Miles Davis - Kind of Blue : เบื้องหลังความสำเร็จของสุดยอดอัลบั้มแจ๊สที่ขายดีตลอดกาล

Miles Davis - Kind of Blue : เบื้องหลังความสำเร็จของสุดยอดอัลบั้มแจ๊สที่ขายดีตลอดกาล

เรื่องราวเบื้องหลังความสำเร็จของ ‘Kind of Blue’ สุดยอดอัลบั้มแจ๊สจาก ‘ไมล์ส เดวิส’ (Miles Davis) ที่ปฏิวัติโลกดนตรีไปตลอดกาล

KEY

POINTS

  • Kind of Blue’ อัลบั้มแจ๊สปฏิวัติวงการจาก ‘ไมล์ส เดวิส’ (Miles Davis) ที่พาแจ๊สจากความซับซ้อนของโครงสร้างคอร์ดและแนวโซโล่ที่อิงกับทางเดินคอร์ดแบบ ‘บีบ็อพ’ (Bebop) สู่ความเรียบง่ายที่แฝงไปด้วยอารมณ์และจิตวิญญาณแบบ ‘โมดัล แจ๊ส’ (Modal Jazz)
  • เบื้องหลังการบันทึกเสียงอัลบั้มในช่วงต้นปี 1959 ที่ประกอบไปด้วยนักดนตรีระดับสุดยอดของวงการในขณะนั้นกับโจทย์อันแสนท้าทายจาก ไมล์ส เดวิส
  • การสร้างสรรค์และรายละเอียดในแต่ละบทเพลงในอัลบั้ม ตั้งแต่ ‘So What’ ไปจนถึง ‘Flamenco Sketches

ช่วงปลายทศวรรษ 1950s วงการแจ๊สเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แนวดนตรีบีบ็อพ (Bebop) ซึ่งเต็มไปด้วยความซับซ้อนของคอร์ดและจังหวะที่เร่งเร้า เริ่มคลี่คลายไปสู่แนวทางใหม่ ทั้ง คูลแจ๊ส (Cool Jazz) และ ฮาร์ดบ็อพ (Hardbop) เพียงไม่กี่ปีหลังจากั้น 

แม้ บีบ็อพ จะเป็นแนวทางที่นักดนตรีระดับสุดยอดใช้แสดงทักษะอันเป็นเลิศ แต่ ‘ไมล์ส เดวิส’ (Miles Davis 1926-1991) นักทรัมเป็ต ผู้ได้สมญานามว่าเป็น ‘นักปฏิวัติดนตรีแจ๊ส’ กลับรู้สึกว่าแจ๊สไม่ควรถูกจำกัดอยู่ในกรอบที่ซับซ้อนแบบนั้น เขาต้องการสร้างสรรค์ดนตรีที่เน้นการแสดงอารมณ์มากขึ้น และเปิดโอกาสให้นักดนตรีได้ค้นหาตัวตน ผ่านเสียงดนตรีที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง 

แนวคิดนี้ เป็นที่มาของอัลบั้ม ‘Kind of Blue’ ที่เปลี่ยนโฉมวงการแจ๊ส และยังทรงอิทธิพลมาตราบจนทุกวันนี้

 

Miles Davis - Kind of Blue : เบื้องหลังความสำเร็จของสุดยอดอัลบั้มแจ๊สที่ขายดีตลอดกาล

Miles Davis - Kind of Blue (1959)

การค้นพบแนวทางใหม่: จาก Bebop สู่ Modal Jazz

การเปลี่ยนแปลงทางดนตรีของ ไมล์ส เดวิส เกิดขึ้นจากความปรารถนาที่จะหลีกหนีจากความซับซ้อนของโครงสร้างคอร์ดและแนวโซโล่ที่อิงกับทางเดินคอร์ด (Chord Progression) ในแบบบีบ็อพ  เขามองเห็นว่าแจ๊สควรเปิดกว้างและเสรีมากกว่านี้ การค้นพบแนวทางใหม่ที่เรียกว่า โมดัล แจ๊ส (Modal Jazz) เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ ไมล์ส สามารถนำเสนอเสียงดนตรีที่ไม่ต้องพึ่งพาโครงสร้างคอร์ดซับซ้อนอีกต่อไป

โมดัล แจ๊ส เน้นการใช้สเกล (Modes) แทนคอร์ด ช่วยให้ดนตรีมีความไหลลื่นและปล่อยให้นักดนตรีสามารถแสดงออกตามความรู้สึกได้อย่างอิสระ

ที่มาของแรงบันดาลใจ ในการสร้าง Kind of Blue คือหนังสือทฤษฎีของ จอร์จ รัสเซลล์ (George Russell) ชื่อ Lydian Chromatic Concept of Tonal Organization ด้วยพื้นฐานทางทฤษฎีนี้ ทำให้ ไมล์ส มองเห็นว่าเขาสามารถลดทอนโครงสร้างดนตรีที่ซับซ้อน และเพิ่มเสรีภาพในการเล่นมากขึ้น โดย ไมล์ส ได้ทดลองนำแนวคิดนี้มาใช้ก่อนหน้าแล้วในอัลบั้ม Milestones (1958) แต่ยังไม่เต็มรูปแบบ กระทั่งเขาตัดสินใจทำอัลบั้ม Kind of Blue ที่ใช้ โมดัล แจ๊ส อย่างเต็มที่

