30 มี.ค. 2568 | 18:00 น.
/////////////// บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของ Adolescence (2025) ///////////////
ลิมิเดตซีรีส์ดราม่าเรื่อง ‘Adolescence’ (2025) ของ Netflix ขึ้นแท่นซีรีส์น้ำดีจนทำให้ใครหลายคนต่างอวยชัยให้เน็ตฟลิกซ์กันอย่างล้นหลาม ตั้งแต่ เสียงแห่งความกล้า (Unbelievable, 2019) สายตาแห่งอคติ (When They See Us, 2019) มาจนถึง Baby Reindeer (2024) และผลงานล่าสุดอย่าง Adolescence ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง
สำหรับ Adolescence มีเพียงแค่ 4 ตอน สร้างสรรค์โดย ‘แจ็ค ธอร์น’ (Jack Thorne) และ ‘สตีเฟน เกรแฮม’ (Stephen Graham) ถ่ายทอดเรื่องราวของการฆาตกรรม การเกลียดชังผู้หญิง และความเปราะบางของ ‘วัยลน’ ช่วงวัยที่พ่อแม่ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่า ขณะที่เรากำลังโอบกอดเขาไว้ จิตใจของลูกอาจกำลังร้าวรานจากสิ่งเร้าภายนอก พ่อแม่กลับไม่มีทางค้นเจอจนกว่าจะเกิดเรื่องร้ายแรง เช่นเดียวกับกรณีของ ‘เจมี มิลเลอร์’ (รับบทโดย โอเวน คูเปอร์ (Owen Cooper)) เยาวชนวัย 13 ปีที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกบ้านจับกุมตัว เพราะตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมเพื่อนหญิงร่วมสถาบัน
อะไรทำให้เด็กคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร ทั้ง ๆ ที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม แถมครอบครัวยังอบอุ่น พ่อแม่ไม่เคยลงโทษด้วยวิธีการรุนแรง ส่วนพี่สาวก็เลือกอยู่เคียงข้างน้องชาย ถึงจะถูกตราหน้าว่าครอบครัวฆาตกรก็ตาม และนี่คือเรื่องราวสะท้อนความบิดเบี้ยวของสังคม ไม่ใช่แค่ตัวฆาตกรเท่านั้นที่ถูกจองจำ หากแต่เป็นทั้งครอบครัวที่ไม่ต่างกับติดอยู่ในกรงขัง ถูกสายตาแห่งความหวาดระแวงจากสังคมจับจ้องจนชีวิตประจำวันพังยับ
“คุณมิลเลอร์ ลูกชายคุณตกใจจนปัสสาวะรดกางเกง มาช่วยเขาหน่อย”
คำพูดของผู้ตรวจการนักสืบ Luke Bascombe (รับบทโดย ‘แอชลีย์ วอลเตอร์ส’ (Ashley Walters)) ตะโกนลงไปขอความช่วยเหลือจากผู้เป็นพ่อ ติดหูเราทันทีที่ซีรีส์เรื่องนี้เปิดฉากขึ้น เพราะแสดงให้เห็นว่า ผู้ต้องสงสัยที่ตำรวจต่างกรูหน้าเข้าไปจับกุมนั้นเป็นเพียงแค่เด็กอายุ 13 ปี เด็กที่เพิ่งล่วงเข้าสู่วัยรุ่นได้เพียงไม่นาน แต่กลับเจอเหตุการณ์ชวนฝันร้ายแต่เช้า จนปัสสาวะรดกางเกง และคำแรกที่เขาร้องตะโกนออกมามีแค่ ‘พ่อ’
