่กล้าแม้แต่จะคิดถึงมัน ฉันกลัวว่า ถ้าฉันทำไม่ได้ ไปไม่ถึง ฉันจะเจ็บ เจ็บเกินกว่าจะทานทนได้ ฉันเคยเจ็บ...เจ็บจนใจมันล้า มันท้อ อยากตาย

“มันสายเกินไปที่จะเรียกร้องสิ่งที่เสียไปให้กลับคืนมา ทุกอย่างมันสายเกินไป พี่สาวของฉัน... ฉันอยากจะบอกใคร ๆ ว่า การตายของเขาไม่ใช่อุบัติเหตุ เป็นผลของอารมณ์ ความรู้สึก ความรู้สึกที่ตกต่ำที่สุด น่าเสียดาย ก่อนที่เขาจะตัดสินใจ เขาไม่ปรึกษาฉันเลย 

“ฉันไม่ได้หวังว่าฉันจะพูดให้เขาได้คิด ฉันเพียงแต่หวังให้ฉันมีโอกาสได้บอกเธอว่าพี่ปฐมพรกำลังจะกลับมา 

“บางที...บางทีเพราะเขาบูชาพี่มากเหลือเกิน บูชาพี่พอ ๆ กับฉัน ทุกอย่างคงสายเกินไปที่จะเรียกร้องเอาตอนนี้

“เวลามันผ่านไปแล้ว เขาจากไปแล้ว โดยที่เขาไม่ทันได้ชื่นชมพี่อีกครั้ง เสียดายที่เขาลืมนึกถึงพี่ในตอนนั้น ตอนที่อารมณ์ทุกอย่างถึงขีดสุด แต่มันก็ผ่านไปแล้ว…

“ฉันเองก็เกือบจะทำเช่นนั้น เพียงแต่พี่คือคนที่อยู่ส่วนลึกของจิตใจของฉัน ทุกครั้งที่ฉันไม่มีใคร พี่คือคนนั้น...คนที่ฉันคิดถึง

“บทเพลงของพี่คือกำลังใจของฉัน เมื่อพี่หายไป กำลังใจของฉันมันลดน้อยลงทุกที แม้พี่ไม่ได้แต่งเพลงให้ใครเป็นพิเศษ แต่ฉันอยากจะบอกใคร ๆ ว่ามันเป็นเพลงเพื่อฉัน แต่ฉันไม่ทำหรอก ฉันไม่เห็นแก่ตัวขนาดนั้น เพลงของพี่เป็นของทุกคน

“ทุกคนที่ไร้ความหวัง ต้องการกำลังใจ แม้แต่พี่สาวของฉัน เขาอาจจะกำลังฟังเพลงของพี่ จากที่ใดที่หนึ่ง

“ฉันขอขอบคุณพี่มากสำหรับทุกอย่าง ฉันยังรักและบูชาพี่เสมอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด...”

‘ปฐมพรตายกลายเป็นพราย’ & โครงสร้างอารมณ์ความรู้สึก (Structure of feeling) กับเพลงในฐานะตัวบท (Textually) 

จดหมายและเรื่องราวจากเด็กผู้หญิงคนนั้นเอง ทำให้พรายกลับมาพร้อมกับ ‘ความมั่นเกินพิกัด’ เริ่มต้นด้วยคำประกาศที่ว่า ‘ปฐมพรตายกลายเป็นพราย’ ซึ่งถ้าเทียบระหว่างอัลบั้มชุด ‘ไม่ได้มามือเปล่า’ กับอัลบั้มอื่น ๆ หลังจากที่เขากลับมาใหม่แล้ว ก็จะพบความแตกต่างแบบคนละคน ซึ่งทำให้ประโยคที่ว่า ‘ปฐมพรตายกลายเป็นพราย’ มีความสมเหตุสมผล 

บทเพลงก็เหมือนตัวบทวรรณกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงของพรายนั้นมีลักษณะเป็นกวีนิพนธ์แบบจัดหนักจัดเต็ม พรายทำให้เส้นแบ่งระหว่างการร้องเพลงกับการอ่านบทกวีเกิดความพร่าเลือนได้อย่างเหลือเชื่อ บวกกับการทาสีตกแต่งร่างกายบนเวทีการแสดงซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพรายนั้น ทำให้ทั้งผลงานเพลงและการร้องเพลงกลายเป็นการแสดงศิลปะอย่างแท้จริง 

ศิลปะบนเรือนร่าง (Art of body) เพลงที่เป็นตัวบทกวีนิพนธ์ ตามมาด้วยการเคารพตัวบท (ที่เป็นกวีนิพนธ์) โดยการร้องกึ่ง ๆ ร่ายกวี ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไกลเกินกว่าหูและตาของคนที่ยึดติดกับกรอบขนบเดิม ๆ ของศิลปินนักร้องเพลงตลาด หรือแม้แต่การแสดงศิลปะทั่วไป (แบบที่มีดาด ๆ) จะเข้าใจได้ พรายทำให้การร้องเพลงของเขาเป็นการร่ายบทกวี และบนเวทีเขาก็ทำให้กลายเป็นการแสดงศิลปะไปในขณะเดียวกัน 

