‘เอสเปรันซา สปัลดิง’ ชีวิต ศิลปะ และวงโคจรที่เธอเลือกเอง

‘เอสเปรันซา สปัลดิง’ ชีวิต ศิลปะ และวงโคจรที่เธอเลือกเอง

‘เอสเปรันซา สปัลดิง’ ศิลปินที่นิยามตัวเองผ่านเสียงดนตรีมากกว่าแนวเพลง เธอล่องลอยในวงโคจรของตัวเอง สร้างสรรค์งานที่ท้าทายขนบและสะท้อนจิตวิญญาณ

KEY

POINTS

  • เอสเปรันซา สปัลดิง คือศิลปินแจ๊สที่กล้าออกนอกกรอบและไม่ยึดติดแนวเพลง
  • เธอใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงโลก มากกว่าการเป็นเพียงสินค้าบันเทิง
  • โปรเจกต์ Emily’s D+Evolution คือการปลดปล่อยตัวตนใหม่และตั้งคำถามต่อโครงสร้างสังคม

หากจำกันได้ ในค่ำคืนอันวุ่นวายของพิธีประกาศรางวัลแกรมมี่ ปี 2011 ผู้คนจำนวนไม่น้อยแหงนหน้ามองเวทีด้วยสีหน้าตกตะลึง เมื่อชื่อของศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมแห่งปี ไม่ใช่ ‘จัสติน บีเบอร์ (Justin Bieber) แต่คือหญิงสาวผิวสีนามว่า ‘เอสเปรันซา สปัลดิง’ (Esperanza Spalding) ผู้มีดับเบิลเบสอยู่ข้างกาย กับเสียงร้องที่งดงามปานการขับขานบทกวี

บางคนเรียกเธอว่า ‘อัจฉริยะ’ บางคนบอกว่าเธอเป็น ‘ตัวแทนของแจ๊สยุคใหม่’ แต่หากถามตัวเธอ เอสเปรันซาจะตอบเพียงว่า เธอเป็นเพียงคนคนหนึ่งที่รักเสียงเพลง ศรัทธาในพลังดนตรี ที่ไม่ใช่ ‘สินค้าบันเทิง’ แต่ในฐานะ ‘เครื่องมือเปลี่ยนแปลงโลกในระดับจิตวิญญาณ’

“ฉันไม่อยากหมกมุ่นอยู่กับความเป็นไปได้ทางการตลาด” เจ้าตัวเคยบอกไว้ในการให้สัมภาษณ์นิตยสาร DownBeat เมื่อปี 2010

เอสเปรัลซา เล่นดนตรีคลาสสิกตั้งแต่ยังเล็ก เรียนแจ๊สเบสด้วยตนเองตอนวัยรุ่น แล้วก้าวมาเป็นอาจารย์ที่เบิร์กลี (Berklee) ก่อนอายุ 20 ปี และไม่กี่ปีหลังจากนั้น เธอสร้างอัลบั้มที่เปิดตัวด้วยสุ้มเสียงที่แฝง ‘ความลึกลับ’ และเชิญชวนให้คนฟังค้นหา 

เมื่อผู้คนพยายามจำแนกว่า เธอเป็นศิลปินแจ๊ส หรือป๊อป หรืออะไรกันแน่ เธอจะตอบกลับด้วยเสียงหัวเราะเบา ๆ แล้วพูดว่า

“ฉันกำลังลอยอยู่ในวงโคจรของตัวเอง”

จากเด็กหญิงผู้ดู Yo-Yo Ma สู่ดาวฤกษ์ของแจ๊ส

ตอนเป็นเด็กหญิงวัยสี่ขวบ เธอนั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์ แล้วจู่ ๆ ก็พบว่า หัวใจถูกกระทบอย่างรุนแรงจากเสียงเชลโลของชายคนหนึ่ง เขาคือ ‘โย-โย มา’ (Yo-Yo Ma) นักเชลโลระดับแถวหน้าของโลก และรายการที่เปลี่ยนชีวิตเธอในคราวนั้น ก็คือ Mister Rogers' Neighborhood รายการเด็กของ ‘เฟร็ด โรเจอร์ส’ (Fred Rogers) ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน
 

