‘จอร์จ มาร์ติน’ สมาชิกคนที่ห้า ผู้ร่วมสร้างตำนาน ‘The Beatles’

‘จอร์จ มาร์ติน’ สมาชิกคนที่ห้า ผู้ร่วมสร้างตำนาน ‘The Beatles’

‘จอร์จ มาร์ติน’ ผู้อยู่เบื้องหลังเสียงดนตรีที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ และได้รับการขนานนามจาก ‘พอล แมคคาร์ทนีย์’ ว่า สมาชิกคนที่ห้าของ ‘The Beatles’

KEY

POINTS

  • การก้าวสู่วงการดนตรีอาชีพของจอร์จ มาร์ติน 
  • การค้นพบ The Beatles และการปฏิวัติวงการเพลง
  • ความสัมพันธ์ระหว่างจอร์จ มาร์ติน กับ The Beatles
     

“ถ้าไม่มี จอร์จ มาร์ติน เราอาจจะไม่มีวันเป็น The Beatles อย่างที่คุณรู้จัก” 

- จอห์น เลนนอน

ย้อนกลับไปในยุคทศวรรษ 1960s เมื่อหนุ่ม ๆ จากเมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ เริ่มต้นเส้นทางดนตรีของพวกเขา ไม่มีใครคาดคิดว่า ‘The Beatles’ (เดอะ บีเทิลส์) จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ดนตรีโลก 

หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกเขาก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด คือสุภาพบุรุษผู้อยู่เบื้องหลังเสียงดนตรีที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ‘จอร์จ มาร์ติน’ (George Martin 1926 - 2016) คือผู้ได้รับการขนานนามว่า เป็นสมาชิกคนที่ห้าของ เดอะ บีเทิลส์ (ตามคำกล่าวของ พอล แมคคาร์ทนีย์ ที่ระบุว่า “If anyone earned the title of the fifth Beatle, it was George.”)

เซอร์ จอร์จ เฮนรี มาร์ติน เกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 1926 ในย่านไฮเบอรี ลอนดอน ในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง พ่อของเขา ‘เฮนรี มาร์ติน’ เป็นช่างไม้ฝีมือดีที่ทำงานในห้องใต้หลังคาเล็ก ๆ ส่วนแม่ของเขา ‘เบอร์ธา บีทริซ’ ทำงานเป็นพยาบาลในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของ มาร์ติน เกิดขึ้น เมื่อครอบครัวได้รับเปียโนเครื่องแรกตอนเขาอายุ 6 ขวบ เครื่องดนตรีชิ้นนี้จุดประกายความหลงใหลในดนตรีให้แก่เด็กชาย เมื่ออายุ 8 ขวบ เขาได้แต่งเพลงแรกของตัวเอง ชื่อ ‘The Spider's Dance’ แม้จะได้เรียนเปียโนเพียง 6 บทเรียนเท่านั้น เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างแม่กับครูสอน แต่มาร์ตินก็ไม่ย่อท้อ เขาฝึกฝนด้วยตนเอง จนมีความเชี่ยวชาญ พรสวรรค์ทางดนตรีของเขายังโดดเด่นด้วยการมี perfect pitch (ความสามารถในการจดจำโน้ตดนตรีได้อย่างแม่นยำ) อีกด้วย

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาร์ติน อาสาเข้าร่วมกองทัพเรือ Fleet Air Arm แห่ง Royal Navy ในวัย 17 ปี แม้จะไม่ได้เข้าร่วมรบจริง แต่ประสบการณ์ในกองทัพได้หล่อหลอมบุคลิกภาพของเขา ในระหว่างรับราชการทหาร เขามีโอกาสเดินทางไปนิวยอร์กและได้ชมการแสดงของศิลปินแจ๊สระดับตำนาน อย่าง ‘แค็บ แคลโลเวย์’ (Cab Calloway) และ ‘จีน ครุปา’ (Gene Krupa) ซึ่งมีอิทธิพลต่อรสนิยมทางดนตรีของเขาในเวลาต่อมา

