‘April, Come She Will’ รักร้างราและละเลย กับเพลงประกอบที่ช่วยเติมเต็มหนังให้งดงาม

‘April, Come She Will’ รักร้างราและละเลย กับเพลงประกอบที่ช่วยเติมเต็มหนังให้งดงาม

รีวิวภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง ‘April, Come She Will’ รักร้างราและละเลย กับเพลงประกอบที่ช่วยเติมเต็มหนังให้สมบูรณ์และงดงาม

KEY

POINTS

  • ‘April, Come She Will’ ภาพยนตร์ที่จะทำให้ต้องกลับมาทบทวนว่า เพราะรักจืดจางหรือเราเองที่ห่างเหินไม่เห็นค่ากับคนที่อยู่เคียงข้างกันแน่ จากนวนิยายขายดีของ ‘เก็งคิ คาวามูระ’ ผู้กำกับและนักเขียนชื่อดัง
  • ในเวอร์ชันหนังย่นย่อกว่าในหนังสือโดยโฟกัสที่การหายตัวไปของ ‘ยาโยอิ’ สลับกับเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นเรื่องราวของ ‘ฮารุ’ และการพยายามปะติดปะต่อความรัก จากการ ‘ตามหา’ ของ ‘ฟูจิชิโระ’ 
  • เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อว่า ‘Michi Teyu Ku’ กล่าวถึงการ ‘ละเลย’ ในความสัมพันธ์ การไม่รู้สึกยินดีกับคุณค่าของความรัก เพลงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังได้รับการเติมเต็ม ทั้งเป็นเหมือนข้อสรุปและการอธิบายเรื่องราว ในขณะเดียวกันก็สามารถฟังแยกในฐานะเพลงที่แต่งออกมาได้อย่างสละสลวย 

**มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์และเวอร์ชันหนังสือ** 

10 ปีแล้วนะที่ไม่ได้คุยกัน…

‘ฮารุ’ แฟนเก่าของ ‘ฟูจิชิโระ’ เขียนจดหมายมาหาว่าตอนนี้เธออยู่ที่อูยูนี ประเทศโบลีเวีย ที่งดงามราวกับภาพสวรรค์ และขึ้นชื่อว่าเป็นผืนกระจกที่ทำให้ผืนฟ้าจรดผืนโลก สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่แค่สวย แต่เป็นสถานที่ที่เธอ และฟูจิชิโระ เคยคุยกันไว้ว่าจะไปด้วยกัน 

แต่ผ่านไปนานแล้วทำไมเพิ่งติดต่อมา เป็นใครก็ต้องสงสัย แต่ ‘ฟูจิชิโระ’ คิดว่าเรื่องมันผ่านไปนานแล้วเขาเอาจดหมายนี้ให้ ‘ยาโยอิ’ คนรักคนปัจจุบันที่กำลังจะแต่งงานได้อ่าน และเขาก็ไม่รู้เลยว่าอะไรที่ทำให้ ‘ยาโยอิ’ กังวล จนกระทั่งวันหนึ่งที่เธอหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย 

‘จดหมาย’ จากคนใน ‘อดีต’ สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อความสัมพันธ์ของคน ‘ปัจจุบัน’ แม้ว่ากำลังจะแต่งงานกันอยู่รอมร่อ แต่ ‘ฟูจิชิโระ’ กลับรู้สึกว่าเขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับตัว ‘ยาโยอิ’ ไม่รู้แม้กระทั่ง…เขายังรักเธออยู่หรือเปล่า   

‘April, Come She Will’ ภาพยนตร์ที่จะทำให้ต้องกลับมาทบทวนว่า เพราะรักจืดจางหรือเราเองที่ห่างเหินไม่เห็นค่ากับคนที่อยู่เคียงข้างกันแน่ จากนวนิยายขายดีของ ‘เก็งคิ คาวามูระ’ ผู้กำกับและนักเขียนชื่อดัง ที่ก่อนหน้านี้เขาเคยมีผลงานการกำกับภาพยนตร์ ‘A Hundred Flowers’ (2022) ที่มาจากนวนิยายที่เขาแต่งเอง ซึ่งเขาได้เดินทางมาโปรโมตที่ประเทศไทยด้วย รวมถึงมีภาพยนตร์หลายเรื่องที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายของเขาเช่น ‘If Cats Disappeared from the World’ (2016) และ ‘Million Dollar Man’ (2018) 

