07 ส.ค. 2567 | 17:00 น.
KEY
POINTS
เรื่องราวในตำนานเมื่อ ‘ฟิล คอลลินส์’ (Phil Collins) นักดนตรีหนุ่มว่าที่มือกลองวง Genesis ได้รับเชิญไปร่วมบรรเลงใน ‘จอร์จ แฮร์ริสัน’ (George Harrison) ใน All Things Must Pass งานเดี่ยวของ The Beatles ผู้เงียบขรึม ก่อนเรื่องจะจบอย่างซับซ้อนพลิกผันสุดจะคาดเดา
ปี 1970 เด็กหนุ่ม ‘ฟิล คอลลินส์’ (Phil Collins) วัย 19 ปี หมายมั่นปั้นใจไว้แล้วว่าชาตินี้เขาต้องเอาดีทางการเป็นมือกลองให้ได้ แต่เขาก็ยังไม่มีที่ทางในวงการดนตรีเป็นเรื่องเป็นราว ช่วงนั้นฟิลใช้ชีวิตด้วยการนอนดูรายการ Top of the Pops ทางทีวีไปวัน ๆ
ฟิลเคยทำงานร่วมกับนักแต่งเพลง ‘เคน ฮาวเวิร์ด’ (Ken Howard) และ ‘อลัน เบลคลีย์’ (Alan Blakley) มาก่อน และก็ต้องถือว่าฟิลเป็นศิลปินคนสำคัญคนหนึ่งของสองคนนี้ เคนและอลันรู้จักกระทาชายนายหนึ่งนาม ‘มาร์ติน’ ผู้ซึ่งบังเอิญเป็นคนขับรถของอดีตมือกลองผู้ยิ่งใหญ่ของ The Beatles — ริงโก้ สตาร์ (Ringo Starr) วันหนึ่งมาร์ตินถามอลันว่า พอจะรู้จักเพอร์คัสชั่นนิสต์ (นักเล่นเครื่องเคาะจังหวะ) สักคนไหม นั่นทำให้อลันนึกถึงฟิลขึ้นมาทันที เขาจึงได้โทรหาฟิลและถามว่าคืนนี้พอจะว่างไหม และให้ลืม Top of the Pops ไปก่อน
“นายอยากจะไปเล่นอะไรซักหน่อยที่ Abbey Road ไหมล่ะ?”
อลันเอ่ยถามแบบเข้าประเด็น
อลันไม่ได้บอกรายละเอียดอะไรแก่ฟิล แต่แค่คำว่า Abbey Road ก็เพียงพอแล้วสำหรับฟิล มันไม่สำคัญเลยว่าเขาจะไปเจอเต่าทองคนไหน (ถ้าได้เจอ) ณ เวลานั้นเป็นช่วงที่ ‘พอล แมคคาร์ตนีย์’ (Paul McCartney) เพิ่งประกาศว่าเขาออกจากวงและออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรก ส่วนอัลบั้มสุดท้ายของ Beatles อย่าง Let It Be ก็ยังอุ่น ๆ อยู่ในร้านแผ่นเสียง ผู้คนล้วนสนทนาและถกเถียงกันอย่างออกรสว่างานเดี่ยวชุดแรกจากพวกเขาจะออกมาเป็นอย่างไรกันบ้าง
นี่เป็นโอกาสอันงดงามที่สุดในชีวิตของฟิล คอลลินส์ ที่เขาจะได้โชว์ฝีมือกลองให้ศิลปินที่ดีพอที่จะเล่นที่ Abbey Road นี่คือโอกาสที่เขาจะได้งาน
“กี่โมงล่ะเพื่อน” ฟิลตอบด้วยคำถาม
ด้วยชุดสุดหล่อของไอ้หนุ่มผมยาววัย 19 - เสื้อยืดกางเกงยีนส์ ฟิลโบกแท็กซี่แล้วบอกคนขับด้วยความภาคภูมิ
“ไปแอบบี้โร้ดครับ!”
