The Paradise Bangkok : หมอลำอินเตอร์ ผู้ขับขานฝันไทยให้โลกเต้นตาม

The Paradise Bangkok : หมอลำอินเตอร์ ผู้ขับขานฝันไทยให้โลกเต้นตาม

เรื่องราวของ ‘The Paradise Bangkok Molam International Band’ วงหมอลำอินเตอร์ที่เริ่มต้นจากปาร์ตี้คนรักหมอลำสู่การบรรเลงเสียงพื้นบ้านให้ถึงหูผู้คนระดับสากล

KEY

POINTS

  • The Paradise Bangkok Molam International Band’ วงหมอลำอินเตอร์ที่เกิดจากปาร์ตี้หมอลำของคนหลงใหลในดนตรีหมอลำ
  • การรวมตัวกันของนักดนตรีที่หลากหลายทั้งอายุและแนวดนตรี กับมิตรภาพและเสียงดนตรีที่ผสานแน่นจากการเดินทางทัวร์
  • เรื่องราวและประสบการณ์เบื้องหลังของวงกับประสบการณ์โชว์ครั้งที่ประทับใจที่สุดในชีวิต

แสงตะวันแสดสวยถักทอเหนือท้องทุ่งเขียวขจี กลางรวงข้าวทองอร่ามปลิวไสว สองครูเพลงยืนหยัดพร้อมเครื่องดนตรีประจำกาย วาดลวดลายพิณ - แคนขับขานให้ข้าวฟัง กระทั่งรถคันหนึ่งตะบึงมาจากเมืองใหญ่ นักดนตรีกลุ่มหนึ่งโบกมือทักทาย เรียกสองครูขึ้นรถแล้วขับแล่นไป แสงธรรมชาติพลันเปลี่ยนเป็นแสงไฟสลับสล้างในเมืองหลวง สำเนียงเครื่องดนตรีอีสานครึกครื้นด้วยได้กิน ดื่ม สรวลเสเฮฮากับกลุ่มเพื่อนที่รู้ใจ เมื่อสมควรแก่เวลาจึงพาสองครูเพลงคืนทุ่งนา

นี่คือเรื่องราวของเพลง ‘ลำสั้นดิสโก้’ ที่วง ‘The Paradise Bangkok’ หรือชื่อเต็มว่า ‘The Paradise Bangkok Molam International Band’ ตั้งใจถ่ายทอดโดยปราศจากคำร้อง พวกเขาได้พิสูจน์แล้วว่าดนตรีบรรเลงไร้เนื้อนั้นเป็นภาษาสากลที่คนทั่วโลกสัมผัสได้ และวัฒนธรรมพื้นบ้านจากอีสานบ้านเฮาอย่างหมอลำ ก็ทำฝรั่งตาน้ำข้าวนับพันนับหมื่นให้กระโดดโลดเต้น ส่งเสียงเชียร์เฮฮา ไปจนถึงเล่นบอดี้เซิร์ฟหน้าเวทีกันอย่างสนุกสุดเหวี่ยงได้ไม่แพ้เพลงแนวอื่น ๆ

มาเด้อ…พี่น้อง มาสดับเสียงพิณออดอ้อน มาสะออนเสียงแคนม่วนซื่น มาทำความรู้จักกับ ‘วงหมอลำแห่งศตวรรษที่ 21’ และเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังเสียงพิณ แคน ฉิ่ง เบส กลอง และเครื่องเคาะซึ่งปรุงรสได้อร่อยเหาะจนต้องดิ้นไปพร้อมกัน