ส่วนผลงานเรื่องนี้เขาไม่ได้กำกับเอง แต่ส่งต่อให้ ‘โทโมคาซุ ยามาดะ’ ผู้กำกับรุ่นใหม่มาแรงที่เคยกำกับ MV เพลง ‘Lemon’ ของ ‘เคนชิ โยเนสึ’ และเพลง ‘Gold ~Until we meet again~’ ของ ‘อูทาดะ ฮิคารุ’ มากำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก และได้ ‘เคย์สุเกะ อิมามุระ’ ผู้กำกับภาพจาก ‘The Last 10 Years’ (2022) และ ‘A Hundred Flowers’ มาทำหน้าที่ถ่ายทอดทางภาพให้ได้ถึงอารมณ์รัก แต่ ‘เก็งคิ คาวามูระ’ ยังคงทำหน้าที่ร่วมเขียนบทในเวอร์ชันภาพยนตร์ 

ด้านนักแสดงได้ ‘ทาเครุ ซาโต้’ รับบท ‘ชุน ฟูจิชิโระ’, ‘มาซามิ นางาซาวะ’ รับบท ‘ยาโยอิ ซากาโมโตะ’ และ ‘นานะ โมริ’ รับบท ‘ฮารุ อิโยดะ’  

จาก ‘เมษาที่เธอจะมา’ สู่การ ‘ปล่อยวาง ให้ใจเต็ม’ 

ทั้งหนังสือต้นฉบับและเวอร์ชันหนังต่างมีเพลงที่ไพเราะเป็นส่วนร่วม หนังสือแต่งขึ้นมาโดยมีเพลง ‘April, Come She Will’ ของ ‘Simon & Garfunkel’ ที่เล่าเรื่องราวของความรักและชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล มาเป็นตัวโจทย์และเป็นส่วนสำคัญในการเล่า ในหนังสือแต่ละบทมีการตั้งชื่อตอนเป็นเดือนต่าง ๆ โดยกินเวลา 12 เดือน แต่ในเวอร์ชันหนังย่นย่อกว่าโดยโฟกัสที่การหายตัวไปของ ‘ยาโยอิ’ สลับกับเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นเรื่องราวของ ‘ฮารุ’ และการพยายามปะติดปะต่อความรัก จากการ ‘ตามหา’ ของ ‘ฟูจิชิโระ’ ซึ่งสิ่งที่เขาตามหาอาจจะไม่เพียงแต่คนรักของเขา แต่เป็นการหาคำตอบให้กับหัวใจของตัวเองให้ได้ว่า แท้จริงแล้วเขาต้องการอะไรกันแน่ และเขาได้รู้แล้วหรือยังว่า ‘รัก’ คืออะไร และจะทำอย่างไรไม่ให้มันจบลง 

‘ฟูจิชิโระ’ ในฉบับของ ‘ทาเครุ ซาโต้’ ดูหล่อเท่กว่าในหนังสือต้นฉบับ ถ้าพูดตามตรงบทบาทนี้อาจจะไม่ใช่บทที่ ‘ทาเครุ’ ได้โชว์ฝีมือมากเท่าไรนัก และคนที่ติดตามเขามาจากซีรีส์ ‘An Incurable Case of Love คุณหมอขาโหดกับพยาบาลโขดหิน’ ได้เห็นลุคหมอชุดกาวน์แล้วอาจจะคิดว่าเมื่อไรคุณหมอจะวีนขึ้นมา แต่ตรงกันข้าม ‘ฟูจิชิโระ’ เป็นจิตแพทย์หนุ่มที่ใช้ชีวิตไปเรื่อย เขาอยู่อย่างไม่ค่อยยินดียินร้ายราวกับว่า passion หรือความหลงใหลในสิ่งต่าง ๆ หรือความกระเหี้ยนกระหือรือ และไฟในตัวเขาได้มอดดับลงไปแล้วเมื่อ 10 ปีก่อนไปพร้อมกับความรักที่เขามีต่อ ‘ฮารุ’ 

