29 เม.ย. 2568 | 11:00 น.
เสียงร้องที่หนาแน่นและเปี่ยมพลัง พร้อมหมัดขวาที่กำแน่นชูเหนือหัวกลางเวที — ท่าทีที่ทั้งดุดันและเปี่ยมพลังในคราวเดียวกันกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของ ‘อำพล ลำพูน’ หรือ ‘หนุ่ย’ แห่งวง ‘ไมโคร’ หนึ่งในศิลปินร็อกคนสำคัญของแวดวงดนตรีประเทศไทยแห่งยุค 80s ถึง 90s ไม่เพียงเท่านั้น เพราะภาพจำดังกล่าวก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของ ‘อิสรภาพ’ ที่ก้องกังวาลอยู่ในหัวใจคนรุ่นหนึ่ง
หากจะต้องหยิบยกชื่อของศิลปินสักคนที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในช่วงเวลาในอดีต เชื่อว่าชื่อของ ‘หนุ่ย อำพล’ ย่อมปรากฎขึ้นในความคิดของใครหลายคนอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะไม่เพียงตัวเขาได้ฝากอิทธิพลทางดนตรีไว้กับวงร็อกในตำนานอย่าง ‘ไมโคร’ กับเพลง เติมน้ำมัน, เอาไปเลย หรือ บอกมาคำเดียว แต่เมื่อขยับมาในยุคที่ฉายเดี่ยว อำพลก็ยังส่งบทเพลงมากมายจารึกไว้ในความทรงจำของผู้ฟังเฉกเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็น ม้าเหล็ก, ไว้ใจ หรือ แผลในใจ
ในยุคสมัยนี้เราได้เห็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานเพลง ขยับมาทดลองฝากผลงานผ่านการแสดงในภาพยนตร์หลายเรื่อง แต่ย้อนกลับไปในอดีต หนุ่ย อำพล ก็ถือเป็นศิลปินประเภทเดียวกันนี้ ที่ทำให้ผู้คนจดจำทั้งบทบาทการร้องเพลงและการแสดงได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในภาพยนตร์เรื่อง วัยระเริง (2527) และ น้ำพุ (2527) ที่ไม่เพียงส่งให้เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ยังพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถทางการแสดงที่เข้าถึงอารมณ์อย่างลึกซึ้ง
ในบทความนี้ เล่าจะเล่าถึงเรื่องราว ชีวิต และผลงานของ อำพล ลำพูน ตำนานร็อกมือขวา ผู้ได้สร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่จดจำของวงการดนตรี ภาพยนตร์ และที่สำคัญที่สุด หัวใจของผู้ชมผู้ฟังประเทศไทย ตั้งแต่วันที่เขาก้าวขาเข้าไปแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกจนถึงวันที่ชื่อของเขากำลังกลับมาอีกครั้งกับคอนเสิร์ตเดี่ยวที่เดือดที่สุดในรอบ 30 ปี
หากเสียงร้องและหมัดขวากลายเป็นสัญลักษณ์ของอำพล ลำพูนบนเวทีดนตรี ในอีกมุมหนึ่ง เส้นทางชีวิตของเขาก่อนจะก้าวขึ้นสู่แสงสปอตไลต์ ก็คือเรื่องราวของเด็กชายธรรมดาจากอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ผู้มีโลกเงียบ ๆ เป็นเพื่อน และไฟฝันบางอย่างที่ยังรอวันถูกจุดประกาย
