‘รักน้องพร’ เพลงฮิต ‘สดใส รุ่งโพธิ์ทอง’ ว่ากันว่าเพลงเดียวสร้างตึกได้ทั้งหลัง

‘รักน้องพร’ เพลงฮิต ‘สดใส รุ่งโพธิ์ทอง’ ว่ากันว่าเพลงเดียวสร้างตึกได้ทั้งหลัง

เพลง ‘รักน้องพร’ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการเป็น ‘เพลงแลกหมา’ กลายมาเป็น ‘เพลงส้มหล่น’ ที่เปลี่ยนชีวิตของ ‘สดใส รุ่งโพธิ์ทอง’ ไปตลอดกาล ขณะเดียวกันก็ว่ากันว่า รายได้ความสำเร็จของเพลงรักน้องพร ทำให้บริษัทต้นสังกัดสามารถสร้างตึกได้ทั้งหลัง

  • สดใส เริ่มมีชื่อเสียงมาจากเพลง ‘ข้าด้อยเพียงดิน’ ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2514 ซึ่งเป็นผลงานเพลงที่สดใสแต่งขึ้นเองกับมือ รวมถึงเพลง ‘รักจางที่บางปะกง’ พาชื่อเสียงของ สดใส รุ่งโพธิ์ทอง พุ่งทะยาน
  • แต่เมื่อวงการเพลงลูกทุ่งไทยเข้าสู่ช่วงขาลง ชีวิตของสดใสก็มิได้เป็นไปดังชื่อ เมื่อการเดินสายแสดงของวงดนตรีลูกทุ่งไม่ประสบความสำเร็จเหมือนดั่งแต่ก่อน
  • สดใสมักกล่าวอยู่เสมอว่า เพลงรักน้องพร เป็นเพลงที่ช่วยชีวิตตนไว้ และเรียกเพลงนี้ว่า ‘เพลงส้มหล่น’
  • ความดังของเพลงทำให้มีคนแต่งเพลงออกมาร้องแก้เพลงรักน้องพรถึง 19 คน รวมทั้งยังร่ำลือกันว่า รายได้ความสำเร็จของเพลงรักน้องพร ทำให้บริษัทต้นสังกัดสามารถสร้างตึกได้ทั้งหลัง 

“โอ โอ้ละเน้อน้องพร พรจ๋าพร คืนนี้ขอนอนบ้านพรได้ไหม พี่คนบ้านไกล ขอมาอาศัย อย่าได้ตัดรอน” 

นี่คือท่อนจำของเพลง ‘รักน้องพร’ ร้องโดย ‘สดใส รุ่งโพธิ์ทอง’ ที่คนไทยร้องตามกันได้ทั่วบ้านทั่วเมืองในช่วงปี 2540 

เนื้อเพลงออดอ้อนนี้แสดงถึงความคลั่งรักของหนุ่มต่างจังหวัด ผู้ตกเป็น ‘ทาสรัก’ ของหญิงสาวชื่อ ‘พร’ พร้อมโฆษณาสรรพคุณตัวเองเสร็จสรรพ  

“พี่จะปรนนิบัติ ยอมเป็นทาสรักเจ้า ทุกค่ำ ทุกเช้า จะช่วยหุงข้าว ผ่าฟืน พี่ทำนาก็เก่ง แถมร้องเพลงก็เป็น อากาศเย็น ๆ จะร้องกล่อมพรทั้งคืน”

แต่ก่อนจะกลายเป็น ‘เพลงดังแห่งยุค’ ที่เปลี่ยนสถานะให้นักร้องเพลงลูกทุ่งอย่าง ‘สดใส รุ่งโพธิ์ทอง’ เป็น ‘แมวเก้าชีวิต’ เพลงรักน้องพรมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็น ‘เพลงแลกหมา’ แล้วกลายมาเป็น ‘เพลงส้มหล่น’ ที่ว่ากันว่าสร้างตึกได้ทั้งหลัง

‘รักจางที่บางปะกง’ กับชีวิตขาลงของ ‘สดใส รุ่งโพธิ์ทอง’