ในขณะที่ในหนังสือมีการพูดถึง ‘sex drive’ (แรงขับเคลื่อนทางเพศ) อย่างชัดเจนว่า ‘ฟูจิชิโระ’ ยังคงมีอารมณ์ทางเพศกับคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ ‘ยาโยอิ’ แต่ในเวอร์ชันภาพยนตร์ มีข้อแตกต่างจากในหนังสืออยู่หลายจุด ซึ่งในหลายส่วนมีการปรับปรุงให้กระชับและเหมาะสมกับการเป็นภาพยนตร์มากกว่า ทำให้มีการตัด sub plot หลายจุดออกไปอย่างเช่น ‘จุน’ น้องสาวของ ‘ยาโยอิ’ (ในหนังรับบทโดย ‘ยูมิ คาวาอิ’) ที่ในเวอร์ชันหนังออกมาไม่มาก เป็นแค่คนเตือนใจว่า ‘ฟูจิชิโระ’ ดูทรงแล้วจะไม่รู้จักพี่สาวของเธอเลย แม้ว่ากำลังจะแต่งงานกันก็ตาม ส่วนในหนังสือ ‘จุน’ ยั่วยวน ‘ฟูจิชิโระ’ จนเกือบจะได้เป็นพระยาเทครัว โชคดีที่ยังมีความยับยั้งชั่งใจอยู่ 

ในเวอร์ชันภาพยนตร์ใช้การเล่าเรื่องด้วยภาพให้ผู้ชมได้เห็นและคงอนุมานเอาเองได้จากการที่ ‘ยาโยอิ’ และ ‘ฟูจิชิโระ’ แยกห้องนอนกัน ทำให้พอจะรู้ว่าเรื่องราวบนเตียงของพวกเขาคงห่างมานานแล้ว เพราะแม้กระทั่งวันเกิดของฝ่ายหญิง ‘ฟูจิชิโระ’ ทำก็แค่เพียงอวยพรวันเกิดแบบจืด ๆ แล้วก็แยกย้ายกันเข้านอนกันคนละห้อง 

นอกเหนือจากตัวละคร ‘จุน’ แล้ว ตัวละคร ‘นานะ’ (ริเอะ โทโมซากะ) แพทย์หญิงเพื่อนร่วมงานของ ‘ฟูจิชิโระ’ ก็มีการปรับเปลี่ยนจากในหนังสือที่เป็นคุณหมอสาวโสดหน้าตาสะสวยกลายมาเป็นคุณหมอแม่ลูกติดที่ช่วยให้คำแนะนำ ก็เท่ากับเป็นการตัดปัจจัยภายนอก เรื่องมือที่สามที่จะทำให้ ‘ฟูจิชิโระ’ ไขว้เขวออกไปเลย

ซึ่งเป็นข้อดีของหนังที่ยังไม่ละปัจจัยเรื่องทางเพศอันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความรักจืดจาง แต่ให้ผู้ชมได้โฟกัสกันตรงที่ตัว ‘ฟูจิชิโระ - ยาโยอิ’ โดยตรง โดยที่ไม่ต้องใช้ตัวละครอื่นมาเป็นปัจจัยภายนอก เพราะมีเพียงรักครั้งเก่าอย่าง ‘ฮารุ’ ก็พอแล้ว และการกำกับของ ‘โทโมคาซุ ยามาดะ’ ค่อย ๆ กะเทาะเปลือกความสัมพันธ์ของพวกเขาออกมาทีละนิด ๆ แล้วค่อยให้ผู้ชมได้เห็นว่าก่อนหน้านี้พวกเขาก็เคยมีช่วงเวลาที่วาบหวานด้วยกัน แล้วเมื่อไรกันที่มันจางหายไปแล้ว  

แม้ว่าบทในเวอร์ชันภาพยนตร์จะให้ ‘ฟูจิชิโระ’ เป็นคนที่ค่อนข้างเก็บเงียบความรู้สึกของตนเอง ไม่มีสิ่งที่รักหรือสิ่งที่ชอบเป็นพิเศษ ผิดกับในหนังสือที่ ‘ฟูจิชิโระ’ เป็นคนรักหนังและมักใช้เวลากับ ‘ยาโยอิ’ ในการดูหนังต่าง ๆ ซึ่งหลาย ๆ เรื่องมันก็สะท้อนถึงความรักของพวกเขาเองด้วย ทั้ง Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004), Her (2013), A.I. Artificial Intelligence (2001) ‘ฟูจิชิโระ’ เรียกว่าเป็นเนิร์ดหนังถึงขั้นที่ตั้งชื่อแมวที่พวกเขาเลี้ยงด้วยกันว่า ‘วู้ดดี้ อัลเลน’ ตามผู้กำกับชื่อดัง ซึ่งหนังได้ตัดในส่วนนี้ไปแล้วไปให้น้ำหนักในฝั่ง ‘ยาโยอิ’ แทน ในการที่ให้เธอเป็นสัตวแพทย์ที่ทำงานในสวนสัตว์ โดยมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เกี่ยวกับสัตว์เป็นสิ่งที่ใช้ในการเชื่อมสัมพันธ์ และยังเป็นสิ่งสำคัญในการวัดถึงความใส่ใจที่ ‘ฟูจิชิโระ’ มีให้เธอด้วย 

