เธียรี่ มาลองแดง กับการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของบัลเลต์ฝรั่งเศส

เธียรี่ มาลองแดง กับการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของบัลเลต์ฝรั่งเศส

เธียรี่ มาลองแดง หัวหน้าคณะ Malandain Ballet Biarritz กับการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของบัลเลต์ฝรั่งเศส

บทความนี้จะชวนมาทำความรู้จักกับ Thierry Malandain หัวหน้าคณะ Malandain Ballet Biarritz ร่วมกับวง Opéra Royal Château de Versailles Orchestra ที่จะมาเปิดการแสดงในมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติครั้งที่ 26 ของกรุงเทพฯ ในวันเสาร์ที่ 7 กันยายนนี้ นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่จะได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์กับคณะบัลเลต์ชื่อดังจากทางตอนใต้ของฝรั่งเศส โดยนำเสนอชีวิตของพระนางมารี อ็องตัวเนตต์ (Marie Antoinette) ราชินีผู้อาภัพกับช่วงชีวิตที่โลดโผนในราชสำนักฝรั่งเศส ตั้งแต่เสกสมรสจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ที่ดำเนินเรื่องราวผ่านเสียงของบทประพันธ์เพลงจาก Joseph Haydn และ Christoph Willibald Gluck สุ้มเสียงที่ถือกำเนิดร่วมยุคสมัยกับบริบท ราวกับใช้เสียงดนตรีเป็นเครื่องมือย้อนเวลาสร้างบรรยากาศให้กับผู้ฟังอยู่ท่ามกลางศตวรรษที่ 18 และ Thierry Malandain ได้ทำหน้าที่รักษามรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์รุ่มรวยของบัลเลต์ฝรั่งเศสเอาไว้ บัลเลต์เป็นส่วนหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญของฝรั่งเศสได้อย่างไร? เป็นสิ่งที่ผู้อ่านก็อาจจะมีข้อสงสัยอยู่ไม่น้อย บางคนเมื่อถึงบัลเลต์อาจจะนึกถึงคณะที่มาจากรัสเซีย แล้วฝรั่งเศสมีความสำคัญขนาดไหนกับบัลเลต์? เป็นคำถามที่อยากชวนผู้อ่านทำความรู้จักไปพร้อมกัน
 

เมื่อสืบย้อนกลับไปถึงที่มาและการเต้นรำบัลเลต์ ถือได้เป็นวัฒนธรรมร่วมรากที่เกิดขึ้นในยุโรปตั้งแต่ช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ รากฐานที่มาจากอิตาลี และนำเข้าสู่ฝรั่งเศสโดยพระนางแคทเทอรีน แห่งตระกูลเมดิชี (Catherine de’ Medici, 1519-1589) บุตรีตระกูลมหาเศรษฐีชื่อดังแห่งยุค ที่ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 แห่งฝรั่งเศส (Henry II, 1519-1559) จนทำให้บัลเลต์กลายเป็นกิจกรรมในหมู่ชนชั้นนำ ที่ผู้เข้าร่วมสามารถแต่งกายได้มากกว่าปกติชีวิตประจำวันและยังได้สังสรรค์ร่วมกันผ่านการเต้นรำ 
 

ต่อมาได้ถูกพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมโดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV, 1638-1715) ที่ก่อตั้งราชวิทยาลัยการเต้นรำ (Académie Royale de Danse) ขึ้นในปี 1661 ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพิ่มพูนศักยภาพการเต้นรำสำหรับความบันเทิงในราชสำนัก โดยมี ฌอง แบ็พทิสท์ ลูลี (Jean-Baptiste Lully, 1632-1687) ผู้อำนวยการราชวิทยาลัยดนตรี (Académie Royale de Musique) มีหน้าที่ดูแลกำกับสถาบันการเต้นรำที่เกิดขึ้นใหม่ โดยให้ ปิแอร์ บูฌอง (Pierre Beauchamp, 1631-1705) มาช่วยกำกับในส่วนของการเต้นรำ จนกระทั่งเริ่มเสื่อมถอยลงช่วงต้นศตวรรษที่ 18 แต่กลับเบ่งบานไปทั่วยุโรปในประเทศข้างเคียงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัสเซียที่เติบโตอย่างมากในช่วงศตวรรษต่อมา จากประวัติศาสตร์พอสังเขปดังปรากฏมาจวบจนถึงปัจจุบันในนามของคณะ Paris Opera Ballet ที่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันโอเปราแห่งปารีส the Opéra National de Paris และเป็นคณะเริ่มแรกบัลเลต์ Thierry Malandain เคยสังกัด 
 

