‘โปรดเถิดดวงใจ’ เพลงเปลี่ยนชีวิตคนขายไอติมให้กลายเป็นนักร้องดัง ‘ทูล ทองใจ’

‘โปรดเถิดดวงใจ’ เพลงเปลี่ยนชีวิตคนขายไอติมให้กลายเป็นนักร้องดัง ‘ทูล ทองใจ’

เรื่องราวของเพลงอมตะ ‘โปรดเถิดดวงใจ’ บทเพลงเปลี่ยนชีวิตคนขายไอติมให้กลายเป็นนักร้องดังชื่อ ‘ทูล ทองใจ’ หลังกลายเป็นกระแสอีกครั้งจากหนัง ‘ธี่หยด 2’

ในขณะที่ภาพยนตร์ ‘ธี่หยด 2’ กำลังโกยรายได้อย่างถล่มทลายทั้งในกรุงและบ้านทุ่งแดนไกลอยู่ในขณะนี้ เพลงประกอบภาพยนตร์ที่สุดแสนจะไพเราะอย่างเพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ จากน้ำเสียงของนักร้องเจ้าของฉายา ‘เจ้าชายรัตติกาล’ นาม ‘ทูล ทองใจ’ ก็ได้หวนกลับมาขับกล่อมแฟนเพลงท่านผู้ฟังทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่อีกครั้ง หลังจากได้ทำหน้าที่รับใช้แฟนเพลงและแฟนภาพยนตร์เรื่องนี้มาแล้วตั้งแต่ในภาคแรก จนกลายเป็นกระแสให้แฟนเพลงรุ่นใหม่ ๆ ได้กล่าวถึงความไพเราะเสนาะหูของบทเพลงดังกล่าว แม้ว่าเวลาจะผ่านเนิ่นนานมาแล้วถึง 67 ปี นับตั้งแต่การบันทึกเสียงเพลงนี้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2500

ในขณะที่บางชีวิตจากภาพยนตร์ ธี่หยด ต้องล้มตายกลายเป็นผี รวมทั้งผู้ประพันธ์และผู้ขับร้องเพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ จะได้ลาลับโลกนี้ไปแล้วหลายปี แต่ทว่า สำหรับเพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ ความตายกลับยังไม่เดินทางมาถึง และในวินาทีนี้ก็เชื่อได้ว่า บทเพลงนี้จะเข้าไปอาศัยอยู่ในห้องหัวใจของแฟนเพลงรุ่นใหม่ ๆ อีกหลายคนอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกัน ในขณะที่แฟนภาพยนตร์ได้เห็นภาพความผันเปลี่ยนแห่งชีวิตของตัวละครต่าง ๆ ในภาพยนตร์ธี่หยด ไปพร้อมกับการสดับรับฟังเพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ อย่างเพลิดเพลินอารมณ์ ท่านผู้อ่านบางท่านก็อาจจะยังไม่ทราบว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น เพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ ได้เปลี่ยนชีวิตของบุคคลคนหนึ่งไปอย่างไม่คาดฝัน เปลี่ยนแปลงชีวิตของชายคนขายไอติม ที่ชื่อ ‘น้อย ทองใจ’ ให้กลายเป็นนักร้องดังที่มีชื่อเสียง ในชื่อ ‘ทูล ทองใจ’
 

กำเนิด ‘ทูล ทองใจ’ จากคนขายไอติม

ทูล ทองใจ มีชื่อจริงว่า น้อย ทองใจ ลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2472 ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม แต่ไปเติบโตที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร มีชื่อเสียงร้องเพลงชนะการประกวดมาตั้งแต่เยาว์วัย ก่อนเดินหน้าตัดสินใจเข้ากรุงเทพเมืองฟ้าอมรโดยการชักนำของ ‘สิทธิ โมระกรานต์’ (ผู้แต่งเพลงนิราศเวียงพิงค์) ก่อตั้งวงดนตรีเล็ก ๆ รับงานทั่วไปแต่ก็ยังไม่มีชื่อเสียง ข่าวว่าต่อมา ‘ครูชาญชัย บัวบังศร’ (นักดนตรีหนุ่มผู้นำแอคคอร์เดียน (หีบเพลง) มาใช้ในเพลงลูกทุ่งเป็นคนแรกจนเกิดเป็นเอกลักษณ์เพลงลูกทุ่งไทย) ชักชวนให้ไปร้องเพลงเชียร์รำวงที่ภูเก็ตอยู่พักใหญ่ ก่อน น้อย ทองใจ จะถึงวัยเกณฑ์ทหาร

