จาโคโม ปุชชีนี: ต้นแบบโอเปรา Verismo จุดเริ่มต้นอุปรากรสายแมสที่ทำให้พวกเราต้องเสียน้ำตา

จาโคโม ปุชชีนี: ต้นแบบโอเปรา Verismo จุดเริ่มต้นอุปรากรสายแมสที่ทำให้พวกเราต้องเสียน้ำตา

จาโคโม ปุชชีนี: ต้นแบบโอเปรา Verismo จุดเริ่มต้นอุปรากรสายแมสที่ทำให้พวกเราต้องเสียน้ำตา

เคยมีการจัดอันดับโอเปราที่คนรู้จักมากที่สุดในโลก หลายสำนักต่างยกให้ La Bohème, Tosca และ Madama Butterfly อยู่ในอันดับต้น ๆ จากจำนวนรอบการแสดงในแต่ละปี ซึ่งโอเปราทั้งหมดนี้เป็นผลงานการประพันธ์ของ จาโกโม ปุชชีนี (Giacomo Puccini) คีตกวีอุปรากรชาวอิตาเลียนจากยุคโรแมนติก 

นอกจากจำนวนรอบการแสดงแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีนั่นคือการที่โอเปราเหล่านี้ยังถูกนำมาใช้ในวัฒนธรรมป๊อปอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นบทร้องเดี่ยว Nessun Dorma จาก Turandot ที่ถูกใช้เป็นฉากหลังอันทรงพลังในตอนท้ายของภาพยนตร์ The Sum Of All Fears (2002) หรือการแสดงอุปกากร Tosca ที่ปรากฎใน James Bond ตอน Quantum of Solace (2008) หรือแม้แต่การนำอุปรากรมาสร้างเป็นละคร เช่น โจโจ้ซัง หรือ สาวเครือฟ้า ที่ดัดแปลงมาจากอุปรากร Madama Butterfly

สาเหตุที่อุปรากรของปุชชีนียังคงได้รับความนิยมและตรึงใจผู้คนมานานกว่าหนึ่งศตวรรษ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาได้ทำให้อุปรากรที่ครั้งหนึ่งเคยจำกัดอยู่ในผู้ฟังเฉพาะกลุ่มสามารถเข้าถึงผู้คนในวงกว้างได้มากยิ่งขึ้น ด้วยการหยิบยกเอาเรื่องราวใกล้ตัวที่คนส่วนใหญ่เข้าใจง่ายมาทำเป็นบทประพันธ์ อีกทั้งมีการใช้ท่วงทำนองที่ไพเราะเร้าอารมณ์ ช่วยขับให้ดราม่ามีความเข้มข้น และลึกซึ้งทางอารมณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องราวชีวิตของ จาโกโม ปุชชีนี เองก็เข้มข้นไม่แพ้อุปรากรของเขา จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นแรงขับสำคัญที่ทำให้ผลงานของเขาได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้ 

 

จาโคโม ปุชชีนี: ต้นแบบโอเปรา Verismo จุดเริ่มต้นอุปรากรสายแมสที่ทำให้พวกเราต้องเสียน้ำตา

 

หัวหอกโอเปรา Verismo

คนที่รู้จัก จาโกโม ปุชชีนี จะรู้ว่าเขาเป็นหนึ่งในนักประพันธ์โอเปราแนว Verismo คนสำคัญร่วมกับ ปิเยโตร มาซ์คานี่ (Pietro Mascagni), รุจีโร ลีอองคาวัลโล (Ruggiero Leoncavallo) และ อุมเบอร์โต จีออร์ดาโน (Umberto Giordano) โดย Verismo แปลว่า ความสมจริง ที่มีต้นกำเนิดในอิตาลีช่วงปี 1875 ถึงต้นทศวรรษ 1900 จากวรรณกรรมอิตาลีที่มีชื่อเดียวกัน โดยมีโอเปราแนว Verismo นั่นโดดเด่นด้วยการแสดงภาพชีวิตประจำวันที่สมจริงของผู้คน

แม้ว่างานในช่วงแรกของเขาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จะมีรากฐานมาจากโอเปราอิตาเลียนโรแมนติกแบบดั้งเดิม ที่เนื้อเรื่องส่วนใหญ่จะเป็นแนวแฟนตาซี มีการนำตำนานเทพปกรณัม หรือเรื่องที่มีแกนหลักเกี่ยวกับกษัตริย์ที่มีชื่อเสียงมาขับขาน แต่ต่อมาปูชีนีที่เป็นคีตกวีผู้แต่งดนตรีประกอบได้หันมาเลือกเนื้อเรื่องที่เป็นเรื่องราวใกล้ตัว ที่เป็นเนื้อหาหนัก ๆ เกี่ยวกับวิถีชีวิตผู้คน เรื่องราวที่ร่วมสมัย เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ รวมถึงชีวิตของคนยากจนมาทำเป็นโอเปรา อย่างปัญหาความรักของหญิงสาวทอผ้านาม มีมี่ กับกวีหนุ่ม โรฟอลโด ในเรื่อง La bohème หรือ โศกนาฏกรรมความรักระหว่างหญิงสาวชาวญี่ปุ่นกับนายทหารเรืออเมริกัน จากเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลาย

ทำให้จากเดิมที่กลุ่มผู้รับชมส่วนใหญ่ของโอเปราจำกัดวงอยู่แต่ชนชั้นสูง ก็เปิดกว้างเข้าถึงคนทั่วไปได้มากยิ่งขึ้น เพราะผู้ชมสามารถดื่มด่ำไปกับเรื่องราวที่เข้าถึงได้ง่าย ประกอบกับบทเพลงที่ไพเราะติดหูจากการประพันธ์ของปูชชีนี 

 

จาโคโม ปุชชีนี: ต้นแบบโอเปรา Verismo จุดเริ่มต้นอุปรากรสายแมสที่ทำให้พวกเราต้องเสียน้ำตา
 

คีตกวีโรแมนติก

นอกจากปุชชีนีจะได้ชื่อเป็นนักประพันธ์อุปรากร Verismo ที่โด่งดังที่สุดแล้ว เขายังได้ชื่อว่าเป็นคีตกวีโรแมนติกผู้เรียกน้ำตาจากผู้ชมได้มากที่สุดคนหนึ่งอีกด้วย จากความสามารถในการผสมผสานท่วงทำนองไพเราะ เข้ากับเรื่องราวที่น่าติดตาม เสริมด้วยการบรรเลงวงออร์เคสตราที่ยอดเยี่ยมมีสีสัน

โอเปราที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ของปุชชีนีจะมีเนื้อเรื่องและดนตรีที่สุดแสนโรแมนติก ขับเน้นอารมณ์รักใคร่ และโศกเศร้ารันทดใจแบบสุดขั้ว โดยเป็นอุปรากรที่มีตอนจบแบบโศกนาฏกรรม ไม่ว่าจะเป็นการที่นางเอกเสียชีวิตในท้ายเรื่อง หรือแม้แต่ตัวเอกต่างเสียชีวิตทั้งหมด การที่ปุชชีนีสามารถใช้ความโรแมนติกบีบน้ำตาคนดูได้อยู่หมัดเขาจึงถูกเรียกว่าเป็นตัวแทนของอุปรากรอิตาเลียนโรแมนติกที่พัฒนาอย่างสมบูรณ์สูงสุดเท่าที่เคยมีมา

โดยงานประพันธ์ที่ไพเราะสวยงามของปุชชีนีได้รับอิทธิพลจากสองยักษ์ใหญ่ของวงการโอเปราแห่งศตวรรษที่ 19 อย่าง จูเซปเป แวร์ดี (Giuseppe Verdi) และ ริชชาร์ท วากเนอร์ (Richard Wagner) รวมไปถึงการที่เขาเปิดรับแนวคิดทางดนตรีใหม่ ๆ จาก โคลด เดอบูซซี (Claude Debussy),  ริชาร์ด สเตร้าซ์ (Richard Strauss) ไปจนถึง อีกอร์ สตราวินสกี (Igor Stravinsky) มาพัฒนาให้ผลงานของเขามีความเฉพาะตัว

 

จาโคโม ปุชชีนี: ต้นแบบโอเปรา Verismo จุดเริ่มต้นอุปรากรสายแมสที่ทำให้พวกเราต้องเสียน้ำตา

 

ปุชชีนีเป็นคีตกวีโอเปราที่โดดเด่นในเรื่องการประพันธ์ทำนองที่ติดหูและน่าจดจำ เต็มไปด้วยอารมณ์อย่างลึกซึ้งสามารถดึงดูดใจผู้ฟังในทันที ในทางกลับกันยังคงผสมผสานความงามของเนื้อร้องกับความเข้มข้นของบทละครได้อย่างลงตัว ทำให้โอเปราของปุชชีนีเป็นเหมือนประตูมหัศจรรย์ที่พาผู้คนเข้าไปสำรวจอารมณ์สากลร่วมของมนุษย์ ทั้งในเรื่องความรัก ความสูญเสีย ความอิจฉาริษยา และความหลงใหล การได้เข้าชมโอเปราของปุชชีนีจึงคล้ายกับการเข้าไปร่วมอยู่ในสถานการณ์เดียวกับที่ตัวละครกำลังเผชิญ ด้วยเหตุนี้ผลงานการประพันธ์ของปุชชีนีจึงเป็นโอเปราที่สามารถสัมผัสได้ถึงความทรงพลังทางอารมณ์เป็นอย่างยิ่ง

อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับงานของปุชชีนีคืออาเรีย (Aria) หรือ บทร้องเดี่ยวที่น่าจดจำ จากการที่ปุชชีนีได้ประพันธ์อาเรียที่เป็นตำนานไว้หลายชิ้นให้ผู้แสดงได้เปล่งประกายความสามารถทางเสียง อย่าง Nessun dorma จากอุปรากรเรื่อง Turandot ที่เป็นหนึ่งในโอเปราอาเรียที่มีชื่อเสียงที่สุดตลอดกาล ซึ่งยังคงถูกนำไปขับร้องอยู่อย่างต่อเนื่องจวบจนทุกวันนี้ 

 

จาโคโม ปุชชีนี: ต้นแบบโอเปรา Verismo จุดเริ่มต้นอุปรากรสายแมสที่ทำให้พวกเราต้องเสียน้ำตา

 

ชีวิตจริงยิ่งกว่าอุปรากร

เบื้องหลังความอัจฉริยภาพของปุชชีนีที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่พลิกวงการโอเปราในสมัยนั้น ต้องย้อนกลับไปทำความรู้จักประวัติของเขากัน โดย จาโกโม ปุชชีนี เกิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ปี ค.ศ. 1858 เกิดที่เมืองลุกกา (Lucca) ประเทศอิตาลี ครอบครัวเขาเป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลง ทำให้ในวัยเด็กปุชชีนีได้รับการถ่ายทอดทางดนตรีจากครอบครัว 

จุดเริ่มต้นถนนสายดนตรีของปุชชีนีเกิดขึ้นเมื่อเขามีอายุได้เพียงห้าขวบ ในตอนนั้นบิดาของเขาได้เสียชีวิต ทำให้เขาถูกส่งไปฝึกฝนดนตรีครั้งแรกจากคุณลุงของเขา ก่อนที่จะได้ศึกษาที่ Milan Conservatory ภายใต้การชี้นำของครูสอนดนตรีชั้นนำของอิตาลีหลายคนในเวลาต่อมา และในช่วงนี้เองที่ทำให้ ปุชชีนี เริ่มชื่นชอบโอเปราจากการมีโอกาสรับชมโอเปราเรื่อง Aida ของ จูเซปเป แวร์ดี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของประตูสู่การเป็นนักประพันธ์โอเปราของเขา 

 

จาโคโม ปุชชีนี: ต้นแบบโอเปรา Verismo จุดเริ่มต้นอุปรากรสายแมสที่ทำให้พวกเราต้องเสียน้ำตา

 

โดยในปี ค.ศ. 1882 ปุชชีนีได้ส่งผลงานเรื่อง Le Villi เข้าร่วมการแข่งขันประพันธ์อุปรากร แม้ว่า Le Villi จะไม่ได้รับรางวัล แต่ได้มีโอกาสเปิดการแสดง แล้วไปเตะตาผู้จัดแสดงที่ต่อมาให้เขาลองประพันธ์เรื่อง Edgar ซึ่งต่อมาผลงานการประพันธ์อุปรากรของปุชชีนีเริ่มที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น Manon Lescaut, La bohème, Tosca รวมถึง Madama Butterfly ที่แม้ว่าในการเปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์จะได้รับเสียงตอบรับที่ไม่ดีนัก แต่สุดท้ายก็ได้รับความนิยมมากขึ้นจนเป็นอีกหนึ่งอุปรากรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

ในอีกด้านหนึ่งชีวิตจริงของปุชชีนีก็ขึ้นลงไม่แพ้อุปรากรที่เขาประพันธ์ เขาเป็นนักประพันธ์ที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายหลายอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยากจนขัดสนก่อนที่เขาจะประสบความสำเร็จกับโอเปราเรื่อง Manon Lescaut ที่ว่ากันว่าเขานำประสบการณ์ส่วนหนึ่งในช่วงนั้นมาใช้กับงานประพันธ์ La bohème หรืออุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างรุนแรงที่เกือบทำให้เขาเสียชีวิต นอกจากนี้เขายังมีเรื่องดราม่าอื้อฉาว โดยภรรยาของปุชชีนีได้กล่าวหาว่าเขาลักลอบมีความสัมพันธ์กับสาวใช้ของตัวเอง จนสุดท้ายเป็นเหตุให้สาวใช้คนนั้นต้องฆ่าตัวตายในที่สุด

