เอ็มมา วัตสัน: ภูตินักอ่าน และแม่มดน้อยนักซ่อนหาหนังสือ

เอ็มมา วัตสัน: ภูตินักอ่าน และแม่มดน้อยนักซ่อนหาหนังสือ

เอ็มมา วัตสัน: ภูตินักอ่าน และแม่มดน้อยนักซ่อนหาหนังสือ

“ฉันรู้สึกตื่นเต้นที่จะเปิดเผยความพยายามระดับโลกกับโครงการ Book Fairies Worldwide เพื่อซ่อนหนังสือสี่ดรุณี (Little Women) จำนวน 2,000 เล่ม! โครงการ #LWBookFairies เริ่มขึ้นในวันนี้ (15 ธันวาคม 2019) กับหน้าปกวรรณกรรมคลาสสิกที่แตกต่างกันมากกว่าร้อยปกของ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ ในวาระฉลองการเปิดตัวภาพยนตร์ #LittleWomenMovie ทุกคนที่ได้รับหนังสือนี้จะได้รับข้อความพิเศษจากฉันในเล่มด้วย แคมเปญนี้มีใน 38 ประเทศ เป็นอีเวนต์หนังสือ book fairy (ภูติหนังสือ) ที่ใหญ่ที่สุด - โปรดตามอีเวนต์นี้ผ่านแฮชแท็กเพื่อติดตามว่าหนังสือเหล่านี้จะถูกซ่อนไว้ที่ไหนในอีกสองสามวันข้างหน้า! คุณเชื่อใน ภูติหนังสือ”ไหม? ฉันเชื่อ #ibelieveinbookfairies” นี่คือโพสต์ของ เอ็มมา วัตสัน (Emma Watson) ในอินสตาแกรมส่วนตัว ที่ประกาศซ่อนหนังสือ Little Women บนพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้นักอ่านทั่วโลกได้ตามหา หากมองว่านี่คือการโปรโมตภาพยนตร์เรื่อง Little Women เวอร์ชันปี 2019 ที่เอ็มมาได้ร่วมแสดง ก็นับว่าเป็นการโปรโมตภาพยนตร์ที่ชาญฉลาดมาก แต่หากมองว่า นี่คือกิจกรรมที่เอ็มมา ดาราดังสัญชาติอังกฤษทำอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว นี่คืออีเวนต์ที่น่ารักอีกอีเวนต์หนึ่งที่ “ภูติหนังสือ” อยากสื่อสารกับคนทั่วโลกในประเด็นการผลักดันวาระการอ่าน หลังจากที่แคมเปญ Little Women Book Fairies ถูกปล่อยออกไปประมาณเดือนกว่า หากติดตามแฮชแท็ก #LWBookFairies ซึ่งเป็นแฮชแท็กของแคมเปญนี้ จะเห็นว่าหนังสือ Little Women ที่มีข้อความที่เธอเขียนในเล่มพร้อมกับผูกริบบินเขียวได้กระจายไปทั่วโลก ทั้ง อังกฤษ โรมาเนีย อเมริกา อินเดีย ออสเตรเลีย ไปจนถึงฮ่องกง โดยมีคำใบ้กว้าง ๆ ว่าอาจจะซ่อนในสวนสาธารณะที่โรมาเนีย ทะเลสาบแถวออสเตรเลีย ร้านกาแฟที่มินนิโซตา หรืออาจจะแทรกอยู่ในหมวดสินค้าลดราคาที่ห้างสรรพสินค้าโซโกในฮ่องกง ดูจากสถานที่ซ่อนหนังสือแต่ละภาพนับว่าเลือกที่ได้เก๋มาก เอ็มมา วัตสัน: ภูตินักอ่าน และแม่มดน้อยนักซ่อนหาหนังสือ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เอ็มมาทำโครงการ Book Fairies Worldwide เธอทำกิจกรรมนี้มาหลายครั้งแล้ว ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 8 มีนาคม 2017 ซึ่งเป็นวันสตรีสากล เอ็มมา-ในฐานะนักอ่านและนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรี ได้ทำโครงการแจกหนังสือ Book Fairies เธอแจกหนังสือทั่วโลกมากกว่าหนึ่งพันเล่มใน 26 ประเทศ โดยเน้นไปที่หนังสือของนักเขียนสายเฟมินิสต์อย่าง เคทลิน มอราน  (Caitlin Moran) และ มายา แอนเจลู (Maya Angelou) กิจกรรมของเธอ ไลฟ์สไตล์ส่วนตัว ไปจนถึงภาพยนตร์ที่เอ็มมาเลือกแสดง ล้วนแล้วแต่ตอกย้ำภาพของคนรักการอ่านมาตั้งแต่ที่เรารู้จักกับเธอในการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Harry Potter กับบทบาทของแม่มดเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ หญิงสาวฉลาด ผู้รักการเรียน เป็นมันสมองของกลุ่มเพื่อนพ่อมดแม่มด ซึ่งภาพลักษณ์ตรงนี้ถูกหยิบมาใช้อีกทีใน Beauty and the Beast (2017) ที่เอ็มมาได้รับบทเป็นเบลล์ สาวน้อยนักอ่านผู้เป็นขาประจำของห้องสมุดประจำเมือง แม้ว่าในภาพยนตร์หลายเรื่อง เธอจะไม่ได้รับบทสาวนักอ่าน แต่ตัวละครอื่นที่ใกล้ชิดเธอกลับกลายเป็นตัวละครที่รักการอ่านแทน เช่น The Perks of Being a Wallflower (2012) แม้ว่าเธอจะไม่ได้มีคาแรคเตอร์นักอ่านในภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ตัวละครพระเอกของเรื่องอย่าง ชาร์ลี เคลเมคิส กลับกลายเป็นคนรักการอ่านที่เฝ้ามองดูผู้คน และเพื่อนฝูงอยู่อย่างเงียบ ๆ อย่างไรก็ตาม The Perks of Being a Wallflower ทำให้เธอรู้จักกับ สตีเฟน ชาบอสกี ผู้เป็นทั้งคนเขียนนิยายและกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่เธอบอกว่าเป็นทั้ง “ที่ปรึกษา” และ “เพื่อน” ในชีวิต เธอได้อ่านนิยายเล่มล่าสุดของสตีเฟนอย่าง Imaginary Friend (2019) เอ็มมาประทับใจเล่มนี้มาก เธอโพสต์ในอินสตาแกรมบอกว่า หนังสือเล่มนี้ “มันคืองานมาสเตอร์พีซ” ความหลงใหลในงานเขียนของเอ็มมาถูกส่งต่อมาที่ภาพยนตร์ Little Women งานกำกับของ เกรตา เกอร์วิก ภาพยนตร์ดัดแปลงมาจากผลงานเขียนของ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ ที่เขียนขึ้นเมื่อปี 1868 เป็นเรื่องราวของสี่พี่น้องที่อาศัยอยู่กับคุณแม่ เพราะคุณพ่อต้องไปร่วมสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา  เรื่องนี้ เอ็มมารับบทเป็นเม็ก-พี่สาวคนโต แม้ว่าบทเด่นอีกบท นั่นคือ โจ-ลูกสาวคนรอง (รับบทโดย เซอร์ชา โรนัน) เป็นสาวนักอ่านนักเขียน ซึ่งถอดแบบมาจากบุคลิกของ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ ผู้เขียนเรื่องนี้ แต่การที่เอ็มมารับบทเป็นเม็กก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ในนิยาย เม็กเลือกที่จะใช้ชีวิตตามหัวใจ นั่นคือแทนที่จะเลือกแต่งงานกับผู้ชายที่ร่ำรวยตามคำแนะนำของผู้ใหญ่ เธอกลับเลือกที่จะแต่งงานกับครูรับจ้างที่บ้านเศรษฐีแทน ซึ่งเมื่อสะท้อนภาพของเอ็มมาออกมานอกจอ ในฐานะนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรี เอ็มมาน่าจะถูกใจบทนี้เช่นกัน ครั้งหนึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์เมื่อถูกตั้งคำถามว่า เหมือนว่าภาพยนตร์ Little Women เป็นการนำงานคลาสสิกมาเล่าใหม่ในมุมมองเฟมินิสต์ ใช่ไหม?  