เด็กหนุ่มที่เติบโตมาในช่วงเวลาที่โอกาสไม่ได้ไหลมาอย่างง่ายดาย ใช้ชีวิตเรียบง่าย เรียนรู้การเติบโตในแบบที่ไม่มีใครคาดคิดว่า วันหนึ่ง เขาจะกลายเป็นตัวแทนของวัยรุ่นทั้งรุ่น — ทั้งในโลกของภาพยนตร์ และในจังหวะร็อกที่สะท้อนจิตวิญญาณเสรี
เสียงดนตรีเข้ามาในชีวิตของอำพลตั้งแต่ยังมีตู้หยอดเหรียญ 1 บาท เพื่อฟังเพลงที่เลือก และเหล่าบรรดาผลงานที่ตัวของเขาหยอดบ่อยที่สุดก็ล้วนเป็นบทเพลงร็อกของเหล่าวงในตำนานอย่าง Deep Purple, The Doors หรือ Scorpions บทเพลงที่เขาได้ฟังตั้งแต่วันนั้นก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สะสมให้เกิดความกระหายในการเล่นดนตรีขึ้นมาบ้าง
ฃจึงเป็นเหตุให้วง ‘The Crab’ ที่แปลว่า ‘ปู’ ถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่ตัวของเขากำลังเรียนอยู่ โดยมีเพื่อนอีกสองคน — ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘อ้วน’ มือกีตาร์ที่ในอนาคตจะเดินหน้าสร้างสรรค์ผลงานด้วยกันในนาม ‘ไมโคร’ — ร่วมขบวนบรรเลงเพลงโฟล์คร่วมกัน ซึ่งวงดนตรีแรกของพวกเขานี้ก็ดำเนินไปจนกระทั่งเหล่าสมาชิกต้องไปเรียนต่อในระดับปวช. ที่กรุงเทพมหานคร เส้นทางของ The Crab จึงยุติลง
แต่เมื่อหนึ่งสิ่งได้หยุดไป อีกหนึ่งเส้นทางก็เกิดขึ้นใหม่ เมื่ออำพลเข้ามากรุงเทพฯ ตัวเขาและอ้วน รวมไปถึงเพื่อนจากระยองอย่าง ‘ปู - อดิสัย นกเทศ’ และ ‘อ๊อด - อดินันท์ นกเทศ’ — เดิมทั้งสองได้ตั้งวงในนาม ‘The Toffee’ เคียงคู่มากับ The Crab ของหนุ่ยและอ้วน — ที่มีห้องซ้อมในกรุงเทพฯ ก็ได้มาพบเจอและอยู่ด้วยกันบ่อยขึ้น เพื่อที่จะซ้อมดนตรีร่วมกัน ก่อนที่วันหนึ่งจะมีสายโทรศัพท์ติดต่อมาทางปูว่า ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งกำลังมองหานักดนตรีร็อกไปนำแสดงในภาพยนตร์เรื่องใหม่
ภายหลังจากที่หนุ่ยได้เข้าพบกับทีมสร้างภาพยนตร์ เขาก็ได้รับบทพระเอกของเรื่องในทันที พร้อมกับสมาชิกวงไมโครคนอื่น ๆ ที่มีโอกาสร่วมแสดงในภาพยนตร์ด้วยกัน ผลงานเรื่องนั้นก็คือ ‘วัยระเริง’ ภาพยนตร์จากค่ายไฟว์สตาร์ที่กำกับโดยผู้กำกับชั้นครู ‘เปี๊ยก โปสเตอร์’ และนับเป็นทั้งผลงานการแสดงเรื่องแรกที่สร้างชื่อให้กับ ‘อำพล ลำพูน’ และเป็นอีกจุดเริ่มต้นสำคัญของวง ‘ไมโคร’ บนเส้นทางวงการบันเทิงไทย
วัยระเริง กลายเป็นหนังที่ผสมผสานความเป็น ‘วัยรุ่น’ เข้ากับ ‘ดนตรี’ โดยเฉพาะดนตรีในช่วงทศวรรษที่ 1980 ได้อย่างลงตัว ทั้งข้อคิดและปรัชญาจากเรื่องไปจนถึงดนตรีประกอบที่ไพเราะที่มีวงอย่าง ‘Butterfly’ อยู่เบื้องหลัง จึงไม่แปลกที่จะกลายเป็นที่จดจำอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ อำพล ได้เล่นคู่กับ ‘วรรษมน วัฒโรดม’ คู่พระ-นาง ที่จะประกบคู่กันอีกในเรื่องถัดไป
.
