01 ธ.ค. 2567 | 17:12 น.
บทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คือสมบัติอันทรงคุณค่าที่สะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระองค์ แต่ละบทเพลงคือการรังสรรค์ท่วงทำนองที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ความหมาย และเรื่องราวที่แฝงอยู่ในแต่ละโน้ตดนตรี เป็นเสียงสะท้อนแห่งความรัก ความหวัง และแรงบันดาลใจที่ยังคงก้องกังวานในหัวใจคนฟังเสมอมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นอัครศิลปิน ทรงศึกษาดนตรีมาตั้งแต่วัยเยาว์ และทรงเชี่ยวชาญในเครื่องดนตรีหลากชนิด เช่น แซ็กโซโฟน คลาริเน็ต และเปียโน ทรงพระราชนิพนธ์เพลงในระยะแรก ๆ เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ขณะประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นช่วงที่เพลงในแนวบลูส์ (blues) ซึ่งเป็นสไตล์หนึ่งของดนตรีแจ๊ส (Jazz) กําลังเป็นที่นิยม
‘แสงเทียน’ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกในแนวบลูส์ ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทํานอง แล้วพระราชทานให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คําร้อง ซึ่งออกมาในแนวเศร้า ๆ ดังเช่น ตอนท้ายที่ว่า “ทนทรมานมามากแล้วจะกราบลา” ท่านผู้ประพันธ์คําร้อง กราบบังคมทูลว่า เพลงบลูส์ต้องเศร้าอย่างนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับท่วงทำนองที่ทรงพระราชนิพนธ์ โดยยึดหลักแนวเพลงบลูส์ดั้งเดิมของแอฟริกันอเมริกัน
แต่พระองค์ท่าน เมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชก็รับสั่งว่า “ถึงแม้จะเป็นเพลงเศร้าก็จริง แต่ตอนท้ายของเพลงนั้นก็ต้องมีปรัชญา แฝงไว้ว่า ยังต้องต่อสู้ต่อไป ยังคงมีความหวังอยู่” และทรงขอให้มีการแก้ไขเนื้อเพลงก่อน เมื่อเวลาล่วงเลยไป เพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่สองและสาม คือ เพลง ‘ยามเย็น’ และ ‘สายฝน’ จึงได้ออกบรรเลงก่อน
ในสมัยนั้น เพลงไทยส่วนใหญ่จะมีทำนองแบบ pentatonic Scale (scale 5 เสียง) หรือถ้าเป็นเพลงไทยสากลก็อาจจะเพิ่มขึ้น อีก 2 เสียงเป็น major scale ซึ่งเป็น scale พื้นฐานอย่างง่ายที่สุดของดนตรีสากล ส่วนการใช้ไมเนอร์ครึ่งเสียง หรือ minor Scale (Scale ซึ่งเสียงบางเสียงจะถูกกดให้ต่ำลงครึ่งเสียง) และบันไดเสียงโครมาติด หรือ chromatic Scale (scale ซึ่งโน้ตแต่ละตัวห่างกันครึ่งเสียงโดยตลอด) นั้น ยังไม่มีผู้ใดใช้ในดนตรีไทยสากล
ศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร กล่าวถึงเพลงในแบบของเสียงไมเนอร์ครึ่งเสียงและบันไดเสียงโครมาติคไว้ในหนังสือ ‘ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์’ ว่า
“เป็นบันไดเสียงที่ยาก เพราะคนไทยไม่ค่อยคุ้นเคยกับบันไดเสียงแบบนี้ เช่นในเพลงพระราชนิพนธ์ ‘ยามเย็น’ เสียงตรงช่วงที่ว่า เมื่อทินกรจะลับเหลี่ยมเมฆา เป็นต้น ตรงที่ร้องว่า เมฆา จะยาก เพลงที่คนไทยชอบร้องสมัยนั้น จะเป็นเพลงที่ขึ้นกับโน้ต 5 ตัว มีเอื้อนแบบเพลงไทยเดิม ซึ่งทำให้เพลงพระราชนิพนธ์ ฟังดูแปลกหู
“เพลงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้าเป็นโครมาติคจะเกิดขึ้นในแนวทำนองมากกว่า จะเป็น decoration มากกว่า ตัวอย่าง เช่นเพลงพระราชนิพนธ์ ‘สายฝน’ คอร์ดหรือที่เรียกว่ากลุ่มโน้ตที่มาประกอบ จะโครมาติคพอสมควร ทั้ง ๆ ที่เพลงนี้เป็นแบบ major ธรรมดา”
ในแง่ของคําร้อง ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร กล่าวว่า เนื่องจากเพลงพระราชนิพนธ์มักมาจากทำนอง จึงฟังได้ดี เพราะเพลงโดยปกติแล้วถ้าคําร้องมาก่อน จะมีปัญหาตรงที่เสียงวรรณยุกต์ของไทย ทำให้แต่งยาก การใส่คำร้องลงไปในทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ มักจะใส่ใน ลักษณะ 1 โน้ต 1 พยางค์ ไม่ค่อยมีเสียงเอื้อน
