ดนตรีไทย vs ดนตรีพื้นบ้าน ที่มาพร้อมกับชนชั้นและความบันเทิง

ดนตรีไทย vs ดนตรีพื้นบ้าน ที่มาพร้อมกับชนชั้นและความบันเทิง

วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่าง ดนตรีไทย vs ดนตรีพื้นบ้าน ที่มาพร้อมกับชนชั้นและความบันเทิง

KEY

POINTS

  • ความแตกต่างระหว่างดนตรีไทยกับดนตรีพื้นบ้าน
  • ดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน รับใช้ใคร หรือเป็นความบันเทิงของใคร 
  • เหตุที่ ‘แคน’ เป็นตัวเด่นดนตรีอีสาน

หลายคนพูดถึง ‘ดนตรีไทย’ ที่ถูกฟรีซอยู่ในกรอบ เป็นดนตรีชั้นสูง แตะต้องไม่ได้ ที่ผ่านมาดนตรีเหล่านี้เป็นความบันเทิงของใคร และถูกกำหนดให้รับใช้ใคร

เมื่อเทียบกับ ‘ดนตรีพื้นบ้าน’ หรือ ‘ดนตรีอีสาน’ ที่พัฒนาไปค่อนข้างไกล เข้าได้ถึงคนทุกกลุ่ม อะไรเป็นสาเหตุนั้น?

The People ชวนมาตั้งคำถามเหล่านี้ พร้อมวิเคราะห์ไปกับ ดร. ณัฐพล วิสุทธิแพทย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอาจารย์เป็นหนึ่งในนักมานุษยดนตรีวิทยา (Ethnomusicology ) 

ดนตรีไทย vs ดนตรีพื้นบ้าน ที่มาพร้อมกับชนชั้นและความบันเทิง

ความแตกต่างระหว่างดนตรีไทยกับดนตรีพื้นบ้าน

ดร. ณัฐพล :  จริง ๆ ถ้าพูดถึงดนตรีไทยกับดนตรีพื้นบ้าน ผมสงสัยมานานแล้วแหละ เรื่องความแตกต่าง หรือแม้แต่การใช้คำจำกัดความ เพราะว่าดนตรีพื้นบ้าน ถ้าถามผม ดนตรีพื้นบ้านมันใช่ดนตรีไทยหรือเปล่า โดยตัวดนตรีไทย ถ้าเราหมายความว่าดนตรีไทยกำลังพูดถึงดนตรีไทยเดิม พวกปี่พาทย์ เครื่องสาย อะไรพวกนี้ถูกต้องไหมครับ กับดนตรีพื้นบ้านแตกต่างกันยังไง ถ้าในความหมายตามมาตรฐานหรือความหมายตาม textbook ที่เราเรียนกันมาเนี่ย เราก็มักจะถูกสอนว่า ดนตรีพื้นบ้านเนี่ย เป็นดนตรีที่มีความซับซ้อน หรือมีความวิจิตร หรือมีความพิสดารน้อยกว่าดนตรีที่เป็นแบบแผน ดนตรีที่เป็นราชสำนัก เรามักจะได้ยินคำนิยามที่เกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้านลักษณะนี้ 

แต่ว่า ไหน ๆ แล้วเนี่ย ผมก็อยากจะชวนตั้งคำถามต่อว่า แล้วเราเอาอะไรมาวัดว่า ดนตรีแบบนี้มันสลับซับซ้อนน้อยกว่าดนตรีอีกประเภทหนึ่ง ดนตรีแบบนี้มันมีความวิจิตร พิสดารน้อยกว่าดนตรีอีกประเภทหนึ่ง เราเอาตรงไหนมาวัด 

ผมขอสรุปรวบ ๆ แล้วกัน เวลาคนที่กำหนดว่าอะไรคือดนตรีไทย อะไรคือดนตรีพื้นบ้านเนี่ย มุมมองที่ใช้ตัดสิน มักจะเป็นมุมมองที่มาจากคนที่เล่นดนตรีแบบแผนหรือดนตรีแบบราชสำนัก ยกตัวอย่างเช่น ดนตรีอีสาน ไม่มีการประพันธ์เพลงแบบลักษณะเดียวกับดนตรีไทย ไม่มีการประสมวงที่เป็นแบบแผน ไม่มีการเรียน การสอน อะไรอย่างนี้ เขาก็เลยจัดไปว่าเป็นดนตรีพื้นบ้าน หรืออย่างเช่น ดนตรีทางเหนือที่เราเรียกว่าวงสะล้อซอซึงหรือวงป้าดก๊องอะไรพวกนี้ครับ เราก็ใช้หลักการเดียวกันเลยที่ตัดสินว่า ดนตรีพวกนี้ซับซ้อนไม่เท่าดนตรีไทยหรือดนตรีในราชสำนัก เราก็เลยจัดวางดนตรีทั้งหมดนี้ไว้อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า ‘ดนตรีพื้นบ้าน’  

ในขณะเดียวกัน ถ้าเรามองย้อนกลับว่า แล้วดนตรีอีสานที่เรากำลังจะพูดถึงในประเด็นของเราวันนี้ ดนตรีอีสาน จริง ๆ ไม่มีแบบแผนเหรอ ไม่พิสดารเหรอ หรือว่าไม่ซับซ้อนเท่าดนตรีไทยเหรอ จะถามว่าไม่ซับซ้อนเท่า ผมคิดว่าคงไม่เห็นด้วย แต่ผมคิดว่า มันแตกต่างกันมากกว่า มันทำงานกับคนละระบบ หรือว่าถ้าเทียบกันในเรื่องของภาษา ไวยากรณ์มันคนละอย่างกัน แกรมมาร์คนละอย่างกัน แต่ถามว่าสิ่งที่เราเรียกว่าดนตรีพื้นบ้านเนี่ย มีความสลับซับซ้อน มีกฎเกณฑ์ มีความสวยงาม มีความวิจิตร ผมบอกได้เลย 100% ว่ามี แล้วก็มีไม่แพ้ไปกับดนตรีที่เราเรียกว่าดนตรีไทยหรือดนตรีราชสำนักหรือดนตรีไทยเดิมเช่นกันครับ 

