บทบรรณาธิการ #3 บก.ลายจุด ดอนกิโฆเต้ และนักฝัน

บทบรรณาธิการ #3 บก.ลายจุด ดอนกิโฆเต้ และนักฝัน

บทบรรณาธิการ #3 บก.ลายจุด ดอนกิโฆเต้ และนักฝัน

เราจะเรียกเขาว่า บก.ลายจุด หรือ พี่หนูหริ่ง หรือสมบัติ บุญงามอนงค์ ก็สุดแท้แต่ว่าเรารู้จักเขาในมุมไหน? เอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หัวหน้าพรรคเกียน หรือมิตรสหาย? แต่ผมมองว่า เขาเป็น...นักฝัน แต่เป็นนักฝันที่ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นจริงได้... ไม่กี่วันก่อน ผมมีโอกาสได้คุยกับ บก.ลายจุด แล้วมีคำถามหนึ่งที่ผมได้ถามเขาก็คือ เรื่องใดคือสิ่งที่เขาได้พูดอยู่เสมอกับ น้องลำธาร-ลูกสาวของเขา ที่ไม่ได้พบกันมา 4 ปีแล้วตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ ปี 2557 เขาเล่าว่า สิ่งที่เขาพูดกับลูกสาวอยู่ตลอดก็คือ ให้เข้าใจความฝัน กับโลกความจริง เรามีความฝันได้ แต่ต้องเป็นความฝันที่มีความจริงรองรับ เหมือนกับที่เราเดินอยู่บนปุยเมฆ แต่ถ้าเหยียบลงไปบนปุยเมฆแล้วไม่มีพื้นดิน (ซึ่งเปรียบเสมือน “ความจริง") รองรับ เราจะล้มลง... ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือ “ปรัชญาเกรียน สมบัติ บุญงามอนงค์” ซึ่งเป็นการเรียบเรียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิต บก.ลายจุด ผ่านบทสัมภาษณ์ที่เรียบเรียงมาอย่างดีโดย ธิติ มีแต้ม มันทำให้ผมนึกถึง "ดอนกิโฆเต้" อัศวินนักฝัน จากวรรณกรรมสเปนของ มิเกล์ เด เซร์บันเตส ซาเบดร้า ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1605 ดอนกิโฆเต้ คือขุนนางต่ำศักดิ์วัย 50 ปี แห่งแคว้นลามันช่า อ่านนิยายแนวอัศวินจนเกิดอาการ “อิน” จึงออกมาเป็นอัศวินเพื่อปกป้องผู้คน แต่สิ่งชั่วร้ายที่เขาต่อสู้ด้วยที่คิดว่าเป็น ยักษ์ แต่คนทั่วไปมองว่า นั่นคือ กังหันลม แน่นอนว่า คนนอกมองมาที่ ดอนกิโฆเต้ นี่คือ คนบ้า... ในหนังสือ “ปรัชญาเกรียน” ในช่วงต้นของหนังสือ ได้พูดถึงช่วงเวลา “เปลี่ยนผ่าน” ของเขา จากการเป็นเอ็นจีโอ มาสวมอีกหมวกเพิ่ม นั่นคือหมวกนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ราชประสงค์เมื่อปี 2553 จนมาถึงรัฐประหารปี 2557 เราจะเห็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ของเขาทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์อยู่เสมอมา “ผมยอมรับว่าปี 2553 ผมโกรธ ผมป่วย มันเหี้ยมจริง ๆ การไล่ฆ่ากันมันเกินไป มันไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมือง แต่เป็นความสกปรกทางการเมือง ถ้าคุณจะเล่นกันในทางกฎหมาย ผมยังรู้สึกพอจะรับได้ หรือจะใช้คำบิดเบือนใส่ร้ายยังทนได้ ที่น่าสะอิดสะเอียนที่สุดคือการอ้างความดีเพื่อกระทำกับอีกฝ่าย อ้างธรรมาธิปไตยส้นตีน คุณไม่ได้เชื่อเรื่องความดี ถ้าความดีของคุณคือการเชียร์ให้มีการไล่ฆ่ากัน ผมรับไม่ได้ แบบนี้เหี้ยเกินไป” จนหลังรัฐประหาร ปี 2557 ในวันที่ 5 มิ.ย. ราวๆ สามทุ่ม เขาได้โพสต์บอกกับสาธารณะว่า “ผมถูกจับแล้ว” ในหนังสือ บก.