ควินซี โจนส์ : บทสุดท้ายของศิลปินผู้เปลี่ยนโลก

ควินซี โจนส์ : บทสุดท้ายของศิลปินผู้เปลี่ยนโลก

เรื่องราวของ ‘ควินซี โจนส์’ (Quincy Jones) ผู้มีบทบาทสำคัญที่พลิกโฉมวงการดนตรีร่วมสมัย แม้เขาจะจากไป แต่เสียงเพลงที่ฝากไว้ยังคงส่องสว่างและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนไม่เสื่อมคลาย

ดนตรีจะพูดแทนตัวเอง

และมันจะเชื่อมคนได้” 

 

ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2024 โลกได้สูญเสีย ‘ควินซี โจนส์’ (Quincy Jones 1933-2024) ผู้มีบทบาทสำคัญที่พลิกโฉมวงการดนตรีร่วมสมัย การจากไปของเขานำพาให้คนทั่วโลกหวนรำลึกถึงชีวิตและมรดกทางดนตรีที่เขาได้สร้างสรรค์ไว้ แม้เขาจะจากไป แต่เสียงเพลงที่ฝากไว้ยังคงส่องสว่างและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนไม่เสื่อมคลาย

ควินซี ดีไลท์ โจนส์ จูเนียนร์’ (Quincy Delight Jones Jr.) เติบโตมาจากพื้นเพที่เรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยสีสันแห่งดนตรีในย่าน เซาธ์ไซด์ (South Side) ของนครชิคาโก สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่วงการดนตรีระดับโลก ด้วยความสามารถที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง หรือนักเรียบเรียงดนตรี เขาเชื่อมโยงผู้คนผ่านเสียงเพลง แม้ว่าจะมีอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะในยุคสมัยที่การแบ่งแยกทางเชื้อชาติยังคงฝังรากลึกในสังคมอเมริกัน 

 

จากชิคาโกสู่ซีแอตเทิล: เสียงเพลงในวัยเยาว์

ควินซี’ หรือ ‘Q’  ซึ่งเป็นชื่อที่เพื่อนร่วมงานและคนในวงการใช้เรียกเขา เกิดในปี 1933 ที่ย่านเซาธ์ไซด์ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและเสียงเพลงของชุมชนคนผิวดำในยุคนั้น ชิคาโกเป็นสถานที่รวมเสียงของดนตรีแจ๊ส บลูส์ และกอสเปล ซึ่งดังระงมไปทั่ว ดนตรีเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ในทุกมุมของเมือง 

จากคำบอกเล่าของ ควินซี เขาได้ยินเพื่อนบ้านข้าง ๆ เล่นเพลงเปียโนตั้งแต่ยังเด็ก และเสียงเหล่านั้นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเกิดความสนใจดนตรี เมื่อครอบครัวย้ายไปซีแอตเทิลเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า ควินซี ก็ได้สัมผัสกับโลกดนตรีแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในย่านแจ็คสันสตรีท ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศที่มีสีสันและการรวมตัวของเหล่านักดนตรีมืออาชีพ

ในช่วงวัยเยาว์ ควินซี หลงใหลในดนตรีอย่างเต็มที่ ครั้งหนึ่งเขาเล่าถึงการได้ค้นพบเปียโนเก่าบนเวทีเล็ก ๆ ในเมืองซีแอตเทิล เขาบอกว่า 

 

เมื่อผมเล่นเพลงแรก ผมรู้เลย

ว่านี่คือสิ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมตลอดไป” 

 

การได้พบกับ ‘คลาร์ค เทอร์รี’ (Clark Terry) นักทรัมเป็ตผู้มากความสามารถเป็นอีกจุดสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตเขาอย่างแท้จริง เทอร์รี ให้คำแนะนำและฝึกฝนให้ ควินซี  รู้จักดนตรีอย่างลึกซึ้ง พร้อมกับถ่ายทอดหลักการที่สำคัญของการเป็นนักดนตรีที่ยอดเยี่ยม นั่นคือ ความอดทนและการพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง ควินซี พูดถึงครูของเขาว่า เป็นคนที่ “ให้ความมั่นใจและสร้างแรงผลักดันให้ผมกล้าทำในสิ่งที่ฝัน

 