จากปาร์ตี้คนรักดนตรี สู่วงหมอลำอินเตอร์ฯ

จุดเริ่มต้นของการหยิบหมอลำมาปัดฝุ่น ไม่ได้เพื่อค้าขาย แต่เพื่อทำอย่างไรก็ได้ให้คนรู้จัก คือแนวคิดหลักของ ‘ณัฐพล เสียงสุคนธ์’ หรือ ‘ดีเจมาฟต์ ไซ’ (DJ Maft Sai) ผู้เคยเป็นดีเจเปิดแผ่นในกรุงลอนดอน ก่อนหอบแผ่นเสียงที่เขาสะสมหลายตันกลับไทยในปี 2007 การกลับบ้านหนนี้ทำให้นักสะสมแผ่นเสียงตัวยงอย่างเขาได้เลาะเสาะแสวงตามร้านต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ และเริ่มสนใจเพลงไทยเก่า ๆ โดยเฉพาะหมอลำอย่างลึกซึ้ง แต่ในตอนนั้นหมอลำกลับไม่ได้ถูกยอมรับในซีนดนตรีบ้านเรานัก จนณัฐพลเกิดความสงสัยว่า “คนไทยมีเป็นล้าน ๆ คน จะมีแค่เราที่ชอบเหรอวะเพลงแบบนี้ มันต้องมีสิ แค่เรายังไม่เจอกลุ่มก้อนคนที่เขาอินด้วย” กระทั่งได้พบกับ ‘คริส เมนิสต์’ (Chris Menist) เพื่อนร่วมอาชีพดีเจที่ร้านแผ่นเสียงแห่งหนึ่ง ความคลั่งรักหมอลำพอ ๆ กันทำให้พวกเขาเริ่มหาที่ทางนำแผ่นเพลงที่สะสมไว้ไปเปิดให้ผู้คนได้ฟัง

เป็นที่มาของการก่อตั้งค่ายเพลงสุดแรงม้า (ZudRangMa Records) ในช่วงปี 2007 - 2008 และต่อมา ราวต้นปี 2009 เขาก็จัดปาร์ตี้ชื่อ Paradise Bangkok ขึ้น โดยช่วงเริ่มต้นเป็นปาร์ตี้ดีเจเปิดแผ่น ก่อนจะขยับขยายด้วยการชวนนักดนตรีหมอลำรุ่นเก่ามาเล่นคอนเสิร์ตให้คนฟังกันสด ๆ 

เป้าหมายแรกของการรวมสมาชิกวง The Paradise Bangkok Molam International Band เกิดจากการที่เราจะได้ไม่ต้องหาวงดนตรีแบ็กอัปทุกครั้ง แต่เรามีวงที่พร้อมเข้ามาเล่นกับศิลปินที่ชวนมาได้ตลอด แต่พอวันแรกที่ซ้อมด้วยกันผมรู้สึกว่าสิ่งที่วงส่งออกมาเป็นได้มากกว่าวงแบ็กอัปนะ สามารถเป็นวงของตัวเองได้ และถ้าเราจะชวนศิลปินมาก็แค่ให้เขาเป็นแขกรับเชิญให้กับวงดีกว่า” (จากบทสัมภาษณ์ ‘DJ Maft Sai | เปลี่ยนหมอลำจากเพลงที่คนมองเป็นขยะ ให้กลายเป็นท่วงทำนองที่ถูกยอมรับไปทั่วโลก’ โดย a day BULLETIN)

นั่นเองคือจุดบรรจบที่ทำให้ดีเจหัวสร้างสรรค์อย่างณัฐพลโคจรมาพบกับสองหมอลำผู้รักวิชาเพลงของตนยิ่งชีพ

 

หมอแคน หมอพิณ และเหล่าหมอผู้ร่วมผจญภัย

สมาชิกคนแรกที่เข้ามาเติมเต็มท่วงทำนองแห่งสวรรค์บางกอกคือ ‘ไสว แก้วสมบัติ’ ที่แม้จะเป็นชาวปราจีนบุรี แต่มีหัวใจรักหมอลำอีสานไม่แพ้ใคร เขามีแคนคู่ใจและลายแคนที่เล่าเรียนมาเป็นอาวุธประจำกาย นอกจากนั้น ครูไสวยังเป็นชายวัยเจ็ดสิบกว่า ณ เวลาที่ถูกทาบทามเข้าร่วมวง (ปัจจุบันครูไสวมีอายุ 85 ปี) ที่ใจยังหนุ่มแน่น เขาขยันฝึกปรือฝีมืออยู่เสมอ เปิดกว้าง รักการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และฝันอยากไปให้ไกลกว่าการเป็นหมอลำชาวบ้าน จึงมองว่าการเข้าร่วมวง Paradise Bangkok เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ต้องลองสักตั้ง