การก้าวสู่วงการดนตรีอาชีพ

หลังปลดประจำการในปี 1947 เช่นเดียวกันกับนักดนตรีหนุ่มคนอื่น ๆ ที่ผ่านราชการสงคราม มาร์ติน ใช้เงินช่วยเหลือทหารผ่านศึก เข้าศึกษาที่ Guildhall School of Music and Drama ที่นี่เขาได้ศึกษาเปียโนเป็นเครื่องดนตรีหลัก และ ‘โอโบ’ เป็นเครื่องดนตรีรอง โดยมีความสนใจเป็นพิเศษในผลงานของคีตกวี อย่าง รัคแมนินอฟ (Rachmaninoff), ราแวล (Ravel) และ โคล พอร์เทอร์ (Cole Porter) 

ที่น่าสนใจไม่น้อย คือครูสอนโอโบของเขา ‘มาร์กาเร็ต เอเลียต’ (Margaret Eliot) เป็นมารดาของ ‘เจน แอชเชอร์’ (Jane Asher) ซึ่งต่อมากลายเป็นแฟนสาวของ ‘พอล แมคคาร์ทนีย์’

หลังจบการศึกษา มาร์ติน เข้าทำงานที่แผนกดนตรีคลาสสิกของ BBC และรับงานเสริมเป็นนักโอโบในวงดนตรีท้องถิ่น จนกระทั่งในปี 1950 เขาได้เข้าร่วมงานกับ EMI ในตำแหน่งผู้ช่วยของ ‘ออสการ์ พรืส’ (Oscar Preuss) หัวหน้าแผนกของค่ายเพลง ‘พาร์โลโฟน’ (Parlophone) ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงแผนกเล็ก ๆ ที่ไม่ได้รับความสำคัญมากนัก ภายใต้บริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง EMI
 

ในช่วงแรก มาร์ติน ดูแลแคตตาล็อกเพลงคลาสสิก และร่วมงานกับวง ‘Baroque ensemble’ ของ ‘คาร์ล ฮาสส์’ (Karl Haas) นอกจากนี้ยังได้ร่วมก่อตั้ง ‘London Baroque Society’ กับ ‘ปีเตอร์ อัสตินอฟ’ (Peter Ustinov) ความสำเร็จแรกในฐานะโปรดิวเซอร์ของเขา คือการผลิตผลงานให้กับ ‘รอน กูดวิน’ (Ron Goodwin) ซึ่งทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘Limelight’ ของ ‘ชาร์ลี แชปลิน’ (Charlie Chaplin) จนติดอันดับ 3 บนชาร์ตอังกฤษ

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้น เมื่อ ออสการ์ พรืส เกษียณในปี 1955 ทำให้ มาร์ติน ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าแผนก พาร์โลโฟน ในวัยเพียง 29 ปี เขาต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อรักษาแผนกไว้ เนื่องจาก EMI พิจารณาจะย้ายศิลปินที่ประสบความสำเร็จ ไปอยู่กับ ‘Columbia Records’ หรือ ‘His Master's Voice’ (HMV) มาร์ติน พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการสร้างความสำเร็จจากการผลิตเพลงตลกและเพลงแนวโนเวลตี้ (Novelty) 

ผลงานโดดเด่นของมาร์ตินในยุคนี้ คือการทำงานร่วมกับตลกชื่อดัง อย่าง ‘ปีเตอร์ เซลเลอร์ส’ (Peter Sellers) และคณะ ‘กูน โชว์’ (Goon Show) มาร์ตินใช้สตูดิโอเป็นห้องทดลองสร้างสรรค์เสียงแปลกใหม่ เช่น การบันทึกเทปที่ความเร็วครึ่งหนึ่งแล้วเล่นกลับที่ความเร็วปกติ ซึ่งเทคนิคนี้เขาได้นำมาใช้กับหลายเพลงของ เดอะ บีเทิลส์  ในภายหลัง