เธียรี่ มาลองแดง กับการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของบัลเลต์ฝรั่งเศส

 

จากนักเต้นสู่นักออกแบบท่าเต้น : เส้นทางอาชีพของ Thierry Malandain

ในวัย 65 หากกล่าวโดยทั่วไปแล้วควรเป็นช่วงเวลาเกษียณตัวเองจากวงการเพื่อไปพักผ่อน แต่เขากลับยังคงบทบาทหน้าที่ในฐานะหัวหน้าคณะ Malandain Ballet Biarritz ที่เปี่ยมล้นไปด้วยพลังแห่งการคิดสร้างสรรค์ Thierry เริ่มต้นชีวิตนักเต้นบัลเลต์คล้ายกับนักเต้นทั่วไป ที่เริ่มมาจากการเข้าร่วมคณะการแสดง และผ่านการดำเนินแบบวิถีทั่วไปในโลกของศิลปินที่มีการแข่งขันสูง โดยต้องอาศัยการประกวดแข่งขันเป็นบันไดในการสร้างชื่อชั้นของตัวเองขึ้นมา ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของเขามีกลิ่นอายของความไม่โอนอ่อนผ่อนปรนตามขนบประเพณีและบางครั้งถึงกับดื้อดึง ดังที่เขามักจะให้สัมภาษณ์อยู่เสมอว่าเขาเป็นกบฏทางความคิด เป็นส่วนหนึ่งซึ่งสำคัญอย่างมากที่ทำให้เขาแตกต่างจากคนบัลเลต์โดยทั่วไป
 

เส้นทางสายอาชีพของ Thierry เริ่มต้นกับคณะบัลเลต์ที่เป็นสถาบันอันเก่าแก่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่าง Paris Opera Ballet ช่วงปี 1977-1978 โดยมี Violette Verdy เธอเป็นหัวหน้าคณะที่มีส่วนเลือกให้เข้าร่วมคณะ และยังเป็นประธานจัดการแข่งขันเต้นบัลเลต์นานาชาติ Prix de Lausanne ในปี 1978 ที่ Thierry ได้เข้าร่วมแข่งขัน ช่วงเวลาเดียวกัน เขาได้รู้จักกับ Jean Sarelli ปรมาจารย์แห่งวงการบัลเลต์ที่ต่อมาได้มารับตำแหน่งหัวหน้าคณะ Ballet du Rhin แห่งเมือง Mulhouse โดย Thierry ใช้เวลาอยู่กับคณะนี้ถึงปี 1980 จนกระทั่งย้ายไปอยู่กับคณะ Ballet Théâtre Français de Nancy จนถึงปี 1986 และได้ตัดสินลาออกมาพร้อมกับนักเต้น 8 คน เพื่อก่อตั้งคณะ the Compagnie Temps Présent in Elancourt ณ ย่านชานเมืองของกรุงปารีส