เมื่อไปถึง Abbey Road คุณมาร์ตินก็ยืนรอเขาอยู่แล้วที่หน้าประตู
“มาเร็วสิพ่อหนุ่ม เรากำลังรอนายอยู่เลย” มาร์ตินกล่าว
ใครคือ ‘เรา’ และฟิล คอลลินส์ สำคัญขนาดที่พวกเขาต้องรอเลยหรือ เด็กหนุ่มคิด มาร์ตินพาฟิลเดินเข้าไปและชวนคุยไปด้วย “พวกเขาหมดเงินกันไปเป็นพันปอนด์แล้ว อยู่กันมาสี่สัปดาห์แต่ยังอัดเสียงอะไรไม่ได้ซักอย่าง”
ฟิลเดินเข้าไปในสตูดิโอหมายเลขสองอันลือลั่น พวกเขากำลังจะถ่ายรูปหมู่กันอยู่ ฟิลรู้จักแทบทุกคนในนั้น ‘จอร์จ แฮร์ริสัน’ (George Harrison) ในลุคผมยาวสลวย, ริงโก้ สตาร์, ฟิล สเป็กเตอร์ (Phil Spector) อัครมหาโปรดิวเซอร์, มาล อีแวนส์ (Mal Evans) ผู้จัดการทัวร์ในตำนานของ Beatles, บิลลี่ เพรสตัน (Billy Preston) ออร์แกนนิสต์มือฉมัง, สมาชิกสองคนของ Badfinger, มือเบส เคลาส์ วัวร์มันน์ (Klaus Voormann), ปีเตอร์ เดรค (Pete Drake) มือสตีล และสองเอ็นจิเนียร์ของ Beatles : เคน สก็อตต์ (Ken Scott) และ ฟิล แมคโดนัลด์ (Phil McDonald)
George Harrison (Getty Images)
ฟิลมองไม่เห็น จิงเกอร์ เบเกอร์ (Ginger Baker) ในวันนั้น และภายหลังเขามาทราบว่า เอริก แคลปตัน (Eric Clapton) เพิ่งกลับบ้านไปหยก ๆ
ฟิลสรุปเรื่องราวได้อย่างรวดเร็ว จอร์จ แฮร์ริสัน ‘เต่าทองผู้เงียบขรึม’ กำลังบันทึกเสียงอัลบั้มเปิดตัวอย่างเป็นทางการของเขาและฟิลกำลังจะได้มีส่วนร่วมกับมันด้วย คนอื่น ๆ มองมาด้วยสายตาสงสัยว่าไอ้หนุ่มผมยาวคนนี้คือใคร โชเฟอร์มาร์ตินช่วยตอบให้
“มาแล้วครับ เพอร์คัสชั่นนิสต์ของเรา”
ฟิลยังไม่แน่ใจว่าจะให้เขามาทำอะไรที่นี่ แต่คำว่า เพอร์คัสชั่นนิสต์ ก็ฟังดูไม่เลวร้ายนัก แม้ว่าเขาจะไม่คิดว่าตัวเองเป็น เขาคือมือกลองมากกว่า จอร์จเดินเข้ามาหาฟิลและทักทาย “เสียใจด้วยนะไอ้หนู” จอร์จเอ่ยด้วยน้ำเสียงสเกาเซอร์ “นายไม่ได้อยู่ที่นี่นานพอที่จะได้อยู่ในรูป” ฟิลหัวเราะด้วยความประหม่าและอายนิด ๆ โธ่ แค่ได้มาเล่นนี่ก็ดีใจจะแย่แล้ว เขาคิดดัง ๆ ในใจ
หนุ่มฟิลในชุดกางเกงยีนส์ขาบาน, เต็มไปด้วยความมั่นใจในฝีมือตนเอง แต่เขาก็ไม่ได้กร่างอะไร เขารู้ว่าหน้าที่หลักในวันนี้คือต้องทำให้แก๊งนี้ประทับใจและเล่นเพอร์คัสชั่นให้ได้ดีที่สุด มันเป็นทักษะที่ไม่เกี่ยวอะไรกับการเล่นกลองสักเท่าไรเลยถ้าจะว่าไป เพอร์คัสชั่นมีความหมายกว้างมาก มันอาจเป็น คองก้า บองโก้ แทมโบรีน หรืออะไรอื่น ๆ อีกเยอะ และทุกอย่างก็มีศิลปะในการเล่นแตกต่างกันออกไป
บรรยากาศใน Abbey Road วันนั้นค่อนข้างผ่อนคลาย ไม่มีพนักงาน EMI ในชุดกาวน์ขาวเดินกันว่อน และฟิลก็ไม่ได้กลิ่นคนสูบอะไรแปลก ๆ ด้วย