“ฉันจำได้แม่นเลยนะ ตอนที่ดู โย-โย มา เล่นเชลโล ฉันร้องไห้ ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น รู้แค่ว่าฉันอยากทำแบบนั้นให้ได้”

เอสเปรันซา เติบโตมาในย่านคิง ย่านคนหลากชาติพันธุ์ในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน มีแม่เป็นคนหาเลี้ยงดูครอบครัวเป็นหลัก ซึ่งมีทั้งความเข้มแข็งและความคิดที่ก้าวหน้า แม้จะไม่ได้ร่ำรวย แต่เธอไม่เคยขาดแคลนสิ่งที่จำเป็นต่อการเติบโตเป็นมนุษย์ที่รักในเสียงดนตรี

เอสเปรันซา เริ่มเรียนไวโอลินตอนอายุ 5 ขวบ และต่อมามีโอกาสเข้าเป็นสมาชิกวง ‘Chamber Music Society of Oregon’ เมื่อเติบโตขึ้น เธอเริ่มฝึกฝนกีตาร์และเบสไฟฟ้าด้วยตนเอง

“ฉันเรียนรู้ดนตรีเหมือนเรียนภาษาที่สอง แต่เป็นภาษาที่ไม่ต้องใช้คำพูด”

เธอไม่ได้เป็นเด็กอัจฉริยะในนิยามแบบเดิม ๆ คะแนนในโรงเรียนไม่ได้โดดเด่น แต่เธอรู้ชัดว่า ความสามารถของเธออยู่ตรงไหน เธอเข้าเรียนที่ Portland State University ตอนอายุเพียง 16 ปี ก่อนจะได้ทุนไปต่อที่ Berklee College of Music ในนครบอสตัน

ถึงกระนั้น เส้นทางของ เอสเปรันซา สปัลดิง ก็ไม่ได้ราบรื่นนัก เธอเผชิญทั้งปัญหาเรื่องเชื้อชาติ ฐานะ และโครงสร้างของการศึกษาแบบดั้งเดิม แต่สิ่งที่ช่วยเธอไว้เสมอ คือการกลับมา ‘จูนคลื่น’ กับเสียงในใจตนเอง เหมือนการเล่นเบสที่ต้องรู้จัก ‘พัก’ และ ‘เปล่งเสียง’ ในเวลาที่เหมาะสม

ก่อนอายุ 20 ปี เธอเป็นหนึ่งในอาจารย์อายุน้อยที่สุดของสถาบันดนตรีที่มีชื่อเสียง อย่าง Berklee, ก่อนอายุ 30 ปี เธอได้รับรางวัลแกรมมี่ สาขาศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม และก่อนโลกจะทันตั้งคำถามว่า เธอเป็นใคร เธอก็ลอยออกไปนอกวงโคจรของความคาดหวังนั้นเรียบร้อยแล้ว
 

ห้องเรียนที่ไม่มีกรอบ

เสียงเบสของ เอสเปรันซา ไม่เคยร้องขอพื้นที่ แต่ทุกครั้งที่เธอหยิบมันขึ้นมา มันกลับเปลี่ยนบรรยากาศของห้องทั้งห้องโดยไม่ตั้งใจ

ที่ Berklee College of Music สถาบันที่รวมผู้เล่นดนตรีเก่งที่สุดจากทั่วโลก เธอโดดเด่นเกินใคร และไม่นานหลังจากสำเร็จการศึกษา เธอก็ได้รับเชิญให้กลับมาเป็นอาจารย์ที่สถาบันแห่งนี้

“ฉันไม่คิดว่าเด็กคนอื่นๆ จะมองฉันเป็นบุคคลที่น่าเกรงขามหรอกนะ พวกเขาเห็นฉันเหมือนเพื่อนร่วมวงมากกว่า”

เอสเปรันซา ไม่เคยพยายามสวมบทบาท “อาจารย์” แบบดั้งเดิม เธอเชื่อว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดจากการเปิดพื้นที่ให้แก่ความไม่รู้ และการเล่นดนตรีคือการพูดคุย ไม่ใช่การแสดงอำนาจ เธอสอนโดยใช้วิธีตั้งคำถาม มากกว่าการให้คำตอบ พร้อมปล่อยให้นักเรียนค้นหาวิธีตีความเสียงของตัวเอง