ด้วยความสามารถในด้านการขับร้องเพลงกล่อมผู้คน น้อย ทองใจ ได้เข้าประจำการเป็นนักร้องประจำวง ‘ลูกมาตุลี’ วงดนตรีของกรมการขนส่งทหารบก และคาดการณ์ว่าไม่เพียงแต่การทำหน้าที่เป็นนักร้องในกรมทหาร อีกหนึ่งภารกิจสำคัญภายในรั้วของชาติของ น้อย ทองใจ ก็คือการเป็น ‘คนขายไอติม’

วันหนึ่ง ด้วยเหตุผลอะไรไม่อาจทราบได้ น้อย ทองใจ เกิดอารมณ์ศิลปินเข้าสิง คว้าอากาศมาเป็นไมโครโฟนแล้วยืนประทับบนฟุตบาทข้างถนนประหนึ่งเป็นเวทีเกียรติยศ ร้องเพลงขับกล่อมผู้คนที่สัญจรไปมา และดังวลีที่ว่า “ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นทุกวัน หลายคนไม่ยอมเชื่อ แต่มันจริง” เสียงร้องของ น้อย ทองใจ สร้างปาฏิหาริย์ด้วยตนเอง เมื่อผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาในวันนั้น มีนักแต่งเพลงฝีมือฉกาจ นาม ‘เบญจมินทร์’ เดินผ่านมาพอดิบพอดี

‘เบญจมินทร์’ หรือ ‘ตุ้มทอง โชคชนะ’ เป็นนักร้องนักแต่งเพลงชื่อดัง มีสมญานามในวงการเพลงว่าเป็น ‘ราชาเพลงรำวง’ ในช่วงทศวรรษ 2480 เบญจมินทร์ มีผลงานสร้างชื่อจากเพลงรำวงจังหวะสนุก อย่างเพลง ‘เมขลาล่อแก้ว’ (เมขลาสิมาล่อแก้ว รามสูรเห็นแล้วก็ขว้างขวานออกไป...) ‘รำวงสิ้นเดือน’ และ ‘ไปเสียได้ก็ดี’ ต่อมาภายหลังกลับจากราชการที่เกาหลีในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ก็มีผลเพลงสร้างชื่อจากชุด ‘รำเต้ย’ (สวยก็จริงนะสาว ขาวก็จริงนะน้องงงง...) และผลงานการประพันธ์เพลง ‘เสียงครวญจากเกาหลี’ ที่ส่งให้ ‘สมศรี ม่วงศรเขียว’ ขับร้องจนโด่งดัง และร้องแก้ด้วยผลงานเพลง ‘รักแท้จากหนุ่มไทย’

ย้อนกลับมาที่เวทีฟุตบาทเกียรติยศ เบญจมินทร์ เคยย้อนความหลัง ไว้ในงาน ‘คิดถึง...เบญจมินทร์’ จัดขึ้นโดยสมาคมนักแต่งเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2536 โดยมี ‘เจนภพ จบกระบวนวรรณ’ เป็นผู้ดำเนินรายการ เล่าถึงเหตุการณ์ในการพบกับ น้อย ทองใจ ครั้งนั้นว่า

“วันหนึ่ง ผมได้ฟังเด็กคนหนึ่งมันร้องเพลงอยู่ข้างถนน มันร้องเพลงใช้ได้ ผมฟังดูแล้ว เอ๊ะ ไอ้หมอนี่ร้องเพลงมีแววแฮะ ก็เรียกตัวมาสอบถามคุยกัน บอกว่า เอ๊ะ ร้องเพลงอยู่อย่างนี้ได้อะไร ร้องเพลงอยู่ข้างถนน ร้องทำไม มันบอกหัดร้องเอาไว้ ผมบอกหัดร้องเรื่องอะไรกัน มันบอกว่า ผมขายไอติม เวลามีคนมาซื้อไอติม เขาให้ผมร้องเพลงให้ฟัง