หลังจากถ่ายภาพหมู่กันเสร็จ ทุกคนก็เข้าประจำที่ของตัวเอง มีคนนำฟิลขึ้นไปที่ห้องคอนโทรล ห้องเดียวกับที่ จอร์จ มาร์ติน (George Martin) นั่งตอนถ่ายทอดสดรายการ Our World เมื่อปี 1967 ตอน The Beatles เล่น All You Need Is Love ให้คนดู 400 ล้านคนทั่วโลกนั่นแหละ แต่วันนี้ที่เก้าอี้โปรดิวเซอร์ไม่ใช่มาร์ติน แต่เป็นฟิล สเป็กเตอร์ มีคนแนะนำให้ทั้งสองรู้จักกัน เขาดูสุภาพดี แต่แทบไม่พูดอะไร แว่นกันแดดสีดำประทับอยู่ที่ใบหน้าตลอด และยังดีที่วันนั้นเขาไม่ได้พกปืน
เดินลงบันไดมาฟิลก็ได้เจอ มาล อีแวนส์ ในลุคผมทรงเต่าทองรุ่นแรกและแว่นหนาใหญ่อันเป็นเอกลักษณ์ มาลชี้ไปที่เครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง
“นั่นคือคองก้าของนาย ไอ้หนุ่ม
อยู่ข้าง ๆ กลองของริงโก้นั่นแหละ”
ฟิลมองไปที่กลองชุดนั้น เขาอยากสัมผัสมันเหลือเกิน เหลือบมองไปเห็นผ้าเช็ดตัววางไว้ที่สแนร์ อ้อ นี่คือเทคนิคของริงโก้ในการทำให้เสียงกลองนุ่มลึก
ฟิล คอลลินส์ มั่นใจเสมอว่าผลงานของริงโก้ สตาร์ในการตีกลองให้กับ The Beatles นั้นมันมหัศจรรย์มาก ไม่ว่าคนอื่น ๆ จะพยายามแซะว่าเขาไม่ได้เรื่องยังไงก็ตาม ริงโก้เป็นมือกลองที่ใช้ความรู้สึกล้วน ๆ แต่มันไม่ใช่ความฟลุค มันคือฝีมือ หลายปีต่อมาฟิลได้คุยกับริงโก้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เขาจึงได้มีโอกาสระบายความในใจว่าเขาเป็นแฟนตัวจริงของริงโก้แค่ไหน แต่ในช่วงนั้น ใคร ๆ ก็โจมตีริงโก้ เช่น บัดดี้ ริช (Buddy Rich) ยอดมือกลอง แม้แต่ จอห์น เลนนอน (John Lennon) เองก็ยังแซวแรง ๆ ว่าริงโก้ไม่ใช่มือกลองที่ดีที่สุดในวง Beatles ด้วยซ้ำไป (ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญด้านบีทเทิลวิทยาระบุว่า ไม่มีหลักฐานว่าจอห์น เคยพูดแบบนั้น - ผู้เขียน)
ฟิลเคยอ่านบทสัมภาษณ์ในนิตยสาร Modern Drummer ฉบับหนึ่งที่ริงโก้โต้ตอบการที่มีคนเรียกลูก fill ของเขาว่า “ลูกส่งเล็ก ๆ ขำ ๆ ในแบบริงโก้” มันทำให้ริงโก้ฉุนขาด และตอบไปว่า “มันไม่ใช่การส่งกลองขำ ๆ แต่มันเป็นลูกฟิลที่จริงจัง (นะโว้ย)”
ฟิลยกตัวอย่าง A Day In The Life ที่เต็มไปด้วยการตีกลองอันซับซ้อนและไม่ปกติในหลาย ๆ มิติ แต่ริงโก้ทำออกมาเหมือนมันเป็นเรื่องง่ายดายเหลือเกิน
กลับมาที่ Abbey Road มันคือคืนวันพฤหัสในช่วงต้นฤดูร้อนของปี 1970 ฟิลยืนอยู่หน้าคองก้า ริงโก้นั่งอยู่ด้านขวาของเขา ด้านซ้ายคือ บิลลี่ เพรสตัน และไกลออกไป นั่นคือจอร์จและเคลาส์ยืนอยู่ พวกเขากำลังจะบันทึกเสียงเพลงชื่อ ‘Art of Dying’
ตามหลักฟิลควรจะได้ฟังเพลงนี้สักรอบนึงก่อน หรือไม่ก็ได้โน้ตมาดูว่าจะให้ตีตอนไหน แต่มันไม่เกิดอะไรแบบนั้น จอร์จไม่ได้บอกอะไรเขา เขาดูเหมือนจะยุ่งอยู่กับเรื่องของตัวเอง และสิ่งแรกที่ฟิลได้ยินคือ
“One, two ,three, four!”