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 2510 ซึ่งถือได้ว่าเป็น ‘ยุคทอง’ ของวงการเพลงลูกทุ่งไทย ในสี่ห้องหัวใจของมิตรรักนักเพลงลูกทุ่ง นอกจากชื่อของ สายัณห์ สัญญา, ศรเพชร ศรสุพรรณ, ศรคีรี ศรีประจวบ, ศรชัย เมฆวิเชียร หรือยอดรัก สลักใจ เชื่อเหลือเกินว่า แม้เพียงหนึ่งห้องหัวใจของมิตรรักแฟนเพลงก็คงจะมีที่ว่างพอให้กับนักร้องลูกทุ่งหนุ่มนามว่า ‘สดใส ร่มโพธิ์ทอง’

สดใส ร่มโพธิ์ทอง เริ่มมีชื่อเสียงมาจากเพลง ‘ข้าด้อยเพียงดิน’ ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2514 ซึ่งเป็นผลงานเพลงที่สดใสแต่งขึ้นเองกับมือ โดยมีเนื้อหาเล่าบรรยายถึงความรู้สึกต่ำต้อยของชายหนุ่มที่หลงรักหญิงสาวผู้สูงส่งเสมือนราวดินกับฟ้า ดังที่สดใสขับกล่อมในท่อนแรกว่า “เลิกมองดูฟ้า ก้มหน้ามองดิน” และท่อนฮุค (hook) ของเพลงที่ว่า “เลิกแบ่งชั้นกันเถิดหนา ลืมศักดินาเถิดน้องเจ้า” ที่ให้กลิ่นอายอิทธิพลคำศัพท์ทางการเมืองของฝ่ายซ้ายไทยในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผสมไปกับลูกคอและดนตรีของเพลงลูกทุ่งได้อย่างลงตัว

ชีวิตของสดใส ยิ่งสดใสตามชื่อเมื่อต่อมาในช่วงราวปี พ.ศ. 2517 - 2518 ผลงานเพลง ‘รักจางที่บางปะกง’ ดังทั่วบ้านทั่วเมือง แม้ว่าเนื้อหาของเพลงจะชวนให้เศร้าเพราะหัวใจของหญิงสาวราวกับแม่น้ำบางปะกงที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ดังที่เพลงร้องบอกว่า “บางปะกง น้ำคงขึ้น ๆ ลง ๆ ใจอนงค์ก็คงเลอะเลือนกะล่อน” แต่ด้วยดนตรีสไตล์ฉิ่งฉับที่ให้ความรู้สึกสนุกสนาน จึงทำให้เพลงรักจางที่บางปะกง พาชื่อเสียงของสดใส โด่งดังทะลุฟ้าเคียงข้างกับขุนพลนักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังคนอื่น ๆ ในยุคนั้นอย่างมิอายใคร  

โดยในขณะนั้น สดใสก็ได้เปลี่ยนสกุลจาก ‘ร่มโพธิ์ทอง’ มาเป็น ‘รุ่งโพธิ์ทอง’ (เนื่องจากมีปัญหาบางประการกับนายทุนผู้สนับสนุนซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจธูปตรา ‘ร่มโพธิ์ทอง’) จนกลายเป็น ‘สดใส รุ่งโพธิ์ทอง’

นอกจากเพลงข้าด้อยเพียงดิน และรักจางที่บางปะกง สดใสยังมีเพลงดังอย่าง ‘สาวงามเมืองพิจิตร’ ที่ฟังแล้วทำเอาหนุ่ม ๆ หลายคนแม้จะมีนิสัยและทำตัวเป็นคร็อกโคไดล์ จูเนียร์ แต่ก็ “อยากเป็นตะเข้ว่ายเร่คาบน้อง” ไปกับเขาตามเพลงด้วยเหมือนกัน รวมทั้งยังมีเพลงดังอย่าง ‘บอกรักฝากใจ’ ที่ร้องขึ้นต้นว่า “พี่ เอารักมาฝาก เป็นความรักจากชายคนหนึ่งส่งถึงทรามวัย” นอกจากนี้สดใสยังมอบเพลง ‘ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน’ ซึ่งเป็นเพลงที่สดใสแต่งขึ้นเองและเคยบันทึกเสียงในชื่อ ‘ข้ามคนจะจนใจ’ ให้แก่นักร้องราชินีลูกทุ่งสาว ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ ร้องเข้าปากจนกลายเป็นหนึ่งในขบวนเพลงดังของพุ่มพวงจวบจนถึงปัจจุบัน