ไม่นับการที่ปุชชีนีเป็นนักสูบบุหรี่ตัวยง ที่สุดท้ายมีอาการเจ็บคอจนถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำคอและเข้ารับด้วยการฉายรังสีซึ่งยังเป็นนวัตกรรมที่อยู่ในขั้นทดลอง ซึ่งต่อมาอาการมะเร็งลำคอของปุชชีนีไม่ดีขึ้น เขาจึงตัดสินใจผ่าตัดแต่โชคร้ายเกิดอาการหัวใจวายที่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด จนเป็นเหตุให้เขาเสียชีวิตในวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1924 ขณะอายุ 65 ปี ปิดม่านตำนานสุดยอดคีตกวีอุปรากรแห่งยุคโรแมนติก ทิ้งโอเปราเรื่อง Turandot ที่ยังสร้างไม่เสร็จไว้เป็นผลงานสุดท้าย 

 

จาโคโม ปุชชีนี: ต้นแบบโอเปรา Verismo จุดเริ่มต้นอุปรากรสายแมสที่ทำให้พวกเราต้องเสียน้ำตา

 

100 ปีแห่งความโรแมนติก 

แม้ว่า จาโกโม ปุชชีนี จะจากโลกไปนานกว่าหนึ่งศตวรรษ แต่ผลงานการประพันธ์ของเขายังคงได้รับความนิยมอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย โดยในวาระฉลองครบ 100 ปี การจากไปของ จาโกโม ปุชชีนี มหกรรม Bangkok's International Festival of Dance & Music ในปีนี้เลยได้มีการนำผลงานการประพันธ์ของเขามาจัดแสดงเพื่อรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของเขา ทั้งเรื่อง La Bohème โอเปรายอดฮิตตลอดกาลของปุชชีนี ที่ได้ยกบรรยากาศกรุงปารีสไปจนถึงหอ Eiffel เพื่อให้ได้ดื่มด่ำเรื่องราวสุดแสนรันทดของคู่รักนักเขียนชาวโบฮีเมีย โรฟอลโด และช่างเย็บผ้า มีมี่ ซึ่งทั้งคู่ต้องดิ้นรนในปารีสที่จะเรียกน้ำตาจากผู้ชม โดย La Bohème ถ่ายทอดโดยคณะ China National Opera House คณะโอเปราชั้นนำของจีนจากกรุงปักกิ่ง และนักร้องนำจากอิตาลี นำแสดงโดย Francesca Micarelli นักร้องโซปราโนแนวหน้าของอิตาลี  และนักร้องเทเนอร์ Paolo Lardizzone 

ที่พิเศษไปกว่านั้นในปีนี้มีการนำ Turandot ผลงานอุปรากรเรื่องสุดท้ายของปุชชีนีที่ได้ฟรังโก อัลฟาโน (Franco Alfano) มาสานต่อจนเสร็จสมบูรณ์ ด้วยการใช้ภาพร่างของปุชชีนีในสองฉากสุดท้าย ซึ่งการแสดงอุปรากร Turandot ในครั้งนี้ได้คณะ China National Opera House หนึ่งในคณะโอเปราที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย พร้อมนักแสดงคุณภาพ 200 ชีวิต ร่วมด้วยนักร้องชั้นนำส่งตรงจากประเทศอิตาลี นำโดย นักร้องโซปราโน Maria Tomassi ที่เคยแสดงในหอแสดงชื่อดังอย่าง Musikverein กรุงเวียนนา และนักร้องเสียงเทเนอร์ Max Jota ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน Best Worldwide Male Performers เป็นการปิดม่านการแสดงฉลองครบรอบ 100 ปี ปุชชีนีอย่างยิ่งใหญ่อลังการ 

การที่ผลงานของปุชชีนีได้รับความนิยมผ่านกาลเวลาร่วมศตวรรษเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าทำไมโลกของโอเปราถึงยกย่องให้ จาโกโม ปุชชีนี เป็นหนึ่งในผู้ประพันธ์โอเปราที่มีชื่อเสียงที่สุด และเป็นนักประพันธ์โอเปราชาวอิตาลีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดรองจากแวร์ดี จากผลงานที่ได้รับการกล่าวว่าเป็นโอเปราที่ดีที่สุดตลอดกาล และมรดกทางดนตรีของเขาที่ยังคงงดงามเหนือกาลเวลา

 

จาโคโม ปุชชีนี: ต้นแบบโอเปรา Verismo จุดเริ่มต้นอุปรากรสายแมสที่ทำให้พวกเราต้องเสียน้ำตา
 

ที่มา: 
https://www.eno.org/composers/giacomo-puccini/
https://www.worldhistory.org/Giacomo_Puccini/
https://www.operabase.com/statistics/en#opera