แต่เสน่ห์ของ ‘ทาเครุ’ ก็ไม่ทำให้ตัวละครนี้เป็นคนจืด ๆ เพราะความจริงแล้วบทที่ passive แบบนี้เป็นบทที่แสดงยาก ถ้าดูเผิน ๆ จะกลายเป็นผู้ชายทื่อมะลื่อ ที่เลิกกันไปน่าจะดีแล้ว แต่ ‘ทาเครุ’ ยังใช้ทักษะการแสดงสีหน้าแววตาและอากัปกิริยาเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ผู้ชมได้รู้ว่าเขาเองก็กำลังกังวลใจอยู่ เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นที่จุดไหน 

“จะไม่กลุ้มใจหรือทรมานใจให้มากกว่านี้อีกเหรอ” 

ประโยคนี้คือคำพูดของ ‘ทาคุซุ’ เพื่อนเกย์ของ ‘ฟูจิชิโระ’ ที่เขามักไปปรึกษา ถูกยกจากในหนังสือมาไว้ในภาพยนตร์ได้อย่างพอเหมาะ เพราะสิ่งที่คนทั่วไปถ้าคนรักหายตัวไปแบบไม่บอกไม่กล่าวก็คงจะต้องทุรนทุรายตามหาแทบพลิกแผ่นดิน มันเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ ‘ฟูจิชิโระ’ ไม่รู้ เพราะแทนที่จะ ‘หา’ เขากลับ ‘รอ’ เพราะเหมือนเขาเองก็ยังคิดไม่ตกว่า เขาจะรั้งเธอเอาไว้ด้วยความรู้สึกแบบไหน 

ในขณะที่จดหมายของ ‘ฮารุ’ เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกที่อยากบอกมาตลอด 10 ปี ไม่ว่าจะอ่านแบบไหนจดหมายของเธอก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ถึงขั้นที่เป็นคนทั่วไปก็คงจะต้องสงสัยแล้วว่าเขียนมาทำไมเอาป่านนี้ ต้องการอะไร และถ้า ‘ฟูจิชิโระ’ สนใจ ‘ยาโยอิ’ สักหน่อยก็คงจะต้องสังเกตแล้วไหมว่า เธอหึงหรือเปล่า และมันเป็นเหตุผลที่ทำให้ ‘ยาโยอิ’ หายตัวไปหรือไม่ และถ้าเขาพยายามคิดต่อและใส่ใจคนรักของเขาอีกหน่อย เขาเองก็น่าจะรู้ว่า ‘ยาโยอิ’ จะหายไปอยู่ที่ไหน 

ในหนังมีการปรับปรุงตัวละคร ‘ทาคุซุ’ ให้ลดความกำกวมทางเพศลงจากในหนังสือที่ (อาจจะ) เป็นไบเซ็กชวล ให้ชัดเจนว่า ‘ทาคุซุ’ สนใจในเพศเดียวกัน ด้วยการแสดงที่แพรวพราวและมีเสน่ห์ของ ‘ไทกะ นากาโนะ’ ที่คอยเต๊าะคอยแอ๊ว ‘ฟูจิชิโระ’ อยู่เสมอ ทำให้หนังมีช่วงที่ผ่อนคลายและได้เห็นเสน่ห์ของ ‘ฟูจิชิโระ’ ในแบบฉบับของ ‘ทาเครุ ซาโต้’ อีกด้วย ว่าเขาก็เป็นคนที่มีเสน่ห์และมีคนเข้าหา แม้ว่าหัวใจเขามันเหมือนจะด้านชาไปซะแล้ว และสิ่งที่เขาทำกับคนรอบข้างทั้ง ‘ยาโยอิ’ แม้กระทั่งกับ ‘ทาคุซุ’ คือใช้ประโยชน์จากการที่เขาเป็นฝ่ายที่ถูกรักจากคนอื่น 

