Danny O’Donoghue : สัมภาษณ์นักร้องนำ The Script กับโอริกามิแห่งความเจ็บปวด

Danny O’Donoghue : สัมภาษณ์นักร้องนำ The Script กับโอริกามิแห่งความเจ็บปวด

บทสัมภาษณ์ ‘แดนนี่ โอดอโนฮิว’ (Danny O’Donoghue) นักร้องนำจาก ‘The Script’ เจ้าของบทเพลง The Man Who Can’t Be Moved และ Hall of Fame

ถ้าคุณเคยร้องเพลง The Man Who Can’t Be Moved ตอนอกหัก หรือเคยได้แรงบันดาลใจจาก Hall of Fame ให้ลุกขึ้นสู้ต่อในวันที่ท้อแท้ ไม่ว่าจะเป็นจากท่อน “Cause if one day you wake up and find that you’re missing me.” หรือ “Standing in the Hall of Fame” หากเพียงอ่านเฉย ๆ ผู้อ่านบางคนอาจนึกไม่ออก แต่ถ้าประโยคเหล่านี้มาพร้อมกับทำนอง เชื่อว่าไม่เพียงแค่ผู้อ่านจะนึกออกว่าเพลงเหล่านี้คือเพลงอะไร แต่ท่วงทำนองเหล่านี้อาจมาพร้อมกับความทรงจำในอดีตที่ถูกบรรจุผ่านเสียงดนตรีเหล่านี้ 

หากเป็นเช่นนั้น ก็หมายความว่าคุณเคยมี ‘The Script’ อยู่ในช่วงเวลาสำคัญของชีวิตโดยไม่รู้ตัว ซึ่งพวกเขาก็คือวงดนตรีจากไอร์แลนด์เจ้าของเพลงฮิตระดับโลกที่นำเสนออารมณ์และเรื่องราวของมนุษย์ด้วยถ้อยคำตรงไปตรงมาและดนตรีที่เข้าถึงใจคนฟังอย่างลึกซึ้ง

วันนี้ The People มีโอกาสพูดคุยกับ ‘แดนนี่ โอดอโนฮิว’ (Danny O’Donoghue) นักร้องนำของวงผู้เปรียบเสียงเพลงเป็น “โอริกามิแห่งความเจ็บปวด” ที่เขาพับจากประสบการณ์ชีวิตจริง ก่อนปล่อยมันลอยออกไปสู่โลกเพื่อหวังว่ามันจะไปถึงใครบางคนที่รู้สึกเช่นเดียวกัน 

เราพูดคุยกับเขาถึงรากเหง้าทางดนตรีที่หยั่งลึกมาตั้งแต่วัยเด็ก ความหมายของการเป็นศิลปินในโลกยุคโซเชียล ความเปลี่ยนแปลงที่ตามมาหลังการสูญเสียเพื่อนร่วมวง และอัลบั้มล่าสุด Satellites (2024) ที่เป็นเหมือนบันทึกความรู้สึกของชายคนหนึ่งที่ยังยืนอยู่บนเวที แม้หัวใจจะโบ๋ไปหนึ่งแถบ อ่านเรื่องราวทั้งหมดของบทสนทนาในครั้งนี้ได้ที่บทความนี้

Danny O’Donoghue : สัมภาษณ์นักร้องนำ The Script กับโอริกามิแห่งความเจ็บปวด

The People : มีภาพยนตร์เรื่องไหนที่มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานของคุณไหม?

แดนนี่ : หลายเรื่องเลยล่ะ ผมคิดว่าผลงานที่ดีหลายชิ้นก็มาจากภาพยนตร์ทั้งนั้นนะ เพราะภาพยนตร์เป็นสื่อที่ทำให้เราสามารถถอดปลั๊กตัวเองออกจากโลกแห่งความเป็นจริงในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งถ้าให้นึกถึงก็มีหลายเรื่องเลย ยกตัวอย่างเช่น Love Actually (2003) ถือมีส่วนสำคัญต่อเพลง ‘Breakeven’ มากนะครับ โดยเฉพาะในแง่ของความโรแมนติคที่สิ้นหวังอะไรแบบนั้น

