31 มี.ค. 2568 | 08:44 น.
KEY
POINTS
เชื่อว่า เลย์คือขนมมันฝรั่งทอดกรอบที่อยู่ในใจหลายคน เพราะมีหลากหลายรสชาติที่ตอบโจทย์คนไทยมาตลอด 30 ปี
แต่แท้จริงแล้ว บุคคลที่อยู่เบื้องหลังขนมถุงในตำนาน ก็คือ กลุ่มเกษตรกรไทยที่เป็นเหมือนสารตั้งต้น ผู้เก็บเกี่ยวผลผลิตจากไร่สู่โรงงาน
“ประเทศไทยเป็นครัวโลก อุตสาหกรรมอาหารเริ่มจากวัตถุดิบเกษตร ถ้าไม่มีภาคการเกษตรแล้ว ระบบความมั่นคงทางอาหารก็จะเกิดปัญหาทั้งระบบ”
สุริวัสสา สัตตะรุจาวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจประจำประเทศไทยและเวียดนาม เป๊ปซี่โค ประเทศไทยบอกว่า เธออยากทำให้เห็นว่าเบื้องหลังของ ‘เลย์’ คือ ชีวิตของเกษตรที่ต้องเผชิญปัญหาและความหวังที่อยากให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เพราะสุดท้าย 'เลย์' ไม่ได้เป็นเพียงขนมในความทรงจำ แต่ยังหมายถึงความอยู่ดีของเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมไทย
วัตถุดิบหลักของ ‘เลย์’ คือ ‘มันฝรั่ง’
แรก ๆ เลย์เลือกนำเข้ามันฝรั่งจากต่างประเทศ แต่เมื่อแบรนด์เลย์เข้าไปอยู่ในใจของคนไทยแล้ว บริษัทเป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) ก็เลือกที่จะส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งในไทยจนตอนนี้มีพื้นที่ปลูกมันฝรั่งและไร่ต้นแบบในประเทศไทยรวม 9 จังหวัด บนพื้นที่กว่า 38,000 ไร่
ถึงอย่างนั้นก็มีความท้าทายมากมาย อานนท์ สุนทรนนท์ ผู้จัดการฝ่ายเกษตรประเทศไทย เป๊ปซี่โค ประเทศไทย บอกว่า ความท้าทายแรก คือ สภาพอากาศ เนื่องจากมันฝรั่งเป็นพืชหนาว และต้องการอุณหภูมิกลางวันและกลางคืนที่แตกต่างกันอย่างน้อย 10 องศาเซลเซียส เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตและการสร้างหัวมันฝรั่ง
เรื่องที่ 2 แม้ต่างประเทศจะใช้เวลาปลูกมันฝรั่ง 7 - 8 เดือน แต่มันฝรั่งจากประเทศไทยใช้เวลาเพียง 3 เดือน เริ่มปลูกในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนมกราคม และจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิ้นเดือนเมษายน สำหรับเป๊ปซี่โค ประเทศไทยคาดว่าจะได้ผลผลิตมันฝรั่งจากเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมจากเป๊ปซี่โค ประเทศไทย ถึง 100,000 ตัน
"ปีนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทย เราเห็นผลผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปีนี้สภาพอากาศเป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญ แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เป๊ปซี่โค ได้นำมาใช้พัฒนาการปลูกมันฝรั่ง จนสามารถเป็นต้นแบบให้เป๊ปซี่โคในประเทศอื่นๆ”
ส่วนสุริวัสสา สัตตะรุจาวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจประจำประเทศไทยและเวียดนาม เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เล่าว่า แม้จะผ่านอุปสรรคมามากมาย แต่วันนี้เป๊ปซี่โคก็เผชิญวิกฤตและดูแลเกษตรกรมาตลอด เพราะพวกเขาเป็นคนสำคัญในการขับเคลื่อนความมั่นคงของประเทศและเป็นต้นทางการผลิตของ ‘เลย์’
“ที่ผ่านมา เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เรียนรู้ไปพร้อมกับเกษตรกร ทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ ช่วง 10 ปีแรกเต็มไปด้วยความท้าทายและการทดลองมากมาย ผิดมากกว่าถูก กว่าจะตั้งหลักได้ ต่อมา แม้ต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19 แต่ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 1-2 ตัน เป็น 3-5 ตัน นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่สร้างอนาคตมั่นคงให้เกษตรกร”
อีกทั้งเธอยังบอกอีกว่า เธออยากทำให้คนภายนอกได้เห็นว่า เบื้องหลังของเลย์และประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าครัวโลก มีกลุ่มคนที่คอยขับเคลื่อนรักษาความมั่นคงทางอาหารอยู่ ซึ่งพวกเขาก็คือ ‘เกษตรกร’
“บ้านเราเคยเป็นครัวของโลก อุตสาหกรรมอาหารก็เริ่มจากวัตถุดิบทางการเกษตรทั้งนั้น เราจึงพยายามสื่อสารให้เห็นความสำคัญของภาคเกษตร ไม่ใช่แค่โปรโมตแบรนด์ เพราะผู้บริโภครู้จักเลย์อยู่แล้ว แต่เราอยากให้เห็นว่าเบื้องหลังคือหยาดเหงื่อของเกษตรกร และตอนนี้ภาคเกษตรเผชิญปัญหา เราอยากเป็นกระบอกเสียงให้สังคมและภาครัฐตระหนักและให้ความสำคัญมากขึ้น”
เพราะสุดท้ายแล้ว เกษตรกรคือฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เติบโตและยั่งยืน
5,800 คน คือ จำนวนเกษตรผู้ปลูกมันฝรั่งเพื่อส่งให้กับเป๊ปซี่โค ประเทศไทย
