10 ส.ค. 2567 | 13:23 น.
“เราได้เป็นกำลังใจ ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับอีกหลาย ๆ ชีวิต ต่ายว่ามันเยอะมาก ในความหมายที่อยู่ในเพลง’
‘ต่าย อรทัย’ นักร้องลูกทุ่งขวัญใจมหาชน กล่าวด้วยความภาคภูมิใจเมื่อได้ทำหน้าที่บอกเล่าเส้นทางชีวิตของ ‘ลูกอีสาน’ ผ่านผลงานใหม่ที่ชื่อว่า ‘ผู้หญิงหัวใจอีสาน’
“เราสู้หัวชนฝาอยู่แล้ว ต่อให้ชีวิตเราไม่มีคำตอบอะไรใด ๆ หรือจะไม่มีใครให้กำลังใจ ไม่มีใครบอกเราได้ว่าสิ่งที่เราสู้อยู่ ทำอยู่เนี่ย มันจะไปได้ดีไหม หรือมันควรถอย หรือมันควรยังไงก็ตาม”
จาก ‘สาวดอกหญ้า’ ในวันวาน ณ วันนี้ ‘ต่าย อรทัย’ เติบโตมาเป็น ‘ราชินีดอกหญ้า’ อย่างสง่างาม หลังฝ่าฟันสังเวียนชีวิตมานับไม่ถ้วน ด้วยความหวังที่เปี่ยมล้นว่า ‘อาชีพนักร้อง’ จะทำให้เธอและครอบครัวลืมตาอ้าปากได้
อะไรที่ทำให้ ‘ผู้หญิงหัวใจอีสาน’ คนนี้ มิอาจยอมจำนนต่อโชคชะตา และ ‘จังหวะชีวิต’ ได้ทำให้เส้นทางอาชีพที่กำลังมืดมนของเธอ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ติดตามได้จากบทสนทนานี้
The People : ตอนได้ยินคนเรียกว่า ‘สาวดอกหญ้า’ พี่ต่ายรู้สึกอย่างไร
ต่าย อรทัย : ปกติศิลปิน พิธีกร โฆษก เวลาเขาจะพูดนำเข้า เชิญขึ้นบนเวที เขาก็จะมีฉายานู่นนี่นั่นเนอะ เราเป็นศิลปินเราก็ไม่รู้หรอกว่าวันนี้เราจะมีฉายานี้ จุดเริ่มต้นเลยน่าจะมาจากเพลง ‘ดอกหญ้าในป่าปูน’ ซึ่งก็เป็นชื่อเพลงด้วย ชื่ออัลบั้มด้วย แล้วก็เป็นเพลงที่บ่งบอกความเป็นพี่ต่ายชัดเจนมาก เพราะว่าเป็นเพลงที่ครูสลา คุณวุฒิ นำเรื่องราวมาเขียน มาถ่ายทอด แล้วก็รวมกับชีวิตของคนอื่น ๆ อีกหลาย ๆ คน อยากให้เราเป็นตัวแทนของสาวสู้ชีวิต แล้วทางผู้หลักผู้ใหญ่ในค่ายด้วยนะคะ ก็มีชื่อนี้เขียนออกไปด้วย ซึ่งพิธีกรหรือโฆษกต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ เรียกกันไปเรื่อย ๆ ขนานนามก่อนขึ้นบนเวทีว่า พบกับ ‘สาวดอกหญ้า’ ต่าย อรทัย มันก็ค่อย ๆ เป็นมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันค่ะ
The People : ทีนี้จาก ‘สาวดอกหญ้า’ มาเป็น ‘ราชินีดอกหญ้า’ ความรู้สึกแตกต่างกันอย่างไร
ต่าย อรทัย : เราก็ภูมิใจเนอะ เราก็รู้สึกขอบคุณค่ะ มันมีความรู้สึกว่า เออ มันดูเราโตขึ้น เราได้รับความนิยมขึ้น เราเป็นต้นแบบมากขึ้น เรียกอย่างนี้ดีกว่า คำว่า ‘ราชินี’ ในความรู้สึกของต่าย คนรู้สึกแบบเดียวกันไหมไม่รู้นะ แต่เรารู้สึกว่าคำนี้มันใหญ่มาก แล้วมันดูสูงมาก ก็คือประเมินค่าไม่ได้ แล้วเราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่คำเรียก มันเหมือนกับหลาย ๆ คนให้เราเป็นต้นแบบหลาย ๆ ด้านในเรื่องของเส้นทางเพลงลูกทุ่ง พี่ต่ายเดินมายังไง ใช้ชีวิตแบบไหน ทำยังไงถึงอยู่ตรงนี้ได้นาน มันแฝงอะไรหลาย ๆ อย่างอยู่ในคำนี้ค่ะ
The People : อยากให้พี่ต่ายเล่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่จังหวัดอุบลราชธานี พี่ต่ายมีความสุขหรือผูกพันกับการร้องเพลงอย่างไรบ้าง
ต่าย อรทัย : จริง ๆ เพลงเนี่ย เราก็ไม่รู้ว่ามันอยู่ในชีวิตของเราตั้งแต่ตอนไหนเนอะ แต่ส่วนใหญ่แล้ว พ่อแม่พี่น้องชาวอีสาน ลูกชาวไร่ชาวนา เวลาไปทำไร่ทำนา ก็จะมีเสียงเพลง เสียงดนตรี เสียงอะไรก็ตาม มันอยู่ในทุกช่วงการทำงานของเรา ดำนา เกี่ยวข้าว อะไรก็ตาม คือเหตุการณ์ตรงนี้มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่มันจะอยู่กับเรา เหมือนเป็นอันหนึ่งอันเดียวดัน ทำงานดึกแค่ไหน แต่ว่าเราได้ยินเสียงเพลง เสียงรำ มันช่วยเราได้จริง ๆ คิดว่า วิถีชีวิตแบบนั้นมันหล่อหลอมให้เสียงเพลงอยู่กับเราโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว ก็คิดว่าค่อย ๆ กลืน ๆ กันมาเรื่อย ๆ แล้วก็เรารู้สึกว่า เพลงไหนมันดังเนอะ ในยุคก่อน สถานีวิทยุเปิด ช่วงเวลานี้ก็จะเป็นรายการนี้ ก็ฟังไปเรื่อย ๆ ทั้งวัน ตลอดการทำงานอยู่กลางทุ่งนา อันไหนที่มันดัง เราก็จะร้องได้ เขาก็จะเปิดแบบทุกวัน แทบจะทุกรายการ เราก็จะจำได้
The People : พี่ต่ายชอบฟังเพลงของศิลปินท่านไหนเป็นพิเศษ
ต่าย อรทัย : คือจริง ๆ ก็มีศิลปินในดวงใจหลายท่าน ดังมาก ๆ ในสมัยก่อน ดังเนี่ย ดังนานมาก 4 - 5 ปี เพลงก็อาจจะยังอยู่ ศิลปินท่านนั้น ๆ ก็ยังเดินสายด้วยเพลงนั้นได้นาน หลายปี อาจารย์เฉลิมพล มาลาคํา, อาจารย์สาธิต ทองจันทร์, แม่นกน้อย อุไรพร, ศิริพร อำไพพงษ์, พี่จินตหรา พูนลาภ, แม่ฮันนี่ ศรีอีสานเนี่ย ใช่หมดเลย
The People : จากที่เราเป็นเด็กชอบฟังเพลง มาถึงจุดไหนที่เรารู้สึกว่าเราอยากจะเป็นนักร้อง
ต่าย อรทัย : ความรู้สึกที่อยากจะเป็นนักร้องจริง ๆ ประถมนี่ยังไม่ชัด เรียกได้ว่ามีความสามารถอะไรที่เราจะออกไปหน้าชั้นเรียน แล้วไปทำให้คุณครูดูหรือเพื่อน ๆ ได้เห็น มั่นใจที่สุดจะเป็นเรื่องของการร้องเพลง แต่เราก็เป็นคนขี้อายนะคะ ไม่เข้าใจเหมือนกัน อันนั้นน่าจะเป็นความสามารถพิเศษหรือเปล่าไม่รู้นะ แต่ว่าครูให้ออกไป เราก็ เออ ร้องเพลงนี่แหละให้เพื่อนฟัง