ชื่อเสียงของ Thierry ในฐานะนักออกแบบท่าเต้น เริ่มปรากฏชัดจากการเข้าร่วมแข่งขันการออกแบบท่าเต้นตั้งแต่ปี 1984 เขาได้รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งในงาน Prix Volinine เป็นการออกแบบท่าเต้นไปกับบทเพลง Quatuor op.3 ของ Guilaume Lekeu จนปีต่อมาเขาได้รางวัลชนะเลิศในการประกวดการออกแบบท่าเต้นงาน Nyon ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยการออกแบบท่าเต้นกับเพลง Sonatine (1951) ของ Karlheinz Stockhausen และ Métamorphosis (1951) ของ Benjamin Britten ซึ่งแน่นอนว่าบทเพลงดังที่กล่าวมาอาจจะมิใช่บทเพลงตามขนบของนักออกแบบท่าเต้นที่มักจะนำมาใช้เป็นบทเพลงบรรเลงประกอบการเต้น และเป็นหน่ออ่อนที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจเขาในฐานะผู้ออกแบบท่าเต้นที่ใช้ดนตรีแหกขนบ ที่เลือกใช้สุ้มเสียงที่คนส่วนใหญ่คิดไม่ถึงว่าจะเป็นเพลงเหล่านี้ที่จะนำมาใช้ประกอบการเต้นรำได้ 

 

เธียรี่ มาลองแดง กับการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของบัลเลต์ฝรั่งเศส

 

งานชิ้นสำคัญที่ทำให้ผู้คนรู้จักเป็นวงกว้างอย่าง L’Homme aux semelles de vent (1986) นำบทเพลงของ Benjamin Britten มาใช้ และถูกแสดงซ้ำภายใต้ชื่อใหม่ Les Illuminations (1989) สำหรับนักเต้นนามอุโฆษ Patrick Dupond และงานที่มีชื่อเสียงที่ออกแบบให้คณะ the Ballet National de Nancy ในชื่อชุด Edgar Allan Poe (1988) นำบทเพลงของ Claude Debussy และ André Caplet มาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานชุด Folksongs (1986) ที่เป็นการออกแบบท่าเต้นพร้อมกับบทเพลงของ Britten ถูกนำมาไปใช้แสดงในคณะบัลเลต์ต่าง ๆ มากมาย เขาเปรียบเสมือนผู้สร้างสรรค์ผลงานจากชายขอบที่ใช้ภาษาการเต้นรำแบบคลาสสิกแต่ประยุกต์กับดนตรีแปลกใหม่ และยังเป็นผู้ออกแบบท่าเต้นให้กับคณะโอเปรา the Ballet de I’Opéra de Nantes ในชุด “Danses qu’on croise” (1987) เป็นการเต้นรำประกอบดนตรีของ Brahms

ดังจะเห็นได้จากช่วงเวลาที่เขาเริ่มสร้างชื่อเสียงในฐานะผู้ออกแบบท่าเต้นจนลือชื่อตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 จนถึงช่วงทศวรรษที่ 1990 เขาใช้บทเพลงหลากรูปแบบทั้งในและนอกขนบการเต้นบัลเลต์มาใช้เป็นบทเพลงสำคัญในการดำเนินเรื่องราวของการเต้นรำ จากเหล่านักประพันธ์อันหลากหลาย เช่น Chopin, Shostakovich, Stravinsky, Prokofiev , Antheil, Steve Reich, Tchaikovsky, Jules Massenet เป็นต้น รวมถึงกล้าหาญที่จะสร้างสรรค์ท่าเต้นใหม่จากการปรับปรุงงานบัลเลต์จากผลงานชุดเดิมที่เคยมีชื่อเสียงในหลายผลงาน บทเพลงที่มีความหลากหลายเป็นจุดตัดสำคัญที่เขาสะท้อนความสามารถในการออกแบบท่าทางการเต้นบัลเลต์ที่อยู่บนท่วงทำนองของดนตรีที่มีความเฉพาะและยากยิ่งในการออกแบบท่าเต้น จนทำให้เขาเป็นที่สนใจของรัฐบาลฝรั่งเศส ในฐานะหนึ่งในผู้ที่จะธำรงรักษาวัฒนธรรมการเต้นรำบัลเลต์ให้ยังมีลมหายใจอยู่ท่ามกลางโลกสมัยใหม่

 

เธียรี่ มาลองแดง กับการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของบัลเลต์ฝรั่งเศส

 