The People : ดนตรีภาคกลาง ดนตรีไทย ดนตรีราชสำนัก นี่คือความหมายเดียวกันหรือไม่ 

ดร. ณัฐพล :  มันก็พอจะแทนกันได้ครับ แต่ว่าบางที ถ้าคุยกันแล้วมันก็อยู่ที่บริบทนะว่าเรากำลังคุยกันในลักษณะไหน อย่างเช่น ถ้าพูดกันว่า ดนตรีไทย ก็เป็นที่รู้กันว่า ดนตรีที่เป็นพวกปี่พาทย์ เครื่องสาย บางทีถ้าพูดถึงดนตรีภาคกลางก็อาจจะหมายรวมไปถึง ประเภทดนตรีที่ไม่ใช่ดนตรีราชสำนัก หรือสิ่งที่เราเรียกว่าเพลงพื้นบ้าน พวกเพลงฉ่อย เพลงอีแซว หรือวงลำตัด หรือการแสดงที่ไม่ใช่เป็นแบบแผนราชสำนึก

ดนตรีราชสำนัก

The People : ดนตรีราชสำนัก ต้องเป็นแบบไหน

ดร. ณัฐพล : ดนตรีราชสำนัก ง่าย ๆ กว้าง ๆ โดยรวมก็คือดนตรีไทยเดิม ดนตรีพวกปี่พาทย์ เครื่องสาย มโหรี พวกนี้เป็นต้น หรือรวมปี่พาทย์มอญหน่อยก็ได้ เพราะปี่พาทย์มอญก็เคยถูกสนับสนุนโดยวังในสมัยก่อน ก็อาจจะรวมไปได้ว่า ดนตรีปี่พาทย์มอญก็เป็นส่วนหนึ่งของดนตรีที่เราเรียกว่าดนตรีไทย 

The People :  ปี่พาทย์มอญเริ่มต้นมายังไง แล้วทำไมพอพูดถึงปี่พาทย์มอญแล้วจะนึกถึงงานศพ

ดร. ณัฐพล : สมัยก่อนปี่พาทย์มอญก็เป็นส่วนหนึ่งในงานประโคม ในบันทึกประวัติศาสตร์ได้บอกว่า มีการเชิญให้ดนตรีที่มาจากชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้เข้ามาร่วมประโคมในงานศพ แล้วหนึ่งในนั้นก็คือ ชาติพันธุ์มอญ ก็นำมาใช้ร่วมประโคม สุดท้ายแล้วไป ๆ มา ๆ  ปี่พาทย์มอญกลายเป็นเครื่องหมายเกี่ยวกับงานศพ ซึ่งจริง ๆ แล้วปี่พาทย์มอญแต่เดิมใช้บรรเลงทั้งงานมงคลและอวมงคล ผมเดาว่า เพลงสำเนียงมอญที่ฟังแล้วมันจะดูเศร้า ๆ ด้วย แล้วอีกอย่างหนึ่ง ความอลังการของวงดนตรี มันมีเครื่องดนตรีที่เป็นฆ้องที่ตั้งขึ้นมา เป็นรูปครึ่งวงกลม ที่เราเรียกว่าฆ้องมอญ แต่บางคนเข้าใจผิด เรียกว่า ฆ้องนางหงส์ ปี่พาทย์นางหงส์ ซึ่งมันคนละอย่างกัน ความที่เครื่องดนตรีมันดูแฟนซี ดูอลังการ อะไรพวกนี้ครับ มันคงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปี่พาทย์มอญอยู่คู่กับงานศพมาตลอด 

ต้องอย่าลืมว่าสมัยก่อนเนี่ย การบรรเลงงานศพ หรือแม้แต่ความคิดเกี่ยวกับงานศพ เราเพิ่งจะมามี mindset ที่ว่า งานศพจะต้อง mood & tone ที่เป็นความเศร้า มี mood & tone ที่จะต้องแต่งดำ คลุมดำเมื่อไม่นานมานี้เองนะครับ คือเมื่อก่อนนี้ freestyle

กระทั่งสมัยนี้ก็ยังพอจะเห็นได้ในภาคเหนือ งานศพคือไปในทางเฉลิมฉลอง คือคนได้หมดทุกข์แล้ว ถูกไหมครับ พ้นวัฏสงสารไปสู่อีกโลกหนึ่ง บางที่ก็ยังนับเรื่องนี้ว่าเป็นเหตุที่ควรแก่การเฉลิมฉลอง ถ้าไปดูตามงานวัดหรือตามปี่พาทย์มอญชาวบ้าน ก็จะเห็นว่า เวลาปี่พาทย์มอญเล่นกันเนี่ย เขาเล่นกันสนุกมาก คือฟังแล้วแบบ มันเศร้าตรงไหน  อะไรอย่างนี้ครับ เพียงแต่ว่า mood & tone ของปี่พาทย์มอญเนี่ย มันฟังดูแล้วชวนเศร้าโศกด้วยทั้งทำนองเพลง แล้วก็ลีลาการบรรเลงของเครื่องดนตรีด้วย โดยเฉพาะปี่มอญ ที่ทำเสียงยาว ๆ โหยหวน ๆ ครับ

ดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน รับใช้ใคร หรือเป็นความบันเทิงของใคร 

The People :  มีคนพูดถึงดนตรีไทยที่ค่อนข้างจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ อะไรเป็นปัจจัยที่ตีกรอบหรือ freeze ดนตรีไทยไว้

ดร. ณัฐพล :    ต้องถามว่าหยุดอยู่กับที่ในลักษณะไหนครับ  

The People :  ในขณะที่ดนตรีภาคอีสานไปไกลแล้ว พิณก็ไปเล่นกับ Jazz ได้ ไปเล่นกับเปียโนได้หมด แต่ถ้าเป็นดนตรีไทยก็จะอยู่เฉพาะในวงดนตรีไทยของตัวเอง แต่ว่าดนตรีภาคอีสาน หมอลำ พลิกแพลงไปลูกทุ่ง คนเข้าถึงได้แมสกว่า 

ดร. ณัฐพล : อันนี้ผมตอบเป็น 2 ประเด็นแล้วกัน เรื่องหยุดนิ่งไม่หยุดนิ่ง กับเรื่องแมส ต้องแยกกัน 