“นึกว่าขายที่ไหน เด็กคนนี้มันขายที่กรมทหาร เวลามาซื้อเขาขอให้ร้องเพลงให้ฟัง เขาซื้อจนหมด ผมก็เอาไอ้หนูคนนั้นมาหัดร้องเพลงกับผมอยู่ที่บ้าน หัดร้อง วิธีร้องยังไง ๆ ก็สอนให้

“เสียงมันดีครับ”

“เอ๊ะ มึงชื่ออะไร มันบอกชื่อน้อย แม่มันอยู่โน้น ที่แม่กลอง ผมก็เลยเอามันมาหัดร้องเพลง”

หลังฝึกฝนร้องเพลงจนได้ที่ เบญจมินทร์ จึงแต่งเพลง ‘พี่ทุยหน้าทื่อ’ ให้ น้อย ทองใจ ขับร้องบันทึกแผ่นเสียงเป็นเพลงแรกในปี 2499 และอัดเพลงที่สอง ‘กลิ่นปรางนางหอม’ ตามมาติด ๆ ในปีเดียวกัน ผลปรากฏว่า แฟนเพลงให้การต้อนรับพอประมาณ แต่ไม่เป็นที่โด่งดังมากนัก 

โปรดเถิดดวงใจ โปรดได้ฟังเพลงนี้ก่อน

จวบจนปฏิทินดาราแขวนฝาตอกตะปูส่งยิ้มต้อนรับปี 2500 เบญจมินทร์ ได้แต่งเพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ บันทึกแผ่นเสียงเป็นเพลงลำดับที่สาม ผลปรากฏว่า เพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ ได้รับความนิยมโด่งดังคับฟ้าและเป็นที่ชื่นชอบของแฟนเพลงทั้งบ้านนอก ในกรุง บ้านทุ่งแดนไกล ‘โปรดเถิดดวงใจ’ จากผลงานการประพันธ์ของ เบญจมินทร์ เปรียบเสมือนผู้ปกครองที่พาเด็กชาย น้อย ทองใจ เดินทางไปที่ว่าการอำเภอแห่งวงการเพลงไทยสากลเพื่อแจ้งเกิดบนโลกศิลปินในนาม ‘ทูล ทองใจ’

“โปรดเถิดดวงใจ โปรดได้ฟังเพลงนี้ก่อน” อาจมิได้หมายถึงแต่เพียงคำร้องที่ชายหนุ่มเพ้อรำพึงรำพันถึงหญิงสาวที่เคยผูกพันรักแน่นหนักให้หวนคิดถึงวันเวลาเก่า ๆ เท่านั้น แต่ยังอาจหมายถึงการอ้อนวอนขอให้มิตรรักนักเพลงได้เปิดใจรับฟังเสียงเพลงอันไพเราะจากนักร้องหนุ่ม ‘ทูล ทองใจ’ หลังจากสองเพลงแรกที่บันทึกเสียงไว้ไม่ประสบความสำเร็จดังหวัง 

ในความเห็นของ เจนภพ จบกระบวนวรรณ เห็นว่า อาจเพราะสองเพลงแรกอย่าง ‘พี่ทุยหน้าทื่อ’ และ ‘กลิ่นปรางนางหอม’ มีลักษณะที่ภาษาดนตรีเรียกกันว่า “ร้องไม่เข้าปาก” จึงทำให้ผลงานยังไม่โดนจิตโดนใจมิตรรักนักเพลงมากนัก แต่ทั้ง เบญจมินทร์ และ ทูล ทองใจ ก็มิได้ย่อท้อ ผลิตสร้างสรรค์ผลงานเพลงที่สาม ‘โปรดเถิดดวงใจ’ ให้แฟน ๆ ได้รับฟัง โดย เบญจมินทร์ ได้เล่าย้อนความหลังถึงจุดเริ่มต้นบทเพลงแห่งตำนานนี้ว่า