เพลงพระราชนิพนธ์บางเพลง มีคําร้อง 2 เนื้อ 3 เนื้อ ที่เพิ่มเติม ขึ้นมาภายหลัง มีทั้งคําร้องภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะหลังจากทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงแล้ว ก็มักจะพระราชทานให้ผู้ใกล้ชิดซึ่งชํานาญด้านการเขียนคําร้องไปแต่งถวาย หรือบางครั้งก็จะพระราชทานคําร้องที่ทรงไว้เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้แต่งคําร้องไทยตามคําร้องพระราชนิพนธ์นั้น ๆ
เอริค รอสเซอร์ (Eric Rosser) นักเปียโนและครูสอนเปียโนซึ่งจบการศึกษา ปริญญาตรี สาขา Piano and Composition จาก Oberlin College และ ปริญญาโท สาขา Piano Performance จาก Indiana University ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยวิเคราะห์เพลงพระราชนิพนธ์ในยุคแรก โดยยกตัวอย่างเพลงพระราชนิพนธ์ ‘Blue Day’ และ ‘Somewhere Somehow’ เปรียบเทียบให้เห็นพระปรีชาสามารถในการทรงพระราชนิพนธ์เพลง ได้ทั้งรูปแบบที่ง่าย ๆ และในลักษณะที่ซับซ้อน
เขากล่าวว่า เพลงพระราชนิพนธ์ Blue Day เข้าในลักษณะแรก ซึ่งแม้จะไม่ใช่เพลงที่จัดว่าเป็น ‘บลูส์’ อย่างที่เรียกขานกัน แต่ก็เป็นเพลงที่ใช้คอร์ดพื้นฐาน 3 คอร์ดของเพลงบลูส์ คือ Tonic, Dominant และ Subdominant ในแง่ของ melody ทรงใช้ melodic minor Scale ซึ่งถ้าเปรียบเทียบแล้ว ใกล้เคียงกับเพลง ‘Summertime’ ในโอเปร่าเรื่อง Porgy and Bess ของ จอร์จ เกิร์ชวิน (George Gershwin) คีตกวีชาวอเมริกัน ซึ่งใช้เพียงคอร์ดพื้นฐาน และ minor mode ถึงแม้ว่าจะมิใช่เพลงบลูส์ที่แท้จริงก็จัดอยู่ในข่ายนี้ได้ และด้วยพื้นฐานที่เรียบง่าย เพลงพระราชนิพนธ์ Blue Day ก็มีความงดงามด้วยทํานองที่สะท้อนให้เห็นอารมณ์ครุ่นคิด ที่เศร้าหมอง
ส่วนเพลงพระราชนิพนธ์ Somewhere Somehow ทรงใช้พระราชอัจฉริยภาพด้าน melody และ harmony อย่างเสรี แล้วใช้คอร์ดสลับซับซ้อน และมีข้อสังเกตว่า ทรงเริ่มต้นเพลงนี้แตกต่างจากแบบฉบับการประพันธ์เพลงสากล โดยเริ่มจากกุญแจเสียงเกือบจะสูงสุด ซึ่งนักประพันธ์เพลงสากลไม่ค่อยจะใช้กัน แต่ถ้าใช้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วจะได้ผลมาก เช่นเดียวกับเพลง ‘Memory’ จากละครเพลงเรื่อง Cats ซึ่งประพันธ์ โดย แอนดรูว์ ลอยด์ เว็บเบอร์ (Andrew Lloyd Webber)
ศาสตราจารย์ เท็ด พีส (Ted Pease) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประพันธ์เพลงแจ๊สแห่ง Berklee College of Music, Boston, Massachusetts ประเทศสหรัฐอเมริกา หนึ่งในผู้เรียบเรียงเสียงประสานและบันทึกเพลง พระราชนิพนธ์ของโครงการ ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์ แสดงความเห็นว่า เพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความหลากหลายที่น่าชื่นชม เช่น ‘Never Mind the Hungry Men's Blues’ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในลักษณะ Swing Composition ที่เข้าลักษณะแจ๊ส คลาสสิกของ ดุ๊ก เอลลิงตัน (Duke Ellington) เช่นเพลง ‘Don't Get Around Much Anymore’ และเพลง ‘I Let a Song Go Out Of My Heart’ ส่วน เพลงพระราชนิพนธ์วอลทซ์ ‘A Love Story’ นั้นมีท่วงทํานองซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกที่ลึกซึ้งและอบอุ่นใจ
นอกจากนี้ ยังมีเพลงพระราชนิพนธ์บางเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์สําหรับวงดนตรีบรรเลงโดยไม่มีการใส่คําร้อง เช่น เพลงพระราชนิพนธ์ ‘Lay Kram Goes Dixie’ ซึ่งเป็นเพลงในแนว Dixieland Jazz ที่โปรด ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะไม่ใช้สําหรับร้อง แต่ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อให้วงดนตรีเล่นโดยเฉพาะ เนื่องจากคอร์ดบางอันก็เหมาะสมกับเสียงดนตรี