การค้นพบ The Beatles และการปฏิวัติวงการเพลง

ในปี 1962 เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อ ‘ไบรอัน เอปสไตน์’ (Brian Epstein) ผู้จัดการวง เดอะ บีเทิลส์  นำเทปบันทึกเสียงของวงมาให้ มาร์ติน ฟัง แม้การฟังครั้งแรกจะไม่ได้ประทับใจนัก แต่ มาร์ติน เห็นบางสิ่งที่พิเศษในตัววง 

“ผมไม่ได้คิดว่า เดอะ บีเทิลส์  มีเพลงที่ยอดเยี่ยมอะไร พวกเขาไม่ได้แสดงให้เห็นว่าสามารถแต่งเพลงฮิตได้ด้วยซ้ำ” มาร์ติน เล่าในภายหลัง แต่เสน่ห์และอารมณ์ขันของสมาชิกวง ทำให้เขาตัดสินใจเซ็นสัญญากับพวกเขา

การบันทึกเสียงครั้งแรกของ เดอะ บีเทิลส์ ภายใต้การดูแลของ จอร์จ มาร์ติน เกิดขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน 1962 พวกเขาบันทึกเพลง ‘Love Me Do’ ซึ่งแม้จะมีปัญหาเรื่องการเล่นกลองของ ‘พีท เบสต์’ (Pete Best) จนต้องเปลี่ยนมาใช้มือกลองสตูดิโอ แต่เพลงนี้ก็ประสบความสำเร็จ ติดชาร์ตอันดับ 17 ในสหราชอาณาจักร

ภายใต้การนำของ จอร์จ มาร์ติน วงได้พัฒนาเสียงดนตรีอย่างก้าวกระโดด จากวงดนตรีร็อกแอนด์โรลธรรมดา สู่วงที่มีเอกลักษณ์ทางดนตรีไม่เหมือนใคร เริ่มจากอัลบั้ม ‘Please Please Me’ ที่บันทึกเสียงภายในเวลาเพียง 12 ชั่วโมง ด้วยระบบบันทึกเสียงแบบสองแทร็ค จนถึงอัลบั้มที่ซับซ้อน อย่าง ‘Sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band’ ที่ใช้เทคโนโลยีการบันทึกเสียงล้ำสมัยที่สุดในยุคนั้น

มาร์ติน นำความรู้ด้านดนตรีคลาสสิกมาประยุกต์ใช้กับดนตรีป๊อป สร้างสรรค์การเรียบเรียงเสียงประสานที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เช่น การใช้วงสตริงควอเต็ท ในเพลง ‘Yesterday’ ที่กลายเป็นเพลงที่ถูกนำมาคัฟเวอร์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือการใช้วงออร์เคสตราในเพลง ‘Eleanor Rigby’ ที่ไม่มีเครื่องดนตรีร็อกเลยแม้แต่ชิ้นเดียว

ความกล้าทดลองของ มาร์ติน ปรากฏชัดในหลายๆ ผลงาน เช่น การผสมสองเวอร์ชันของเพลง ‘Strawberry Fields Forever’ ที่มีคีย์และจังหวะต่างกัน โดยใช้เทคนิคการปรับความเร็วเทป หรือการสร้างเสียงในแบบ ‘ซาวด์สเคป’ (Soubnd Scape) ให้เกิดความแปลกใหม่ในเพลง ‘Being for the Benefit of Mr. Kite!’ โดยตัดเทปบันทึกเสียงเครื่องดนตรีในงานคาร์นิวัลออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วนำมาประกอบใหม่แบบสุ่ม

จุดสูงสุดของการทดลองทางดนตรี คือการสร้างสรรค์อัลบั้ม ‘Sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band’ ที่ใช้เวลาบันทึกเสียงนานกว่า 4 เดือน ด้วยงบประมาณ 25,000 ปอนด์ ซึ่งสูงที่สุดในยุคนั้น 