“วันหนึ่ง ผมนั่งอยู่ที่วงดนตรีวายุบุตร ผมนั่งอยู่กับเปียโน ผมก็แต่งเพลง พอแต่งเสร็จผมก็ร้อง ร้องไป ๆ มีคนมายืนอยู่ข้าง ๆ 

“ตุ้ม” (เสียงคนเรียก)

“ผมก็หันไปดู อะไรครับ” (ผมขานรับตามเสียงเรียก)

“เพลงที่ร้องอยู่เมื่อกี้นี้เพลงอะไร”

“ผมบอกว่า เพลงโปรดเถิดดวงใจ”

“ครับ เป็นยังไงครับ”

“ดี ร้องดี เพราะดี คนที่พูดคือ คุณสงวน จันทรสาขา”

เมื่อแต่งเพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ สำเร็จ เบญจมินทร์จึงเรียกให้ น้อย ทองใจ มาต่อเพลงเพื่อสอนวิธีการขับร้อง พร้อมตั้งชื่อใหม่จาก น้อย ทองใจ คนขายไอติม ให้กลายเป็นนักร้องชื่อไพเราะเสนาะหูผู้ฟัง นาม ‘ทูล ทองใจ’

“ผมบอก มึงชื่อ น้อย อย่างนี้  ไม่ใช่ชื่อนักร้องโว้ย ชื่ออย่างนี้มันชื่อเด็กข้างถนน กูจะเปลี่ยนชื่อมึงใหม่ มันถามว่าแล้วครูจะเปลี่ยนให้ผมยังไงล่ะ ผมบอกเอาชื่อ ทูล ก็แล้วกัน ชื่อ ทูล ทองใจ ก็แล้วกัน ผมก็ตั้งว่า ทูล ทองใจ มันก็ดีใจ ได้ชื่อว่า ทูล ทองใจ  ผมก็ให้มันร้องเพลง อัดแผ่นเสียง”

ด้วยความที่สองเพลงแรกของ ทูล ทองใจ ไม่ประสบความสำเร็จนัก ทำให้ผลงานเพลงที่สามยากที่จะได้รับความสนใจจากนายทุนบริษัทผลิตเพลง เบญจมินทร์ จึงเดินทางไปหา ‘ครูไพบูลย์ บุตรขัน’ มิตรรักและปรมาจารย์นักแต่งเพลงของวงการเพลงไทย ผู้ซึ่งนายทุนบริษัทแผ่นเสียงและทีมงานนักดนตรีระดับแนวหน้าของวงการเพลงไทยต่างให้ความยอมรับนับถือ เพื่อปรึกษาขอคำแนะนำ เบญจมินทร์ ได้บันทึกเรื่องราวครั้งนี้ไว้ในความทรงจำและนำมาเขียนระลึกในหนังสืองานศพ ครูไพบูลย์ บุตรขัน ว่า

“ต่อมาเด็กหนุ่มคนหนึ่งก็ก้าวเข้ามาในชีวิตผม ทูล ทองใจ คุณคงจำได้ ผมมาหาคุณ และบอกว่าอยากทำแผ่นเสียงเอง แต่เงินไม่มี ทำยังไงมันจึงจะเป็นแผ่นออกมาได้”

“ไปหามงคล อมาตยกุล เพื่อนเราเขาอยู่ ดีคูเปอร์ (บริษัทผลิตและจำหน่ายแผ่นเสียง) เขาช่วยได้”

“คุณแนะนำเช่นนั้น ผมดิ่งไปหามงคลเพื่อนรักทันที และครั้นแล้วเพลงต่าง ๆ ของผมก็หลั่งไหลออกมา ทั้งร้องเอง ทั้งทูลร้อง คุณขอทูลไปร้องบ้าง ผมอนุญาตด้วยความเต็มใจ นั้นคือการทำให้ทูลมีชื่อเสียงยิ่งขึ้น”

นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน ขึ้นสู่ที่สูงไม่ได้ ใครบางคนจำคำคมคนอื่นมาว่าไว้ในวงเหล้า แต่ก็เพราะด้วยมิตรภาพของเพื่อนในวงการเพลงนี้เอง ผลงานเพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ จึงได้ถือกำเนิดขึ้น เบญจมินทร์ เล่าว่า แผ่นเสียงต้นฉบับใน ปี พ.ศ. 2500 นั้นมีสองหน้า หน้าหนึ่งเป็นเพลงที่เบญจมินทร์ แต่งเอง ร้องเอง ชื่อว่าเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ อีกหน้าหนึ่ง ทูล ทองใจ ร้อง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ เสียงเพลงถูกบรรจุลงไปนอนในแผ่นเสียงแล้วออกเดินทางจัดส่งไปยังสถานีวิทยุต่าง ๆ เพื่อขอให้ช่วยเปิดเพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ ให้มิตรรักนักเพลงทั่วไปได้สดับรับฟัง 

ไม่นานเกินรอ หลังสถานีวิทยุเปิดเพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ ไปประมาณเกือบเดือน ก็มีคนมาขอซื้อเพลงดังกล่าวในราคา 500 บาท แต่ เบญจมินทร์ ตัดสินใจไม่ขาย เนื่องจากไปสอบถามตามสถานีวิทยุต่าง ๆ ได้ความว่า มิตรรักนักเพลงชื่นชอบเพลงนี้กันมาก มีทั้งส่งจดหมายและโทรเลขเข้ามาขอที่สถานีวิทยุกันอย่างไม่ขาดสาย ทำให้ เบญจมินทร์ ตัดสินใจลงทุนทำแผ่นเสียงขายด้วยตนเอง ผลปรากฏว่า มิตรรักนักเพลงทั่วฟ้าเมืองไทย บ้านนอกในกรุง บ้านทุ่งแดนไกล ชื่นชอบเป็นอย่างมาก และกระแสความโด่งดังของเพลงก็อยู่ในระดับดังข้ามปี ซึ่งเมื่อหักกลบลบต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว เบญจมินทร์ได้กำไรจากเพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ ไปมากถึง 80,000 บาท

‘โปรดเถิดดวงใจ’ เปรียบเสมือนบั้งไฟโก้ที่พานักร้องหนุ่ม ทูล ทองใจ ดังโด่งทะลุฟ้า ก่อนเบญจมินทร์จะสานต่อความสำเร็จให้กับ ทูล ทองใจ ด้วยเพลง ‘ปรารถนา’ และ ‘ในฝัน’ แม้ต่อมา เบญจมินทร์ จะหันเหไปสู่วงการภาพยนตร์ แต่ ทูล ทองใจ ก็ยังคงเดินหน้าร้องเพลงขับกล่อมผู้คนโดยเดินทางเข้าสู่วงดนตรี ‘จุฬารัตน์’ ของ ‘ครูมงคล อมาตยกุล’ ซึ่งก็ยิ่งส่งให้ ทูล ทองใจ กลายเป็นนักร้องดังแห่งทศวรรษ 2500 ที่ครูเพลงในสมัยนั้นต่างปรารถนาป้อนเพลงเอกของตนให้ ทูล ทองใจ เป็นผู้ขับร้อง ดังที่ ‘อุฬาร เนื่องจำนงค์’ แห่ง ‘นิตยสารไทยโทรทัศน์’ ในปี 2506 ได้บันทึกถึงยุคทองของ ทูล ทองใจ ไว้ในนิตยสาร ว่า

“ชื่อเสียง ทูล ทองใจ เป็นที่นิยมของวงการเพลง เพราะเพลงของทูล ทองใจ ในขณะนั้นได้เข้าอันดับยอดนิยมากกว่านักร้องคนอื่น ๆ และมักจะติดอันดับของวิทยุ จ.ส. อยู่ตั้งจะหลาย ๆ สัปดาห์ แผ่นเสียงของทูล ทองใจ ทำลายสถิติการจำหน่าย ในระยะนั้น ตลาดแผ่นเสียงต่างจังหวัดสั่งกันมาจนกระทั่งบริษัทผลิตแผ่นเสียงทำออกให้ไม่ทัน นับว่าเป็นการปฏิวัติวงการมโหฬาร ทูล ทองใจ มีค่าตัวในการร้องพลงอัดแผ่นสียงสูงกว่านักร้องทุกคนในขณะนั้น และมีโอกาสเลือกร้องได้ตามใจชอบ เพราะนักแต่งเพลงใคร ๆ ก็อยากจะให้ร้องเพลงที่ตนประพันธ์ขึ้น เนื่องจากคนฟังที่ซื้อแผ่นเสียงกำลังสนใจกับ ทูล ทองใจ กันมาก”