มาชัดจริง ๆ น่าจะมัธยม มัธยมปลายด้วยซ้ำที่รู้สึกว่า เราใกล้จะจบแล้ว แล้วเราก็เริ่มจะรู้คำตอบว่า เราจะได้เรียนต่อใน ป.ตรี ไหม หรือจะจบแค่ ม.6 เราก็เริ่มรู้แล้วว่าพ่อแม่อาจจะไม่ได้มีกำลังส่งเราเรียนแน่ ๆ ต่อให้เราสอบเข้าราชภัฏอุบลฯได้ คือตอนนั้นรู้สึกใจแป้ว ๆ รอแล้ว บอกไม่ถูก แต่แค่ว่า ความฝันมันชัดขึ้นว่าเรารู้สึกมั่นใจมากสุด เราก็ไม่รู้ว่าดีที่สุดแล้วหรือยัง ความสามารถที่มีว่าร้องเพลงได้ คนอื่นชื่นชมว่าร้องเพลงเพราะเนี่ย มันจะเข้าสู่มาตรฐาน หรือมันจะมีวิธีอื่น ๆ ที่เปิดโอกาสให้เราได้ก้าวเข้าถึงขนาดว่าจะมีอัลบั้มเป็นของตัวเองไหม มีผลงานเหมือนพี่ ๆ ศิลปินหรือเปล่า เป็นอาชีพที่มาเลี้ยงดูเราได้ไหม เราก็ไม่รู้ แต่แค่รู้สึกว่า อันนี้แหละน่าจะมั่นใจสุด แล้วก็อยากเป็น
The People : คือมองว่านักร้องในน่าจะเป็นอาชีพที่หาเงินมาจุนเจือครอบครัวได้
ต่าย อรทัย : ค่ะ ใช่ค่ะ คิดว่าน่าจะเป็น ถ้าเราสู้อีกสักหน่อย มันน่าจะมีหนทางมากกว่าอาชีพอื่น ๆ แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งในเรื่องของหน้าที่การงานด้านอื่น ที่เราพยายาม วุฒิ ม.6 จะไปทำอะไรได้บ้างนะ เราก็คิดเหมือนกัน คือคิดหลาย ๆ ทางค่ะ
The People : ถึงจุดไหนที่ทำให้พี่ต่ายตัดสินใจว่า เอาล่ะ เราต้องมาอยู่ในกรุงเทพฯ
ต่าย อรทัย : มันก็ด้วยความที่ว่าเราไม่สามารถเรียนต่อ ป.ตรี ที่อุบลได้นั่นแหละค่ะ ก็สอบได้แล้วก็จริง เราก็ไม่มีทุนที่จะไปลงทะเบียน ซื้อชุดนักศึกษาก็ไม่มีทุนเลย แล้วก็ห้องพัก ยังไม่พร้อมเลยที่จะไปลงทะเบียนเรียนพร้อมกับเพื่อนในรุ่นนั้น ก็เลยคุยกับแม่ แม่ก็แนะนำว่า มาเรียนรามคำแหงไปด้วย ทำงานไปด้วย คนอื่นเขาก็ทำกันนะ ก็เลยได้ลงมากับคุณแม่ค่ะ
The People : ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ต้องห่างจากคุณยาย ห่างจากบ้านเกิด?
ต่าย อรทัย : ใช่ค่ะ ครั้งแรกเลย คือกลัวมาก คือไม่อยากจากคุณยายมาเลย แต่ว่ามันต้องตัดสินใจ เพราะว่าเราก็เกิดและโต แล้วเราเป็นคนที่… แม้แต่เมืองอุบลจริง ๆ ถ้าไม่มีธุรกิจอะไรจำเป็น เราจะไม่ได้เข้าในตัวเมืองเลย เพราะว่าการทำธุรกรรมอะไรต่าง ๆ เกี่ยวกับอะไร มันไม่มีเลย นอกจากเรียนจบ ม.6 แล้วก็มาสอบ เข้ามาสัมผัสเมืองอุบลก็แค่ตอนนั้น ที่อื่น ๆ แทบจะ บ้านเกิด ไปโรงเรียน ประถม และมัธยม แค่นั้นเอง คือมันก็แค่ 10 กิโล ก็ไม่ได้ต่างจากบ้านตัวเองเท่าไหร่
The People : ตอนที่ตั้งใจว่าจะมาเรียนที่รามคำแหง ตั้งใจไหมคะว่าจะมาเรียนคณะอะไรยังไง
ต่าย อรทัย : จริง ๆ ก็ไม่อยากมาเลย แล้วก็ไม่คิดว่าวันนึงจะต้องมาเรียนรามคำแหง คือก็อยากเรียนให้มันปกติเหมือนคนอื่น ๆ ก็ 3 - 4 ปีแล้วจบ จริง ๆ อยากใช้ชีวิตแบบนั้นจริง ๆ แต่ในเมื่อไม่ได้เอื้ออำนวยเราแบบนั้น เหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ ก็โอเค ตัดสินใจลงมากับคุณแม่ ก็มาอยู่ไซต์คนงานก่อสร้างก่อน ที่มันเป็นเพิงสังกะสีชั้นนึง สองชั้นใช่ไหมคะ แต่ก็พัก คุณแม่อยู่ชั้นสอง สังกะสีก็กลางวันร้อนมาก มีพัดลมอยู่ตัวนึง แล้วก็นอนกับ ภาษาบ้านเราเรียกสาด ก็คือเสื่อ ไม่ใช่เสื่อแบบยัดนุ่นด้วยนะ แล้วก็มีหมอนผ้าห่มบาง ๆ กลางคืนก็โอเค พอไหวหน่อย แต่กลางวันแทบจะอยู่ไม่ได้เลย
ก็มาช่วยคุณแม่ซักเสื้อผ้าคนงานก่อสร้าง บางคนที่เขากลับมาแล้วเหนื่อยมาก ๆ ไม่มีเวลามานั่งซัก เราก็หาหนทางที่จะมีรายได้กับคุณแม่ แม่ก็พาทำ ตัวละ 5 บาท 10 บาท เขาก็มาจ้างเรา ซัก ตาก รีด อย่างนี้ค่ะ ก็พอเป็นค่ากับข้าวอะไรตรงนั้นที่อยู่กับคุณแม่
The People : ชีวิตลำบากมากที่สุดหรือยังในช่วงเวลานั้น
ต่าย อรทัย : อยู่ไซต์งานก่อสร้างอยู่พักนึง แล้วก็เพื่อนเขียนจดหมายมาหา ก็ถึงได้ไปทำงานที่โรงงานกับเพื่อน เพื่อนสนิทตอน ม.6 ก็ได้ทำอยู่ช่วงประมาณครึ่งปีได้ เป็นสาวโรงงาน ซึ่งเราก็สัมผัสชีวิตสาวโรงงานอยู่ครึ่งปี ก็ถือว่าเราเข้าใจอย่างถ่องแท้เลยว่ามันสู้จริง ๆ แล้วหลายคน ใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีเงินส่งบ้าน เพราะว่าค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าห้องพัก ค่ากิน ค่าอะไรต่าง ๆ ของต่ายนี่คือยืมเพื่อนไปตรวจสุขภาพก่อนที่จะเข้าโรงงานอีก ก็ยืมเพื่อนก่อน ห้องพักก็ต้องแชร์กับเพื่อนก่อน คือยืมหมดเลย ยืมเพื่อนหมดเลย เพื่อนก็ยืมพี่ชาย พี่สะใภ้อีกทอดนึง คือเป็นทอด ๆ ไป
พอได้เงินเดือนมาเดือนแรก ไม่เหลือเลย เพราะเราก็ต้องเอาไปใช้หนี้ใช่ไหมคะ ต้องเจียดไว้ทานข้าวในช่วงเดือนต่อไปอีก อยู่อย่างนั้นค่ะ มื้อข้าวที่แทบจะมีทุกมื้อเลยคือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นกล่อง หารกันกับเพื่อน แล้วก็มีปลากระป๋องซื้อไว้กับเพื่อน อันนั้นเป็นมื้อปกติของต่ายอรทัยเลย แล้วพอสิ้นเดือนมาแล้วเรารู้สึกเราอยากกินแบบ มันเป็นเหมือนการเฉลิมฉลองกับเพื่อนมาก ก็ไปตลาดสด อาจจะมีกับข้าว เรารู้สึกอยากกิน เราไม่ได้กินมาทั้งเดือน เรารู้สึกอยากกิน ก็หารกันกับเพื่อน ซื้ออันนี้ ๆ มากินกัน อันนั้นคือสุดยอดในชีวิตแล้ว