อัลบั้มนี้เต็มไปด้วยนวัตกรรมการบันทึกเสียง เช่น การใช้เทคนิค ADT (Artificial Double Tracking) การใช้เครื่องดนตรีหลากหลายชนิด และการจัดวางเสียงที่ซับซ้อน โดยเฉพาะในเพลง ‘A Day in the Life’ ที่มีการใช้วงออร์เคสตราขนาดใหญ่บรรเลงโน้ตจากต่ำสุดไปสูงสุดในช่วงกลางเพลงและตอนจบ สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ฟังทั่วโลก

ความสัมพันธ์กับ The Beatles

สิ่งที่ทำให้ จอร์จ มาร์ติน แตกต่างจากโปรดิวเซอร์คนอื่น ๆ คือความสามารถในการเข้าใจและสนับสนุนวิสัยทัศน์ของสมาชิกวง เขาไม่เคยปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขา แม้บางครั้งจะมีความเห็นไม่ตรงกัน เช่น การใช้คอร์ดที่ซับซ้อนในเพลง ‘She Loves You’ ที่ มาร์ติน คิดว่าแจ๊สเกินไป แต่วงยืนยันที่จะใช้ และผลลัพธ์ก็ออกมายอดเยี่ยม

ตามที่ จอห์น เลนนอน เคยกล่าวไว้ ความสัมพันธ์ระหว่าง จอร์จ มาร์ติน กับวง เป็นไปในลักษณะการเรียนรู้ร่วมกัน

มาร์ติน เคยกล่าวว่า “ตอนแรกผมเหมือนเป็นครูกับลูกศิษย์ พวกเขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการบันทึกเสียง แต่สุดท้าย ผมกลับกลายเป็นผู้รับใช้ ในขณะที่พวกเขากลายเป็นเจ้านาย”

พอล แมคคาร์ทนีย์ ยอมรับว่า จอร์จ มาร์ติน เป็นโปรดิวเซอร์ที่ยอดเยี่ยม และทุกคนในวงรักเขา แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า ความสำเร็จของอัลบั้มต่าง ๆ เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของสมาชิกวงเป็นหลัก

“เมื่อ Sgt. Pepper ออกมา บทวิจารณ์บอกว่านี่คือ อัลบั้มที่ดีที่สุดของจอร์จ มาร์ติน พวกเราถึงกับบอกว่า อะไรนะ? อะไรนะ? จอร์จ มาร์ติน ยอดเยี่ยมนะ! เขาเป็นคนดีและพวกเราทุกคนรักเขา แต่อย่าคิดแม้แต่นาทีเดียวว่า เขาทำมันคนเดียว” พอล เคยแสดงความเห็นไว้

แม้จะไม่ได้รับผลตอบแทนมากนัก จากความสำเร็จอันท่วมท้นของวง แต่ จอร์จ มาร์ติน พิสูจน์ความเป็นมืออาชีพ ด้วยการทำงานร่วมกับสมาชิกในวงอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันสุดท้ายที่วงดนตรีต้องสลายตัวลง นอกจากนี้ เขายังช่วยงานโซโล่ของสมาชิกวง รวมถึงโปรเจกต์ Anthology ในภายหลัง

การสร้างมาตรฐานใหม่ให้วงการดนตรี

นอกเหนือจากการทำงานกับ เดอะ บีเทิลส์ แล้ว มาร์ติน ยังมีบทบาทสำคัญในการยกระดับมาตรฐานการผลิตดนตรีป๊อป เขาสร้างสรรค์ผลงานกับศิลปินมากมาย เช่น Cilla Black, Gerry and the Pacemakers และ Billy J. Kramer โดยในปี 1965 เขาตัดสินใจก่อตั้งบริษัท ‘Associated Independent Recording’ (AIR) ของตัวเอง เพื่อให้มีอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น