แอชลีย์ คาห์น’ (Ashley Kahn) นักเขียนและนักวิจารณ์ดนตรี กล่าวในหนังสือ Kind of Blue: Miles Davis and the Making of a Masterpiece ว่า 

 

“ไมล์ส ค้นพบว่าการลดทอนความซับซ้อนลง

และมอบอิสระให้นักดนตรีเล่นตามความรู้สึก

จะช่วยปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

Miles Davis - Kind of Blue : เบื้องหลังความสำเร็จของสุดยอดอัลบั้มแจ๊สที่ขายดีตลอดกาล

ไมล์ส เดวิส (Recording Session Photo Credit : Don Hunstein)

การบันทึกเสียง: อิสรภาพที่มาพร้อมความท้าทาย

อัลบั้ม Kind of Blue แบ่งการบันทึกเสียงออกเป็น 2 เซสชั่น วันที่ 2 มีนาคม และ 22 เมษายน 1959 ที่สตูดิโอบนถนนสายที่สามสิบของโคลัมเบีย เร็คคอร์ดส์ ในนครนิวยอร์ก ไมล์ส เดวิส นำทีมนักดนตรีระดับสุดยอดของวงการในขณะนั้น ประกอบด้วย ‘จอห์น โคลเทรน’ (John Coltrane) - เทเนอร์แซ็กโซโฟน, ‘แคนนอนบอลล์ แอดเดอร์ลีย์’ (Cannonball Adderley) - อัลโตแซ็กโซโฟน, ‘บิลล์ เอแวนส์’ (Bill Evans) - เปียโน, ‘พอล เชมเบอร์ส’ (Paul Chambers) -เบส และ ‘จิมมี ค็อบบ์’ (Jimmy Cobb) -กลอง โดยมี ‘วินตัน เคลลี’ (Wynton Kelly) เป็นนักเปียโนในเพลง ‘Freddie Freeloader’ 

เงื่อนไขที่นักดนตรีทุกคนรู้สึกท้าทาย คือ ไมล์ส เดวิส ไม่ให้พวกเขาซ้อมล่วงหน้า ไมล์ส ให้เพียงร่างของเพลง (Sketch) และคอร์ดคร่าว ๆ ให้พวกเขารู้ก่อนการบันทึกเสียงจริงเท่านั้น ดังนั้น นักดนตรีถูกคาดหวังให้แสดงสดในห้องอัดโดยไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น 

 

Miles Davis - Kind of Blue : เบื้องหลังความสำเร็จของสุดยอดอัลบั้มแจ๊สที่ขายดีตลอดกาล

Recording Session Photo Credit : Don Hunstein

 

เอริค ไนเซนสัน’ (Eric Nisenson) ผู้เขียนหนังสือ The Making of Kind of Blue อธิบายว่า “ไมล์ส ต้องการความสดใหม่และการทดลอง เขารู้ว่าการให้ข้อมูลน้อยที่สุด จะช่วยกระตุ้นให้นักดนตรีคิดและสร้างสรรค์ในขณะนั้นได้จริง ๆ

บรรยากาศในสตูดิโอเต็มไปด้วยความท้าทาย จอห์น โคลเทรน ยอมรับว่า การบันทึกเสียงในอัลบั้มนี้ช่วยให้เขาค้นพบเสียงดนตรีที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น “มันเหมือนกับการสะท้อนความคิดในหัวเราออกมา” โคลเทรน กล่าวในภายหลัง ขณะที่ แคนนอนบอลล์ สารภาพว่ารู้สึกตื่นเต้นและกังวลในเวลาเดียวกัน ยอมรับว่านี่คือวิธีการที่เขาไม่เคยเผชิญมาก่อน

หนึ่งในความลับของ Kind of Blue คือการใช้นักดนตรีที่มีสไตล์แตกต่างกัน เพื่อสร้างความสมดุลในอัลบั้ม ไมล์ส เดวิส เลือกใช้ บิลล์ เอแวนส์ นักเปียโนที่มีสไตล์การเล่นลึกซึ้งและเรียบง่าย ผสมผสานกับเสียงเปียโนที่มีพลังและสนุกสนานของ วินตัน เคลลี ในเพลง Freddie Freeloader ไมล์ส รู้ดีว่าการมีนักดนตรีสองคนที่มีสไตล์แตกต่างกัน จะช่วยสร้างความหลากหลายให้กับอัลบั้ม และมันก็ได้ผลอย่างที่เขาต้องการ