เจมีเรียกหาพ่อ ‘เอ็ดดี้’ (รับบทโดย สตีเฟน เกรแฮม) เป็นคนแรก ขณะที่แม่ ‘อแมนด้า’ (รับบทโดย คริสทีน เทรมาร์โด) และพี่สาว ‘ลิซ่า’ (รับบทโดย เอมิลี พีส) กำลังตกอยู่ในความสับสัน ได้แต่พูดซ้ำไปซ้ำมาว่า เข้าใจผิดแล้ว เขาเป็นแค่เด็กนะ
แต่นั่นไม่ได้ทำให้หน่วย SWAT หยุดการจับกุมตัว พวกเขาค้นบ้านทุกซอกทุกมุม พยายามหาหลักฐาน ร่องรอยที่ยังหลงเหลืออยู่จากคืนก่อเหตุ ซีรีส์ทำให้เราเห็นว่าทุกอย่างมีขั้นตอน มีกฎหมายครอบทุกการกระทำ ไม่ว่าพวกเขาจะรื้อค้น หรือทำอะไรก็ตาม ล้วนมีการแจ้งกฎแก่ผู้ถูกบุกค้นอย่างละเอียดยิบ
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่ เจมีถูกพาไปสถานีตำรวจ ซึ่งห่างออกจากบ้านไปแค่ 15 นาที ช่วงเวลาสั้น ๆ แต่กล้องก็จับภาพความสั่นกลัวของเด็กชายตัวน้อยคนนี้ได้ทุกอย่าง เจมีได้แต่บอกลาบอก ร่ำไห้กับสิ่งที่เกิดขึ้น พูดซ้ำ ๆ ว่าเขาไม่ได้ทำ ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย
ระหว่างเขาพูดผู้ตรวจการสายสืบก็บอกให้เขาหยุดเป็นระยะ เนื่องจากทุกอย่างล้วนมีผลต่อรูปคดี จากนั้นก็แนะนำเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ให้รู้จัก แนะนำสิทธิ์ให้เด็กชายรับฟังอย่างใจเย็น รวมถึงบอกเขาด้วยว่าหากไม่ต้องการก็สามารถให้พ่อเข้ามาทำหน้าที่ดูแลเขาในระหว่างการตรวจร่างกายได้
แน่นอนว่าเจมีเลือกพ่อในการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์อีกครั้ง สร้างความสงสัยให้ผู้เป็นแม่อย่างมาก เธอถึงกับพูดออกมาว่าทำไมลูกเลือกคุณล่ะ?
นี่คือปริศนาแรกที่ผู้กำกับอย่าง ‘ฟิลิป บารันตินี’ (Philip Barantini) เลือกทิ้งไว้ ทุกนาทีในตอน 1 เจมีเรียกหาแต่พ่อ ช่วงแรกผู้เขียนไม่ได้สงสัยอะไรมากนัก แต่เริ่มเห็นความสับสนในตัวผู้เป็นพ่อว่าทำไมลูกชายถึงให้เขาเป็นผู้พิทักษ์ เมื่อถึงช่วงตรวจสุขภาพ เจ้าหน้าที่ทุกคน (ยกเว้นคนตรวจสุขภาพกับพ่อ) ต่างยืนหันหลังให้เจมี เนื่องจากการถ่ายทำทั้งหมดเป็นแบบลองเทค เราจึงเห็นความน่าอึดอัดแผ่กระจายออกมาจนเต็มห้อง ใบหน้าของพ่อเริ่มตึงเครียดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ชายขออนุญาตตรวจบริเวณองคชาติ เพื่อดูว่ามีร่องรอยการต่อสู้ หรือหลักฐานบางอย่างตกค้างอยู่หรือเปล่า
ในตอนแรกของ Adolescence ทำให้เห็นกระบวนการกฎหมายซึ่งคุ้มครองเยาวชน แม้ตำรวจจะมีหลักฐานแน่นหนาเพียงใด แต่พวกเขายังคงทำตามกระบวนการอยู่ ไม่ปักใจมองว่าเจมีคือคนร้ายแต่แรก (ถึงจะมีคลิปวิดีโอก็ตาม) ความอลหม่านจบลงภายในเวลาหนึ่งชั่วโมงกว่า ๆ ตั้งแต่บุกไปบ้านครอบครัวมิลเลอร์ มาจนถึงขั้นตอนจัดหาทนาย ตรวจร่างกาย และเข้าห้องฝากขัง