The People : พี่ต่ายหลุดพ้นจากตรงนั้นมาได้อย่างไร
ต่าย อรทัย : มันก็มีการต่อสู้ในช่วงที่เราลาออกจากโรงงานแล้วเราตกงานด้วยเนอะ แล้วก็ในช่วงที่ทำงานโรงงาน ทุกเสาร์อาทิตย์ พี่ต่ายก็จะไปประกวดร้องเพลงที่ฟาร์มจระเข้ สมุทรปราการ คืออยู่อย่างนี้มาตลอด 6 เดือนที่เราทำงานกับเพื่อน เสาร์อาทิตย์ก็จะไป มันจะเป็นภาพอยู่อย่างนี้ วน ๆ กันอยู่อย่างนี้ เพื่อนก็พาไป จนไปเอง ก็ ประกวดแล้วประกวดอีก แพ้แล้วแพ้อีก แพ้อยู่จนผู้หลักผู้ใหญ่ก็ให้โอกาส คือเราไม่ต้องซื้อบัตรเข้าไปแล้ว แต่ให้โอกาสเราในการมาร้องเปิดทุกเสาร์อาทิตย์ให้ เราก็ได้รับโอกาสจากตรงนั้นการพัฒนาตัวเองจนเข้าสู่รอบสุดท้าย แล้วก็เป็นตัวแทนจากฟาร์มจระเข้ สมุทรปราการ จนไปชิงที่ชุมทางเสียงทอง อันนั้นก็เป็นอีกหนึ่งความหวังมาก ๆ เราก็คิดว่า เออ ถ้าไปถึงจุดนั้นได้ ก็น่าจะมีผู้หลักผู้ใหญ่ ภาษาที่เรียกในสมัยนั้นก็จะเรียกว่าแมวมองอะเนอะ เผื่อไปถูกอกถูกตาใครที่จะให้โอกาสเรา เราก็หวัง แต่พอไปแล้วก็แพ้เหมือนเดิม
The People : ท้อไหมคะ ความฝันที่อยากจะเป็นนักร้องของเรามันมอดดับไปบ้างไหม
ต่าย อรทัย : ยอมรับว่าตอนนั้นท้อนะคะ ท้อมาก ๆ เพราะว่าเราตกงาน แล้วเงินก้อนสุดท้ายที่เราออกจากโรงงาน คือมันเริ่มหมดแล้ว ทั้ง ๆ ที่เราก็เจียดเงินตรงนั้น ทั้งกิน ทั้งค่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ถูกไหมคะ แล้วก็ค่ากินแต่ละวัน ค่าที่เราจะต้องออกไปสมัครงานที่โรงงานอื่น ๆ อีก คือมันเป็นค่าใช้จ่ายหมดเลย แล้วก็เทียวไปประกวดร้องเพลง จนตกรอบ คือมันหมดแล้วจริง ๆ ในตอนนั้นรู้สึกท้อว่ามันจะไปยังไงต่อ โรงงานก็ไม่ได้ ประกวดร้องเพลงก็แพ้ หรือถ้ามีเวทีอื่น เราจะเอาเงินจากไหนไปประกวด ไปเดินทาง มันไม่มี อยู่กับเพื่อนก็เกรงใจเขามาก เพราะเพื่อนก็ต้องไปรบกวนพี่ชาย พี่สะใภ้อีก เรารู้สึกมันหมดหนทาง แล้วเราก็กลับบ้านก็ไม่ได้ ยายก็รออยู่ น้องชายก็รออยู่
The People : เป็นความหวังของที่บ้าน
ต่าย อรทัย : มันแน่นอนค่ะ แน่นอนว่าเราลงมา คือเราก็เป็นพี่คนโตคนเดียวเนอะ คือถ้าเรากลับไป สุดท้ายเราก็ต้องไปเริ่มใหม่เหมือนเดิม แล้วเริ่มจากไหน ก็ต้องไปทำไร่ทำนา หรือว่าถ้าจะไปเรียนต่อ เอาเงินทุนจากไหนอะ แล้วเราก็เหมือนตัดสิทธิ์ตัวเองไปแล้วตั้งแต่ตอนต้นปี ก็ไม่น่าจะได้เรียนต่อได้อีก คือมันไม่มีอะไรเลย มันมืดมนมาก แล้วก็นอนอยู่อย่างนั้น อยู่อย่างนั้น
จนสักพักใหญ่ ๆ ก็มีแม่มาจากไซต์คนงานก่อสร้างเนอะ ซึ่งก็ห่างจากแม่มาสักพักนึง แล้วแม่มาที่ห้องพัก ซึ่งแม่ก็รู้อยู่ว่าอยู่ตรงไหน แต่แม่ก็ยังไม่ได้มีโอกาสมาสักที ก็เลยบอกว่า แม่มาทำไม คือแม่กลับไปบ้าน ไปเยี่ยมคุณยาย ปรากฏว่าไปเจอพี่บ่าวพี่สาว ซึ่งเป็นผู้ชักนำเข้าสู่วงการคนแรก แล้วก็เป็นผู้จัดการคนแรก คือรอเราอยู่ คือเคยมีการพูดคุยตั้งแต่สมัยที่ต่ายประกวดร้องเพลงที่จังหวัดอุบล แล้วเราก็เป็นที่รู้จักอยู่ ที่ชนะในปีนั้น แล้วพี่เขาก็เฟ้นหาศิลปินที่จะมาทำเพลงเพื่อโปรโมตในรายการ เพื่อนำเสนอค่ายอื่น ๆ เป็นสิ่งที่พี่เขาทำ ให้โอกาสคนบ้านเราอยู่แล้ว ซึ่งเราก็เคยคุยกัน แต่ว่าพี่ต่ายลืมสนิทเลย เพราะว่าเราสู้ชีวิต เราสู้ทุกวิถีทาง ก็ลืม ณ จุดนั้นไปเลย
แม่ก็เลยโทรหาพี่เขา แล้วพี่เขาก็บึ่งรถมาเลย ในช่วงที่เรานอนอยู่ แล้วเราก็รู้สึก มันเหมือนแสงอะไรสักอย่าง มีคนขี่ม้าขาวมาหาเรา ก็เปิดโอกาสให้เรา เราก็ไม่รู้หรอกว่าคนนี้จะเป็นคนที่จะพาเราเข้าวงการได้ไหม เราไม่รู้ แต่แค่รู้สึกว่า ช่วงนั้นคือยังมีอะไรบางอย่างที่ดึงใจเราขึ้นมาได้อีก ให้เรารู้สึกกลับมาฟูได้อีก
The People : หลังจากนั้นคือเกิดอะไรขึ้น
ต่าย อรทัย : หลังจากนั้นก็ได้ทำเพลง ได้โปรโมตรายการวิทยุที่ ม.เกษตรศาสตร์ สถานี มก. แล้วก็ไปเป็นศิลปินเบื้องหลังในรายการ “ฟังเพลงหยังค่า อ๋อ ได้ค่า เพลงพี่ไมค์เนอะ ได้จ้า เดี๋ยวจัดให้เด้อค่า” ก็ยื่นกระดาษให้พี่เขา พี่เขาก็อ่านออกหน้าไมค์ เราก็สัมผัสบรรยากาศเบื้องหลังตรงนั้น แล้วก็พอตอนเย็น เราจะไปส่งของ ในรายการก็จะมีสินค้าต่าง ๆ ที่เป็นสปอนเซอร์ แล้วแฟน ๆ รายการก็จะสั่งเข้ามา ที่สาธุประดิษฐ์ ที่พุทธมณฑลสาย 4 ที่บางบอน ก็ไปกัน จบรายการแล้วเราก็ไปทานข้าว ไปทำความคุ้นเคย ไปทำความรู้จัก พี่เขาก็จะพาให้เราไป เขาพูดคุยเรายังไง เขาดูแล take care เราแบบไหน เราจะได้เข้าใจว่า เออ เขารักเรา เราต้องดูแลแฟนเพลงแบบไหน เราก็ได้เริ่มเรียนรู้จากตรงนั้น
The People : หลังจากนั้นไปเจอครูสลาได้อย่างไร
ต่าย อรทัย : จริง ๆ พี่บ่าวกับพี่สาว คือส่งม้วนเทป ส่งซีดีไปให้คุณครูนานมากแล้วนะคะ ส่งให้ค่ายอื่น ๆ ด้วย แล้วก็ส่งให้คุณครูด้วย พี่บ่าวเนี่ย จะมีเพื่อนสนิทอีกท่านนึง คือพี่ดีเจแหมบ อยู่ที่อุบล นั่นก็เป็นนักจัดรายการอีกท่านนึง ก็จะส่งเพลงของต่ายทั้งหมดเนี่ย ให้นักจัดรายการทั่วประเทศที่พี่เขารู้จักเนอะ เรียกว่าเป็นพันธมิตร ช่วยมากช่วยน้อยก็แล้วแต่ แต่ก็ช่วยทั่วประเทศ เราเองก็ไปแบบได้ค่าตัวบ้าง ไม่ได้ค่าตัวบ้าง แล้วแต่