ความสำเร็จในวงการดนตรีและการทลายกำแพงเชื้อชาติ

ควินซี โจนส์ ก้าวเข้าสู่วงการดนตรีอย่างเต็มตัวในช่วงยุค 1950s โดยมีโอกาสร่วมงานกับวงดนตรีของนักไวบราโฟนแจ๊สชื่อก้อง ‘ไลโอเนล แฮมพ์ตัน’ (Lionel Hampton) ทำให้เขาเข้าใจทั้งแง่มุมดนตรีและการจัดการวงการบันเทิงอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ในฐานะนักดนตรีแจ๊ส เขาเคยพบกับความยากลำบากในการหางานและการทัวร์ ทั้งการถูกปฏิเสธหรือถูกกีดกันจากสังคม เพียงเพราะเขาเป็นคนผิวดำ โดยเฉพาะในยุค 1950-1960 ที่เขายังต้องต่อสู้เพื่อสร้างชื่อเสียงในวงการดนตรีที่ถูกครอบงำโดยคนผิวขาว 

เมื่อต้องเดินสายทัวร์ไปในสถานที่ต่าง ๆ ควินซี มักจะถูกปฏิเสธที่พักในโรงแรม หรือถูกจำกัดสิทธิ์ในการเข้าร่วมสถานที่บางแห่ง เพียงเพราะเขาเป็นคนผิวดำ แม้ว่าเขาจะเป็นนักดนตรีที่มีฝีมือและเป็นที่ยอมรับ เขายังต้องนอนในรถหรือบ้านพักของเพื่อน  แม้กระทั่งในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ที่เขาหวังว่าจะมีเสรีภาพมากขึ้น ก็ยังคงพบเจอการเหยียดผิวอยู่ด้วยเช่นกัน

ทว่า ควินซี เลือกจัดการกับปัญหานี้ ด้วยความมั่นคงในตัวเองและมุมมองที่กว้างไกล เขาเชื่อว่า “ดนตรีจะพูดแทนตัวเอง และมันจะเชื่อมคนได้” เขาใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์และเปลี่ยนแปลงมุมมองของคนรอบข้าง เขายังเลือกที่จะไม่ให้การเหยียดผิวมาบั่นทอนความมุ่งมั่นในการทำงาน โดยมุ่งพัฒนาฝีมือและก้าวข้ามขีดจำกัดที่สังคมวางไว้ เพื่อพิสูจน์ว่าดนตรีนั้นไร้พรมแดนเชื้อชาติและผิวสี

ควินซี เห็นว่า ดนตรีคือภาษาที่สามารถข้ามพ้นกำแพงทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมได้ เขามีความเชื่อมั่นว่าดนตรีแจ๊สเป็นรูปแบบศิลปะที่ไร้ขอบเขต มีพลังในการเปลี่ยนแปลงอารมณ์และความรู้สึกของผู้คน ดนตรีแจ๊สคือสนามของความคิดสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ที่ศิลปินได้ทดลอง และแสดงออกถึงอารมณ์ที่หลากหลาย

เขากล่าวถึงดนตรีแจ๊สว่า “มันเหมือนการพูดคุยที่ไร้รูปแบบ คุณไม่มีทางรู้ว่าจะไปสิ้นสุดที่ไหน แต่ทุกครั้งที่เริ่มต้น คุณจะค้นพบสิ่งใหม่” ทัศนคติที่เปิดกว้างและหลงใหลในดนตรีแจ๊ส ทำให้เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงานระดับโลก ทั้งยังใช้ดนตรีแจ๊สเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาเพลงและแนวคิดดนตรีใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

 

สู่ความสำเร็จระดับโลกกับ ไมเคิล แจ็คสัน

ควินซี เป็นบุคคลสำคัญที่นำพาดนตรีแจ๊สมาสู่วงการป๊อปในแบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน โดยจุดเปลี่ยนสำคัญของเขาคือการได้ทำงานร่วมกับ ‘ไมเคิล แจ็คสัน’ (Michael Jackson 1958-2009) ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้เขาสร้างผลงานระดับตำนาน ทั้งนี้การร่วมงานระหว่าง ควินซี และ ไมเคิล เริ่มต้นจาก The Wiz ภาพยนตร์มิวสิคัลที่นำเสนอในปี 1978 โดย ควินซี ทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ และ ไมเคิล ได้แสดงเป็นตัวละครสำคัญ ซึ่งระหว่างการทำงานร่วมกันนี้ ไมเคิล ได้เอ่ยปากชักชวนให้ ควินซี เข้ามาโปรดิวซ์อัลบั้มเดี่ยวของเขา