จุดกำเนิดคณะ Malandain Ballet Biarritz

ปี 1997 กระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสารของฝรั่งเศส ร่วมกับเทศบาลเมือง Biarritz ได้เสนอให้ Thierry Malandain เป็นผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้การเต้นรำร่วมสมัย (Centre Chorégraphique Contemporain: CCN) แห่งแรกของเมืองนี้ ที่ตั้งอยู่แถบชายฝั่งทางตอนใต้ของฝรั่งเศสใกล้กับเขตชายแดนประเทศสเปน โดยก่อตั้งเป็นศูนย์วัฒนธรรมของเมืองครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนปี 1998 ในพื้นที่เก่าของชานชาลารถไฟ (the Gare du Midi) ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่ถูกทิ้งร้าง แต่ยังคงเค้าความงามจากสถาปัตยกรรมที่สง่างามแบบศิลปะ Art Nouveau ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1911 ออกแบบอาคารโดย Adolphe Dervaux ซึ่งถูกเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งานให้กลายเป็นศูนย์วัฒนธรรมของเมือง และแน่นอนว่าต้องมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่ถูกจัดสรรและออกแบบเป็นอย่างดีเพื่อทำให้ศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมแห่งนี้มีชีวิตด้วยกิจกรรมของผู้คนที่เข้ามาใช้สอยพื้นที่นี้ใหม่อีกครั้ง

ในเวลาต่อมาจากการดูแลศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ของ Thierry ทำให้เขามีพื้นที่ใหม่ที่จะสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ ขึ้นมา จากการสนับสนุนของผู้จัดการโอเปราชื่อดังอย่าง Jean-Louis Pichon และเป็นจุดเริ่มต้นที่ Thierry นำผลงานบัลเลต์เก่าของ Jules Massenet เรื่อง Le Cid, Le Carillon และ Cigale มาปรับปรุงการแสดงใหม่อีกครั้ง ในเวลาต่อมาศูนย์แห่งนี้ได้ Peio Çabalette เข้ามาช่วยเสริมในด้านดนตรีในกับคณะบัลเลต์แห่งเมือง Biarritz และเกิดผลงานชิ้นสำคัญมากมายที่ออกมาจากศูนย์การรู้ทางวัฒนธรรมแห่งนี้ 

หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ที่ Thierry ทำในฐานะผู้อำนวยการคณะ CCN คืองาน Les Créatures เป็นการออกแบบท่าเต้นบัลเลต์บนบทเพลงของ Beethoven ที่สง่างามร่วมสมัยสมกับที่เป็นลายเซ็นลีลาการออกแบบของ Thierry เป็นผลงานที่ถูกนำแสดงครั้งแรกที่กรุงปารีส และเข้าชิงรางวัล Benoise de la Banse ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ร่วมถึงได้รางวัลจากนักวิจารณ์ ในงานเทศกาลบัลเลต์นานาชาติ ณ กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา  

 

เธียรี่ มาลองแดง กับการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของบัลเลต์ฝรั่งเศส

 

Thierry ยังมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งเทศกาลศิลปะ the Temps d’Aimer ที่ทลายเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างฝรั่งเศสกับสเปน โดยทำความร่วมมือกับชุมชนชาว Basque ใน Donostia-San Sebastián และงานสร้างสรรค์ของเขายังกลายเป็นผลงานอ้างอิงที่คณะบัลเลต์ต่าง ๆ ทั่วโลกนำไปใช้แสดงอย่าง the Sadamatsu Hamada Ballet, the Teatro di San Carlo of Naples, the Staatsoper และ the Volksoper ในกรุงเวียนนา รวมถึงประเทศต่าง ๆ ได้นำผลงานของเขาไปใช้จัดแสดงในคณะบัลเลต์เมืองต่าง ๆ ของโลก เช่น ในเมือง Caracas, Hongkong, Aspen, Cairo เป็นต้น หรือแม้แต่ในประเทศฝรั่งเศสผลงานของเขายังได้ถูกนำไปใช้ในคณะบัลเลต์ชื่อดังเก่าแก่ต่าง ๆ เช่น the Ballet de I’ Opéra national du Rhin, the Ballet national de Marseille, the Ballet de I’Opéra national de Bordeaux และ the Ballet du Capitole de Toulouse เป็นต้น เป็นสิ่งซึ่งสะท้อนถึงการได้รับการยอมรับในฐานะผลงานสร้างสรรค์ที่ถูกนำไปใช้ในคณะบัลเลต์ชั้นนำจัดแสดงด้วยแนวคิดของเขา ซึ่งทั้งหมดเป็นผลงานในช่วง 10 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งศูนย์ที่เขาทำงานในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฯ CCN  