อีกตัวอย่างที่ดีมาก ๆ ก็ต้องพูดถึงเพลง ‘The Man Who Can't Be Moved’ เพราะเบื้องหลังเพลงนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์อมตะอย่าง ‘Forrest Gump’ (1994) โดยเฉพาะในแง่มุมของตัวเอกที่เฝ้ารอผู้หญิงของเขาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะผ่านเหตุการณ์ใด ๆ ไป หรือแม้แต่การที่เธอจากเขาไปนับไม่ถ้วนก็ตาม ผมว่าเพลงพูดถึงสิ่งที่คนอย่าง ฟอร์เรสต์ กัมป์ ต้องทำอย่างแน่นอน พวกเราชอบเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจกันมาก ซึ่ง Forrest Gump ก็ถือเป็นแรงบันดาลใจขนาดใหญ่เลย

 

The People : คุณดูจะเป็นคนชอบดูหนังนะ

แดนนี่ : ใช่เลย โดยเฉพาะสมัยก่อนนะ สมัยนี้อาจจะไม่ได้ดูมากแล้ว ไม่รู้ทำไมนะ อาจเป็นเพราะหนังสมัยนี้มีความเป็นรูปแบบมากขึ้นล่ะมั้ง คือสมัยก่อน หลาย ๆ อย่างมันจะมีความเป็นนามธรรม เราสามารถที่จะตีความในแบบฉบับของเราเองได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันกลายเป็นว่าหนังหลายเรื่องเน้นไปที่สูตรสำเร็จมากเกินไป—จะต้องมีนั่น มีนู่น มีนี่—มันเลยให้ความรู้สึกเหมือนเรื่องเดิม เพียงเปลี่ยนตัวละคร และนำมาเล่าซ้ำไป ซ้ำมา มันเลยยากขึ้นที่จะหาอะไรที่มีความแตกต่างและเฉพาะตัว เหมือนหนังเรื่อง The Notebook (2004) อะไรแบบนั้น คือถ้าผมดูหนังผมก็จะดูหนังแนว ๆ นี้แหละ หนังรักโรแมนติด

Danny O’Donoghue : สัมภาษณ์นักร้องนำ The Script กับโอริกามิแห่งความเจ็บปวด

 

The People : แสดงว่าหนังสยองขวัญนี่ไม่ใช่ทางคุณเลยถูกไหม?

แดนนี่ : หนังสยองขวัญเหรอ ใช่ มันไม่ใช่ทางผมเลย ไม่ใช่ว่าผมกลัวนะ แต่มันเหมือนเป็นการจงใจพาตัวเองไปประสบกับความชั่วร้าย (Purposeful Evil) น่ะ คือผมว่าบนโลกนี้มันก็โหดร้ายมากพอแล้ว หรือชีวิตผมนี่มันก็หินพอแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องไปดูหนังสยองขวัญสักเรื่องเลย คุณลองอยู่กับผมสักวันสิ แล้วจะรู้เลยว่าชีวิตผมแม่งไม่ต่างจากหนังสยองขวัญ (หัวเราะ)

 

The People : เรามาเข้าเรื่องกันดีกว่า ผมอยากชวนคุณรำลึกความหลังสักหน่อย หากมองย้อนไปในอดีต คุณเติบโตมากับเสียงดนตรีแบบไหน?

แดนนี่ : ผมโตมากับทุกอย่าง ทุกอย่างจริง ๆ นะ พ่อผมก็เป็นนักดนตรี พี่ชายผมเล่นกีตาร์ พี่ชายอีกคนก็เล่นเบส ส่วนพี่สาวอีกคนก็ร้องเพลง การแต่งเพลงก็เป็นสิ่งสำคัญในบ้านของเรา ผมเลยได้เติบโตมาในห้องที่มีผืนพรมปูไว้ตรงกลาง ถัดไปที่มุมก็มีเปียโนและเบสวางอยู่ ซึ่งก็เป็นสถานที่ที่เราไว้ใช้ซ้อมนั่นแหละ พ่อผมก็มักจะไปเล่นดนตรีสดที่บาร์แถวบ้าน แถมยังพาผู้คนกลับมาบ้านแล้วเล่นดนตรีกันยันสว่างอีก

