หมอผีครองเมือง - มาโนช พุฒตาล : แผ่นดินแบบไหนที่หมอผีครอบครอง?

หมอผีครองเมือง - มาโนช พุฒตาล : แผ่นดินแบบไหนที่หมอผีครอบครอง?

ถอดความหมายบทเพลง ‘หมอผีครองเมือง’ โดย ‘มาโนช พุฒตาล’ จากอัลบั้ม ‘ในทรรศนะของข้าพเจ้า’ ที่ว่าด้วยเมืองดิสโทเปียที่ ‘หมอผี’ ขีดเขียนกฎเพื่อกดขี่นักเดินทางผู้หลงเข้ามา และต้องจ่ายมันด้วยตัวตนของตัวเอง กับปรัชญาชีวิตที่สอดแทรกอยู่ในทุกตัวอักษร

KEY

POINTS

  • หมอผีครองเมือง’ คือบทเพลงโดยบุตรของนายเฉลียวและนางอำไพ ‘มาโนช พุฒตาล’ จากอัลบั้ม ‘ในทรรศนะของข้าพเจ้า’ ในปี 2539 ที่มีเพลงดังอย่าง ‘ลำธาร
  • ถือเป็นหนึ่งในอัลบั้ม Progressive Rock สัญชาติไทยที่ได้ตีแผ่เรื่องราวชีวิต สังคม และความเชื่อผ่านมุมมองแนวคิดของ มาโนช พุฒตาล ที่มีต่อสรรพสิ่ง ณ ขณะนั้น จนกลายเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ผู้คนจดจำที่สุด
  • ในเพลง ‘หมอผีครองเมือง’ ได้พูดถึงเมืองดิสโทเปียที่ ‘หมอผี’ ขีดเขียนกฎเพื่อกดขี่และลวงหลอกนักเดินทางที่หลงเข้ามา โดยที่นักเดินทางเหล่านั้นจะต้องสละความเชื่อ ตัวตน และความมุ่งมั่นให้แก่เมืองแห่งนี้

สิ่งหนึ่งที่มนุษย์มักจินตนาการถึงเสมอคือความเป็นจริงที่ดีกว่าปัจจุบันหรือ ‘โลกในอุดมคติ’ หรือ ‘ยูโทเปีย’ (Utopia) จนได้กลายเป็นที่มาของโลกแฟนตาซี การ์ตูน หรือนวนิยายมากมายที่ผู้คนต่างก็พากันนิยม ในขณะเดียวกัน ก็มีผู้คนอีกไม่น้อยเช่นเดียวกันที่ได้จินตนาการถึงโลกที่ ‘ตรงกันข้าม’ กับอุดมคติที่วาดฝันไว้ จนเกิดเป็นโลกที่รายล้อมไปด้วยความเลวร้ายนานาประการจนเป็นสภาพสังคมที่เรามักเรียกว่า ‘ดิสโทเปีย’ (Dystopia)

ถึงจะเป็นการตีแผ่จินตนาการที่ไม่น่าพิสมัยมากนัก แต่เรื่องราวของโลกดิสโทเปียกลับได้รับความนิยมไม่แพ้กับโลกประเภทแรกอย่างยูโทเปียเลยแม้แต่น้อย อาจเป็นเพราะมันทำหน้าที่เป็น ‘ปมปัญหา’ (Conflict) หรืออุปสรรคที่ดีและท้าทายให้กับตัวละครเหล่านั้นได้ข้ามผ่าน บางทีมันก็เป็นการฉายภาพของความเลวร้ายที่น่ากลัว แต่ก็อดไม่ได้ที่จะติดตามต่อ หรือหลาย ๆ ครั้ง โลกอันเลวร้ายเหล่านั้น กลับทำให้เรานึกถึงโลกแห่งความจริงที่เราดำรงอยู่ และนั่นอาจจะเป็นรสชาติหลักที่ทำให้มันเป็นที่นิยมเสียเหลือเกิน

ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมามีผลงานที่ตีแผ่จินตนาการของโลกดิสโทเปียออกมามากมายและในหลายรูปแบบ ในส่วนของนวนิยายก็มีตั้งแต่ 1984, Fahrenheit 451, Do Androids Dream of Electric Sheep?, Ready Player One, The Children of Men หรือ A Clockwork Orange ในด้านของภาพยนตร์เองก็ยกระดับการถ่ายทอดขึ้นไปได้น่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น Blade Runner, Metropolis, Mad Max, หรือแม้แต่ Idiocracy 