จนกระทั่งปี 2009 คณะ CCN ได้ทำการเปลี่ยนชื่อคณะเดิมเป็น Malandain Ballet Biarritz โดยเพิ่มชื่อสกุลของเขาไป เพื่อเป็นการประกาศเกียรติภูมิแห่งการสร้างสรรค์ของเขาที่มอบให้กับคณะบัลเลต์นี้จนมีชื่อเสียงโด่งดัง และเขายังสร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความใหม่จากผลงานดั้งเดิม ซึ่งเป็นสุดยอดความท้าทายที่หากไม่แน่จริงทำออกมาอาจจะถูกนักวิจารณ์โจมตีได้ ไม่ว่าจะเป็นผลงานอย่าง Magnifique (2009) ที่นำบทประพันธ์เพลงบัลเลต์สำคัญ 3 บทเพลงทั้ง The Sleeping Beauty, Swan Lake, และ The Nutcracker ของ Tchaikovsky มาดัดแปลงให้ต่อเนื่องเป็นงานชิ้นเดียวกันขึ้นใหม่ หรือการนำบทเพลง Roméo et Juliette (2010) ของ Hector Berlioz มาใช้ประกอบการแสดงเต้นบัลเลต์ทั้งที่เคยมี Prokofiev ทำก่อนแล้ว และช่วงหลังการเปลี่ยนชื่อคณะ เขาร่วมงานกับนักประพันธ์เพลงสมัยใหม่อย่าง Guillaume Connesson ที่มีผลงานในชุด Lucifer (2011) บรรเลงโดย the Orhestre de Pau Pays de Béarn โดยมี Fayçal Karoui เป็นวาทยกร 

 

เธียรี่ มาลองแดง กับการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของบัลเลต์ฝรั่งเศส

 

แม้ในปี 2013 คณะบัลเลต์ Malandain มีตารางงานแสดงกว่า 100 ครั้งในหนึ่งปี แต่ก็ไม่ได้ทำให้พลังของ Thierry มอดดับไป เขากลับสร้างสรรค์ “Cendrillon” หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม “ซินเดอเรลล่า” โดยใช้ดนตรีของ Prokofiev บรรเลงประกอบ เป็นผลงานชิ้นสำคัญอีกชุดที่เป็นชักชวนจาก Laurent Bruenner ผู้อำนวยการวง the Opéra royal de Versailles และได้ทำการแสดง ณ พระราชวังแวร์ซาย เป็นครั้งแรก โดยนำวง the Orquesta Sinfónica จากเพื่อนบ้านแถบตะแข็บชายแดนมาร่วมบรรเลงประกอบ เป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งสะท้อนถึงกระบวนการสร้างสรรค์ของเขาที่ต้องการแสดงศักยภาพภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่ไม่เคยเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ผลงานของเขา และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมงานกันระหว่างคณะบัลเลต์ Maladain กับวงออร์เครสตราแห่งพระราชวังแวร์ซายอีกด้วย จนกระทั่ง เสียงเพลงที่ถูกเลือกให้เป็นเส้นดำเนินเรื่องของราชินีผู้โชคร้าย