นั่นหมายความว่าก่อนที่ผมจะอายุ 5-6 ขวบ ผมก็ได้อยู่กับดนตรีมาเกินหนึ่งหมื่นชั่วโมงแล้ว ทั้งเสียงดนตรี การผสมผสานกันของเสียง ไปจนถึงการบอกเล่าเรื่องราว ผมเลยรู้สึกอยู่เสมอว่าชีวิตของผมมันมีรากฐานมาจากดนตรี ผมสนิทสนมกับดนตรีมาก่อนที่ผมจะสามารถพูดได้อีกมั้ง เสียงดนตรีเข้าใจผม และผมเข้าใจสิ่งนั้นก่อนที่ผมเข้าใจด้วยซ้ำว่าการเข้าใจคืออะไร

 

The People : ทีนี้ถ้าผมให้คุณเลือกหนึ่งเพลงที่มีความสำคัญต่อคุณ คุณจะเลือกเพลงไหน?

แดนนี่ : เปลี่ยนชีวิตผมเหรอ ก็คงจะเป็นบทเพลงที่พ่อผมร่วมแต่งขึ้นมานะ ชื่อว่า ‘I’ll be There’ พ่อผมเขียนเพลงนี้เพื่อรำลึกถึงพ่อของเขา (ซึ่งก็คือปู่ของผม) ที่จากไป นอกจากนั้นก็มีนักดนดนตรีชาวไอริช มีชื่อเสียงมาก นามว่า ‘ฟินบาร์ เฟอเรย์’ (Finbar Furey) จากวง The Fureys เป็นคนแต่งเนื้อที่พูดถึงแม่ของเขาที่จากไป ก็คือคนหนึ่งมีเนื้อเพลง อีกคนหนึ่งมีดนตรี พ่อผมก็เป็นคนนำทั้งสองอย่างนั้นมาผสมผสานกันจนกลายเป็นเพลง 

ซึ่งเพลงนี้ก็กลายเป็นเพลงขาประจำที่พวกเขาร่วมร้องบรรเลงร่วมกันเสมอ เหมือนเป็นเพลงปิดงานน่ะ แล้วมันก็เป็นเพลงที่ลึกซึ้งกินใจใครหลายคนมากที่สุดด้วย เพราะผู้ใหญ่หลายคนที่มาฟังก็ต่างพากันน้ำตาไหลไปตาม ๆ กัน นั่นเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผมได้เข้าใจถึงพลังของเสียงดนตรี มันเหมือนพลังวิเศษ สมมุติว่าคนกำลังจมอยู่ในกระแสคลื่นของวิกฤตในชีวิต เพลงก็เปรียบเสมือนกับแพที่เราสามารถโยนไปให้พวกเขาได้ เพลงบางเพลงสามารถคว้าใครสักคนให้พ้นจากการจมน้ำได้

ผมเลยมีความรู้สึกว่า—อาจจะฮิปปี้หน่อย ๆ นะ—เสียงดนตรีคือพลังวิเศษที่เปลี่ยนชีวิตเราได้ อาจจะไม่ทันทีทันใดขนาดนั้น แต่ความเป็นดนตรีนั้น ๆ มันสามารถเหลาทิศทางที่ชีวิตเราจะดำเนินไปข้างหน้าได้ ไม่มากก็น้อย และนั่นก็เป็นสิ่งที่ผมอยากจะทำนะ

 

The People : ถือเป็นเรื่องที่น่าทึ่งที่เสียงดนตรีสามารถสร้างความมหัศจรรย์แบบนั้นได้ คุณคิดว่าเพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น?

