08 พ.ย. 2567 | 15:00 น.
“น้ำค้างเดือนหกตกแล้ว
น้องเอยน้องแก้ว
เจ้าไม่หนาวบ้างหรือไร...”
‘น้ำค้างเดือนหก’ เพลงรักชวนหยิกแกมหยอกที่ถูกโอบกอดด้วยทำนองดนตรีจังหวะสนุก ๆผลงานการขับร้องของ ‘ราชาเพลงลูกทุ่ง’ สุรพล สมบัติเจริญ ได้ขับกล่อมพี่น้องคนไทย ลุง ป้า น้า อา ให้โยกขยับจังหวะร่างกายบนฟลอร์รำวงมามากกว่า 60 ปี จนกลายเป็นหนึ่งในเพลงชาติที่ขาดไปมิได้ของวงดนตรีรำวงลูกทุ่งชาวบ้าน ทั้งงานวิก งานวัด งานจัด งานหา งานบุญ งานบวช บ้านนอกในกรุง บ้านทุ่งแดนไกล รวมทั้ง ยังเป็นบทเพลงที่ศิลปินทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ นำกลับมาร้อง Cover มากที่สุดเพลงหนึ่งของวงการเพลงลูกทุ่งเลยก็ว่าได้
แต่มิตรรักนักเพลงบางท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า อันความรื่นเริงที่บทเพลง น้ำค้างเดือนหก ได้มอบให้แก่พี่น้องประชาชนคนไทยมาเนิ่นนานนี้ อาจถูกกลั่นมาจากปลายดินสอ/ปากกาแห่งความตกทุกข์ได้ยากของบรมครูเพลง ‘ไพบูลย์ บุตรขัน’ ที่กำลังอยู่ในช่วง ‘ดวงตก’ จนต้องหลีกเลี่ยงการใช้นามจริงและใช้นามปากกาแฝงว่า ‘สาโรช ศรีสำแล’ เพื่อให้สามารถขายผลงานเพลงมาหล่อเลี้ยงชีวิตไม่ให้ตกร่วงลงค้างบนยอดหญ้าคาดังเช่นน้ำค้างในบทเพลง
ในวงการเพลงลูกทุ่งมีวลีหนึ่งที่ว่า ‘นักเพลงคนจน’ จะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม วลีนี้ดูจะเป็นเกียรติยศซึ่งไร้ดาวประดับที่บรมครูเพลงลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน ถูกประดับไว้บนบ่า เพราะแม้ครูไพบูลย์ จะเปี่ยมล้นไปด้วยพรสรรค์ พรแสวง และความสามารถ สร้างสรรค์ผลงานเพลงในระดับหุ้มทองฝังเพชรจนน่าจะเป็นนายห้างมหาเศรษฐีหรือนายทุนยักษ์ใหญ่ของวงการเพลงอย่างไม่ยากเย็นนัก แต่ทว่า ด้วยโรคเรื้อนร้ายซึ่งติดตามตัวมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นวัยหนุ่มออกเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ไปกับคณะวงดนตรี ไม่ได้กัดกินแต่เพียงผิวหนังและอวัยวะร่างกายจนแสบร้อน แต่ยังกัดกินชะตาชีวิตบรมครูเพลงแห่งศตวรรษให้กลายเป็นคนเก็บตัวอยู่กับบ้าน ส่งข้อความและเสียงเพลงคุยกับมิตรรักนักเพลงผ่านวรรณศิลป์เนื้อหาคำร้อง
ครูไพบูลย์ บุตรขัน เริ่มมีชื่อเสียงในด้านการประพันธ์เพลงมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2490 จากผลงานเพลง ‘มนต์เมืองเหนือ’ ขับร้องโดย สมยศ ทัศนพันธ์ และผลงานเพลง ‘ค่าน้ำมน’ ขับร้องโดย ชาญ เย็นแข ต่อมาในช่วงปลายทศวรรษ 2490 มีชื่อเสียงโด่งดังจากแต่งเพลงแนวการเมืองและเพลงชีวิต (ในยุคนั้นยังไม่มีการแบ่งแยกเพลงลูกทุ่ง - ลูกกรุง) โดยมีนักร้องคู่บุญผู้ถ่ายทอดวรรณศิลป์ตัวอักษรออกมาเป็นเสียงเพลงอย่าง สมยศ ทัศนพันธ์ ชาญ เย็นแข และ คำรณ สัมบุญณานนท์
