13 มี.ค. 2567 | 17:00 น.
ผืนป่ากุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์บอกตามตรงว่าไม่ได้น่าพิสมัยนัก ทั้งอากาศแห้ง แสงแดดที่พร้อมแผดเผาทุกสิ่งให้มอดไหม้ และฝุ่นผงที่พากันปลิวว่อนไปทั่วราวกับกำลังท้าทายเหล่าผู้มาเยือนจากแดนไกลอยู่กลาย ๆ
เราในฐานะคนแปลกหน้าได้แต่ทำใจยอมศิโรราบต่อธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ไม่รู้ว่าการเดินทางครั้งนี้จะได้เจอกับเพื่อนต่างสายพันธุ์ชนิดไหน ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดเรื่องเซอร์ไพร์สขึ้นระหว่างทางหรือเปล่า มีเพียงเสียงกระซิบอันแผ่วเบาวูบไหวอยู่กลางสายลม โดยมี ‘จูน-วรรณา เกิดทรัพย์’ ผู้นำชมผืนป่ากุยบุรี หญิงวัย 48 ปีที่จะมาช่วยแปลงเสียงกระซิบเหล่านั้นเป็นถ้อยคำแสนหวาน
แม้ว่าก่อนหน้านั้น เธอจะไม่เชื่อในป่า แถมยังมองว่าสิ่งมีชีวิตที่อาศัยสถานที่แห่งนี้ ไม่ต่างจากผู้ร้ายที่เข้ามาช่วงชิง ทำลายพืชไร่ของเธอจนย่อยยับ ใช่, เธอคือหญิงสาวผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า ไร่สัปปะรดที่บรรพบุรุษเฝ้าถนอมมากว่าสี่สิบปี ส่งผ่านจากรุ่นปู่ย่า มาจนถึงช่วงวัยที่เธอเติบใหญ่พอ จะเข้ามาทำหน้าที่ดูแลแทนพ่อแม่ที่แก่ชรา
ก่อนที่ความบาดหมางจะร้าวลึกไปกว่านี้ เธอก็ได้รับคำเชื้อเชิญจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรีให้ร่วมเป็นหนึ่งในทีมดูแลนักท่องเที่ยว พาพวกเขาชมผืนป่าแห่งนี้ได้อย่างสบายใจ เธอตอบรับด้วยความยินดี เพราะอยากจะทำความเข้าใจเจ้าสัตว์ป่าประเภทนี้เช่นกัน
และประจวบเหมาะกับวันนี้ (13 มีนาคม) ตรงกับวันช้างป่าของไทยพอดิบพอดี เราเลยไม่ลังเลที่จะหยิบเรื่องราวของเธอมาบอกเล่าให้รู้ว่า คนกับช้างไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกันเสมอไป หากเข้าใจพฤติกกรม และธรรมชาติของสัตว์ป่า เพียงเท่านี้เหตุการณ์อันเลวร้ายในอดีตอย่าง ‘คนฆ่าช้าง’ อาจไม่ปรากฏขึ้นมาสร้างความชอกช้ำให้ผู้พบเห็นอีกก็เป็นได้
เราเจอกับวรรณาบนจุดชมวิว ขณะกำลังเพ่งมองฝูงช้างป่าที่ซ่อนตัวอยู่กลางป่าลึก บอกตามตรงว่ามองไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ เห็นเพียงเลือนรางว่ามีช้างอยู่ตรงนั้น
น้ำเสียงตื่นเต้นของเธอทำให้เรารีบเบนสายตา พร้อมกับกวาดหาเก้งตัวน้อยอย่างรวดเร็ว ก่อนจะทำให้เราเกือบหยุดหายใจ เพราะภาพตรงหน้าที่ปรากฎ ราวกับหลุดออกมาจากเทพนิยายก็ไม่ปาน
ความรู้สึกใจฟูพุ่งปะทะเข้าอย่างรวดเร็ว อยากจะร้องตะโกนออกไปว่า นี่มันสววรค์ของคนรักธรรมชาติชัด ๆ ทุกอย่างไม่ถูกรุกล้ำ มีแต่ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ กับคนแปลกหน้าอีกสิบกว่าชีวิต ที่แอบเฝ้าติดตามการใช้ชีวิตของพวกเขาอยู่เงียบ
วรรณาเล่าให้ฟังหลังจากเราถามว่านอกจากช้าง เก้ง และกระทิง ยังมีสัตว์ป่าชนิดไหนอีกบ้างไหมที่เธอเคยเห็น และเสือดำคือสัตว์ชนิดแรกที่เธอพูดถึง ก่อนจะนิ่งคิดและบอกว่ายังมีสมเสร็จอีกตัวที่หาชมได้ยากเช่นกัน
