26 ส.ค. 2567 | 17:30 น.
โอกาสสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่คณะบอลชอย บัลเลต์ คณะบัลเลต์ชั้นนำและมีชื่อเสียงที่สุดในโลก เดินทางมาเปิดการแสดงในประเทศไทย จัดเต็มกับนักแสดงกว่า 170 ชีวิต ในเรื่อง Swan Lake บัลเลต์ยอดนิยมสูงสุดตลอดกาล ซึ่งที่ถือกำเนิด ณ บอลชอยบัลเลต์เมื่อเกือบ 150 ปีมาแล้ว และนี่คือ 3 เหตุผลหลัก ที่คุณต้องมาดูการแสดง Swan Lake โดยคณะบอลชอย บัลเลต์ ในมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติกรุงเทพฯ ครั้งที่ 26 (26th Bangkok's International Festival of Dance and Music) นี้ให้ได้
พบกับเป็นเรื่องราวของบัลเลต์ที่โด่งดังที่สุดในโลก ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ การแสดงครั้งแรกของ Swan Lake กลับไม่ประสบความสำเร็จ ถูกวิจารณ์ในแง่ลบ และกว่าจะกลับมาโด่งดังได้อีกครั้ง ก็หลังจากไชคอฟสกีลาโลกไปแล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ไปติดตามกัน
ไชคอฟสกี กับการประพันธ์ดนตรีประกอบบัลเลต์
ปีเตอร์ อิลิช ไชคอฟสกี (1840 –1893) คีตกวีชาวรัสเซีย เป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นในดนตรีหลายประเภท เช่น ซิมโฟนี ซึ่งแต่งไว้ 8 บท โอเปร่า 11 เรื่อง คอนแชร์โต เพลงชุด (Suites) เพลงโหมโรง (Overture) เชมเบอร์มิวสิค เพลงร้อง และเพลงเปียโนอีกจำนวนมาก รวมผลงานที่เผยแพร่ทั้งสิ้น 80 ชิ้น แต่ผลงานอีกประเภทหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักของผู้รักดนตรีทั่วโลก นั่นคือดนตรีประกอบบัลเลต์ ซึ่งเขาแต่งไว้เพียง 3 เรื่อง คือ Swan Lake, Op.20 (1875-1876) Sleeping Beauty, Op.66 (1889) และ The Nutcracker, Op.71 (1892) (ซึ่งสังเกตได้จากเลขลำดับผลงาน Opus Number หรือ Op. ก็พบได้ว่าเรื่อง Swan Lake แต่งในช่วงต้นของชีวิตการทำงาน ส่วนอีก 2 เรื่องหลังแต่งในช่วงท้ายของชีวิตแล้ว) แต่ทั้ง 3 เรื่องนี้คือบัลเลต์ยอดนิยมที่ถูกแสดงมากที่สุดในโลก ส่งผลให้สถานะของไชคอฟสกีอีกหนึ่งด้านคือผู้ประพันธ์ดนตรีบัลเลต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งตลอดกาล
ต้นเรื่องของ Swan Lake
ไชคอฟสกี ได้รับการว่าจ้างให้ประพันธ์ดนตรีประกอบบัลเลต์เรื่อง Swan Lake โดยอาศัยโครงเรื่องที่จูเลียส ไรซิงเกอร์ นักออกแบบท่าเต้น (choreographer) ในครั้งแรกส่งให้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้เขียนเนื้อเรื่อง Swan Lake ต้นฉบับ หรือแนวคิดในการเขียนโครงเรื่องมาจากไหน โดยมากเชื่อกันว่ามาจากนิทานพื้นบ้านของรัสเซียและเยอรมัน ทฤษฎีหนึ่งว่า จูเลียส ไรซิงเกอร์ เป็นผู้แต่งเรื่องนี้ อีกทฤษฎีหนึ่งก็คือว่า เรื่องนี้แต่ง โดยวลาดิมีร์ เบกิเชฟ ผู้ว่าจ้างไชคอฟสกี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงละครหลวงแห่งกรุงมอสโคว์ ซึ่งอาจเขียนร่วมกับ Vasily Geltser นักเต้นของคณะบอลชอย (สำเนาของเนื้อเรื่องที่ยังหลงเหลืออยู่มีชื่อของเขาอยู่) เนื่องจากเนื้อเรื่องฉบับแรกที่ตีพิมพ์ไม่สอดคล้องกับดนตรีของไชคอฟสกีในหลายๆ จุด อีกทฤษฎีหนึ่งก็คือว่าเวอร์ชันที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเขียนโดยนักข่าวหลังจากดูการซ้อมครั้งแรก (การสร้างโอเปร่าและบัลเลต์ใหม่ๆ มักจะถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์พร้อมกับบทละคร)
เรื่องย่อของ Swan Lake เป็นเรื่องราวความรักระหว่างเจ้าชาย Siegfried กับสาวงาม Odette ที่ถูกสาปให้กลายเป็นหงส์ในเวลากลางวัน และจะกลับกลายร่างเป็นคนได้เฉพาะในเวลากลางคืน ทางเดียวที่จะแก้คำสาปคือรักแท้จากชายผู้ซื่อสัตย์ ตัวร้ายของเรื่อง Rothbart ซึ่งเป็นผู้สาป Odette จึงได้ให้ลูกสาว Odile แปลงกายเป็น Odette เจ้าชายจึงเข้าใจผิดและขอ Odile แต่งงาน Odette เสียใจมากที่เจ้าชายผิดสัญญาต่อเธอ จึงหนีกลับไปที่ทะเลสาบ เจ้าชาย Siegfried รีบตามไปเพื่อขอโทษและบอกว่าเขาถูกมนตร์สะกดหลอก แต่ก็สายเสียแล้วเพราะ Odette ถูกสาปให้กลายเป็นหงส์ตลอดไป Odette เสียใจและผิดหวัง เธอตัดสินใจพุ่งตัวไปในทะเลสาบเพื่อจบชีวิต Siegfried เห็นดังนั้นจึงยอมสละชีวิตเช่นกัน แต่ความรักของคนทั้งสองได้คลายคำสาปของ Rothbart ได้ หลังจากนั้นวิญญาณของทั้งคู่จึงลอยขึ้นสู่สวรรค์และได้เคียงคู่กันไปตลอดกาล
บอลชอย บัลเลต์ กับไชคอฟสกี
คณะบอลชอย บัลเลต์ คือ คณะบัลเลต์ที่เก่าแก่และโด่งดังที่สุดคณะหนึ่งของโลก โดยก่อตั้งเมื่อปี 1776 มีการแสดงประจำอยู่ที่ Bolshoi Theatre (แปลว่า Grand Theatre) กรุงมอสโคว์ ประเทศรัสเซีย ซึ่งมีสถานะเป็นโรงละครหลวงของราชสำนัก ต่อมาก็กลายเป็นโรงละครของรัฐบาลโซเวียต และสหพันธรัฐรัสเซียในปัจจุบัน คณะบัลเลต์นี้มีโรงเรียนสอนบัลเลต์เป็นของตนเองมานับร้อยปี เพื่อสืบทอดประเพณีและเทคนิคการเต้นที่เป็นเอกลักษณ์ของคณะมาจนถึงปัจจุบัน ความยิ่งใหญ่ของคณะนี้มีมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิแล้ว โดยพระเจ้าซาร์มาชมการแสดงประเภทบัลเลต์และโอเปร่าที่โรงละครบอลชอยอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าในช่วงนั้นเมืองหลวงของจักรวรรดิจะอยู่ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก นอกจากนี้คณะนักแสดงจากโรงละครนี้ยังได้รับเกียรติสูงสุดให้จัดการแสดงในพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าซาร์อีกด้วย