หลังจาก วัยระเริง ประสบความสำเร็จและทำให้ชื่อของเขาเริ่มเป็นที่รู้จัก อำพล ลำพูน ก็ได้รับโอกาสครั้งสำคัญอีกครั้ง กับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง ‘น้ำพุ’ ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากชีวิตจริงของ ‘น้ำพุ’ เด็กหนุ่มผู้เติบโตท่ามกลางความบกพร่องทางครอบครัว และการไขว่คว้าหาเส้นทางของตัวเองในโลกที่โหดร้าย ที่กำกับภาพยนตร์โดย ‘ยุทธนา มุกดาสนิท’
‘น้ำพุ’ ถือเป็นบทบาทที่ท้าทายกว่าที่เคย เพราะต้องถ่ายทอดทั้งความเปราะบาง ความแหลกสลาย และความหวังอันริบหรี่ของตัวละคร ผ่านการแสดงที่ต้องอาศัยทั้งอารมณ์ดิบและความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในจิตใจของตัวละคร อำพลสามารถทำได้อย่างยอดเยี่ยมจน น้ำพุ กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับคำชื่นชมอย่างสูง และทำให้เขาคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเวทีตุ๊กตาทอง สาขาดารานำชายยอดเยี่ยมจาก ภาพยนตร์เรื่องน้ำพุไปครองในปีเดียวกัน
ถือเป็นการปักหมุดชื่อ ‘อำพล ลำพูน’ ไว้ในวงการบันเทิงไทยอย่างเต็มภาคภูมิ
อำพลได้มีโอกาสพบเจอกับศิลปินชื่อดังในแวดวงดนตรีร็อกไทย ณ ขณะนั้นมากมายหลายคน ตั้งแต่ในสมัยวัยระเริงที่ได้มีกลุ่มศิลปินจากวง Butterfly มาสร้างสรรค์ดนตรีประกอบ มาจนถึงน้ำพุที่ได้มีโอกาสร่วมแสดงกับ ‘เต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์’ บุคคลที่อำพลยกย่องว่ามีอิทธิพลและมีความสำคัญต่อวงไมโครและตัวเขาอย่างมาก
“มึงต้องเลือก ทางใดทางหนึ่ง”
คือคำแนะนำของ ‘พี่เต๋อ’ เมื่ออำพลตัดสินใจไปพบเพื่อปรึกษาหารือและบอกว่าอยากจะมีอัลบั้มเพลงร็อกไทยเป็ยของตัวเอง ทว่าในช่วงเวลานั้น ภาพจำของผู้คนที่มีต่ออำพลก็จะเด่นไปในทางนักแสดงจากภาพยนตร์เรื่องเด่นที่ผ่านมาทั้งสองเรื่องเสียมากกว่า จึงเป็นเหตุที่ทำให้ตัวของเขาต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะชูมือซ้ายตัดสินใจไล่ล่าฝันในจอเงิน หรือชูมือขวาเพื่อดับเครื่องชนในฐานะ ‘ไมโคร’
และแน่นอนว่า ‘มือขวา’ คือสิ่งที่ หนุ่ย อำพล ตัดสินใจเลือกเดิน
ภายหลังจากการตัดสินใจเลือกเส้นทางสายดนตรี อำพล ลำพูน ก็ได้จับมือกับเพื่อน ๆ นักดนตรีที่รู้จักกันมายาวนาน ตั้งแต่วง The Crab และ The Toffee เพื่อก่อตั้งวงร็อกวงใหม่ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำเพลงร็อกสัญชาติไทยที่มีพลังดิบและเข้าถึงใจผู้ฟัง ไมโครจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1980s
ในช่วงเริ่มต้น ไมโครประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มแรกที่มีอำพลรับหน้าที่ร้องนำ และเพื่อนนักดนตรีที่ร่วมฝ่าฟันกันมาตั้งแต่สมัยซ้อมดนตรีในห้องเล็ก ๆ ด้วยกัน ด้วยการผสมผสานระหว่างฝีมือทางดนตรีที่จริงจัง พลังทางการแสดงที่เต็มเวที และเพลงที่พูดถึงชีวิตจริงของคนรุ่นใหม่ ไมโครเริ่มก้าวแรกในวงการดนตรีด้วยความมุ่งหวังที่จะพิสูจน์ตัวเองบนเส้นทางของเสียดนตรี
ไมโครเริ่มต้นก้าวแรกบนเส้นทางดนตรีด้วยอัลบั้ม ‘ร็อก เล็ก เล็ก’ ที่ปล่อยออกมาในช่วงปลายปี 2529 อัลบั้มนี้กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ให้วงการเพลงไทย ด้วยการผสานเสียงร็อกที่เข้าถึงง่ายกับเรื่องราวชีวิตของคนธรรมดา ผ่านเพลงดังอย่าง รักปอนปอน, อยากจะบอกใครสักคน และ สมน้ำหน้า...ซ่าส์นัก ทำให้ชื่อของไมโครเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และช่วยจุดประกายให้กระแสร็อกไทยได้รับความนิยมมากขึ้น
.