ร่างกายในฐานะพื้นที่สื่อศิลปะเป็นเรื่องที่พูดถึงกันมากในแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ งานต้นทางหนึ่งก็ได้แก่เรื่องที่มีชื่อในภาษาไทยว่า “ร่างกายใต้บงการ: ปฐมบทแห่งอำนาจในวิถีสมัยใหม่” แปลจากบทหนึ่งของ “Surveilled et punir” (เฝ้าดูและลงโทษ) ของ Michel Foucault ซึ่งเป็นงานที่อภิปรายประเด็นการควบคุมร่างกายของปัจเจกบุคคลโดยรัฐและสังคมสมัยใหม่    

พอเป็นศิลปะก็เข้าใจได้ในแง่ที่จะมีคนจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะพวกที่ยึดติดกับตลาด เห็นการทำเพลงตลาดเป็นมาตรฐานจะไม่เข้าใจ เกิดอาการ ‘หูไม่ถึง’ หรือ ‘ตามองไม่เห็น’ เอาได้ง่าย ๆ ก็เหมือนศิลปินระดับโลกหลายคนที่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ผลงานของเขาขายไม่ออก ไม่มีคนซื้อ (แม้แต่ Van Gogh ก็มีลูกค้าประจำคือ Theo น้องชายของเขา) 

แต่ไม่ใช่ว่าพรายจะแสดงศิลปะอะไรที่เลิศลอย ทุกอย่างมีสัญญะและการสื่ออารมณ์ความรู้สึกที่เข้าใจได้ทั้งนั้น  ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้วิเศษมีหูทิพย์ตาทิพย์ถึงจะเข้าใจ เพราะที่จริงเป็นเรื่องสามัญของชีวิตที่เราอาจพบเจอในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ได้มีมุมในการมองเรื่องเหล่านี้ได้ทะลุปรุโปร่งมากพอ     

เมื่อปีที่คณะกรรมการซีไรต์ประกาศจะให้รางวัลกวีนิพนธ์ยอดเยี่ยมแก่ 'เสก โลโซ' ด้วยเหตุผลว่าเพลงอย่าง ‘จักรยานสีแดง’ นั้นแสดงการเปรียบแบบกวี หลายคน ‘อิหยังวะ’ ไปตามกัน ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องข้ามภพข้ามจักรวาล ในต่างประเทศก็เคยมี อย่าง Bob Dylan ก็เคยได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม แม้ว่าเจ้าตัวจะปฏิเสธไม่ยอมรับไปก็ตาม

ตรงกันข้าม หากชื่อผู้ที่คณะกรรมการซีไรต์เสนอปีนั้นคือ พราย ปฐมพร ปฐมพร ความอิหยังวะก็อาจไม่เกิดขึ้น หรือมีน้อยกว่าที่เกิดขึ้นมาก แต่ช่างเถอะ! คณะกรรมการฯ อาจจะไม่เคยฟังเพลงของพราย ฟังแต่เพลงตลาด หรือฟังก็อาจเกิดอาการ ‘หูไม่ถึง’ เอาได้โดยง่าย

เพลงในฐานะตัวบทวรรณกรรม หมายความว่าเพลงจะมีมิติของความลื่นไหลโดยตัวมันเอง ความหมายไม่ได้มีหนึ่งเดียว ผู้แต่งไม่สามารถจะคอนโทรลความหมายของตัวบทให้สอดคล้องตามเจตนาของตนเองได้ ผู้อ่านหรือผู้เสพสามารถจะตีความไปในแบบต่าง ๆ ตามประสบการณ์ของตน 

วรรณกรรมเมื่อถูกนำไปปรุงแต่งเป็นหนังเป็นละคร ก็จะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปได้โดยง่าย นักเขียนระดับโลกบางท่าน เช่น Milan Kundera จะประกาศไว้เลยว่าตราบที่เขายังมีชีวิตอยู่จะไม่ยอมให้มีการนำเอาวรรณกรรมผลงานประพันธ์ของเขาไปทำเป็นหนังเป็นละครเป็นอันขาด เพราะเขาเกรงกลัวว่าวรรณกรรมของเขาจะถูกปู้ยี่ปู้ยำจนมันเป็นอะไรไปไม่รู้ 

แต่ในสังคมประเทศไทยเรื่องนี้เป็นตรงกันข้าม การถูกนำเอาไปแปลงเป็นหนังเป็นละคร กลับถือเป็นความสำเร็จของวรรณกรรม ด้วยเหตุผลคือรายได้ที่มากขึ้นของนักเขียนเองตัวอย่างไม่ไกลอื่น ช่วงนี้ผู้ชมละครจะบ่นกันอุบว่า เรื่องละครย้อนยุคอย่าง ‘พรหมลิขิต’ นั้นทำไมไม่เหมือนฉบับนวนิยาย และยิ่งเป็นคนละเรื่องเมื่อเทียบกับงานค้นคว้าจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์