ชื่อเสียงการประพันธ์เพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน ในช่วงทศวรรษ 2490 ได้รับการยกย่องจากมิตรรักนักเพลงและนักวิจารณ์ว่าอยู่ในระดับฉกาจฉกรรจ์ระดับศิลปินเอก โดยเฉพาะการนำเอาทำนองเพลงพื้นบ้านมาประยุกต์เป็นเพลงไทยสากลจนเป็นที่โดดเด่น แม้แต่นักวิจารณ์หนุ่มหัวก้าวหน้านามว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ยังได้เขียนชื่นชมครูไพบูลย์ในยุคสมัยนั้น ว่า
“เพลงพื้นบ้านเหล่านี้ ถ้าหากศิลปินไทยของเราที่มีความสามารถขั้นสูงส่วนมากจะลองศึกษาและนำมาเรียบเรียงดูบ้าง ก็น่าจะได้รับการชื่นชมไม่น้อยทีเดียวจากหมู่ประชาชน เฉพาะศิลปินเอก ไพบูลย์ บุตรขัน ผู้ริเริ่มเพลงน้องนางบ้านนามาแล้ว ถ้าลองหันมาริเริ่มฟื้นฟูเพลงไทยพื้นบ้านอย่างจริงจังบ้าง ก็คงไม่เสียเวลาเปล่าเป็นแน่”
ปฏิทินปี พ.ศ. 2499 ถูกโยนทิ้งในถังขยะที่อ้าปากรอ ฝาบ้านยิ้มรับรอปฏิทินใหม่ก้าวขึ้นสู่พุทธศตวรรษ 2500 ในขณะที่การเมืองไทยก็ผายมือต้อนรับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นำทางทหาร ให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางการเมืองคนใหม่ หลังยึดอำนาจล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี พ.ศ. 2500 ก่อนจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ถึงช่วงปลายปี พ.ศ. 2506
แม้ไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มองตาก็รู้ใจกันว่างานวรรณกรรมและวรรณศิลป์ประเภทการเมืองที่ให้กลิ่นไอสังคมนิยม เป็นโบว์แดงแสลงใจของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ทำให้นักคิด นักเขียน และนักเพลง หลายคนจำเป็นต้อง ‘เซ็นเซอร์ตัวเอง’ จากงานเขียนประเภทเพื่อชีวิตเพื่อมวลชน เหลือไว้แต่เวทีอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง สายลมแสงแดด ให้เป็นพื้นที่แสดงออกทางวรรณศิลป์ วรรณกรรม ซึ่งแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรงนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บริบทสังคมการเมืองไทยในช่วงต้นทศวรรษ 2500 ส่งผลทำให้ครูไพบูลย์ บุตรขัน ไม่สามารถรังสรรค์งานเพลงประเภทการเมืองและเพลงชีวิตได้เหมือนดังสมัยก่อน
และแล้วความทุกข์ยากก็ปรากฏ แม้ในช่วงต้นทศวรรษ 2500 ครูไพบูลย์จะมีชื่อเสียงในฐานะศิลปินเอก แต่ความจนไม่เคยปราณีใคร เพราะค่าใช้จ่ายรักษาตัวจากโรคร้ายและค่าใช้จ่ายในชีวิตเหมือนเงาปีศาจที่วิ่งไล่หลอกหลอนอย่างไม่เคยเหน็ดเหนื่อย เล่ากันว่า เมื่อรายรับมันไม่พอกับรายจ่าย ครูไพบูลย์จึงต้องกระทำการ ‘ชาติเสือไว้ลาย’ ด้วยการลดราคาการประพันธ์เพลง จากมาตรฐานเดิมราคาเพลงละ 500 - 800 บาท ในนามปากกาศิลปินเอก ไพบูลย์ บุตรขัน ลดเหลือเพียงราคา 200 – 300 บาท พร้อมตั้งนามปากกาแฝงในชื่อใหม่ ‘สาโรช ศรีสำแล’ เพื่อรักษาชื่อเสียงและมาตรฐานราคานามปากกา ไพบูลย์ บุตรขัน เอาไว้