แต่พี่ดีเจแหมบเนี่ย เป็นคนนึงที่ถือว่าสำคัญมากในเส้นทางของต่าย ที่ทำให้ได้รู้จักกับคุณครู เพราะว่าพอมันเงียบไปเลย พี่ดีเจแหมบก็ทำหน้าที่ช่วยอีกครั้งนึง “ครู ช่วยน้องมันหน่อย เป็นเด็กน้อยคนนึงจากอำเภอนาจะหลวย อยู่กับคุณยาย อยู่กับน้องชาย พ่อแม่แยกทางกัน เสียงดีมาก” แต่ครูเนี่ย เหมือนพอวันที่ครูนัดมาเจอ จากที่เงียบหายไปแล้วครูก็ติดต่อกลับมา ทั้งพี่บ่าว พี่สาว ว่าครูติดต่อมา พอครูติดต่อมาเท่านั้นแหละค่ะ ดีใจกันมาก ครูก็เหมือนกับในช่วงจังหวะนั้น เหมือนครูได้รับโจทย์จากแกรมมี่ว่าให้หาศิลปินลูกทุ่งหญิง ลูกทุ่งอีสาน เพื่อที่จะให้โอกาส แล้วก็เป็นการสร้างศิลปินในค่ายแกรมมี่ เหมือนกับเป็นไมค์ ภิรมย์พรเวอร์ชันผู้หญิง ประมาณนั้นค่ะ เราก็ไม่รู้มันเป็นจังหวะ เป็นโอกาสที่ดีอะไรของเราหรือเปล่า
ก่อนหน้านั้นคือเคยเจอคุณครู ตอนที่เป็นตัวแทนของโรงเรียนมัธยม อันนั้นคือ ขอย้อนไปนิดนึง เป็นตัวแทนของโรงเรียนนาจะหลวย แล้วก็ไปแข่งที่โรงเรียนศรีเมืองใหม่ ก็จะเป็นกิจกรรมที่ให้เด็ก ๆ ห่างไกลจากยาเสพติด จะมีชื่อกิจกรรม แล้วก็ครูเป็นคณะกรรมการ แล้วก็มีโอกาสได้เจอครูแค่แวบนึง ไม่ได้คุยอะไรมากมาย แต่คุณครูก็จะชื่นชมผ่านคุณป้า ซึ่งพาไปประกวดตอนนั้น หลานเสียงดีมากเลยนะ แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องพัฒนาและปรับปรุง แต่ก็จะได้ยินอันนี้มา คือปรับปรุงตรงไหนเราก็ไม่รู้ เราก็รู้สึกดีใจและมีกำลังใจว่า เออ เราเสียงดี เสียงมีเอกลักษณ์ มีเสียงขึ้นจมูกนะ ร้องเพลงคร่อมจังหวะ ตรงนี้ต้องไปแก้ ต้องไปพัฒนา แล้วหลังจากนั้นหายไปเลย ไม่ได้เจอคุณครูอีกเลย เพราะว่าเหมือนกับเป็นวาระนึงที่เราไปประกวด
ทีนี้มาเจอคุณครู อันนี้คือโจทย์ใหญ่อย่างที่คุณครูบอกจริง ๆ เพราะว่าพอเราได้รับโอกาส แต่เรายังไม่ได้รับคำตอบว่าเราจะได้เป็นศิลปินแกรมมี่ คุณครูก็ต้องเฟ้นหาศิลปินคนอื่น ๆ ที่จะเข้ามา ถ้าเป็น พ.ศ. นี้ก็จะเรียกว่าออดิชัน
คือเราก็ไม่รู้ว่าคุณครูเนี่ยมีคนอื่น ๆ ที่จะเข้ามาในช่วงนี้เปล่า ที่คุณครูก็ต้องเฟ้นหาเหมือนกันหรือเปล่า ก็ไม่รู้ ก็ต้องมาผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ทดลองมา ทดสอบมา test เสียงที่แกรมมี่ก่อน
The People : แต่ว่าคุณครูน่าจะเห็นอะไรบางอย่างในตัวพี่ต่าย เพราะว่าคุณครูถึงกลับไปขอกับคุณยายเลย ถูกไหมคะ
ต่าย อรทัย : ใช่ค่ะ ปลายปี 2544 ตอนนั้นพี่บ่าว ข้าวเหนียวกับพี่สาวบ้านเชียงเนี่ย ทำผ้าป่าร่วมกับแฟนรายการอีสานส่งข่าว ซึ่งก็ที่สถานีวิทยุ มก. ก็ได้เงินก้อนนึง แล้วก็ไปทอดผ้าป่าที่บ้าน แล้วก็เป็นโอกาสที่เรียนเชิญคุณครูไปทอดผ้าป่าด้วย คุณครูก็ไป แล้วก็จะมีทั้งต่าย มีพี่น้องศิลปินคนอื่น ๆ อย่างพี่ศร สินชัย ก็มาพร้อม ๆ กันเลย แล้วมีพี่น้องศิลปินคนอื่นที่อยู่ในค่ายเดียวกันด้วย ก็ไปร้องเพลงคนละเพลงสองเพลง แล้วครูก็ขึ้นไปพูดกับชาวบ้านบนเวที แล้วก็เหมือนกับพูดกับคุณยายด้วย ว่าจะมาขอลูกสาวไปอยู่แกรมมี่ด้วยนะ
แล้วคุณยายก็เหมือนกับ มีอยู่คำนึง “จ้า ผู้ใดมาเขาก็เว้าจังซี่แหละ มีแต่บอกว่าจะเอาไปเป็นนักร้อง ๆ แต่ก็เงียบหาย อะไรอย่างนี้”
The People : ทีนี้พอมาเป็นเด็กฝึก นับเป็นอีกช่วงเวลานึงที่ยากสำหรับพี่ต่ายเหมือนกันใช่ไหม
ต่าย อรทัย : ยากเลยค่ะ เราก็จะตั้งคำถามกับตัวเองทุกวัน วันนี้ต้องเข้าตึก วันนี้ก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีอะไร อีกวันนึงเหมือนจะเป็นอีกแล้ว คือเราไม่มีเพื่อนเลย เราไม่มีใครที่จะได้เล่าความรู้สึกว่าเรารู้สึกยังไงในแต่ละวันอะ มันไม่ได้เป็นความรู้สึกว่ามันดีใจตลอดเวลา แล้วเราก็ยังคงนึกถึงยาย คิดถึงน้องอยู่ทุกวัน อยู่ยังไงน้อ ลงมาตั้งแต่ 2542 ตั้งแต่ทำงานโรงงาน ตั้งแต่อยู่แคมป์ทำงานก่อสร้าง ตั้งแต่ทำงานโรงงาน จนมาถึงปี 2545 ที่เป็นศิลปินฝึกหัด ยังไม่ได้ส่งเงินให้ยายจริงจังเลยสักครั้ง แล้วก็แทบจะไม่ได้กลับบ้าน เหมือนกับตั้งแต่ปี 42 ก็คือได้กลับไปตอนผ้าป่า ตอนปลายปี 2544 ด้วยซ้ำ อันนั้นคือบ้านเมืองเปลี่ยนจนจำไม่ได้ว่าทางกลับบ้านมันเป็นแบบไหนแล้ว
The People : คือต้องต่อสู้ทั้งความคิดถึง และต้องต่อสู้กับการพัฒนาตัวเอง พร้อมกันสองอย่าง
ต่าย อรทัย : ยากมากค่ะ เพราะว่าเราร้องวันนี้ อาจารย์ไพรัตน์ก็จะบันทึกลง CD ให้เรา เอากลับไปฝึกนะลูก ไปฟังดูว่าวันนี้ครู comment ตรงไหน อันไหนที่มันยังเป็นจุดบกพร่องอยู่ โอเค กลับไปฟัง พรุ่งนี้มาให้ก็ยังเพลงเดิมอยู่ เมื่อวานร้องตรงนี้ดี วันนี้ ไปทำอะไรมา นอนไม่พอหรือเปล่า ทำไมมันไม่ดีขึ้น เราก็ โอเค อัดใหม่ แล้วก็กลับไปฟัง กลับมาร้องใหม่วันนี้ วันนี้ดีขึ้น โอเค ดี แล้วก็อัด แล้วก็ไปฟังใหม่ แล้วก็กลับมาอีก มันไม่ได้ดี 100% ขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ไม่ดี รู้สึกท้อมาก ถึงห้อง นอนร้องไห้ ไม่รู้จะทำอะไร ก็ร้องไห้อยู่อย่างนั้น เดี๋ยววันนี้ดีใจ เดี๋ยววันนึงร้องไห้ เดี๋ยววันนึงคิดถึงบ้าน เดี่ยววันนึงไม่ไปแล้ว แต่ก็ต้องมา