ลายจุด ได้ให้สัมภาษณ์ช่วงที่เขาถูกจับกุมไว้ว่า “จากนั้นเขาก็พาไปค่ายทหารที่ชลบุรี ซึ่งผมไม่รู้ที่ไหน เป็นบ้าน 2 ชั้น ผมถูกปิดตา ในห้องพักก็เป็นห้องเล็ก ๆ แต่มีแอร์ให้ มีเตียง 2 เตียง ผมนอนคนเดียว มีแอร์ แต่ไม่มีผ้าห่ม ผมใช้ผ้าขาวม้ากับเสื้อที่เหลืออยู่มาห่มตัว ห้องมีกระจกแต่ถูกหนังสือพิมพ์ปิดหมด มองไม่เห็นข้างนอก ประตูก็ล็อคจากข้างนอก” ในขณะที่หลายคนมองว่า ช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองนั้นเงียบสงบ ไม่มีปัญหาอะไร ที่สิ่งที่เกิดกับ บก.ลายจุด ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจต่อมาว่า รัฐกำลังละเมิดอะไรผู้คนในระดับปัจเจกชนอยู่หรือเปล่า? ไม่ใช่ บก.ลายจุด หรือ ดอนกิโฆเต้ เพียงสองคนแล้วล่ะ ที่มองเห็นว่า กังหันลม มันคือ ยักษ์ หลายสิ่งหลายอย่างมันเริ่มทำให้เห็นแล้วว่า หากมองในอีกมุม กังหันลมธรรมดาที่ทุกคนเห็น อาจจะกลายเป็นยักษ์ร้ายได้เหมือนกัน หากมองในเชิงอุปมาว่า กังหันลม แทนความหมายของ ความอยุติธรรมในสังคม ในบางชนชั้นอาจจะมองว่า เราก็อยู่ในสังคมที่ยุติธรรมดีแล้วนี่...แต่ในความเป็นจริง หลายคนที่เสียประโยชน์หรือถูกเอาเปรียบ อาจจะมองต่างไปจากนี้ เนื้อหาในหนังสือ “ปรัชญาเกรียน” เราจะเห็นความเป็น “นักทำ” (doer) ของ บก.ลายจุดได้ชัดเจนมาก ๆ อย่างเช่น ในประเด็นคนไร้สัญชาติ เขาทำมาหลายปี “จนมีพี่คนหนึ่งมาบอกสิ่งที่เธอทำดี ผมแม่งโคตรภูมิใจ ตอนนั้นผมทำงานที่เชียงรายตำบลเดียว ผมช่วยให้ชาวบ้านที่ไม่มีสัญชาติได้เข้าสู่กระบวนการได้สัญชาติ ผมตั้งเป้าไว้ 3,000-4,000 คน มันเป็นความภูมิใจของชีวิต” แต่ในขณะที่เขาเป็น “นักทำ” แต่หลายไอเดียของเขาเห็นได้อย่างชัดเจนว่า อีกมุมหนึ่ง บก.ลายจุด ก็เป็น “นักฝัน” อย่างเข้มข้น กับการฝันที่จะเห็นสังคมไทยที่ผู้คนยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในมุมมองของเขา อย่างเช่นประเด็นที่พูดถึงการดูแลป่าของชาวบ้านที่จังหวัดน่าน “ประเด็นคือให้ชาวบ้านดูแลป่าโดยที่เขามีเงินกินด้วย ข้อเสนอของผมคือ คุณต้องให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้ที่ตัดได้ ต้นไม้เศรษฐกิจในป่า เช่น ในป่า 1 ไร่ คุณต้องยอมให้มีต้นไม้ 1 ต้น ซึ่งเป็นของชาวบ้าน มันมีราคา ทุกปีที่มันโตขึ้น เส้นรอบวงเหล่านี้มีมูลค่าเท่าไหร่ เมื่อมันอายุ 30 ปี จะมีมูลค่าเท่าไหร่ ถ้ามันมีทรัพย์สินของเขาอยู่ในป่า ป่าไม้มันจะไม่ไหม้” บทสัมภาษณ์ขนาดยาวของเขาในหนังสือเล่มนี้ จะสะท้อนภาพให้เห็นถึงการประนีประนอมกันระหว่างความเป็น “นักทำ” และ “นักฝัน” ในตัวของ บก. ลายจุดเอง บางที “ดอนกิโฆเต้” ในโลกยุคใหม่ อาจจะฝันอย่างเดียวไม่พอ ต้องคำนึงถึงการใช้ได้ในโลกความจริงด้วย หากกล่าวแบบขออภัยที่ไม่ถ่อมตัวเลย เขา-บก.ลายจุด อาจจะเป็นอัศวินนักฝัน ในโลกยุคที่กังหันลม แทนความหมายของ ความอยุติธรรมของสังคม ก็อาจจะเป็นได้... และเรายังต้องการคนแบบนี้ ในสังคมของเราอยู่ ถูกไหม?

ผมเป็นนักฝัน ชอบออกแบบ มันเป็นแบบฝึกหัดผม ถามว่ามันจะเกิดขึ้นได้ไหม ไม่รู้ แต่เชื่อว่าทุกอย่างมันจะเกิดขึ้นได้ เรื่องที่ผมคิดไว้วันหนึ่ง 10 ปีผ่านมา ผมได้ทำมันอีกครั้งหรือมีโอกาสทำ มีคนคอมเมนต์ว่าอย่ามัวแต่พูดเลย ลงมือทำสักที ผมจะบอกว่ามันมีหลายเรื่องที่ผมพูดมาเป็น 10 ปี แล้ว 10 ปีหลังจากนั้น ผมเพิ่งได้ทำ มันเกิดจากกระบวนการที่ผมใช้เวลาพูด คิดกับตัวเอง กับผู้คนระยะหนึ่ง หรือจนกว่าผมจะหาพาร์ตเนอร์ที่จะร่วมกันทำได้ สมบัติ บุญงามอนงค์