สมาชิกคนถัดมาคือหมอพิณเลือดอีสานจากจังหวัดร้อยเอ็ด ‘คำเม้า เปิดถนน’ หรือชื่อจริง ‘พิณเพชร ทิพย์ประเสริฐ’ เติบโตมากับเสียงพิณของพ่อ เรียกได้ว่าพิณคือส่วนหนึ่งของชีวิตชายผู้นี้ ที่แม้ในวันที่ยังเลี้ยงชีพด้วยดนตรีไม่ได้ ก็สู้หอบพิณขึ้นรถมากรุงเทพฯ ด้วย และใช้เวลาว่างจากอาชีพคนงานก่อสร้างบรรเลงพิณอยู่ไม่ขาด โดยฝีไม้ลายพิณของเขานั้นถึงเครื่อง ถึงอารมณ์ ถึงจิตวิญญาณ จนโปรโมเตอร์ชาวเยอรมันตั้งสมญาว่าเป็น ‘Jimi Hendrix of the Phin’ หรือ ‘จิมี เฮนดริกซ์ ในภาคพิณ’ เลยทีเดียว
    
แม้แว่วเสียงแคนเคล้าเสียงพิณจะเป็นพระเอกและทีเด็ดของวง แต่ The Paradise Bangkok ยังมีอะไรมากกว่านั้น พวกเขาคงไม่อาจเรียกตัวเองว่าวงหมอลำแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ หากขาดเสียงรุก รับ ขับประสานของเครื่องดนตรีสากลที่ช่วยปรุงรสให้หมอลำสูตรต้นตำรับของพวกเขาอร่อยยิ่งขึ้น ณัฐพลจึงได้ชักชวนหมอเบสชื่อคุ้นหู อย่าง ‘ปั๊ม - ปิย์นาท โชติกเสถียร กรัดศิริ’ มือกีตาร์ประจำวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า มาร่วมขบวนลำด้วยอีกราย ส่วนปิย์นาทเมื่อได้รับคำชวน ก็ไม่รอช้า เรียกรุ่นน้องที่มีความรู้ทางดนตรีหลากหลายอย่าง ‘อาร์ม - ภูษณะ ตรีบุรุษ’ มาร่วมด้วยช่วยบรรเลงกลองอีกแรง เมื่อครบวงหมอทั้ง 6 ได้แก่ หมอแคน หมอพิณ หมอฉิ่ง (ณัฐพล พ่วงตำแหน่งโปรดิวเซอร์) หมอเบส หมอกลอง และหมอเครื่องเคาะ (คริส เมนิสต์) ก็เป็นอันพร้อมบุกเวทีโลก

แต่แม้จะฝันอยากโบยบินไปทัวร์ทั่วแดนไกลแค่ไหน อย่างแรกที่พวกเขาต้องทำเป็นอย่างแรกเมื่อมารวมตัวกันก็ไม่ต่างจากวงดนตรีวงอื่น คือต้องหาจังหวะที่ใช่แล้วเล่นให้เข้าขากันประหนึ่งเพื่อนรู้ใจให้ได้

 

การเดินทางของนักดนตรีต่างวัย

 

ผมคิดว่าวงนี้น่าจะเป็นวงเดียวในประเทศไทย

ที่คนอายุมากที่สุด กับคนอายุน้อยที่สุด

แตกต่างกันถึง 50 ปี” 

 

ปิย์นาทพูดถึงความแตกต่างข้อแรกแต่ไม่ใช่ข้อเดียวของวง เพราะยังมีเรื่องปูมหลังชีวิตที่ต่างกัน รวมไปถึงเส้นทางและประสบการณ์ด้านดนตรีที่สั่งสมมาจากคนละสาย ทำให้การร่วมเล่นช่วงแรกมีความขลุกขลักไม่น้อย เป็นเรื่องที่สมาชิกแต่ละคนต้องปรับจูนเข้าหากัน อาทิ เส้นทางดนตรีที่ผ่านมาของไสวและคำเม้า โดยมากแล้วเครื่องดนตรีอย่างเบสและกลองมีหน้าที่ให้จังหวะสม่ำเสมอ ไม่ได้ใส่ลูกเล่นมากนัก แต่เมื่อมาอยู่ในวงที่โอบรับแนวดนตรีหลากหลาย ก็ต้องปรับการดีด - เป่า ให้สอดคล้องไปกับทางดนตรีที่มีลูกเล่นมากขึ้น ส่วนคนอื่น ๆ ที่ถนัดดนตรีสากลมาก่อน ก็ต้องทำความเข้าใจอารมณ์เพลงบรรเลงอีสานถึงสิ่งที่ลายพิณลายแคนต้องการจะสื่อ โดยผ่านการพูดคุยและใช้เวลาร่วมกันพักใหญ่จึงเห็นภาพเดียวกัน และร่วมกันสร้างซาวนด์ที่เป็นตัวตนของวงขึ้นมาได้