เพลงก็เช่นกัน ‘ก่อน’ ฉบับป๊อด โมเดิร์นด็อก กับ ‘...ก่อน’ ฉบับพราย ปฐมพร ปฐมพร ก็คนละเพลงกันไปแล้ว เพราะความหมายเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ และเพราะส่วนที่เปลี่ยนไปนั้นเองส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการนำเสนอในภาพรวมทั้งหมดของเพลงในฐานะตัวบทวรรณกรรม  ‘ก่อน’ ฉบับป๊อดเป็นเพลงที่มีจังหวะสนุกครื้นเครงอยู่ในที 

แต่ ‘...ก่อน’ ฉบับพราย เป็นเพลงเศร้า แค่ความหมายของ ... (จุดจุดจุด) ที่หายไปในชื่อเพลงก็เศร้าแล้ว แต่ความเศร้าในมุมมองของพราย ก็แบบที่พรายได้อธิบายไว้ในเพลง ‘ลั่นทม’ ที่ว่า “ผู้คนคิดว่า ความเศร้าคืออารมณ์อันโหดร้าย แต่สำหรับฉัน ความเศร้าคือดอกไม้ หากอดทนผลอันงดงาม จะเกิดขึ้นในหัวใจ”

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แต่เฉพาะป๊อด ที่รู้สึกว่าการมี ‘คนจน’ อย่างตรง ๆ โต้ง ๆ ในบทเพลงที่ตนร้องนั้นไม่เหมาะไม่ควร  ซึ่งก็น่าสังเกตด้วยเหมือนกันว่า นอกจากเพลง ‘...ก่อน’ แล้ว แฟนเพลงของพราย จะทราบดีว่าพรายยังมีเพลงที่พูดถึง ‘คนจน’ หรือ ‘ความยากจน’ อย่างตรงไปตรงมาอีกหลายเพลง อาทิ ‘ผู้แทน’ ‘มนต์วิเศษ’ ‘อยาก’ ‘เจ้าชายแห่งทะเล’ ‘อยุติธรรม’ เป็นต้น รวมทั้งอีกหลายต่อหลายเพลงที่พูดถึง ‘คนที่ไร้เสียง’ หรือ ‘ด้อยโอกาส’ ในสังคม เพลงวิจารณ์การเมืองอย่าง ‘ดีแต่พูด’ กลายเป็นต้นตำรับวาทกรรมด่าพฤติกรรมนักการเมืองบางพรรค 

บางเพลงเช่น ‘อยุติธรรม’ ‘วีรชนของฉัน’ ‘เสรีภาพข้างถนน’ นั้น พรายทำได้ยอดเยี่ยมและไกลกว่า แม้แต่เมื่อเทียบกับศิลปินเพลงเพื่อชีวิตเคยทำกันมา ทั้งนี้เพราะยุคทศวรรษ 2530 นั้นก็ดังที่ผู้เขียนเคยอภิปรายไว้ในบทความที่กล่าวถึงงานเพลงชุดแรก (ทีของเสือ) ของ เสือ ธนพล อินทฤทธิ์ ไว้แล้ว ในแง่มุมที่ว่าเพลงเพื่อชีวิตหลังป่าแตกได้เปลี่ยนโฉมหน้าและเนื้อหาไปซัพพอร์ตระบบทุนนิยมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนที่จะมาลงเอยด้วยการสนับสนุนขบวนการล้มประชาธิปไตยในปลายทศวรรษ 2540 

ถ้าใช้แง่มุมแบบ ‘เพื่อชีวิตโดยเนื้อหา’ ที่ผู้เขียนเคยใช้อธิบายกรณีงานเพลงของเสือ ธนพล เพลงของพรายจำนวนมากก็มีกลิ่นอายและเข้าข่าย ‘เพื่อชีวิตโดยเนื้อหา’ ได้เช่นกัน แต่ก็เช่นเดียวกับเสือ ธนพล ในแง่ที่ว่าพรายเองก็โนสนโนแคร์ที่จะจัดประเภทไปอยู่ในขนบใดขนบหนึ่ง 

ควบคู่กับการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง  สำหรับงานเพลงของพรายก็เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น ๆ ไปด้วยในตัว อารมณ์ความรู้สึกไม่ใช่เรื่องปัจเจกบุคคลล้วน ๆ เพราะเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็อาจตกอยู่ในภาวะอารมณ์ความรู้สึกแบบนั้น ๆ ได้เหมือนกัน หากเจอสภาพการณ์เงื่อนไขปัจจัยอย่างเดียวกัน  อารมณ์ความรู้สึกของคนจึงเป็นเรื่องสังคม หรือมีนัยสะท้อนสังคมอยู่ด้วยในตัว ดังที่ Raymond Williams เคยเสนอให้พิจารณาสิ่งที่เรียกว่า ‘โครงสร้างอารมณ์ความรู้สึก’ (Structure of feeling)