The People : แต่สุดท้ายก็ผ่านชีวิตการเป็นเด็กฝึกมาได้ จนวันที่มีเพลงของตัวเอง ‘ดอกหญ้าในป่าปูน’
ต่าย อรทัย : เพลงแรกที่ไปโปรโมตเลยจะพ่วงไปด้วยกัน ในแผ่นซีดีนั้นจะมีดอกหญ้าในป่าปูน มีโทรหาแหน่เด้อ ที่ทางค่ายจะส่งให้กับทางสถานีวิทยุทั่วประเทศ ก็ไปก็จะมีอยู่ 2 เพลงนี้ ที่เวลาเราไปสัมภาษณ์ หรือว่าร้องให้ฟังหน่อย ก็จะมีประมาณ 2 เพลงนี้ค่ะ
พี่ ๆ ฝ่าย media ก็จะพาเราทัวร์ไปทั่วประเทศเลย ตั้งแต่สื่อสิ่งพิมพ์ ไปสถานีวิทยุโทรทัศน์ แล้วก็ไปวิทยุ ก็จะแยกกันเป็นภาค ๆ เดือนนี้ภาคไหน ก็คือลุย เหนื่อยมาก แต่สนุกมาก แล้วไปก็ได้ไปเห็นข้างทาง ได้ไปเที่ยวด้วยว่าจังหวัดไหนเป็นยังไง ก็สนุกมาก ๆ ต่อให้แต่ละสถานีจะถามคำถามเดิม ต้องตอบแบบเดิม ต้องร้องเหมือนเดิม ท่อนนี้ก็ตาม แต่เรารู้สึกว่ามันได้เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เราได้เห็นว่าจังหวัดนี้ ภาคนี้เป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ชอบจดนั่นนี่อะไรลงโน้ตตลอด
The People : ตอนเป็นเด็กฝึกก็ไม่ได้เที่ยวเลย พอได้ออกไปเจอคน เจอโลก พี่ต่ายแฮปปี้มากไหมคะ
ต่าย อรทัย : มันเหนื่อย มันก็เหนื่อย แต่ด้วยความที่เรายังเด็กเนอะ แรง กำลังมันเยอะ แค่นอนนิดนึงก็สดชื่นแล้ว ก็ลุยงานต่อกันได้ พี่เขาพาไปไหน ลุยงานเสร็จ ไปต่อ กลับมาก็ไปนอน แล้วก็ไปต่ออีกจังหวัดนึง มันสนุกมาก แล้วตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าเพลงเรายังไง แต่คิดว่าคนคงรู้จักแบบกว้างขึ้น มากกว่าตอนที่เรายังไม่ได้เข้าแกรมมี่ เรารู้สึกแค่นั้น แต่ยังไม่รู้ว่าเพลงเราดังหรือยัง เห็นว่าเขาเปิดนะ สถานีก็เปิดเพลงนี้ เราได้ไปก็เปิดเพลงนี้ จนครบ
แล้วก็มีภาคสุดท้ายคือภาคอีสาน แล้วก็น่าจะเป็นจังหวัดสุดท้ายก็คืออุบลราชธานี บ้านเกิดเราเลย แล้วไปตอนนั้นก็คือน่าจะรอบ 1 ปีเต็มที่ได้ก้าวไปถึงบ้านเกิดตัวเอง ต่อให้ยังไม่ถึงอำเภอนาจะหลวย เราก็คิดว่า เออ มาถึงบ้านแล้ว โอเค ดีใจ สัมภาษณ์เสร็จตอนเย็น แล้วเพื่อนโทรมา ไปกินข้าวกัน เราไม่ได้เจอเพื่อนนานแล้ว มีเพื่อนคนนึงที่ก็สนิท แล้วก็เรียนที่อุบล ไปกินข้าวกัน ก็ไป เพื่อนก็ขับมอเตอร์ไซค์มารับ ก็แว้นไปกับเพื่อน แล้วก็ไปทานข้าว อีกวันนึงมา ผู้ใหญ่เรียกคุย โดนดุเลย เราก็หัวใจหล่นไปอยู่ตาตุ่ม เรียกคุยเรื่องอะไรน้อ ผู้ใหญ่ก็เตือนเราว่า ไปแบบนั้นอะ ได้ ไม่ได้ห้าม เจอเพื่อนน่ะดีแล้วลูก แต่ว่ามันอันตราย ต้องดูแลตัวเองให้ดี ต้องรักษาภาพลักษณ์ของตัวเอง ไม่รู้ เพลงตัวเองดังแล้วนะตอนนี้ น่าจะเป็นคำตอบแรกเลย แล้วก็เป็นอะไรที่เราไม่คาดคิดว่าเราจะได้ยินว่าเพลงเราดังแล้ว แล้วก็ตัวเราอะ ดังแล้วนะ
The People : ทีนี้มาพูดถึงเพลงที่ทำให้พี่ต่ายดังมาก ๆ ‘ดอกหญ้าในป่าปูน’ สำหรับพี่ต่าย เพลงนี้มีความหมายอย่างไร นอกจากการเป็นเพลงที่ทำให้เราดังบ้าง
ต่าย อรทัย : มากค่ะ ก็มีความรู้สึกว่าเพลงนี้มันไม่ใช่แค่เพลงดังแจ้งเกิด มันไม่ใช่แค่ชื่อเพลง หรือชื่ออัลบั้ม แต่มันเป็นเพลงที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของต่ายได้ชัดเจนมากว่า เออ เราเป็นเด็กต่างจังหวัดคนนึง ซึ่งเราก็เป็นเด็กต่างจังหวัดจริง ๆ เป็นลูกอีสาน เป็นชาวอีสานที่หอบความรู้ความสามารถ ด้วยวุฒิ ม.6 ของเรา มาสู้งาน ซึ่งมันมีอีกหลายชีวิตมากที่เป็นแบบนี้ ต่ายเป็นเพียงแค่ตัวแทนคนนึง ที่เอาเรื่องราวนี้ การต่อสู้ชีวิต แล้วก็ทุก ๆ หัวใจที่สู้ชีวิต มาเล่าผ่านเพลงนี้ เราได้ให้กำลังใจลูกผู้หญิงเหล่านั้นด้วยกัน หรือแม้แต่ลูกผู้ชายคนอื่นก็เหมือนกัน จากบ้านเกิดมาเพื่อทำอะไรต่าง ๆ คนที่อยู่ข้างหลัง เราสู้หัวชนฝาอยู่แล้ว ต่อให้ชีวิตเราไม่มีคำตอบอะไรใด ๆ หรือจะไม่มีใครให้กำลังใจ ไม่มีใครบอกเราได้ว่าสิ่งที่เราสู้อยู่ ทำอยู่เนี่ย มันจะไปได้ดีไหม หรือมันควรถอย หรือมันควรยังไงก็ตาม เราได้เป็นกำลังใจ เราได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับอีกหลาย ๆ ชีวิต ต่ายว่ามันเยอะมาก ในความหมายที่อยู่ในเพลง
The People : เวลาคนยุคใหม่ คนสมัยใหม่ ฟังเพลงนี้ ร้องเพลงนี้ พี่ต่ายรู้สึกยังไงบ้าง
ต่าย อรทัย : มันภูมิใจค่ะ ภูมิใจ แล้วก็รู้สึกขอบคุณน้อง ๆ ด้วยนะคะที่ชื่นชอบเพลงนี้ คือฟังแล้วก็ชื่นชอบ และให้มันเป็นแรงบันดาลใจ เพราะต่ายไม่คิดว่า พอถึงวันนึงล่วงเลยไปหลายปีเนี่ย เราจะได้ยินน้อง ๆ มาเล่าให้ฟัง เวลาเขามีโอกาสที่จะได้มาอยู่ใกล้เรา เมื่อก่อนเราก็คิดว่า เราร้องออกไปแล้วเป็นกำลังใจให้ทุกคน เออ คิดว่ามันเป็นแค่นั้น แต่ว่า มันผ่านไป 5 ปี หรือบางคน 10 ปี บางคนคือจบ ม.6 แล้วจบปริญญาตรีได้แล้ว แล้วบางคนมีงานทำได้แล้ว เขาก็มาเล่าให้ฟังว่าพี่ เพลงพี่ดังอะ หนูอยู่ ม.6 แล้วตอนนั้นหนูเข้า ป.ตรี แล้วหนูมีงานทำแล้วนะ หรือเพลงนี้ หนูก็คือเริ่มทำงานแล้วนะ หนูรู้สึกท้อมาก แต่พอเพลงพี่ดัง หนูรู้สึกมีกำลังใจ และหลาย ๆ อย่างก็ทำให้ก้าวข้ามอะไรหลาย ๆ เรื่องได้ เติบโตขึ้นได้เพราะเพลงพี่ เรารู้สึกแบบ มันมีคุณค่ามากค่ะ
