จูเลีย ฮิลล์ : ยอมใช้ชีวิตบนต้นไม้ 738 วัน เพื่อไม่ให้ต้นไม้อายุพันปีถูกโค่น

จูเลีย ฮิลล์ : ยอมใช้ชีวิตบนต้นไม้ 738 วัน เพื่อไม่ให้ต้นไม้อายุพันปีถูกโค่น

‘จูเลีย บัตเตอร์ฟลาย ฮิลล์’ (Julia Butterfly Hill) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ใช้เวลาอยู่บนต้นไม้เก่าแก่อายุเกือบพันปีเป็นเวลา 738 วัน เพื่อไม่ให้นายทุนโค่นทิ้ง

738 วัน คือเวลาที่ ‘จูเลีย บัตเตอร์ฟลาย ฮิลล์’ (Julia Butterfly Hill) เลือกใช้ชีวิตบนต้นเรดวูด ต้นไม้เก่าแก่อายุพันกว่าปี อยู่ท่ามกลางธรรมชาติน้อยใหญ่ของรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่หลังจากการรุกคืบของเหล่านายทุน ต้นไม้โบราณต้นนี้กำลังจะถูกโค่นลง เธอไม่อยากเห็นสิ่งมีค่าเช่นนี้ถูกตัดทำลาย เลยเลือกที่จะเสี่ยงชีวิต ปีนขึ้นไปบนต้นไม้ที่มีความสูงถึง 180 ฟุตจากพื้นดิน (ประมาณ 55 เมตร) แล้วปักหลักใช้ชีวิตอยู่บนนั้นเป็นเวลาเกือบสองปี

ฮิลล์ตั้งชื่อต้นเรดวูดต้นนี้ว่า ‘ลูน่า’ เพราะมันสูงเด่นเป็นสง่าจนเกือบเอื้อมมือไปสัมผัสดวงจันทร์ได้ด้วยมือเปล่า หากไม่ใช่เพราะการกระทำของฮิลล์ ลูน่าอาจไม่มีอายุยืนยาวมาจนถึงวันนี้

การเคลื่อนไหวของฮิลล์ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก ราวกับผีเสื้อกระพือปีก แค่ปีกเล็ก ๆ ที่โบกขยับก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ และนี่คือเรื่องราวของเธอ ‘จูเลีย บัตเตอร์ฟลาย ฮิลล์’ นักเคลื่อนไหวผู้ไม่ย่อท้อต่อแรงเสียดทาน และขอท้าทายต่ออำนาจนายทุนทุกรูปแบบ เพื่อไม่ให้ธรรมชาติถูกทำลาย

ผีเสื้อบนปลายนิ้ว

จูเลีย ฮิลล์ เกิดในปี 1974 อันที่จริงเธอเพิ่งจะมีชื่อกลางว่า บัตเตอร์ฟลาย พ่วงเข้ามาเมื่อตอนอายุ 7 ขวบ หลังจากมีผีเสื้อตัวหนึ่งบินมาเกาะที่นิ้วของเธอ และเกาะอยู่อย่างนั้นไม่ยอมบินหนีไปไหนตลอดเวลาที่ครอบครัวฮิลล์เดินป่า พ่อแม่ของเธอจึงตัดสินใจเรียกลูกสาวตัวน้อยว่าบัตเตอร์ฟลายมาตั้งแต่วันนั้น

ชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่ของฮิลล์หมดไปกับการเดินทาง พ่อของเธอคือนักท่องโลกตัวยง เรียกได้ว่าแทบจะไม่อยู่ติดบ้านเลยก็ว่าได้ ครอบครัวฮิลล์จึงให้ลูกสาวเรียนโฮมสคูล เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้จากโลกกว้าง โดยไม่ต้องอ้างอิงตามตำรา อาจทำให้ลูกสาวมีมุมมองต่อโลกเปลี่ยนไป แต่นั่นก็แลกมาด้วยความโดดเดี่ยวที่เกาะกุมจิตใจของลูกสาวตัวน้อยอย่างช้า ๆ

“ฉันรู้สึกว่าไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ฉันเข้ากับคนอื่นไม่ได้ ฉันไม่เข้าใจคนอื่น แล้วก็ไม่รู้ว่าจะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับคนอื่นได้ยังไง”

เมื่อฮิลล์โตขึ้นอีกหน่อย เธอเริ่มหันหน้าเข้าหาธรรมชาติมากขึ้น และเริ่มรู้สึกไม่อยากให้ใครมาพรากสิ่งที่ล้ำค่าเช่นนี้ไป ส่วนเหตุผลที่เธอเริ่มออกมาเคลื่อนไหว อาจเป็นเพราะบุคลิกและนิสัยบางอย่างที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เธอเป็นคนที่มักตั้งคำถามต่อทุกสิ่งอยู่เสมอ เมื่อเห็นว่ามีบางอย่างที่ไม่ยุติธรรม เธอจะค้นหาคำตอบจนกว่าจะได้รับความกระจ่างชัด