อย่างที่เกริ่นไปช่วงแรกว่าผู้กำกับได้ทิ้งปริศนาบางอย่างเกี่ยวกับ ‘พ่อ’ เอาไว้ แต่ละตอนค่อย ๆ คลี่คลายความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกให้เห็นชัด และเหตุผลว่าทำไมเจมีถึงเรียกหาแต่พ่อ แทนที่จะเป็นแม่ เนื้อเรื่องของซีรีส์สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของภาวะความเป็นชายเป็นพิษ ความอันตรายของการยึดแนวคิดชายเป็นใหญ่ กระทั่งลูกชายอย่างเขาถูกสังคมกดทับให้มองว่าผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าเพศอื่นใด โดยเฉพาะเพศหญิง
กลุ่มแนวคิดชายเป็นใหญ่ (Manosphere) เริ่มมีบทบาทในสหราชอาณาจักร และนั่นทำให้ดินแดนแห่งนี้ต้องตกอยู่ในภาวะความหวาดกลัวตลอดเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา เริ่มจากกรณีของ ‘ไคล์ คลิฟฟอร์ด’ (Kyle Clifford) ชายที่ก่อเหตุสะเทือนขวัญโดยใช้ปืนลูกซอง เขาข่มขืนและฆ่า ‘หลุยส์ ฮันท์’ (Louise Hunt) หญิงสาววัย 25 ปีเมื่อปี 2024 หลังจากที่เธอตัดสินใจเลิกรากับเขา ล่าสุดมีรายงานว่า คลิฟฟอร์ดค้นหาพ็อดคาสต์ของ แอนดูว์ แทต* (Andrew Tate) บนอินเทอร์เน็ตเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนจะลงมือสังหารทั้งหลุยส์ (Louise), ฮันน่าห์ (Hannah) น้องสาวของเธอ รวมถึงแครอล (Carol) แม่ของเธอ ภายในบ้านของครอบครัว ซึ่งตั้งอยู่ในย่านฮาร์ทฟอร์ดเชอร์ (Hertfordshire)
*แอนดูว์ แทต เป็นอดีตนักคิกบ็อกเซอร์และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ซึ่งเป็นที่รู้จักจากแนวคิดชายเป็นใหญ่ (misogynistic) และเนื้อหาที่ส่งเสริมความเป็นชายแบบสุดโต่ง (toxic masculinity) เขาเคยถูกแบนจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลายแห่ง เนื่องจากเนื้อหาของเขาส่งเสริมความรุนแรง การกดขี่ทางเพศ และการมองผู้หญิงเป็นวัตถุ
สตีเฟน เกรแฮม นักแสดงผู้รับบทพ่อของมิลเลอร์และผู้ร่วมสร้างซีรีส์เรื่องนี้ เผยว่าเขารู้สึกสะเทือนใจกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอังกฤษ ตั้งแต่เริ่มมีรายงานว่าเด็กชายวัยรุ่นก่อเหตุทำร้ายเด็กหญิงด้วยมีดจนถึงแก่ชีวิต เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาได้แต่ตั้งคำถามว่า
“เกิดอะไรขึ้นกับสังคมของเราที่เรื่องแบบนี้กลายเป็นเรื่องปกติ”
ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้จะพาไปสำรวจเบื้องหลังแนวคิดว่าอะไรหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งลุกขึ้นมาก่ออาชญากรรมร้ายแรง