เอแวนส์ นักเปียโน อธิบายถึงการบันทึกเสียงในเพลง ‘Blue in Green’ ว่า “มันเหมือนกับการวาดภาพแบบ Zen ที่ทุกครั้งที่พู่กันสัมผัสกระดาษ มันจะสร้างสรรค์ผลงานที่ไม่เหมือนใครขึ้นมา” เสียงดนตรีของ เอแวนส์ ในเพลงนี้ สะท้อนความเศร้าและเงียบสงบอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้เพลงนี้แตกต่างจากเพลงอื่นๆ ในอัลบั้ม

 

การสร้างสรรค์ที่แตกต่าง

อัลบั้ม Kind of Blue มีทั้งหมด 5 เพลง แต่ละเพลงมีแนวทางที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ โมดัล แจ๊ส ในรูปแบบที่แตกต่างกัน

เริ่มจาก ‘So What’ เพลงเปิดอัลบั้ม ด้วยเสียงเบสอันโดดเด่นของ พอล เชมเบอร์ส และการสนทนาทางดนตรีระหว่าง ไมล์ส และ โคลเทรน ที่แสดงถึงความเรียบง่ายแต่ทรงพลัง

Freddie Freeloader’ เป็นเพลงบลูส์แบบ 12 ห้อง ด้วยเสียงเปียโนของ เคลลี ให้คาแรคเตอร์ที่แตกต่างไปจาก ‘Blue in Green’ ซึ่งเป็นเพลงเศร้าลึกซึ้ง เสียงเปียโนของ เอแวนส์ สร้างบรรยากาศเงียบสงบและเศร้าสร้อย จนหลายคนเชื่อว่า เอแวนส์ คือผู้ประพันธ์เพลงนี้จริง ๆ

All Blues’ เพลงที่ใช้โครงสร้างบลูส์ แบบ 6/8 ซึ่งเต็มไปด้วยอารมณ์และความไหลลื่น เปิดโอกาสให้นักดนตรีได้แสดงความสามารถในการเล่นโมดัลสเกลอย่างเต็มที่ ปิดท้ายด้วย ‘Flamenco Sketches’ เพลงสุดท้ายของอัลบั้ม นักดนตรีทุกคนเลือกใช้สเกลหรือโหมด (Modes) ที่พวกเขาชื่นชอบ ทำให้เพลงนี้มีความไหลลื่นและเป็นการทดลองที่สร้างสรรค์

 

เสียงตอบรับที่ยิ่งใหญ่: ความสำเร็จที่เกินคาด

เมื่ออัลบั้ม Kind of Blue ออกจำหน่ายในเดือนสิงหาคม 1959 มันกลายเป็นปรากฏการณ์ทันที นักวิจารณ์และนักดนตรีต่างยกย่องว่าเป็นผลงานที่เปลี่ยนโฉมวงการแจ๊ส ‘ควินซี โจนส์’ (Quincy Jones) ถึงกับกล่าวว่า “มันคือเสียงของจิตวิญญาณที่ไม่มีใครเลียนแบบได้

ขณะที่ ‘เฮอร์บี แฮนค็อก’ (Herbie Hancock) นักเปียโนรุ่นน้อง ที่ได้มาเป็นลูกวงของ ไมล์ส เดวิส ในเวลาต่อมา ยอมรับว่า “ทุกครั้งที่ผมฟัง Kind of Blue มันเหมือนกับการเรียนรู้ดนตรีใหม่อีกครั้ง” 

ยอดขายของอัลบั้มนี้ สะท้อนถึงความสำเร็จอย่างท่วมท้น Kind of Blue ได้รับการรับรองแผ่นเสียงทองคำจาก RIAA ในปี 1993 และกลายเป็นแผ่นเสียงแพลทินัม 5 รอบในปี 2019 มียอดขายมากกว่า 5 ล้านแผ่นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สำหรับอัลบั้มดนตรีแจ๊ส ที่มีฐานคนฟังเล็กกว่าตลาดเพลงแนวอื่น

Kind of Blue ไม่ได้เป็นเพียงแค่อัลบั้มที่ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติทางดนตรีที่ยังทรงอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน ดนตรีที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้งของอัลบั้มนี้เป็นแรงบันดาลใจให้นักดนตรีรุ่นหลังมากมาย และยังคงเป็นบทเรียนสำคัญในการสร้างสรรค์ดนตรีที่ไม่ถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์ใด ๆ

เหมือนดังที่ แฮนค็อก สะท้อนความในใจถึงอัลบั้มนี้ให้ฟังว่า

 

มันไม่ใช่เพียงดนตรีที่ฟังเพลิน

แต่มันคือการศึกษาและการค้นพบ!

 

Kind of Blue เป็นอัลบั้มแรกๆ ที่ผู้ฟังทั่วโลกนึกถึงเมื่อเราเชื่อมโยงดนตรี คีตปฏิภาณ กับความคิดสร้างสรรค์ และจะยังคงเป็นเช่นนี้ตลอดไป

 

ภาพ : Don Hunstein และปกอัลบั้ม Kind of Blue (1959)

อ้างอิง 

Kahn, Ashley. Kind of Blue: Miles Davis and the Making of a Masterpiece. Da Capo Press. 2000.

Nisenson, Eric. The Making of Kind of Blue. St.Martin’s Griifin. 2000.