ในขณะเดียวกัน ในโลกของดนตรีก็เดินหน้าตีแผ่ความหม่นหมองออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น Animals จาก Pink Floyd, 2112 จาก Rush, OK Computer จาก Radiohead, หรือ In the Court of the Crimson King จาก King Crimson แต่ถ้าเราต้องยกตัวอย่างในกรณีที่ใกล้ตัวเรามากขึ้นกว่าเดิมเสียหน่อย นักเล่าเรื่องผ่านเสียงดนตรีนามว่า ‘มาโนช พุฒตาล’ ก็เคยได้สร้างสรรค์โลกดิสโทเปียจากทัศนะของเขาเอาไว้ในอัลบั้ม ‘ในทรรศนะของข้าพเจ้า’ จากปี พ.ศ. 2539 ผ่านเพลงอย่าง ‘หมอผีครองเมือง

ในทรรศนะของข้าพเจ้าคืออัลบั้มแนวโปรเกรซซีฟร็อก (Progressive Rock) จาก มาโนช พุฒตาล ที่ว่าด้วยเรื่องราวของความเชื่อ ปรัชญา และบ้านเมืองของมนุษย์ในหลากหลายรูปแบบ ที่มีเพลงดังอย่าง ‘ลำธาร’ ทว่าในวันนี้ The People จะหยิบอีกหนึ่งเพลงจากอัลบั้มนี้ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กันอย่าง หมอผีครองเมือง ที่มีเสน่ห์ไม่เพียงแค่ในแง่ของการเรียบเรียงดนตรีและการเรียงร้อยถ้อยคำ แต่ยังรวมไปถึงเนื้อหาที่แฝงไปด้วยเนื้อหาที่ว่าด้วยสัจธรรมที่ฝังลึกอยู่ในสังคมเรา

The People จะหยิบเนื้อหาของบทเพลงนี้มาวิเคราะห์และพลิกดูว่าแต่ละถ้อยคำที่ถูกเรียงร้อยโดยบุตรของนายเฉลียวและนางอำไพอย่างมาโนช พุฒตาล มีอะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง เพราะบางทีวนกลับมาฟังอีกครั้งก็อดจะไม่ได้ที่จะนึกถึงบางเหตุการณ์และความเป็นจริงที่เราใช้ชีวิตอยู่…

“ยินดีตอนรับ เชิญสิครับ ขอต้อนรับ คนช่างฝัน คนมุ่งมั่น คนเดินทาง
เชิญแวะดื่มน้ำ เพียงสักครั้ง เย็นชุ่มฉ่ำ สุขเหลือล้ำ จากสายน้ำในลำธาร”

ตลอดทั้งอัลบั้มในทรรศนะของข้าพเจ้าจะเปรียบเสมือนการเล่าเรื่องและเดินตามเส้นทางบนเนื้อเพลงของมาโนช พุฒตาล โดยเฉพาะในเพลงหมอผีครองเมือง ที่มีสไตล์การเล่าเรื่องที่ให้อารมณ์เหมือนเรื่องเล่าของนักเดินทางคนหนึ่งที่ได้เดินทางผ่านเมือง ๆ หนึ่ง c]tดูเหมือนว่าเมืองนั้นก็ได้เย้ายวนให้ผู้ผ่านไปผ่านมาแวะดื่มน้ำเสียก่อน ก่อนที่ในท่อนถัดมาผู้ฟังจะค้นพบว่าบ่อน้ำและเมืองที่ว่าได้ถูกครอบครองโดย ‘หมอผี

 

“สายน้ำแม้บอบช้ำ มัวหมองคล้ำ หมอผีทำเวทย์ลึกล้ำ ทำน้ำครำเป็นน้ำดี
หมอผี ครองเมืองนี้ กำหนดชี้ใครคนดี ใครดื่มน้ำ ใครทำตาม ย่อมมั่งมี”

 

นักเดินทางก็เปรียบเสมือนผู้มีความมุ่งมั่น มีความหวัง และมีความฝัน ที่ได้เดินทางมาเจอกับ ‘เมือง’ หรือ ‘สภาพแวดล้อม’ ที่ถูกครอบครองอย่างไม่เป็นธรรมโดยคนบางกลุ่ม โดยอำนาจที่เขาถือครองอยู่นั้น ก็บันดาลให้เขาสามารถใช้มันทำอะไรก็ได้ตามใจนึก โดยเฉพาะกับการสร้างกฎเกณฑ์ที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องและตัวของเขาเอง และแน่นอนว่าใครที่ปฏิบัติตามครรลองที่หมอผีได้สร้างขึ้นมา ก็ย่อมได้ดีตามกันไป…