ที่ Berklee เธอได้พบกับครูและเพื่อนร่วมทางดนตรีมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ‘โจ โลวาโน’ (Joe Lovano) นักแซ็กโซโฟนแจ๊สระดับตำนาน ผู้ที่กล่าวถึงเธอว่า “(เอสเปรันซา)มีเสียงที่ไม่ใช่แค่เสียงเพลง... แต่มันคือทัศนคติ”

ในขณะที่นักเรียนหลายคนพยายามเล่นให้เหมือนใครบางคน เธอกลับใช้เวลานั้น เพื่อหาวิธี ‘ไม่เหมือนใคร’ ของตนเอง และเธอก็พบมันในความสัมพันธ์ระหว่างเสียงเบสกับเสียงร้อง เสียงที่ไม่เคยแยกจากกันในเธอ

เธอเริ่มมีผลงานอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อัลบั้มแรก ‘Junjo’ (2006) ไปจนถึง ‘Esperanza’ (2008) ที่ทำให้โลกรู้จักเธอในฐานะ ‘ศิลปินแจ๊สหญิงผิวสีที่ไม่ได้เดินตามใคร’ และในขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นเริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงกระแสหลัก เธอกลับเลือกไปเล่นคอนเสิร์ตเล็ก ๆ ในยุโรป ทดลองแนวเพลงที่ไม่มีค่ายใดยินดีจะลงทุน

เธอเลือกเส้นทางที่ไม่ได้สดใสนักในสายตาอุตสาหกรรม แต่ในโลกของเธอ คือทางเดียวที่ ‘เสียง’ จะเดินทางไปถึง ‘หัวใจ’

Chamber Music Society และการทวนกระแสตลาด

ในปี 2010 อุตสาหกรรมเพลงกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเต็มตัว ความยาวเพลงเฉลี่ยสั้นลง ความอดทนของผู้ฟังลดลง และคำว่า ‘ตลาด’ กลายเป็นเข็มทิศของการผลิตทุกขั้นตอน

ในห้วงเวลานั้นเอง เอสเปรันซา กลับเสนออัลบั้มที่มีสุ้มเสียงแตกต่างจากแนวเพลงกระแสหลัก ด้วยเพลงอย่าง ‘Little Fly’ หรือ ‘Knowledge Of Good And Evil’ ไม่ใช่ซิงเกิลโปรโมต ไม่ใช่เพลงที่สื่อวิทยุจะเลือกเปิด แต่เธอเลือกนำเสนอในแนวทางนี้ โดยไม่ลังเล

“ฉันไม่อยากหมกมุ่นกับความเก่งฉกาจทางการตลาด ฉันอยากจะคิดถึงอัลบั้มในฐานะงานศิลปะมากกว่า”

‘Chamber Music Society’ เป็นอัลบั้มที่รวมกลุ่มนักดนตรีสายคลาสสิกและแจ๊สไว้ในวงเดียวกัน โดยใช้คอนเซ็ปต์คล้าย ‘วงดนตรีในห้อง’ (chamber music) สมัยบาโรค แต่แทนที่จะเล่นเพลงบาค (Bach) พวกเขากลับเรียบเรียงเสียงเบส เสียงเปียโน และเสียงร้องของ เอสเปรันซา ให้เดินทางระหว่างโลกของแจ๊ส-บทกวี-ดนตรีร่วมสมัย อย่างไร้รอยต่อ

“นั่นคือดนตรีที่ฉันได้ยินในหัวของฉัน... บางสิ่งที่ใกล้ชิด ไม่เสแสร้ง และมีความดิบ”

ความไม่ธรรมดาของอัลบั้มนี้ ส่งผลให้เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่หลายสาขา และในปีถัดมาเธอก็กลายเป็นศิลปินแจ๊สคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่ได้รับรางวัล Best New Artist จากเวที Grammy Awards