“กระทั่งคำว่า ‘รัก’ ที่เคยใช้ไปอย่างไม่เห็นค่า
ตอนนี้ได้รู้หรือยังว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไร
คงน่าเศร้าเหลือเกิน หากจะมีความรักเพียงเพราะต้องการให้ใครมารัก โปรดประทานพรแก่ดวงใจอันแห้งผากด้วยเทอญ”  

ท่อนหนึ่งจากเพลง ‘Michi Teyu Ku’ (Overflowing) หรือในภาษาญี่ปุ่น 満ちてゆくผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์ชิ้นแรกของศิลปินหนุ่มมาแรงแห่งยุค ‘ฟูจิอิ คาเสะ’ ที่แต่งออกมาได้อย่างลุ่มลึก คงจะเป็นการให้นิยาม ‘ฟูจิชิโระ’ ได้เป็นอย่างดี 

ในภาพยนตร์นำเสนอการ ‘ร้างรา’ ของ ‘ฟูจิชิโระ’ กับ ‘ฮารุ’ ได้แสนเจ็บปวดและมีประเด็นที่หนักหน่วงกว่าในหนังสือที่มีประเด็นของเรื่องมือที่สาม แต่ในเวอร์ชันหนังปรับเปลี่ยนเป็นปมจากพ่อของ ‘ฮารุ’ (แสดงโดย ‘ยูทากะ ทาเคโนะอุจิ’) ที่ออกอาการหวงลูกสาวซึ่งหนังแฝงไว้ว่าอาจจะเกินความเป็นพ่อลูก เป็นสิ่งที่ ‘ฟูจิชิโระ’ ในสมัยที่ยังเป็นเพียงแค่เด็กมหาวิทยาลัยไม่อาจจะก้าวข้ามไปได้ และกลับกัน ‘ฮารุ’ เป็นฝ่ายที่ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวกว่าเขาด้วยซ้ำไป ที่จะยุติความสัมพันธ์นี้ แม้ว่าถ้ามองกลับไปทั้งคู่คงคิดเช่นเดียวกันว่าควรจะหาทางออกได้ดีกว่านี้ แต่ ‘ฟูจิชิโระ’ กลับเดินหน้าต่อไปอย่างที่ใจของเขายังไม่เคยมูฟออนจากตรงนั้น และเมื่อเขาได้เจอกับ ‘ยาโยอิ’ เขาอยู่ในฐานะจิตแพทย์ของเธอ เขาเหมือนเป็นผู้เยียวยาให้กับเธอ แต่ความจริงแล้วเธอคือคนที่เยียวยาหัวใจให้กับเขา และทั้งสองฝ่ายต่างเยียวยาใจให้แก่กัน ทำให้เขาก้าวเดินกับรักครั้งใหม่อีกครั้ง 

“ในทันทีที่ได้มาครอบครอง กลับไม่เหลือความยินดีอีกต่อไป”

อีกหนึ่งท่อนของบทเพลงที่กล่าวถึงการ ‘ละเลย’ ในความสัมพันธ์สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญ การไม่รู้สึกยินดีกับคุณค่าของความรักที่ได้รับมา นำพาไปสู่ความห่างเหิน ไม่เป็นการเกินจริงเลยถ้าจะบอกว่าเพลงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังได้รับการเติมเต็ม ทั้งเป็นเหมือนข้อสรุปและการอธิบายเรื่องราว ในขณะเดียวกันก็สามารถฟังแยกในฐานะเพลงที่แต่งออกมาได้อย่างสละสลวย 

เบื้องหลังเพลงนี้ ‘ฟูจิอิ คาเสะ’ ได้ให้สัมภาษณ์กับ ‘เก็งคิ คาวามูระ’ โดยตรงว่า เขาไม่เคยแต่งเพลงรักโดยมีมุมมองแบบนี้มาก่อน ทำให้เป็นเรื่องใหม่สำหรับเขามาก เขาต้องการสถานที่แต่งเพลงเงียบสงบ และงามสง่า เขาสัมผัสได้ว่าบรรยากาศของหนังเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่เขาจะแต่งเพลงที่บ้านได้ ดังนั้นเขาจึงไปแต่งเพลงนี้ที่โบสถ์ ซึ่งทำให้เขาได้เสียงเมโลดี้มาในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ก่อนที่จะแต่งเนื้อร้องตามมา  