ในการสัมภาษณ์กับ The People ณัฐพลเล่าถึงช่วงเวลาเหล่านั้นว่า

จริง ๆ ซาวนด์พวกนี้ เราได้มาจากการเดินทางด้วยกันเยอะเหมือนกัน เพราะตอนที่เราเริ่มเข้าห้องซ้อมแรก ๆ เล่นยังไงมันก็ยังขัด ๆ ขืน ๆ กันอยู่ แล้วก็มีทริปแรกที่ไปละลายพฤติกรรมกันที่เวียดนาม ไปเล่นโชว์ที่เวียดนามเป็นโชว์แรก ได้เดินทางด้วยกัน อยู่กินดูแลซึ่งกันและกัน รู้จักกันมากขึ้น มันเหมือนครอบครัวครับ พอรู้จักกันมากขึ้น เราก็รู้แล้วว่าเวลาเราเล่นดนตรีเราจะเล่นยังไง เขาจะมาไม้ไหน เขาจะเล่นยังไง ได้คุยกันก็เข้าใจกันมากขึ้น ได้รู้ว่านี่พี่คนนี้เขานิสัยอย่างนี้ อารมณ์อย่างนี้ เดี๋ยวเขาจะสวนตรงนี้ขึ้นมา เขาจะจบด้วน ๆ อย่างนี้เลย เราต้องรับให้ได้ พอหลังจากทริปนั้น พอมาซ้อมดนตรีกัน มันก็คลิกมากขึ้น ธรรมชาติมากขึ้น

 

หมอลำที่ไม่ใช่หมอลำ

 

ก็มีคนว่านะ มีคนว่าเยอะ

เขาบอกว่ามันเล่นไม่เหมือนอีสาน

ไม่เหมือนดั้งเดิม

เขาก็ฟังยาก เขาบอกอย่างนี้
 

คำเม้ากล่าวเมื่อถามถึงกระแสตอบรับช่วงแรกของวง ที่บางครั้งต้องเผชิญกับความกังขาและข้อครหาว่า ‘ไม่ใช่หมอลำ’ เนื่องจากคำว่า หมอ หมายถึงผู้เชี่ยวชาญ ส่วนคำว่า ลำ แปลว่าร้อง ดังนั้นหมอลำจึงมีความหมายโดยรวมว่าผู้เชี่ยวชาญด้านการร้อง ขณะที่ The Paradise Bangkok เป็นวงบรรเลงไร้เนื้อร้อง จึงเกิดคำถามว่าอย่างนั้นแล้วจะใช้คำว่าหมอลำได้อย่างไร? โดยณัฐพลได้เคยตอบประเด็นนี้ไว้ว่า

ตรรกะของหมอลำพื้นบ้านจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเราเอาดนตรีหมอลำมาเป็นแรงบันดาลใจส่วนตัว ก็เลยเป็นเพลงหมอลำในศตวรรษที่ 21 เพราะฉะนั้น เมนหลักมันคือความสนุก คือการสังสรรค์ พอเอาไปเล่นต่างประเทศ คนฟังก็สามารถสัมผัสถึงความสนุกสนานและเริ่มเต้นกับเพลงของเรา มันเลยเข้ากับความเป็นเฟสติวัลได้

(จากบทสัมภาษณ์ ‘DJ Maft Sai | เปลี่ยนหมอลำจากเพลงที่คนมองเป็นขยะ ให้กลายเป็นท่วงทำนองที่ถูกยอมรับไปทั่วโลก’ โดย a day BULLETIN)

 