ความสำเร็จของ มาร์ติน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การผลิตเพลงป๊อป เขายังมีผลงานการเรียบเรียงดนตรีประกอบภาพยนตร์ ‘James Bond’ เรื่อง ‘Live and Let Die’ ที่ได้รับรางวัล Grammy Award for Best Arrangement Accompanying Vocalist(s) ในปี 1974 และยังทำงานร่วมกับศิลปินระดับตำนาน อย่าง เคนนี โรเจอส์ (Kenny Rogers), เอลตัน จอห์น (Elton John) และเซลีน ดิออน (Celine Dion)

ตลอดการทำงานในวงการดนตรีกว่า 60 ปี มาร์ติน สร้างผลงานที่น่าประทับใจมากมาย อาทิ การผลิตเพลงที่ขึ้นอันดับ 1 ในสหราชอาณาจักร 30 เพลง, การผลิตเพลงที่ขึ้นอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกา 23 เพลง, ได้รับรางวัล Grammy Awards 6 รางวัล, ได้รับการแต่งตั้งเป็น Commander of the British Empire (CBE) และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น Knight Bachelor ในปี 1996

ในช่วงบั้นปลายชีวิต จอร์จ มาร์ติน สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2006 เขาได้ร่วมมือกับลูกชาย ‘ไจล์ส’ (Giles Martin) รีมิกซ์เพลงของ เดอะ บีเทิลส์ สำหรับการแสดง ‘Love’ ของคณะการแสดง ‘Cirque du Soleil’ ที่ลาสเวกัส ซึ่งได้รับรางวัล Grammy Awards ถึง 2 รางวัลในปี 2008 สำหรับ Best Compilation Soundtrack Album และ Best Surround Sound Album

จอร์จ มาร์ติน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2016 ที่บ้านพักในเมือง Coleshill ด้วยวัย 90 ปี ทิ้งไว้ซึ่งมรดกทางดนตรีอันล้ำค่าที่จะอยู่คู่กับวงการดนตรีตลอดไป ไม่เพียงเป็นโปรดิวเซอร์ที่ยิ่งใหญ่ แต่เขาคือผู้บุกเบิกที่ผลักดันขอบเขตของดนตรีป๊อปให้ก้าวไกลกว่าที่เคยเป็นมา เปิดศักยภาพของดนตรีตลาดให้เป็นมากกว่าความบันเทิง พัฒนาเป็นงานศิลปะชั้นสูงที่ผสมผสานความซับซ้อนทางดนตรี แต่ยังสอดรับกับการเข้าถึงได้ของผู้ฟังได้อย่างแยบยล

ด้วยความรู้ทางดนตรีคลาสสิก ความกล้าทดลอง และความเข้าใจในศิลปิน จอร์จ มาร์ติน ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการผลิตงานดนตรี ผลงานของเขากับ เดอะ บีเทิลส์ ไม่เพียงสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่วงการเพลง แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักดนตรีและโปรดิวเซอร์รุ่นต่อ ๆ มา ไม่ว่ากระแสดนตรีจะแปรเปลี่ยนไปอีกกี่ยุคสมัยก็ตาม

 


งาน ‘MedMusic in the Park’ ปี 2024 จะนำเสนอในธีม ‘Let’s go for a ROCK’ พบกับการแสดงดนตรีของ Britain’s Finest - The Complete Beatles Experience จากสหราชอาณาจักร กับบทเพลงของ The  Beatles เย็นวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2024 นี้ ณ บริเวณ แอมฟิเธียเตอร์ สวนเบญกิติ กรุงเทพมหานคร

 


เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์ 
ภาพ: Getty Images 

ที่มา:
Lange, Larry. The Beatles Way: Fab Wisdom for Everyday Life. Atria Books. 2007. หนังสือเล่มนี้ มีเวอร์ชั่นภาษาไทยในชื่อ “ถอดรหัสอัจฉริยะ เดอะ บีทเทิลส์” แปลโดย Winston O’Boogie สำนักพิมพ์กาบุเมอิ ตุลาคม พ.ศ.2555