เทคแรกฟิลก็สร้างความผิดพลาดเสียแล้ว และน่าเศร้าว่ามันไม่ใช่ความผิดพลาดสุดท้ายของเขาในคืนนั้น ฟิลเครียดจัดจนต้องเอ่ยปากขอบุหรี่จากบิลลี่ เพรสตันมาอัดเข้าปอด (ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นเขาแทบไม่สูบบุหรี่แล้ว) และจากนั้นเขาก็สูบบุหรี่มวนต่อมวนตลอดคืน บางทีเขาก็ขอจากริงโก้ด้วย จนสุดท้ายบิลลี่ต้องมองมาด้วยสายตาประมาณ “มึงไม่คิดจะซื้อเองเลยใช่ไหม?”
เวลาผ่านไป เทคแล้วเทคเล่าผ่านไป ฟิลก็ฟาดคองโก้ไป เขาใส่หูฟังอยู่และได้ยินเสียงฟิล สเป็กเตอร์
“โอเค เรามาฟังเฉพาะเสียงกีตาร์ เบส และกลองเท่านั้น.... เอาล่ะทีนี้เอาแค่เบส คีย์บอร์ด และกลอง....”
ฟิลไม่แน่ใจว่าเขาควรจะเล่นตอนไหน แต่เพื่อความปลอดภัยทุกครั้งที่เขาได้ยินคำว่า ‘กลอง’ จากสเป็กเตอร์ ฟิลก็จะตีคองก้าไปทันที และด้วยความที่เขาไม่ใช่นักเพอร์คัสชั่นแท้ ๆ จึงเป็นไปได้ที่เขาน่าจะเล่น ‘เยอะ’ เกินไป ผ่านไป 1 ชั่วโมง มือของฟิลก็เริ่มบวมแดงและพอง หลายปีต่อมาเขาได้เห็นเหตุการณ์แบบนี้ในเซสชั่นกับเอลตัน จอห์น (Elton John) และคนตีคองก้าคือ เรย์ คูเปอร์ ผู้ยิ่งใหญ่ แกฟาดไม่คิดชีวิตจนเลือดสาดไปทั่วกำแพง ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเอลตันถึงรักเรย์นัก
ผ่านไป 12 เทค ยังไม่มีใครบอกให้ฟิลเล่นอะไรเป็นพิเศษ เขาก็เลยตีคองก้าไปเรื่อยตามที่เขารู้สึกว่ามันเหมาะสม เขาเล่นไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ เรื่อย ๆ ไม่มีสัญญาณตอบรับ อะไรจากฟิล สเป็กเตอร์
โชเฟอร์มาร์ตินเดินเข้ามาถามว่าฟิลเป็นยังไงมั่ง เขาตอบว่าเจ๋งไปเลย และขอบุหรี่อีก 1 ตัว และสุดท้ายหลังจากเล่นเพลง Art of Dying กันจนนับเทคไม่ไหวแล้ว ฟิลก็ได้ยินเสียงจากสเป็กเตอร์ “โอเคพวกเรา เอ้า นายคองก้า - รอบต่อไปนี้นายตีด้วยนะ”
ฟิลมองมือที่บวมเป่งของตัวเองและสมองที่มึนงงจากการอัดบุหรี่ไม่หยุดหย่อน “สเป็กเตอร์ มึงเล่นกูแล้ว กูฟาดซะมือแทบพัง แต่มึงยังไม่ได้ฟังกูซักแอะ”
ฟิลกล่าว เอ๊ย คิดในใจ
Phil Collins, 1977 (Getty Images)