เสียงแห่งความจริงใจไร้พรมแดน

นับจากก่อตั้งวงในปี 2009 จนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่า The Paradise Bangkok เดินสายทัวร์มาแล้วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ไม่ว่าจะโซนตะวันตกหรือเอเชีย คณะหมอลำแห่งศตวรรษที่ 21 วงนี้ล้วนหอบพิณหอบแคนไปบรรเลงเล่นให้เป็นขวัญตามาแล้วทั้งนั้น จากเวทีมากมายที่พวกเขาเคยผ่าน และประสบการณ์มากล้นที่พวกเขาเก็บเกี่ยวได้ระหว่างทาง เมื่อ The People ถามถึงโชว์ที่ติดตรึงเป็นที่หนึ่งในใจ สมาชิกแต่ละคนล้วนมีคำตอบต่างกันออกไป โดยปิย์นาทและณัฐพลประทับใจโชว์ที่ Off Festival ในโปแลนด์ เมื่อปี 2013 ที่สุด โชว์ครั้งนั้นพวกเขาถูกติดต่อมากะทันหันให้ไปเล่นแทน โซแลง โนวส์ (Solange Knowles) บนเวทีใหญ่ในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ของเฟสติวัล 

ณัฐพลเล่าว่า “พอไปถึง คนตอนแรกพอจะขึ้นคนก็ไม่ค่อยมี พอเริ่มพี่คำเม้าดีดพิณ เป่าแคน เริ่มมีเสียงพิณแคน คนก็เริ่มมารวมกัน ก็หลายหมื่นคนอยู่นะในตอนนั้น แล้วตั้งแต่เพลงแรกจนถึงเพลงสุดท้ายเต้นกันไม่หยุด มีบอดี้เซิร์ฟ มีอะไรกับหมอลำ เป็นความทรงจำที่แบบว่า ตอนก่อนขึ้นก็เสียวว่าเราจะโดนเชียร์หรือโดนโห่ ไม่รู้ว่าฟีดแบ็กจะเป็นยังไง แต่ว่าพอขึ้นมาปุ๊บ ทุกอย่างมันสมูทมาก พลังงานเยอะมาก ทุกคนแฮปปี้มาก เราจบงานนั้นมามันก็เลยเหมือนเป็นความทรงจำที่ โอ้โห เรายังไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เราทำมันจะเวิร์กใน audience นี้หรือเปล่า แต่มันเวิร์ก

หมอแคนไสวประทับใจโชว์ที่ Fuji Rock Festival ในญี่ปุ่นที่สุด ส่วนหมอพิณคำเม้าเลือกโชว์ที่เทศกาล Glastonbury ขณะที่ภูษณะเลือกโชว์ที่เล่นเป็นวงเปิดให้หนึ่งในศิลปินคนโปรดในวัยเด็กอย่าง ‘เดมอน อัลบาร์น’ (Damon Albarn) โดยภูษณะได้เล่าเรื่องราวที่เขาประทับใจจากโชว์ครั้งนั้นว่า แม้ว่าดนตรีหมอลำและวง The Paradise Bangkok จะเป็นที่รู้จักในหมู่นักฟังและคนดนตรีต่างชาติแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้ลึกจนจำชื่อเครื่องดนตรีที่พวกเขาเล่นได้

Technician บนเวที เขาพูดว่า Wind Instrument เขาพูดว่าฟลูต Sound Engineer พูดใส่ไมค์เลย เครื่องดนตรีชิ้นนี้เรียกว่าแคน ไม่ใช่ฟลูต กรุณาเรียกให้ถูกด้วย

นั่นเป็นอีกหนึ่งความประทับใจที่ทำให้ภูษณะและวงรู้ว่าพวกเขามาถูกทางแล้ว เมื่อพรมแดนว่าด้วยความต่างทั้งทางภาษาและวัฒนธรรมมลาย เครื่องดนตรีดีด - เป่าเร้าอารมณ์จากอีสานบ้านเฮาก็กำลังเข้าจับจองพื้นที่ในซีนดนตรีโลกและในใจนักฟังผู้นิยมความม่วนมากขึ้นเรื่อย ๆ

แต่นอกจากความม่วนซื่นชวนเซิ้งแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้เพลงของ The Paradise Bangkok ครองใจผู้คนทั่วโลกได้ คือพวกเขาเป็นวงดนตรีบรรเลงที่สร้างเพลงให้เป็นจินตภาพได้อย่างงดงามและมีเอกลักษณ์

 

จินตภาพแห่งดนตรี

เราเข้าไปคุยกับพี่ว่า เราจะเล่นเพลงนี้ ลายสาวสะกิดแม่ สาวสะกิดแม่นี่ที่มามันเป็นยังไง ยกตัวอย่างว่าเรื่องราวเป็นยังไง แล้วเราค่อยมาตีความต่อว่าสาวสะกิดแม่ในรูปแบบของเราเรื่องราวเป็นยังไง สะกิดแม่ทำอะไร” ปิย์นาทกล่าว
    