ส่วนเหตุผลที่เธอเข้ามาทำงานที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีแห่งนี้ได้ ต้องย้อนกลับไปราวสิบปีก่อน ช่วงเวลาที่เธอกำลังทุกข์ใจเพราะถูกช้างป่ารุกรานทำลายไร่สัปปะรดของเธอจนเละเทะไปหมด
“จริง ๆ พี่จูนอยากเป็นครูนะ” เธอยิ้มกว้าง “เพราะพี่จูนอยากให้เด็ก ๆ มีความรู้ อยากให้ทุกคนได้รับการศึกษาสูง ๆ เพราะการศึกษาคือทุกอย่าง มันทำให้คนเรามีโอกาสในการใช้ชีวิตได้เยอะมาก แต่พี่จูนไม่เคยเสียดายหรอกนะ ถึงจะจบแค่ ป.6 พี่จูนมีความสุขกับทุกวันนี้ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
“ช่วงแรกที่พี่จูนมาทำงานที่นี่ มีประมาณ 7 คน ก็พอรู้มาก่อนล่วงหน้าว่าถ้ามาทำงานที่นี่ต้องทำอะไรบ้าง มีพานักท่องเที่ยวไปชมสัตว์ป่า มีความรู้เรื่องพืชพรรณในอุทยาน แล้วก็เข้าใจพฤติกรรมของสัตว์ว่าแต่ละชนิดจะมีลักษณะนิสัยยังไงบ้าง
“พี่จูนเทรนกับเจ้าหน้าที่อุทยานไม่กี่สัปดาห์ก็เข้าใจทุกอย่าง อาจจะเพราะพี่อยู่กับป่ามาตั้งแต่เด็ก บ้านอยู่ใกล้อุทยานแค่นี้เอง เลยเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ไม่ยาก อย่างปีนี้ก็เทรนอีกรอบนะ เพราะว่าพฤติกรรมสัตว์ป่าเปลี่ยนไปทุกปี”
ส่วนสิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกผูกพันกับที่นี่เป็นพิเศษ คือต้นมะม่วง ต้นไม้ที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ อยู่ยั้งยืนยงคู่กับผืนป่ากุยบุรีมาเป็นเวลานานนับทศวรรษ เธอเล่าว่าไม่ว่าพายุกี่ลูกเข้ามาซัดถล่ม แต่มะม่วงต้นนี้ไม่เคยหักโค่นลงเลยสักครั้ง
“ที่นี่น่ะ นายทุนเขารุกคืบเข้ามาตลอดเพื่อปลูกไร่สัปปะรด แล้วเขาก็วางยาในลูกสัปปะรด พอช้างป่ามากิน ช้างก็ตาย กลายเป็นปัญหาที่วนไปมาไม่หยุด ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ นำผืนป่าที่นายทุนคืนให้ทางราชการมาฟื้นฟูให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของสัตว์ป่า แล้วก็ได้ประกาศแต่งตั้งเป็นอุทยาน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2542
“ปัญหาผู้บุกรุกก็หายไป ช่วงที่เข้ามาทำงานแรก ๆ มองเห็นปัญหาเรื่องคนกับช้าง เห็นมาตลอด แต่พอมีอุทยานทุกอย่างก็ดีขึ้น แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือ ความแล้ง ฝนตกน้อยลง แต่ว่าสัตว์ป่าเยอะขึ้นนะ”
เรารู้สึกแปลกใจนิดหน่อยที่ความแล้งไม่ได้ทำร้ายสัตว์ป่า ในทางกลับกันพวกเขากลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้ไม่ได้ถามตัวเลขแน่ชัด แต่เราเชื่อเธอในฐานะผู้คลุกคลีอยู่กับผืนป่าแห่งนี้มานานกว่าสิบปี
ตะวันเริ่มคล้อยต่ำ เธอบอกกับเราว่าถึงเวลาเดินทางกลับที่พักกันแล้ว เราพยักหน้าตอบรับ ปล่อยให้เก้ง ฝูงช้างป่า และกระทิง รวมถึงนกสารพัดชนิดให้ใช้ชีวิตกันต่อไป หมดเวลาของคนนอกที่เข้ามาแอบสอดส่องวิถีของพวกเขาแล้ว ทิ้งผืนป่าเอาไว้ให้ธรรมชาติโอบกอดกันเองไว้เบื้องหลัง
เรื่อง: วันวิสาข์ โปทอง
ภาพ: Chittiwat Pornprasert