แดนนี่ : คงมีแต่พระเจ้าที่กุมคำตอบนั้นไว้อยู่ ผมว่าผมฉลาดพอที่จะรู้ว่าผมโง่พอที่จะรู้ว่าผมคงไม่มีวันเข้าใจสิ่งนั้น ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่าเพราะอะไร ผมบอกได้เพียงว่าผมรักในสิ่ง ๆ นั้น มันก็คงเหมือนกับการที่ไอน์สไตน์ย่อจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลให้เหลือเพียง E=MC² มั้ง นักดนตรีเองก็พยายามกลั่นความรู้สึกอกหักให้กลายเป็นเนื้อเพลง จริง ๆ ผมไม่ได้อยากจะเปรียบเทียบนะ แต่ผมว่ามันมีความคล้ายกัน คือเรากลั่นบางสิ่งให้กลายเป็นอะไรที่เข้าใจง่ายหรือเป็นภาพแทนของสิ่ง ๆ นั้น นอกจากนั้น ผมว่ามันมีพลังวิเศษที่ซ่อนอยู่ในคอร์ดและการผสมผสาน ผมว่าตรรกะของมันสามารถเข้ากับสมองของเราได้พอดิบพอดี แม้ว่าคอนเซปต์ของมันจะซับซ้อนเพียงไหนก็ตาม

คุณเคยเห็นชีทดนตรีไหม แบบที่วงออเครสตร้าเขาใช้กัน มันซับซ้อนมากเลยนะ ไม่ว่าจะทัมบอร์ สแตกคาโต เลกาโต ไวโอลิน เบส ทิมปานี ทุกอย่างถูกจรดลงไปบนหน้ากระดาษ แล้วเวลาคุณเห็นนะ ก็จะอุทานนะ ว่านี่มันบ้าอะไรวะเนี่ย? ใช่ไหม? แต่ทำไมเด็กทารกถึงสามารถฟังและเข้าใจได้ล่ะ ถ้าไม่ใช่เพราะความวิเศษของมัน เพลงเหล่านี้มันก็คงไม่สามารถแล่นผ่านหัวเด็กทารกแบบนี้ได้ ผมเลยคิดว่ามันเป็นกฎของจักรวาลที่ถูกสร้างขึ้นมา

ดนตรีสามารถเข้าถึงเราได้หลากหลายทิศทาง เหมือนกับแฉกแขนงของสายฟ้า และแม้ว่าจะอุดมไปด้วยคอนเซปต์หรือความซับซ้อนมากมาย แต่มันก็สามารถเข้าถึงเราได้อย่างง่ายดาย

 

The People : คุณเติบโตขึ้นมาในไอร์แลนด์ คุณคิดว่าบ้านเกิดคุณหล่อหลอมคุณทางดนตรีอย่างไรบ้าง?

แดนนี่ : ผมมองว่าไอร์แลนด์เป็นสถานที่ที่อุดมไปด้วยเรื่องเล่า คือประเทศเราก็ไม่ได้ร่ำรวยขนาดนั้น ด้วยเหตุนั้น หลาย ๆ ครั้ง เงินตราของพวกเราจึงกลายเป็นสาดแสงไปที่อะไรบางสิ่ง เล่นตลกกับบางอย่าง แต่ก็มีข้อคิดแฝงเอาไว้เสมอ เพราะเรื่องราวล้วนมีจุดเริ่มต้น ตรงกลาง และตอนจบ

ถ้าคุณลองไปเยือนที่บาร์ท้องถิ่นนะ ไอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีสีโทนเขียวมาก แต่ฝนก็ตกมาก แถมยังหนาวด้วย กิจกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นบ่อยคือการรวมตัวกัน ซึ่งสถานที่ยอดฮิตก็คือผับ-บาร์นั่นแหละ นอกจากดื่มกันแล้ว เราก็จะนำเรื่องเล่าต่าง ๆ มาแบ่งปันกันด้วย ถ้าใครมีเรื่องที่ดีที่สุดก็คว้าชัยไป บางเรื่องที่เศร้าที่สุดก็อาจจะชนะไป บางทีก็ถึงขั้นที่ว่า เรื่องที่แย่ที่สุดชนะก็มี บ้านเมืองเราเลยเต็มไปด้วยผู้คนที่พร้อมเอา ‘เรื่องเล่า’ มาประชันกัน อย่างกะ UFC หรือคาราเต้อะไรอย่างนั้นเลย 

มันจะมีคำที่เขามักใช้กันนะ “ถ้าเหล็กใช้ลับเหล็ก ดาบก็ใช้ลับดาบ” (เติบโตที่ไหนก็ย่อมเป็นอย่างนั้น) นอกจากนั้นไอร์แลนด์เองก็มีประวัติศาสตร์ที่ชวนเศร้าหมองไม่น้อย เพราะในอดีตที่เราถูกรุกราน มันเลยกลายเป็นสถานที่ที่มีการต่อสู้เพื่อแย่งชิงเสมอมา และแน่นอนว่าผู้ที่เจ็บปวดทรมานคือประชาชนคนไอร์แลนด์ แล้วรู้ไหมว่าอะไรคือสูตรลับชั้นยอดของยอดศิลปะ ความเจ็บปวดกับดนตรีไงล่ะ

 

The People : คุณจำได้ไหมว่า ณ ช่วงไหนของชีวิตที่คุณอยากจะตั้งวงดนตรีหรือเป็นศิลปิน?