ที่มาของเรื่องนี้เกิดขึ้นจาก Vladimir Begichev ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของโรงละครหลวงแห่งกรุงมอสโคว์ ได้ว่าจ้างให้ไชคอฟสกีแต่งดนตรีประกอบบัลเลต์เรื่องใหม่ โดยมี Julius Reisinger นักบัลเลต์ชาวโบฮีเมีย เป็นผู้ออกแบบท่าเต้น รวมถึงเขียนโครงเรื่องและความต้องการในการเต้นเพื่อให้ไชคอฟสกีนำไปแต่งดนตรีต่อ การแต่งดนตรีประกอบบัลเลต์นั้น เป็นสิ่งที่ไชคอฟสกียังไม่เคยทำมาก่อน แม้ว่าตอนนั้นเขาจะมีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จมาแล้วจากซิมโฟนี 4 บท หรือเปียโนคอนแชร์โตหมายเลข 1 และโอเปร่าเรื่อง Eugene Onegin เขาจึงได้ไปศึกษาผลงานการประพันธ์ดนตรีประกอบบัลเลต์ของคีตกวีในยุคเดียวกันซึ่งถือว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านดนตรีบัลเลต์” เช่น Cesare Pugni คีตกวีชาวอิตาลี Ludwig Minkus คีตกวีชาวออสเตรีย และ Riccardo Drigo คีตกวีชาวอิตาลี ที่มีผลงานอยู่ในวงการบัลเลต์รัสเซีย รวมไปถึง Léo Delibes คีตกวีชาวฝรั่งเศส ที่โด่งดังจากบัลเลต์เรื่อง Coppélia และ Sylvia เช่นเดียวกับ Adolphe Adam คีตกวีชาวฝรั่งเศสอีกท่านที่มีผลงานบัลเลต์เด่น เช่น Giselle และ Le corsair ซึ่งการศึกษางานของคีตกวีเหล่านี้ ทำให้ไชคอฟสกีรู้สึกประทับใจในบทเพลงบัลเลต์ เขาจึงมุ่งมั่นที่จะแต่งดนตรีที่สอดคล้องกับขนบดั้งเดิมของวงการบัลเลต์ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องฟังดูแปลกใหม่และน่าสนใจด้วย โดยเขาใช้เวลาแต่งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 1875 ถึงเดือนเมษายน 1876
ความน่าสนใจของเรื่อง Swan Lake นี้ มักถูกพูดถึงในเรื่องความไพเราะของดนตรีที่ไชคอฟสกีเป็นผู้ประพันธ์ เช่นเพลง main theme (Act 2: No. 10, Scène. Moderato) ซึ่งเป็นการปรากฏตัวหงส์ขาวครั้งแรก นับเป็นหนึ่งในท่วงทำนองบัลเลต์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ดนตรีในองค์ประกอบย่อยต่างๆ ก็เป็นที่น่าสนใจและดึงดูดผู้ฟังอย่างยิ่ง เช่น การเต้นรำของฝูงหงส์ (Act 2. No. 13. Dance of the Swans.) และงานเต้นรำเลือกคู่ของเจ้าชาย Siegfried (Act 3. No. 20 Hungarian Dance: Csárdás, No. 20 Russian Dance, No. 21 Spanish Dance, No. 22 Neapolitan Dance) ซึ่งมีดนตรีของหลายชาติมานำเสนอ (คล้ายๆ เพลงออกภาษาของดนตรีไทย) ก็มีท่วงทำนองที่น่าฟัง และเป็นการเปิดโอกาสให้แสดงการเต้นรำที่สวยงามและหลากหลายได้เป็นอย่างดี
การแสดง Swan Lake รอบปฐมทัศน์ ปี 1877 และการปรับปรุงใหม่ ในปี 1895