สะกิดแม่ดูผู้ชาย หรือว่าสะกิดแม่อาย หรือว่าสะกิดแม่ขอตังค์ หมายถึงว่าในอารมณ์การเล่น อารมณ์การทำดนตรี มันก็เอามาตีความในคนละรูปแบบ” ณัฐพลเสริม
    
บทสนทนาข้างต้นคือตัวอย่างหนึ่งในกระบวนการสร้างจินตภาพของวง ที่พยายามตีความลายดนตรีดั้งเดิมในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกทุกคนในวงเห็นภาพในเพลงหนึ่ง ๆ ตรงกันก่อนบรรเลงเล่น ด้วยความเชื่อว่าถ้าผู้บรรเลงมีภาพในหัวชัดเจนแล้ว จะสามารถส่งภาพนั้นไปสู่กลางใจของผู้ชมได้แม้ไร้คำร้อง ซึ่งตัววงได้ใช้กระบวนการนี้ในทุก ๆ เพลง อย่างเช่นเพลง ‘กวางน้อยเจ้าเล่ห์’ ที่ต่อยอดมาจาก ‘ลายน้อย’ ที่เหล่าสมาชิกฟังแล้วเห็นภาพกวางตัวน้อยขยับเต้นยึกยัก โยกย้ายซ้ายขวาดูเจ้าเล่ห์ หรืออย่างเพลง ‘The Adventures of Sinsai’ หรือ ‘การผจญภัยของสินไซ’ ที่บรรเลงด้วยจังหวะครึกครื้นตื่นเต้นประหนึ่งสินไซยามออกผจญภัยกลางดง

ทั้งนี้ จินตภาพที่วงบรรจงบรรเลงนั้นไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นภาพฉายแห่งความรื่นเริงเสมอไป ปิย์นาทเล่าว่า แม้เสน่ห์ของดนตรีอีสานจะมีภาพลักษณ์สนุกสนานชวนเต้น เต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและความจริงใจ แต่ The Paradise Bangkok เชื่อว่าสิ่งที่หมอลำถ่ายทอดได้ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น 

เรามองว่าจริง ๆ แล้ว ถ้าได้คุยกับพี่คำเม้า พี่ไสว ลายพิณ ลายแคนมันมีที่มาลึกซึ้งมากเลยนะครับ บางลายพ่อกล่อมลูกอย่างนี้ มันมีเรื่องของความรักของพ่อที่ให้ลูก มีเรื่องสิ่งที่พ่ออยากพูดกับลูก มีเรื่องของการเลียนเสียงธรรมชาติที่ได้ยินในท้องทุ่ง อย่างพี่คำเม้าก็จะมีลายพิณที่สะท้อนถึงวิถีชีวิต ความสัมพันธ์กับผู้คน กับธรรมชาติรอบ ๆ ตัว เพราะฉะนั้น เรามองว่าสิ่งเหล่านี้ มันมากกว่าการเอนเตอร์เทนให้คนมากระโดดโลดเต้นด้วยซ้ำ มันมีเรื่องราวที่เราสามารถต่อยอดได้จากวิถีชีวิตแบบนี้ กับเครื่องดนตรีเหล่านี้มากมาย

 

อ้างอิง :

บทสัมภาษณ์โดย The People

DJ Maft Sai | เปลี่ยนหมอลำจากเพลงที่คนมองเป็นขยะ ให้กลายเป็นท่วงทำนองที่ถูกยอมรับไปทั่วโลก | a day Bulletin

The Paradise Bangkok Molam International Band การเดินทางตลอด 10 ปี ของดนตรีหมอลำแห่งศตวรรษที่ 21 | Creative Thailand

The Paradise Bangkok Molam International Band หมอลำแห่งศตวรรษที่ 21 | GQ Thailand

“คำเม้า เปิดถนน” มือพิณไทยอีสาน บุกเทศกาลดนตรีโลก | Matichon Online

อาศรมดนตรี ชีวิตขมของนักดนตรีชาวบ้าน คำเม่า เปิดถนน โดย:สุกรี เจริญสุข | Matichon Online

ทางสายกลาง ทางสายพิณของ คำเม้า เปิดถนน | TKPark