เพลงพระราชนิพนธ์ ยังเป็นการ ‘พิสูจน์’ ความสามารถของนักร้องอีกด้วย เนื่องจากเพลงพระราชนิพนธ์เป็นเพลงที่เรียกได้ว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่แปลกใหม่ เป็น ‘ยุคบุกเบิก’ ของเพลงไทยสากล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไมเนอร์ครึ่งเสียง บันไดเสียงโครมาติค หรือลีลาท่วงทํานอง ที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูคนฟังที่เป็นคนไทยในยุคนั้น
ในทัศนะของ คุณหญิงจามรี สนิทวงศ์ฯ ซึ่งเคยเป็นนักร้อง วงสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อมาได้เป็นนักร้องของวง อ.ส.วันศุกร์ ตั้งแต่ปี 2502 มีความเห็นว่า
“เพลงพระราชนิพนธ์เป็นเพลงไพเราะไม่ซ้ำแบบ แต่ร้องยาก เพราะมีเสียงครึ่งเสียงมาก คนไม่เคยหรือไม่ได้ร้องบ่อย ๆ ก็จะร้องเพี้ยน แม้แต่นักร้องอาชีพก็เคยประสบกับปัญหานี้มาหลายคน”
สิ่งเหล่านี้ ผู้ฝึกซ้อมนักร้องประสานเสียง เช่น คุณหญิงมาลัยวัลย์ บุณยะรัตเวช เห็นว่า
“จริง ๆ แล้วจะไม่ยาก ถ้าอ่านโน้ตเป็น และหูจะต้องฟัง pitch คือระดับเสียงสูงเสียงต่ำของดนตรีให้ดี เนื่องจากโน้ตของท่านจะเป็น โน้ตพวกครึ่งเสียง”
ทั้ง 2 ความเห็นนี้ อาจสรุปได้ด้วยมุมมองของ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร
“เพลงพระราชนิพนธ์ของท่าน บันไดเสียงในเพลงมีด้วยกันหลายสไตล์ มีมากที่ใช้บันไดเสียงของเพลงบลูส์ ซึ่งเป็นบันไดเสียง ผสมระหว่าง major กับ minor เช่น ในช่วงวรรคแรกของเพลงพระราช นิพนธ์ ‘แสงเทียน’ เป็นต้น ...การร้องธรรมชาติของเสียงเป็นแบบที่ร้องยาก เพราะหูคนเราจะติดอยู่กับบันไดเสียงแบบใดแบบหนึ่ง เมื่อเอามาผสมกันก็ยาก เพราะคนไทยไม่คุ้นกับบันไดเสียงแบบนี้
“นอกจากนี้ยังมีลักษณะของการขึ้นคู่เสียงบางอย่างที่ร้องยาก เช่น เพลงพระราชนิพนธ์ ‘พรปีใหม่’ ถึงจะเป็นบันไดเสียง C major ธรรมดา แต่การขึ้นคู่เสียงบางอย่างที่ร้องยาก เช่น ช่วงที่ว่า ให้บรรดา เราท่านรื่นรมย์ ขั้นคู่นี้คือ augmented forth คือ โน้ตห่างกัน 4 เสียงเต็ม ซึ่งเป็นขั้นคู่หายาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบันไดเสียง major”
ด้วยเหตุนี้เอง นักร้องที่ร้องเพลงพระราชนิพนธ์ จึงจำเป็นต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อให้มีความสามารถเพียงพอที่จะผ่านบทพิสูจน์อันยิ่งใหญ่บทนี้ให้ได้
เพื่อเฉลิมฉลองพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของในหลวง รัชกาลที่ 9 ทางเนชั่นกรุ๊ป และองค์กรพันธมิตร จะจัดคอนเสิร์ต ‘H.M. Blues’ ขึ้น ในค่ำวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ คอนเสิร์ตนี้จะอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ และนำบทเพลงแสตนดาร์ดแจ๊สระดับสากลมาถ่ายทอด บรรเลงโดยวง RSU Jazz Orchestra ภายใต้การควบคุมของ รศ.ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ ศิลปินศิลปาธร ร่วมด้วยศิลปินชั้นนำ กบ เสาวนิตย์ นวพันธ์, ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว, แมว จิรศักด์ ปานพุ่ม, เมย์ ฝนพา ปราโมช ณ อยุธยา และ ออย กุลจิรา ทองคำ
รายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายบัตร โดยไม่หักค่าใช้จ่าย จะมอบให้แก่สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา และวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อสนับสนุนการศึกษาด้านดนตรีให้แก่เยาวชนไทยต่อไป บัตรมีจำหน่ายแล้วที่ไทยทิคเก็ทเมเจอร์
เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์
ที่มา:
- ข้อมูลจากหนังสือ “ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์” (The Musical Compositions of His Majesty King Bhumibol Adulyadej of Thailand) จัดพิมพ์โดยโรงเรียนจิตรลดา พ.ศ. 2539.
รายละเอียดคอนเสิร์ต
- วันที่: วันพุธที่ 4 ธันวาคม 2567
- เวลา: 19.00 - 21.00 น.
- สถานที่: โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์
- บัตรราคา: 1500, 2000 และ 2500 บาท