07 พ.ค. 2567 | 17:00 น.
หนูแหวน - พณณกร ออมสิน หนึ่งในเยาวชนจากค่ายเพาเวอร์กรีน รุ่นที่ 19 ให้สัมภาษณ์กับ The People ขณะกำลังเดินสำรวจพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองกรุง ณ สวนเบญจกิติ
แม้อากาศจะร้อนระอุเพียงใด แต่ก็ไม่อาจทำให้รอยยิ้มของหนูแหวน เด็กสาวอายุ 16 ปี จากห้องเรียนพิเศษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (SMTE) โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี คนนี้หม่นลงไปได้ ในทางกลับกัน เธอมีความกระตือรือร้นที่จะถามไถ่พี่เลี้ยงค่ายอย่างอารมณ์ดี ว่าสิ่งที่เธอเห็นอยู่ตรงหน้าเรียกว่าอะไร ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ใบหญ้า สัตว์น้อยใหญ่ ทั้งบนบกและในน้ำ ทุกสิ่งที่เธอเห็นและสัมผัสล้วนถูกบันทึกอยู่ในหน้ากระดาษที่อยู่ในมือ
การมาร่วมค่ายครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับหนูแหวน เพราะเธอต้องฝ่าฟันการคัดเลือกจากเยาวชนทั่วประเทศ คัดแล้วคัดอีกจาก 32 จังหวัด จนเหลืออยู่เพียง 50 คน จาก 48 โรงเรียน จึงไม่แปลกที่จะเห็นความมุ่งมั่นของเด็กสาว โดยเธอบอกว่าหัวข้อการเรียนรู้ ‘Urban Rewilding: ป่า - เมือง – ชีวิต’ นั้นคงช่วยเปลี่ยนชีวิตเธอและคนรอบข้างไม่น้อย เธออยากจะนำความรู้ตรงนี้กลับไปพัฒนาโรงเรียน ทำให้คนเห็นว่าป่าและคนไม่ใช่เรื่องไกลตัว
ค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมครั้งที่ 19 จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาร่วมกันส่งต่อความรู้ให้แก่เยาวชนที่มีใจรักและมุ่งมั่นที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ให้ถูกทำลายไปมากกว่านี้ แม้ว่าในปัจจุบัน หนูแหวนจะเห็นแล้วว่าโลกเรานับวันจะยิ่งป่วยไข้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนเธออดเศร้าใจไม่ได้ แต่เธอจะไม่ยอมแพ้ เพราะหากไม่มีคนเริ่ม โลกคงถึงวันล่มสลายลงในที่สุด
“หนูอยู่กับต้นไม้ อยู่กับธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก บ้านของหนูปลูกฝังมาตั้งแต่รุ่นทวด ย่าทวด ยายทวด เพราะว่าเขามีไร่เยอะ แล้วคุณทวดเขาปลูกต้นไม้ไว้หลายอย่าง ก็ส่งต่อมาถึงรุ่นคุณยาย คุณยายเป็นคนที่รักต้นไม้มาก ชอบต้นไม้มาก
“ทั้งชีวิตของคุณยายปลูกต้นไม้มากกว่า 100 ต้น รอบบ้านก็จะมีต้นสมุนไพรหายาก มีต้นส้มซ่า แล้วก็ต้นขนุน แล้วด้วยความที่ว่ายายชอบปลูกต้นไม้มาก ๆ ก็ส่งต่อมาให้แม่ ถ้ามีโอกาสหรือมีเวลาว่าง แม่ก็จะไปปลูกต้นไม้กัน ซึ่งตรงนี้ก็ส่งต่อมาถึงหนูอีกทีนึง
ไม่แปลกเลยที่เราจะสัมผัสถึงความผูกพันระหว่างหนูแหวนและต้นไม้ แรกเริ่มเธอไม่รู้หรอกว่า สิ่งที่ครอบครัวปลูกฝังมาโดยตลอดว่าให้รักและดูแลธรรมชาติจะทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปอย่างไร แต่เมื่อโตขึ้นจึงเห็นแล้วว่า หากไม่มีต้นไม้ ชีวิตเธอคงเหี่ยวเฉาน่าดู
อาจเป็นเพราะเหตุนี้ เธอจึงรู้สึกเศร้าทุกครั้งที่เห็นป่าถูกทำลาย และเศร้าเป็นพิเศษหากเห็นคนทำร้ายธรรมชาติอย่างไม่ใยดี