ความสำเร็จจากอัลบั้มแรกได้พาไมโครก้าวต่อสู่ผลงานชุดที่สอง ‘หมื่นฟาเรนไฮต์’ ในปี 2531 ซึ่งกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของวง ทั้งยอดขายที่ทะลุเป้า และเพลงฮิตที่ถูกกล่าวขวัญถึงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เอาไปเลย, หมื่นฟาเรนไฮต์, บอกมาคำเดียว, และ ใจโทรม ๆ จนทำให้ไมโครก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในวงร็อกแถวหน้าของประเทศอย่างเต็มภาคภูมิ
ต่อมาในปี 2532 ไมโครสานต่อความสำเร็จด้วยอัลบั้ม ‘เต็มถัง’ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและอารมณ์อันเข้มข้น ถ่ายทอดผ่านเพลงอย่าง ส้มหล่น, ดับเครื่องชน, ถึงเพื่อนเรา และ เติมน้ำมัน ซึ่งล้วนตอกย้ำตัวตนของไมโครในฐานะวงร็อกที่ไม่เคยลดทอนความหนักแน่นและความจริงใจในการเล่าเรื่องราวของชีวิต
สามอัลบั้มแรกของไมโครไม่เพียงแต่สร้างชื่อให้กับวงในระดับประเทศ แต่ยังทำให้ อำพล ลำพูน หรือ กลายเป็นภาพจำของ ‘เสียงแห่งยุค’ ที่ทั้งดิบ พุ่งพลัง และเปี่ยมด้วยเสน่ห์เฉพาะตัว ทว่าในอัลบั้มที่สามนี้เองที่ภายในวงไมโครเกิดรอยร้าวและความขัดแย้งขึ้น แต่สุดท้ายก็เข้าห้องอัดและส่งผลงานให้กับผู้ชมได้ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อการเดินสายอัลบั้มใหม่ล่าสุดนี้เสร็จสิ้นลง อำพล ลำพูน ก็ตัดสินใจที่จะแยกทางกับไมโคร
แม้เส้นทางในช่วงแรกของไมโครจะจบลงด้วยการแยกย้ายกันไปเดินบนถนนสายใหม่ แต่ความผูกพันที่สั่งสมมาจากวันวานก็ไม่เคยจางหายไปจริง ๆ เมื่อเวลาผ่านไป หลายปีหลังจากการแยกทาง อำพล ลำพูน และสมาชิกวงไมโครได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในคอนเสิร์ต ‘The Last ร็อก เล็ก เล็ก’ ที่ถือเป็นคอนเสิร์ตแห่งการหวนคืน ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองและขอบคุณแฟนเพลงที่เคียงข้างกันมาตลอดเส้นทาง
ในค่ำคืนพิเศษนั้น ไมโครในไลน์อัพดั้งเดิมได้ขึ้นเวทีอีกครั้ง ท่ามกลางเสียงร้องตาม เพลงฮิตตลอดกาล และอ้อมกอดแห่งมิตรภาพที่ไม่เคยเสื่อมคลาย คอนเสิร์ตนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การปิดฉากวงร็อกระดับตำนานอย่างสมบูรณ์แบบเท่านั้น หากยังเป็นการยืนยันอีกครั้งว่า เรื่องราวของไมโครจะยังคงถูกบันทึกไว้ในความทรงจำของแฟนเพลงตลอดไป
[ อ่านบทความได้ที่ลิงก์นี้ ‘40 ปีของ ‘ไมโคร’ ที่สะท้านวงการ จากโอกาสได้เล่นหนัง กับวาระอำลา ‘ร็อก เล็ก เล็ก’’ ]