อันที่จริงแล้ว ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ควรจะช่วงเวลาที่ครูไพบูลย์ ‘ดวงพุ่ง’ เป็นจรวดมิสไซล์ เพราะเป็นช่วงกำลังประพันธ์ผลงานเพลงป้อนเข้าริมฝีปากหวานเป็นน้ำตาลทรายขาวของนักร้องดัง ‘ทูล ทองใจ’ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาจากเพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ ในปี พ.ศ. 2500 ซึ่งในความเห็นของคัมภีร์เพลงลูกทุ่ง ‘เจ้าพ่อเสื้อลายดอก’ เจนภพ จบกระบวนวรรณ ก็เห็นว่า เป็นช่วงเวลาที่ผลงานการประพันธ์เพลงของครูไพบูลย์อยู่ในช่วงที่ ‘กำลังฉกาจฉกรรจ์ที่สุด’
ทว่า ฝีมือและคมดินสอ/ปากกาที่กำลังฉกาจฉกรรจ์ กลับมาพร้อมกับความทุกข์ยากแห่งชีวิต เพราะหากประพันธ์เพลงโดยใช้เพียงแต่ชื่อนาม ไพบูลย์ บุตรขัน รายได้จากการประพันธ์อาจไม่พอยาไส้ ครูไพบูลย์ จึงไม่เพียงแต่การปรับลดราคา เปลี่ยนนามปากกาเป็น ‘สาโรช ศรีสำแล’ แต่ยังต้องปรับแนวทางการประพันธ์เพลง จากเดิมที่เป็นแนวลึกซึ้ง คมคาย ให้กลายเป็นเพลงสนุก ๆ ฟังสบาย สไตล์จังหวะรำวง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในวงการเพลงไทยขณะนั้น โดยเฉพาะจากความดังนักร้องที่มีนามว่า ‘สุรพล สมบัติเจริญ’ ที่กำลังการก้าวขึ้นมาครองใจมิตรรักนักเพลงทั่วไทย
ในงานศึกษาอัตชีวประวัติครูไพบูลย์ บุตรขัน ของ วัฒน์ วรรลยางกูร ได้บันทึกเล่าที่มานามปากกา สาโรช ศรีสำแล ของครูไพบูลย์ว่า สำแล คือวัดสำแลที่บ้านเกิด เป็นที่เรียนชั้นประถม สาโรช คือดอกบัว สัญลักษณ์จังหวัดปทุมธานี จังหวัดบ้านเกิดของครูไพบูลย์ โดยเหตุที่ต้องใช้นามปากกา สาโรช ศรีสำแล นั้น อ้างอิงจากคำบอกเล่าของ นคร ถนอมทรัพย์ หรือ กุงกาดิน นักร้อง นักดนตรี นักประพันธ์เพลง นักเรียบเรียงเสียงประสาน และรองหัวหน้าวงดนตรีจุฬารัตน์ ว่า
“ครูไพบูลย์บอกว่าเวลาดวงตก มีฝีมือก็เหมือนไร้ฝีมือ ทำอะไรมันก็ไม่ดีไปหมด งานก็ฝืดที่ใช้นิกเนม สาโรช ศรีสำแล เพราะปกตินักแต่งเพลงคนอื่นขายเพลงบันทึกแผ่นเสียงก็เพลงละ 200 – 300 บาท แต่ของครูไพบูลย์จะได้ 600 บาท เป็นราคาเพลงในยุค 2500 – 2502 ช่วงดวงตก ครูไพบูลย์จำเป็นต้องขายลดราคา เพราะราคาเดิมขายไม่ได้ ก็เลยไม่ยอมใช้ชื่อ ไพบูลย์ บุตรขัน รักษาเครดิตเอาไว้ ใช้ชื่อ สาโรช ศรีสำแล ขนานนั้นก็ยังฝืด”
ในบรรดาเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน ภายใต้นามปากกา สาโรช ศรีสำแล มีจำนวนไม่ถึงสิบเพลง และบทเพลงที่โด่งดัง มิตรรักนักเพลงทั้งรุ่นเก่าและใหม่คุ้นหูมากที่สุดเห็นจะได้แก่เพลง น้ำค้างเดือนหก ที่ขับร้องโดย สุรพล สมบัติเจริญ บันทึกแผ่นเสียงจำหน่ายในปี พ.ศ. 2503 ซึ่งเล่ากันมาว่า สุรพล สมบัติเจริญ เองก็ไม่ทราบว่าบทเพลงนี้แต่งโดยครูไพบูลย์ บุตรขัน แต่รับซื้อเอาไว้เพราะอ่านคำประพันธ์ของเพลงแล้วรู้สึกชื่นชอบ