แดนนี่ : คำตอบก็คือ ผมไม่ได้รู้สึก แล้วไม่ใช่เพราะผมพูดเพราะผมคุ้นเคยกับสิ่งที่เป็นอยู่นะ แต่ผมไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่าผมเป็นนักดนตรี ด้วยเหตุนั้น ตอนผมอายุประมาณ 12-13 ปี ผมสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้จำนวน 4 ประเภท แต่ผมก็ไม่เคยคิดว่าผมเป็นนักดนตรีนะ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ทุก ๆ คนก็ทำกัน แต่จุดที่ทำให้ผมรู้สึกว่าอยากจะเป็นศิลปินจริง ๆ ก็คงเป็นตอนที่วงของพี่ชายผมกำลังทัวร์ แล้วผมก็ได้มีโอกาสไปช่วยเป็นลูกทีมด้วย ผมจำได้เลยว่าตอนนั้นอยู่หลังเวที และเบื้องหน้าผมมีคนกว่า 30,000 คน ตอนผมมองทะลุไป ผมนี่ขนหัวลุกเลย รู้สึกทั้งกลัว ผวา ตื่นเต้น ทุกความรู้สึกเลย ณ ตอนนั้นผมคิดอย่างเดียวว่ามันน่าทึ่งมาก และผมอยากจะทำสิ่งนี้ 

 

The People : ตอนที่คุณเริ่มต้น The Script จำได้ไหมว่ามันเริ่มต้นขึ้นมาด้วยความเชื่อแบบไหน?

แดนนี่ : ปรัชญาสำคัญของผมเลยคือ “Song is a king” แต่ละบทเพลงคุณแทบจะกรีดเลือดเขียนมันลงบนหน้ากระดาษ ถ้ามีอะไรที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับคุณในชีวิต ก็จงบรรเลงมันออกมาเป็นบทเพลง อย่าเขินอาย และต้องจริงใจอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าคุณเป็นคนเฮงซวย ก็จงเขียนไปในบทเพลงว่าคุณเป็นคนเฮงซวย ถ้าเป็นคนดีก็บอกไปแบบนั้น หรือถ้าคุณเป็นคนเลวที่พยายามจะเป็นคนดี ก็จงบอกผ่านเพลงไปว่าคุณกำลังพยายาม เพราะการซื่อสัตย์มันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการเสแสร้งนะ

เรามักได้ยินคำนี้บ่อยในโซเชียลมีเดียว่าฉัน ‘ของแท้’ (Authentic) เอาจริง ๆ นะ มันไม่มีหรอก การพยายามเป็นของแท้ มันมีแค่ว่า คุณ ‘แท้’ หรือ ‘ไม่แท้’ แค่นั้นแหละ และความเป็นจริงนั่นแหละ ของแท้ที่สุดแล้ว ซึ่งไอความเป็นจริงเหล่านี้มันก็จะสะท้อนผ่านบทเพลงของคุณ และแน่นอนว่าผู้ฟังย่อมสัมผัสได้ 

 

The People : จากจุดเริ่มต้นมาถึงปัจจุบัน คุณคิดว่า The Script เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง?