หยุดนิ่งไม่หยุดนิ่งเนี่ย ถ้าถามผม ผมคิดว่าดนตรีไทย ในตัวดนตรีไทยเองก็มีการปรับปรุง ปรับเปลี่ยนตลอดเวลาเช่นกัน เพียงแต่ว่า ตัววัฒนธรรมมันไม่แมสเท่าดนตรีอีสาน ก็ต้องอย่าลืมว่า ดนตรีไทยหรือพวกระนาด ฆ้อง อะไรพวกนี้ครับ มันเป็นดนตรีที่มีลักษณะดนตรีคลาสสิก ดนตรีแบบแผน มีการเรียนการสอน ถูกทำให้เป็นสถาบัน เทียบกันง่าย ๆ ก็คือเทียบกันกับดนตรีคลาสสิก ที่ไม่ใช่ว่า ทุกคนจะฟังดนตรีคลาสสิก ถูกต้องไหมครับ แต่ถามว่า ดนตรีคลาสสิกมันพัฒนาต่อไหม ทุกวันนี้มีคน มีนักแต่งเพลงที่อยู่ใน category ที่เรียกว่าดนตรีคลาสสิกไหม ก็มี ก็มีการประพันธ์เพลงอะไรเกิดขึ้นมาอยู่เรื่อย ๆ ดนตรีไทยก็เป็นเหมือนกันครับ ก็มีคนพัฒนา มีคนคิดวิธีการเล่นรูปแบบใหม่ ๆ ที่มันแปลกไปจากเมื่อก่อน หรือพยายามที่จะทดลองทำอะไรใหม่ ๆ เพียงแต่ว่า ด้วยกรอบหรือว่าด้วยกลไกของสังคมหรือวัฒนธรรมในดนตรีไทยเนี่ย มันเลยทำให้ไม่เป็นที่นิยมเท่ากับดนตรีที่มันถูก design มาเพื่อให้เป็นดนตรีสำหรับคนหมู่มาก ดนตรีเพื่อประชาชน หรือว่าดนตรีที่มันเป็นสำหรับ mass music 

จริง ๆ แล้ว ดนตรีไทยที่พยายามทำให้เข้าหาตลาดแมส มันก็ยังพอมีบ้าง อย่างเช่น เรารู้จักวงดนตรีที่เขาเป็นต้นแบบของดนตรีที่เราเรียกว่า ดนตรีคอนเทม หรือดนตรีฟิวชัน ดนตรีผสม ก็คือวงฟองน้ำ อะไรอย่างนี้ครับ ตั้งแต่สมัยอาจารย์บรูซ แกสตัน เรื่อยมาก็เป็นวงของขุนอิน ช่วงนั้นก็บูมอยู่พักหนึ่ง ที่มากับเรื่องโหมโรง แล้วก็มีวงบอยไทย วงกำไล วงกอไผ่ แล้วก็มีอีกหลาย ๆ วงที่พยายามหาพื้นที่ใหม่ ๆ ให้กับการบรรเลงดนตรีไทย ถามผม ผมเลยคิดว่า ดนตรีไทยมันไม่ได้ถึงกับว่าอยู่กับที่ดีกว่า แต่ว่ามันไม่แมสเท่ากับดนตรีอีสาน แค่นั้นเอง 

ทีนี้ก็ต้องมาอีกประเด็นหนึ่งที่ว่า ดนตรีไทยถูกควบคุมกำกับดูแลโดยใคร แล้วก็ดนตรีอีสานถูกควบคุมกำกับดูแลโดยใคร 

ประเด็นนี้จะสำคัญ เพราะว่าเป็นตัวกำหนดเลยว่า ดนตรีชนิดหนึ่งสามารถไปได้แค่ไหน ไปในทิศทางไหนบ้าง คือน่าจะเห็นอยู่ว่าดนตรีไทยเนี่ย ด้วยความที่ดนตรีไทยผูกติดอยู่กับความเป็นวัฒนธรรมของชาติ ถูกไหมฮะ เพราะฉะนั้น ดนตรีไทยเนี่ย องค์รวมที่เราเรียกว่าดนตรีราชสำนัก พวกดนตรีปี่พาทย์ เครื่องสาย ฆ้อง ระนาด มโหรี อะไรพวกนี้นะครับ ก็จะผูกติดอยู่กับความเป็นไทย ภาพลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งแน่นอน เวลาเราพูดถึงวัฒนธรรมไทยที่ก็ต้องผูกติดกับการกำกับดูแลของรัฐ ถูกไหมฮะ คงไม่มีรัฐบาลไหนหรอกที่อยากจะนำเสนอมุมมองที่ไม่ดีหรือมุมมองที่ไม่สวยงามเกี่ยวกับวัฒนธรรมตัวเอง 

ฉะนั้น อันนี้เท่าที่ผมสังเกตดู ลองสันนิษฐานดู ก็คือว่า ด้วยความที่วัฒนธรรมไทยก็ต้องการนำเสนอภาพแทนหรือภาพจำของความเป็นไทยที่เชื่อมโยงกับความเป็นโบราณ มีการสืบต่อกันมา นู่นนี่นั่น ต้องการชูให้เห็นถึงความต่อเนื่อง ก็เลยเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ดนตรีไทยที่ถูกนำเสนอโดยภาครัฐ มักจะเป็นไปในทางที่มีลักษณะคงที่อยู่ตลอดเวลา สืบต่อกันมาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี แล้วก็มีความยึดถือในวัตรปฏิบัติ ยึดถือในระบบธรรมเนียมปฏิบัติ 

แต่ถามว่า มันเป็นอย่างนี้ กฎระเบียบ การดูแลมันแบบเฟิร์มเต็มร้อยเลยไหม มัน absolute แล้ว มันก็ไม่ใช่ อย่างที่ผมบอกว่า ในกลุ่มก้อนคนที่เล่นดนตรีไทย ก็มีคนที่ทำอะไรใหม่ ๆ แต่พอในภาพรวมที่ผมพูดนะครับว่า พอดนตรีไทยมันอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐ เป็นเกี่ยวกับความเป็นไทยที่มันผูกอยู่ แล้วก็อะไรหลาย ๆ อย่างที่พูดถึงวัฒนธรรมอันดี มันก็เลยเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้การที่จะทำอะไรเกี่ยวกับดนตรีไทยเนี่ย มันก็เหมือนกับจะต้องมีติดหลายปม มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องคอยคำหนึ่ง มันก็เลยดูเหมือนว่า พอทำแล้วมันไม่ได้ทำง่ายเท่ากับดนตรีประเภทอื่น 

The People : ประเด็นที่พูดตรงนี้ มันก็เหมือนเป็นการตอบโจทย์รัฐไทย หรืออดีตของชาติ ว่าเรามีประวัติศาสตร์อันช้านาน อันงดงามที่สืบเนื่อง เป็นชาติที่มีราก ก็เลยต้องเอาดนตรีไทยเป็นหนึ่งในรากนี้ เลยทำให้เหมือนไปแตะไม่ได้ ไปปรับไม่ได้ มันเป็นแบบแผนที่อาจจะต้องตีกรอบไว้ อย่างนั้นหรือเปล่า 