 

ขอเชิญคำนับ ก้มหัวรับ ความสับปลับ ความฉ้อฉล ความมืดมน เล่ห์กลลวง
สมองไม่ต้องคิด ใช้ชีวิตตามลิขิต ตามแรงฤทธิ์ เดชอำนาจ ปาฏิหาริย์
หมอผีต้อนรับ หมอผีชัก ชวนดื่มน้ำ เลิกความฝัน เลิกมุ่งมั่น เลิกเดินทาง
เมืองนี้ ภูติผี ปิศาจร้าย มีมากมาย ผลสุดท้ายให้หมอผีครอบครองเมือง

 

เมื่อดำเนินมาถึงท่อนถัดมา เพลงนี้ก็ได้ฉายให้เราเห็นภาพชัดกว่าเดิมถึงความเป็นไปในเมืองแห่งนี้ ว่าผู้คนส่วนใหญ่ที่หลงเข้ามากินน้ำในบ่อของหมอผีก็มักจะต้องตกอยู่ในวังวนภายใต้บงการและโลกของหมอผี ดังท่อนที่ว่า “ก้มหัวรับ ความสับปลับ ความฉ้อฉล ความมืดมน เล่ห์กลลวง

แต่นอกจากจะก้มหัวรับความเลวร้านเหล่านั้นแล้ว นักเดินทางทั้งหลายเหล่านั้นจะต้องทิ้งตัวตนของพวกเขาเอาไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็น ความฝัน ความมุ่งมั่น หรือเป้าหมายแห่งการเดินทาง เพราะ ‘สมองไม่ต้องคิด’ เพียงแค่ใช้ชีวิตตามถูกชักนำไป เปรียบเสมือนกับคนที่ต้องหลงเข้าไปอยู่ในกฎเกณฑ์และความเชื่อในแบบที่คนบางกลุ่มได้ออกแบบเอาไว้ จนได้ทอดทิ้งตัวตนและความเชื่อมั่นเดิมไปเสียหมด

นอกจากนั้น ในท่อนสุดท้ายเราก็จะเห็นได้ว่าในอดีต หมอผีไม่ได้เป็นคนแรกที่มาครองเมืองนี้ แต่เป็นภูติผีและปีศาจร้ายมากมาย จากจุดนี้จึงชี้ให้เราเห็นว่า เดิมที ‘หมอผี’ น่าจะทำหน้าที่เหมือนวีรบุรุษผู้เข้ามากอบกู้เมืองนี้เอาไว้จากภูติผี ทว่าเมื่อนานวันไป วีรบุรุษกลับค่อย ๆ แปรรูปกลายเป็นบุคคลที่เขาเคยกำจัด ทำให้เราเข้าใจความเป็นมาของหมอผีในรูปแบบที่ชัดกว่าเดิม ว่าเขาสามารถยึดครองเมืองนี้ได้โดยอ้างว่าตนเองเป็น ‘วีรบุรุษ

นี่ทำให้ผู้เขียนนึกถึงท่อนหนึ่งจากเพลง Sheep จากอัลบั้ม Animals โดย Pink Floyd ที่เอ่ยถึง ‘วีรบุรุษผู้เสื่อมสลาย’ (Demented Avenger) ที่หมายถึงฮีโร่ที่เข้ามากอบกู้สถานการณ์ แต่กลับยึดครองอำนาจเสียแทน กลายเป็นอีกหนึ่งวายร้ายแทนที่กันไปมา

 

 

ในขณะที่บทเพลงได้เล่าเรื่องราวของความเสื่อมทรามในเมืองของหมอผีนั้น ก็มีท่อน “โอ้หนุ่มสาวเจ้าเชื่อฟังหมอผี เท่ากับปล่อยชีวิตนี้รอความตาย” ที่เปรียบเสมือนประโยคเตือนสติต่อคนที่กำลังจมอยู่ในวังวนของมารยาที่จะกลืนกินอุดมการณ์ดั้งเดิมของเขาไปทั้งหมดและแปรเปลี่ยนเป็นรากฐานให้กับเหล่าหมอผีได้เหยียบยืน

 

คนจนยิ่งจน ยากจนเพราะคนร่ำรวย

ร่ำรวยเพราะคนยากจน สร้างให้รวย

 