The People : เพราะฉะนั้น ไปที่ไหน คนก็จะขอให้พี่ร้องเพลงนี้ตลอด
ต่าย อรทัย : ไม่ได้ขอเลย ดอกหญ้าในป่าปูนเนี่ย มันเป็นเพลงที่เราถอดออกไม่ได้ ว่าแบบนี้เลยก็ได้ ในทุกโชว์ที่ผ่านมา แล้วก็ตลอดเส้นทางการเป็นศิลปิน ดอกหญ้า โทรหา กินข้าว เราก็จะเรียกสั้น ๆ ประมาณนี้เนอะ มันจะถูกร้อยเป็นเส้นนึง โดยที่อาจารย์บอย ก็จะทำโชว์ แล้วก็ทำเพลงตั้งแต่อัลบั้มที่ 2 มาเลย ก็จะเป็นบุคคลนึงที่อยู่กับโชว์ของต่าย แล้วก็เพลงของพี่ต่ายมาตลอด อาจารย์ถอดออกได้ไหม อาจารย์บอก ไม่ได้ ได้ยังไงล่ะ มันถอดออกไม่ได้จริง ๆ มันเป็นเพลงที่เหมือน ถ้าทุกคนจะมาดูโชว์ต่ายอรทัย แล้วมันไม่มีอันนี้เลย มันก็เหมือนกับ อ้าว ไม่ได้ฟังเพลงนี้เหรอ มันมี feedback กลับมา
The People : ‘โทรหาหน่อยเด้อ’ ก็เป็นอีกเพลงที่สร้างชื่อให้พี่ต่ายมาก ๆ แถมยังเป็นเพลงที่ใกล้ชิดคนฟังมากขึ้นอีก เพราะตรงกับยุคที่โทรศัพท์เริ่มบูม
ต่าย อรทัย : ก็ถือว่าใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม กระแสก็คือเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ทุกคนร้องตามได้เยอะกว่าเดิม ก็มีความรู้สึกว่า เออ ร้องเพลงแล้วถึงท่อนฮุก แล้วเรายื่นไมค์ให้คนร้องช่วย ความรู้สึกของศิลปินมันเป็นแบบนี้เนอะ ก็เป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่า มันดีใจมากขึ้นกว่าเดิม เราจะรักษาตรงนี้ให้ดีที่สุด ถึงแม้ว่าบางครั้งถ้าเรารู้สึกเหนื่อย เราอาจจะไม่ได้ดูแล take care แฟนคลับเต็มที่ในบางครั้ง แต่เราฟังคำแนะนำจากครูบาอาจารย์ อาจจะได้ยินนู่นนี่นั่น หรือเห็นอะไรมา ในสิ่งที่มันจะเป็นกระแสลบกับเราอะ แล้วเราก็ตบ ๆ ตัวเองเข้ามา แล้วเราก็ฟังคำแนะนำของผู้หลักผู้ใหญ่ แล้วเราก็ปรับตัวอีก แล้วก็รักษากำลังใจของแฟนเพลงไว้ ด้วยความศรัทธาของเรา อะไรที่เราทำให้แฟนเพลงรู้สึกไม่โอเคในความรู้สึก เราจะไม่ทำอีก แล้วเราก็ปฏิบัติอย่างนี้มาตลอดเลย แล้วเราก็คิดว่า สิ่งนี้มันจะคอยเป็นแรงผลักให้กันและกัน แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นมาจริง ๆ
The People : การทำเพลงในยุคนี้ มันง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อนมากด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ถ้าเปรียบเทียบกับยุคพี่ต่าย แต่ว่าการจะทำให้คนจำมันน่าจะยากกว่า
ต่าย อรทัย : ถ้าในพาร์ทของการทำงาน คนที่คิดงานหนักมาก ก็ไม่ใช่ต่ายแน่นอน อันนี้เราเป็นคนเบื้องหน้า เราเป็นคนถ่ายทอดเพลง แต่คนที่จะต้องมานั่งหาเรื่องราวที่จะมาเขียน ทำยังไงถึงจะถูกอกถูกใจแฟนเพลง เป็นที่รัก ที่ชื่อชอบ หรือไปโดนใจ ทำให้แฟน ๆ มันความสุขในการฟังเพลง คนที่คิดเพลงอะ หนักมากกว่าอีก รวมถึงค่ายด้วย ที่จะต้องมองภาพรวมว่าอัลบั้นนี้เราเคยเล่าไปแล้ว แล้วอัลบั้มต่อไป คิดว่าหรือคาดว่าคนอยากจะฟังเพลงแนวไหน อันนั้นยากมากยิ่งกว่า
คือพี่ต่ายมีหน้าที่ถ่ายทอดค่อนข้างจะปลายทางแล้ว ก็ต้องทำหน้าที่ตัวเองให้ดี แล้วก็ทำยังไงก็ได้ สมมติว่าเพลงนี้มันโดนแล้วมันดัง เราก็ต้องทำยังไงที่จะสามารถรักษามาตรฐานเพลงนี้ ที่เขาอยากฟังหน้าเวที ฟังเพลงนี้ในทีวีหรือในแพลตฟอร์มต่าง ๆ มันเพราะมาก หน้าเวทีทำยังไงมันถึงจะเหมือนกันที่เขาฟังมาแล้ว ก็ต้องมาดูแลตัวเองให้ดี พักผ่อนให้พอ ออกกำลังกาย รักษามาตรฐานอย่างที่ค่ายและผู้ใหญ่พาเราทำ
The People : ทีนี้มาพาร์ทส่วนตัวบ้าง เห็นพี่ต่ายร้องเพลงเศร้า ๆ ช้า ๆ จริง ๆ แล้วพี่ต่ายเป็นคนที่นิ่ง ๆ หวาน ๆ อย่างที่แฟนเพลงจำพี่จากเพลง แบบนั้นหรือเปล่า
ต่าย อรทัย : ก็นิ่งนะ เป็นบางครั้ง มันก็มีทุกโหมด ทุกอารมณ์นะคะ แต่แค่เราเป็นคนที่ถนัดในเรื่องของการที่ร้องเพลงช้า และรู้สึกมั่นใจในการที่จะร้องเพลงช้ามากกว่าสไตล์อื่น ๆ เท่านั้นเอง แล้วก็ด้วยความที่เนื้อเสียง เป็นคนที่เนื้อเสียงเศร้า เนื้อเสียงปนเศร้าโดยธรรมชาติ บอกไม่ถูกเหมือนกัน มันอาจจะด้วยเบื้องหลังในชีวิตของเรา ด้วย background ในชีวิตของเราที่อาจจะครอบครัวเราไม่ได้สมบูรณ์เหมือนคนอื่น ใช่ไหมคะ แล้วเราก็อาจจะชอบฟังเพลงที่มันเศร้ากินใจมาตั้งแต่เด็ก เราอาจจะฝึกร้องเพลงของศิลปินรุ่นพี่ รุ่นครูบาอาจารย์ใช่ไหมคะ แล้วก็มักจะมีเพลงเหล่านี้ที่เป็นเพลงโด่งดัง เราก็จะซึมซับจากตรงนั้น ไม่รู้เหมือนกัน แล้วก็พอเพลงจังหวะสนุก ๆ มันก็จะไม่ค่อยมี หรือมีมีมันก็จะต้องเป็นเพลงที่จะต้องเข้าปาก อยู่ดี ๆ ถ้าดื้อมาก ๆ มันก็อาจจะไม่ตรงกับบุคลิกของเรา แล้วก็โหมดอื่น ๆ เราก็มี อยู่กับเพื่อนพ้องน้องพี่เราก็สนุกสนานเฮฮา