สุรพล สมบัติเจริญ นักร้อง นักแต่งเพลง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของมิตรรักนักเพลงมาตั้งแต่ในช่วงปลายทศวรรษ 2490 โด่งดังเป็นอย่างมากในช่วงปี พ.ศ. 2502 จากผลงานเพลง “ไม่ลืม” และเพราะความดังของ สุรพล สมบัติเจริญ จึงทำให้เส้นทางของ ครูไพบูลย์ บุตรขัน สุรพล สมบัติเจริญ และ น้ำค้างเดือนหก ไหลมารวมบรรจบกันหยดลงบนแผ่นเสียงบรรเลงเป็นท่วงทำนองสนุก ๆ ที่โอบกอดคำประพันธ์อันน่ารักน่าชัง ว่า
น้ำค้างเดือนหกตกแล้ว
น้องเอยน้องแก้วเจ้าไม่หนาวบ้างหรือไร
เมื่อไหร่จะหาเพื่อนมาช่วยจับคันไถ
รู้ตัวหรือเปล่าว่าใครคนหนึ่งชอบน้อง
น้ำค้างที่หยาดจากฟ้า
เหมือนเป็นสัญญาปรารถนาคู่รักครอง
หากพี่เสนอแล้วเธอไม่ตอบสนอง
น้ำค้างก็เป็นน้ำคลองคู่จองก็เป็นคู่จาง
ห้องจะกลายเป็นรังหนู
เรือนหอที่รอรักอยู่จะกลับเป็นเรือนร้าง
ข้าวที่มองเห็นอยู่เต็มฉาง
คงเหมือนก้อนดินที่วางอยู่ตามท้องนา
น้ำค้างเดือนหกตกแล้ว
วับวาวเหมือนแก้วพร่างพราวค้างบนยอดหญ้าคา
แม่หยดน้ำค้างรักนางขอปรารถนา
ถึงใครจะมองไร้ค่าพี่อยากได้มาไว้ครอง
นอกจากความไพเราะทางด้านวรรณศิลป์และวาทศิลป์การเล่นคำอย่าง “หากพี่เสนอแล้วเธอไม่ตอบสนอง น้ำค้างก็เป็นน้ำคลองคู่จองก็เป็นคู่จาง” รวมไปถึงการอุปมาอุปไมย น้ำค้าง เปรียบเข้ากับ หญิงสาวที่หมายปอง เพลง ‘น้ำค้างเดือนหก’ ยังสะท้อนวัฒนธรรมประเพณีและค่านิยมของไทย ที่ชายหญิงนิยมจัดพิธีแต่งงานในช่วงเดือนหก (ช่วงประมาณเดือนมิถุนายน) ของปี คำร้องที่ว่า “น้ำค้างเดือนหกตกแล้ว” จึงเป็นการเอื้อยเอ่ยชวนหยิกแกมหยอกต่อหญิงสาวที่หมายปองว่า เดือนหกหรือฤดูกาลแห่งงานแต่ง งานวิวาห์ มาเยือนแล้ว เหตุใดไฉนเล่าเจ้าใยถึงยังไม่แต่งงานมีคู่ครอง ความคล้องจองของวาทศิลป์ น้ำค้างเดือนหก เพลงจีบสาวในท่วงทำนองจังหวะรำวงสนุก ๆ จึงซ่อนไว้ด้วยคมดินสอ/ปากกาอันฉกาจฉกรรจ์ของครูไพบูลย์ บุตรขัน
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของ แดน บุรีรัมย์ ดาวตลกผู้คร่ำหวอดในวงการเพลงลูกทุ่งมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเคยเป็นผู้ติดตามใกล้ชิดครูไพบูลย์ เห็นว่า เพลง น้ำค้างเดือนหก ครูไพบูลย์ได้ปรับลดสไตล์การประพันธ์เพลงของตัวเองให้ฟังง่าย ๆ สบาย ๆ เข้ากับยุคสมัยรำวงฟีเวอร์ เพราะในระยะที่สุรพลกำลังโด่งดังด้วยลีลาเพลงรำวงสนุก ๆ ก็มีเสียงเปรียบเทียบอยู่ในวงการเพลงว่า ครูไพบูลย์ ไม่มีทางแต่งเพลงแบบที่สุรพลทำได้ เพราะครูไพบูลย์ถนัดแต่เพลงหนัก ๆ เศร้า ๆ ลึกซึ้ง แต่ผลก็ปรากฏว่า น้ำค้างเดือนหก ผลงานจากปลายดินสอ/ปากกาของ สาโรช ศรีสำแล หรือ ไพบูลย์ บุตรขัน ยิ่งส่งให้ สุรพล สมบัติเจริญ โด่งดังเป็นพลุแตกยาวนานนับทศวรรษ และในความเห็นของ แดน บุรีรัมย์ สำหรับฝีมือระดับครูไพบูลย์ เพลงรักจังหวะสนุก ๆ แบบ น้ำค้างเดือนหก ถือเป็น ‘เพลงเด็ก ๆ’