ร่วมจิตวิญญาณกับ Wayne Shorter

ในมุมมองของ เอสเปรันซา สปัลดิง ศิลปินผู้มีอำนาจมากที่สุด ไม่ใช่คนที่เล่นได้เร็วที่สุด หรือร้องได้เสียงสูงที่สุด แต่คือคนที่ฟังได้ลึกที่สุด และไม่มีใครเป็นตัวแทนของคุณสมบัตินั้นได้ดีกว่า ‘เวย์น ชอร์เตอร์’ (Wayne Shorter) นักประพันธ์และนักแซ็กโซโฟนนามอุโฆษ ผู้เป็นหนึ่งในเสาหลักของวงดนตรี Miles Davis Quintet และ Weather Report เขาเป็นเจ้าของประโยคที่ว่า 

“แจ๊สหมายถึงความกล้าที่จะท้าทายคนฟัง”

ในช่วงที่เธอเผชิญความไม่แน่นอนในใจ ตลอดจนแรงกดดันจากอุตสาหกรรม เอสเปรันซา เคยโทรหา เวย์น และได้คุยกับเขานานถึง 45 นาที เนื้อหาของการสนทนา ไม่ใช่คำแนะนำเรื่องอาชีพ ไม่ใช่เทคนิคการเล่นดนตรี แต่คือความหมายของชีวิตในฐานะศิลปินที่มีหัวใจ

“เขาไม่ได้บอกฉันว่าควรทำอะไร… แต่หลังจากวางสาย ฉันรู้เลยว่าฉันอยากจะสร้างอะไรบางอย่างที่เป็นของตัวเองจริง ๆ”

เวย์น ชอร์เตอร์ คือเครื่องเตือนใจให้เธอกลับมามอง ‘ศูนย์กลาง’ ของความตั้งใจอีกครั้ง การที่เธอเลือกเขาเป็น ‘เสาหลักทางจิตวิญญาณ’ ไม่ได้เกิดจากชื่อเสียงหรือเกียรติประวัติ แต่เกิดจากสิ่งที่เธอรับรู้ผ่านเสียงเพลงของเขา เสียงที่เดินไปในทิศทางที่ไม่มีใครคาดเดา แต่กลับพาผู้ฟังไปพบกับสิ่งที่คุ้นเคยที่สุดในใจ

หลังจากบทสนทนาครั้งนั้น เธอกลับมาสร้างผลงานด้วยความศรัทธาใหม่ ไม่ใช่แค่เชื่อในความเก่งของตนเอง แต่เชื่อในความกล้าที่จะไม่รู้ เชื่อในจังหวะที่ ‘เงียบ’ และเชื่อว่าเสียงดนตรีจะพาเราไปในที่ที่จิตใจไปไม่ถึง

เวย์น ชอร์เตอร์ เป็นหนึ่งในศิลปินที่ ‘สงบ’ ท่ามกลางโลกอันวุ่นวาย และนั่นคือคุณสมบัติที่เธอฝึกฝนให้เกิดขึ้นในตัวเอง

“คุณไม่สามารถเล่นดนตรีที่กล้าหาญได้ ถ้าคุณไม่มีความกล้าภายใน”

ความกล้าที่จะออกนอกกรอบ

เอสเปรันซา สปัลดิง ถูกถามเสมอว่า เธอคือศิลปินแจ๊สใช่ไหม? หรือเป็นศิลปินโซล? หรือเป็นแนวทดลอง?

“มันไม่สำคัญเลย… ฉันไม่ได้ทำเพลงเพื่อให้มันเข้า genre (แนว) ไหน” เธอบอก

สิ่งที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้เด่นชัด คือเพลง ‘Little Fly’ ในอัลบั้ม Chamber Music Society (2010) เธอเลือกใช้บทกวีของ ‘วิลเลียม เบลค’ (William Blake 1757-1827) กวีชาวอังกฤษ ผู้เชื่อในพลังของจินตนาการและการต่อต้านโครงสร้างสังคม มาวางบนเสียงดนตรีที่ละเอียดอ่อน ราวกับจะถามคนฟังว่า “ถ้าคุณเชื่อว่าแมลงตัวเล็ก ๆ มีความหมาย คุณจะมองเสียงนี้อย่างไร?” 