บิลลี่ เพรสตัน และ ริงโก้ สตาร์ ที่อยู่เคียงข้างฟิล ถึงกับปล่อยก๊าก แต่ฟิลก็เห็นได้ว่าทั้งสองคนก็เห็นใจไอ้หนุ่มคองก้าคนนี้อยู่ แต่อย่างน้อยนั่นก็ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น พวกเขาเล่นกันอีกไม่กี่เทคและจู่ ๆ ทุกคนก็หายไปกันหมด ฟิลออกมาโทรศัพท์หา ลาวิเนีย แฟนสาวด้วยความดีใจ “เธอต้องไม่มีทางเดาได้แน่ว่าฉันอยู่ที่ไหน Abbey Road! กับ The Beatles!” ถึงตรงนั้นฟิลไม่ได้ใส่ใจกับมือที่บวมเละเทะแต่อย่างใด มันมีแต่ความภูมิใจสุด ๆ ที่ได้เล่นดนตรีกับ Beatles (แม้จะแค่สองคนก็เถอะ)
เมื่อฟิลกลับเข้าไปในห้องอัดอีกครั้งก็ไม่เจอใครอีกแล้ว เหลือแต่โชเฟอร์มาร์ตินคนเดิม ที่บอกเขาว่า เอาล่ะงานคืนนี้จบแล้ว คนอื่น ๆ ไปดูฟุตบอลกันหมดแล้วล่ะ และเขาก็เรียกแท็กซี่ให้ฟิล
สองสัปดาห์ต่อมาฟิลได้รับเช็ค 15 ปอนด์จาก EMI ในเช็คระบุว่าจากงานที่ฟิลทำให้มิสเตอร์ จอร์จ แฮร์ริสัน ในการบันทึกเสียงอัลบั้ม ‘All Things Must Pass’ ฟิลอยากจะเก็บมันเข้ากรอบติดฝาบ้านเสียเหลือเกิน ถ้าเขาไม่ได้ร้อนเงินขนาดหนัก
ฟิลสั่งจอง All Things Must Pass ที่ร้านแผ่นเสียงใกล้บ้านด้วยความปลื้มปีติ เขาอาจจะพูดด้วยซ้ำว่า
“ผมเล่นในอัลบั้มนี้ด้วยนะว้อย คุณรู้หรือเปล่า”
ฟิลต้องรอจนถึงเดือนพฤศจิกายน ร้านแผ่นเสียงจึงโทรมาบอกว่าแผ่น All Things Must Pass ที่คุณสั่งจองมาถึงแล้ว เขารีบเร่งกระโดดขึ้นรถเมล์ไปรับมันมาทันที อะไรจะสวยงามขนาดนี้ บ็อกเซ็ตสามแผ่น เมื่อแผ่นอยู่ในมือ เขาอดคิดไม่ได้ว่า “ในนี้...คือตัวฉัน...ในแผ่นเสียงของบีทเทิล”
เขากวาดสายตาดูรายชื่อนักดนตรีก่อนที่จะแกะฟัง Klaus Voormann.... Ginger Baker.... Billy Preston.... Ringo Starr.... มีชื่อทุกคน สะกดถูกต้องเป๊ะ แต่ไม่มีชื่อ Phil Collins ต้องมีอะไรผิดพลาดแน่ ๆ มันทำให้ฟิลคอตกด้วยความผิดหวังอย่างแรง
แต่ไม่เป็นไร ถึงแม้จะไม่มีชื่อบนปก อย่างน้อยก็มีฝีมือของเขาในร่องแผ่นเสียง
กระนั้นเมื่อได้ฟัง Art of Dying ยังไม่ทันจบเพลง ฟิลก็รู้ว่าไม่มีฝีมือคองก้าของเขาในแทร็คนั้น มันเป็นคนละเวอร์ชั่นกับที่เขาเล่นด้วยซ้ำไป ในตอนนั้นฟิลยังไม่เข้าใจแนวคิดของการมีหลาย ๆ เวอร์ขั่นในเพลงเดียวกัน แล้วเลือกเวอร์ชั่นที่ศิลปินและโปรดิวเซอร์คิดว่าดีที่สุดมาใช้ ซึ่งความจริงแล้วเป็นสิ่งที่ฟิล สเป็กเตอร์ทำเป็นประจำ