“ฉันเป็นคนที่ดื้อรั้นมาตั้งแต่เด็ก น่าจะตั้งแต่อายุ 2 ขวบ แต่ฉันได้เรียนรู้ว่านิสัยเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป ในทางกลับกันมันทำให้ฉันเป็นฉันอย่างในทุกวันนี้”

ฤดูร้อนปี 1996 ฮิลล์ประสบอุบัติเหตุถูกคนเมาแล้วขับชนเข้าอย่างจัง เธอได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก ต้องฝึกพูดและเดินใหม่อีกครั้ง ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีเต็ม จากเด็กสาววัย 20 ปี ชีวิตกำลังสุกสกาว แต่ทุกอย่างกลับมอดดับลง เพียงเพราะความประมาทของคนคนหนึ่ง

เหตุการณ์ครั้งนั้นราวกลับเข้ามาปลดล็อกบางอย่างในใจ ฮิลล์ค้นพบแล้วว่า ชีวิตนับจากนี้จะขออุทิศให้กับการทำงานเพื่อปกป้องและดูแลสิ่งแวดล้อม ตราบเท่าที่ชีวิตและลมหายใจของเธอจะเอื้ออำนวย

“ฉันใช้เวลา 10 เดือนทำกายภาพบำบัด ฟื้นฟูร่างกายที่บาดเจ็บใหม่ทั้งหมด และในช่วงเวลานั้นเอง ฉันก็ตระหนักได้ว่า ชีวิตต่อจากนี้ มันควรจะมีความหมายมากกว่านี้ เพื่อไม่ให้การอยู่บนโลกนี้สูญเปล่า

“เพราะหลังจากที่ฉันเรียนจบมัธยมตอนอายุ 16 ปี และทำงานไม่หยุดมาโดยตลอด เริ่มจากเป็นพนักงานเสิร์ฟ จากนั้นก็ขยับมาเป็นผู้จัดการร้านอาหาร ฉันหมกมุ่นกับการทำงานหาเงินอย่างหนัก เงินคือตัวชี้วัดความสำเร็จในชีวิต แน่นอนว่ารวมถึงสิ่งของด้วย

“แต่หลังจากอุบัติเหตุครั้งนั้น มันปลุกจิตวิญญาณของฉันให้ตื่นขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญบางอย่างในชีวิต ฉันอยากจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกใบนี้”

หลังจากฮิลล์ออกจากโรงพยาบาล เธอออกเดินทางไปทั่วสหรัฐอเมริกา กระทั่งมาหยุดอยู่ที่ป่าแห่งหนึ่งของแคลิฟอร์เนีย และได้พบกับลูน่าเป็นครั้งแรก ราวกับว่าเวลาทุกอย่างหยึดชะงัก ฮิลล์สัมผัสได้ว่าลูน่ารอคอยการมาเยือนของเธอมาโดยตลอด

เพื่อไม่ให้การรอคอยของลูน่าสูญเปล่า ฮิลล์ในวัย 23 ปี เริ่มทำการประท้วงขึ้นครั้งแรกในวันที่ 10 ธันวาคม 1997 หลังจากบริษัท Pacific Lumber ประกาศออกมาว่าจะเริ่มทำการตัดต้นไม้ในป่าบางส่วนทิ้ง

“วันแรกที่ฉันเดินทางเข้าไปในป่าเรดวูด ฉันคุกเข่าลงแทบพื้นก่อนจะเริ่มร้องไห้ออกมา

“ฉันร้องไห้เพราะว่าต้นไม้โบราณเหล่านี้กำลังจะถูกตัดทิ้ง ฉันไม่อยากเห็นภาพนั้น เลยเลือกจะทำอะไรบางอย่าง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป”

Earth First!

ฮิลล์เข้าร่วม Earth First! กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวคิดและวิธีการดำเนินงานที่ค่อนข้างเข้มข้นและจริงจัง ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1980 จากอุดมการณ์แรกเริ่มว่าโลกต้องมาก่อน ฮิลล์ไม่ลังเลที่จะอาสาพาตัวเองไปตั้งแคมป์บนต้นไม้เรดวูด แม้ว่าใครต่อใครต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การขึ้นไปอยู่บนนั้นได้สักอาทิตย์ก็ยากลำบากมากเกินพอแล้ว ทั้งสภาพอากาศที่ไม่เป็นมิตร บางวันมีลมแรงไม่ต่ำว่า 70 ไมล์ต่อชั่วโมง แถมยังกินเวลานานถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากสภาพอากาศที่เลวร้ายแล้ว ยังมีสัตว์ป่าสารพัดชนิดที่มักเข้ามาสังเกตการณ์เธออยู่เป็นระยะ และนั่นทำให้เธอรู้สึกหนักใจไม่น้อย

“ฉันพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ทำให้สัตว์ป่าเชื่อง แต่บางครั้งพวกมันก็ค้นพบว่า อาหารที่ฉันกินก็มีรสชาติดีไม่หยอก และนั่นทำให้การอยู่บนต้นไม้ของฉันยุ่งยากไม่น้อย”

เสบียงอาหารส่วนใหญ่ถูกส่งตรงมาจากกลุ่มคน 5 คนที่คอยสนับสนุนเธอไม่ห่าง โดยจะส่งสิ่งของจำเป็นในการประทังชีวิตขึ้นไปบนต้นไม้สัปดาห์ละสองครั้ง มีตั้งแต่อาหาร เชื้อเพลิงสำหรับจุดไฟ จดหมาย และแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ บางครั้งเธอก็มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์มานั่งประท้วงร่วมกับเธอบนต้นไม้ด้วย

“คืนหนึ่งฉันคิดว่าฉันคงจะตายเสียแล้ว

“คืนนั้นมีลมพัดแรงถึง 90 ไมล์ต่อชั่วโมง ลองนึกภาพดูว่าคุณกำลังอยู่ในเรือลำหนึ่ง แล้วเรือลำนั้นก็โคลงเคลงเสียจนจะจมแหล่มิจมแหล่อยู่กลางทะเล

“ฉันเจ็บปวด มันทรมานไปหมดทั้งร่างกายและจิตใจ อารมณ์ของฉันไม่มั่นคง จิตวิญญาณของฉันมันร้องไห้ไม่หยุด ร่างกายของฉันกำลังถูกความเย็นกัดกิน มันหนาวจนแทบขาดใจ ทุกอย่างเหมือนกำลังตัดขาดฉันจากโลก และเมื่อคิดเช่นนั้น ฉันจึงเริ่มเอามือไปสัมผัสกับลูน่าและเริ่มสวดมนต์ภาวนา”

ฮิลล์รอดชีวิตมาหลายต่อหลายครั้ง หลังจากได้เรียนรู้ว่าสิ่งเดียวที่ทำให้เธอยังอยู่กับลูน่า คือการทำตัวเป็นหนึ่งเดียวกันกับเธอ ใช่ว่าทางบริษัทจะยอมอ่อนข้อให้กับการกระทำของหญิงสาว พวกเขาถึงขั้นส่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นมาสร้างความรำคาญ แต่นั่นไม่ได้ทำให้จิตใจของเธอสั่นไหว

มีอยู่ช่วงหนึ่งบริษัทได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาล้อมรอบลูน่า กันไม่ให้เหล่านักเคลื่อนไหวส่งเสบียงอาหารไปให้เธอได้ Pacific Lumber ปฏิเสธที่จะเจรจากับฮิลล์เป็นเวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี เพราะซีอีโอของบริษัทประกาศอย่างชัดเจนว่า ฮิลล์กำลังละเมิดกฎหมาย เธอเป็นผู้บุกรุก และเราจะไม่เจรจากับผู้ที่ไม่ทำตามกฎหมาย

แต่ในท้ายที่สุด Pacific Lumber และฮิลล์ ก็ตกลงเจรจาร่วมกันในเดือนธันวาคม 1999 และการเจรจาครั้งนี้ก็ทำให้ลูน่าและต้นไม้บริเวณ 200 ฟุตจะไม่ถูกโค่นลง ส่วนฮิลล์ต้องจ่ายเงินค่าความเสียหายให้แก่ Pacific Lumber เป็นจำนวน 50,000 ดอลลาร์ ก่อนที่บริษัทจะนำเงินทั้งหมดไปบริจาคให้กับมหาวิทยาลัย Humboldt State University เพื่อสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับความยั่งยืนของป่าไม้เป็นหลัก

เรื่องราวของเธอถูกนำไปสร้างเป็นสารคดีเรื่อง Butterfly (2000) กำกับโดย ดั๊ก โวเลนส์ (Doug Wolens) ซึ่งได้รับคำชมอย่างถล่มทลาย ในปีเดียวกันเธอได้ตีพิมพ์ไดอารีเรื่อง The Legacy of Luna: The Story of a Tree, a Woman, and the Struggle to Save the Redwoods บันทึกการต่อสู้ของเธอเพื่อปลดปล่อยลูน่าให้ได้มีชีวิตต่อบนโลกใบนี้

สิ้นสุดการต่อสู้ของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ที่ก่อแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกอย่างมหาศาล ปัจจุบันเธอยังคงมุ่งมั่นทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

 

อ้างอิง

 

เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง

ภาพ : Getty Images