เบลค เปรียบ แมลงตัวเล็ก ๆ กับ มนุษย์ ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่เปราะบางและมีจุดจบได้เหมือนกัน แมลงจึงไม่ใช่แค่สิ่งเล็ก ๆ ที่ไร้ความหมาย แต่มันสะท้อน การมีอยู่ อย่างเต็มเปี่ยมในระดับเดียวกับมนุษย์

เอสเปรันซา ‘ละลาย’ เสียงร้องลงในภาคดนตรีที่เรียบเรียงอย่างระมัดระวัง ไม่มีจังหวะโฉ่งฉ่าง ไม่มีการขับเน้นอารมณ์แบบป๊อป มีแต่ความเบา ลอย นิ่ง และความซับซ้อนที่แฝงอยู่ใต้พื้นผิว เธอไม่ต้องการให้ผู้ฟัง ‘เข้าใจ’ ทุกอย่างในทันที เพราะในความคิดของเธอ ดนตรีที่ดีไม่ใช่ดนตรีที่อธิบายได้ แต่คือดนตรีที่ยัง ‘อยู่’ ในใจคนฟัง แม้หลังจากบทเพลงจบลงไปแล้ว

แนวทางการผสมผสานวรรณกรรมกับดนตรี ในแบบที่ไม่พึ่ง hook ไม่ต้องมี chorus ซ้ำ ๆ ไม่ต้องอธิบายว่า หมายถึงอะไร กลายเป็นสัญลักษณ์ของศิลปินหญิง ผู้ไม่ขอรับตำแหน่งในกระแสใด และไม่กลัวที่จะถูกเข้าใจผิด

บางครั้งเธอแสดงสดโดยไม่มีแผนการล่วงหน้า เล่นเพลงเดียวกันในเวอร์ชันที่แตกต่างกันในทุกครั้งที่เล่น เธอทำแบบนั้นเพราะเชื่อว่า ดนตรีคือสิ่งมีชีวิต และไม่มีสิ่งมีชีวิตใดจะเหมือนกันทุกครั้งที่หายใจ

“ทำไมฉันต้องทำเสียงเหมือนเดิมทุกครั้ง ถ้าฉันไม่รู้สึกเหมือนเดิม”

ในยุคที่อัลกอริธึมพยายามจัดระเบียบเสียงให้เข้า playlist ได้ง่ายขึ้น เอสเปรันซา สปัลดิง คือศิลปินที่กล้ายืนยันว่า ความวุ่นวาย ความลื่นไหล และความไร้หมวดหมู่ คือสิ่งที่ทำให้เสียงของเธอ “ยังเป็นมนุษย์”

Emily’s D+Evolution กับการปลดปล่อยตัวตนใหม่

ในปี 2016 โลกดนตรีได้รู้จักใครบางคนที่มีชื่อว่า Emily แต่เธอก็เป็น Esperanza เหมือนกัน

‘Emily’s D+Evolution’ คือชื่ออัลบั้ม และชื่อโปรเจกต์ที่ เอสเปรันซา สปัลดิง ใช้เพื่อบอกเล่าเสียงของตัวตนอีกด้าน ที่เธอเคยเก็บไว้ในมุมลึกที่สุดของจิตใจ ‘Emily’ คือชื่อจริงของเธอ ชื่อที่แทบไม่มีใครรู้มาก่อน เพราะถูกบดบังโดยชื่อกลาง ‘Esperanza’ ซึ่งแปลว่า ‘ความหวัง’ ในภาษาสเปน

การย้อนกลับมาใช้ชื่อ Emily คือการกลับไปฟังเสียงของเด็กหญิงในตัวเองอีกครั้ง
“เอมิลีเป็นวิญญาณ หรือแง่มุมหนึ่ง หรือพลังงานภายในตัวฉันที่ฉันไม่ได้ติดต่อด้วย ตั้งแต่ฉันเป็นเด็ก” เธอเคยขยายความถึง Emily ให้แก่นิตยสารโรลลิงสโตน ในปี 2016 

ในอัลบั้มนี้ เธอเปลี่ยนโฉมใหม่หมดจด จากเสื้อผ้าสไตล์แจ๊สคลาสสิก สู่เสื้อผ้าสีสดในแนว อวองต์-การ์ด (avant-garde) จากเสียงเบสที่เป็นเครื่องมือหลัก กลายเป็นเสียงร้องที่พ่นคำถามจากบทกวีอ่อนหวาน กลายเป็นถ้อยคำคมคายที่แฝงความขม
ปร่า