การไปแต่งเพลงที่โบสถ์ทำให้ ‘เก็งคิ คาวามุระ’ ถึงกับทึ่งมากในอัจฉริยภาพของ ‘ฟูจิอิ คาเสะ’ เพราะว่ามันเป็นสถานที่สำคัญที่อยู่ในทั้งเวอร์ชันหนังสือและในภาพยนตร์ เพราะโบสถ์เป็นสถานที่สำหรับแต่งงาน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสถานที่จัดงานอำลาสำหรับผู้วายชนม์เช่นกัน ซึ่งเป็นเนื้อหาสำคัญในเรื่องที่นำเสนอทั้งเรื่องการก้าวสู่ชีวิตใหม่ฐานะสามีภรรยาและการจากลาแบบไม่มีวันกลับ 

ตัวฉันไม่ได้มีสิ่งใดเลย... แต่ฉันก็พร้อมจะมอบได้ทุกสิ่ง ปล่อยมือที่จับไว้... วางให้มันเบาลง... แล้วหัวใจจะเต็มเอง

ท่อนฮุคของเพลง ‘Michi Teyu Ku’ เป็นท่อนหนึ่งที่มีการใช้ถ้อยคำที่มาจากในหนังสือ เป็นท่อนที่สามารถสรุปใจความสำคัญเรื่องความรักของ ฟูจิชิโระ, ฮารุ และยาโยอิ ได้เป็นอย่างดี ‘ฮารุ’ เดินทางไปยังสถานที่ที่เธอเคยอยากไปกับคนรัก เหมือนเป็นการชดเชยในสิ่งที่เคยผิดพลาดไป และได้รู้สึกถึงความรักขึ้นมาอีกครั้ง, การหายตัวไปของ ‘ยาโยอิ’ ได้เว้นช่องว่างให้กับ ‘ฟูจิชิโระ’ ให้ได้เห็นค่าของ ‘ความรัก’ ก่อนที่ท้ายที่สุด การปล่อยวางจากสิ่งที่พันธนาการหัวใจเอาไว้ ทำให้ชีวิตได้เติมเต็ม

ช่วงท้ายของหนังสือและเวอร์ชันภาพยนตร์แตกต่างกันที่โลเคชัน โดยหนังเลือกที่จะตัดประเทศหนึ่งออกไปเพื่อคุมโทนให้เนื้อหาไปทิศทางเดียวกัน และดูสมจริงในความเป็นไปได้มากขึ้น แต่มีการใส่กิมมิคเกี่ยวกับภาพถ่าย ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่าง ‘ฮารุ’ กับ ‘ยาโยอิ’ เอาไว้ ให้เนื้อเรื่องไม่ดูราบเรียบเกินไป 

โดยรวมแล้วทั้งหนังสือและเวอร์ชันภาพยนตร์อาจจะไม่ใช่หนังสือที่หวือหวาหรือภาพยนตร์ที่จะถูกนำมาอ้างอิงหรือเป็นที่นิยมระดับ mass หรือกลายเป็น internet meme แต่ทั้งสองเวอร์ชันพาผู้อ่านและผู้ชมไปสำรวจลึกถึงจิตใจ และได้มองความรักจากมุมที่แตกต่างดูบ้าง ที่ตอนที่อ่านหรือรับชมในโรงหนังอาจจะไม่ได้ชื่นชอบในทันที หรืออาจจะไม่เข้าใจการกระทำของตัวละครในบางส่วน ที่ทำไมถึงทำอะไรอ้อมโลกกันซะอย่างนั้น ถ้าเปิดใจคุยกันแต่แรกเรื่องก็อาจจะจบได้ในเวลาแค่ 5 นาที แต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อลองนั่งวิเคราะห์และฟังเพลงประกอบไปด้วยก็มีประเด็นที่น่าสนใจมากมาย และที่แน่ ๆ เพลงประกอบเพราะมากจนฟังได้ไม่เบื่อ 

 

เรื่อง : เพจ ผู้ชายคนนั้นจากหนังเรื่องนี้
อ้างอิง :
บทแปลเพลง Michi Teyu Ku  โดย ซับจริงจัง 
บทสัมภาษณ์ ฟูจิอิ คาเสะ และ เก็งคิ คาวามูระ จาก https://4gatsu-movie.toho.co.jp/talk.html