หลังจากแยกทางกับไมโครในปี 2534 อำพลก็เลือกที่จะไม่หันหลังให้กับเส้นทางดนตรี หากแต่เปลี่ยนบทบาทตัวเองจากนักร้องนำของวง มาเป็นศิลปินเดี่ยวที่ถือธงของตัวเองอย่างเต็มตัว ด้วยแนวทางที่ยังคงเอกลักษณ์ของเสียงที่แข็งแรง ดิบ และเปี่ยมพลังเอาไว้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง
อัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของเขาในชื่อ ‘วัตถุไวไฟ’ ซึ่งปล่อยออกมาในปี 2535 คือการประกาศตัวตนอย่างชัดเจนว่า อำพล ลำพูน ไม่ได้เป็นเพียงแค่ฟันเฟืองของวง แต่สามารถยืนหยัดได้ด้วยพลังและเสียงของตัวเอง ผลงานจากอัลบั้มนี้ เช่น วัตถุไวไฟ, ลางร้าย, และแผลในใจ ต่างครองใจผู้ฟังด้วยเนื้อหาที่ซื่อตรงและอารมณ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ปี 2537 อำพลสานต่อความสำเร็จด้วยอัลบั้ม ‘ม้าเหล็ก’ ที่ขยับพลังร็อกให้เดือดพล่านยิ่งขึ้น ผ่านเพลงอย่าง ม้าเหล็ก ที่ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของความดุดันในเส้นทางสายดนตรีของเขา
ต่อมาในปี 2538 อำพลปล่อยอัลบั้ม ‘อำพลเมืองดี’ ที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของตัวเขา ผ่านบทเพลงอย่าง ฝากรอยเท้า ตอก และถอยกันเป็นแถบ ทั้งหมดล้วนเป็นผลงานที่สะท้อนทั้งความหวัง ความเจ็บปวด และภาพของชีวิตในสังคม
ตลอดเส้นทางกว่าสามทศวรรษ อำพล ลำพูน ยังคงยืนหยัดในเสียงของตัวเอง และวันนี้ ตำนานมือขวาคนเดิมกำลังจะกลับมาจุดไฟอีกครั้ง ใน ‘ไทยประกันชีวิต presents อำพล ON FIRE CONCERT’ คอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี วันที่ 21 และ 22 มิถุนายน 2568 ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี สามารถซื้อบัตรได้แล้วที่ Thaiticketmajor
ค่ำคืนที่บทเพลงจากทั้งยุคไมโครและเส้นทางเดี่ยวจะดังขึ้นอีกครั้ง เพื่อปลุกความทรงจำและไฟในหัวใจของแฟนเพลงทุกคน
บนเส้นทางที่ทอดยาวจากไมโครสู่ศิลปินเดี่ยว อำพล ลำพูน ไม่เคยลดน้ำหนักของตัวตนลงแม้แต่น้อย ไม่ว่าในวันที่เขาตะโกนออกมาผ่านเสียงร็อกที่เดือดพล่าน หรือวันที่เขาแอบซ่อนความเปราะบางไว้ในถ้อยคำเรียบง่าย ทุกบทเพลงจาก วัตถุไวไฟ, ม้าเหล็ก, จนถึง อำพลเมืองดี ต่างล้วนเป็นเสี้ยวหนึ่งของการเดินทางที่หลอมรวมกันเป็นตำนานมือขวาที่เรารู้จักเขาในนาม ‘หนุ่ย อำพล’
ภาพ GMM Show
อ้างอิง
https://www.thepeople.co/culture/music/51652
https://www.blockdit.com/posts/64b9578aec2e95e92ce0ad4c
https://men.kapook.com/view45307.html
https://www.komchadluek.net/entertainment/163791
https://www.sanook.com/music/77721/
https://www.thaiticketmajor.com/concert/ampon-on-fire-concert.html