เธอพูดถึงการศึกษาที่กดทับจินตนาการ การโตเป็นผู้ใหญ่ที่ต้อง “ลดความซ่า” และตั้งคำถามถึงบทบาทของหญิงสาวในระบบอำนาจในเพลง ‘Good Lava’ เธอเปล่งเสียงอย่างเดือดดาล ขณะพูดถึงพลังที่ร้อนระอุอยู่ในตัวคนทุกคนในเพลง

‘Unconditional Love’ เธอใช้โทนเสียงประชดประชัน เพื่อสะท้อนการแสวงหารักแท้ที่ไม่มีเงื่อนไข ในโลกที่มีแต่ “เงื่อนไขเต็มไปหมด”

“นี่ไม่ใช่อัลบั้มแจ๊ส ไม่ใช่แม้แต่อัลบั้มของเอสเปรันซา มันเป็นของเอมิลี”

ถึงกระนั้น เธอก็ไม่ได้ทิ้งรากแจ๊ส เพียงแต่นำมันไปสู่บริบทใหม่ที่ซับซ้อน โลดโผน และขัดแย้งมากขึ้น แจ๊สในอัลบั้มนี้ซ้อนลึกอยู่ในทุกจังหวะ ทุกการเปลี่ยนคอร์ด ทุกประโยคเนื้อร้องที่คาดเดาไม่ได้ และทุกท่าทางการแสดงสดที่คล้ายการเต้น บทละคร และพิธีกรรมในเวลาเดียวกัน

อัลบั้ม Emily’s D+Evolution ไม่ได้ขายดีเป็นปรากฏการณ์ แต่เป็นปรากฏการณ์ทางความคิดของศิลปินหญิงรุ่นใหม่ ที่กล้าจะบอกว่า เธอมีมากกว่าหนึ่งเสียง มากกว่าหนึ่งบุคลิก และไม่จำเป็นต้องเลือกเพียงอย่างเดียว

บางที ‘การวิวัฒน์แบบติดลบ’ (D+Evolution) อย่างที่เธอตั้งชื่อ อาจหมายถึง การเดินถอยหลังกลับไปสู่สิ่งที่บริสุทธิ์ที่สุด ก่อนที่โลกจะปั้นเธอให้กลายเป็นสิ่งที่เธอไม่อยากเป็น

เสียงในจักรวาลส่วนตัว

หาก Emily’s D+Evolution คือการเดินทางย้อนกลับไปสู่ตัวตนในวัยเยาว์ที่ถูกซ่อนอยู่ ‘12 Little Spells’ ก็คือการดำดิ่งเข้าไปในความรู้สึกลึกที่สุดของร่างกาย

อัลบั้มนี้ไม่ได้ถือกำเนิดจากแรงบันดาลใจทางดนตรีโดยตรง แต่เกิดจากช่วงเวลาที่ เอสเปรันซา ไปเรียนรู้ศาสตร์ของการบำบัดร่างกายด้วยพลังงาน (energy healing) และได้ตระหนักว่า “แต่ละส่วนของร่างกายเรากำลังพูดอยู่เสมอ เพียงแต่เราฟังไม่ออก”

เธอจึงเริ่มทดลองตั้งสมมติฐานว่า ถ้าอวัยวะต่าง ๆ มีภาษาของตัวเอง พวกมันจะพูดอย่างไร? และถ้าเธอแต่งเพลงให้กระดูกไหปลาร้า ลิ้นไก่ หรือกระดูกสันหลัง… มันจะฟังออกมาแบบไหน?

“แต่ละมนตร์คือความพยายามที่จะกระตุ้นส่วนเฉพาะของร่างกาย... หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นคือ จิตสำนึกที่ไหลผ่านส่วนนั้น”

เธอแต่งเพลงทั้งหมด 12 เพลง โดยแต่ละเพลงเชื่อมโยงกับอวัยวะหนึ่งชิ้นในร่างกาย

ตัวอย่างเช่น เพลง ‘12 Little Spells’ เชื่อมโยงกับ กระดูกสันหลัง (Thoracic Spine), เพลง ‘You Have To Dance’ เชื่อมโยงกับ ปลายนิ้วเท้า (Feet) หรือจะเป็นเพลง ‘The Longing Deep Down’ เชื่อมโยงกับ ช่องท้องส่วนลึก (Abdominal Portal)