ตลอดการแสดงบัลเลต์เรื่องนี้ Thierry ได้เลือกใช้บทเพลงของ Joseph Haydn นักประพันธ์ร่วมยุคร่วมชาติกำเนิดและยังร่วมสมัยกับพระนางมารี อ็องตัวเนตต์ เป็นเสียงหลักในการดำเนินเรื่องราวชีวิตพระนางฯตั้งแต่แต่งงานจนถึงจุดจบของชีวิต สำหรับการแสดงบัลเลต์นั้นหากปราศจากเสียงดนตรีแล้ว ผู้เต้นคงจะไร้ซึ่งจุดอ้างอิงของท่วงท่าที่ต้องเต้นพร้อมกับท่วงทำนองที่ปรากฏ เสมือนเป็นหมุดหลักที่ใช้ยึดโยงเป็นโครงสร้างเส้นเรื่องของการสร้างสรรค์ลีลาท่าทางให้การเต้นดำเนินความหมายไปพร้อมกับเสียงของดนตรี ทว่ามีเพียงส่วนเดียวของการแสดงเต้นบัลเลต์จากทั้งหมด 14 ส่วน ที่ใช้บทเพลงของ Christoph Willibald Gluck นักประพันธ์เพลงผู้เคยรับใช้พระนางมารี อ็องตัวเนตต์ และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนโทนเสียงของการร้องโอเปราในเรื่อง Orfeo ed Euridice ที่เคยนิยมการร้องนำในบทบาทนำของพระเอกเรื่องในแบบ castrato หรือเป็นเสียงร้องในย่านสูงของผู้ชายที่ต้องตอนอันฑะเพื่อรักษาย่านเสียงสูงนี้ไว้ มาสู่การปรับเสียงร้องลดลงมาในระดับกลางค่อนไปทางต่ำหรือแนวเสียง Tenor แต่ในงานบัลเลต์เรื่องนี้เลือกนำเสนอท่อน Dance of the Blessed Spirits ซึ่งเป็นการบรรเลงนำโดยเสียงฟลูตและประกอบด้วยวงออร์เครสตรา โดยมีรายละเอียดพอสังเขปเพื่อเป็นทิศทางในการฟังและทำความเข้าใจภาพที่ปรากฏประกอบการแสดงได้กระจ่างชัดที่ผู้สร้างสรรค์อย่าง Thierry ได้นำเสนอดังนี้

 

เธียรี่ มาลองแดง กับการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของบัลเลต์ฝรั่งเศส

 

Symphony หมายเลข 6 ของ Haydn เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่ถูกนำมาใช้ครบทั้ง 4 ท่อน ในท่อนแรกเป็นการใช้เสียงเล่าเรื่องราวของการเต้นบัลเลต์ เพื่อบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของคนทั้ง 2 คือ เจ้าชายแห่งฝรั่งเศส Louis-Auguste ในวัย 15 ปี กับเจ้าหญิงแห่งออสเตรีย (Archduchess of Austra) ณ พระราชวังแวร์ซาย กับลางร้ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นคือพลุที่จะถูกเตรียมจุดเพื่อใช้เฉลิมฉลองต้องเลื่อนออกไปจากพายุเข้า ทำให้วันนั้นจบลงด้วยการเลี้ยงอาหารมื้อเย็น บนโต๊ะขนานใหญ่ที่จัดเตรียมไว้ในหอแสดงโอเปราของพระราชวังแวร์ซาย ในท่อน 2 ถูกใช้ในฉากต่อมาหลังอาหารมื้อเย็นเป็นฉากเข้าเรือนหอแต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติกิจได้สำเร็จตามเป้าหมายจนกระทั่งอีก 7 ปีต่อมา ท่อนที่ 3 และ 4 บทเพลงถูกใช้สำหรับเล่าบรรยากาศวิถีชีวิตพระนางมารีในวันถัดมา ที่เป็นเรียนรู้วัฒนธรรมราชสำนักใหม่ผ่านการแสดงละครเรื่อง Perseus (1682) ที่เปรียบเสมือนลางสังหรณ์ว่าในเวลาต่อมาเธอจะถูกตัดหัวออกเหมือนในละครเรื่องนี้ ดังที่ Perseus ได้ตัดหัว Medusa และนำหัวมาเป็นโล่กำบัง