แม้ในกาลต่อมา ทูล ทองใจ จะมีเพลงฮิตที่ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงจำนวนมากมายหลายเพลง แต่เมื่อเอ่ยถึงชื่อ ทูล ทองใจ เชื่อใจได้ว่ามิตรรักนักเพลงประมาณ 99.99 เปอร์เซ็นต์ ย่อมจะนึกถึงบทเพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ เพราะเป็นเพลงเอกยอดมงกุฎของ ทูล ทองใจ และ ทูล ก็ถึงกับกล่าวว่า 

“โปรดเถิดดวงใจ ทำให้ผมมีชื่อเสียง และยืนหยัดอยู่ได้บนโลกศิลปินทุกวันนี้” 

ในขณะที่มิตรรักนักเพลงผู้ที่วงการเพลงลูกทุ่งไทยไม่ควรหลงลืมอย่าง ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ ก็ได้วิเคราะห์ความสำเร็จของเพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ ไว้อย่างน่าสนใจว่า 

“โปรดเถิดดวงใจ เป็นเพลงเอกที่สุดในชีวิตการร้องเพลงของ ทูล ทองใจ เป็นเพลงไพเราะลงตัว เพราะเมื่อกาลเวลาผ่านไปจึงเห็นข้อสรุปชัดเจนว่า เพลงนี้คือการประกอบสามส่วนของความเป็นเพลงได้ลงตัวที่สุดคือ หนึ่ง บทประพันธ์เพลงไพเราะ (โดยเบญจมินทร์) สอง การเรียบเรียงและบรรเลงดนตรีสุดยอด (เปียโน โดย ‘มงคล อมาตยกุล’ แอคคอร์เดียน โดย ‘ชาญชัย บัวบังศร’) สาม ขับร้องสุดเยี่ยม ทูล ทองใจ ร้องเพลงนี้ในวัย ๒๘ ปี สะสมประสบการณ์ร้องเพลงและประสบการณ์ชีวิตมาพอตัว บทเพลง ดนตรี เสียงร้องไพเราะลงตัว เพลงขายดีถล่มถลาย”

ในความทรงจำสีจางและอาการหลง ๆ ลืม ๆ ของสังคมไทย ใคร่ควรบันทึกถึงความสำคัญของ ทูล ทองใจ กับสังคมไทยในฐานะนักร้องเจ้าของฉายา ‘เจ้าชายรัตติกาล’ ซึ่งแน่ละว่า ทูล ทองใจ มิได้มีความเกี่ยวข้องอันใดกับ ‘Batman อัศวินรัตติกาล’ ของฝรั่งตะวันตก แต่ที่มาของฉายา ‘เจ้าชายรัตติกาล’ นั้น มาจากน้ำเสียงและผลงานเพลงยอดนิยมส่วนใหญ่ของ ทูล ทองใจ เป็นเพลงเย็น ๆ ฟังสบาย ๆ มิตรรักนักเพลงจึงนิยมเปิดเพลงของ ทูล ทองใจ รับฟังกันในยามค่ำคืน 