ในแต่ละเพลง เธอไม่เพียงใช้เสียงร้องและดนตรีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแสดงสดที่เป็นเหมือน ‘พิธีกรรม’ ด้วยเสื้อผ้า การเคลื่อนไหว และการใช้แสงสีที่สอดคล้องกับพลังงานของอวัยวะนั้น ๆ มันคือ performance art คือ music therapy และคือ จักรวาลส่วนตัวของ Esperanza Spalding อย่างแท้จริง

“ฉันคิดว่านี่คืองานที่เป็นส่วนตัวที่สุดที่ฉันเคยทำ ไม่ใช่เพราะว่ามันเกี่ยวกับ ‘ตัวฉัน’ แต่เพราะมันเกี่ยวกับการรับฟังร่างกายของฉันเอง จนกว่ามันจะพูดกับฉันได้”

อัลบั้ม 12 ‘Little Spells’ ได้รับรางวัล Grammy สาขา Best Jazz Vocal Album ในปี 2020

เสียงที่ยังไม่สิ้นคำถาม

ตลอดเวลากว่า 15 ปีบนเส้นทางดนตรี เอสเปรันซา สปัลดิง ไม่เคยทำอัลบั้มซ้ำเดิม ไม่เคยพอใจกับคำจำกัดความเดิม 

จาก Chamber Music Society ที่กล้าปฏิเสธตลาด ถึง Emily’s D+Evolution ที่ประกาศตัวตนใหม่ จาก 12 Little Spells ที่ฟังเหมือนบทสวดบำบัดร่างกาย ถึง Songwrights Apothecary Lab ที่หลอมรวมดนตรีเข้ากับศาสตร์การเยียวยา

ทั้งหมดนี้ เพื่อพิสูจน์ว่าศิลปินไม่จำเป็นต้อง “รักษาความสำเร็จ” แต่ควร “รักษาความซื่อสัตย์ต่อเสียงภายใน” 

ปัจจุบัน เธอมีงานสอนหนังสือที่ Harvard และยังเจียดเวลาว่างไปร่วมงานกับศิลปินอาวุโสชาวบราซิล อย่าง ‘มิลตัน นาสซิเมนโต’ (Milton Nascimento) บนเส้นทางสายดนตรี เธอไม่ก้าวเดินแบบสูตรสำเร็จ แต่เลือกสร้างเสียงในแบบฉบับของตัวเอง

ชีวิตของเธอ คือการทดลองระยะยาวที่ยังไม่สิ้นสุด คือการเดินทางต่อเนื่อง ระหว่างดนตรี วรรณกรรม ศาสตร์การเยียวยา และอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงความกล้าที่จะเลือกวิถีโคจรของตนเอง

 

เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์
ภาพ: Getty Images 

ที่มา:
- “Esperanza Spalding.” Achievement.org, American Academy of Achievement, https://achievement.org/achiever/esperanza-spalding/.
- “Esperanza Spalding Faculty Profile.” Berklee College of Music, https://college.berklee.edu/people/esperanza-spalding
- “Esperanza Spalding: In Full Orbit.” DownBeat, Aug. 2010, https://downbeat.com/archives/detail/esperanza-spalding-in-full-orbit
- “Esperanza Spalding on Her Alter Ego Emily: ‘She’s the One Who Has Ideas.’” Rolling Stone, 4 Mar. 2016, https://www.rollingstone.com/music/music-features/esperanza-spalding-on-her-alter-ego-emily-shes-the-one-who-has-ideas-191098/
- “Esperanza Spalding Thinks Music Can Heal.” The New York Times, 26 Apr. 2019, https://www.nytimes.com/2019/04/26/arts/music/esperanza-spalding-12-little-spells.html
- “Esperanza Spalding: Tiny Desk Concert.” NPR Music, 26 Mar. 2012, https://www.npr.org/2012/03/26/149374552/esperanza-spalding-tiny-desk-concert.
- Spalding, Esperanza. 12 Little Spells. Concord Records, 2018. Liner Notes.
- “Esperanza Spalding.” Wikipedia, Wikimedia Foundation, https://en.wikipedia.org/wiki/Esperanza_Spalding

#Music #EsperanzaSpalding #Berklee #ดนตรี #เอสเปรันซาสปัลดิง