ภายในเรื่องได้เผยให้เห็นถึง ‘ภาษา’ และ ‘สัญลักษณ์’ ที่เข้าใจกันเพียงในกลุ่มเด็กวัยรุ่น ช่องว่างระหว่างวัยทำให้เห็นว่าเด็ก ๆ มีคำเฉพาะ ทำเอาคนเป็นผู้ใหญ่ถึงกับงงกับสิ่งที่พวกเขาพูด เด็ก ๆ สามารถเข้าใจกันผ่านอิโมจิเม็ดยาสีน้ำเงินและสีแดง ว่าหมายถึงอะไร และทำไมแค่อิโมจิไม่กี่ตัวกลับสื่อความหมายได้อย่างเจ็บปวด
เจมีเองก็เป็นหนึ่งในเหยื่อที่ ‘เคย’ ถูกบูลลี่เช่นกัน แต่เขากลับไม่ยอมให้เพศหญิงมามีอิทธิพลเหนือกว่า เขาเชื่อว่ามีแต่เพศชายเท่านั้นควรแก่การครองโลก และมีสิทธิ์ในการทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้หญิงสยบยอม ซึ่งจะเห็นถึงความเชื่อของเจมีได้ชัดจากตอนที่ 3 หลังจากนักจิตวิทยาถามเกี่ยวกับความเป็นชาย
“เธอคิดยังไงกับผู้หญิง”
“คุณอยากให้ผมตอบจริงเหรอ”
“ถ้าตอบได้น่ะนะ”
“งั้นเธอคิดว่ามันปกติสินะที่เด็กผู้ชายซึ่งชอบเพศตรงข้ามวัย 13 จะสัมผัสหน้าอกหรือบั้นท้ายของเด็กผู้หญิง นอกหรือในร่มผ้าล่ะ”
“ในร่มผ้า... มั้ง”
คำตอบของเจมีทำให้นักจิตวิทยาถึงกับนิ่งเงียบ ก่อนจะถามเรื่องเด็กผู้หญิงที่เสียชีวิต ถามถึงอิโมจิ ว่ามีความหมายอย่างไร เจมีเล่าถึงแนวคิดอินเซล (Incel) หมายถึงกลุ่มชายที่โทษสังคมและผู้หญิงว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้พวกเขาไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศ เขาถูกกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ขังตัวเองอยู่ในห้องนอน ใช้เวลากับคอมพิวเตอร์จนดึกดื่น พ่อแม่ของเขาคิดว่าเขาปลอดภัย แต่แท้จริงแล้ว เขากลับค่อย ๆ ถูกปลูกฝังความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว
แนวคิดอินเซล อ้างว่าในโลกของการออกเดตและความสัมพันธ์ทางเพศ มีความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง โดยใช้หลักการที่เรียกว่า กฎ 80/20 (Pareto Principle) เชื่อว่า
กลุ่มอินเซลนำกฎนี้มาใช้ในบริบทของการออกเดต โดยเชื่อว่าความรักและเพศไม่ได้กระจายตัวอย่างยุติธรรม แต่กลับเอื้อให้ผู้ชายเพียงไม่กี่คนได้รับความสนใจจากผู้หญิงจำนวนมาก ขณะที่ผู้ชายส่วนใหญ่ถูกเมินเฉย
‘วิตถาร’
ในตอนสุดท้ายของซีรีส์ เราจะเห็นถ้อยคำรุนแรงสาดทับไปบนรถตู้ที่ผู้เป็นพ่อใช้ทำมาหากิน และนั่นทำให้เพื่อนบ้านต่างออกมา ‘ใส่ใจ’ กันอย่างล้นหลาม เปลี่ยนวันเกิดแสนพิเศษของผู้เป็นพ่อให้กลายเป็นวันแย่ ๆ แต่พ่ออย่างเขาพยายามอย่างหนักในการซ่อมรอยร้าวทางความสัมพันธ์ในครอบครัว เขาพยายามเป็นหัวหน้า ทำตัวเองให้เข้มแข็ง แต่ถ้อยคำที่เด่นหราอยู่บนรถทำให้เขาหัวเสียไม่หยุด พลอยทำให้ภรรยา และลูกสาวได้แต่ร่ำไห้ออกมา