ดร. ณัฐพล : ใช่ ๆ ผมเห็นด้วยนะ ต้องบอกแบบนี้ กรอบมันค่อนข้างจะหนานิดหนึ่ง พูดอย่างนี้ดีกว่า ฉะนั้น อย่างที่ผมบอก คือว่ามันหนาขนาดว่าบางคนคิดนอกกรอบเลยไม่ได้ มันก็ไม่ใช่ขนาดนั้น แต่ว่าอย่างที่เห็น กรอบมันหนา แล้วถ้าจะสืบจริง ๆ ก็คือตั้งแต่ยุคสร้างชาติที่พยายามจะเฟ้นหาวัฒนธรรมของชาติ แล้วอะไรล่ะ ที่จะเป็นตัวแทนของฝ่ายดนตรี ก็จิ้มไปที่นี่แล้วกัน ดนตรีที่ชนชั้นสูงชอบเล่น ก็เลยกลายเป็นดนตรีไทย 

The People : ทำไมถึงต้องผูกกับคนชั้นสูง

ดร. ณัฐพล : จริงๆ แล้ว ดนตรีก็เล่นกันทุกทั่วหัวระแหง ชาวบ้านชาวช่องก็เล่นกันครับ แต่ความสำคัญและคุณค่าของดนตรีไทยนั้นถูกกำหนดโดยคนที่มีสถานะทางสังคมครับ  

แล้วทำไมถึงผูกกับชนชั้นสูงใช่ไหมครับ คือเอาอย่างนี้ดีกว่า คือสมัยก่อน ดนตรีไทยจะเป็นเครื่องประดับบารมีของคนที่อยู่ในวัง อย่างเช่น คนที่มียศถาบรรดาศักดิ์ ก็จะชอบสะสมของนู่นนี่นั่น ถูกไหมฮะ สิ่งของที่ประดับบารมี ก็เช่นการที่มีนักดนตรีที่มีชื่อเสียง วงดนตรีที่มีชื่อเสียงอยู่ในสังกัดตัวเอง โดยการไปเฟ้นหานักดนตรีชาวบ้าน ที่มีชื่อกระฉ่อนมาก เล่นไม่เหมือนใคร ฝีมือฉกาจ ก็พากันไปชักนำมา คล้าย ๆ กับสโมสรฟุตบอลเลยครับ แล้วก็มาฝึก มาอะไร เป็นสำนักในวังของตัวเอง เสร็จแล้วยังไงต่อ เมื่อถึงเวลาก็จะเอามา battle กัน ภาษาดนตรีเขาจะเรียกว่ามาประชันกัน พอประชันกันระหว่างวันนู้นวังนี้ ก็เป็นการวัดฝีมือ อีกนัยหนึ่งคืออะไรครับ คือการอวดกันว่า วงฉันเจ๋งกว่านะ วัดบารมีว่าฉันมีครู ฉันสามารถทำทางหรือแนวคำเพลงที่มันแบบ คุณคิดไม่ถึง คุณสู้ไม่ได้ อะไรอย่างนี้ เพิ่มบารมีกัน  

ในขณะเดียวกัน นักดนตรีที่มาจากชาวบ้าน การที่ได้ถูกนำไปถวายตัวรับใช้เจ้านาย มันเป็นเรื่องระดับทางสังคม ดังนั้น นักดนตรีทั้งหลายที่เป็นชาวบ้านก็มักจะแสวงหาโอกาสที่จะได้ถวายตัวเป็นนักดนตรีในวัง ก็จะเป็นการเกื้อกูลกันทั้งสองทางแบบนี้ ซึ่งในปัจจุบันเราก็ยังพอจะมองเห็นเค้าลางอันนี้ อยู่ที่ว่านักดนตรีบางคนก็มักจะนับถือครูหรืออยากจะเรียนกับครูที่สืบสายดนตรีมา ครูที่มีชื่อเสียง หรือครูที่ได้เคยเรียนรู้กับครูที่อยู่ในวังมาก่อน อะไรลักษณะนี้ครับ มันก็มีเหตุผลทางชนชั้นทางสังคมเหมือนกัน ที่ทำให้ดนตรีไทยมีลักษณะนี้ 

The People :  สรุปดนตรีไทยรับใช้ใคร หรือเป็นความบันเทิงของใคร 

ดร. ณัฐพล :  พูดยาก ถ้าถามปัจจุบันเนี่ย เอาแบบตรงตัวก็คือ ก็รับใช้คนที่ชอบฟังดนตรีไทย เพราะว่าดนตรีไทยก็มีใน moment ที่บรรเลงเพื่อความสุขหรือเพื่อให้จอย ๆ กันระหว่างที่เล่นดนตรีไทย แต่ว่า ถ้าเราอ่านระหว่างบรรทัด ทำเพื่อใคร แน่นอน ก็คือมันเป็นการตอกย้ำถึงวัฒนธรรมของชาติ ตอกย้ำถึงความเป็นรัฐไทย ความเป็นวัฒนธรรมไทย แล้วในขณะเดียวกัน ถ้าเรามองข้างนอก ออกนอกเส้นเขตแดนของประเทศไทย  ดนตรีไทยหรือวัฒนธรรมไทย เช่น ศิลปะไทย การจัดผ้า การจัดดอกไม้ หรือศาสนา ภาษาไทย มันกลายเป็นคุณค่าทางวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน ที่คนไทยอยู่ต่างแดนหลาย ๆ คน ต้องการที่จะแสวงหา หรือต้องการจะเรียนรู้เพื่อทำให้ตัวเองได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทย ถึงแม้ว่าตัวจะไม่ได้อยู่ที่ดินแดนในวัฒนธรรมบ้านเกิดตรงนี้ แต่อย่างน้อย ก็ยังมีความเป็นส่วนหนึ่งด้านวัฒนธรรม มันก็จะรับใช้กันในแง่ของนโยบาย คือในแง่ของรัฐที่ต้องการกำหนดความเป็นไทย 