แดนนี่ : ผมมองว่าเราพยายามจะทำสิ่งที่เราเคยทำเสมอมา นักวิจารณ์ก็จะบอกว่าเราไม่เติบโตหรือเปลี่ยนแปลงเลย คือผมรักสิ่งที่ผมทำ ผมรักในการที่ผมได้มองหาเรื่องราวผ่านเพลงของผม เพลงผมก็มักให้กำลังใจนะ ไม่ว่าจะเป็น Hall of Fame หรือ Superheroes

มันมีวิธีมากที่เราสามารถเขียนเพลงได้ เพลงหนึ่งเกี่ยวกับความเศร้า อีกอันเกี่ยวกับการอกหัก บางอันให้กำลังใจ เพลงที่ผู้คนสามารถเข้าใจได้ และผมจะไม่เขียนเพลงเกี่ยวกับดอกไม้สีขาวที่ถูกวางบนโต๊ะรู้สึกโดดเดี่ยว ผมจะเขียนเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึก ผมไม่ค่อยจะเขียนอะไรที่นามธรรมเท่าไหร่ ผมจะบอกเลยว่าใครทำอะไร ซึ่งจะแตกต่างจากแสงสุริยาสีเหลืองสาดส่องกลางทุ่งใหญ่ อะไรที่มันเป็นเชิงภาพแบบนั้น คือผมน่ะไม่ชอบ แต่นักวิจารณ์ชอบ

 

The People : แล้วคุณเคยลองอะไรแบบนั้นไหม?

แดนนี่ : เคย แต่ผมไม่ชอบว่ะ ใจผมมันไม่ไปทางนั้น และถ้าผมทำ ผมก็ไม่ใช่ ‘ของแท้’ ถูกไหม? 

 

The People : คุณมองว่านิยามของการเป็น ‘ของแท้’ คืออะไร?

แดนนี่ : ข้อเท็จจริง

 

The People : ‘ของสังคม’ หรือ ‘ของคุณ’?

แดนนี่ : ตัวเองสิ ทุกวันนี้เอาใจตัวเองแม่งยังยากเลย จะไปคิดอะไรถึงเอาใจคนอื่นหรือเอาใจโลกใบนี้ เพลงคือวิธีที่ช่วยผมบำบัดความเจ็บปวดในใจ ผมเอาความเจ็บปวดเหล่านั้นมาพับให้เป็นเหมือนกระดาษโอริกามิชิ้นเล็ก ๆ แล้วร่อนมันออกไปในโลกที่กว้างใหญ่ ถ้ามีคนฟังก็ดี ถ้าไม่มี มันจะเป็นอะไรไป

 

Danny O’Donoghue : สัมภาษณ์นักร้องนำ The Script กับโอริกามิแห่งความเจ็บปวด

 

The People : อะไรคือตัววัดความสำเร็จของคุณ?

แดนนี่ :  ผมคิดว่าความสำเร็จคือ คุณสามารถถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมาเป็นเพลงได้ไหมล่ะ? ถ้าได้เยี่ยมเลย แบบนั้นคุณก็สมควรได้ดาวทองดวงหนึ่งแล้วล่ะ หลังจากนั้นแหละที่ธุรกิจมันเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะถ้าคุณอยากเป็นศิลปิน และอยากเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ มันจะมีระบบอีกชุดหนึ่งที่ตามมาหลังจากการสร้างสรรค์ศิลปะ แต่ถ้าคุณอยากให้คนทั้งโลกได้รู้จักตัวคุณ นั่นมันเป็นเรื่องของ ‘ชื่อเสียง’ แล้ว แบบนั้นคุณไม่ได้พยายามเป็นแค่ศิลปิน คุณกำลังพยายามเป็นคนดังต่างหาก แต่ถ้าคุณอยากเป็นทั้งศิลปินและคนดัง และอยากมีทุกอย่างเลย มันก็เป็นเรื่องที่ยากมากจริง ๆ และโลกมันก็เปลี่ยนไปเยอะมาก ตั้งแต่เราปล่อยเพลงแรกออกมา เมื่อก่อนคุณต้องขายซีดี ไม่มีอินสตาแกรม ไม่มี TikTok คุณต้องไปเล่นดนตรีตามบาร์ ตามคลับจริง ๆ แต่เราก็ยังรักษาความสำเร็จของเรามาได้ตลอด ซึ่งสองอย่างนี้—ศิลปะ และธุรกิจ—มันเป็นคนละเรื่องกันเลย คำว่า ‘ธุรกิจเพลง’ น่ะ คำว่า ‘ธุรกิจ’ ใหญ่กว่าคำว่า ‘เพลง’ เสียอีก

 

The People : ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมเกี่ยวกับอัลบั้มล่าสุดของคุณ?