กล่าวได้ว่า ในช่วงยุคทองของวงการเพลงลูกทุ่งไทย ไม่ว่าจะบ้านนอกในกรุงบ้านทุ่งแดนไกล ชื่อเสียงของ สดใส รุ่งโพธิ์ทอง มิได้เป็นรองศิลปินเพลงลูกทุ่งคนอื่น ๆ เท่าใดนัก ความดังของสดใสทำให้สามารถตั้งคณะวงดนตรีลูกทุ่งเดินสายเหนือ ใต้ ออก ตก ตั้งแต่ในช่วงกลางทศวรรษ 2510 โดยควรบันทึกไว้ว่า ในชาวคณะวงดนตรีเพลงลูกทุ่ง สดใส รุ่งโพธิ์ทอง มีเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่เริ่มต้นจากการทำหน้าที่เป็น คอนวอย (convoy) หรือ เด็กยกของ ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นตลกในวงและกลายเป็นดาวตลกเบอร์ 1 ของเมืองไทยในปัจจุบัน นั่นคือ ‘หม่ำ จ๊กมก’

อย่างไรก็ตาม แม้คนจะเป็นผู้เขียนเพลง แต่ในบางครั้งเพลงก็เขียนชีวิตคนด้วยเหมือนกัน แม่น้ำและความรักที่เคยไหลขึ้นก็ยังจืดจาง นับประสาอะไรกับชีวิตมนุษย์ที่คงต้องมีขึ้นมีลง เพราะหลังรักจางที่บางปะกง พาชื่อเสียงของ สดใส รุ่งโพธิ์ทอง พุ่งทะยานจนได้รับความนิยมจากมิตรรักนักเพลง แต่เมื่อวงการเพลงลูกทุ่งไทยเข้าสู่ช่วงขาลง ชีวิตของสดใสก็มิได้เป็นไปดังชื่อ 

เมื่อการเดินสายแสดงของวงดนตรีลูกทุ่งไม่ประสบความสำเร็จเหมือนดั่งแต่ก่อน สดใสจึงตัดสินใจ ‘ยุบวง’ ในช่วงราวปี พ.ศ. 2525 สดใสเล่าว่า นอกจากวงจะประสบกับปัญหาที่เรียกว่า “หน้าฝนไส้แห้ง หน้าแล้งพอมีกิน” แล้ว เมื่อกระแสความนิยมในตัวหัวหน้าวงค่อย ๆ ลดลง ชาวคณะก็เริ่มมีอาการ ‘รักจาง’ คำพูดที่เคยเป็นวาจาสิทธิ์ได้กลับกลายเป็นความหนักอกเพราะสิ้นไร้ซึ่งอำนาจแห่งความเชื่อฟังยำเกรง สดใสจึงประกาศยุบวงแล้วพาตัวเองกลับบ้านที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ โดยก็มิรู้ว่าจะไปทำอะไรต่อ

เข้าสู่ช่วงทศวรรษ 2530 ในขณะที่วงการเพลงลูกทุ่งไทยเป็นยุคขาลง วงการตลกคาเฟ่ก็กลับเฟื่องฟูกลายเป็นยุคทองแห่งความบันเทิงในสังคมไทย ซึ่งก็เป็นไปดั่งเพลง ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน ที่ว่า คนเรามีทั้งคราวดังและคราวดับอับจน ไม่พ้นแม้แต่ผู้เขียนเพลงนี้เองกับมืออย่างสดใส ที่ต้องจำใจทิ้งเวทีลอย ไฟสปอตไลต์และพวงมาลัยล้นคอ เดินหน้ามุ่งเข้าสู่คาเฟ่ตลก กลายเป็นเพียง ‘นักร้องคั่นเวลา’ ให้กับบรรดาเหล่าตลกคาเฟ่ที่หมุนเวียนเปลี่ยนสลับขึ้นมาเล่นเรียกเสียงฮาตั้งแต่หัวค่ำยันเช้า จนแทบไม่มีที่ว่างพอให้กับนักร้องคนดังที่เคยรับใช้มิตรรักแฟนเพลงมานานหลายปี 