เล่ากันว่า ในยุคหนึ่ง ชนบทและบ้านทุ่งแดนไกลนิยมเปิดแผ่นเสียงของ ทูล ทองใจ ในยามหัวค่ำเรื่อยไปจนถึงในยามเช้ามืด ทูล ทองใจ จึงกลายเป็น ‘เจ้าชายรัตติกาล’ ของชนบทไทย ในขณะเดียวกัน ผลงานเพลงของ ทูล ทองใจ ก็ยังได้รับความนิยมให้เป็น ‘เพลงปลุกแม่ค้า’ และ ‘เพลงปลุกแม่ครัว’ เนื่องจากคราใดที่ชนบทบ้านทุ่งแดนไกลมีงานบวช งานแต่ง งานบุญ หรืองานรื่นเริง ไอ้หนุ่มเครื่องไฟดีเจคนเศร้าประจำหมู่บ้านก็มักนิยมเปิดเพลงของ ทูล ทองใจ เพื่อปลุกพ่อค้าแม่ขาย แม่ครัว แม่บ้าน ให้ลุกตื่นขึ้นมาหุง อุ่น ตุ๋น ต้ม นึ่ง ทำอาหารแต่เช้าตรู่ รวมทั้งยังเป็นการบอกเล่าส่งข่าวด้วยเสียงเพลงผ่านลำโพงให้ชาวบ้านชาวช่องคุ้งนี้รู้ว่า บ้านนี้มีงาน

ดังนั้น ย่อมไม่เป็นการเกินเลยที่ครั้งหนึ่ง เจนภพ จบกระบวนวรรณ วิกิพีเดียแห่งวงการเพลงลูกทุ่งไทย จะอธิบายถึงที่มาฉายา ‘เจ้าชายรัตติกาล’ ของ ทูล ทองใจ ว่า 

“ทุกลมหายใจเข้าออกของคนไทยชนบท จะมี ทูล ทองใจ อยู่ ตั้งแต่ตะวันตกดินจนถึงฟ้าสาง นี่คือช่วงเวลาของเขา เป็นเวลาทองของ ทูล ทองใจ”

ภายใต้ความไพเราะเสนาะหูของมิตรรักนักเพลงรุ่นเก่าและใหม่ที่นอนเอนกายอยู่ในโรงภาพยนตร์ การที่ตัวละครอย่างบุญเย็น จากภาพยนตร์ ธี่หยด จะนิยมหมุนวิทยุฟังเพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ ในยามเช้าตรู่เพื่อลุกขึ้นมาหุง อุ่น ตุ๋น ต้ม นึ่ง ทำอาหารแต่เช้าตรู่ และการที่ผู้กำกับและทีมงานได้นำเพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ มาเป็นเพลงประกอบหลักของภาพยนตร์เพื่อให้บรรยากาศชีวิตคนไทยในชนบทบ้านทุ่งแดนไกล จึงเป็นภาพสะท้อนวิถีชีวิตคนไทยในชนบทที่มีความผูกพันกับเสียงเพลงแห่งรัตติกาลของ ทูล ทองใจ ได้อย่างซื่อตรง

แม้ เบญจมินทร์ หรือ ตุ้มทอง โชคชนะ จะลาลับโลกนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2537 และ น้อย ทองใจ คนขายไอติม หรือ ทูล ทองใจ จะลาลับโลกนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 แต่สิ่งที่ครูเพลงทั้งสองได้ฝากไว้ ทิ้งไว้ และเหลือไว้ ให้มิตรรักนักเพลงได้หวนคิดคำนึง ว่าคราใดที่มิตรรักนักเพลงได้ยินเสียงดนตรีอินโทร (Intro) จาก แอคคอร์เดียน (หีบเพลง) บรรเลงขึ้นด้วยเมโลดี้อันคุ้นหู ขอจงอย่าได้เดินจากหรือหากอยู่ในอ้อมแขนใครก็ขอจงอย่าเพิ่งได้ปิดเพลง เพราะ

“โปรดเถิดดวงใจ โปรดได้ฟังเพลงนี้ก่อน”

 

เรื่อง: อิทธิเดช พระเพ็ชร

อ้างอิง:
เลิศชาย คชยุทธ, ไทยลูกทุ่ง, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2538)
วัฒน์ วรรลยางกูร, คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน, พิมพ์ครั้งที่ 5, (กรุงเทพฯ : ฟรีฟอร์ม, 2555)
นักผจญเพลง REPLAY, 'ทูล ทองใจ' กับฉายา เจ้าชายรัตติกาล, เข้าถึงใน
https://www.facebook.com/watch/?v=248898844299635