‘เพลิน พรหมแดน’ จาก ‘นักธรรม’ สู่ ‘ราชาเพลงพูด’

‘เพลิน พรหมแดน’ จาก ‘นักธรรม’ สู่ ‘ราชาเพลงพูด’

ชีวิตของ ‘เพลิน พรหมแดน’ นักธรรมโทที่ลาสิกขาบทออกมาทำนา ก่อนจะโด่งดังในฐานะ ‘ราชาเพลงพูด’

KEY

POINTS

  • ประวัติและแรงบันดาลใจในการร้องเพลงของ ‘เพลิน พรหมแดน’
  • เส้นทางการเป็นนักร้องลูกทุ่งของเพลิน พรหมแดน 
  • ที่มาฉายา ‘ราชาเพลงพูด’ 

‘เพลิน พรหมแดน’ หรือชื่อจริง ‘สมส่วน พรหมสว่าง’ เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ปี 2482 ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดสระแก้ว) ในครอบครัวชาวนาที่มีลูกมากถึง 8 คน เขาช่วยพ่อแม่ทำนามาตั้งแต่เด็ก และหลังจากที่เรียนจบเพียงประถม 4 ก็เดินทางเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ เพื่อบวชเป็นสามเณรที่วัดเศวตฉัตร ย่านฝั่งธนฯ จนสอบได้นักธรรมโทจึงลาสิกขาบทออกมา กลับไปช่วยพ่อแม่ทำนาที่บ้านเกิด 

สำหรับความหลงใหลในการร้องเพลงนั้น เจ้าตัวไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร เพียงแต่ชอบฟังเพลงตามประสาคนต่างจังหวัด ฟังไปฟังมาแล้วรู้สึกเพลินดี พอโตขึ้นมาหน่อยก็ได้ฟังเพลงของนักร้องรุ่นพี่อย่าง ‘สุรพล สมบัติเจริญ’ ที่มีเนื้อร้องแปลก ๆ เช่น “เราชาวนาอยู่กับควาย พอหมดงานไถ เราจูงฝูงควายเข้าบ้าน ฮึ่ย ฮึ่ย ฮึ่ย ฮึ่ย” จึงเกิดสะดุดหูแล้วจำเอาไปร้องตาม ตั้งแต่นั้นจึงชอบแนวเพลงแปลก ๆ เรื่อยมา 

เช่นเดียวกับนักร้องลูกทุ่งคนอื่น ๆ หนุ่มผู้มีนามว่าสมส่วนเที่ยวเดินสายประกวดร้องเพลงตามงานต่าง ๆ จนได้ร้องเพลงในคณะรำวงอยู่ช่วงหนึ่ง กระทั่งปี 2503 ทราบข่าวว่าหัวหน้าวงดนตรี ‘ชุมนุมศิลปิน’ ที่ชื่อ ‘จำรัส วิภาตะวัธ’ กำลังมองหานักร้องหน้าใหม่ เขาจึงลองไปสมัครดู จนได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมวง และได้ชื่อใหม่จากหัวหน้าวงว่า ‘เพลิน พรหมแดน’ และได้ร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงในเวลาต่อมา ซึ่งเพลงแรกที่เขาได้ร้องคือ ‘สมัครด่วน’ ที่เขาคิดคำพูดในเนื้อเพลงขึ้นมาเอง 


 

ร้องเพลงอยู่ในวงชุมนุมศิลปินได้ประมาณ 1 ปี เขาก็ตัดสินใจครั้งใหญ่ด้วยการออกมาตั้งวงดนตรีของตัวเองในชื่อ ‘เพลิน พรหมแดน’ มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกคือเพลง ‘ทุ่งร้างนางลืม’ ตามด้วยอีกหลายเพลง เช่น คนไม่มีดาว ชมทุ่ง อย่าลืมเมืองไทย รักติดหล่ม จากเธอที่บึงบอระเพ็ด ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นที่ถูกใจนักฟังเพลงอย่างกว้างขวาง โดยที่เพลงส่วนใหญ่นั้นเขาจะเป็นผู้แต่งและร้องเอง 

แต่ที่ทำให้เขาได้รับการขนานนามว่า ‘ราชาเพลงพูด’ มีจุดเริ่มต้นในปี 2515 ซึ่งเขาได้เริ่มร้องเพลงสลับการพูด ที่ดังมาก ๆ ได้แก่เพลง ‘ข่าวสด ๆ’ ซึ่งเป็นเนื้อเพลงตลกร้ายที่ว่าด้วยข่าวอุบัติเหตุบนท้องถนน มาพร้อมทำนองสนุกสนาน หางเครื่องหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ฉากชาวบ้านนั่งล้อมวงอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ มีเนื้อเพลงติดหูว่า “คนที่ขาถลอกตายน่าอนาถ ส่วนคนเอวขาดลุกขึ้นวิ่งไปได้ตั้งไกล” หรือท่อนที่ว่า “โชเฟอร์ตีนผีไม่คิดหนีคิดเผ่น คอขาดกระเด็น ไม่รู้ว่าเป็นหรือตาย” 