ควินซี ตกลงรับทำงานในอัลบั้ม Off the Wall (1979) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันครั้งแรก ที่แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ทางดนตรีที่ยอดเยี่ยมของทั้งคู่ ควินซี ใช้ประสบการณ์ดนตรีแจ๊สที่ซับซ้อนมาสร้างสรรค์เพลงป๊อปที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยการผสมผสานทำนองที่ติดหูและจังหวะที่น่าตื่นเต้น Off the Wall ประสบความสำเร็จอย่างมาก และทำให้ ไมเคิล เป็นศิลปินผิวดำคนแรกที่ทำยอดขายได้สูงในวงการเพลงป๊อป

ควินซี โจนส์ : บทสุดท้ายของศิลปินผู้เปลี่ยนโลก

จากนั้น ทั้งคู่ได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในอัลบั้ม Thriller (1982) ซึ่งเป็นอัลบั้มที่เปลี่ยนแปลงวงการดนตรีอย่างชัดเจน ควินซี  มีบทบาทสำคัญในการผลิตและเรียบเรียงเพลง โดยเขาใช้แนวคิดจากดนตรีแจ๊สที่หลากหลาย ผสานกับดนตรีฟังก์ ร็อค และอาร์แอนด์บี จนเกิดเป็นซาวด์ที่ทันสมัย และเหมาะกับผู้ฟังทุกกลุ่ม ในอัลบั้มนี้ ควินซี ยังเชื้อเชิญศิลปินชื่อดังอย่าง ‘เอ็ดดี แวน ฮาเลน’ (Eddie Van Halen) มาร่วมบันทึกเสียงกีตาร์ในเพลง ‘Beat It’ ซึ่งถือเป็นการผสมผสานที่น่าทึ่งระหว่างแนวร็อคและป๊อป อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

ควินซี ให้คำแนะนำแก่ ไมเคิล แจ็คสัน ในการพัฒนาการแสดงและการสร้างสรรค์ภาพลักษณ์บนเวที โดยเน้นให้เขาใช้เสียงร้องและการเต้นเป็นเครื่องมือในการสื่อสารอารมณ์เพลง ทั้งคู่ทำงานกันอย่างหนักเพื่อสร้างอัลบั้มที่สมบูรณ์แบบที่สุด ในฐานะโปรดิวเซอร์ ควินซี เรียกกระบวนการทำงานร่วมกับ ไมเคิล ว่าเป็น “การผสมผสานของวิญญาณ” (a blending of souls) 

ทั้งนี้  อัลบั้ม Thriller ประสบความสำเร็จสูงสุดและทำยอดขายได้เป็นประวัติการณ์ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นก้าวสำคัญของ ไมเคิล แจ็คสัน เท่านั้น แต่ยังทำให้ ควินซี โจนส์ กลายเป็นโปรดิวเซอร์ที่มีชื่อเสียงในระดับโลก

ในเวลาต่อมา ควินซี ยังได้รวบรวมศิลปินระดับโลกมาร่วมกันสร้างเพลงการกุศล ‘We Are the World’ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการใช้พลังดนตรีเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริง 

หลังจากความสำเร็จอันยิ่งใหญดังกล่าว ควินซี ยังคงสร้างสรรค์ผลงานที่หลากหลายและมีอิทธิพลต่อวงการดนตรีและบันเทิงในระดับสากล เขาไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นโปรดิวเซอร์ในอัลบั้มป๊อป แต่ขยายอิทธิพลของเขาไปสู่สื่ออื่น ๆ อย่างภาพยนตร์และโทรทัศน์อย่างน่าทึ่ง

หนึ่งในผลงานสำคัญ คือ The Color Purple’ (1985) ซึ่ง ควินซี ทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์และเรียบเรียงดนตรีประกอบ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 11 รางวัล และเป็นผลงานที่แสดงถึงความสามารถของ ควินซี ในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีเนื้อหาหนักและสะเทือนอารมณ์ เขายังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงโลกดนตรีแจ๊สกับฮอลลีวูด ซึ่งเป็นการท้าทายอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และยกระดับบทบาทของนักดนตรีแอฟริกันอเมริกันในวงการนี้