สดใสเล่าด้วยความตลกที่สอดไส้ความขมขื่นว่า ในบางคืนเขาเดินทางไปรอขึ้นร้องเพลงตั้งแต่หนึ่งทุ่ม แต่ปรากฏว่าร้านไม่มีคิวให้ขึ้นร้องเพลงเลยจนเกือบตีห้าของอีกวัน บางครั้งเขาก็เมาผล็อยหลับไปกับแขกจนไม่มีค่ารถแท็กซี่กลับบ้าน ในขณะที่บางคืน สดใสก็ได้มาลัยน้ำใจจากแขกและแฟนเพลงที่ยังจดจำและชื่นชอบในน้ำเสียงของเขาเพียงแค่ 300 บาทเท่านั้น

ชีวิตไม่สิ้น ก็ต้องดิ้นกันไป ชีวิตของสดใสพอจะดีขึ้นมาบ้างเมื่อเขาตัดสินใจไปร้องเพลงขับกล่อมให้แก่มิตรรักแฟนเพลงในห้องอาหาร เพราะเห็นตัวอย่างมาจากนักร้องรุ่นพี่ ‘ไพรวัลย์ ลูกเพชร’ กระนั้น ก็เทียบมิได้เลยกับความนิยมและความรุ่งเรืองที่สดใสเคยได้ลิ้มรสสัมผัสมาในอดีต กล่าวได้ว่า ในช่วงดังกล่าวชีวิตของสดใสอยู่ในลักษณะลุ่ม ๆ ดอน ๆ ที่ “ขืนพายจ้ำคงต้องช้ำแน่นอน” ตามเพลงรักจางที่บางปะกง 

แต่แล้ว จุดเริ่มต้นของอีกหนึ่งประวัติศาสตร์เพลงลูกทุ่งไทยก็เกิดขึ้น เมื่อนักร้องเพลงลูกทุ่งเจ้าของฉายา ‘หนุ่มนาเสียงเด็ด’ ศรเพชร ศรสุพรรณ ที่เป็นเพื่อนเข้าวงการเพลงลูกทุ่งมาด้วยกัน ได้ชักชวนให้สดใสไปห้องอัดเสียง เพื่อนั่งฟังศรเพชรร้องเพลงบันทึกเสียงสำหรับทำเพลงอัลบั้มใหม่

จาก ‘เพลงแลกหมา’ ถึง ‘เพลงส้มหล่น’

ความดังในระดับระเบิดเถิดเทิงของละครเพลง ‘มนต์รักลูกทุ่ง’ ทางช่อง 7 สีทีวีเพื่อคุณ ในปี พ.ศ. 2538 ที่มีเพลงดังฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองอย่างมนต์รักลูกทุ่ง, น้ำลงนกร้อง, สิบหมื่น และแม่ร้อยใจ ส่งผลทำให้นักแสดงอย่าง ‘ตั้ว’ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, ‘น้ำผึ้ง’ ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์, ‘เอ’ อนันต์ บุนนาค และ ‘ต้อม’ รัชนีกร พันธ์มณี รวมถึงนักร้องเพลงลูกทุ่งตัวจริงอย่าง ‘ยอดรัก สลักใจ’ และ ‘สันติ ดวงสว่าง’ เป็นที่นิยมชื่นชอบของมิตรรักแฟนเพลงและแฟนละครทีวีทั่วประเทศ 