เมื่อพิจารณาในภาพรวมของอุตสาหกรรมเพลงไทยสากล  ก็จะพบปรากฏการณ์การหายไปของ ‘คนจน’ หรือกระบวนการทำให้ ‘คนจน’ เป็นสิ่งแปลกปลอมไม่เข้ากับวัฒนธรรมของเพลงไทยสากล การเปลี่ยนจาก ‘ก่อนคนจนอย่างฉันจะหมดไฟ’ มาสู่ ‘ก่อนที่คนอย่างฉันจะหมดไฟ’ จึงมีประเด็นที่สะท้อนบุคลิกลักษณะ (Characteristic) บางอย่างที่เกิดขึ้นในกระบวนการสร้างวัฒนธรรมเพลงไทยสากลในสังคมไทย ทั้งในมิติตัวตนของศิลปิน ค่ายเพลงผู้ผลิต ตลาดผู้ฟัง สื่อโฆษณา ฯลฯ เรียกรวม ๆ ว่า ‘อุตสาหกรรมเพลงไทยสากล’ ก็คงพอได้  

คำถามคือเกิดอะไรขึ้น หรือเพราะเหตุใด ทำไม ในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงที่ต่างก็พยายามเข้าถึงคนหมู่มากให้ได้มากที่สุดนั้น ถึงต้อง miss คนส่วนใหญ่ของสังคมที่รู้จักกันในนาม ‘คนจน’ และทำไมวัฒนธรรมเพลงไทยสากลถึงรังเกียจการมีประชาชนคนธรรมดาที่พบเห็นได้ในชีวิตจริงอยู่ในผลงานสร้างสรรค์ของตน

ในขณะที่ศิลปินอย่างพราย ปฐมพร ไม่ได้เป็นแบบนั้น สิ่งนี้เป็นอีกเรื่องที่ดูเหมือนว่าเพลงของพราย ปฐมพร ได้สร้างความพิเศษแตกต่างหรือ ‘แหวกขนบ’ ไปกว่า ‘ศิลปินกระแสหลัก’ ในยุคเดียวกัน   

‘ฟ้ามืดจึงเห็นดาวสวย’ & ‘คนจน’ กับ ‘ความเป็นอื่น’ ภายใต้อาณานิคมเพลงไทยสากลยุค 90s

ยุค 90s ซึ่งถือเป็นยุครุ่งเรืองของงานเพลงเทปคลาสเซ็ตเพลงสตริงหรือที่เรียกกันอย่างกว้าง ๆ ว่า ‘เพลงไทยสากล’ นอกจากแนวทางดนตรีที่มีการจัดประเภทไว้แตกต่างจาก ‘ลูกทุ่ง’ ‘ลูกกรุง’ ‘หมอลำ’ ‘เพื่อชีวิต’ ในด้านเนื้อหาเพลงไทยสากลยังแตกต่างจากแนวเพลงอื่น ๆ ก็ตรงที่โดยมากไม่มี ‘คนจน’ อยู่ในบทเพลง แต่ไม่ใช่สำหรับพราย ปฐมพร ปฐมพร ผู้มาก่อนกาลที่จะมีคำว่า ‘อินดี้’ ใช้กันแพร่หลายอย่างในปัจจุบัน    

การถูกจัดประเภทอยู่ในกลุ่มเพลงอินดี้ ทำให้เกิดอิสระในการสร้างสรรค์บางอย่าง บวกกับการที่เพลงของพรายหลายเพลงมีเนื้อหาพูดถึงคนไร้เสียง คนด้อยโอกาส เอาไว้มาก ย่อมเป็นธรรมดาที่จะพูดถึงผู้ถูกกระทำจากระบบที่สังคมไทยนิยามเรียกว่า ‘คนจน’ อยู่ด้วย ปกติชาวบ้านธรรมดาสามัญชนจะอยู่ในบทเพลงได้ก็ต้องภายใต้ปริมณฑลของ ‘เพื่อชีวิต’ หรือ ‘ลูกทุ่ง’ กระทั่งการเกิดวาทกรรม ‘ตลาดล่าง’ สำหรับสื่อถึงคนเหล่านี้ที่เป็นผู้เสพผลงานเพลง เราจะไม่ค่อยได้ยินเสียงของคนจน ๆ อยู่ในดนตรีแบบร็อก แรป หรือแม้แต่อัลเทอร์เนทีฟ หรือหากมีก็จะรู้สึกว่าเป็น ‘เพลงตลาดล่าง’ ไป    

บางกรณี ‘คนจน’ อยู่ในเนื้อหา เช่น เพลง ‘ชีวิตหนี้’ ของเสือ ธนพล อินทฤทธิ์ หรืออย่างเพลง ‘มอเตอร์ไซค์รับจ้าง’ ของเสก โลโซ ซึ่งถือได้ว่าทั้ง ‘ชีวิตหนี้’ และ ‘มอเตอร์ไซค์รับจ้าง’ ต่างก็เป็นส่วนน้อยนิดของจักรวาลงานเพลงไทยสากลอันมีจำนวนบทเพลงไม่รู้กี่หมื่นแสนเพลง ซึ่งที่จริงคนจนและผู้ใช้แรงงานนั่นแหละเป็นผู้เสพผู้ซื้องานเพลงเหล่านี้    