Symphony หมายเลข 8 ของ Haydn ยังคงถูกใช้อย่างต่อเนื่องกับเสียงเพลงในท่อนแรก ที่ถูกใช้ในฉากที่ราชสำนักไปยังหอแสดงโอเปราเพื่อเต้นรำและมีเทศกาลสังสรรค์ และท่อนที่ 2-3 ที่ใช้เดินเรื่องการเต้นรำประกอบเรื่องราวการเหยียดหยามอนุภรรยาของพระหลุยส์ที่ 15 โดยการบังคับจากญาติฝ่ายสามีที่ให้พระนางมารีเป็นผู้ปฏิบัติ จนกระทั่งในท่อน 4 ถูกใช้ในจังหวะสวรรคตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 และการประกาศกษัตริย์พระองค์ใหม่คือหลุยส์ที่ 16 โดยท่อนที่ 5 เล่าถึงการเอาชัยชนะในแบบผู้หญิง ที่ใช่การมีอำนาจทางการเมือง หากแต่เป็นความสวยงามจากเสื้อผ้าอาภรณ์และทรงผม

แม้โครงหลักของเรื่องราวจะถูกดำเนินไปด้วย Symphony หมายเลข 6-7 แต่ในบัลเลต์ชุดนี้ยังนำ Symphony หมายเลข 73 ท่อนที่ 3 และ 2 มาใช้แบบไม่ได้เรียงลำดับ แต่นำเสนอในภาพของการเป็นอิสระจากฝั่งบ้านพระสวามีของนาง ในการที่มีสมบัติส่วนตัวที่ไม่ต้องคำนึงว่าจะมีใครเย้ยเยาะได้อีก และมีความมั่นใจในการที่ใช้ทรัพย์สมบัติได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดังปรากฏในฉากที่มีการเลือกทรงผมที่เป็นอิสระและมั่นใจ ในท่อน 2 ถูกนำมาใช้สำหรับฉากที่เป็นการนินทาพระนางว่าแตกต่างกับพระสวามีที่สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์และพระนางกับสนใจเรื่องไสยศาสตร์ และในท่อน 4 ใช้เล่าถึงความกังวลที่ยังไม่มีบุตร จนกระทั่งญาติฝั่งพระนางส่งพระโอรสของพระเจ้าโจเซฟที่ 2 มาวิเคราะห์ว่าทำไมถึงยังไม่มีลูก

หนึ่งปีหลังจากเหตุการณ์ที่กล่าวมา บทเพลง Dance of the Blissful Spirits ซึ่งเป็นท่อนหนึ่งในโอเปราเรื่อง Orpheus and Eurydice โดย Gluck ถูกนำมาใช้เป็นเส้นดำเนินเรื่องหลักในฉากนี้ เพื่อเล่าถึงบุตรสาวคนแรกจากสี่คนได้ถือกำหนดโดยมีชื่อเหมือนพระอัยยิกาคือ Marie-Thérèse และในฉากต่อมา Symphony หมายเลข 8 ของ Haydn ถูกนำมาใช้เกือบทุกท่อนยกเว้นท่อน 3 เพื่อเล่าถึงการที่มาการขยายสวน Trianon ในพระราชวังแวร์ซาย และใช้ชีวิตดุจชาวชนบทด้วยการสร้างบ้านในฝันหลังเล็ก ๆ ในสวนนี้เพื่อหลีกหนีความวุ่นวายในราชสำนัก จนถึงฉากชู้รัก Axel von Fersen ราชทูตจากสวีเดน ที่มักพบกันที่สวน Tuileries โดยจะได้ยินเสียงในท่อน 2 ของบทเพลงนี้อย่างเด่นชัด และในท่อนที่ 4 ใช้เป็นฉากที่เล่าถึงวันที่ 5 ตุลาคม 1789 ที่ฝูงชนพากันเดินแถวเข้าสู่พระราชวัง จนเข้าสู่วันที่ 6 เสียงกรีดร้องและปืนดัง และมีการกู่ร้องเรียกหาความตายของหญิงชาวออสเตรียด้วยการบั่นคอ และเป็นสิ้นสุดโชคชะตาของการเป็นพระราชินีแห่งฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์ 