“มันฝรั่งคือสิ่งที่ทำให้เรามีรายได้ที่มั่นคง ชีวิตดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ชุมชนก็มีรายได้เพิ่ม”
‘แป๋ม’ ภัทราพร ทการ เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งมา 15 ปีเล่าว่า จากเดิมที่ปลูกพืชไร่และทำนา ไม่มีหลักประกันรายได้ แต่การมาปลูกมันฝรั่งก็ทำให้เขามีรายได้ที่มั่นคง ปลดหนี้ และส่งลูกเรียนจบ
“สมัยก่อนปลูกข้าวโพด ก็ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ไม่มีการการันตีราคา วันนี้อาจได้ 6-7 บาท วันถัดไปอาจเหลือแค่ 4-5 บาท แต่มันฝรั่งมีประกันราคาไว้ที่ 13 บาท มันยั่งยืนกว่า
“แต่ก่อนเป็นหนี้ ไม่มีบ้าน ไม่มีรถ แต่ตอนนี้ส่งลูกเรียนจบมหาวิทยาลัย เรียนปริญญาโทได้ มันไปต่อได้อีกเยอะมากเลย”
ขณะที่ ‘จี๋' เจตจันทร์ กันธา เกษตรกรที่เพาะปลูกหอมแดง กระเทียม และข้าวโพด การเข้ามาปลูกมันฝรั่งทำให้เขามีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ตอนแรกก็ลุ้นนะ ปีแรกไม่รู้จะเป็นยังไง เพราะไม่เคยทำเลย ทีแรกก็คิดว่า เอ้า…ลองทำดูก่อน ตอนนั้นมีเจ้าหน้าที่มาส่งเสริม มาช่วยแนะนำ ถาม-ตอบ ตอนแรกก็ยังไม่เป็นหรอก ปลูกไปแบบลุ้น ๆ เอา แต่ก็ไม่ได้ขาดทุน ปีหนึ่งผ่านไป ปีที่สองเริ่มดีขึ้น แล้วก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ
“สำหรับพี่ มันฝรั่งคือชีวิต เป็นความมั่นคง ทุกอย่างที่เรามีทุกวันนี้ก็เพราะมันฝรั่ง”
เมื่อเก็บเกี่ยวเรียบร้อย มันฝรั่งจะถูกส่งไปยังส่วนรับซื้อ คัดกรองมันฝรั่งให้ตรงตามมาตรฐาน และรับประกันราคาอยู่ที่ 13 บาทต่อกิโลกรัม
“ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา พี่เห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในโรงงานและในกลุ่มเกษตรกร แต่ก่อนเป็นรุ่นพ่อส่งต่อมาสู่รุ่นลูก เห็นได้ชัดว่ามีการพัฒนา จากสมัยแรก ๆ ที่ผลผลิตต่อไร่อาจไม่สูงนัก แต่ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4,000–5,000 กิโลกรัมต่อไร่ ส่งผลให้เศรษฐกิจในครอบครัวของเกษตรกรดีขึ้นมาก
“เมื่อก่อนเกษตรกรขี่มอเตอร์ไซค์หรือใช้รถซาเล้ง แต่ทุกวันนี้ หลายคนมีรถยนต์ สามารถส่งลูกเรียนจนจบ พี่รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้ และได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร”
จริง ๆ แล้ว ปี 2025 เป๊ปซี่โค ประเทศไทยดำเนินงานภายใต้นโยบาย ‘pep+’ pepsico positive เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในทุก touch point ของผู้บริโภค ประกอบด้วย
แล้วส่วนสำคัญที่โรงงานเป๊ปซี่โค จังหวัดลำพูน สถานีแรกรับมันฝรั่งจากไร่ กระบวนการจะเริ่มต้นตั้งแต่การคัดแยก ล้างทำความสะอาด ปอกเปลือก ตัด สไลซ์ เข้าหม้อทอด แยกตำหนิ ปรุงรส และบรรจุใส่ซอง
โรงงานแห่งนี้ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบที่ 2 ‘Positive Value Chain’ ทำให้ทุกขั้นตอนการผลิตมีความยั่งยืนมากที่สุด เริ่มจากการสอนให้พนักงานโรงงานแยกขยะอย่างถูกวิธี ทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ในการปลูกป่าและการสร้างฝายเพื่อช่วยในการจัดการน้ำ รวมถึงแยกประเภทพลังงาน ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายขยะธรรมชาติแล้วนำมาทำเป็นน้ำมันใช้ทอดมันฝรั่ง
รวมถึงการดูแลระบบหมุนเวียนอากาศในโรงงาน มีการใช้ระบบที่เรียกว่า ‘Air Convention’ ใช้ไอน้ำในการสร้างพลังงานสำหรับเครื่องปรับอากาศ โดยไอน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในการล้างมันฝรั่งในโรงงาน
นอกจากนี้ยังเตรียมลดปริมาณคาร์บอนตลอดการผลิตให้เท่ากับศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2040 ด้วยการตั้งเป้าใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายขยะธรรมชาติมาผลิตน้ำมันสำหรับการทอดมันฝรั่งในโรงงาน
เบื้องหลังความอร่อยของมันฝรั่งทอดกรอบเลย์ จึงไม่ใช่เพียงกระบวนการผลิตที่พิถีพิถัน แต่คือเรื่องราวของความร่วมมือ การพัฒนา และความมุ่งมั่นที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ชุมชน และสิ่งแวดล้อม สะท้อนให้เห็นว่าความสำเร็จที่แท้จริงไม่ได้วัดกันที่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่คือการเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืนของทุกคนในห่วงโซ่คุณค่า
มันฝรั่งจึงไม่ใช่แค่วัตถุดิบ แต่เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ผสานประโยชน์ทางธุรกิจเข้ากับการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างลงตัว