นอกจากต้นไม้ประจำตัวทั้ง 16 ต้นแล้ว ครอบครัวของเธอยังลดการใช้พลาสติก ทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้การกระทำของมนุษย์คนหนึ่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปมากกว่านี้
“ที่บ้านหนูค่อนข้างให้ความสำคัญกับการแยกขยะมาก ๆ อย่างขวดพลาสติดหรืออะไรก็ตามที่สามารถรีไซเคิลได้ จะแยกทุกอย่าง เศษอาหารไม่เทรวมกันเด็ดขาด ทิชชูห้ามปนกับเศษอาหาร หนูโอเคมากที่ที่บ้านปลูกฝังหนูมาแบบนี้ เพราะมันทำให้หนูเห็นว่าเราสามารถช่วยดูแลโลกได้ผ่านการกระทำเล็ก ๆ”
หนูแหวนยังบอกอีกว่า การได้มาเข้าค่ายครั้งนี้เปิดโลกเธออย่างน่าตกใจ บางสายงานเธอไม่เคยรู้จักมาก่อน อย่างอาชีพรุกขกร เมื่อฟังเบื้องหลังการทำงานไปเรื่อย ๆ จากความฝันที่อยากเป็นครู ก็เริ่มเอนเอียง อยากจะทำหน้าที่ดูแลต้นไม้ไม่ให้ถูกกำจัดอย่างผิดวิธีไปมากกว่านี้
“รุขกรเขาเป็นเหมือนหมอต้นไม้นะ
“หนูรู้สึกว่าอาชีพรุขกรในประเทศไทยมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น มันควรจะมากกว่านี้ หนูว่ามันเป็นสายงานที่น่าสนใจและยั่งยืน เพราะว่าชุมชนเมืองเราขยายมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเมืองขยาย เราก็ต้องการพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แน่นอนว่าต้นไม้ในเมืองก็ยิ่งต้องเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่อย่างที่รู้ว่าในปัจจุบัน ยังมีคนให้ความสำคัญกับการดูแลต้นไม้ในเมืองน้อยอยู่ เลยสนใจอาชีพนี้ค่ะ”
ส่วนสิ่งที่เธอจะนำกลับไปพัฒนาโรงเรียนหลังจากนี้ หนูแหวนบอกว่า เธออยากจะทำโครงงานวิจัยร่วมกับเพื่อน ๆ และนำเสนอให้กับโรงเรียน เมื่อโรงเรียนสนใจ เธอหวังว่าในอนาคตมันจะถูกนำไปต่อยอดในระดับจังหวัดในภายหลัง
“ก่อนมาร่วมค่ายที่นี่ หนูเคยทำวิจัยเรื่องเผาอ้อย ทำเครื่องมือขึ้นมาว่าจะมีวิธีการไหนบ้าง ที่จะลดอัตราการเผาอ้อยให้น้อยลง ไม่ต้องสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น แล้วหนูก็ได้รางวัลชนะเลิศมาค่ะ
“ส่วนความรู้ที่ได้จากค่ายครั้งนี้ หนูยอมรับว่าหนูเองก็ยังใหม่ แต่คิดว่าอยากจะทำเรื่องการกักเก็บคาร์บอน อยากจะเอาตรงนี้มาทดลองกับพืชพันธุ์ ดูว่าเขามีวิธีการกักเก็บคาร์บอนยังไงบ้าง ดูการดูดซึมของเขา แล้วถ้าการทดลองตรงนั้นได้ผล หนูคิดว่าจะเอามาต่อยอดที่โรงเรียนอีกที ไม่แน่ว่าอาจจะนำพืชตรงนี้ไปปลูกในระดับจังหวัด หนูหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น”
หนูแหวนเคยจินตนาการไหมว่าเราอยากโตมาแล้วก็ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมประมาณไหน - เราถาม เธอยิ้มกว้างก่อนจะบอกว่า “คิดค่ะ คิดตลอด รู้สึกว่ามันดีได้มากกว่านี้นะ สังคมเรา เราอยู่ร่วมกับมันได้เยอะกว่านี้อีก เช่น ตืนนอนมาปุ๊บ สิ่งแรกที่เจอคือต้นไม้ แล้วตอนที่จะล้มตัวลงนอน สิ่งสุดท้ายที่เห็นคือต้นไม้ อยากให้อยู่ในทุกพาร์ทใน daily life
“ต้นไม้เขาเป็นเพื่อนเราค่ะ เราอาศัยเขา เขาอาศัยเรา พึ่งพากันไป เขาให้ออกซิเจนเรา เราให้น้ำเขา เขาให้พืชผล เราให้ปุ๋ยเขา เราดูแลเขา เขาดูแลเรา นี่แหละค่ะความสำคัญของต้นไม้ หนูเลยอยากอยู่ดูแลเขาไปเรื่อย ๆ”
เรื่องและภาพ : วันวิสาข์ โปทอง