เพลง ‘คนจนผู้ยิ่งใหญ่’ นั้นเป็นผลงานของแอ๊ด คาราบาว ซึ่งอยู่ในปริมณฑลของเพลงเพื่อชีวิต หรืออย่าง ‘เป็นแฟนคนจนต้องทนหน่อยน้อง’ ของไมค์ ภิรมย์พร ก็อยู่ในขนบของเพลงลูกทุ่ง ถูกคาดหวังให้ต้องพูดถึงคนจนอยู่แล้ว  แม้ในช่วงหลังจะทำได้น้อยกว่าที่คาดหวังกันลงเรื่อย ๆ เพราะกระแสของเพลงสตริงบุกทะลวงไปมากก็ตาม 

บทบาทของเพลงไทยสากลในอีกด้านของยุค 90s นั้น ได้สร้างอารมณ์ความรู้สึกในลักษณะที่แยกผู้คนออกจากความเป็นจริงของชีวิต โดยการสร้างโลกเสมือนที่ความรักระหว่างหนุ่มสาวคือความสมบูรณ์สูงสุดของชีวิต นั่นแหละครับ เป็นทั้งความสำเร็จและล้มเหลวของเพลงไทยสากลยุค 90s อยู่ในที ‘โลกเสมือน’ ที่ว่านี้ก็คือ ‘โลกแห่งความฝัน’ ที่จะนำเสนอสิ่งอันเลยพ้นไปกว่าชีวิตจริงที่คนกำลังประสบอยู่ในชีวิตประจำวัน 

ขณะเดียวกัน วงการเพลงในชีวิตจริงก็เป็นความหวังและความใฝ่ฝันของหนุ่มสาวในการที่จะก้าวข้ามหรือเปลี่ยนสถานภาพ นอกเหนือจากการศึกษาและกีฬา ในเมื่อไม่ใช่ทุกคนจะเกิดมาบ้านรวย การแสดงความสามารถแบบหนึ่งของเด็กไทยก็คือการร้องเพลง เราจะเห็นสิ่งนี้เป็นปกติได้ทั้งจากเวทีการประกวดร้องเพลงต่าง ๆ ผ่านทางเวทีจริงและหรือทั้งผ่านรายการวาไรตี้ทีวี    

ในอดีต เด็กไทยจะหลุดพ้นจากความทุกข์ยากได้ต้องไปบวช เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติเป็นเณรเป็นพระ ไปถือศีลกินมาม่า ในเชิงเปรียบเทียบการเป็นนักร้องก็มี ‘ศีล’ หรือหลักปฏิบัติในแบบของนักร้องเช่นกัน เพลงตลาดที่ผลิตขึ้นโดยค่ายเพลงต่าง ๆ ได้สร้างมาตรฐานการเป็นนักร้องขึ้นชุดหนึ่งครอบงำ จะร้องดี ร้องเป็น ร้องเก่ง ก็คือต้องร้องตามอย่างที่ต้นฉบับก่อนนี้ร้องได้ แทบไม่เหลือพื้นที่สำหรับความแตกต่าง เป็นบรรยากาศทางสังคมแบบถูกปกครองโดย ‘เจ้าอาณานิคมทางวัฒนธรรม’ (Cultural colonialist) อยู่โดยนัย     

นี่ไม่ใช่การเปรียบเปรยอย่างเกินเลย! ปกติชนพื้นถิ่น (Indigenous or Local people) จากประเทศโลกที่สามจะไต่เต้าไปสู่แวดวงชนชั้นนำได้ (แม้จะเป็นในประเทศของตนเองก็ตาม) จะต้องไปผ่านกระบวนการ ‘ชุบตัว’ โดยการเรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม ความรู้ และแบบแผนการปฏิบัติตัวจากชนชั้นนำในประเทศที่เป็นเจ้าอาณานิคม ซ้อนทับไปกว่านั้นในสังคมประเทศไทย จะประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดังได้จะต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านช่องและเครือญาติเข้ามาสู่กรุงเทพฯ เมืองฟ้า ประวัตินักร้องหลายคนสะท้อนเรื่องนี้ได้ดี   

ในท่ามกลางบรรยากาศสภาพดังกล่าวนี้ ‘ความยากจน’ (ในสังคมชนบทหรือระดับล่าง) จะถูกสกรีนออกไปจากห้วงสำนึกชั่วขณะ หรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ‘ความเป็นคนจน’ เป็นสิ่งที่ทั้งผู้ร้องผู้ฟังตลอดจนกรรมการ ต่างต้องพยายามกระเสือกกระสนที่จะหลุดพ้น แต่ควบคู่กับ ‘ความจน’ นั้นก็ทำให้เกิดการละทิ้งอะไรหลายอย่างที่ดำรงอยู่แวดล้อมกับ ‘ความจน’ ไปด้วย เจ้าอาณานิคมอย่างอาร์เอส และหรือแกรมมี่ ถึงจะยอมรับและให้โอกาสได้โลดแล่น 