นอกจากนี้ ควินซี ยังได้ก่อตั้งบริษัท Qwest Productions และโปรดิวซ์รายการโทรทัศน์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เช่น The Fresh Prince of Bel-Air ซึ่งเปิดตัวในปี 1990 และค้นพบ ‘วิลล์ สมิธ (Will Smith) นักแสดงผิวดำผู้โด่งดังในเวลาต่อมา เขายังมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์รายการที่สนับสนุนดนตรีและวัฒนธรรมแอฟริกันอเมริกันในสื่อโทรทัศน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่เขาใช้เพื่อขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมและเชื่อมโยงคนจากทุกเชื้อชาติ

ในปี 1993 ควินซี ได้ร่วมมือกับ ‘เดวิด ซาลซ์แมน’ (David Salzman) ก่อตั้งบริษัท Quincy Jones Entertainment (QJE) ซึ่งผลิตคอนเสิร์ต *An American Reunion* ในงานฉลองพิธีสาบานตนของประธานาธิบดี ‘บิลล์ คลินตัน’ (Bill Clinton) และในปี 2001 ควินซี ได้ตีพิมพ์อัตชีวประวัติของเขาในชื่อ Q: The Autobiography of Quincy Jones ซึ่งสะท้อนถึงประสบการณ์ชีวิตและแนวคิดที่ผลักดันให้เขาก้าวข้ามทุกขีดจำกัด

 

ปรัชญาความคิดของสุดยอดโปรดิวเซอร์

ปรัชญาการทำงานของ ควินซี เน้นที่ความสมบูรณ์แบบและการเปิดใจกว้างต่อการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เขามักกล่าวว่า “Leave space for God to walk through the room.” (“จงเว้นที่ว่างไว้ให้พระเจ้าได้ก้าวเข้ามาในห้อง”) ซึ่งหมายถึงการเปิดใจให้พื้นที่สำหรับแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่กว่าเข้ามาในการทำงาน โดยไม่ยึดติดกับกรอบหรือความสมบูรณ์แบบจนเกินไป

อีกคำพูดที่โดดเด่นของเขาคือ “Check your ego at the door.” (“วางอีโก้ไว้ที่ประตู”)​ ซึ่งเป็นปรัชญาที่เขาใช้ระหว่างการบันทึกเสียงเพลง ‘We Are the World’ การทิ้งความทะนงตน หรือ อีโก้ไว้เบื้องหลัง ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนทำงานร่วมกันอย่างกลมเกลียวและสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง

ควินซี โจนส์ เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและศิลปะ ควินซี ได้สร้างสรรค์ดนตรีที่สะท้อนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมนุษยชาติ และใช้เสียงเพลงเป็นสื่อในการทลายกำแพงเชื้อชาติที่แบ่งแยกผู้คนมาเนิ่นนาน เขาเปลี่ยนดนตรีให้กลายเป็นภาษาสากลที่ไม่มีพรมแดน ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนหรือมีภูมิหลังอย่างไร ดนตรีของเขาก้องกังวานและเชื่อมโยงหัวใจคนทั่วโลกไว้ด้วยกัน

 

ดนตรีแอฟริกันอเมริกันไม่ใช่เพียงแค่เสียงเพลง แต่มันคือพลังแห่งการรอดชีวิตที่โอบอุ้มจิตวิญญาณและจิตใจของเราไว้ เป็นเครื่องหมายแห่งตัวตนของเราที่ฝ่าฟันอุปสรรคและสร้างอัตลักษณ์ขึ้นในสังคม” 

 

คำพูดนี้เป็นเสมือนบทเรียนที่เขาให้ไว้แก่คนรุ่นหลัง เขาคือผู้ที่ไม่หยุดนิ่งต่อการเปลี่ยนแปลง ใช้ชีวิตอย่างกล้าหาญ และแสวงหาความหมายในทุกโน้ตดนตรีที่บรรเลง

ถึงแม้ ควินซี โจนส์ จะจากไปแล้ว แต่เสียงเพลงของเขายังคงเป็นดั่งบทบรรเลงที่ไร้วันสิ้นสุด ซึ่งจะก้องกังวานในจิตใจของทุกคน ตำนานของ ควินซี โจนส์  คือบทพิสูจน์ว่าศิลปะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและความหวังในหัวใจของมนุษย์ และเขาจะคงอยู่ในความทรงจำของโลกดนตรีไปตลอดกาล

 

ควินซี โจนส์ : บทสุดท้ายของศิลปินผู้เปลี่ยนโลก

 

ภาพ : Getty Images