โดยเฉพาะ ยอดรัก สลักใจ ที่นอกจากจะได้เป็นหนึ่งในนักแสดงของละครแล้ว ยังได้รับโอกาสให้เป็นผู้ขับร้องเพลงมนต์รักลูกทุ่ง ผลงานการประพันธ์ของ ‘ครูไพบูลย์ บุตรขัน’ ที่ยอมรับนับถือกันในวงการเพลงลูกทุ่งว่าเป็น ‘จักรพรรดิแห่งเพลงลูกทุ่งไทย’ และคงไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า เพลงมนต์รักลูกทุ่ง เวอร์ชั่น ยอดรัก สลักใจ คือหนึ่งในเพลงลูกทุ่งไทยที่ดีที่สุดตลอดกาล

ปฏิเสธมิได้ว่า ส่วนสำคัญหนึ่งแห่งความสำเร็จของละครเพลงมนต์รักลูกทุ่ง มาจากทีมผลิตเพลงละครที่อยู่ภายใต้สังกัดการดูแลของบริษัท อาร์เอส จำกัด ที่มี ‘ครูมนต์ เมืองเหนือ’ (เฉลียว ฉิมมา) เป็นโปรดิวเซอร์หัวเรือใหญ่ มี ‘ครูจิตรกร บัวเนียม’ เป็นมือทำดนตรี และมี ‘เฮียจั๊ว’ (เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์) นั่งแท่นเป็นผู้บริหารในสายการผลิตเพลงลูกทุ่ง ซึ่งจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ได้ปรากฏว่าวันหนึ่ง ยอดรัก สลักใจ เกิดอยากได้ ‘หมา’ ที่เฮียจั๊วเลี้ยงไว้ ครูมนต์ เมืองเหนือ จึงยื่นข้อเสนอให้ ยอดรัก อัด (ร้อง) เพลงให้กับบริษัทอาร์เอสเป็นจำนวน 3 ชุด เพื่อแลกกับหมาของเฮียจั๊ว 

แต่ปรากฏว่า เมื่อยอดรักอัดเพลงให้ครูมนต์ไปได้เพียงอัลบั้มเดียว ยอดรักกลับไม่ค่อยมีคิว (เวลา) มาอัดเพลงอื่น ๆ ให้ ในขณะที่คำร้องและดนตรีได้ถูกเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว เมื่อเห็นว่าคงไม่ได้การเสียแล้ว ครูมนต์จึงตัดสินใจมอบเพลงที่เตรียมไว้ให้สำหรับยอดรักส่งต่อให้แก่นักร้องลูกทุ่งเจ้าของฉายา ‘หนุ่มนาเสียงเด็ด’ ศรเพชร ศรสุพรรณ ที่กำลังดังจากเพลง ‘รักมาห้าปี’ และ ‘เสียน้ำตาที่คาเฟ่’ เข้ามาเสียบร้องบันทึกเสียงแทน 

กระนั้น ด้วยคีย์ดนตรีได้ถูกทำมาให้เข้ากับ ‘ร่องเสียง’ ของยอดรัก ในขณะที่คีย์เสียงร้องของศรเพชร สูงกว่ามาก จึงทำให้ศรเพชรต้องดรอป (ลด) คีย์เสียงตัวเองอันเป็นเอกลักษณ์ลงมา และทำให้เมื่อร้องเพลงเสร็จออกมาแล้วไม่เป็นที่พอใจทั้งครูมนต์และตัวศรเพชรเอง ซึ่งวงการเพลงลูกทุ่งเรียกสภาวะดังกล่าวกันว่า ‘ร้องไม่ติด’

เมื่อเพียรพยายามกันอยู่ 3 วัน ศรเพชรก็เริ่มท้อ ทำให้ในท้ายที่สุดเมื่อมองไปทางซ้ายทางขวา ครูมนต์จึงเห็นว่านอกห้องบันทึกเสียงมีนักร้องผู้หนึ่งที่ศรเพชรชวนมาด้วยกัน จึงกวักมือเรียกแล้วพูดว่า “เฮ้ย สดใส มึงมาลองซิ”