และในแง่นี้เหล่าศิลปินอินดี้ทั้งหลายที่ยืนยันอิสระในการสร้างสรรค์ของตนเอง ก็ไม่ได้ต่างจากนักชาตินิยมที่ยืนยันเอกราชและอิสรภาพจากระบบอาณานิคม ประเทศไทยมีพวกขี้โม้ว่าไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่ที่จริงภายในสังคมมีระบบอาณานิคมทางวัฒนธรรมในระดับชั้นต่าง ๆ และหลากหลายวงการมาก วงการเพลงก็เป็นหนึ่งในนั้นที่รันวงการด้วยระบบเดียวกันนี้ สถานะของ ‘คนจน’ ในอาณานิคมเพลงไทยสากล ก็มีบางด้านที่เทียบเคียงได้กับ ‘ชนพื้นถิ่น’ ในระบบที่มีเจ้าอาณานิคมปกครองอยู่ แม้ว่านั่นจะเป็นประเทศหรือท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่เป็นของพวกเขาเองมาแต่เดิมก็ตาม     

แต่อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างที่ไม่ถูกพูดถึง ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอยู่ คนจนและความยากจนที่ถูกทำให้เป็นอื่น ก็เป็นอื่นแบบหลังฉากบ้าง เป็นอีกสิ่งอย่างที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม  แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ขาดหายไปจริง ๆ ไม่ได้  เพราะหากไม่มี ‘ความเป็นอื่น’ แล้ว ก็ไม่มี ‘ความเป็นเรา’  กระบวนการสร้างนักร้องคือการสลัดความเป็นอื่น  ดัดแปลงตกแต่งตัวตนเข้าสู่อีกโลกไปตามมาตรฐานความเป็นเรา ในแง่นี้ ‘คนจน’ ก็คือ ‘เขา’ หรือ ‘คนอื่น’  

แต่ ‘ฟ้ามืดจึงเห็นดาวสวย’ คำนี้ซึ่งเป็นเพลงที่พรายส่งมาปลอบใจคนในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ก็ใช้ได้กับการอธิบายเรื่องราวและงานเพลงของพรายเองด้วย ตัวเขาอาจเป็นดาวที่ส่องสว่างขึ้นในท่ามกลางท้องฟ้าอันมืดมนอนธกาลของอาณานิคมเพลงไทยสากลก็เป็นได้      

‘คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ’ & ‘ความไม่ปกติที่ถูกทำให้เป็นปกติ’ อย่างเป็นระบบด้วยการบริโภคสัญญะ

เมื่อมองภาพรวมของอุตสาหกรรมบันเทิงไทย โดยเฉพาะอิทธิพลของละครหลังข่าว กล่าวได้ว่า ‘คนจน’ ในสังคมเศรษฐกิจของยุค 90s ถูกผลักไสให้เป็น ‘ชายขอบ’ (Marginalize) ในภาพรวมของวัฒนธรรมบันเทิง ‘คนจน’ ก็ถูกขับให้ไปอยู่อีกมุมหนึ่ง ในหนัง ภาพยนตร์ ละครหลังข่าว หันไปเน้นพระเอก-นางเอก ที่เป็นคนรวย ไฮโซ เป็นนักธุรกิจร่ำรวย ถ้ายากจนหน่อยสุดท้ายก็งัดมุก ‘ปานแดงที่แก้มก้น’ ออกมาใช้

‘ปานแดงแก้มก้น’ เป็นคำล้อที่มาจากแวดวงวรรณกรรม  ตัวอย่างในเรื่อง ‘เจ้าจันทร์ผมหอม: นิราศพระธาตุอินแขวน’ ของ มาลา คำจันทร์ เคยสร้างคำถามชวนถกกันถึงความผิดแผกไปจากขนบ ทำไมเนื้อเรื่องไม่ให้พระเอกซึ่งเป็น ‘พ่อเลี้ยง’ มีปานแดงที่สะท้อนภูมิหลังกำเนิดที่เกิดเป็นชนชั้นสูง เพื่อจะได้คู่ควรกับนางเอกซึ่งเป็นเจ้าหญิงสูงศักดิ์ในราชวงศ์เมืองเหนือ 

มาลา คำจันทร์ ทำให้คนอ่านที่รอลุ้นว่าเมื่อไหร่พ่อเลี้ยงจะเผยปานแดง ต้องพบกับความผิดหวัง เขายืนยันให้พระเอกของเขาเป็นคนมีชาติกำเนิดต่ำต้อย สร้างฐานะมาจนได้ครอบครองหัวใจของเจ้าหญิงผู้เลอโฉม ในแง่หนึ่งสะท้อนเรื่องของการพังทลายของระบบเก่าที่เจ้าพื้นเมืองล้านนาต้องหันไปพึ่งพากลุ่มทุนในระบบเศรษฐกิจใหม่    