แม้น้ำค้างจะเป็นหยดน้ำอันบริสุทธิ์ที่ตกบนยอดหญ้าคาและยังไม่ไหลลงจนเป็นน้ำคลอง แต่น้ำค้างเดือนหกหยดนี้ก็กลับกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่รอการชำระ เพราะภายใต้เรื่องเล่าว่า เพลง น้ำค้างเดือนหก ถูกกลั่นมาจากปลายดินสอ/ปากกาของครู ไพบูลย์ ที่กำลัง “ดวงตก” ก็มีนักสะสมเพลงลูกทุ่งนาม แดง เจดีย์ ได้ออกมาแย้งถึงประวัติเรื่องเล่านี้อย่างแตกต่างออกไปและน่าสนใจ ว่า
“ส่วนเรื่องที่บอกว่าครูตกอับขายเพลงไม่ได้ ซึ่งเดิมครูขายเพลงละ 500 ต้องลดมาเหลือ 200 -300 บาท แต่ครูกลัวเสียชื่อจึงใช้ชื่อในการแต่งเพลงว่า ”สาโรจน์ ศรีสำแล” แต่งเพลง “น้ำค้างเดือนหก” ไปขายให้ห้างคาเธ่ เขาไม่ซื้อบังเอิญสุรพลสงสารจึงซื้อไว้ ตรงนี้บิดเบือนความจริงคือครูพิพัฒน์ บริบูรณ์ ไปขอให้ครูแต่งให้ แต่ความที่ครูไพบูลย์ท่านแต่งแต่เพลงมีสาระครูพิพัฒน์ บริบูรณ์ จึงให้ใช้ชื่อ “สาโรช ศรีสำแล” แทน”
ชุดเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันเช่นนี้ จึงทำให้ ‘น้ำค้างเดือนหก’ กับ ชีวิต ‘ดวงตก’ ของครูไพบูลย์ บุตรขัน กลายเป็นปริศนาให้มิตรรักนักเพลงได้ตามสืบค้นคว้าและระลึกถึงครูไพบูลย์ บุตรขัน กันต่อไป
อย่างไรก็ตามในท้ายที่สุด แม้มิตรรักนักเพลงบางท่านจะเชื่อว่า น้ำค้างเดือนหก เป็นเพลงที่ครูไพบูลย์ต้องปรับสไตล์การแต่งเพลงของตัวเองให้กลายมาเป็นเพลงตลาดฟังสบายตามกระแสดนตรีเพลงรำวงที่กำลังฮิตในช่วงเวลานั้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีวาทศิลป์อุปมาอุปไมยให้ลึกซึ้งมากนัก
กระนั้นในอีกมุม บางที น้ำค้างเดือนหก อาจเป็นหลักฐาน ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ยอมปราณีประนีประนอมต่อแนวทางการแต่งเพลงของครูไพบูลย์ มากที่สุดเพลงหนึ่ง เพราะ น้ำค้างเดือนหก หากวิเคราะห์ว่านี่คือบทอัศจรรย์ ก็เต็มไปการซ่อนคำอุปมาอุปไมยจนมิตรรักนักเพลงแทบไม่รู้สึกสังเกต และหากจะมองว่า นี่คือการแอบบันทึกช่วงชีวิตอันยากเข็ญลงไปในเพลง ก็ฟังดูช่างแสนเศร้าต่อโชคชะตาชีวิตของบรมครูไพบูลย์ บุตรขัน ดังท่อนแรกของเพลงที่ว่า
“น้ำค้างเดือนหก ตกแล้ว”.
อ้างอิง
คุณพระช่วย ครูไพบูลย์ บุตรขัน2, เข้าถึงข้อมูลใน https://www.youtube.com/watch?v=7y_Ebq8u61A
สมชาย ปรีชาเจริญ(นามแฝง), ชีวิตและศิลปะ, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แมงสาบ, 2523)
เจนภพ จบกระบวนวรรณ, เข้าถึงข้อมูลใน https://web.facebook.com/photo/?fbid=1880447832024752&set=a.172341949502024&_rdc=1&_rdr
กูรูลูกทุ่งเฉ่งคุณพระช่วยข้อมูลครูไพบูลย์คาดเคลื่อน, เข้าถึงข้อมูลใน https://www.komchadluek.net/entertainment/27381
วัฒน์ วรรลยางกูร, คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน, พิมพ์ครั้งที่ 5, (กรุงเทพฯ : ฟรีฟอร์ม, 2555)