เมื่อ ยอดรัก สลักใจ ไม่ได้ร้อง ศรเพชร ศรสุพรรณ ก็ร้องไม่ได้ เพลงและดนตรีที่ได้ถูกเตรียมไว้และเคยเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอในการ ‘แลกหมา’ จึงกลายเป็นเพลง ‘ส้มหล่น’ ตกมาที่ สดใส รุ่งโพธิ์ทอง 

ตามคำบอกเล่าของ ครูมนต์ เมืองเหนือ เล่าว่า ในตอนแรกเมื่อตัดสินใจเปลี่ยนตัวนักร้องมาเป็นสดใส ผู้บริหารค่ายไม่เห็นด้วย แต่ด้วยเพราะทั้งคำร้อง ซาวนด์ดนตรี และห้องอัด ก็มีพร้อมไว้อยู่แล้ว จึงบอกให้สดใสเตรียมตัวให้พร้อม โดยก่อนการบันทึกเสียง ทีมงานได้คุยปรึกษากันว่า สุดท้ายแล้วจะเปลี่ยนอะไรกันอีก ปรากฏว่า ทีมงานได้สรุปร่วมกันให้เปลี่ยนชื่อเพลงและเนื้อเพลงที่จะทำการบันทึกเสียง จาก ‘รักน้องอร’ มาเป็น ‘รักน้องพร’

เพลงรักน้องอร แต่งโดย ‘เกียรติ เฉลิมชัย’ ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทยเดิม ‘ลาวกระทบไม้’ และทำนองเพลง ‘ยอยศพระลอ’ ของ ‘ชินกร ไกรลาศ’ โดยมี ‘ครูจิตรกร บัวเนียม’ เป็นผู้ทำดนตรี ส่วนที่มาของเพลงรักน้องอร ครูมนต์ เมืองเหนือ เล่าว่า “น้องอร นี่ก็คือญาติผม พูดกันง่าย ๆ แฟนผม พูดง่ายตรง ๆ เลยคือ เมียผม” ส่วนสาเหตุที่ทำให้ต้องเปลี่ยนจาก น้องอร มาเป็น น้องพร ก็ด้วยเหตุเพราะ

“ทีนี้ เมื่อน้องอรได้เลิกกันไปแล้ว ก็มีเมียใหม่ เป็น น้องพร ฮาๆๆ (เสียงหัวเราะ) เอาละวะ ระหว่าง อร กับ พร นี่ใครมากกว่ากัน ทาง ‘สมาน โรต้า’ (ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นทีมงานของบริษัท โรต้า บริษัทผลิตเทปเพลงชื่อดังในยุคนั้น) บอกว่า พร มากกว่าอร เอ้า เมื่อ พร มากกว่า อร ก็เอา พร ก็แล้วกัน”

ขณะที่ สดใส รุ่งโพธิ์ทอง ก็ได้เล่าถึงเหตุในการเปลี่ยนชื่อ จาก น้องอร เป็น น้องพร ก่อนจะทำการบันทึกเสียงว่า “คือแก (มนต์ เมืองเหนือ) มีแฟนบ้านเล็กชื่อพร...ก็ปรากฏว่า ไอ้เราก็แซวกันอะ...ผมก็เลยบอกอาจารย์จะเป็นน้องอรทำไม ก็ น้องพร ซะเลยหมดเรื่องหมดราว”

เมื่อตัดสินใจเปลี่ยนจาก น้องอร มาเป็น น้องพร แล้ว ทีมงานจึงเริ่มทำการบันทึกเสียง ซึ่งตามความทรงจำของสดใส เล่าว่าเพลงรักน้องพร ทำการร้องบันทึกเสียงเพียง 3 ครั้งเท่านั้น กระนั้น ข้อมูลเหตุการณ์ตรงนี้แตกต่างไปจากคำบอกเล่าของครูมนต์ เมืองเหนือ เพียงเล็กน้อย 