ทั้งหมดมีอัลบั้มหลักทั้งหมด 12 อัลบั้ม อัลบั้มละ 10 เพลง รวมแล้วก็ 120 เพลง ใน 100% น่าจะ 99% เลย เพลงช้า เพลงเร็วอะน้อยมาก
The People : ทีนี้ด้วยภาพลักษณ์อะไรหลาย ๆ อย่าง กับการทำงานร่วมกับผู้คนในวงการบันเทิงที่มันหลากหลายมาก ๆ คนที่ไม่สนิทมากก็อาจจะตีว่า นิ่ง ๆ ทีนี้มันจะง่ายต่อการโดนเอาเปรียบ โดนใส่ร้ายต่าง ๆ นานา พี่ต่ายผ่านเรื่องแบบนี้มาได้ยังไงบ้าง
ต่าย อรทัย : ก็บางอย่างที่เขาพูด เขาไม่ได้มารู้จริง ๆ ว่าเราเป็นคนยังไง แต่ก็มีความรู้สึกว่า อาจจะไกลมาก ๆ ไม่ได้สนิท แล้วก็วิเคราะห์กันไป สนุกกันไป อย่างนี้ค่ะ แต่ก็รู้สึกว่า คนที่สำคัญ ๆ อยู่ใกล้ แล้วมีผลในชีวิตของเรา ทั้งการที่เราจะทำงานร่วมกัน ทั้งเป็นบุคคลที่จะร่วมเดินกันไป ทำงานทุกอย่างที่มันเป็นเส้นทางของเรา คนเหล่านี้คือเป็นบุคลลที่รู้จักเรามากที่สุด แล้วก็คิดว่า กระบวนการต่าง ๆ ที่เราช่วยเหลือกัน จนงานเราสำเร็จมาด้วยกัน ผ่านทุกข์ผ่านสุข เขาเห็นกันหมดว่าเราเป็นยังไง แล้วอีกหลาย comment ที่มาพูด อ้าว ก็ไม่ได้พูดความจริง คือก็ไม่ได้รู้ว่าเราเป็นยังไง ก็คิดว่า คือไม่ได้มีผลอะไรกับเรา เพราะฉะนั้นมันอาจจะวิ่งมาชนบ้าง แต่เราก็มีเหตุผลอยู่บ้างว่าคุณไม่ได้มารู้จักเราตรงนี้นะ แล้วคุณไม่ได้รู้จักเราจริง ๆ ก็ปล่อยผ่าน ใช่ค่ะ
The People : เรื่องทำนองแบบนี้ มันทำให้ท้อหรือว่าไม่อยากไปทำงานบ้างไหมคะ
ต่าย อรทัย : มันแค่มากระทบนิดหน่อยค่ะ ถ้าเราคิดว่าวันนี้เราจะไปทำงาน ไปร้องเพลงให้ใครฟัง แล้วก็ใครจ้างงานเรา เรามีอะไร ทำไมเขาถึงจ้างงาน แล้วเราจะไปทำอะไร ไปทำหน้าที่อะไรตรงนั้น แต่เราคิดว่าเตรียมตัวให้มันดี พอเราคิดแบบนี้ เราก็จะอยู่กับสิ่งนี้ได้ 100% สิ่งที่มันเคยวิ่งมากระทบกับเรา มันก็จะหายไปเลย เพราะว่าเราก็จะมุ่งอยู่กับสิ่งที่ต้องเตรียมตัว มุ่งบริหารการจัดการเวลาทำงาน เวลานอน เวลาจะไป จะมา ขึ้นเวทีกี่ทุ่ม ที่ไหน อะไรยังไง เราอยู่กับตรงนี้ เราอยู่กับมันจริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านั้นมันจะหายไปเลย จะไม่ได้มาอยู่ในความรู้สึกของเรา ก็พยายามโฟกัสในสิ่งที่เรากำลังจะทำ อยู่กับปัจจุบัน สิ่งเหล่านั้นมันก็หายไปเองค่ะ
The People : เคยแอบจินตนาการไว้ไหมคะว่า ถ้าในอนาคตเราออกเพลง แต่เพลงใหม่ ๆ ของเรามันไม่ดังเท่าเพลงเก่า ๆ ซึ่งมันเป็นจุดสูงสุดมากในชีวิตพี่ พี่จะรับมือกับความรู้สึกแบบนี้อย่างไร
ต่าย อรทัย : คือจริง ๆ มันไม่ใช่ว่ามันจะเกิดในอนาคต แต่มันก็เคยเกิดมาแล้ว เกิดมาในทุกอัลบั้มของเราแล้วด้วยซ้ำ จริง ๆ คนที่ทำเพลง ทั้งเบื้องหน้า อย่างพี่ต่ายด้วย แล้วก็เบื้องหลัง ก็คือในหนึ่งอัลบั้ม เราอยากให้ทุกคนรู้จักกับทุกเพลงอยู่แล้ว แต่มันเป็นไปไม่ได้ อาจจะรู้จัก แต่เพลงอาจจะไม่ได้ดังไปทั่วในทุกกลุ่ม แล้วก็ไม่สามารถที่จะดังได้ทั้ง 10 เพลง หรือว่าดังได้ทั้งหมด สมมติวันนี้มี 120 เพลง มันไม่สามารถที่จะดังตู้มขึ้นมาพลุแตกได้ 120 เพลง เราเจอมาแล้ว ความรู้สึกนี้ ต่ายก็รู้สึก ก็ไม่เป็นไร เอาใหม่ เพราะว่าครูบาอาจารย์ทุกคนก็คือ เขียนเพลงขึ้นมา เราอยากให้กำลังใจทุกคน เราหวังว่า ถ้ามันดัง มันก็เป็นกำลังใจให้พวกเราได้มีแรง มีไฟ สู้ต่อในอัลบั้มต่อไป เท่านั้นเอง จริง ๆ ค่ะ
The People : ทีนี้มาพูดถึงเพลงใหม่กันบ้าง ‘ผู้หญิงหัวใจอีสาน’ เพลงนี้แตกต่างจากเพลงอื่นอย่างไร
ต่าย อรทัย : ชื่อเพลงนี้มันไม่เคยมีปรากฏขึ้นมาในทุกอัลบั้มแน่นอน แต่ความหมายมันก็คือ เรื่องราวที่ได้เล่าให้ทุกคนฟังตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ แล้วก็เหมือนกับเป็นการนำมาสรุปรวบยอด ให้ทุกคนได้ฟังเป็นเพลงนี้ ผู้หญิงหัวใจอีสานในวันนี้ ก็คือเป็นความพิเศษมากนะคะสำหรับเพลงนี้ในอัลบั้มนี้ เพราะว่าเป็นเพลงแรกที่ผู้บริหาร ก็คือคุณฟ้าใหม่ ดํารงชัยธรรม ได้แต่งชื่อเพลงนี้ให้ ครั้งแรกเลย แล้วก็เหมือนกับว่า เหมือนกับครูบาอาจารย์เบื้องหลัง คุยงานกันหนักหน่วงมาก จะมีอัลบั้มนึงของศิลปินแต่ละคนนี่ เพลงนี้ก็เคยเล่าไปแล้ว เรื่องราวแบบนี้ก็เลยเล่าไปแล้ว จะเล่าอะไรอีก
ในยุคนี้คนอยากฟังอะไรจากต่าย อรทัย คือเป็นเรื่องที่หนักมาก เราเนี่ย รอ เนื้อเพลงจะมาหรือยังน้อ ไกด์เพลงมาหรือยัง ได้เพลงแบบไหน ชื่ออะไรเรา ทำหน้าที่รอ เป็นคนถ่ายทอด แล้วก็เหมือนกับฟังคำบอกเล่าจากครูด้วย เข้าที่ประชุม แล้วคุณฟ้าใหม่เหมือนกับ “ถ้าเป็นผม ผมเป็นคนอยู่ภาคกลางเนอะ ถ้ามองเข้าไปว่าพี่ต่ายต้องยังไง เหมือนกับคุณฟ้าใหม่ก็ … หัวใจอีสาน” แล้วเราก็ เหมือนเรามานั่งเล่าทุกเรื่องให้ทุกคนได้ฟัง เหมือนเล่าประสัติเส้นทางชีวิตมา ต่อให้ชีวิตเราเผชิญกับอะไรมาก็ตาม อย่าลืมว่าเราเนี่ยเป็นใคร เกิดจากที่ไหน มาจากที่ใด สู้ลำบากยังไง อย่าลืมบอกว่าเราเป็นใคร
The People : มันฟังดูยิ่งใหญ่มากเลย