ขนบ ‘ปานแดงแก้มก้น’ นี้ละครหลังข่าวมักจะเสนอให้ ไม่พระเอกก็ฝ่ายนางเอก ที่จะมีฐานะยากจน แต่สุดท้ายเฉลยว่าเป็นทายาทมหาเศรษฐี ทำให้การเปลี่ยนสถานภาพของคนยังคงเป็นเรื่อง ‘ชาติกำเนิด’ ไม่เกี่ยวกับความเป็นคนสู้ชีวิต (แต่ชีวิตไม่ได้สู้กลับ) ล้วน ๆ 

ถ้าจะพูดภาษาในปัจจุบันซึ่งได้รับอิทธิพลจากละครจีน ก็จะต้องเป็นมุกประเภท “ที่จริงแล้วฉันเป็นประธานบริษัท” นั่นแลขอรับคุณท่าน! ต่างกันนิดหน่อยตรงที่ประธานบริษัทคนดังกล่าวอาจมาในลุคคนแต่งตัวปอน ๆ ขับรถเก่า ๆ กินข้าวข้างถนน แต่เมื่อถูกเหยียดบูลลี่จนถึงที่สุดแล้วค่อยเปิดเผยตัวตน ในขณะที่ ‘ปานแดงแก้มก้น’ มักมาในลุคนักธุรกิจสวมเสื้อสูท รถหรู กินอาหารภัตตาคาร ก่อนจะได้เด็ดดอกฟ้าเป็นลูกผู้ดีมีตระกูล (ก็ว่ากันไป)        

นอกจากนี้ในนวนิยายเรื่อง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ แต่งโดย วัฒน์ วัลยางกูร ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อ พ.ศ. 2544 วัฒน์ได้เสียดสีเรื่องทำนองนี้อยู่ตอนหนึ่ง  คนจนบอกตัวเองรวย คนรวยกลับแสดงเป็นคนจนได้จนยิ่งกว่าคนที่จนจริง ๆ 

อันที่จริงตรงนี้จัดเป็นมุกตลกที่ ‘เรียลมาก’ เพราะในสังคมไทยเราจะเห็นคนรวยอวดตัวเป็นผู้บำเพ็ญตบะตามลัทธิปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกันมาก ซึ่งคติความเชื่อทางศาสนาก็ดูจะรองรับสนับสนุนอยู่โดยนัย เพราะแม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังต้องเวียนว่ายตายเกิดได้ความทุกข์ยากมาไม่รู้กี่ภพชาติ กว่าจะมีบุญบารมีถึงพร้อมที่จะตรัสรู้เป็นศาสดาเอกของโลก 

คนรวยที่เป็นอดีตคนยากจน จึงมีความชอบธรรมที่จะอยู่เหนือกว่าทั้งต่อคนเกิดมารวยและคนที่ยังยากจนอยู่ ในขณะที่คนจนจริง ๆ จะถูกละเลย ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นผู้บำเพ็ญเพียรที่จะไปบรรลุในภายภาคหน้าแต่อย่างใด  ความไม่เป็นตรรกะตรงนี้อยู่ที่เป็นการอธิบายย้อนหลังเพื่อความชอบธรรมในปัจจุบัน คนรวยที่แสดงตัวเป็นอดีตคนจนย่อมเป็นเงื่อนไขให้เกิดการยอมรับนับถือจากคนที่ยังต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำ การสร้าง ‘ไอดอลปลอม ๆ’ แบบนี้แหละทำให้ความเหลื่อมล้ำได้รับการปกป้องไว้เป็นอย่างดี

ทั้งหมดนี้อธิบายสรุปรวบย่อได้ว่า คือ ‘ความไม่ปกติที่ถูกทำให้เป็นปกติ’ ด้วยการบริโภคสัญญะ (Consumption of sign) เมื่อ ‘สัญญะ’ ถูกเข้าใจในเชิงความหมายเท่ากับ ‘ความจริง’ รวย - จนอยู่ที่สัญญะ ผู้คนอาจตัดสินผู้อื่นได้จากเสื้อผ้าอาภรณ์ข้าวของเครื่องใช้ที่คนคนนั้นใช้อยู่หรือแสดงออก และชีวประวัติอดีตที่เป็นคนจนโดยคนรวย ก็เป็นอีกสัญญะที่ทรงพลังในสังคมที่ยังมีความเหลื่อมล้ำสูง    

ตามแนวคิดที่เสนอโดย Jean Baudrillard วัฒนธรรมบันเทิงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) มีส่วนสำคัญในการสร้างโลกเสมือนที่มีลักษณะพลิกกลับตาลปัตร (reversal) ไปมากับความเป็นจริง โลกของการบริโภคนิยมนั้นเป็นได้ทั้งโลกที่ปราศจากชนชั้น หรือคนรวยอาจทำตัวยากจนเพื่อแสดงความเหนือกว่า หรือคนจนอาจสร้างภาพเป็นมีฐานะมั่งมีได้จากข้าวของเครื่องใช้ไม้สอย เป็นต้น      