The People :  เอกลักษณ์ของดนตรีพื้นบ้านคืออะไร

ดร. ณัฐพล : ถ้าถามผมในฐานะที่เป็นนักมานุษยดนตรีวิทยา ผมพยายามจะชี้ให้เห็นว่าการที่เรียกว่าดนตรีพื้นบ้าน เราสามารถเรียกได้ไหม เรียกได้ แต่เราต้องรู้ว่า คำว่าดนตรีพื้นบ้าน มีนัยยะว่าอย่างไร บางทีคนที่เป็นเจ้าของดนตรีที่เราเรียกว่าดนตรีพื้นบ้าน บางที่เขาอาจจะไม่ชอบก็ได้ หรือคิดว่ายังไง ๆ กับคำนี้ เพราะเหมือนว่าเป็นการจัดลำดับชั้นดนตรี แต่ว่า anyway ถ้าเราพูดถึงดนตรีพื้นบ้าน ถามว่าดนตรีพื้นบ้าน แล้วเอกลักษณ์คืออะไร ถ้าเอกลักษณ์แบบง่าย ๆ ที่สุดเลยคือเป็นดนตรีที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมชาวบ้าน เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่เราสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ที่มันไม่ได้เป็นตัวแทนมาจาก top down มันเหมือนกับเป็นดนตรีที่เรามองเห็นได้จากสถานที่ทั่วไป เป็น bottom up ฉะนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นอะไรที่แบบ simple ไม่จำเป็น อาจจะเป็นอะไรที่มันซับซ้อนอะไรก็ได้ แต่ถ้าถามผมนะ ถ้าจะให้นิยามกว้าง ๆ ผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่เราพบเห็นได้จากชีวิตของชาวบ้าน ชีวิตของคนทั่วไป 

ดังนั้น ถ้าเราใช้กรอบนี้ ดนตรีอะไรก็สามารถเป็นดนตรีที่มาจากชาวบ้านได้ เป็นดนตรีที่มีความเป็นท้องถิ่นได้ อยากจะชวนกันตั้งคำถามว่า สิ่งที่เราเรียกว่าดนตรีพื้นบ้าน  เรากำลังตั้งอยู่ในแง่ของการ discriminate อยู่หรือเปล่า 

The People : พอมาถึงคำว่า discriminate ก็จะมีถึงขนาดที่ใช้คำว่า ดนตรีเจ้า ดนตรีไพร่ มีการใช้สองคำนี้ในการแบ่งแยก คืออาจจะจากที่เราพูดกันตั้งแต่ต้นหรือเปล่า 

ดร. ณัฐพล :  ก็เป็นส่วนหนึ่งนะฮะ คือแบบ ดนตรีเจ้าก็คือดนตรีที่เป็นของคนที่อยู่ในวัง คนชั้นสูงอะไรอย่างนี้ ดนตรีไพร่ก็คือดนตรีที่แบบ ไม่มีเทสอะ อะไรประมาณนี้ ก็จะเป็นลักษณะแบบนั้น ก็มีมุมนั้นอยู่ บางทีมันอาจจะพ่วงไปถึงชาติพันธุ์ที่มีอยู่ก็ได้ อย่างเช่น ในสมัยก่อน คนที่เรียนดนตรีก็น่าจะทราบดีที่มีการห้ามเป่าแคน เราพูดถึงดนตรีอีสานพอดี ก็คือแคนเนี่ย แต่ก่อนคนนิยมเล่นกันมาก ก็เลยมีการห้ามเป่าแคนในบริเวณใกล้เขตพระราชฐาน อะไรพวกนี้ แล้วสุดท้ายก็เลยกลายเป็นที่ไปที่มาของการดูถูกวัฒนธรรมที่มาจากอีสาน เพราะเหมือนกับว่าไม่ใช่ของไทย เป็นอะไรที่มาจากลาว เป็นของคนอื่น 

The People : เหมือนกับบ้านใกล้เรือนเคียงเหยียดกันเอง อะไรอย่างนี้ใช่ไหม 

ดร. ณัฐพล :  ใช่ ๆ ครับ เป็นเรื่องปกติ ๆ บ้านใกล้เรือนเคียง ใครที่อยู่ใกล้กันก็จะเหยียดกันเอง ในหมู่นักดนตรีก็จะเหยียดกัน ก็จะขิงกันด้วยเครื่องดนตรี แม้แต่ในกลุ่มนักดนตรีไทยกันเอง ก็ขิงกันหนักมาก 

The People : นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ 

ดร. ณัฐพล :  ใช่ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีความแตกต่างกันระหว่างมนุษย์ เมื่อนั้นก็จะเกิดการกระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องปกติครับ

 เหตุที่ ‘แคน’ เป็นตัวเด่นดนตรีอีสาน

The People : ถ้าพูดถึงดนตรีอีสาน เรามาโฟกัสที่ตัวดนตรีอีสานเนี่ย คิดว่าตัวไหนที่เป็นตัวชูโรง 

ดร. ณัฐพล : ชูโรงเหรอ ผมคิดว่าแคน แคนเลย ทำไมถึงเป็นแคน เพราะว่า หนึ่ง แคนเป็นวัฒนธรรม จะบอกว่าวัฒนธรรมอีสานก็ไม่ใช่ ผมขอบอกว่าเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มวัฒนธรรมลาวแล้วกัน เพราะว่าเราสามารถเห็นได้ทั้งภาคอีสานของไทย แล้วก็ในบริเวณลาว คือสมัยก่อน สมัยที่ยังไม่ได้ขีดเส้นแบ่งเขตแดนเนี่ย แคนก็เล่นกันในกลุ่มดินแดนแถวนี้ครับ จนเมื่อเส้นแบ่งเขตแดนมันตัดปึ้งมาเนี่ย ก็เลยแบ่งว่า อันนี้กลายเป็นไทย อันนี้กลายเป็นลาว แต่ว่าจริง ๆ แล้ว วัฒนธรรมแคน คือมีอยู่แถบนี้แหละครับ เรียกว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมจะดีกว่าครับ

ที่ผมคิดว่ามันเป็นตัวแทน เพราะว่า เป็นอะไรที่ค่อนข้างจะ iconic เป็นอะไรที่ค่อนข้างจะเป็นสัญลักษณ์ ผมคิดว่ามากกว่าโปงลางด้วยซ้ำไป เพราะว่าโปงลางก็เพิ่งจะถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ โดยครูเปลื้อง ฉายรัศมี แต่ว่าแคนเนี่ย ทำไมคิดว่าเป็นตัวชูโรง เพราะว่า ในแง่ของนักดนตรีแล้วกันนะครับว่า การตั้งเสียงหรือการจูนเสียงในระหว่างวงดนตรีเนี่ย ก็ต้องตั้งจากเสียงแคนเป็นหลัก เพราะว่าอาจจะด้วยความสะดวกในการตั้งเสียงด้วย แต่ว่า พวกลายการบรรเลง หรือแม้แต่วัฒนธรรมที่แคนเข้าไปมีส่วนร่วม เช่น วัฒนธรรมหมอลำเนี่ย ก็มีมานานแล้ว แล้วก็ถามว่าหมอลำส่วนใหญ่ใช้ดนตรีอะไรประกอบ ก็ใช้แคนประกอบ 

The People : เมื่อสักครู่ที่เริ่มพูด ดนตรีภาคอีสาน ค่อนข้างพัฒนาไปถึงดนตรีที่เป็นลูกทุ่ง หมอลำ อะไรอย่างนี้ เหตุผลเบื้องหลังคืออะไร