แดนนี่ :  สำหรับอัลบั้ม Satellites (2024) ผมมองกระบวนการเหมือนเป็นการหมักไวน์—กลั่นกรองทุกอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงปีหรือสองปีที่ผ่านมา ทั้งสภาพอากาศ ทั้งสภาพดิน เหมือนเราหมักมันไว้เพื่อกลายเป็นอัลบั้มนี้ ซึ่งอัลบั้มนี้ก็ไม่ต่างกัน เราเพิ่งผ่านเรื่องใหญ่ไป—การสูญเสียมาร์ค สมาชิกในวงของเรา—มันเป็นความโศกเศร้าในแบบที่ต้องเกิดขึ้นต่อหน้าสาธารณชน แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็รู้ว่ามีแฟน ๆ ที่กำลังเฝ้ารอ และมีคนที่กำลังเจอกับความสูญเสียเหมือนกัน ผมเลยแค่พยายามจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ด้วยการทำงานต่อ พาตัวเองกลับขึ้นเวทีอีกครั้ง และเผชิญหน้ากับความรู้สึกทั้งหมดนั้น 

มันยากนะ แต่ก็มีหลายเพลงในอัลบั้มที่พูดถึงเรื่องนี้ตรง ๆ และก็มีเพลงอื่น ๆ ที่เน้นเรื่องการหลีกหนีความจริงบ้าง เพราะคุณต้องมีทั้งสองด้าน—ต้องกล้าเผชิญหน้ากับความเศร้า—แต่ก็ต้องมีช่วงเวลาให้สมองได้พัก ไม่ต้องจมอยู่กับมันตลอดเวลา บางเพลงก็เลยจะมีจังหวะสนุก ๆ ขึ้นมา ในขณะที่บางเพลงก็พุ่งตรงเข้าไปในหัวใจของเรื่อง มันเป็นอัลบั้มที่ได้ปลดปล่อยความรู้สึกออกมาเยอะมาก ซึ่งนั่นแหละคือความหมายของดนตรีสำหรับผม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็เขียนมันออกมา ปล่อยให้มันออกมา

เพราะการที่ความรู้สึกอยู่ข้างในนาน ๆ ไม่ดีเลย มันควรกลายเป็นเพลง

 

The People : เส้นทางบทต่อไปของ The Script จะมีหน้าตาเป็นแบบไหน?

แดนนี่ :  ผมคิดว่าก็คงเป็นการเติบโตไปพร้อมกับพวกเรา ผมไม่ได้พยายามจะเปลี่ยนแปลงวงการเพลงอะไรขนาดนั้น คนที่ได้ยินเพลงของพวกเรา ก็น่าจะรู้ว่าเราทำเพลงแบบไหน สิ่งที่ผมพยายามทำก็คือ ‘ความจริงใจ’ ผมไม่ได้มองว่า “ฉันต้องเขียนเพลงนี้เพื่อไปชิงรางวัลนะ” หรือ “ฉันต้องได้แกรมมี่” อะไรแบบนั้น เรามีเส้นทางอาชีพที่ยอดเยี่ยมมาตลอด และตอนนี้ผมรู้สึกว่าเรากำลังเข้าสู่ช่วงใหม่ในชีวิต ผมกำลังจะแต่งงาน หวังว่าพระเจ้าจะอวยพรให้ผมมีลูก และผมก็ตั้งตารออารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดที่กำลังจะเข้ามา

สำหรับผม ดนตรีคือทุกสิ่ง แล้วผมก็จะเขียนทุกอย่างที่รู้สึกลงไป จากนั้นก็โยนคำถามกลับไปว่า “มีใครรู้สึกแบบเดียวกันไหม?” และถ้ามีคนตอบว่า “ใช่ ฉันก็รู้สึกแบบนั้น” — นั่นแหละคือสิ่งที่ผมรู้สึกว่าผมเกิดมาเพื่อทำ เพื่อให้โลกได้ระบายความรู้สึกผ่านศิลปะที่เรียกว่า ‘ดนตรี

 

ภาพ : Siraphop Suwansri