“เพลงนั้น (ข่าวด่วน) ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนเลยก็ว่าได้นะ” เพลิน พรหมแดน ให้สัมภาษณ์ในภายหลัง เพราะในช่วงก่อนหน้านั้นเขาคิดว่าตัวเองกำลังอยู่ในช่วงขาลงแล้ว หลังจากนั้นเขาก็มีผลงานเพลงออกมาเรื่อย ๆ ออกแสดงตามงานวัด งานโรงเรียน งานประจำปี หรือแม้แต่เล่นในโรงหนัง บางครั้งก็แสดงตั้งแต่กลางวันยันสว่าง เหตุที่เป็นชื่นชอบของคนดูมากขนาดนั้น เพราะบนเวทีจะมีการแสดงตลก มีการเล่นมุกเรียกเสียงฮา ไม่ได้มีแค่การร้องเพลงเพียงอย่างเดียว 

นอกจากความสามารถด้านการร้องเพลง เขายังแสดงหนังอีกหลายเรื่อง ได้แก่ ฝนใต้ ฝนเหนือ ระเริงชล แค้นไอ้เพลิน รวมถึงยังแต่งเพลงให้กับนักร้องคนอื่น ๆ และผลักดันนักร้องในวงหลายคนให้มีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น โฉมฉาย ฉัตรวิไล, สมนึก ปราโมทย์, สุริยา แสวงธรรม, ก้อง กาจกาแหง, สมศักดิ์ ศรีบางช้าง, ดวงใจ สุริยา ฯลฯ 

แต่ในขณะที่กำลังรุ่งโรจน์ เพลิน พรหมแดน กลับหันหลังให้ชื่อเสียงและเงินทองด้วยการประกาศไปต่อในช่วงเดือนเมษายน ปี 2525 โดยให้เหตุผลเรื่องสุขภาพของภรรยา ซึ่งรับหน้าที่ดูแลจัดการทุกอย่างในวง และหอบหิ้วกันไปทุกที่ แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็มีเพื่อนนักร้องมาชวนเขาไปร้องเพลงที่อเมริกา เขาตกปากยอมรับเพราะกำลังคิดถึงการร้องเพลงจับใจ พอกลับมาถึงเมืองไทยก็เริ่มไปร้องตามคาเฟ่ โดยชักชวนลูกน้องเก่า ๆ ไปร่วมแสดงด้วย แต่สุดท้ายก็เดินบนเส้นทางนี้ได้เพียง 5 – 6 ปี ก็เลิกราไป มีแวะเวียนไปทำเทปอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ปังเท่าตอนทำวงเอง ทว่าเขาก็ยังคงภาคภูมิใจที่แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน คอเพลงก็ยังคงจดจำเพลงเก่า ๆ ของเขาได้

นอกเหนือจากนั้น เพลิน พรหมแดน ยังได้แต่งบทเพลงพุทธประวัติ ซึ่งทำให้เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพระพุทธศาสนา จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมยังประกาศยกย่องให้ ‘เพลิน พรหมแดน’ เป็น ‘ศิลปินแห่งชาติ’ ประจำปี 2555 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง) ซึ่งเขาให้สัมภาษณ์ ‘คมชัดลึก’ ว่า  “ดีใจที่สิ่งที่วาดหวังไว้ได้ตามปรารถนา เป็นรางวัลสูงสุดของชีวิต…” 

ในวัย 85 ปี ‘เพลิน พรหมแดน’ ซึ่งยังคงทำงานที่รักด้วยการร้องเพลง และเริ่มบุกโลกโซเชียล ได้เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านพัก นับเป็นการปิดตำนาน ‘ราชาเพลงพูด’ ลงอย่างถาวร 

 

เรื่อง : พาฝัน ศรีเริงหล้า 
ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก เพลิน พรหมแดน 

อ้างอิง :
เปิดหัวใจ'เพลิน พรหมแดน'ศิลปินแห่งชาติ
เพลิน พรหมแดน ศิลปินแห่งชาติ (ดนตรีลูกทุ่งไทย) รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพระพุทธศาสนา มจร
คำประกาศเกียรติคุณ สมส่วน พรหมสว่าง (เพลิน พรหมแดน) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง)
เพลิน พรหมแดน