ดร. ณัฐพล : จริง ๆ อธิบายได้ด้วยแง่ของกลไก บางคนบอกว่า เห็นไหม ดนตรีอีสานวิเศษตรงที่เล่นกับดนตรีอะไรก็ได้ หนึ่ง เราต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีมันไม่มีอะไรที่เป็นธรรมชาติ  ความงาม หรืออะไรที่มันเกี่ยวกับดนตรีเนี่ย คือสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นทั้งนั้น อย่างที่สองคือดนตรีมันไม่ใช่ภาษาสากล ที่ว่าแบบใครจะเล่นก็เล่นด้วยกันได้ หรือพูดภาษาเดียวกัน แต่สุดท้ายแล้ว คุณต้องรู้จักบริบทนั้นก่อน คุณถึงจะมาเล่นด้วยกันได้ 

ที่ว่ากันถึงดนตรีอีสานเนี่ย ต้องท้าวความแบบนี้ ต้องเทคนิคนิดหนึ่งนะ เวลาเขาตั้งเสียง ตั้งเสียงแคน เวลาเขาตั้งเสียเนี่ย เขาจะตัดไม้ เขาจะตั้งเสียงจาก สมมติเราเอาแคนมา 1 เลา ใช่ไหมครับ ตั้งเสียงปุ๊บ พอตั้งเสียงให้เลาอื่น แล้วเขาจะวัดเสียงยังไงล่ะ สมมติมีแคนอย่างเดียว เขาใช้วิธีการวัดเสียงแบบตัดลูกแคน ตัดออกครึ่งหนึ่ง พอตัดออกครึ่งหนึ่ง เสียงที่ได้เนี่ย ก็จะเป็นเสียงที่อยู่ที่ออกเทฟ สมมติตั้งแคนเลานี้ ตัวลูกแคนนี้ ลูกแคนนี้ได้เสียงโด แล้วเราตัดลูกแคนนี้ครึ่งหนึ่ง ก็จะได้เสียงโด แต่เป็นโดที่สูงกว่านั้นอีกโดหนึ่ง นึกออกไหม แล้วก็ถ้าเราตัดลูกแคนเดิมเนี่ย ตัดด้วยความยาว ¾ เราก็จะได้เสียงซอล ห่างกัน 5 เสียง อย่างเนี้ยครับ ซึ่งการเทียบเสียงด้วยลักษณะนี้ มันคือการเทียบเสียงที่เราเรียกว่า ใช้ทฤษฎีของพีทาโกรัส ที่ว่า ใช้ลักษณะของเสียงที่มันแบ่งไปตามธรรมชาติ สัดส่วนของเสียงธรรมชาติ 

ซึ่งมันไปตรงกับวิธีการตั้งเสียงของดนตรีตะวันตกสมัยก่อน ซึ่งสมัยก่อนเขาก็ใช้สิ่งนี้ที่เรียกว่า natural overtone คือพอเราแบ่งครึ่งวัตถุที่สั่นสะเทือน การสั่นสะเทือนก็จะมากขึ้นเป็น 2 เท่า แล้วก็แบ่งตาม ¾ ให้ได้ส่วนหนึ่ง มันก็เลยกลายเป็นว่า อ๋อ การตั้งเสียงของแคนเนี่ย หรือของดนตรีอีสานเนี่ย มันไปละม้ายคล้ายกับการตั้งเสียงของดนตรีตะวันตกสมัยก่อน ด้วยเหตุนี้ ดนตรีที่เป็นดนตรีอีสานเนี่ย มันก็เลย blend in หรือสามารถเข้าไปเล่นกับดนตรีตะวันตกได้ แต่ในกรณีที่ว่า เสียงต้องตรงกันก่อนนะครับ อย่างสมมติ เริ่มต้นเสียงเนี่ย เราต้องการหาเสียงแคนที่มันตรงกับเสียงดนตรีตะวันตก ถ้าเราหาแคนลูกโตนิคหรือเสียงหลักของสเกลเสียงสเกลหนึ่ง ที่มันตรงกับเสียงดนตรีตะวันตกแล้วเนี่ย เราก็จะสามารถเล่นด้วยกันได้ 

The People : นี่เป็นสาเหตุที่พัฒนาหรือว่า adapt ไปเล่นกับเครื่องดนตรีได้อย่างหลากหลาย แพร่หลาย มีความแมสมากกว่าดนตรีภาคกลางหรือดนตรีไทย

ดร. ณัฐพล : ใช่ครับ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจว่า ดนตรีไทยเดิม ปี่พาทย์ เครื่องสาย ระบบเสียงเราใช้คนละอย่างกัน ฉะนั้นเนี่ย ถ้าจะเอาดนตรีไทย สมมติ วันนี้ คุณไปเจอระนาดในวงบ้านหนึ่ง แล้วอยากจะเอามาเล่นดนตรีสากลเนี่ย หยิบมาปุ๊บ ระนาดกลายเป็นเพี้ยนทันทีเลย เพราะว่าเขาใช้ระบบเสียงคนละอย่างกัน ถึงแม้ว่า คุณจะหาโน้ตหนึ่งที่มันตรงกับดนตรีสากลหรือดนตรีตะวันตกเนี่ย เสียงต่อ ๆ ไปเนี่ย มันก็ยังไม่ตรง เพราะว่าช่องว่างระหว่างเสียงหรือการจูนเสียงเนี่ย มันใช้คนละระบบกัน 

มันจะไม่เข้ากัน กลายเป็นว่าดนตรีไทยเพี้ยนไปเลย ทั้ง ๆ ที่ดนตรีไทยก็มีระบบเสียงเป็นของตัวเอง ดังนั้น ถ้าจะเอาดนตรีไทย เช่น ฆ้อง ระนาด อะไรพวกนี้ครับ ไปเล่นกับดนตรีสากล จะต้องตั้งเสียงขึ้นมาใหม่ แต่ว่าดนตรีที่ไม่ต้องมีเสียงแบบชัดเจนหรือตายตัว เช่น ซอ อย่างเนี้ยครับ ก็จะสามารถ adapt ได้กับดนตรีสากลได้ง่ายกว่า เพราะว่า ซอ แค่บิดสายให้ตรงกับเสียงดนตรีตะวันตก ก็สามารถเล่นได้แล้ว เพราะว่าเสียงอื่นมันถูกกำหนดด้วยนิ้วของผู้เล่น 