จาก ‘เป็นเมียเราต้องอดทน’ คำที่ แดง ไบเล่ย์ (ติ๊ก - เจษฎาภรณ์ ผลดี) บอกกับ ‘วัลภา’ (แชมเปญ เอ็กซ์) มาสู่ ‘เป็นแฟนคนจนต้องทนหน่อยน้อง’ ของ ไมค์ ภิรมย์พร สองอย่างนี้คนละอารมณ์ความรู้สึกกันสิ้นเชิง แม้จะหมายถึงการที่ผู้หญิงต้องเผชิญความยากลำบากหรือจะต้องเป็นฝ่ายอดทนเช่นเดียวกัน  

‘คนจน’ ไม่เห็นจำเป็นต้องอายหรือต้องถูกกีดกันออกไป  ความจนเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิตในยุคเศรษฐกิจแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา คนจนถูกสร้างจากระบบสังคมที่ไม่ปกติ คนจนคือผู้ถูกกระทำจากระบบ ไม่ใช่จนเพราะขี้เกียจหรือไม่ขยันเหมือนอย่างที่รัฐและทุนมักจะบอกกับผู้คนเสมอ    

ความรวยที่เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นต่างหากแทนที่จะเป็นเรื่องน่าอับอาย แต่กลับมาทำให้คนจนเป็นที่รังเกียจ สัญญะของลัทธิบริโภคนิยม ที่พยายามกลบเกลื่อนประเด็นเรื่องชนชั้น ผ่านการผลิตและเสพสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ ท้ายที่สุดไม่ได้ช่วยให้ความจริงทางสังคมมันเปลี่ยนไป อย่างที่บอกคือมันสร้างโลกพาฝัน ผลิตไอดอลปลอม ๆ มาหลอกลวงเราให้หลงละเมอไปกับมันเท่านั้น    

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงยุคโซเชียลมีเดียที่คนธรรมดาอาจดังเปรี้ยงปร้างได้เพียงชั่วข้ามคืน ไม่เป็นแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว การสร้างสรรค์ผลงานเพลงไม่ได้ถูกผูกขาดจากค่ายใหญ่อีกต่อไป และคนธรรมดาอยู่ที่ไหนก็สามารถอัปโหลดเสียงร้องของตนได้ ตัวอย่างก็เช่นเพลง “คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ ปริญญาไม่มี แต่มี...นะคะ” ของ เดือนเพ็ญ เด่นดวง ดัดแปลงมาจากเพลง ‘สมองจนจน’ ของ ศักดิ์ บุญเรือง หรือ ‘มืด ไข่มุก’ แห่งวงพลอย ค่ายนิธิทัศน์โปรโมชั่นในอดีตยุค 80s เป็นต้น     

.

ภาพ : YouTube

อ้างอิง

.

Baudrillard, Jean. The Consumer Society: Myths and Structures. SAGE Publications Ltd., 1998.

Middelton, Stuart. “Raymond Williams’s “Structure of Feeling” and the Problem of Democratic Values in Britain, 1938-1961” Modern Intellectual History. Volume 17, Issue 4 (December 2020), pp.1133-1161.

The People. “The People Music Ep.27 - Moderndog: ปริศนาจุดสามจุดในเพลง ‘...ก่อน’” https://www.youtube.com/watch?v=C2QjUZqGAJg (เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2564).

The Reporter. “ดนตรี บทกวี และชีวิต บนเส้นทางสายศิลปินของ พราย ปฐมพร” https://www.thereporters.co/tw-people/pry-precious/ (เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562).

กำพล จำปาพันธ์. “วิเคราะห์อัลบั้ม ‘ทีของเสือ’ มาสเตอร์พีซที่สร้างให้ ‘ธนพล อินทฤทธิ์’ เป็นตำนาน” https://www.thepeople.co/culture/music/52753 (เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566).

ฟูโกต์, มิแช็ล. ร่างกายใต้บงการ: ปฐมบทแห่งอำนาจในวิถีสมัยใหม่. แปลโดย ทองกร โภคธรรม, กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2558.

มาลา คำจันทร์. เจ้าจันทร์ผมหอม: นิราศพระธาตุอินแขวน. กรุงเทพฯ: คณาธร, 2535.

ไม่ระบุนาม. “ไขความหมายสุดอาวรณ์ เพลง...ก่อน โมเดิร์นด็อก”  https://www.blockdit.com/posts/5dba385118f1963198de7543 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562).

วัฒน์ วัลยางกูร. มนต์รักทรานซิสเตอร์. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2544.  

อิทธิเดช พระเพ็ชร. “เมืองหลวง เมืองไทย และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง: ‘โลโซ’ กับสังคมไทยในพงศาวดารฉบับร็อกแอนด์โรล” https://www.the101.world/loso-as-historical-record/ (เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566)