โดยตามคำบอกเล่าครูมนต์เล่าว่า การบันทึกเสียงเพลงรักน้องพร ครั้งแรกไม่ติด เพราะคีย์ดนตรีได้ถูกออกมาให้เข้ากับร่องเสียงของยอดรัก ครูมนต์จึงขอให้ สดใสร้องออกมาเป็นคีย์เสียงระหว่าง ยอดรัก กับ ศรเพชร พร้อมบอกกับทีมงาน ว่า “เฮ้ย เที่ยวนี้ติดนะ เที่ยวเดียวไม่ติด เที่ยวที่สองไม่ติด กูเลิกอัด” ผลปรากฏว่า การร้องบันทึกเสียงครั้งสุดท้ายเป็นที่พอใจอย่างมาก จนครูมนต์ถึงกับบอกสดใสว่า “ถ้ามึงขายไม่ได้ หรือมึงไม่ดัง กูจะลาออกจากบริษัท”

เพลงดังแห่งทศวรรษ ‘รักน้องพร’

แม้ รักน้องพร จะเป็นเพลงที่ทำให้ สดใส รุ่งโพธิ์ทอง มีโอกาสกลับมาบันทึกเสียงออกผลงานเพลงอัลบั้มใหม่อีกครั้ง แต่เมื่อผลิตผลงานเพลงออกมาจำนวนทั้งหมด 12 เพลง สดใสกับทีมงานได้ตกลงกันว่าจะให้เพลง ‘น้ำตา สจ.’ เป็นเพลงโปรโมตของอัลบั้ม เพื่อให้เข้ากับบริบทชีวิตของสดใส ที่สอบตกในการลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) เมื่อปี พ.ศ.2538 

ทว่า เมื่ออัลบั้มเพลงถูกส่งไปยังคลื่นวิทยุต่างจังหวัด ปรากฏว่าผ่านไปเพียง 3 เดือน เพลงรักน้องพร กลับได้รับความนิยมจากมิตรรักแฟนเพลงเป็นกระแสโด่งดังในคลื่นวิทยุต่างจังหวัด และกลับเข้ามาดังในเมืองกรุงชนิดที่เรียกว่า ‘ป่าล้อมเมือง’ ดังจนถึงขนาดที่ว่า ทำให้คลื่นวิทยุเพลงลูกทุ่งแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ต้องเปิดเพลงรักน้องพร แบบ ‘เช้า สาย บ่าย เย็น’

สำหรับมิตรรักนักเพลงลูกทุ่งไทย คงยังพอจำกันได้ดีว่าเพลงรักน้องพร โด่งดังในชนิดที่ว่าดังระเบิดทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่ว่าจะบ้านนอกในกรุง บ้านทุ่งแดนไกล งานวิก งานวัด งานจัด งานหา งานแต่ง งานบวช ร้านลาบ ร้านคาราโอเกะ ล้วนต่างก็เปิดเพลงรักน้องพรทั้งสิ้น

เพลงรักน้องพร ไม่เพียงแต่ทำให้ชื่อเสียงของ สดใส รุ่งโพธิ์ทอง กลับมาเข้ามาอยู่ในห้องหัวใจของมิตรรักแฟนเพลง แต่ยังทำให้สดใสได้รับฉายาในวงการเพลงลูกทุ่งว่าเป็น ‘ลูกทุ่งแมวเก้าชีวิต’ เพราะไม่มีใครคาดคิดว่า สดใสจะกลับมามีชื่อเสียงโด่งดังเป็นพลุแตกอีกครั้ง ซึ่งสดใสก็มักกล่าวอยู่เสมอว่าเพลง รักน้องพร เป็นเพลงที่ช่วยชีวิตตนไว้ และเรียกเพลงนี้ว่า ‘เพลงส้มหล่น’

ไม่เพียงแต่ตัวสดใส เพลงรักน้องพร ยังกลายเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์วงการเพลงลูกทุ่งไทย เพราะความดังของเพลงทำให้มีคนแต่งเพลงออกมาร้องแก้เพลงรักน้องพรถึง 19 คน รวมทั้งยังร่ำลือกันว่า รายได้ความสำเร็จของเพลงรักน้องพร ทำให้บริษัทต้นสังกัดสามารถสร้างตึกได้ทั้งหลัง 