อย่างที่ผมพูดไป ดนตรีตะวันตก แต่ก่อนใช้สิ่งที่มันเรียกว่า natural overtone แต่ว่าในปัจจุบันนี้ เสียงที่ระบบเสียงดนตรีตะวันตกที่เขาใช้กันปัจจุบันเนี่ย มันก็ไม่ได้ตรงกับ natural overtone เป๊ะ ๆ เพราะว่าตามความคิดของคนตะวันตกเนี่ย เขาคิดว่า natural overtone มันยังไม่เพราะ มันต้องกระเดียดบางเสียงไปอีกนิดหนึ่งถึงจะเพราะ ประมาณนี้ 

คือพูดง่าย ๆ แม้แต่ดนตรีตะวันตกเองเนี่ย อะไรที่เขาเรียกว่าเพราะ รสนิยมการฟังเนี่ย มันก็ไม่เหมือนกัน มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเหมือนกัน แม้กระทั่งโทนเสียง คือพูดง่าย ๆ เหมือนที่เราเรียนศิลปะมาเนี่ยครับ ศิลปะแต่ละยุคมันก็มีอะไรที่เขาเรียกว่างามต่างกัน ถูกไหมฮะ ยุคเรเนซองส์ก็จะเป็นอย่างนี้ ยุคบาโร้ค ยุคโกทิค อะไรอย่างเนี้ย ดนตรีก็เช่นกันครับ 

ความ exotic  ในหมอลำ

The People : อย่างหมอลำ ที่ต่างชาติชื่นชอบ เขาชอบจริง ๆ หรือ เพราะเขาเห็นว่ามันแปลก 

ดร. ณัฐพล : ผมว่า 2 อย่าง คือชอบเพราะว่าแปลก ใน sound ที่มันแปลก ในความที่มันเป็น exotic เสียงทำไมแปลกจัง ไม่เคยได้ยิน อะไรอย่างนี้ มันก็จะมี factor ตรงนั้น แต่ถ้าบางคนที่เขาชอบเนี่ย เขาอาจจะมองว่า วิธีการเล่นหรือในตัวเครื่องดนตรี อะไรอย่างนี้ครับ มันมีลักษณะเฉพาะ ยกตัวอย่าง แคน มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะ amazing มาก ๆ ของคนที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้ แล้วด้วยความที่ว่า ระบบเสียงเข้ากันได้อีก แล้วก็วิธีการเล่น เครื่องดนตรีอะไร เป่าก็ดัง ดูดก็ดัง แล้วก็ต้องเอานิ้วกดรู ถ้าไม่กดรู เสียงไม่ดัง ต้องเอานิ้วกดรูก่อน เสียงจะดัง คือมันค่อนข้างจะขัดกับหลักของดนตรีชาติตะวันตก ถ้าเทียบกับขลุ่ย คือเป่า พ่นลมเข้าไปในเครื่องดนตรี เสียงก็ต้องดังแล้วสิ ไอ้นี่ เป่าไปปุ๊บ เสียงไม่ดัง ต้องเอามือกดก่อน เสียงถึงดัง ทีนี้ พอเป่าหมดลมปุ๊บ จะหายใจ พอดูดลมเข้าไป เอ้า เสียงยังดังอีก อะไรอย่างนี้ครับ ด้วยกลไกของเครื่องดนตรีก็ชวนว้าวแล้ว

คือ รูไหนที่ปิด มันก็จะดัง ถ้าสังเกตดู หมอแคนเนี่ย หรือนักดนตรีที่เป่าแคน มันจะมีเสียงบางเสียงที่มันจะดังอยู่ตลอดเวลา เขาเรียกเป็นเสียงโดรน เสียงที่มันดังอยู่ตลอดเวลา ลองสังเกตดู ที่ตัวแคนเนี่ย มันจะมีอยู่ประมาณลูก สองลูกแคน จะแปะที่ก้อนสีดำ ๆ จะแปะเอาไว้ในรู เพื่อให้เสียงอันนั้นมันดังอยู่ตลอดเวลา 

The People : พอพูดถึงจุดนี้ หมอลำเนี่ย มันพัฒนาไปเป็น soft power ได้ไหม 

ดร. ณัฐพล :  หมอลำพัฒนาไปเป็น soft power ผมว่าได้นะ จริง ๆ มันก็เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่แข็งแรงมาก ๆ อยู่แล้วของเมืองไทย จากเดิมที่แบบ เป็นแค่อะไรที่มันว้าว เป็นความแปลก เป็นความ exotic ทุกวันนี้เราก็แสดงให้เห็นว่า เออ เราสามารถเอาความที่มันไม่เหมือนชาวบ้าน ที่มันเป็น exotic ไปขาย แสดงให้เขาเห็น 

อย่างเราพูดถึงวง Paradise Bangkok เราสามารถโชว์ให้เห็นถึงที่ไปที่มาหรือว่าชั้นเชิงในการเรียบเรียง sound หรือการเรียบเรียงสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นดนตรีอีสานเข้ากับสิ่งที่เราเรียกว่าอะไรที่มันเป็น global คือความอีสานมันเป็นอะไรที่เป็น local เนอะ แล้วเอามาปะทะ ประสานกับสิ่งที่มีความเป็น global 

ซึ่งพวกนี้มันเป็น groove ที่มัน global อยู่แล้ว ทีนี้พอเอา groove พวกนี้มาร้อยเรียง มาจัดระบบ จัดระเบียบเข้ากับดนตรีอีสานหรือว่าลายพิณ ลายแคนพวกนี้ครับ 

แล้วคือมันต่างจากสมัยก่อนตรงที่ว่า สมัยก่อนเนี่ย คือได้ยินแล้วมันว้าว มันแปลก แต่ว่า เขาไม่ได้ทำความเข้าใจว่า สิ่งที่เราได้ยินเนี่ย ลายพิณ ลายแคนมันทำงานยังไง เขาไม่เข้าใจว่า มันทำงานด้วยระบบลายนะ มันจะมี set ของมันอยู่ว่า set ของมันจะเล่นทำนองประมาณนี้ แต่ว่าตัวทำนองมันไม่ตายตัว มันสามารถจะเปลี่ยนไป หรือตกแต่งไปตกแต่งมาได้ สมัยก่อน เวลาเขาเอามา mix เขาก็จะ mix กัน mix ตามความเข้าใจของเขาว่า อ๋อ เสียงนี้ ฉันคิดว่ามันเป็นแบบนี้ โดยสิ่งที่คนเอามา mix เข้าใจ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่นักดนตรีอีสานเขาคิดก็ได้ แต่สมัยนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว

ในกรณีของ Paradise Bangkok  คุณปั๊มกับคุณอาร์ม มือเบสกับมือกลอง เขาค่อนข้างที่จะพยายามศึกษาว่า สิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นอีสาน มันทำยังไง ลายแคนเป็นยังไง ลายพิณเป็นยังไง อย่างบางลาย เขาเอามาดูว่า มันมีลักษณะประมาณนี้นะ ครูคำเม้ากับครูไสว จะเล่นประมาณนี้ เราต้องจับ groove ของเรายังไง เพื่อให้เข้ากับการบรรเลงของครูไสวกับครูคำเม้า มันไม่ใช่แค่การเอาผสมกัน แล้วมันก็เล่นได้เลย แต่ว่ามันต้องมีการคิด มันต้องมีการจัดระเบียบ มันต้องมีการจัดวาง ซึ่งตรงนี้ ผมเลยคิดว่า จริง ๆ ไม่ใช่แค่วง Paradise Bangkok หรอกครับ ก็มีวงอีสานหรือวงหมอลำหลาย ๆ วง เขาก็ทำอย่างนี้กันอยู่ตลอด แล้วจริง ๆ จะเอาอะไรที่เป็น soft power ก็ไม่ต้องมองไปไหนไกลหรอก คิดว่าดนตรีอีสานหรือดนตรีหมอลำเนี่ยครับ มันค่อนข้างจะมีศักยภาพที่สูงมาก ๆ 

คือต้องบอกอย่างนี้ว่า คุณอาร์มกับคุณปั๊ม (Paradise Bangkok ) เรียนดนตรีตะวันตกมา ในส่วนของครูไสวกับครูคำเม้า นี่ก็ถือว่าเป็นปรมาจารย์ทางด้านดนตรีอีสาน อย่างครูคำเม้านี่คือถ้าไปวงการพิณอีสาน พูดชื่อครูคำเม้า ก็คือแบบ No.1 ของในหมู่พิณอีสานเช่นกัน ฉะนั้น 2 ท่านนี้ แน่นอนว่า ทั้งครูคำเม้า ครูไสว ก็เรียนดนตรีมาเหมือนกัน เพียงแต่ว่า สิ่งเขาเรียน ดนตรีที่เขาเรียน มันเป็นคนละอย่างกัน อย่างที่ผมบอก มันเป็นดนตรีที่ทำมันทำงานด้วยกฎเกณฑ์คนละกฎเกณฑ์กัน ฉะนั้น พอมาเจอกันปุ๊บเนี่ย ที่น่าสนใจก็คือว่า กฎเกณฑ์ทั้ง 2 กฎเกณฑ์ พอมาเจอกัน มันต่อรองกันยังไง ใครเป็นคน adapt เข้าหา ใครเป็นคนปรับ คือมันก็ต้องปรับทั้ง 2 ทางแหละครับ สิ่งที่มันน่าสนใจก็คือว่า การปรับตัวกันระหว่างคุณปั๊มกับคุณอาร์ม กับครูไสวและครูคำเม้า แล้วมันทำให้เกิดผลที่มันได้ออกมาแบบนี้ outcome แบบนี้ มันเป็นอะไรที่มันน่าสนใจครับ 

ปัจจัยสู่ soft power

The People :  การพัฒนาไปสู่การเป็น soft power อะไรคือปัจจัยที่จะพัฒนาไปสู่จุดนั้น

ดร. ณัฐพล :  การสนับสนุนของรัฐบาลครับ เรื่องนี้ผมก็ได้ไปหาข้อมูล ไปคุยกับอาจารย์ต้นตระกูล แก้วหย่อง ที่เป็นนักดนตรีมือพิณ อยู่ ASIA7 ผมก็ถามเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ soft power เรามีสิ่งที่จะทำได้ไหม มันมีสิทธิ์จะประสบความสำเร็จไหม อาจารย์ต้นเขาก็บอกว่า มันก็มีสิทธิ์นะ แต่ว่ามันต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เปรียบเทียบกับดนตรีเกาหลีเนี่ย รัฐบาลเขาจะให้ทุนมา เขาจะมีทุนไว้ก้อนหนึ่งเลยว่า ให้ใครก็ได้ไปขอ เพื่อไปทำดนตรี ไป experiment ไปทำการทดลองดนตรี ไม่ว่าจะเป็นดนตรีแบบใดก็ตาม ดนตรีแบบที่เป็นดนตรี traditional ของเกาหลี ก็สามารถเอาไปทำ ไปทดลอง ไปอะไรอย่างนี้ได้

ซึ่งเขาไม่ได้หวังว่า ขอ 10 คน แล้วจะต้องปัง 10 คน แต่เขาหวังว่า ทุนนี้ ทำไว้ทุนใหญ่ ๆ  ขอสักพันคน สักหมื่นคน ถ้าแมสสัก 2 วงปัง ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ฉะนั้นผมไม่แน่ใจว่า หน่วยงานรัฐเรา มีความต้องการที่จะเสี่ยงลงทุนกับอะไรพวกนี้มั้ย ซึ่งมันมีความเสี่ยง ผมไม่แน่ใจว่าเขามีความกล้าที่จะสนับสนุนมากแค่ไหน เพราะที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ก็คือ เราสนับสนุนกันเอง 

วง Paradise Bangkok ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ๆ คืออยู่เมืองไทยไม่ดัง อยู่เมืองไทย คนตั้งคำถามว่า คุณทำอะไร ฟังแล้วมันไม่เห็นเป็นหมอลำ ไม่เห็นเป็นอีสานเลย แต่ต้องให้เขาไปเติบโต ได้รับความนิยมจากนานาชาติก่อน เราถึงจะ อ๋อ โอเค ฉันยอมรับแล้วว่าคุณประสบความสำเร็จ ก็เป็นเรื่องที่ถ้ามองจากมุมอุตสาหกรรมดนตรี มันโหดร้าย มันน่าเศร้า ว่า การที่ศิลปินเขาจะต้องดัง เขาไม่ถูกสนับสนุนจากคนในท้องถิ่นเดียวกัน แต่ต้องไปได้รับสแตมป์จากนานาชาติก่อน หรือกรณีของเนเน่ก็ได้ เนเน่ที่ตอนแรก debut เป็นศิลปิน idol เมืองไทย แล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ ต้อง debut ที่เมืองจีน แล้วโด่งดัง ถึงจะกลับมามีชื่อเสียงในประเทศไทยอีกทีหนึ่ง หรือ ลิซ่านี่เป็นตัวอย่างที่แบบ ชัดเจนที่สุด  คือจะบอกก็ได้ว่ารัฐไทยโหน ก็ไม่เป็นเรื่องแปลก