บทบรรณาธิการ #2 “คนไร้บ้าน” ที่ฟิลิปปินส์

บทบรรณาธิการ #2 “คนไร้บ้าน” ที่ฟิลิปปินส์

บทบรรณาธิการ #2 “คนไร้บ้าน” ที่ฟิลิปปินส์

“แรกๆ เมียเขาบอกผมว่า แม่ของนกนกเป็นชาวแอฟริกันอเมริกันที่มาทำงานในฟิลิปปินส์ นั่นทำให้เขาได้เชื้อผิวสีมา แต่ครั้นผมคุยกับนกนกจริงๆ เขาบอกว่าเป็นรุ่นยายของเขาที่เป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน ส่วนรุ่นพ่อแม่เขา ก็กลืนเป็นครอบครัวฟิลิปปินส์แล้ว ฐานะทางบ้านไม่เลว เขาเคยเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย แต่ยอมรับว่า เขาใช้ยา เคยขโมยของเพื่อน ทำให้ติดคุกและเรียนไม่จบ ถามว่า เขามีปมอะไร เขาบอกว่า เขาไม่ชอบพ่อของเขา พ่อเคยตีเขาแรงมาก ทำให้เขาไม่อยากอยู่บ้าน เกเร ใช้ยา เมื่อถูกพ่อให้ออกจากบ้าน เขาก็ถือทิฐิว่า จะไม่กลับบ้านอีกเด็ดขาด...” หลังจากที่ผมอ่านหนังสือ “สายสตรีท: มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา” คุณบุญเลิศ วิเศษปรีชา จบเล่มแล้ว ผมนึกถึงเย็นวันหนึ่งเมื่อสองเดือนก่อนที่ผมได้ไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะริซัล กลางกรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ แล้วจู่ ๆ ฝนก็ตกหนักจนผมต้องวิ่งไปหลบฝนอยู่ใต้ชายคาห้องน้ำเล็ก ๆ ในสวนนี้ ขนาดผมยังอึดอัดกับฝนตกหนักอยู่เกือบชั่วโมง ไม่อยากคิดเลยว่า “คนไร้บ้าน” ที่อยู่ที่นั่น ในคืนวันที่หนักหน่วงด้วยพายุฝน เขาจะอยู่กันแบบไหน...   เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือ “โลกของคนไร้บ้าน” ของคุณบุญเลิศ วิเศษปรีชา แล้วชื่นชอบมากระดับติดลิสต์หนังสือ nonfiction ในดวงใจ มันคือการศึกษา “คนไร้บ้าน” ในกรุงเทพฯ ด้วยการเอาตัวเองลงไปเป็นคนไร้บ้านจริง ๆ อยู่เป็นปีจนได้หนังสือเล่มนั้นขึ้นมา (ที่จริงต้นธารของหนังสือเล่มนี้คือวิทยานิพนธ์ของผู้เขียน ที่ถูกปรับมาเป็นหนังสือเล่มดังกล่าว) คุณูปการสำคัญอย่างหนึ่งของหนังสือเล่มนั้นสำหรับผม คือการทำความเข้าใจชีวิตของคนไร้บ้านมากขึ้น ว่าส่วนหนึ่งของปัญหาคนไร้บ้านมันสัมพันธ์กับโครงสร้างในเรื่องการเข้าถึงทรัพยากรในสังคมนี้มันไม่เท่าเทียมกัน มันไม่ใช่เรื่อง “ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน” ตามวิธีคิดแบบพรรครีพับลิกันของอเมริกัน เพราะโครงสร้างที่มีการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม มีแต้มต่อระหว่างคนรวยกับคนจนแต่แรก บางทีขยันยังไงก็ใช่ว่าชีวิตจะสบายเสมอไป หนังสือเล่มนี้เล่าว่า คนไร้บ้านในสังคมไทยมีหลายแบบมาก ตั้งแต่คนไร้บ้านที่หากินแบบสุจริตแบบรับจ้างหรือเก็บขยะ ไปจนถึงคนไร้บ้านแบบ “คนชนตังค์” ที่แบมือขอตังค์คนดื้อๆ ก็มี ที่อ่านมาจำได้ว่า คนไร้บ้านที่แบมือขอเงินดื้อๆ ไปจนถึงมิจฉาชีพหรือค้ายา มักจะถูกคนไร้บ้านที่เป็นสุจริตชนหาเช้ากินค่ำตั้งข้อรังเกียจเพราะทำให้พวกเขาเสื่อมเสีย ความเข้าใจในเรื่องคนไร้บ้านในแง่มุมแบบนี้ จึงทำให้ผมมองพวกเขาด้วยความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น คือก็ยอมรับว่าเมื่อก่อนเราก็เกรง ๆ คนไร้บ้านบางกลุ่มเวลาเดิน ๆ บนถนนอยู่ แต่เวลาต่อมา หลังจากที่เรามองโลกได้กว้างขึ้น ซึ่งมันเปิดให้ใจเรากว้างขึ้นเช่นกัน