ฟิล คอลลินส์ เหมือนกที่โบยบินสูงแล้วถูกยิงร่วงลงมาจากฟากฟ้า เขานึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ในปี 1964 ที่เขาได้มีโอกาสเข้าฉากสำคัญในหนัง A Hard Day's Night ของ The Beatles แต่สุดท้ายในหนังก็ไม่มีหน้าของเขาโผล่มาแม้แต่วินาทีเดียว นี่เขาไปทำอะไรให้ The Beatles แค้นเคืองนักหรือในชาติปางก่อน?
เมื่อเวลาผ่านไป ฟิลก็ได้ข้อสรุป ฟิล สเป็กเตอร์ หรือ จอร์จเอง คงไม่พอใจกับ ภาพรวมของเพลงนี้ เลยเรียบเรียงและเล่นกันใหม่ ซึ่งแน่นอน, ไม่มีนักคองก้าคนนี้อยู่ด้วย และเขาคือ จอร์จ แฮร์ริสัน, บีทเทิลผู้เงียบขรึม เขาไม่ได้มีสมญานามแบบนั้นโดยไม่มีเหตุผล ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จอร์จไม่ได้บอกอะไรฟิล…
ฟิล คอลลินส์ได้เจอจอร์จ แฮร์ริสัน ครั้งต่อมาในปี 1982 ซึ่งขณะนั้นฟิลยกระดับตัวเองเป็นร็อคสตาร์ชื่อดังคนหนึ่งแล้ว จอร์จได้รับเชิญให้มาเล่นกีต้าร์ในอัลบั้ม Lead Me to the Water ของ แกรี่ บรุคเกอร์ (Gary Brooker) ฟิลกล่าวทักทายว่า จริง ๆ แล้ว เราเคยเจอกันมาทีนึงแล้วเมื่อ 12 ปีก่อน แล้วเขาก็เล่าเรื่องตอนไปร่วมบันทึกเสียง All Things Must Pass ให้จอร์จฟัง
“จริง ๆ เหรอฟิล? ผมจำอะไรไม่ได้เลยว่ะ” จอร์จตอบ
นั่นทำให้ฟิลชอกช้ำหนักเข้าไปอีก แต่อย่างน้อยก็มีสิ่งดี ๆในการสนทนา ตอนนั้นมีข่าวลือว่าฟิลจะไปร่วมงานกับ Wings วงของพอล แมคคาร์ตนีย์ ในฐานะมือกลอง จอร์จรีบแนะนำฟิลว่า จะไปอยู่วงนั้นทำไม อยากไปเป็นมือกลองคนที่ห้าในวิงส์เหรอ มันแย่กว่าตายอีกนะ
อย่างไรก็ตาม ฟิลก็ยังคาใจ อะไรทำให้เขาถูกลบออกจาก All Things Must Pass เขาไม่ดีพอหรือ?
เขามาเจอจอร์จอีกครั้งในงานวันเกิดของนักแข่งรถ แจ็คกี สจ๊วต (JackieStewart) ในช่วงปลายทศวรรษ 90's และฟิลก็อดถามจอร์จอีกไม่ได้ในเรื่องเดิม และไม่ต้องสงสัย คำตอบก็เหมือนเดิม จอร์จจำอะไรไม่ได้เลย ณ จุดนี้ ฟิลควรจะทำตามชื่ออัลบั้มและปล่อยวางได้แล้ว (All Things Must Pass) แต่....