“เรามาทำวันนี้ให้เป็นวันที่ดีกัน”
ผู้เป็นพ่อพยายามเรียกกำลังใจ ทำให้ภรรยาและลูกสาวกลับมามีรอยยิ้มอีกครั้ง ทุกคนกระโดดขึ้นรถตู้ออกไปห้างสรรพสินค้า เพื่อหาอะไรก็ตามที่สามารถลบคราบตัวอักษรที่น่ารังเกียจทิ้ง และวางแผนต่อไปอีกว่าจะไปดูหนังที่โรง หลังจากไม่ได้เข้ามานานหลายปี
ซึ่งลูกสาวได้เผยภายหลังว่าเธอเองก็เคยเจอเด็กกลุ่มนั้น และเคยถูกใช้ถ้อยคำรุนแรงเช่นกัน แต่นั่นไม่ได้ทำให้เธอโกรธแต่อย่างใด เพราะสุดท้ายครอบครัวก็ยังต้องอยู่ที่นี่ต่อไป
“เราจะไม่ย้ายบ้าน”
“ย้ายไปก็ต้องเริ่มต้นใหม่ เรื่องที่เราหนีมาก็จะตามเราไปอยู่ดี เพราะฉะนั้นหนูไม่เป็นไร หนูจะอยู่ที่นี่”
ครอบครัวมิลเลอร์ทำให้เห็นว่าถึงเรื่องราวจะเลวร้ายแค่ไหน หากพ่อแม่เข้มแข็ง ลูกย่อมเข้มแข็งตามไปด้วย โดยส่วนตัวผู้เขียนชอบตอนที่ 4 มากเป็นพิเศษ ซีรีส์ทำให้เห็นผลกระทบทางจิตใจที่ครอบครัวฆาตกรต้องเผชิญ และแน่นอนว่านี่คือตอนทำให้เห็นว่าคำว่า ‘ครอบครัว’ มีความสำคัญแค่ไหน
“ตอนเด็ก ๆ พ่อฟาดผม ผมจะไม่ทำแบบนั้นกับลูก และผมไม่เคยทำ จริงไหม”
“ผมแค่อยากเป็นพ่อที่ดีกว่า แต่ผมเป็นหรือเปล่า”
“คุณพยายามจะเป็น เราพยายามทั้งคู่”
ความเจ็บปวดของคนเป็นพ่อและแม่ถาโถมเข้ามาในตอนสุดท้าย น้ำตาแห่งความเจ็บปวดหลั่งไม่หยุด พวกเขาพยายามหาเหตุผลว่าอะไรหล่อหลอมให้ลูกชายมีพฤติกรรมเช่นนี้ ทั้ง ๆ ที่อยู่แต่ในห้องนอน จากตอนแรกเขาเฝ้าหาต้นเหตุ สุดท้ายก็ตกตะกอนได้ว่า คนเป็นพ่อแม่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ภายในห้องนอนสี่เหลี่ยม ลูกของพวกเขาจะทำอะไรอยู่ และนั่นทำให้พวกเขาค่อย ๆ ปลดความรู้สึกผิดในใจลงได้ทีละเปราะ
“พ่อขอโทษนะลูกรัก พ่อน่าจะทำได้ดีกว่านี้”
ซีรีส์ Adolescence ทำสถิติยอดผู้ชมสูงถึง 24.3 ล้านครั้งภายใน 4 วันแรก ของการเปิดตัว ซึ่งมากกว่าอันดับสองถึง 4 เท่า นอกจากนี้ ยังกลายเป็น ซีรีส์อันดับหนึ่งบน Netflix ใน 71 ประเทศ แม้ในเรื่องจะไม่ได้พยายามให้คำตอบตายตัวเกี่ยวกับปัญหานี้ แต่มันกระตุ้นให้สังคมหันกลับมามอง บทบาทของครอบครัว เทคโนโลยี และโซเชียลมีเดีย ในการสร้างหรือทำลายชีวิตของเยาวชน ซึ่งไม่ได้เป็นแค่เรื่องราวของฆาตกรคนหนึ่ง แต่มันคือกระจกที่สะท้อนความจริงของโลกที่เราอยู่
เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง
ภาพ : Netflix