 

เธียรี่ มาลองแดง กับการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของบัลเลต์ฝรั่งเศส

 

มรดกทางวัฒนธรรมบัลเลต์ฝรั่งเศสที่ยังคงธำรงรักษาไว้ได้อย่างสร้างสรรค์ 

เส้นทางชีวิตของ Thierry Malandain สะท้อนถึงการต่อรองกับอดีตกับความเป็นปัจจุบัน ที่สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ และต่างใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี เขาสามารถขยายความเป็นไปได้ใหม่ของวงการบัลเลต์ไว้ได้อย่างมีอนาคต ทั้งอาศัยดนตรีเป็นเครื่องมือสำคัญในการตีของความอารมณ์ความรู้สึกของการออกแบบท่าเต้น ร่วมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ที่อยู่ในงานบัลเลต์ไม่ว่าจะเป็นทั้งการจัดแสง ฉาก และเครื่องแต่งกาย 

ในฐานะที่เขาเป็นผู้รักษามรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของบัลเลต์ฝรั่งเศส จากประสบการณ์แรกเริ่มตั้งแต่นักเต้นสู่นักออกแบบท่าเต้น ได้พิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่าเขาเป็นกบฏทางความคิด แต่แอบซ้อนแบบไม่แสดงออกมาอย่างโจ่งแจ้งหรือทำให้ใครต้องตกใจทันทีเมื่อพบ เป็นการผสานและต่อรองความเป็นตัวตนของเขาภายใต้โครงสร้างวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ได้อย่างกลมกลืน ดังจะเห็นได้จากพัฒนาการของเขาในช่วงวัยหนุ่มที่ต้องการสร้างชื่อเสียงโดยเลือกใช้บทเพลงท้าทายขนบการเต้นบัลเลต์ แต่เมื่อเขาเติบโตขึ้นในช่วงที่เข้ามาดูและศูนย์ฯ เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเขามีแนวโน้มที่จะใช้ดนตรีดั้งเดิม แต่พยายามแน่นการนำเสนอรูปแบบการเต้นและองค์ประกอบทั้งฉากและการแต่งตัวที่มีความพิเศษและแตกต่างจากขนบเดิม

พลาดไม่ได้กับบัลเลต์ที่สะท้อนขนบความเป็นฝรั่งเศสที่มีทั้งความกบฏและมีความงามของอดีตอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ชวนสัมผัสประสบการณ์บัลเลต์สุดอลังการและเกินกว่าจะจินตนาการ กับเรื่องราวชีวิตของพระนางมารี อ็องตัวเนตต์ ราชินีผู้แสนอาภัพที่ประสบชะตาชีวิตสุดท้ายด้วยกิโยตีน ช่วงชีวิตที่สุดแสนจะอื้อฉาว และการเล่าย้อนถึงช่วงชีวิตของราชินีตั้งแต่วัยเยาว์ ด้วยงบประมาณการสร้างสรรค์กว่า 20 ล้านบาท กับงานสร้างสรรค์ที่ประกอบด้วยฉากสุดตระการตา เสมือนนำพระราชวังแวร์ซายมาตั้งไว้ที่ใจกลางกรุงเทพ โดยการออกแบบท่าระบำของ Thierry Malandain หัวหน้าคณะบัลเลต์ร่วมสมัยที่แม้เพิ่งตั้งได้ไม่นานนัก แต่มีชื่อเสียงมากมาย และการออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Jorge Gallardo หนึ่งในนักออกแบบนามอุโฆษของวงการ

 

เธียรี่ มาลองแดง กับการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของบัลเลต์ฝรั่งเศส