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้เขียน (อิทธิเดช) เคยได้วิเคราะห์แล้วว่า เพลงรักน้องพร มีความสำคัญอย่างมากในทางประวัติศาสตร์สังคม เพราะเพลงรักน้องพร นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้วงการเพลงลูกทุ่งไทยพลิกฟื้นกลับขึ้นมากลายเป็น ‘ยุคทอง’ อีกครั้งในช่วงทศวรรษ 2540 ภายใต้ปรากฏการณ์โหยหาอดีตของสังคมไทย

แม้จะมีคำกล่าวที่ว่า ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้เสมอ แต่เส้นทางชีวิตของเพลงรักน้องพร ก็ราวกับเป็นปาฏิหาริย์ที่ยากเกินจะเชื่อ เพราะจากจุดเริ่มต้นที่เป็นเพลงแลกหมา ได้กลายมาเป็นเพลงส้มหล่น แล้วมาสู่การเป็นเพลงดังแห่งทศวรรษ รวมทั้งยังเปลี่ยนชีวิตของนักร้องลูกทุ่งอย่าง สดใส รุ่งโพธิ์ทอง ไปตลอดกาล จากนักร้องลูกทุ่งที่เงียบหายไปนานเป็นสิบปี จนสดใสเองเคยได้ยินเสียงจากแฟนเพลงบางคนบอกว่า “สดใสตายหรือเปล่า” กลับมามีชื่อเสียงโด่งดังอีกครั้งราวกับเป็น ‘แมวเก้าชีวิต’

รักน้องพร จึงเป็นทั้งเพลงของเกียรติ เฉลิมชัย ของสดใส รุ่งโพธิ์ทอง และของบริษัท อาร์เอส และมากไปกว่านั้น รักน้องพร เป็นเพลงแห่งประวัติศาสตร์และของคนไทยหัวใจลูกทุ่งโดยแท้จริง

 

เรื่อง : อิทธิเดช พระเพ็ชร

อ้างอิง :

“สดใส” แฮปปี้เพลง "รักน้องพร" กลับมาดังอีกครั้ง บอกน้องพรในเพลงกับในข่าวคนละแบบกัน

“บ้านนอกในกรุง บ้านทุ่งแดนไกล: ปฏิสัมพันธ์ อำนาจนำ และการต่อรองระหว่างเมืองกับชนบท ในเพลงลูกทุ่งไทย”

เพจเฟซบุ๊ก เจนภพ จบกระบวนวรรณ 

หม่ำ จ๊กมก จากเด็กคอนวอยสู่ตลกดาวค้างฟ้า

สดใส รุ่งโพธิ์ทอง l ลูกทุ่งตัวจริง l วิทยา ศุภพรโอภาส

“เสียน้ำตาที่คาเฟ่: จาก ‘ความฮา’ ถึง ‘ความเศร้า’ ในเงาความทรงจำของตลกคาเฟ่ไทย”

สดใส รุ่งโพธิ์ทอง | รายการตามรอยเพลง | ประวัติชีวิต อดีต-ปัจุบัน

คุยแซ่บShow, “สดใส รุ่งโพธิ์ทอง” เผยเคยเป็นหนี้หลายล้าน พร้อมเปิดใจอยากบวชตลอดชีวิต”

“สดใส” แฮปปี้เพลง "รักน้องพร" กลับมาดังอีกครั้ง บอกน้องพรในเพลงกับในข่าวคนละแบบกัน

มนต์ เมืองเหนือ ผู้บุกเบิก 30ปี ลูกทุ่งอาร์เอส

จาก ‘รักน้องพร’ สู่ ‘รักแท้ในคืนหลอกลวง’: บ้าน ป่าปูน และสถานบันเทิง ในพัฒนาการเพลง ‘ลูกทุ่งไทย’ สู่ ‘สตริงลูกทุ่ง’ หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540

รายการ “ดาวในดวงใจ” “สดใส รุ่งโพธิ์ทอง” เปิดใจฉายา “แมวเก้าชีวิต” ส้มหล่น ! เพลง “รักน้องพร” พาดังเปรี้ยง