ความเหลื่อมล้ำ’ (Inequality) ก็ถือเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในโลกดิสโทเปีย และในกรณีของเพลงนี้ด้วย ที่ว่าด้วยระบบที่เอื้อให้คนรวยยิ่งมีโอกาสที่จะรวยขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยที่เหยียบอยู่บนความยากลำบากของผู้ด้อยโอกาส น่าจะเป็นการเปรียบเทียบไปถึงสภาวะในโลกทุนนิยมที่มักจะตามมาด้วยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่รอบตัวเรา

 

คนดีต้องตาย เพราะเหล่าร้าย

พวกเหล่าร้าย เขียนกฎหมาย ให้คนร้ายเป็นคนดี

 

ดังที่เราได้กล่าวไปก่อนหน้าว่าอำนาจหนึ่งที่ ‘หมอผี’ มีคือการสร้างกลไกที่เอื้อประโยชน์ให้กับตน และทำให้ตัวเองเป็นผู้ถูกต้อง ไร้ซึ่งความผิด ในขณะเดียวกัน ก็สร้างระบบและช่องโหว่ที่จะสามารถกำจัดฝ่ายตรงข้ามกับตน — ที่ในบทเพลงนิยามว่าเป็น — ‘คนดี’ ตายจากไป เสมือนเป็นการกำจัดเสียงคัดค้านและรักษาอำนาจของตนเองให้คงอยู่ตลอดไป

ณ จุดนี้ก็ได้แฝงไปด้วยนัยยะที่สื่อไปถึงกฎเกณฑ์และกลไกภายในสังคมที่บางทีมันก็ไม่ได้ ‘ยุติธรรม’ เสมอไป เพราะแม้เราอาจเข้าใจว่ามันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดูแลความเรียบร้อยในแง่มุมต่าง ๆ ของสังคม แต่ในขณะเดียวกันมันก็อาจเป็น ‘เครื่องมือ’ ให้ ‘หมอผี’ ได้ใช้เพื่อที่จะคงรักษาสถานะที่ตัวเองยืนอยู่ ในขณะเดียวกันก็ใช้มันเพื่อที่กำจัดคนอื่น ๆ ในสังคมได้ตามอำเภอใจ

แม้จะได้รับความรู้สึกอันหมองหม่นในโลกที่หมอผีครองเมืองจนกลายเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความไม่ยุติธรรม มารยาลวงหลอก และการกดขี่ แต่เนื้อหาจากทรรศนะของมาโนช พุฒตาล ก็ได้นำเสนอ ‘ทางออก’ ให้กับผู้ฟังด้วย และมันอาจจะเป็นทางออกที่อาจช่วยกอบกู้ผู้คนที่หลงมากินบ่อน้ำของหมอผีสามารถยืนหยัดต่อกรกับหมอผีร้ายที่ครองเมืองอยู่ได้

 

ด้วยความหาญกล้า ด้วยปัญญา ด้วยความจริงใจ

ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมสำแดงความยิ่งใหญ่

ความตั้งใจสู่เป้าหมายการเดินทาง

เส้นทางที่เราใฝ่ฝัน

 

คำตอบในทรรศนะของมาโนชคือการแข่งขืนต่อมารยาลวงหลอกที่ถูกสร้างขึ้น และลุกแข็งขืนด้วยความคิด ความกล้าหาญ และความมุ่งมั่น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือการไม่ทิ้งจุดยืนและตัวตนเดิมในวันที่เดินผ่านบ่อน้ำของหมอผีมาในคราแรกนั่นเอง นอกจากนั้นแล้ว การสามัคคีร่วมมือกันเพื่อเดินหน้าไปสู้เป้าหมายและต่อกรกับหมอผีก็เป็นอะไรที่สำคัญไม่แพ้กัน…

 

วิถีเหตุผล พาหลุดพ้น ฤทธิ์เวทย์มนต์

หมอผีร้าย สูญสลาย ในพริบตา

 

หมอผีครองเมือง รวมถึงอัลบั้ม ในทรรศนะของข้าพเจ้า ถือเป็นหนึ่งในบทเพลงโปรเกรซซีฟร็อกสัญชาติไทย จากมาโนช พุฒตาล ที่ได้แฝงปรัชญาและสัจธรรมที่น่าสนใจ คิดต่อ หรือแม้แต่เปรียบเทียบกับสังคมในชีวิตจริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเวลาได้ฟังเพลงแบบนี้ ดูภาพยนตร์แนวนี้ หรืออ่านหนังสือในเนื้อหาที่คล้ายกันนี้ อดไม่ได้ที่เราจะแทนตัวละครในเรื่อง กับใครสักคนในชีวิตจริง

 

ภาพ : ปกอัลบั้ม ในทรรศนะของข้าพเจ้า (2539)