เรื่อง Swan Lake ได้จัดการแสดงครั้งแรกในโลก (world première) เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 1877 ณ โรงละครบอลชอย กรุงมอสโคว์ โดยมี Julius Reisinger เป็นผู้ออกแบบท่าเต้น และ Stepan Ryabov เป็นวาทยกร น่าแปลกใจที่การแสดงรอบปฐมทัศน์ของเรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จ หรืออาจเรียกว่าล้มเหลวเลยก็ว่าได้ ดนตรีของไชคอฟสกี ถูกวิจารณ์ว่า “เสียงดังเกินไป ดูเป็นวากเนอร์เกินไป และดูเป็นซิมโฟนีเกินไป” ขณะเดียวกันกับที่นักบัลเลต์ Pelageya Karpakova ผู้แสดงเป็น Odette และ Odile ถูกวิจารณ์ว่าเต้นได้ไม่ดี ความล้มเหลวของการแสดงครั้งแรกนั้น ส่งผลให้ไม่มีใครกล้าแสดงซ้ำอีกเป็นเวลานาน
ในปี 1895 หรือ 18 ปี หลังจากการแสดงครั้งแรก และ 2 ปี หลังจากมรณกรรมของไชคอฟสกี Swan Lake ก็ถูกนำกลับมารื้อฟื้นขึ้นใหม่ เพื่อกอบกู้ชื่อเสียงของไชคอฟสกี ซึ่งในช่วงบั้นปลายนั้น เขาประสบความสำเร็จจากบัลเลต์เรื่อง Sleeping Beauty และ The Nutcracker เป็นอันมาก โดยคีตกวีและวาทยกร Riccardo Drigo เป็นผู้ปรับปรุงดนตรีของไชคอฟสกีในบางส่วนและเรียงลำดับใหม่ในบางเพลง ขณะเดียวกันการออกแบบท่าเต้นก็ได้รับการปรับปรุงใหม่ โดย Marius Petipa และ Lev Ivanov โดยนำออกแสดงเมื่อวันที่ 27 มกราคม 1895 ณ โรงละคร Mariinsky Theatre นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม นับว่าเป็นต้นแบบของการแสดงบัลเลต์ Swan Lake ที่ทั่วโลกยึดถือกันจนถึงปัจจุบัน
พบกับ Swan Lake โดยคณะบัลเลต์ผู้เป็นต้นกำเนิด สดๆ ในเมืองไทย
และในวันที่ 13 – 15 กันยายน 2567 องค์ประกอบทั้ง 3 จะครบสมบูรณ์อีกครั้ง ด้วยการแสดงบัลเลต์เรื่องเอกของไชคอฟสกี Swan Lake โดยคณะบอลชอย บัลเลต์ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างไชคอฟสกีแต่งเพลงประกอบบัลเลต์เรื่องนี้เมื่อเกือบ 150 ปีที่แล้ว โดยการกำกับและออกแบบท่าเต้นโดย Yuri Grigorovich ปูชนียบุคคลและตำนานที่ยังมีชีวิตของวงการบัลเลต์รัสเซียและของโลก โดยมีต้นแบบเป็นท่าเต้นเวอร์ชั่น 1895 (Marius Petipa, Lev Ivanov, Alexander Gorsky) พร้อมกับคณะนักแสดงกว่า 170 ชีวิต และมีนักแสดงตัวเอก 18 คน พร้อมโค้ชส่วนตัว 18 คน พร้อมออร์เคสตราบรรเลงสด โดยวง Royal Bangkok Symphony Orchestra วงออร์เคสตราชั้นนำของเมืองไทย อำนวยเพลงโดยวาทยกร Pavel Klinichev ผู้อำนวยการดนตรีและวาทยกรประจำของโรงละครบอลชอย ซึ่งทำงานกับวงมาตั้งแต่ปี 2001 เรียกได้ว่าจัดเต็มทั้ง 3 รอบการแสดง โดยไม่ต้องจองตั๋วข้ามปีและไม่ต้องบินไปถึงโรงละครบอลชอยที่มอสโคว์ ดังนั้นการที่ Bangkok's International Festival of Dance and Music นำ Bolshoi Ballet และ Swan Lake มาเสิร์ฟถึงที่กรุงเทพฯ พร้อมวงออร์เคสตราบรรเลงบทเพลงยอดฮิตของไชคอฟสกีแบบสดๆ ถือเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ต้องไปสัมผัสให้ได้
ที่มา:
https://www.bolshoirussia.com/performance/swan_lake/
https://www.classicfm.com/composers/tchaikovsky/music/swan-lake/
https://en.wikipedia.org/wiki/Swan_Lake