ปีต่อมา มีคอลัมนิสต์ดนตรีคนหนึ่งถามฟิลว่า เขาเล่นใน All Things Must Pass ด้วยใช่ไหม ฟิลตอบไปว่า “เอ่อ... เรื่องมันยาวนะ”
คอลัมนิสต์คนนั้น: “คุณรู้ไหมว่าจอร์จกำลังรีมิกซ์มันอยู่ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ผมรู้จักจอร์จนะ ไว้จะลองถามให้ว่าเขาจะหาคุณเจอไหม” (หมายถึงหาเทปที่บันทึกเสียงการกระหน่ำคองก้าของฟิลในวันนั้น)
มันทำให้ฟิลมีความหวังขึ้นมาอีก อย่างน้อยเขาก็อาจจะได้เทปที่เขาเล่นมาเก็บไว้ ได้ฟังว่าเขาเล่นดีหรือห่วยแค่ไหน ไม่นานจากนั้นก็มีพัสดุส่งมาที่บ้านฟิล มันคือเทปคาสเซ็ตต์ และมันคือลายมือของจอร์จ แฮริสัน เขียนไว้ว่า
“ฟิลที่รัก, นี่ใช่คุณหรือเปล่า? รัก, จอร์จ”
ในที่สุดฝันของเขาก็เป็นจริง ฟิลไม่ได้ฟังเทปนั้นทันที เขาเตรียมใจอยู่พักใหญ่ และสุดท้ายก็เลือกที่จะฟังมันแบบอลังการในสตูดิโอที่บ้านของเขา ใส่คาสเซ็ตต์เข้าเครื่อง กดปุ่มเพลย์ด้วยใจระทึก
บา-ดา-แดด-ดูม!
เสียงคองก้าระเบิดสนั่นออกมาจากลำโพงทันที คนที่พอจะฟังเพลงเป็นบ้าง ฟังนิดเดียวก็จะรู้ว่านั่นเป็นการตีคองก้าที่มั่วซั่วไม่มีจังหวะอย่างที่สุด มันก็ไม่ถึงกับว่าไอ้เด็กหนุ่มไฮเปอร์คนนั้นจะตีคองก้าไปตลอดเวลาหรอกนะ แต่เขา ‘เยอะ’ เสียจนไม่น่าแปลกใจที่จอร์จหรือสเป็กเตอร์จะมองหน้ากันแล้วประสานเสียงว่า
“กำจัดไอ้หมอนั่นออกไปซะ!”
ฟิลถึงกับช็อค เขาจำไม่ได้จริง ๆ ว่าเขาตีได้ห่วยขนาดนั้น มันวุ่นวาย ไฮเปอร์ และเป็นมือสมัครเล่นมาก ๆ ชัดเจนว่ามันไม่ถึงมาตรฐานของท่านแฮร์ริสันและสเป็กเตอร์แน่ ๆ
ฟิลทนฟังจนจบ และตอนท้ายมีเสียงมาจากไกล ๆ มันเป็นเสียงของจอร์จพูดกับฟิล สเป็กเตอร์
“ฟิล? ฟิล? นายว่าเราจะลองเล่นกันอีกทีดีไหม
โดยไม่ต้องมีคนเล่นคองก้า?”