ต่าย อรทัย : ก็มีความยิ่งใหญ่มาก ถ้าหลาย ๆ คนได้ฟังเรื่องราวเนี่ย ถ้าใครที่เดินมาในช่วง พ.ศ. เดียวกัน จะเข้าใจมาก ๆ ว่าภาษาที่เราถ่ายทอดในนั้น และวิถีความเป็นลูกอีสาน ลูกชาวนา มันเป็นยังไง พอถึงวันนึงที่เรามาสู้ชีวิต จนวันนึงมันก้าวมาได้ไกลขนาดนี้ แล้วเราก็ยังคงพูดถึงมันอย่างภาคภูมิใจ เราดีใจมาก ๆ ดนตรีที่มันมีความเป็นอีสาน แล้วก็อยากให้มีความแปลกใหม่ ด้วยความที่มันมีวงออร์เคสตรามาบรรเลงอยู่ในนี้ มันทำให้เราเห็นภาพว่า อย่างนี้มันไม่ได้ยิ่งใหญ่แค่ในหัวใจของเรา แต่มันยิ่งใหญ่ไปถึงว่า ทุกคนจะจินตนาการตาม ภาพนี้จะเป็นภาพคอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่ สามารถเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ได้ ใหญ่ถึงขนาดนั้นเลยค่ะ
สิ่งที่ต่ายคาดหวัง คืออยากจะให้มันเป็นเพลงที่ยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกผู้หญิงทุกคนจงภูมิใจ จงมั่นใจในความเป็นลูกข้าวเหนียว จงภูมิในความเป็นลูกอีสาน ว่าเฮาสู้มาขนาดนี้ เฮามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ความอดทน ความไม่ยอมแพ้ นี่แหละคือตัวตนของเฮา
The People : ทีนี้มาถึงเรื่องความรักบ้าง ด้วยความที่พี่ต่ายร้องเพลงรัก เพลงเศร้าร้อยกว่าเพลง อยากให้พี่ต่ายช่วยนิยามความรักในแบบของพี่ต่ายว่ามันคืออะไรคะ
ต่าย อรทัย : รักแบบหนุ่มสาวเอาไว้ก่อน รักอื่น ๆ เรารักพ่อ รักแม่ รักครอบครัว รักทีมงาน รักในหน้าที่การงาน พี่ต่ายคิดว่า เราก็ผ่านทุกข์ผ่านสุขมาด้วยกัน เก่าไป ใหม่มา จากเก่าไปใหม่มา จะมีทั้งเรื่องดีที่เกิดขึ้นหรือเรื่องไม่ดีที่เกิดขึ้น พี่ต่ายก็คิดว่าเราอะ เราเก็บประสบการณ์ตรงนี้มาพอสมควร แต่เราก็จะพูดถึงกันและกันในมุมที่ดีเข้าไว้ ก็คิดว่ามันก็เป็นแรงพลังให้กับเราด้วย ทั้งทีมงานเราด้วย มันเป็นการฝึกทั้งตัวเรา แล้วเป็นการฝึกทั้งทีมงานให้มองบวกไปด้วยกัน ก็คิดว่าอันนี้มันก็เป็นความรักอย่างนึงที่เรามีให้กัน เอื้ออาทรกับเพื่อนร่วมงาน กับเพื่อนที่เรารู้จัก อันนี้ก็คิดว่าเป็นความรักที่ดีมาก ๆ แล้วก็เกิดปัญหาขึ้น แต่สุดท้าย ด้วยความที่มันเป็นมิตรภาพร่วมกันได้ ในสิ่งที่เราคิดร่วมกัน มันก็จะไปหักล้างร่วมกันได้ อันนี้คิดว่าเราผ่านมาได้แล้ว แต่ในเรื่องความรักที่เกี่ยวกับรักแบบคู่รัก ณ ตอนนี้ก็โอเคนะ อยู่กับตัวเองก็มีความสุขดี
The People : อีกความรักนึงที่สำคัญกับชีวิตพี่ต่าย แล้วมันน่าจะทำให้พี่ต่ายเป็นพี่ต่ายในวันนี้ คือความรักจากคุณยาย
ต่าย อรทัย : ใช่
The People : เชื่อว่าพี่ต่ายแอบคุยกับคุณยายทุกวันแน่นอน พอจะบอกได้ไหมคะว่าคุยอะไร
ต่าย อรทัย : เราก็ไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นไหมนะ แต่พอคุณยายไม่อยู่ มันก็จะมีความ คือบางทีแบบ ยาย สบายดีไหม เออ บางทีนั่ง ๆ อยู่ ยาย สบายดีไหม เออ หลานสบายดี อย่างนี้ค่ะ ก็วันนี้เป็นวันที่ดีเนอะ อย่างนี้ค่ะ หรือว่าอย่างเช่น เปิดสตูดิโอ บางทีก็จะขอพรจากยาย อย่าลืมอวยพรให้หนูนะแม่เด้อ อยากให้บ้านหลังนี้หรือสตูดิโอนี้ หรือธุรกิจนี้ไปได้ดี อย่างนี้ มันเป็นภาพในหัวของเราที่แบบ ขอบคุณยายที่เป็นแรงบันดาลใจให้อยู่เสมอ ยายเป็นแรงผลักทุกอย่าง ยายเป็นแรงให้กับลูกหลายในวันนี้ อย่างนี้ค่ะ ก็จะคุยอยู่คนเดียวก็มี หรือวันไหนที่เรารู้สึกเหนื่อยมาก ๆ เหนื่อยจังเลย กอดหนูหน่อย บางทีนอน ๆ อยู่ก็กอดหนูหน่อย
บางทีก็นอนร้องไห้ไป อยู่ดี ๆ อ้าว เมื่อคืนคุยกับยายหรอ อย่างนี้ค่ะ มันไม่ใช่ว่ายายมาหาเรา เป็นอะไรแบบนั้นนะ แต่เราก็ เราเป็นคนที่เหมือนเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวในจิตใจของเรา เป็นร่มใจ เรียกว่าร่มใจให้กับเรา
The People : สุดท้ายแล้ว ขอเป็นเรื่องสนุก ๆ บ้าง พี่ต่ายเคยได้ยินเพลงที่ชื่อว่า habits ที่มันจะร้องว่า high all the time แล้วหลังจากนั้น มันทำให้ทุกคนเวลานึกถึงชื่อพี่ต่าย เสียงในหัวมันจะเปลี่ยนไปเป็น ต่าย อรทัย เคยได้ยินเรื่องนี้ไหมคะ หรือทีมงานเคยเล่าให้ฟังเรื่องนี้ไหม
ต่าย อรทัย : เคยได้ยินค่ะ เคยได้ยิน หลายคนมาก เรารู้สึกว่า พิธีกรเอย นักแสดงเอย นักร้องคนอื่น ๆ ที่เคยแบบว่า เป็นสายสตริง สายสากลใช่ไหมคะ ที่บางทีเราไม่ค่อยได้เจอหรอก เราอาจจะไปเจอที่รายการ อย่างนี้ค่ะ แล้วก็แบบ บางที พี่ ชื่นชอบพี่มากเลยนะ ติดตามผลงานพี่ตลอด ชอบเพลงพี่อยู่เพลงนึง เราก็ตั้งใจฟังว่า เอ้ย ดอกหญ้าในป่าปูน หรือไม่ก็โทรหาแน่เด้อ หรือไม่ก็อร่อยสักอย่าง เราก็คาดหวังว่าจะต้องได้ฟังเพลงนี้ เพลงนี้พี่ ต้องจำได้แน่ ๆ เลย ต่าย อรทัย โอ้ย
มุขนี้ตลอด จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีนะ แล้วเราเองก็จะตกหลุมพลางนี้ตลอดว่าต้องเป็นเพลงนี้ แต่ไม่ใช่ เป็นเพลงนี้ตลอด
The People : เคยได้ไปฟังต้นฉบับไหมคะ
ต่าย อรทัย : ฟัง
The People :แล้วรู้สึกว่ามันเหมือนชื่อเราไหม
มันก็เหมือนนะ เราก็ไม่ได้ หมายถึง accent เรา เราก็ไม่ได้ฟังเป็นคำนั้นเลยอะ มันฟังเป็นต่าย อรทัย เป็นอย่างนั้นไปเลย (หัวเราะ)