ผมรู้สึกเห็นใจและคิดตั้งคำถามกับความไม่เท่าเทียมของประเทศนี้อยู่ตลอดที่พบเห็นพวกเขา   จนมาถึงหนังสือ “สายสตรีท” คราวนี้เหมือนภาคต่อของ “คนไร้บ้าน” บุญเลิศพาเราไปสำรวจคนไร้บ้านในเชิงมานุษยวิทยาที่มะนิลา ฟิลลิปปินส์ เป็นวิทยานิพนธ์ของเขาในช่วงที่เรียนอยู่วิสคอนซิน โดยการเข้าไปอยู่กินแบบคนไร้บ้านอยู่ 2 เดือน ในปี 2554 และ 14 เดือนในช่วงปี 2556-2557 หนังสือเล่มนี้เลยเป็นเหมือนการรวบรวมเรื่องเล่าของผู้คนที่ไร้บ้านที่มะนิลา ฟิลิปปินส์ - อีกประเทศหนึ่งที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน คนตกงาน รัฐสวัสดิการย่ำแย่ ผู้เขียนแบ่งเรื่องราวแต่ละตอนเป็นตามชื่อคนได้น่าสนใจมาก อย่างเช่น ตอน โรเดล บาร์ตโตเรเม เอ็ดการ์ ฯลฯ มีการเล่าเรื่องอย่างมีสีสัน (ที่แฝงด้วยความเศร้า) และงานภาพประกอบเรื่องเล่าที่เด่นมาก ซึ่งใช้ภาพถ่ายจริงผสมกับงานศิลปะที่ระบายสีปกปิดหน้าตาที่แท้จริงของบรรดาคนไร้บ้านเพื่อเหตุผลความปลอดภัย (บุญเลิศบอกว่า ช่วงท้ายๆ ของการลงพื้นที่เท่านั้นที่เขาใช้กล้องถ่ายรูป) แต่ก็ยังทำให้เรามองเห็น เรารู้สึกได้ ถึงการมีอยู่ของพวกเขา ที่ต้องนอนในที่ที่หวงห้าม ที่ห้ามมานอนก่อนพระอาทิตย์ตกดิน ย้ายหนีก่อนพระอาทิตย์ขึ้น มิพักต้องเอ่ยถึงวันฝนตก พายุเข้าที่ทำให้พวกเขาแทบไม่มีที่นอนเลย พวกเขาต้องคุ้ยขยะขาย หาอาหารราคาถูกจากการรวบรวมจากถังขยะ รอเข้าคิวรับอาหารฟรีตามโบสถ์ ใช้เสื้อผ้าเก่า ๆ อาบน้ำในห้องและเมื่อเจ็บป่วยไข้ ระบบรักษาพยาบาลต่างดูดายที่จะรักษาคนกลุ่มนี้ จนหลายคนต้องตายข้างถนน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกมุมหนึ่งของสังคมฟิลิปปินส์ เพื่อนร่วมกลุ่มประเทศอาเซียนของเรา   ความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการอ่านหนังสือเล่มนี้ (และเล่ม “โลกของคนไร้บ้าน”) คือการรอคอยฟังเรื่องเล่าของคนไร้บ้านแต่ละคน ก่อนที่จะพบว่า เราได้เพียงแค่รับฟัง เพราะไม่รู้ว่าเรื่องเล่านั้น จริง-ลวง อย่างไร มีทั้งเล่าว่ามาจากมินดาเนาเพราะหนีความไม่สงบจากขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือเล่าว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่แล้ว แต่พอเกษียณอายุงาน มาเป็นคนไร้บ้านเพื่อตามเสียงของ “พระเจ้า” ในการแสวงหาสัจจะของชีวิต ประเด็นจริงๆ ไม่ใช่อยู่ที่การพุ่งเป้าไปตัดสินว่า เรื่องเล่าของ “คนไร้บ้าน” ในหนังสือเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ แต่กลับเป็นการตั้งคำถามว่า ดำรงอยู่ในสังคมแบบไหน ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรื่องเล่าของเขาอาจจะไม่เป็นความจริง หรือตัวเขาเองไม่กล้า หรือไม่รู้ว่าจะพูดเรื่องราวจริง ๆ ไปทำไม จากในหนังสือ…สารภาพว่า ผมยังไม่ได้คิดถึงความรู้สึกเขามากพอ ผมกลับถามเขาต่อไปว่า “เมื่อก่อน ฉันก็เคยสัมภาษณ์นาย ไม่เห็นเคยบอกว่าพ่อแม่นายแยกทาง  “มันเป็นเรื่องที่น่าเล่าให้คนอื่นฟังนักเหรอว่า พ่อแม่ฉันแยกทาง นายคิดว่าฉันอยากคิดถึงมัน และอยากพูดออกมาเหรอ? ครอบครัวฉันมันวุ่นวาย พี่น้องฉันมีเยอะแยะ ทำไมนายถึงอยากรู้ เรื่องวุ่นวายในครอบครัวฉันล่ะ” นั่นสินะ...เราอยู่ในสังคมแบบไหนกัน?