ฟิลกรอเทปฟัง 4 รอบ และเขาก็ได้ยินมันเหมือนเดิม
ในที่สุด ในที่สุด ความจริงก็ปรากฏ หลายปีที่ผ่านมาฟิลพยายามปลอบตัวเองว่าเป็นเพราะพวกเขาจะเปลี่ยนแนวดนตรีของเพลงนี้ใหม่เลยไม่มีเสียงคองก้าของเขา แต่ความจริงก็คือ เขาถูกไล่ออก วันนั้นพวกเขาไม่ได้ไปดูบอลหรือแอบไปเล่นยาอะไร พวกเขาแค่หลบไปแล้วรอให้ฟิลกลับบ้านเท่านั้น ปล่อยให้โชเฟอร์มาร์ตินทำหน้าที่ส่งแขก
ไม่กี่วันต่อมา แจ็คกี้ สจ๊วต โทรมาหาฟิล
“เฮ้ ฟิลเป็นไงมั่ง แหม นึกว่าจะได้เจอนายในคอนเสิร์ตทริบิวต์จอห์น เลนนอนที่ Royal Albert Hall วันก่อนซะอีก”
“มันมีคอนเสิร์ตด้วยเหรอ ผมไม่รู้เรื่องเลย” ฟิลตอบ
“ช่ายยยย มันเป็นคืนที่ยิ่งใหญ่ มือกลองไปกันเยอะเลยนะ”
“จริงง่ะ”
“จริงสิ นักคองก้าก็ไปกันเพียบ”
ฟิลเริ่มงง นี่เซอร์ แจ็คกี้ ตำนานนักแข่งรถมาสนใจอะไรกับนักคองก้าตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่แจ็คกี้ก็พูดต่อ
“เออนี่ มีเพื่อนนายคนนึงอยากคุยด้วยน่ะ” แจ็คกี้ส่งโทรศัพท์ให้จอร์จ แฮร์ริสัน ผู้หลงใหลในกีฬาแข่งรถเช่นกัน
“ไง ฟิล เป็นไง ได้เทปหรือยัง” จอร์จทักทายเสียงใส 30 ปีแห่งความเคียดแค้นของฟิลปะทุออกมาทันที
“ไอ้บ้าจอร์จ!”
“หา? ทำไมเหรอ?”
“สามสิบปีที่ผ่านมา ฉันมีเวอร์ชั่นของตัวเองในสมองสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในคืนนั้น และทำไมฉันถึงตัองถูกตัดออกจาก All Things Must Pass แต่ตอนนี้ฉันรู้แล้วว่าฉันมันแย่เสียจนนายและไอ้ห่าฟิล สเป็กเตอร์ต้องถีบฉันออก”
จอร์จหัวเราะ
“ไม่ใช่อย่างน้านนน เราเพิ่งทำเทปนั่นกันเมื่อวันก่อน”
“หา นายหมายความว่ายังไง?”
“วันนั้น เรย์ คูเปอร์ (Ray Cooper) มาช่วยฉันรีมิกซ์อัลบั้ม ฉันเลยบอกเขาว่าช่วยตีคองก้าให้ห่วยแตกสุด ๆ ให้หน่อย เราจะทำได้ทำเทคพิเศษให้นายโดยเฉพาะ!"
จอร์จไม่เคยบอกฟิลว่าเกิดอะไรขึ้นกับเทคที่ฟิลเล่น Art of Dying จริง ๆ สำหรับจอร์จ แฮร์ริสัน มันก็เป็นแค่คืน ๆ หนึ่ง มันมีเรื่องราวมากมายในชีวิตของ Beatle ที่ไม่แปลกอะไรที่เขาจะลืมมันไปเสียเกือบหมด
ใน booklet ของ All Things Must Pass ฉบับครบรอบ 30 ปี ที่ออกมาก่อนจอร์จเสียชีวิตเจ็ดเดือน (มีนาคม 2001) จอร์จเขียนไว้ว่า
“ผมจำไม่ได้หรอก แต่ความจริงแล้ว
เด็กหนุ่ม ฟิล คอลลินส์ อยู่ที่นั่นด้วย”
จอร์จส่งแผ่นรีมิกซ์นี้มาให้ฟิลด้วย มันสุดยอด แต่ฟิลก็อดคิดขำ ๆ ไม่ได้ว่า มันคงจะสุดยอดกว่านี้อีกถ้ามีเวอร์ชั่นคองก้าบ้าพลังของเขาอยู่ในนั้น
ทุกวันนี้ฟิลยังเก็บเทปคองก้าฉบับสุดฮานั้นไว้เป็นอย่างดี มันเป็นการ prank ที่จะคิดได้จากสมองของศิลปินอารมณ์ขันลึกซึ้งเท่านั้น... ไอ้บ้าจอร์จเอ๊ย....
ภาพ : Getty images และปกอัลบั้ม All Things Must Pass
อ้างอิง : หนังสืออัตชีวประวัติของ Phil Collins - Not Dead Yet