เธอตอบว่า “ใช่ เรื่องที่ฉันรักในการหยิบเรื่องนี้มาเล่าใหม่ของเกรตา (ผู้กำกับ) คือการที่เธอกล่าวถึงสิ่งที่เป็นประเด็นโต้แย้งบ่อย ๆ ในเรื่อง Little Women ที่มีนักอ่านจำนวนมาก มีแฟนหนังสือจำนวนมากของลุยซารู้สึกว่าเธอถูกบังคับโดยสำนักพิมพ์ให้เขียนฉากจบของเรื่องที่ไม่ใช่ฉากจบที่เธออยากให้เป็นฉากจบจริง ๆ ฉันจำได้ว่า เมื่อฉันอ่านบทหนังจบแล้ววางมันลง และคิดว่ามันดูอัจฉริยะ มันดูฉลาดมากในสิ่งที่เธอทำ! ดังนั้น ฉันจึงรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่องใหม่ของภาพยนตร์เรื่องนี้ และฉันหวังว่า หากลุยซา (คนเขียนหนังสือ) ได้ยินพวกเรา ฉันรู้สึกเป็นเกียรติมากที่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่เธออาจจะไม่ได้พูดหรือไม่ได้เล่าถึงออกมา” (ในภาพยนตร์ Little Women มีการตีความใหม่ที่ต่างจากฉากจบในหนังสือ โดยเพิ่มเรื่องราวเหตุการณ์หลังจากฉากจบในนิยาย เหตุการณ์หลังจากนั้นคือเหตุการณ์ที่โจพยายามเจรจากับสำนักพิมพ์ เพื่อปรับแก้ไขฉากจบในหนังสือ Little Women ที่เธอเขียน) จากในจอภาพยนตร์สู่นอกจอ เราจึงได้เห็นทั้งบทบาทของนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีและนักอ่านควบคู่กัน เอ็มมา วัตสัน ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ว่าด้วยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ที่สำนักนักใหญ่สหประชาชาติ เมื่อปี 2014 และหากติดตามอินสตาแกรมของเธอเป็นประจำ จะเห็นโพสต์แนะนำหนังสือที่เอ็มมาอ่าน ซึ่งเราสามารถตามอ่านรีวิวหนังสือของเธอได้ที่ช่องทางบุ๊คคลับที่มีชื่อว่า Our Shared Shelf ในเว็บไซต์ www.goodreads.com โดยเอ็มมาแนะนำตัวในกลุ่มว่า เธอทำงานกับองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ จึงได้มีโอกาสอ่านหนังสือและบทความมากมายเกี่ยวกับความเท่าเทียม เป็นแรงบันดาลใจให้เธอตั้งเฟมินิสต์บุ๊คคลับนี้ขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งที่เธอได้เรียนรู้กับคนอื่น ๆ ซึ่งเธอวางแผนจะเลือกหนังสือสักเล่มมาอ่านทุก ๆ สองเดือน แล้วนำประเด็นในหนังสือมาแลกเปลี่ยนร่วมกับนักอ่านคนอื่น ๆ ภาพจำจากแม่มดน้อย เฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ บัดนี้ เอ็มมา วัตสัน ในวัย 29 ปี ได้เติบโตขึ้นมาในภาพของ “ภูตินักอ่าน” ที่อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครบางคน ในสักมุมหนึ่งของโลก ออกตามหาหนังสือที่เธอซ่อนไว้ หรือหยิบหนังสือสักเล่มที่เธอแนะนำให้มานั่งอ่านตรงมุมสงบเงียบสักที่ก็เป็นได้ ที่มา ภาพยนตร์ Little Women หนังสือ สี่ดรุณี(Little Women) แปลด้วย อ.สนิทวงศ์ สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ Instagram: emmawatson https://www.goodreads.com/group/show/179584-our-shared-shelf https://www.bbc.com/news/uk-england-london-39204071